fbpx
#ควายแดง กับการเปลี่ยนแปลงทางความหมาย

#ควายแดง กับการเปลี่ยนแปลงทางความหมาย

[et_pb_section admin_label=”section”] [et_pb_row admin_label=”row”] [et_pb_column type=”4_4″][et_pb_text admin_label=”Text”]

อิสระ ชูศรี เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

บทความนี้ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงความหมายและการใช้ของวลี ‘ควายแดง’ จากเดิมที่หมายถึงกลุ่ม ‘คนเสื้อแดง’ และ/หรือผู้นิยมพรรคเพื่อไทย และ/หรืออดีตนายกรัฐมนตรีในสกุลชินวัตร กลายมาเป็นการใช้เพื่อกล่าวกระทบกระเทียบถึงท่านผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบัน แล้วความหมายนั้นก็กลืนกลายไหลเลื่อนไปจนหมายถึง ‘NOT-คนเสื้อแดง’ เสียด้วยซ้ำ

การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ ในทวิตภพเป็นหลัก และเฟซบุ๊กในระดับที่เบาบางกว่า และดูเหมือนว่ามันอาจส่งผลกระทบให้คู่คำตรงข้าม ‘สลิ่ม’/‘ควายแดง’ ที่คนจำนวนมากเห็นว่าเป็นเส้นแบ่งฝักฝ่ายทางการเมืองที่ยากจะลบทิ้ง ถูกลดทอนสถานะของความเป็นคู่คำตรงข้ามที่คมชัดเหมือนสมัยก่อน

ประเด็นที่ผู้เขียนอยากชวนคิดก็คือ ช่วงเวลาที่วลี ‘ควายแดง’ ถูกผลิตขึ้นและใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพนั้นยาวนานเป็นทศวรรษ แต่กระบวนการบ่อนทำลายความหมายเดิมของวลีนี้ให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม กลับเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สั้นกว่ามาก แถมยังมีการนำความหมายเดิมนั้นมาเป็นต้นตอสำหรับการทาบกิ่งก้านของความหมายใหม่ได้อย่างแนบเนียนอีกด้วย

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562 ผู้บัญชาการทหารบกขึ้นเวทีทอล์คโชว์ที่กองทัพบกจัดเอง ในหัวข้อ “แผ่นดินของเราในมุมมองของความมั่นคง” ซึ่งมีเนื้อหาปลุกเร้าสำนึกชาตินิยม โดยการหยิบยกความขัดแย้งทางการเมืองในอดีตขึ้นมาต่อเส้นเติมสีให้ดูเหมือนมีชีวิตอีก เช่น การสูญเสียดินแดนยุคล่าอาณานิคม การเชื่อมโยงนักการเมืองในปัจจุบันกับการต่อสู้ของขบวนการคอมมิวนิสต์ในอดีต การนำเหตุการณ์ประท้วงของคนเสื้อแดงมาดิสเครดิตนักการเมืองที่กำลังได้รับความนิยมจากคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน การหยิบภาพถ่ายคู่ของหัวหน้าพรรคการเมืองคนหนึ่งกับผู้นำนักศึกษาฮ่องมาแต่งเรื่องต่อให้กลายเป็นความพยายามชักศึกเข้าบ้าน เป็นต้น

สืบเนื่องจากปฏิกิริยาของประชาชนบางส่วนต่อเนื้อหาของทอล์คโชว์ในวันนั้น ทำให้โพสต์บนทวิตเตอร์ที่ใช้แฮชแท็ก #ควายแดง มีจำนวนมากจนกลายเป็นแฮชแท็กติดอันดับของทวิตเตอร์ภายในวันเดียวกัน

เนื้อหาของทวีตส่วนใหญ่เป็นการใช้คำว่า ‘ควายแดง’ ซ้ำไปซ้ำมา เพื่อกล่าวกระทบกระแทกแดกดันตัวท่านผู้บัญชาการทหารบก ผู้เผอิญมีชื่อเล่นว่า ‘แดง’ พอดิบพอดี แต่เมื่อไล่พิจารณาข้อมูลที่ดึงออกมาจากบางส่วนของทวีตที่ใช้แท็กนี้ จะพบว่าผู้ที่เข้าไปโพสต์ทวีตหรือรีทวีตไม่ได้เพียงแค่แสดงอารมณ์โกรธเคืองหรือเย้ยหยันด้วยคำสบถที่หยาบคายเท่านั้น แต่ยังมีผู้ใช้ทวีตเตอร์จำนวนมากที่ตระหนักดีถึงนัยยะทางภาษาและสังคมจากการเกิดความหมายใหม่ของวลี ‘ควายแดง’ ภายในชั่วข้ามคืน

หลายคนมองปรากฏการณ์นี้ในมุมมองทางภาษา ได้แก่การเปลี่ยนแปลงทางความหมายจากการใช้ในบริบทใหม่ด้วยปริมาณที่มาก จนกระทั่งก่อให้เกิดความหมายใหม่ แต่ก็เชื่อมโยงบางส่วนกับความหมายเดิม

ต่อไปนี้คือบางส่วนของทวีต #ควายแดง ว่าด้วยการเปลี่ยนความหมาย

  1. #ควายแดง กับความหมายที่เปลี่ยนไป
  2. #ควายแดง จริงๆ ความหมายของคำว่าควายแดง
  3. #ควายแดง โดนด่ามาเป็นสิบปี พอพูดวันเดียวความหมายแม่งเปลี่ยนเลย อยากให้ครูภาษาไทยและนักภาษาศาสตร์ทั้งหลายเก็บไว้เป็นกรณีศึกษาในการทำวิจัยเรื่องพลวัตภาษามากๆ
  4. #ควายแดง ที่ไม่ใช่ควายแดงแต่คือไอ้ควายแดง งงไม่งง? ที่เป็นขรก.แต่มีทรัพย์สินตั้งล้านได้ไง ชื่อซ้ำความหมายไม่ซ้ำ แค่คำพ้องเสียง
  5. #ควายแดง นับจากวันนี้ความหมายของคำว่าควายแดงจะเปลี่ยนไปตลอดกาล
  6. #ควายแดง นี่เข้าใจความหมายซักที ไม่ขอให้เวรกรรมตามทัน แต่ขอให้การกระทำของมันส่งผลมันในชาตินี้
  7. #ควายแดง ไม่ใช่พวกเสื้อแดงอีกต่อไป ขอบคุณลุงแดงนะที่ทำให้ความหมายควายแดงนี้ชัดเจน
  8. #ควายแดง ยุคนี้ความหมายเปลี่ยนแล้วจร้าา
  9. #ควายแดง หมายถึงผู้สนับสนุนทักษิณแอนด์เดอะแกงค์มาชัานาน วันนี้เปลี่ยนความหมายไปเพราะพวกคาบมรดกสี่พันล้านมาเกิดอ่ะครับ
  10. ความหมายของคำว่า #ควายแดง มันเปลี่ยนไปแล้วนะคะ เค้าไม่ได้หมายถึงคนเสื้อแดงค่ะ แต่เค้าหมายถึงคนที่ชื่อแดงอ่ะคะแย่งไป
  11. มองด้านการเดินทางของภาษาล้วนๆ เลยนะ มันน่าทึ่งมากที่กระแสสังคมสามารถพลิกคำว่า #ควายแดง ที่ติดปากคนไทยเป็นสิบๆ ปีให้เป็นความหมายใหม่ที่คนยุคนี้เก็ท แล้วตรงข้ามกับความหมายเดิมแบบสิ้นเชิงเลยนะ ต่อไปคำนี้จะถูกใช้ในบริบทอื่นและความหมายแบบเดิมก็จะค่อยๆ หายไป เจ๋งว่ะ
  12. ต่อไปนี้ความหมายของ #ควายแดง ไม่เหมือนเดิมแล้วจ้า สลิ่มมีคำใหม่ใช้รึยัง ขอแบบดูทันสมัยหน่อยนะ
  13. นับตั้งแต่วันนี้ความหมายของคำศัพท์ในพจนานุกรมของการเมืองแดนกะลา คำว่า “ควายแดง” ถูกเปลี่ยนไปแล้วนะ
  14. ภาษามันดิ้นได้อ่ะ #ควายแดง ยังความหมายเปลี่ยนในวันนี้เลย
  15. ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่า #ควายแดง ที่เคยเป็นยอดนิยมของฝ่ายสลิ่มดัดจริตชนความจำสั้นอวดฉลาดอนุรักษ์ราชาชาตินิยมขี้ฝุ่นใต้ตีนเผด็จการบ้าอำนาจล้าหลังขวาจัด จะถูกฝ่ายซ้ายเสรีนิยม (ลิเบอร่านของสลิ่ม)ขโมยและบิดผันนิยามความหมายไปแบบสุดขั้วเลย
  16. หึๆ สลดสลิ่มมอบตำแหน่ง #ควายแดง ให้ฝั่งตรงข้ามตน แต่คำๆ นั้นมาสนองฝั่งตนเองในความหมายจริงๆ ที่ควรจะเป็น

 

จากตัวอย่างข้างต้น แสดงให้เห็นว่าผู้ใช้แฮชแท็ก #ควายแดง ตระหนักถึงความหมายเดิมของวลีนี้ และยังทราบว่าความหมายใหม่บ่งชี้สิ่งที่ตรงกันข้ามในลักษณะของการ ‘ขโมย’ และ ‘บิดผัน’ ความหมายเดิมอีกด้วย คำถามก็คือ เราจะอธิบายกระบวนการบิดผันทางความหมายในลักษณะนี้ได้อย่างไร? และเพิ่มเติมต่อจากนั้นคือ เราจะใช้ประโยชน์จากกระบวนการนี้ในการช่วยสลายมโนทัศน์คู่ตรงข้ามที่เป็นอันตรายทางการเมืองได้อย่างไร?

ในความหมายเดิมของ ‘ควายแดง’ ควายถูกใช้เป็นความเปรียบชนิดอุปลักษณ์ แทนกลุ่มคนที่ไร้สติปัญญาและเป็นผู้ติดตามสนับสนุนขบวนการทางการเมืองฝ่ายเสื้อแดง ในลักษณะที่กลุ่มคนชั้นกลางฝ่ายอนุรักษนิยมมองว่า เหมือนอย่างกับ ‘ขี้ข้า’ หรือคล้ายกับความในฐานะที่เป็นสัตว์ใช้งานในไร่นา

ความหมายใหม่ของ ‘ควายแดง’ เป็นการเล่นคำพ้องเสียงของคำว่า ‘แดง’ ที่เป็นสามานยนาม และ ‘แดง’ ที่เป็นชื่อบุคคล (=วิสามานยนาม) ในขณะที่คำว่า ‘ควาย’ มีความหมายเน้นหนักไปทางความไร้สติปัญญามากกว่า เนื่องจากมีความหมายสอดคล้องกันกับการประเมินค่าเนื้อหาของการเดี่ยวไมโครโฟนของผบ.ทบ. ตามทัศนะของผู้ติดตามการเมืองจำนวนมาก

การบิดผันความหมายที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ จึงไม่ใช่การเปลี่ยนความหมายให้กลับเป็นตรงกันข้ามกับความหมายเดิม แต่เป็นการหักลบความหมายย่อยบางส่วนออกจากความหมายของอุปลักษณ์เดิม แล้วไฮไลท์เฉพาะความโง่เขลาของคนที่มีสติปัญญาต่ำกว่าคนทั่วไป โดยละความหมาย ‘ขี้ข้านักการเมือง’ ออกไป

ดังนั้น ควายแดงความหมายใหม่จึงไม่ได้อาศัยแค่คำพ้องเสียงมาใช้เพื่อเล่นคำเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการเล่นกับทัศนะเชิงลบเกี่ยวกับเนื้อหาของทอล์คโชว์ ที่ผู้ใช้แฮชแท็กนี้มองว่ามีความไม่ได้มาตรฐานในการใช้ข้อมูลและความรู้ แต่การเล่นคำพ้องเสียงระหว่าง ‘สีแดง’ และ ‘คนชื่อแดง’ เป็นการใส่ความตลกร้ายเพิ่มเข้าไป เป็นความหมายสอดอารมณ์ให้แก่ควายแดงความหมายใหม่นี้ด้วย ดังแสดงให้เห็นเป็นกระบวนการในภาพนี้

 

การเปลี่ยนแปลงทางความหมายของ ‘ควายแดง’

 

จากข้อมูลการโพสต์ มีผู้ใช้ทวิตเตอร์จำนวนหนึ่งรู้สึกแปลกใจในการเปลี่ยนแปลงทางความหมายของวลี ‘ควายแดง’ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คำอธิบายนอกเหนือจากปริมาณการใช้ ก็คือการใช้ ‘ความหมายต้นแบบ’ ซึ่งได้แก่บุคคลที่มีคนรู้จักอย่างกว้างขวาง ทำให้การเชื่อมโยงไปสู่ความหมายใหม่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วและชัดเจน

แม้จะมีผู้ที่พยายามทัดทานความหมายใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน โดยการพยายามอ้างความหมายดั้งเดิม แต่ก็พบน้อยมากจนถูกกลืนหายไปในคลื่นของความหมายใหม่ ยกตัวอย่างเช่น #ควายแดง ควายแดงความหมายผมคือขี้ข้าหรือนปช. ควายแดงสมุนของชินวัตร” และ “#ควายแดง ลองหาแล้วมันขึ้นแบบนี้ ควายแดงขี้ข้าทักษิณ” เป็นต้น

เราจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงความหมายของ ‘ควายแดง’ จากความหมายที่เป็นการจัดกลุ่มคนแบบกว้าง กลายเป็นความหมายเฉพาะเจาะจงบุคคล ต้องอาศัยเงื่อนไขหลายประการ ซึ่งอาจสรุปเป็นข้อๆ ได้ดังต่อไปนี้

  • การใช้เป็นตัวกำหนดความหมาย
  • ปริมาณการใช้ส่งผลต่อการเป็นความหมายหลักและความหมายรอง
  • บริบทของสถานการณ์ส่งผลต่อความหมายอ้างอิง
  • อุปลักษณ์ (Metaphor) จะมีความชัดเจนขึ้นเมื่อทำงานร่วมกับความหมายต้นแบบ (Prototype)

 

ในกรณีที่กล่าวถึงในบทความนี้ จะพบว่าเราสามารถใช้ประโยชน์จากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางความหมายของคู่คำตรงข้ามที่อาศัยการใช้คำในบริบทใหม่เป็นฐาน โดยการสลับความหมายอ้างอิงของคู่คำตรงกันข้าม ดังเช่นที่วลี ‘ควายแดง’ ถูกนำไปใช้ในความหมายอ้างอิงถึงคนที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับคนเสื้อแดง

ความพยายามในลักษณะนี้พบในการใช้คำว่า ‘สลิ่ม’ ในประโยคประเภท ‘สลิ่มมีทุกสี’ ซึ่งทำให้คำว่า ‘สลิ่ม’ เป็นคำบอกคุณสมบัติของบุคคล แทนที่จะระบุกลุ่มทางการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างเคร่งครัด แต่ก็ดูเหมือนว่าความพยายามทำเช่นนี้กับคำว่า ‘สลิ่ม’ ดูไม่ค่อยจะเกิดผลกระทบเท่ากรณีของ ‘ควายแดง’ ซึ่งมีปัจจัยเรื่องความบังเอิญของสถานการณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ข้อสังเกตสุดท้ายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางความหมายของ ‘ควายแดง’ ก็คืออิทธิพลของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งในกรณีน้ได้แก่ ‘ทวิตเตอร์’ ที่มีประสิทธิภาพอย่างสูงในการก่อให้เกิดเทรนด์ของการโพสต์ข้อความด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า #แฮชแท็ก การรีพลาย และการรีทวีต ทำให้ทวีตเตอร์กลายเป็นแพลตฟอร์มหลักของการสร้างความหมายใหม่ให้กับ ‘ควายแดง’ ในขณะที่เฟซบุ๊กและเว็บไซต์ต่างๆ มีบทบาทเป็นเพียงผู้ตามในการรายงานสิ่งที่เกิดขึ้นในทวิตภพเท่านั้น

น่าจับต่อมองต่อไปว่า แฮชแท็กที่แฝงนัยยะทางการเมืองบนทวิตภพ จะสามารถสร้างความหมายใหม่อะไรขึ้นมาอีกในอนาคต[/et_pb_text][/et_pb_column] [/et_pb_row] [/et_pb_section]

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023