fbpx

เลือด เหล้า ทุ่งข้าวฟ่าง Red Sorghum (ตำนานรักทุ่งสีเพลิง)

ผมรู้จักนิยายเรื่อง Red Sorghum ของมั่วเหยียนโดยทางอ้อมเมื่อนานมาแล้ว ผ่านการดัดแปลงเป็นหนังชื่อเดียวกันปี 1988 ผลงานกำกับเรื่องแรกของจางอี้โหมว

หนังเรื่อง Red Sorghum ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในงานที่มีส่วนร่วมบุกเบิกเปิดตัวหนังจีนแผ่นดินใหญ่ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เคียงข้างผลงานของคนทำหนังรุ่นราวคราวเดียวกันอย่างเฉินข่ายเกอ, เถียนจวงจวง, อู๋จื่อหนิว, หลี่ซ่าวหง ซึ่งเรียกขานกันรวมๆ ว่า ‘กลุ่มผู้กำกับรุ่นที่ 5’ จนกลายเป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์โลกช่วงปลายทศวรรษ 1980 ถึงต้นทศวรรษ 1990

อย่างไรก็ตาม Red Sorghum ฉบับภาพยนตร์เก็บใจความในนิยายมาถ่ายทอดเป็นหนังเพียงแค่ 2 บท จากทั้งหมด 5 บท

ผมจึงเกิดความกระหายใคร่รู้ว่า เรื่องราวโดยครบถ้วนเป็นเช่นไร?

จากนั้นผมก็นั่งทำตาปริบๆ ด้วยความสงบเสงี่ยม รอให้มีฉบับแปลภาษาไทยออกมา รอนานจนลืมและไม่เห็นวี่แววความเป็นไปได้ใดๆ เลย จนกระทั่งมั่วเหยียนได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2012 กลายเป็นนักเขียนสัญชาติจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ (ส่วนนักเขียนเชื้อชาติจีนคนแรกที่ได้รางวัลโนเบลเมื่อปี 2000 คือ เกาสิงเจี้ยน ถือสัญชาติฝรั่งเศส)

ผมเดาว่าคงจะเป็นอานิสงส์จากรางวัลโนเบล งานเขียนของมั่วเหยียนจึงได้รับการแปลเป็นไทยออกมาพร้อมกัน 2 เรื่อง คือ Red Sorghum(ตำนานรักทุ่งสีเพลิง) และ The Garlic Ballads(ลำนำกระเทียม) ในอีก 2 ปีต่อมา (พ.ศ. 2557)

ผมอ่าน “ตำนานรักทุ่งสีเพลิง” จบลงเที่ยวแรกด้วยความรู้สึกก้ำกึ่งปนเป มีทั้งความชอบและไม่ชอบมากพอๆ กัน แต่ที่แน่ชัดคือมันเป็นนิยายที่มีลีลาเฉพาะตัวและมีรสชาติแปลกไม่เหมือนใคร

มาชอบสนิทใจต่อเมื่อได้อ่านซ้ำรอบสองนะครับ

“ตำนานรักทุ่งสีเพลิง” เป็นนิยายที่สรุปเล่าเรื่องย่อได้ยากอยู่สักหน่อย อันที่จริงก็สามารถทำได้หากเล่าเหตุการณ์เรียงตามลำดับเวลา (หนังของจางอี้โหมวดัดแปลงโดยใช้วิธีนี้) แต่ก็จะทำให้ตกหล่นคลาดเคลื่อนจากจุดเด่นสำคัญในท่วงทำนองการเขียน ซึ่งเล่าเรื่องราวด้วยโครงสร้างที่โลดโผนและสลับซับซ้อน

มั่วเหยียนนั้นได้ชื่อว่าเป็นนักเขียนในกลุ่ม ‘วรรณกรรมตามหารากเหง้า’ และ “ตำนานรักทุ่งสีเพลิง” ก็เป็นเรื่องราวว่าด้วยการสืบสาวค้นหา ‘ประวัติศาสตร์ของครอบครัว’ เหตุการณ์ทั้งหมดถ่ายทอดผ่านมุมมองของตัวละครที่ใช้สรรพนามว่า ‘ผม’ (นิยายไม่ได้เปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามของตัวละครรายนี้ และไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับประวัติชีวิตของ ‘ผม’)

‘ผม’ ทำหน้าที่เป็นเพียงแค่ผู้เล่าเรื่อง และสอดแทรกแสดงความคิดเห็นของตนเองบ้างเป็นบางครั้ง

เรื่องเล่าของ ‘ผม’ เน้นย้อนอดีตไปยังชีวิตของปู่ ย่า และพ่อ ช่วงเวลานั้นครอบคลุมตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1920 ถึงต้นทศวรรษ 1940

เส้นแกนหลักที่พอจะนับได้ว่าเป็นเหตุการณ์ปัจจุบันตกอยู่ราวๆ ปี 1939 และต่อเนื่องถัดจากนั้นอีกเล็กน้อย

เรื่องราวทั้งหมดเล่าสลับไปมาระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยไม่แบ่งแยกให้ชัดเจน บางครั้งในหน้าเดียวกัน จากย่อหน้าหนึ่งไปสู่อีกย่อหน้าหนึ่งก็เปลี่ยนช่วงเวลาอย่างปุบปับฉับพลัน บางครั้งเล่าเหตุการณ์หนึ่งมาจนถึงจุดเร้าใจ แล้วจู่ๆ ก็เปลี่ยนไปเล่าเรื่องอื่น เนิ่นนานและยืดยาวร่วมๆ ร้อยหน้า จากนั้นค่อยย้อนกลับมาเล่าเรื่องที่ทิ้งค้างไว้ต่อ และบางครั้งในเรื่องเรื่องเล่าย้อนอดีต ก็ยังมีอดีตซ้อนลึกลงไปอีกชั้น

ผมมีคำถามอยู่ตลอดการอ่านทุกครั้ง ว่าทำไมมั่วเหยียนจึงเลือกใช้วิธีการเล่าเช่นนี้

ควรต้องรีบบอกกล่าวไว้ก่อนนะครับว่าแต่ละท่อนแต่ละช่วงของเหตุการณ์ใน “ตำนานรักทุ่งสีเพลิง” อ่านง่าย เข้าใจง่าย และสนุกบันเทิงเต็มที่ แต่เมื่อเล่าสลับไปมาอย่างหวือหวาฉวัดเฉวียน ผลลัพธ์ก็แปลกเปลี่ยนไป แรกสุดคือการสูญเสียความราบรื่นและความต่อเนื่องในการอ่านติดตามเรื่องราว เกิดอาการสะดุดชะงักอยู่เป็นระยะๆ ถัดมาคือเมื่อติดตามไปเรื่อยๆ ก็เกิดความพร่าเลือนสับสน ไม่แน่ใจว่าลำดับก่อน-หลัง หรือต้น กลาง ปลายที่แท้จริงคืออะไร

ตรงนี้พ้องพานกับหน้าแรกๆ ของนิยาย ‘ผม’ เดินทางกลับไปบ้านเกิดที่เกามี่ตงเป่ย เพื่อสืบข้อมูลสำหรับเขียนประวัติของตระกูล พบยายเฒ่าผู้หนึ่งซึ่งบอกเล่าเรื่องราวมากมาย แต่เล่าอย่างขาดห้วง ไม่ปะติดปะต่อ ข้ามจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่งตลอดเวลาโดยที่ยังเล่าไม่จบครบกระบวนความ

“ตำนานรักทุ่งสีเพลิง” ก็เล่าเรื่องโดยให้ความรู้สึกใกล้เคียงกัน พูดอีกนัยหนึ่งคือเป็นนิยายที่พยายามสร้างท่วงทำนองแบบวรรณกรรมมุขปาฐะในการถ่ายทอดเรื่องราวลักษณะตำนานท้องถิ่น

ประโยชน์ถัดมาของการเล่าสลับไปมาไม่ดำเนินเรื่องเป็นเส้นตรงก็คือ มันมีทั้งการเกริ่นนำบางเหตุการณ์ล่วงหน้าในลักษณะที่ศัพท์วรรณกรรมเรียกว่า foreshadow (เคียงข้างไปกับการเล่าย้อนอดีตแบบ flashback) ส่งผลให้บางเหตุการณ์เกิดการเล่าซ้ำเกินกว่าหนึ่งครั้ง แต่ให้ผลทางอารมณ์ที่แตกต่างกันแม้จะเป็นข้อมูลเดียวกัน ตัวอย่างที่เด่นชัดคือเรื่องเล่าเกี่ยวกับความตายของหลิวหลัวฮั่น ซึ่งบางครั้งก็ดูองอาจสง่างามเยี่ยงวีรบุรุษ บางครั้งก็ดูโง่เขลาเบาปัญญา และบางครั้งก็ให้ความรู้สึกสยดสยองน่าสะพรึงกลัว

ที่สำคัญคือการลำดับเหตุการณ์ที่กระจัดกระจาย สลับไปมาอย่างเป็นอิสระ ดูเหมือนไร้ระเบียบแบบแผน (แต่ผ่านการออกแบบจัดวางอย่างประณีตพิถีพิถันโดยผู้เขียน) ส่งผลให้ตำแหน่งหน้าที่ของเหตุการณ์ตามแบบแผนการเล่าเรื่องเกิดอาการรวนไปหมด ความตายของย่าซึ่งควรจะถือเป็นไคลแมกซ์ในตอนท้ายกลับบอกเล่าไว้ตั้งแต่ช่วงต้น

พูดอีกแบบคือบรรดาองค์ประกอบในแบบแผนการเล่าเรื่องอย่าง climax, turning point, exposition, rising action, falling action, inciting moment ฯลฯ (ไม่ต้องกังวลนะครับว่าแต่ละคำเหล่านี้หมายถึงอะไร) ใน “ตำนานรักทุ่งสีเพลิง” ยังคงมีอยู่ตามขนบ แต่เหตุการณ์ที่นำมาทาบกลับเปลี่ยนไปเป็นอื่น และแตกต่างผิดไปไกลจากการเล่าตามลำดับเวลา

ประการสุดท้ายคือ วิธีการของมั่วเหยียนทำให้ผู้อ่านตกอยู่ในสภาพคาดเดาเหตุการณ์ใดๆ ล่วงหน้าไม่ได้เลย (จากเดิมที่แต่ละเรื่องเล่าก็โลดโผนพิสดารจนเดายากในตัวเองอยู่แล้ว) ยิ่งไปกว่านั้น ภายใต้วิธีเล่าสลับ ตัวนิยายยังเจตนาเล่าในสิ่งที่ผู้อ่านคาดไม่ถึง (บทสุดท้ายเด่นชัดมากในการเล่าถึง 2 ตัวละครที่ปรากฏฉับพลันและเป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้) และจงใจละเว้นไม่เล่าบางเรื่องที่ผู้อ่าน (อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งล่ะครับ) อยากรู้ เช่น ความรักระหว่างพ่อกับแม่ เหตุการณ์ที่ปู่ไปใช้ชีวิตที่ฮอกไกโด (เราไม่ทราบกระทั่งว่าตัวละครไปที่นั่นด้วยเหตุอันใด)

กล่าวโดยสรุปคือ เป็นนิยายที่เจตนาเขียนด้วยลีลา ‘ขัดใจผู้อ่าน’ ได้อย่างเก่งกาจร้ายเหลือ

ถึงตรงนี้ คงเล่าเนื้อเรื่องคร่าวๆ ของ “ตำนานรักทุ่งสีเพลิง” (ตามลำดับเวลา) ได้แล้วนะครับ เรื่องจับความที่หญิงสาวชื่อไต้เฟิ่งเหลียน ถูกพ่อแม่บังคับให้แต่งงานแบบคลุมถุงชนกับบุตรชายเจ้าของโรงเหล้าฐานะร่ำรวย (และมีข่าวลือว่าเจ้าบ่าวของเธอเป็นโรคเรื้อน) แต่แล้วระหว่างที่ขบวนแห่เจ้าสาวเดินทางไปสู่บ้านฝ่ายชายกลับเกิดเหตุพลิกผัน นำไปสู่ความสัมพันธ์ชู้สาวระหว่างไต้เฟิ่งเหลียนกับอี๋ว์จั้นเอ๋า (คนแบกเกี้ยว) จนเกิดเป็นเรื่องราวเปี่ยมสีสันติดตามมามากมายที่ผู้คนในหมู่บ้านล่วงรู้กันดีและเล่าสืบต่อกันมา

อีกเหตุการณ์หลักคือวีรกรรมของชาวบ้านในการซุ่มโจมตีทหารญี่ปุ่นซึ่งบุกเข้ามารุกรานจีน ภายใต้การนำของปู่ (อี๋ว์จั้นเอ๋า) และผลสืบเนื่องต่อจากนั้น

พอจะเทียบเคียงได้ว่า ภายใต้การเล่าถึงประวัติครอบครัวและท้องถิ่นบ้านเกิด “ตำนานรักทุ่งสีเพลิง” ก็เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับสังคมจีนช่วงระยะเวลาตั้งแต่ประมาณปี 1920-1940 เป็น ‘ประวัติศาสตร์ชาวบ้าน’ ที่มีรายละเอียดแตกต่างห่างไกลจากฉบับทางการลิบลับ

เนื้อหาสาระของ “ตำนานรักทุ่งสีเพลิง” มีหลายแง่มุม หากพิจารณาผ่านตัวละครที่มีสีสันและเสน่ห์ดึงดูดมากสุดอย่างไต้เฟิ่งเหลียน งานชิ้นนี้สะท้อนถึงเรื่องราวการก้าวล่วงสู่เสรีภาพของหญิงสาวผู้เติบโตมาในสังคมที่สตรีโดนกดขี่ ไร้ปากเสียง และยืนหยัดใช้ชีวิตเป็นตัวของตัวเองอย่างน่าทึ่ง

ที่สำคัญคือ การต่อต้านขัดขืนของตัวละครไต้เฟิ่งเหลียนไม่ได้แข็งทื่อ ยัดเยียด แต่เต็มไปด้วยความเป็นมนุษย์ที่สมจริงและมีชีวิตชีวามากๆ รวมทั้งมีความเป็นปุถุชน มีด้านดีเลวปนกัน จนกลายเป็นตัวละครที่มีความลึก

ทว่า โดยเรื่องราวที่นิยายขับเน้น (การสู้รบกับทหารญี่ปุ่นและความขัดแย้งกันเองในหลายฝักฝ่ายของชาวจีน) และตัวละครซึ่งทำหน้าที่ดำเนินเรื่องคือปู่และพ่อ ผมคิดว่าแก่นเรื่องของ “ตำนานรักทุ่งสีเพลิง” คือการสะท้อนภาพความโหดร้ายของสงคราม

แง่มุมนี้เกี่ยวเนื่องกับจุดเด่นต่อมา นั่นคือการนำเสนอความรุนแรงชนิดเลือดสาดอย่างไม่ยั้งมือ จนอาจกล่าวได้ว่ามั่วเหยียนเจตนาพรรณนาฉากต่อสู้ให้ดูเกินจริง (เป็นเคราะห์ดีหรือเคราะห์ร้ายก็ไม่รู้ ที่เขาเขียนบรรยายได้เก่งจนผู้อ่านเห็นภาพคล้อยตามได้แจ่มชัด และยังช่างคิดช่างสรรฉากสยองนองเลือดพิลึกพิลั่นสารพัดสารพัน) เอาเป็นว่า “ตำนานรักทุ่งสีเพลิง” ทำให้บรรดาหนังโหดๆ แหวะๆ ทั้งหลายประดามีที่ผมเคยดูมากลายเป็นงานเด็กๆ ไปเลย และไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะอ่านระหว่างมื้ออาหาร

นอกจากความรุนแรงแล้ว “ตำนานรักทุ่งสีเพลิง” ยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยการพรรณนาสาธยายถึงของเสียสิ่งโสโครกและความสกปรกโสมมอันเป็นรูปธรรมอย่างไม่ปิดบังอำพราง เป็นรสนิยม bad taste ชวนให้รู้สึกพะอืดพะอมขั้นสุด

ตรงนี้สามารถโยงต่อไปได้อีกถึงความสามารถทางวรรณศิลป์ของมั่วเหยียน การแจกแจงสรรพสิ่งชวนแหวะได้นำไปสู่จุดเด่นมากๆ อีกอย่างของนิยายเรื่องนี้ นั่นคือการเสนอสิ่งที่ขัดแย้งตรงกันข้ามเคียงคู่กันตลอดเวลา เรียกว่าแทบจะปรากฏอยู่ในทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่เหตุการณ์คนละขั้วอย่างความรักและการศึกสงคราม, พฤติกรรมชั่วร้ายเลวทรามกับวีรกรรมเปี่ยมคุณธรรม, ความรุนแรงกับความอ่อนโยนละเมียดละไม, ความล้นเกินจริงกับความสมจริง, ความตลกขบขันเสียดสีเย้ยหยันกับอารมณ์ซาบซึ้งสะเทือนใจ ฯลฯ

ฟากตรงข้ามของซีกด้านการเขียนได้อย่างชวนขยะแขยงในนิยายเรื่องนี้ก็คือท่วงทีการเขียนอันเต็มไปด้วยสุนทรีย์ในการบรรยายถึงธรรมชาติ ท้องฟ้า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ก้อนเมฆ ต้นไม้ แม่น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทุ่งข้าวฟ่าง

ฉากหลังต่างๆ ที่ว่ามาได้รับการกล่าวถึงอย่างถี่ถ้วนแทรกปนอยู่กับเรื่องราวการกระทำของตัวละคร และไม่ได้เป็นแค่การบรรยายรูปลักษณ์เหมือนเแต่งเติมฉากหลังเท่านั้น แต่ยังไปไกลถึงขั้นทำให้ธรรมชาติทั้งหมดมีชีวิต คิดได้ รู้สึกได้ เช่นเดียวกับมนุษย์ด้วยลีลาการเขียนที่เปี่ยมกลิ่นอายบทกวี

ผมคิดว่าข้าวฟ่างยังมีนัยยะความหมายในเชิงสัญลักษณ์ด้วยนะครับ แต่ยังไม่มีเวลาคิดอ่านถอดรหัสอย่างจริงจัง เหตุผลสนับสนุนในแง่นี้ก็คือฉากจบในเวลาปัจจุบัน (ซึ่งไม่ได้ระบุปี แต่บทความชิ้นหนึ่งที่ผมอ่านเจอได้พยายามเรียงลำดับวันเดือนปีให้แก่เหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ และสันนิษฐานว่าฉากจบน่าจะเป็นปี 1985) เมื่อ ‘ผม’ กลับไปที่บ้านเกิด ข้าวฟ่างที่เคยมีถูกแทนที่ด้วยข้าวฟ่างพันธุ์ผสมที่นำมาจากเกาะไหหลำ ตัวละคร ‘ผม’ รู้สึกชิงชังและผิดหวัง สองบรรทัดสุดท้ายของนิยายจบลงด้วยความว่า “ข้าวฟ่างแดงเปรียบเสมือนรูปเคารพแห่งเกียรติภูมิของวงศ์ตระกูลเรา เป็นสัญลักษณ์แห่งจิตวิญญาณดั้งเดิมของดินแดนเกามี่ตงเป่ย”

อย่างไรก็ตาม ‘ผม’ ผู้ทำหน้าที่เล่าเรื่อง ไม่ได้รู้สึกเป็นบวกไปเสียทั้งหมดต่อประวัติในอดีตของครอบครัว (ซึ่งเจือปนกันอยู่ระหว่างเกียรติยศและความอัปยศ) รวมถึงเกามี่ตงเป่ยอันเป็นบ้านเกิดที่ ‘ผม’ เน้นย้ำอยู่หลายครั้งว่าทั้งรักทั้งเกลียด (นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคู่ตรงข้ามในบรรดาที่มีอยู่นับไม่ถ้วนตลอดงานเขียนชิ้นนี้)

คู่ตรงข้ามที่สำคัญสุดและเป็นหัวใจของ “ตำนานรักทุ่งสีเพลิง” คือความดี-ความเลวในตัวมนุษย์ แทบจะพูดได้ว่าเหตุการณ์เรื่องเล่าทั้งหมด การกระทำของทุกตัวละครหลักล้วนมุ่งสะท้อนไปยังแง่มุมนี้ (ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวละครนายอำเภอซึ่งมีบทบาทภายนอกกระเดียดไปทางผู้ร้าย ก็ยังสรุปฟันธงแน่ชัดไม่ได้ว่าเป็นคนดีหรือคนเลวกันแน่)

มีอีกหนึ่งการตีความเกี่ยวกับข้าวฟ่างที่ผมอ่านเจอ ให้ความหมายว่ามันเปรียบเปรยถึงภาวะศึกสงคราม (และการแทนที่ด้วยข้าวฟ่างพันธ์ผสมในตอนท้ายบ่งชี้ถึงการสิ้นสุดของสงครามและจุดเริ่มต้นของสันติภาพ)

แง่มุมข้างต้นนั้น ในบทความที่ผมอ่านไม่ได้มีคำอธิบายหรือให้เหตุผลประกอบการตีความ แต่ก็มีน้ำหนักความเป็นไปได้อยู่พอสมควร เมื่อคำนึงถึงว่าตลอดทั้งเรื่องมีการเปรียบเปรยระหว่าง เลือด เหล้า ทุ่งข้าวฟ่าง เพลิงจากการระเบิดเผาไหม้ ท้องฟ้ายามพระอาทิตย์ขึ้นและตก เสื้อผ้าอาภรณ์ที่บางตัวละครสวมใส่ โดยเน้นถึงสีแดงของสิ่งต่างๆ เหล่านี้ จนเกิดความเหลื่อมซ้อนปนเปและเกี่ยวโยงกัน จนบางครั้งก็จำแนกแยกไม่ออกว่าอะไรเป็นอะไร (ในฉบับหนังของจางอี้โหมวถ่ายทอดรายละเอียดเหล่านี้ออกมาเป็นภาพได้โดดเด่นตรึงตาตรึงใจและใกล้เคียงกับนิยายมาก)

มีช่วงตอนหนึ่งที่ผมประทับใจมากสุดในนิยายเรื่องนี้ คือหลังเกิดเหตุการณ์ทหารญี่ปุ่นสังหารหมู่ชาวบ้าน เกามี่ตงเป่ยเต็มไปด้วยศพผู้คนล้มตายกลาดเกลื่อน ฝูงหมาจำนวนหลายร้อยบุกเข้ามาเพื่อกินซากศพ จนนำไปสู่อีกสงครามหนึ่งระหว่างคนกับหมา จู่ๆ ระหว่างการขับเคี่ยว เรื่องก็ตัดไปเล่าความขัดแย้งไม่ลงรอยกันของจ่าฝูงหมาสามตัว ซึ่งนำไปสู่การต่อสู้เข่นฆ่ากันเองผ่านการวางแผนอย่างเจ้าเล่ห์แสนกล

ฉากดังกล่าว นอกจากจะเขียนเล่าผ่านมุมมองของหมาได้อย่างน่าทึ่งแล้ว ยังมีน้ำเสียงเย้ยหยันประชดประชัน (ซึ่งเป็นท่าทีที่โดดเด่นของนิยายเรื่องนี้)

ที่สำคัญคือเมื่อนำไปเทียบเคียงถึงความขัดแย้งสามเส้า ระหว่างฝ่ายอี๋ว์จั้นเอ๋า พรรคคอมมิวนิสต์ และก๊กมินตั๋งแล้ว เจ็บแสบชะมัดเลยครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save