fbpx

Recess Therapy รายการชวนฟังคำสอนจากเด็กๆ ที่ช่วยชุบใจผู้ใหญ่อย่างเรา

กลางปี 2020 วัยรุ่นวัย 22 อย่าง จูเลียน ชาปิโร-บาร์นัม (Julian Shapiro-Barnum) เจอกับสถานการณ์ที่ไม่ต่างกับพวกเราในตอนนั้นเท่าไหร่ การระบาดระลอกใหญ่ครั้งแรกของโควิด-19 ทำให้เขาต้องพักจากการเรียนละครในมหาวิทยาลัยบอสตันย้ายกลับมาอยู่บ้านที่นิวยอร์ค และจำต้องล็อคตัวเองอยู่ในนั้น 

สภาพแวดล้อมชวนอึดอัดใจ ความรู้สึกดิ่งๆ และคำถามที่ว่า “ตอนนี้มีใครรู้สึกอย่างที่ฉันรู้สึกไหม” ชวนให้ชาปิโร-บาร์นัมรู้สึกว่าต้องออกไปขอคำปรึกษาหรือนั่งคุยกับใครสักคน แต่แทนที่จะเป็นนักจิตบำบัดในคลินิก เขากลับเลือกเดินเข้าไปถามเด็กๆ ในสนามเด็กเล่น ด้วยความหวังที่ว่า เด็กๆ น่าจะช่วยให้คำตอบง่ายๆ ให้เขาได้

และนี่คือจุดเริ่มต้นของ Recess Therapy รายการคุยกับเด็กบนยูทูบและอินสตาแกรมที่คนแชร์กันมากมายในช่วงที่ผ่านมา หากจะมีสักตอนที่เคยผ่านตาคุณ คงเป็นคลิปเด็กชายเสื้อสีฟ้าที่หลงรัก ‘มังกรโคโมโด’ อย่างสุดใจ (ชนิดที่ถึงจะต้องโดนมันกินก็ยังรัก) ที่หลายคนดูแล้วอุทานในใจหรือไม่ก็หลุดออกเสียงว่า เอ็นดูโน้งงง~ 

เมื่อพูดว่ารายการเด็ก บางคนคงอดไม่ได้ที่จะเอาภาพจำจากรายการเด็กส่วนใหญ่ที่เคยดูไปตัดสินล่วงหน้าว่า รายการนี้คงหนีไม่พ้นคุยกันด้วยคำถามพื้นๆ อย่าง “โตขึ้นอยากเป็นอะไร”, “รักพ่อหรือแม่มากกว่ากัน”, “รักครูคนไหนมากที่สุดในโรงเรียน” หรือคำถามที่พิธีกรใช้ต้อนให้เด็กเผยคำตอบตลกๆ ออกมาให้คนดูได้ฮา แต่ Recess Therapy ต่างออกไป เพราะคำถามที่พิธีกรอย่างชาปิโร-บาร์นัมพกออกไปชวนเด็กวัย 2 – 10 ขวบในนิวยอร์คคุย ล้วนเป็นหัวข้อคำถามที่หลายคนมองว่าเป็น ‘เรื่องที่ผู้ใหญ่ไว้คุยกัน’

ความเป็นผู้ใหญ่, การจัดการความโกรธ, ความหลากหลายทางเพศ, การมีชื่อเสียง, เศรษฐศาสตร์ (เปิดด้วยคำถามง่ายแต่ยากว่า รู้ไหมว่าเงินมาจากไหน), จะทำอะไรถ้าเป็นประธานาธิบดี, เอเลี่ยนมีจริงไหม ไปจนถึงเรื่องโลกหลังความตาย และความหมายของชีวิต (คิดว่าเรามาที่โลกนี้เพื่ออะไร) 

และไม่ใช่ว่าหัวข้อสบายๆ จะไม่มีเลย คำถามเรื่องหนังที่ชอบหรือสัตว์ตัวโปรดก็ยังคงมีในรายการ แต่คงเพราะท่าทีการถามของชาปิโร-บาร์นัมที่ทำให้เรารู้สึกว่านี่คือรายการที่ ‘คนคุยกัน’ มากกว่าผู้ใหญ่คุยกับเด็ก ท่าทีที่ว่าคือถามโดยไม่ได้มุ่งจะเอาแต่คำตอบไร้เดียงสา แต่ให้ความสำคัญกับมุมมองและความคิดเห็นของเด็กๆ แบบจริงจัง คำถามอย่าง ‘ร่างกายของเราเป็นอย่างไรเวลาโกรธ’, ‘คิดว่าดีหรือไม่ดีที่เราฉี่รดกางเกง’, ‘รู้สึกอย่างไรกับเมืองนิวยอร์คที่ตัวเองอยู่’ หรือ ‘คิดว่ามังกรโคโมโดจะพูดกับเราว่าอะไรถ้าเราบอกรักมัน’ คือน้ำเสียงและรูปแบบของคำถามที่เราได้ยินบ่อยๆ ใน Recess Therapy และนี่คือสิ่งที่ทำให้รายการนี้แตกต่างจากรายการเด็กที่เราเคยรู้จัก

ย้อนกลับไปที่แบ็คกราวน์ของชาปิโร-บาร์นัม ผู้สร้างสรรค์และพิธีกรรายการ เจ้าตัวเชื่อว่าวัตถุดิบที่ดีของรายการนี้คือประสบการณ์การเติบโตท่ามกลางครอบครัวเกย์ห้าคน (ประกอบด้วยแม่ 3 คนและพ่อ 2 คน) ที่อบอวลไปด้วยบทสนทนาแบบ ‘ผู้ใหญ่คุยกัน’ อย่างเรื่องเชื้อชาติ เพศ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยไม่ได้ทรีตว่าคำตอบไหนเป็นของเด็กหรือของผู้ใหญ่ แต่ทุกคำตอบคือความคิดเห็นของคนคนหนึ่งที่มีน้ำหนักเท่ากันหมด

ทำไมเราชอบฟังเด็ก ผมนึกสงสัยขึ้นมาระหว่างดูรายการตอนแล้วตอนเล่า คำตอบที่คิดได้ในเวลาต่อมาคือ เพราะการมองโลกด้วย ‘เลนส์’ แบบเด็ก ทำให้เรามีกำลังใจใช้ชีวิตมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเด็กมีแต่เรื่องดีๆ มาเล่าให้เราฟัง แต่กลับกัน มันคือการที่เด็กโอเคที่จะมีพื้นที่ให้ความ ‘ไม่โอเค’ ของตัวเองและโอเคที่จะเล่ามันออกมาได้ ไม่โอเคที่ไม่ได้ออกมาเล่นกับเพื่อนตอนล็อคดาวน์ ไม่โอเคจนโกรธจนต้องกรี๊ดหรือเผลอชกกำแพงไปบ้าง เกลียดเมืองที่อยู่เพราะมันเต็มไปด้วยอึและนกพิราบ กลัวที่จะต้องเติบโตไปอย่างโดดเดี่ยว เด็กๆ มักมีพื้นที่ให้ความรู้สึกเหล่านั้น และในเวลาเดียวกันเด็กก็มีทางออกให้มันเสมอ 

ไม่ว่าจะเป็นทางออกที่ง่ายจนเราลืมคิด อย่างเด็กที่ตอบว่า “ความหมายของการมีชีวิตของเธอคือลูกหมาและถั่วแสนอร่อย” ทางออกที่เราหลุดขำอย่าง “ถ้าได้เป็นประธานาธิบดี จะออกกฎให้ทุกคนแปรงฟันโดยให้ตำรวจมานั่งดูอยู่ในห้องน้ำ” หรือทางออกที่รู้ว่าเป็นไปไม่ได้แต่ก็ทำให้เราสะท้อนใจและแอบเจ็บลึกๆ อย่างคำตอบที่บอกว่า “การแก้ปัญหาในวันที่โลกไม่มีน้ำใช้คือการแหงนหน้าอ้าปากรอน้ำฝนจากฟ้า” ไม่รู้ว่าทุกคำตอบจะได้ผลในโลกแห่งความจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ นั่นไม่ใช่คำตอบที่เราจะได้จากผู้ใหญ่ที่แบกก้อนความเครียดและแรงกดดันเต็มบ่าอย่างเรา นั่นคงเป็นเหตุผลเดียวกับที่ชาปิโร-บาร์นัมบอกว่า การทำรายการนี้คือการบำบัดตัวเองแบบหนึ่ง เพราะสิ่งที่เขาได้จากการสัมภาษณ์ทุกครั้งคือมุมมองที่ทำให้เขามีความหวัง พลังในการใช้ชีวิตต่อ และหลายครั้งรู้สึกว่าเด็กที่ไปถามได้มอบคำสอนชั้นดีหลายอย่างให้กับเขา

ผมนึกถึงหนังที่เพิ่งดูมาอย่าง C’mon C’mon (2021) ผลงานล่าสุดของผู้กำกับ ไมค์ มิลล์ส (Mike Mills) บทลุงจอห์นนี (นำแสดงโดย ฮัวคีน ฟีนิกซ์ -Joaquin Phoenix) ซึ่งเป็นตัวละครที่คล้ายคลึงกับบทบาทในชีวิตจริงของชาปิโร-บาร์นัมโดยบังเอิญ ด้วยอาชีพนักจัดรายการวิทยุที่ต้องตระเวนสัมภาษณ์เด็กและวัยรุ่นทั่วอเมริกา จอห์นนีพูดไดอะล็อคเกี่ยวกับการเป็น ‘ผู้สัมภาษณ์’ ของตัวเองไว้ประมาณว่า – มันคือการหันหน้าหนีออกจากสถานที่ สถานการณ์ ปัญหาชีวิตของตัวเองชั่วขณะ และเข้าไปอาศัยในโลกของคนอื่น เพื่อมอบพื้นที่และเวลาให้คนคนนั้นได้พูดสิ่งที่อาจไม่เคยพูดมาก่อนในชีวิต ให้เขาได้จินตนาการเกี่ยวกับตัวเอง และจินตนาการถึงสิ่งที่อาจจะเหนือความควบคุมของเขาในชีวิตจริง – ในฐานะคนที่เคยสัมภาษณ์คนอื่นมาบ้าง ผมเชื่อว่าเมื่อเลขเวลาของเทปสัมภาษณ์เริ่มวิ่ง มันคือช่วงเวลาที่ต่างฝ่ายต่างได้บำบัดและเรียนรู้ตัวเองจากกันและกันจริงๆ อันที่จริงจะบอกว่าเป็นคุณค่าของการสัมภาษณ์อย่างเดียวคงไม่ใช่ มันคือคุณค่าของการถาม พูด และฟังกัน อย่างไม่เอาความคิดตัวเองไปตัดสินต่างหาก

C’mon C’mon (2021) กำกับโดย ไมค์ มิลล์ส

ปัจจุบัน Recess Therapy มีผู้ติดตาม 1.6 ล้านคนทางอินสตาแกรมและห้าหมื่นกว่าคนทางยูทูบ ไม่ว่าในจำนวนนี้จะเป็นคนฟังผ่านๆ ฟังเอาสนุก หรือฟังเอาเนื้อหา แต่ก็บ่งบอกได้ว่าพื้นที่ของการฟังเสียงของเด็กกำลังขยายใหญ่และถูกให้ความสำคัญมากขึ้นในสังคมทั่วโลก เพราะการฟังเสียงเด็กคือการฟังเสียงอนาคต ในอีกไม่เกิน 20 ปีพวกเขาในคลิปเหล่านี้จะกลายเป็นพลเมืองที่ขับเคลื่อนโลก ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่นั่งฟังในวันนี้จะกลายเป็นเพียงกลุ่มคนที่พลังถดถอยเกินกว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไร 

คำตอบผ่านสายตาที่สดใหม่ มองโลกอย่างตรงไปตรงมาและปราศจากอคติของเด็กๆ เหล่านี้ หากฟังให้ดีๆ โดยไม่เอากรอบของ ‘ความเป็นผู้ใหญ่’ ไปตัดสิน มันอาจกลายเป็นมุมมองที่มีคุณค่าและช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องในชีวิตประจำวันไปจนถึงปัญหาใหญ่ของโลกในวันนี้ ในแบบที่เรียบง่ายและคิดไม่ถึงก็เป็นได้

www.julianshapirobarnum.com

ฟังเสียงของเด็กๆ ใน Recess Therapy ได้ทางยูทูบ https://www.youtube.com/channel/UCKK0Ls3-3u9JMpIKIXPVM0w และอินสตาแกรม https://www.instagram.com/recess_therapy/


อ้างอิง

https://www.nytimes.com/2022/02/11/style/recess-therapy-julian-shapiro-barnum.html
https://www.julianshapirobarnum.com

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save