fbpx

ร่าง พ.ร.บ.การเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นฉบับใหม่ : ประชาธิปไตยทางตรงที่กำลังถูกทำลาย?

ตลอดหลายปีมานี้ กลวิธีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้จนสร้างกระแสข่าวได้เสมอคือ การรณรงค์เข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผ่านเว็บไซต์ change.org เริ่มตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปี 62 ที่มีคนเข้าชื่อถอดถอน กกต. มากถึงกว่า 8.6 แสนคน เรื่อยไปถึง ส.ส. บางคน ตลอดจน ส.ว. 250 ท่าน แน่นอนว่ากระบวนการนี้ไม่มีผลทางกฎหมาย ต่อให้มีคนร่วมลงชื่อเป็นล้านๆ ก็ตาม ประกอบกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไม่ได้ให้อำนาจประชาชนเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนผู้ที่มีตำแหน่งทางการเมือง (ในความหมายกว้างรวมถึงประธานศาล กรรมการองค์กรอิสระ ผู้พิพากษาหรือตุลาการ อัยการ ฯลฯ) เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 (50,000 รายชื่อ) หรือรัฐธรรมนูญปี 2550 (20,000 รายชื่อ) ได้อีกต่อไป คงเหลือเพียงตำแหน่งเดียวที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ยอมให้ทำได้คือ ป.ป.ช. (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) (20,000 รายชื่อ)

จะว่าไปแล้ว ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ประชาชนมีสิทธิเพียงเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเท่านั้น เพื่อให้วุฒิสภามีมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 จึงจะถือว่าถอดถอนบุคคลนั้นสำเร็จ ซึ่งภายใต้สถานการณ์ปกติ (ไม่ใช่ช่วงหลังการรัฐประหารที่ สนช. ทำหน้าที่แทน ส.ว.) ยังไม่เคยมีนักการเมืองผู้ใดถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งมาก่อน[1] ไม่ว่าจะสังกัดอยู่ฟากฝั่งอุดมการณ์การเมืองใดก็ตาม

กระบวนการเช่นนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘impeachment’ เป็นกระบวนการที่ดำเนินการโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ทว่ายังมีอีกคำหนึ่งคือ ‘recall’ หมายถึงกรณีที่เป็นการลงคะแนนเสียงให้นักการเมืองพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งทำโดยประชาชน พูดง่ายๆ ว่าถ้าแบบแรกเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม แบบหลังก็คือประชาธิปไตยทางตรง แม้หนทางข้างต้นในการเมืองไทยระดับชาติจะถูกปิดตาย แต่ไม่ใช่กับบริบทของการเมืองท้องถิ่น

การเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองท้องถิ่นได้ด้วยตนเองหลากหลายรูปแบบ เป็นผลโดยตรงของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่ยังคงส่งผลสืบเนื่องมาจนถึงตอนนี้ หนึ่งในนั้นก็คือ ‘การเข้าชื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น’[1]

อนึ่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ที่เป็นกฎหมายลูก กำหนดเงื่อนไขเอาไว้ค่อนข้างสูง แบ่งออกเป็น 2 ขั้นตอนใหญ่ ได้แก่ ขั้นตอนของการเข้าชื่อกับขั้นตอนการออกเสียงลงคะแนน โดยไม่จำเป็นต้องระบุมูลเหตุ/พฤติการณ์อันเป็นที่มาของการถอนถอนแต่อย่างใด กฎหมายกำหนดเพียงเพราะประชาชนเห็นว่า ‘ไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป’ เหตุผลในการถอดถอนจึงกว้างขวาง เช่นที่เคยมีนายก อบต. แห่งหนึ่งถูกประชาชนร่วมกันเข้าชื่อถอดถอน เนื่องจากไม่พอใจที่นำเอาภรรยามาเป็นเลขานุการนายกฯ

ขั้นตอนการเข้าชื่อถอดถอน

– กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 100,000 คน จำนวนผู้เข้าชื่อถอดถอนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5

– กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งระหว่าง 100,000-500,000 คน จำนวนผู้เข้าชื่อถอดถอนไม่น้อยกว่า 20,000 คน

– กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งระหว่าง 500,000-1,000,000 คน จำนวนผู้เข้าชื่อถอดถอนไม่น้อยกว่า 25,000 คน

– กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกิน 1,000,000 คน จำนวนผู้เข้าชื่อถอดถอนไม่น้อยกว่า 30,000 คน

ยกตัวอย่าง หากคนโคราชต้องการถอดถอนนายก อบจ. ของตนต้องเข้าชื่อกันให้ได้มากกว่า 3 หมื่นคน เพราะจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งจังหวัดอยู่ที่เกือบ 1 ล้าน 9 แสนคน หรือ อบต.ราชาเทวะที่มีประชากรประมาณ 27,000 คนก็ต้องหามาให้ได้ไม่ต่ำกว่า 5,400 รายชื่อ ซึ่ง อปท. ที่เป็นเทศบาลและอบต. เกือบทั้งหมดทั่วประเทศอยู่ในเกณฑ์แรกเช่นเดียวกับ อบต.ราชาเทวะ นั่นคือต้องการชื่อ 1 ใน 5 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทว่าลำพังในชั้นนี้เองก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะไปทำกันได้ง่ายๆ

ขั้นตอนการลงคะแนนถอดถอน

ถ้าการเข้าชื่อผ่านเกณฑ์ข้างต้น ขั้นตอนต่อไปทาง กกต. จะเป็นผู้จัดให้มีการลงคะแนนเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นรายนั้น ถ้าผลลงคะแนนออกมาได้เสียงถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 4 ของผู้ที่มาลงคะแนน หรือมีผู้มาลงคะแนนน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด บุคคลที่ถูกยื่นถอดถอนนั้นก็สามารถอยู่ในตำแหน่งได้ต่อไป โดยจะต้องผ่านเกณฑ์ทั้ง 2 เงื่อนไขทั้งจำนวนผู้มาออกเสียงลงคะแนนและคะแนนเสียงถอดถอน หากเป็น อบจ.นครราชสีมาก็ต้องมีคนมาออกเสียงไม่ต่ำกว่า 9 แสน 5 หมื่นคน และได้คะแนนเห็นควรให้ถอดถอนอย่างน้อยๆ 7 แสนกว่าคะแนนขึ้นไป (ต้องใช้เสียงมากกว่าคะแนนของผู้ซึ่งชนะได้รับเลือกตั้งเสียอีก) ส่วน อบต.ราชาเทวะอยู่ที่ 13,500 คนกับ 10,125 คะแนน จากเงื่อนไขที่กฎหมายต้องกำหนดให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี 2540) จึงดูแล้วไม่น่าเป็นไปได้จริงในทางปฏิบัติ

อย่างไรก็ดี นับแต่ปี 2546-2560 พบว่าประชาชนสามารถถอดถอนนักการเมืองท้องถิ่นออกจากตำแหน่งได้สำเร็จถึง 4 ครั้งจากการลงคะแนนถอดถอนรวมทั้งสิ้น 13 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ที่ไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากมีผู้มาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิในพื้นที่ (7 ครั้ง) หรือมีผู้เห็นด้วยกับการถอดถอนไม่ถึง 3 ใน 4 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ (2 ครั้ง)

สถิติการลงคะแนนถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น[2]

ลำดับ/อปท.ตำแหน่งวัน/เดือน/ปีผลการยื่นถอดถอน
(1) องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคามนายก อบต.2 ก.พ. 2546มติไม่พ้นตำแหน่ง (ผู้มาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่ง)
(2) องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่านนายก อบต.28 ม.ค. 2550พ้นจากตำแหน่ง
(3) องค์การบริหารส่วนตำบลป่าแฝก อ.พรเจริญ จ.หนองคายนายก อบต.17 มี.ค. 2550มติไม่พ้นตำแหน่ง (ผู้มาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่ง)
(4) องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสูง อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์นายก อบต.18 มี.ค. 2550มติไม่พ้นตำแหน่ง (ผู้มาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่ง)
(5) องค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุ อ.เชียงกลาง จ.น่านนายก อบต.12 ม.ค. 2551มติไม่พ้นตำแหน่ง(คะแนนผู้เห็นด้วยต่อการถอดถอนน้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้มาใช้สิทธิ)
(6) องค์การบริหารส่วนตำบลนาเสียว อ.เมือง จ.ชัยภูมินายก อบต.27 ม.ค. 2551พ้นจากตำแหน่ง
(7) เทศบาลตำบลบ้านเกาะ อ.เมือง จ.อุตรดิตถ์นายกเทศมนตรี7 ธ.ค. 2551มติไม่พ้นตำแหน่ง (ผู้มาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่ง)
(8) องค์การบริหารส่วนตำบลโนนแดง อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมินายก อบต.7 มี.ค. 2552พ้นจากตำแหน่ง
(9) องค์การบริหารส่วนตำบลภูแลนคา อ.บ้านเขว้า จ.ชัยภูมินายก อบต.17 ต.ค. 2553มติไม่พ้นตำแหน่ง(คะแนนผู้เห็นด้วยต่อการถอดถอนน้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้มาใช้สิทธิ)
(10) เทศบาลตำบลสงเปลือย อ.สงเปลือย จ.กาฬสินธุ์นายกเทศมนตรี4 ธ.ค. 2553มติไม่พ้นตำแหน่ง (ผู้มาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่ง)
(11) องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแดง อ.สีชมพู จ.ขอนแก่นนายก อบต.27 ก.ย. 2554มติไม่พ้นตำแหน่ง (ผู้มาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่ง)
(12) เทศบาลตำบลบ้านฝาง อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น นายกเทศมนตรี3 เม.ย 2554พ้นจากตำแหน่ง
(13) องค์การบริหารส่วนตำบลแม่อ้อ อ.พาน จ.เชียงรายนายก อบต.18 ม.ค. 2560มติไม่พ้นตำแหน่ง (ผู้มาใช้สิทธิไม่ถึงกึ่งหนึ่ง)

โดยครั้งแรกเกิดขึ้นที่ อบต.โพนงาม อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2546 ซึ่งยังไม่สามารถถอดถอนได้ เพราะผู้มาใช้สิทธิมีไม่ถึงครึ่ง แต่ครั้งแรกที่ประชาชนสามารถถอดถอดผู้บริหารท้องถิ่นได้สำเร็จเกิดขึ้นที่ อบต.ห้วยโก๋น อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน เมื่อ 28 มกราคม พ.ศ. 2550 (สมัยรัฐบาล คมช.) ซึ่งนายก อบต. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงได้ถูกประชาชนจำนวนถึงร้อยละ 85 ลงคะแนนเสียงให้พ้นจากตำแหน่ง เหตุเพราะถูกกล่าวหาว่าบริหารงานไม่โปร่งใส ไม่ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเดือดร้อน และทุจริตเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน รวมทั้งมีข้อครหาเรื่องความจงรักภักดี[3]

และครั้งล่าสุดเกิดขึ้นกับนายก อบต.แม่อ้อ อ.พาน จ.เชียงราย วันลงคะแนนคือ วันที่ 18 มกราคม 2560 ในยุค คสช. ที่สั่งห้ามไม่ให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกชนิด แต่กลับไม่ห้าม กกต. ไม่ให้จัดให้มีการลงคะแนนถอดถอน สาเหตุเนื่องจากประชาชนไม่พอใจที่ อบต. อนุญาตให้เอกชนตั้งฟาร์มเลี้ยงสุกรขึ้นในเขตพื้นที่ ซึ่งนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ เช่น ตั้งอยู่ติดแหล่งน้ำที่ประชาชนใช้ แต่ถอดถอนไม่สำเร็จ เพราะไม่ผ่านเกณฑ์ข้อแรกคือมีผู้มาใช้สิทธิฯ 3,141 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนเต็ม 7,752 คน แม้จะได้เสียงถอดถอนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของผู้ที่มาลงคะแนนคือ เห็นด้วย 2,595 คะแนน และไม่เห็นด้วย 473 คะแนน

จากตารางเห็นได้ชัดว่าตำแหน่งที่มีการดำเนินการมาถึงขั้นลงคะแนนถอดถอนทั้งหมดเป็นผู้บริหารท้องถิ่นคือ นายก อบต. กับนายกเทศมนตรีตำบล จากข้อมูลที่มีการบันทึกไว้พบความพยายามที่จะถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่ อบต.โนนภิบาล อ.แกดำ จ.มหาสารคาม ตั้งแต่เมื่อช่วงต้นปี 2546 แต่ไปไม่ถึงขั้นที่มีการลงคะแนนเสียงถอดถอน เนื่องจากระดมรายชื่อได้ไม่ถึงเกณฑ์ 1 ใน 5 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งเขต[4]

ถึงกระนั้น ขณะนี้ได้มีความพยายามที่จะยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นมาเพื่อใช้แทนของเดิม ริเริ่มโดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ทางคณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเมื่อวันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2564[5] และมีอีกร่างที่ถูกเสนอประกบโดยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติกับคณะ สาระสำคัญแทบไม่แตกต่างกัน

ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้เข้าไปแก้ไขปรับปรุงหลักการใหญ่ โดยทำให้ การลงลายมือชื่อเพื่อเสนอถอดถอนและการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนเป็นกระบวนการเดียวกัน ลดลงเหลือแค่ขั้นตอนเดียว ความสำเร็จจึงขึ้นอยู่กับการรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนให้ได้จำนวนเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น กรุงเทพมหานครต้องใช้รายชื่อถอดถอนมากถึง 2,244,612 คน ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงถอดถอนอีกต่อไป

นอกจากรูปแบบการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนแล้ว ยังเพิ่มรูปแบบการเข้าชื่อเพื่อขอให้มีการสอบสวนเพื่อถอดถอน ซึ่งกำหนดจำนวนรายชื่อน้อยกว่ามาก (ไม่น้อยกว่า 5,000 คน หรือไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในเขตเลือกตั้งนั้น) แต่ทั้งนี้ผลการถอดถอนขึ้นอยู่กับการสอบสวนโดยคณะกรรมการสอบสวนที่ถูกแต่งตั้งขึ้น โดยผู้ริเริ่มกระบวนการถอดถอนทั้งสองรูปแบบต้องระบุพฤติการณ์อันเป็นเหตุให้ต้องเข้าชื่อถอดถอนผู้นั้นตามที่กฎหมายกำหนดให้ชัดเจน เช่น จงใจทอดทิ้งหรือ​ละเลยไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่และอำนาจอันจะเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต หรือกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น[6]

แน่ละ ร่างกฎหมายนี้ย่อมไปลดทอนกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในทางการเมือง เพิ่มภาระให้กับผู้ที่คิดจะระดมรายชื่อเพื่อถอดถอนนักการเมืองท้องถิ่น ขัดต่อหลักการการออกเสียงโดยลับ ต่างกับรูปแบบที่ใช้อยู่ในนานาประเทศประชาธิปไตยซึ่งเน้นให้อำนาจประชาชนตัดสินใจด้วยตัวเอง และกำลังขยายอำนาจกำกับดูแลของหน่วยราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเหนือท้องถิ่นอีกครั้งหนึ่ง

ท่ามกลางกระแสข่าวโครงการเสาไฟประติมากรรมอลังการของ อปท. ที่ราคาสูงเกินจริง และตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สมเหตุสมผลตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ทำให้หลายคนหมดหวังกับการเมืองท้องถิ่น ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าประชาชนเองยังมีเครื่องมือนี้ให้เลือกใช้ เพื่อย้ำเตือนว่าในเมื่อประชาชนเลือกเข้าไปได้ก็ต้องเอาออกได้เช่นกัน แต่ผู้มีอำนาจในบ้านในเมืองขณะนี้คงไม่เห็นพ้องด้วย


[1] รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 286 เขียนว่า “ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีจำนวนไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาลงคะแนนเสียง เห็นว่าสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้ใดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นไม่สมควรดำรงตำแหน่งต่อไป ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ การลงคะแนนเสียงตามวรรคหนึ่งต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด”

[2] ปรับปรุงจาก เอกวีร์ มีสุข, บทวิเคราะห์ร่างกฎหมายว่าด้วยการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น, สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา และสถาบันพระปกเกล้า, หน้า 24-25, จาก https://www.kpi.ac.th/uploads/pdf/YntN7GxgHD1gCvd5QSTwZmcoiQZs360dEuwQBwjV.pdf

[3] ยงยุทธ สิงห์ธวัช, การถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นโดยประชาชน ศึกษาเฉพาะกรณีองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยโก๋น จังหวัดน่าน, วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์, (นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2551).

[4] เอกวีร์ มีสุข, อ้างแล้ว, หน้า 24.

[5] ศึกษาร่างพระราชบัญญัติการเข้าชื่อเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น​หรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. …. ฉบับดังกล่าวได้ที่ https://www.senate.go.th/document/Lawdraft/Ext5/5063_0001.PDF

[6] สรุปจาก เรื่องเดียวกัน, หน้า 19-20.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save