fbpx
หนักแผ่นดิน

หนักแผ่นดิน : อุปลักษณ์ที่เราใช้ฆ่ากัน

อิสระ ชูศรี เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

อย่างที่หลายท่านที่เกิดทันเพลงหนักแผ่นดินทราบแล้ว หรือคนที่เกิดไม่ทันแต่ได้มีโอกาสอ่านข่าวที่หนังสือพิมพ์หรือสื่อสังคมออนไลน์กล่าวถึงความเป็นมาของเพลงนี้ ว่ามันเป็นเพลงปลุกระดมเพื่อต่อต้านขบวนการฝ่ายซ้ายที่กำเนิดขึ้นในช่วง พ.ศ.2518 ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ฆ่าหมู่ 6 ตุลาคม 2519 และก็ถูกใช้เพื่อการนั้นเรื่อยมาจนถึงต้นทศวรรษ 2520 ก่อนจะถูกลดความสำคัญลงไป จนกระทั่งถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ราวกับผีดิบ เพียงเพราะว่ามีพรรคการเมืองบางพรรคนำเสนอนโยบายลดงบประมาณด้านกลาโหม และเสนอให้มีการเข้ารับการฝึกทหารแบบสมัครใจ

คนที่เป็นผู้ใหญ่แล้วในช่วงที่เพลงหนักแผ่นดินได้รับความนิยม อาจจะมีความทรงจำเกี่ยวกับเพลงนี้แบบหนึ่ง ส่วนผมเกิดทันเพลงนี้ในตอนที่ยังเป็นเด็ก โดยไม่มีความรับรู้เกี่ยวกับนัยยะทางการเมืองของเพลงนี้แต่อย่างใด รู้แต่ว่ามีการเปิดเพลงหนักแผ่นดินทางโทรทัศน์-วิทยุ ชนิดที่ว่าไปทางไหนก็ได้ยิน จนกระทั่งทำนองและสร้อยเพลงติดอยู่ในหัวจนต้องร้องต้องฮัมตามอยู่บ่อยๆ

เมื่อโตขึ้นถึงวัยที่พอจะหาหนังสืออ่านเองได้จึงเข้าใจบริบทของเพลงๆ นี้มากขึ้น ผมจึงเริ่มเข้าใจหน้าที่ของมันในการร่วมสร้างความชอบธรรมให้กับการเบียดเบียนนักศึกษาประชาชน ที่มีความคิดความเชื่อทางการเมืองและวัฒนธรรมไปจากสิ่งที่รัฐอุปถัมภ์ ชนิดที่ถึงขั้นนองเลือด ติดคุกติดตะราง หรือพลัดบ้านพลัดช่องกันเป็นจำนวนมาก ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชนเหล่านี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสี่สิบกว่าปีนี้เอง ตอนนี้มีกระแสแบบนั้นคุกรุ่นขึ้นในบ้านเราอีกแล้ว ผมคิดว่าเราควรที่จะรู้ตัวและพยายามวิพากษ์มันอย่างซึ่งหน้า และเตือนกันว่าควรจะตั้งสติและใช้สติปัญญาให้มากขึ้นได้อย่างไร

สิ่งที่ผมจะเสนอในบทความนี้ก็คือ การนำเสนอความหมายเชิงอุดมการณ์ในเพลงหนักแผ่นดินนี้ ไม่ใช่การปลูกฝังความรักบ้านเกิดเมืองนอนแบบธรรมดาๆ แต่มันแฝงไว้ด้วยการลดทอนความเป็นคนของประชาชนที่มีทัศนะทางการเมืองแตกต่างไปจากที่กลไกรัฐชาตินิยมพยายามปลูกฝัง ถึงขั้นที่ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ควรมีอยู่ในประเทศนี้เลยด้วยซ้ำ (ความหมายของแฝงของ ‘หนักแผ่นดิน’ คือสมควรนำออกไปจากสังคม-ประเทศ) ในขณะเดียวกันก็เชิดชูให้คนที่มีทัศนะแบบที่รัฐอุปถัมภ์ ยิ่งหลงใหลในคุณงามความดีของตนว่าเป็นผู้พิทักษ์รักษาความเป็นชาติให้ยืนยงสืบไป

ถึงตรงนี้เราควรต้องทำความเข้าใจความหมายเชิงเปรียบเทียบของคำว่า ‘หนัก’ เสียหน่อยหนึ่ง ว่าในบริบทนี้สิ่งที่มีน้ำหนักมาก เชื่อมโยงกับความ ‘ต่ำ’ ซึ่งมีความหมายแง่ลบ เพราะสิ่งที่หนักย่อมตกหรือจมลงสู่ที่ต่ำ แต่สิ่งที่เบาย่อมลอยขึ้นที่สูงหรือไม่จมลง ดังจะเห็นได้ในคำว่ากรรมหนัก ทุกข์หนัก บาปหนัก โทษหนัก เป็นต้น รวมทั้งความเชื่อที่ว่าสิ่งที่ไม่ดีย่อมอยู่เบื้องล่างเป็นปกติ และสิ่งที่ดีหรือที่เป็นบวกย่อมอยู่เบื้องบนเป็นปกติ

ลำดับแรก เรามาทำความเข้าใจขั้นตอนย่อยของการนำเสนอเนื้อหาในเพลงหนักแผ่นดินกันก่อน เนื้อเพลงนี้ประกอบด้วยส่วนที่เป็น ‘สร้อย’ ความยาวหนึ่งบรรทัดที่บอกว่า “หนักแผ่นดิน หนักแผ่นดิน คนเช่นนี้เป็นคนหนักแผ่นดิน” โดยที่มีการพรรณนาให้เห็นในท่อนถัดมาว่า “คนเช่นนี้” มีพฤติกรรมอย่างไร แล้วก็กลับไปซ้ำที่สร้อยอีก แล้วกลับมาพรรณนาต่อไปอีกรอบว่า “คนเช่นนี้” หนักแผ่นดินอย่างไร โดยมีขั้นตอนย่อยที่เชื่อมโยงสลับกันไปมากับสร้อย “หนักแผ่นดิน” จำนวนสามขั้นตอนย่อย (ดูภาพประกอบ)

ในขั้นตอนย่อยที่หนึ่ง เราจะเห็นการนิยามความเป็นไทยในแง่มุมภายนอก เช่น สัญชาติ (ใช้ชื่อไทย) เชื้อชาติ (กายก็ดูคล้ายไทย) การทำงาน (ทำกินกอบโกยสินไทย) เป็นต้น และภายในจิตใจและความนึกคิด (ใจมันยังเฝ้าคิดทำลาย เห็นไทยเป็นทาส ดูถูกชาติ เหยียดคนไทย) เป็นต้น ในขั้นตอนนี้เราจะเห็นการจำแนกความเป็นไทยอย่างสมบูรณ์ทั้งข้างนอกข้างใน (=ไทยแท้) ออกจากความเป็นไทยแต่เพียงร่างกายและทางกฎหมาย แต่ปราศจากจิตใจที่เป็นไทยอย่างแท้จริง (=ไทยเทียม) เปิดโอกาสให้สามารถแยกพวกหนักแผ่นดินออกจากคนไทยทั่วไปได้

คุณสมบัติของพวกหนักแผ่นดินยังมีอย่างไรอีก? พวกนี้เป็นพวกที่มีความคิดเห็นแตกต่างออกไป และยังพยายามนำเสนอแนวคิดที่แตกต่างเหล่านั้นให้คนทั่วไป พวกหนักแผ่นดินเห็นดีเห็นงามกับคนชาติอื่น และได้ทรัพย์จากต่างชาติด้วย

ถ้าเราลืมไปว่าเพลงหนักแผ่นดินมีอายุ 44 ปีแล้ว และลองพิจารณาเนื้อหาของเพลงในบริบทปัจจุบัน เราก็จะเห็นว่าตรรกะที่ใช้โจมตีพวกหนักแผ่นดิน มีความคล้ายคลึงกับที่ใช้โจมตีนักสิทธิมนุษยชนไทย ที่ทำงานเป็นเครือข่ายเดียวกันกับองค์กรสิทธิมนุษยชนในระดับสากลด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะในกรณีที่รัฐไทยมีการดำเนินการที่ละเมิดหลักสิทธิมนุษยชน การใช้จุดยืนเดียวกันกับองค์กรนานาชาติก็จะเข้าข่ายเป็นคนหนักแผ่นดินได้เหมือนกัน เพราะเป็นการไปสมคบกับคนชาติอื่นมา “ข่มเหง” หรือ “ประหารไทยกันเอง”

จริงอยู่ว่าตามบริบทเดิมของเพลงหนักแผ่นดิน “ชาติอื่น” จะหมายถึงชาติคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเย็น เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน แต่การที่กองทัพบกไทยในปัจจุบันสามารถนำเพลงหนักแผ่นดินกลับมาเปิดปลุกระดมกำลังพลได้ทันทีใน พ.ศ.นี้ ก็เป็นเพราะว่าพฤติกรรมหนักแผ่นดิน เช่น กายไทยใจไม่ไทย มีทัศนะที่แตกต่างไปจากแนวทางที่รัฐอุปถัมภ์ ร่วมมือ/เห็นดีเห็นงามกับคนชาติอื่นโจมตีชาติตนเอง รับเงินสนับสนุนจากต่างชาติ ฯลฯ ล้วนเป็นพฤติกรรมกว้างๆ และคลุมเครือ ซึ่งสามารถนำมาเป็นคู่ตรงข้ามกับความเป็นไทยที่แท้ (สอดคล้องกับแนวทางของรัฐและ/หรือสถาบันทางสังคมอื่นๆ)

เมื่อสิ้นสุดถึงขั้นตอนย่อยที่สาม แม้แต่การเป็นปรปักษ์กับประเพณีไทย ก็อาจทำให้ใครก็ตามกลายเป็นคนหนักแผ่นดินเอาได้ง่ายๆ ด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกลุ่มอนุรักษนิยมทางวัฒนธรรมพยายามยึดโยงส่วนประกอบย่อยต่างๆ ของประเพณีไทยเข้าด้วยกันเป็นพวง การไม่เห็นด้วยกับพิธีกรรมการไหว้ครู การกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ การไม่เชื่อว่ายิ้มของคนไทยแสดงความสุขใจและมิตรภาพสำหรับคนทั้งหลาย ฯลฯ ในท้ายที่สุดก็จะทำให้คนพวกนั้นเป็นนักนิยมสาธารณรัฐและเป็นคนหนักแผ่นดินในที่สุด

ย้อนกลับไปดูกระบวนการฉวยใช้เพลงหนักแผ่นดิน ซึ่งฉบับออริจินัลคิดขึ้นมาเพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้คนรู้สึกเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ มาเพื่อตีตรากลุ่มพรรคการเมืองที่ต้องการให้กองทัพดำรงอยู่ภายใต้อำนาจการบริหารของรัฐบาลพลเรือน ว่าเป็นเหมือนศัตรูของชาติที่ชั่วร้าย (=หนักแผ่นดิน) กระบวนการนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะการสร้างภาพศัตรูของชาติ เป็นกระบวนการที่มีการลดทอนรายละเอียด และเลือกหยิบลักษณะบางอย่างมาขยายให้เป็นตัวแทนของขั้วตรงข้ามกับหน่วยงานของรัฐหรือแนวคิคอนุรักษนิยม

ด้วยเหตุนี้เอง การเสนอให้ลดงบประมาณกลาโหมลง 10% หรือให้เปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหารเป็นระบบสมัครเข้าเป็นทหาร หรือเรียกร้องให้รัฐบาลเคารพสิทธิมนุษยชนของผู้หลบหนีเข้าเมือง หรือแม้แต่การไม่เห็นด้วยกับการยิ้มไร้สาระ ก็อาจถูกเหมารวมได้ว่าเป็นพฤติกรรมหนักแผ่นดินได้ทั้งนั้น ถ้าหากว่ามันถูกจัดให้อยู่ฝั่งตรงข้ามกับความเป็นไทยตามประเพณี

ก่อนที่ผู้บัญชาการทหารบกกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม จะยัดเยียดความเป็นคนหนักแผ่นดินให้กับนักการเมืองที่เสนอแนวคิดลดงบประมาณกองทัพ มีราชนิกูลที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดโต่งท่านหนึ่งพยายามยกเอาเพลงหนักแผ่นดิน มาเป็นโมเดลในการโจมตีพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุนใหม่ ใกล้ๆ กับกรณีเพลงหนักแผ่นดินก็มีความพยายามของนักแต่งเพลงท่านหนึ่งที่สร้างอุปลักษณ์ ‘ยาบ้าการเมือง’ ขึ้นมาเปรียบเทียบกับแนวคิดของพรรคการเมืองใหม่พรรคหนึ่ง ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ และทำท่าว่าจะได้รับการสนุบสนุนจากคนรุ่นใหม่

การปฏิเสธที่จะโต้แย้งกันด้วยข้อมูลและเหตุผลแบบเปิดเผย แต่หันไปใช้อุปลักษณ์ที่มีความสุดโต่ง และมีดีอย่างเดียวคือใช้แยกขั้วประชาชนให้มีความเห็นตรงข้ามกันชัดยิ่งขึ้น เป็นความอำมหิตของฝ่ายอนุรักษนิยมที่ไม่ยอมให้เกิดบรรยากาศของการถกเถียงอย่างเปิดกว้าง แต่หันไปสร้างภาพเหมารวมให้กับนักการเมืองและประชาชน ที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงด้วยวิถีทางประชาธิปไตย

การสร้างอุปลักษณ์ ‘คนหนักแผ่นดิน’ อาศัยภาพอุดมคติของความเป็นไทยที่มีเอกภาพ หรือไทยที่แท้จริงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงในคนๆ เดียว แต่มีบางคนที่เชื่อว่ามีคนๆ นั้นอยู่จริง ณ ที่ใดที่หนึ่ง และคนหนักแผ่นดินก็เป็นคู่ตรงข้ามของคนในอุดมคติคนนั้น

 

วิธีการโต้ตอบที่เหมาะสมกับการใช้อุปลักษณ์ที่เร้าอารมณ์ติดลบ ก็คือการคิดแบบแยกแยะ และการปฏิเสธที่จะยอมรับการนิยาม ‘ความเป็นไทยแบบสัมบูรณ์’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ในประเทศของเรายังมีคนไทยที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแรก มีคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ มีคนไม่เชื่อว่าทหารทุกคนรักชาติมากเป็นพิเศษยิ่งกว่าประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพอื่น มีคนที่คิดว่าควรลดขนาดกองทัพเพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพ มีคนที่คิดว่าพิธีกรรมไหว้ครูไม่ได้ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีอิสระทางความคิด ฯลฯ และมีคนไทยที่ไม่เห็นด้วยกับที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเลย แต่ความคิดของพวกเขาทั้งหมดไม่ได้ทำให้ความเป็นคนไทยของใครลดลงหรือเพิ่มขึ้น หรือหนัก/ไม่หนักแผ่นดินแต่อย่างใดเลย

อุปลักษณ์ ‘คนหนักแผ่นดิน’ ที่ลดทอนความเป็นคนที่มีชีวิตและมีรายละเอียดซับซ้อน ไม่เป็นเอกภาพ ดูเผินๆ ก็ไม่แตกต่างไปจากการต่อว่าต่อขานกันในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าเราพิจารณาดูให้ดี จะเห็นว่ามันเป็นขั้นตอนแรกๆ ของการลบบางส่วนของความเป็นมนุษย์ออกจากฝ่ายที่ทัศนะตรงกันข้ามกับเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราเชื่อว่าตัวเองยืนอยู่บนเนินที่สูงกว่าในทางศีลธรรม วัฒนธรรม คุณธรรม สติปัญญา ศรัทธา หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำเราเชื่อว่าตัวเองอยู่ในฐานะที่สูงส่งกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งเราเชื่อว่ากำลังจะทุบทำลายคุณค่าต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวเราและที่ที่เรายืนอยู่

ผมเชื่อว่าฝักฝ่ายที่มีจุดยืนทางการเมืองและวัฒนธรรมแบบอนุรักษนิยม กำลังกังวลว่าเขาจะหยุดการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ไม่ได้จริงๆ ความวิตกกังวลนี้แสดงผลออกมาถึงขั้นที่พวกเขาพยายามลบความเป็นคนไทยและความเป็นมนุษย์ ออกจากฝักฝ่ายที่เขามองว่าเป็นปฏิปักษ์กับการรักษาสภาพเดิมของสังคมไทย และถึงขั้นที่มีคนไปลากเอาเพลงย้อนยุคที่มีเนื้อหาร้ายกาจอย่างเพลงหนักแผ่นดิน มาปลุกระดมคนให้เกลียดชังกันอีกครั้ง

พวกเขาจะรู้หรือไม่รู้ผมก็ไม่รู้ แต่การลบความเป็นมนุษย์เป็นขั้นตอนแรกของการทำลายชีวิตมนุษย์ ถ้าไม่อยากเป็นฆาตกรก็อย่าทำเลย

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save