fbpx

เมื่อ ‘นกกระเรียนไทย’ คืนถิ่นธรรมชาติเป็นครั้งแรก

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เรื่องและภาพ

“ตอนนี้พวกมึงเลี้ยงนกกระเรียนไปก่อนนะ อีกหน่อยนกมันจะเลี้ยงพวกมึงเอง”

คำพูดสั้นๆ ของนักการเมืองผู้กว้างขวางในจังหวัดบุรีรัมย์ ต่อหน้าบรรดาผู้นำท้องถิ่นในอำเภอเมืองเมื่อหลายเดือนก่อน ช่วยคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวนากับนก จากการปล่อยนกกระเรียนไทยคืนถิ่นในธรรมชาติบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่า อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก

ก่อนหน้านี้ นกกระเรียนไทย มีเรื่องเล่ามากมายกว่าจะเดินทางมาถึงตรงนี้

นกกระเรียนไทย

คนส่วนมากไม่ทราบมาก่อนว่า นกกระเรียนไทย (Eastern Sarus Crane) ได้สูญพันธุ์ไปจากเมืองไทยนานมากแล้ว

เหลือเพียงความทรงจำ มีชื่อเป็นหนึ่งในสิบห้าชนิดของสัตว์ป่าสงวนไทย

ในบรรดานก 10,000 ชนิดบนโลกนี้ นกกระเรียนนับได้ว่าเป็นนกที่สง่างามติดอันดับต้นๆ จากรูปร่างอันเพรียวบาง สูงเป็นสง่า ดูอ่อนไหวเวลาย่างกราย ท่าเต้นรำเกี้ยวพาราสีมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และเมื่อกระพือปีกขึ้นโบยบินแล้ว เป็นความงดงามอันเหลือเชื่อ

นกกระเรียนเป็นนกน้ำขนาดใหญ่ ทั่วโลกพบ 15 สายพันธุ์ และนกกระเรียนไทยจัดว่าเป็นนกขนาดใหญ่ที่สุด โตเต็มวัย อาจสูงท่วมหัวคน คือ 1.8 เมตร น้ำหนักร่วม 10 กิโลกรัม จึงเป็นเป้าสายตาของนักล่าได้ง่าย แม้ว่าในอดีตจะมีบันทึกการพบนกกระเรียนไทยเป็นจำนวนมากตามทุ่งนาและหนองน้ำ

บันทึกเรื่อง ‘ลานนกกระเรียน’ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสมัยรัชกาลที่ 5 กล่าวถึงการทำรังวางไข่ของนกกระเรียนไทยจำนวนนับหมื่นตัว ในบริเวณทุ่งมะค่า จังหวัดนครราชสีมา จากนั้นการล่านกกระเรียนก็แพร่หลาย ควบคู่ไปกับการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยของพวกเค้า

ไม่กี่สิบปี มีการพบนกกระเรียนไทยฝูงสุดท้าย บินผ่านจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2488  ต่อมาในปี 2507 มีรายงานว่าพบนกกระเรียนไทย 4 ตัว ที่วัดไผ่ล้อม จังหวัดปุทมธานี และในปี 2511 พบลูกนกกระเรียน 2 ตัวบริเวณชายแดนไทยเขมรแถวจังหวัดสุรินทร์ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้นำมาเลี้ยงดู และอยู่รอดในกรงจนถึงปี 2527 จากนั้นไม่มีใครพบเห็นนกกระเรียนในธรรมชาติอีกเลย

นกกระเรียนไทย

อย่างไรก็ดี ในปี 2533 นักวิจัยสัตว์ป่าของสวนสัตว์โคราช ได้พยายามนำเอานกกระเรียนไทยที่ยังพอเห็นตามธรรมชาติในประเทศกัมพูชา มาทดลองเพาะเลี้ยงในกรง โดยได้รับบริจาคนกกระเรียนจากชาวบ้านแถบชายแดนกัมพูชา 27 ตัวมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

วันชัย สวาสุ อดีตผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์นครราชสีมา ผู้อยู่เบี้องหลัง ได้เล่าว่า

“ในช่วงแรกเราอาศัยการลองผิดลองถูก เนื่องจากข้อมูลนกกระเรียนไทยตอนนั้นน้อยมากและหาได้ยาก เราใช้เวลาเจ็ดปี จึงผสมพันธุ์สำเร็จ ได้ลูกนกกระเรียนคู่แรกในปี 2540 แต่ก็ยังน้อยมาก และใช้เวลานับสิบปี พัฒนาเทคนิคต่างๆ จนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์สามารถมีลูกตามธรรมชาติได้น่าพอใจ”

สวนสัตว์นครราชสีมา ได้รับการยกย่องว่าเป็นศูนย์การเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนไทยใหญ่ที่สุดในโลก มีนกกระเรียนประมาณ 120 ตัว

แต่เป้าหมายต่อมาที่ชี้วัดความสำเร็จของนักอนุรักษ์สัตว์ป่า ไม่ใช่อยู่ที่การเพาะเลี้ยงอย่างเดียว แต่ต้องทำให้นกกระเรียนไทยคืนถิ่นอาศัยในธรรมชาติได้

การเพาะเลี้ยงนกกระเรียนในกรงว่ายากแล้ว แต่การปล่อยให้นกกระเรียนคืนถิ่นในธรรมชาติอย่างปลอดภัยอาจจะยากกว่า

“สิ่งที่ยากที่สุดคือ นกกระเรียนได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติมาร่วมห้าสิบปีแล้ว เราไม่มีองค์ความรู้เลย ข้อมูลที่ได้มาก็มาจากเรื่องเล่าของคนเฒ่าคนแก่ เรายังคลำทางกันอยู่ว่าจะทำอย่างไร จะปล่อยที่ไหน ปล่อยอย่างไร จำนวนเท่าไร และควรจะดำเนินงานอย่างไร” นักวิจัยคนหนึ่งจากกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่มาร่วมทีม เล่าปัญหาใหญ่ให้ฟัง

แต่เมื่อเริ่มต้นการทำงานเป็นทีมจากนักวิจัยหลายส่วน โดยเฉพาะองค์ความรู้จากมูลนิธิอนุรักษ์นกกระเรียนสากล ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ส่งทีมงานมาเป็นที่ปรึกษาอย่างใกล้ชิด การนำนกกระเรียนกลับสู่ธรรมชาติจึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยมีพื้นที่เหมาะสมคือบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่า อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำสนามบิน เนื่องจากมีหลักฐานภาพถ่ายยืนยันว่า จังหวัดบุรีรัมย์เคยเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของนกกระเรียนในอดีต และอ่างเก็บน้ำแห่งนี้เป็นบึงน้ำขนาดใหญ่ มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะกับการปล่อยนกกระเรียนคืนถิ่น

ในปี 2554 ได้มีการปล่อยนกกระเรียนไทยคืนสู่พื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ บริเวณอ่างเก็บน้ำทั้งสองแห่ง จนถึงปัจจุบันจำนวน 86 ตัว และจากการติดตามอย่างใกล้ชิด พบว่านกกระเรียนสามารถรอดชีวิตได้กว่า 60%

นกกระเรียนไทย

กรกฎาคม 2561 ช่วงเวลาที่คนไทยกำลังสนใจข่าวเด็กทีมหมูปาติดน้ำถ้ำหลวง เย็นนั้น ผมยืนอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก เฝ้ามองนกกระเรียนไทยสี่ห้าตัวถลาร่อนข้ามหัวลงมาคุ้ยหาหอยตามท้องทุ่ง ผมค่อยๆ เขยิบเข้าไปใกล้ เค้าหันมามองเล็กน้อย ก่อนจะก้มลงจิกหาอาหาร นกกระเรียนตัวใหญ่ สีเทา เห็นตุ่มหนังสีแดงชัดเจนกระจายไปบริเวณแก้ม ท้ายทอย และลำคอส่วนบน

นกกระเรียนย่างกรายเดินหากินในท้องทุ่งตามธรรมชาติ เป็นความงามที่มิอาจอธิบายได้ นอกจากมาเห็นด้วยตาจริงๆ

แต่ในความงามมีความกังวลของนักวิจัยอีกสองประเด็นคือ นกกระเรียนใช้พื้นที่หากินมาก คือบริเวณพื้นที่นาข้าวรอบๆ อ่างเก็บน้ำด้วย ซึ่งปัญหาการใช้สารเคมีของชาวนาอาจส่งผลร้ายต่อนกกระเรียน แต่โชคดีที่ชาวนาแถวนั้นเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ ไม่ค่อยใช้สารเคมี

แต่อีกปัญหาคือ นกกระเรียนเวลาเดินย่ำหากินในนาข้าว จะสร้างความเสียหายกับต้นข้าวเป็นวงกว้าง

เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าฯ พามาสำรวจบริเวณรังวางไข่ในที่นาของชาวบ้าน บริเวณไม่ไกลนัก ผู้เขียนเห็นร่องรอยความเสียหายของต้นข้าวตามทางที่นกกระเรียนย่ำไปมากทีเดียว

“ชาวบ้านบางคนก็ไม่ว่าอะไร ดีใจที่เห็นนกกระเรียนทำรังในนาของเขา แต่บางคนก็ไม่พอใจ นาข้าวเสียหาย”

การที่นกกระเรียนจับคู่ผสมพันธุ์และทำรังวางไข่กลางกลางท้องนาเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี ถือว่าเป็นการนำนกกระเรียนไทยกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างแท้จริง

มีเรื่องเล่าว่า นกกระเรียนทำรังวางไข่ตามท้องนาครั้งแรกในปี 2558 ชาวบ้านพบไข่สองฟองสีขาวนวลคล้ายไข่เป็ด แต่มีขนาดใหญ่กว่า ด้วยความไม่รู้ว่าเป็นไข่อะไร เลยเอาไปกิน แต่หลังจากนั้นชาวบ้านก็ช่วยกันดูแล พอปีรุ่งขึ้นมาก็พบรังไข่ 5 รัง ลูกนกรอดตาย 3 ตัว ปีที่แล้วพบ 11 รัง รอดตาย 7 ตัว

นกกระเรียนไทย

สักพักนกกระเรียนไทยสองตัวก็บินร่อนลงมากลางทุ่งนา เราเฝ้าดูพวกเค้าเดินหากินไม่ห่างจากรัง บางครั้งก็กระพือปีกหยอกล้อ เกี้ยวพาราสีกันกลางทุ่ง แต่พอเราเข้าไปใกล้ พวกเค้าจะส่งเสียงร้องดังลั่น ราวกับเตือนว่า “อย่าเข้าใกล้นะ นี่คืออาณาเขตของฉัน”

แน่นอนว่าทุกย่างก้าวของพวกเค้า ต้นข้าวที่เริ่มออกรวงก็โดนเหยียบย่ำเป็นทางยาว จากการศึกษาพบว่านกกระเรียนไทยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในนาข้าวเป็นสัดส่วนมากกว่า 40%  ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้แจ้งกับชุมชนรอบๆว่า ทางการยินดีชดใช้ให้กับนาข้าวที่ได้รับความเสียหาย

แต่ในระยะยาว การอยู่ร่วมกันระหว่างนกกระเรียนไทยกับชาวนา จะสร้างประโยชน์ร่วมกันได้ นอกจากชาวนาจะหันมาปลูกข้าวอินทรีย์ปลอดสารแล้ว บริเวณแถวนี้จะเป็นแหล่งธรรมชาติสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาดูนกกระเรียนแห่งเดียวในประเทศ สร้างรายได้ให้กับคนท้องถิ่น ไม่ต่างจากแหล่งดูนกกระเรียนในเกาะฮอกไกโด ที่ดึงดูดนักดูนกจากทั่วทุกมุมโลก

หลายเดือนก่อน เมื่อผู้ใหญ่ฝ่ายที่ดูแลนกกระเรียนได้เข้าพบนักการเมืองชื่อดังของจังหวัดบุรีรัมย์ ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์นกกระเรียน ไม่นานนักมีการเรียกประชุมผู้นำท้องถิ่น และคำพูดสั้นๆ ของนักการเมืองที่มีวิธีพูดกับผู้นำชุมชนให้ช่วยกันดูแลนกกระเรียนด้วยภาษาชาวบ้านว่า

“ตอนนี้พวกมึงเลี้ยงนกกระเรียนไปก่อนนะ อีกหน่อยนกมันจะเลี้ยงพวกมึงเอง”

ติดตามกันต่อไปว่า วลีสั้นๆ นี้จะเป็นจริงไหม

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save