fbpx
รักจริงแค่ไหน แค่ไหนเรียกรักจริง

รักจริงแค่ไหน แค่ไหนเรียกรักจริง

 

 

1

“มึงคิดจะแต่งงานมั้ยวะ” เพื่อนหนุ่มเคยถามฉันในช่วงเรียนจบใหม่

“การแต่งงานไม่ใช่คำตอบของความรักหรอกโว้ย ใครจะอยู่กับเราไปจนแก่เฒ่าวะ” จำได้เลาๆ ว่าตอบไปประมาณนี้ ซึ่งตอนนี้ก็คิดไม่ต่างจากเดิมเท่าไหร่

 

ฉันมีเพื่อนอยู่สองประเภท พวกที่หนึ่ง คือคนที่เพิ่งแจกการ์ดแต่งงานไปเมื่อ 1-2 ปีที่แล้ว

และพวกที่สอง คือคนที่คิดจะอยู่กับหมา แมว ต้นไม้ และงานไปตลอดชีวิต

คิดว่าจริงๆ แล้ว หลายคนในพวกที่สองก็คงอยากจะแจกการ์ดงานแต่งบ้าง แต่เท่าที่คุยดูมีเหตุผลอยู่ไม่กี่อย่างที่ไม่เดินไปทางนั้น หนึ่ง ยังหาแฟนไม่ได้ สอง ไม่มีเงินมากพอที่จะสร้างครอบครัว และสาม มีแฟน แต่แต่งงานกันไม่ได้ด้วยกฎหมายและกรอบของสังคม

“คบกันมา 8 ปี ก้าวต่อไปก็เหลือแต่แต่งงานแล้วละ ติดตรงจะไปพูดกับพ่อแม่เขายังไง” เพื่อนผู้หญิงที่คบผู้หญิงด้วยกัน เคยแลกเปลี่ยนให้ฟัง

“กูจะสร้างชุมชนคนชรา นั่งเลี้ยงแมว เล่นหมากรุก ดูบอลกัน สบายใจ ยังไงก็มีเพื่อนตอนแก่” เพื่อนหนุ่มเคยเล่าความฝันให้ฟังอย่างเอาจริงเอาจัง

“ก็อยากจะแต่งนะเพื่อน แต่แค่คิดถึงค่าสินสอดกับค่าเล่าเรียนลูก กูกลับไปกินกะเพราไม่ใส่ไข่ดาวอย่างเดิมดีกว่า” เพื่อนหนุ่มอีกคนพูดติดตลก แต่เจ็บปวดถึงใจ

ทำไมการแต่งงานถึงกลายเป็นหมุดหมายสำคัญของชีวิต และเราจะทำอย่างไรถ้าอยากเดินไปหมุดหมายอื่น หรือหยุดอยู่แค่การใช้ชีวิตคนเดียว

ถ้าคุณกำลังกังวลใจไม่รู้จะบอกพ่อแม่ว่าอย่างไรหากไม่อยากแต่งงาน เราสามารถเอาตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติไปนั่งยันนอนยันกับพ่อแม่ได้ว่า ยังมีคนโสดอีก 1.5 ล้านคนในประเทศที่อยู่เป็นเพื่อนเรา

ถ้ายังหนักแน่นไม่พอ ก็บอกไปเลยว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีคนที่อยู่คนเดียวในครัวเรือน (One-Person Household) สูงขึ้นถึง 2 เท่า จากประมาณ 2 ล้านคนในปี 2550 กลายเป็น 3.8 ล้านคนในปี 2558 ดังนั้นการอยู่คนเดียวกำลังเป็นเทรนด์ฮิตติดชาร์ต ไม่ต้องกังวลใจไป

ไม่นับตัวเลขการเกิดของเด็กในช่วง 8 ปีหลัง (พ.ศ.2552-2560) ลดลงประมาณปีละ 30,000-40,000 คน และเหตุผลหลักๆ ของคน Gen Y ที่ไม่อยากมีลูก คือ อยากมีอิสระ ดำรงชีวิตตามที่ต้องการโดยไม่มีห่วง และ สังคมปัจจุบันมีปัญหามาก ไม่อยากให้ลูกเกิดมาเจออะไรแบบนี้

ถ้าพูดในแบบคนคูล ก็คือ อยู่คนเดียวก็ได้ แต่ถ้าจะมีคู่ก็อยากลุยโลกกันสองคน ไม่ต้องมีลูกมาให้กังวลใจ การแต่งงานของคนในยุคสมัยนี้จึงเป็นเหมือนการยืนยันว่าความรักมาถึงจุดมั่นคงแน่นอน และทำให้เรามั่นใจได้ว่าจะมีใครสักคนอยู่เคียงข้างเราไปตลอด

แน่ละ ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ตัวเลขการหย่าร้างตามมาครึ่งหนึ่งของตัวเลขการจดทะเบียนสมรสในแต่ละปี การแต่งงานไม่ได้ยืนยันอะไรได้อีกแล้ว ว่าเราจะเป็นคู่กันตลอดไป

ความรักแบบวาบไหว เบาหวิว ปลิวไปตามสายลม สบตากันบนรถไฟฟ้าแล้วบอกลากันสถานีหน้า กลายเป็นความรักในแบบฉบับคนเมือง

เรื่องสั้น บทความที่พูดถึงความรักชั่วครั้งคราว หรือความเปราะบางเหลือทนของความสัมพันธ์ถูกแชร์แล้วแชร์อีก เพื่อสะท้อนว่าหัวใจเราอ่อนไหวอยากมีใครสักคน แต่ก็ไม่พร้อมจะวิ่งหารักที่มั่นคงหนักอึ้ง

เงื่อนไขของคู่รักถูกตัดทอนให้เหลือแค่ความรัก ความเข้าใจ แล้วทิ้งค่านิยม อุดมการณ์ของสังคมไว้ข้างหลัง เพราะแบบนี้ความรักของคนวัยเราจึงดูเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้

แม้จะพยายามแล้วที่จะทำตามประเพณี แต่หลายเสียงที่แต่งงานไปก็บ่นว่า เป็นชีวิตที่ต้องเลือก เมื่อมีลูก เรามีชีวิตเพื่อลูก และความต้องการของตัวเองก็ถูกลบเลือนไปตามความจำเป็นของชีวิต

 

2

“ความรักของเพศเดียวกัน จีรังยั่งยืนแค่ไหน” ฉันมั่นใจว่าเคยได้ยินคำถามนี้มากกว่าสิบครั้ง คำตอบก็คือไม่รู้ และก็ไม่รู้ด้วยว่ามีอะไรบ้างที่จีรังยั่งยืน

หลายครั้งที่ความรักของเพศเดียวกันจะถูกปรามาสว่าเป็นรักปลอมๆ รักแค่ช่วงวัยหนึ่งของชีวิต ถึงเวลาจริงๆ ผู้หญิงก็ต้องกลับไปแต่งงานกับผู้ชาย

โยนกลับมาที่คำถามเดิม ทำไมการแต่งงานต้องเป็นคำตอบของทุกอย่าง ทั้งๆ ที่เราก็รู้ว่ามันไม่ได้การันตีอะไรได้เลย

โอเค หลายคนอาจบอกว่า มันทำให้ความรักถูกยืนยันว่าถูกต้อง และเป็นข้อผูกมัดที่แน่นหนากว่าความรู้สึกล้วนๆ แต่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า การที่เพศเดียวกันแต่งงานกันไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้รับการยอมรับว่าความรักที่พวกเขามีให้กันมัน ‘จริง’ พอ

ทั้งที่ความรักของชายหญิง หญิงหญิง ชายชาย อาจจะงดงามและจริงจังพอกัน

ก็เหมือนกับที่เรามองโลกทุกอย่างเป็นทวิลักษณ์ เราพยายามหาขั้วตรงข้ามมาเพื่อเติมเต็มกันและกัน แล้วบอกว่าสิ่งนั้นคือความสมบูรณ์แบบ

ซ้าย-ขวา ดี-เลว เร็ว-ช้า สูง-เตี้ย แข็งแรง-อ่อนแอ เหตุผล-อารมณ์ ชาย-หญิง ความโสด-การแต่งงาน ฯลฯ

เราไม่มีที่ว่างให้ตรงกลาง และความเลื่อนไหลของชีวิต

ผู้ชายชอบสีชมพูผิดไหม ผู้หญิงที่ชอบเล่นกีฬาผาดโผนร้องไห้ได้ไหม และถ้าผู้ชายสักคนจะมีความอ่อนแอมากกว่ากล้ามของเขา เขาจะมีสิทธิ์ได้รับการปลอบโยนจากคนที่เข้มแข็งกว่าไหม และถ้าคนรักของเขาจะเป็นผู้ชายด้วยกัน โดยที่สลับกันเข้มแข็งอ่อนแอ มันเป็นเรื่องผิดบาปอะไรหรือเปล่า

เพราะชีวิตเป็นแถบที่หลากหลาย มีทางเฉไฉ มีการขยับแค่ครึ่งๆ กลางๆ มีความไม่แน่นอน แล้วเอาเข้าจริงๆ ใครๆ ก็ต้องมีช่วงเวลาที่ตัดสินใจไม่ได้ เพราะความสุดโต่งนั้นโหดร้ายเกินไป

ฉันเชื่ออย่างเต็มหัวใจว่ามนุษย์เกิดมาเพื่อเสพสุนทรียะ อยู่กับความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน และควรมองโลกอย่างที่เป็นจริง

มนุษย์นั้นหลากหลาย และอ่อนแอเกินกว่าที่เรารู้ตัว แต่เราต้องเลือกเดินทางเข้มแข็งเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์

“กูเคยมองกะเทยแล้วรู้สึกว่าน่ารัก แบบนี้กูเป็นเกย์มั้ยวะ” เพื่อนหนุ่มอีกคนที่มีแฟนเป็นผู้หญิงตั้งคำถาม แล้วพูดต่อ “เรื่องเพศก็เหมือนเรากินข้าว วันนี้เราชอบกินกะเพราไก่ วันหน้าเราก็อาจอยากกินหมูผัดพริกไทยดำ กูว่าความรักเป็นเรื่องเลื่อนไหล ใครก็รักใครได้ทั้งนั้นแหละว่ะ”

ตั้งแต่รู้จักกันมา ประโยคนี้เข้าท่าที่สุด

 

3

การไม่ยอมแต่งงานและมีลูกของคนรุ่นใหม่ถูกมองเป็นปัญหา บ้างก็ว่ามนุษย์กำลังเดินทางถึงจุดสิ้นสุด เพราะเราจะไม่สร้างเผ่าพันธุ์ขึ้นมาอีกแล้ว เราไม่ยึดโยงตัวเองเข้ากับอะไรอีกแล้ว และนี่อาจเป็นเรื่องเดียวกันกับที่ว่า ทำไมคนยุคเราถึงเปิดเผยความรักในแบบของตัวเองมากขึ้น มีอิสระโลดแล่นตามแต่ใจ ไม่ว่าจะโสด แต่งงานไม่มีลูก คบกับเพศเดียวกัน แต่งกับงาน เป็นทาสแมว อยู่กับต้นมะม่วงหลังบ้าน หรือจะนั่งดูบอลไปตลอดชีวิต ฯลฯ

เราอ่อนแอก็จริง แต่เราก็เข้มแข็งพอที่กล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง และคงจะน่าเสียดายเกินไปถ้าเรามองโลกเป็นแค่สีขาวกับดำ ทั้งที่ยังมีเฉดสีที่งดงามอีกมาก

 

 

 

อ้างอิง

https://www.m-society.go.th/article_attach/19086/20605.pdf

https://www.m-society.go.th/article_attach/18967/20534.pdf

http://stat.dopa.go.th/stat/statnew/upstat_age_disp.php

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save