fbpx

สัจนิยมกับความเป็นโศกนาฏกรรมของการเมืองระหว่างประเทศ

สัจนิยม

การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพวกสัจนิยมทางการเมืองแบบคลาสสิกจะไม่เน้นที่ระดับการวิเคราะห์ระดับใดระดับหนึ่งแต่เพียงระดับเดียว แต่จะพิจารณาการเมืองของอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศพร้อมกันไปทั้งในระดับบุคคลที่เป็นผู้ตัดสินใจ ระดับรัฐที่พิจารณาจากคุณลักษณะของรัฐในด้านต่าง ๆ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นรากฐานอำนาจของรัฐนั้น และระดับระหว่างประเทศที่พิจารณาจากโครงสร้างอำนาจอันเกิดจากการกระจายขีดความสามารถของรัฐในระบบระหว่างประเทศในระยะเวลาหนึ่งๆ เหตุปัจจัยจากทั้ง 3 ระดับการวิเคราะห์นี้จะถูกนำมาผสมผสานในการวิเคราะห์การดำเนินนโยบายและรูปแบบความสัมพันธ์ของรัฐ ตลอดจนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น การศึกษาของแนวสัจนิยมทางการเมืองแบบคลาสสิกจะสะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงของเหตุปัจจัยในระดับหนึ่ง ส่งผลกระทบเป็นเงื่อนไขต่อการเปลี่ยนแปลงของเหตุปัจจัยในระดับอื่นๆ อย่างไร และกลายมาเป็นตัวกำหนด หรือส่งผลต่อทางเลือก การตัดสินใจ ปฏิสัมพันธ์ และผลลัพธ์ที่เกิดจากปฏิสัมพันธ์ของรัฐต่างๆ อย่างไร

Arnold Wolfers (1962) เป็นนักวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคนแรก ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่าสัจนิยมทางการเมืองมีวิธีมองโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็น 2 แบบ แบบแรกเป็นการมองจากฐานความคิดว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นชั่วร้าย (evil) ทำให้คน ไม่ว่าจะเป็นปัจเจกหรือเป็นกลุ่มเป็นประเทศก็ตาม “กระทำตัวเหมือนสัตว์ที่กินสัตว์อื่นเป็นเหยื่อ ถูกขับดันด้วยแรงปรารถนาในอำนาจที่ไม่มีวันเติมเต็มหรือ animus dominandi และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อความตั้งใจใฝ่หาอำนาจ ถูกส่งผ่านจากคนธรรมดาที่ไม่ได้สมดังใจไปสู่หมู่คณะที่เป็นรัฐ ก็ยิ่งขยายมิติออกไปอย่างกว้างขวาง และก่อให้เกิดการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดอยู่ตลอดเวลา” (83 – 4) แน่นอนว่า ในเนื้อความที่ยกมานี้ Wolfers กำลังอ้างถึงข้อเสนอของ Morgenthau (1946, 191 – 201) อันเป็นที่รู้จักกันดี โดยที่ Morgenthau เองก็ได้รับอิทธิพลการมองธรรมชาติทางการเมืองของมนุษย์ว่ามีความเห็นแก่ตัวและกระหายทะยานอยากในอำนาจเช่นนี้มาจากแนวความคิดของ Nietzsche และจาก St. Augustine ผ่านงานของ Reinhold Niebuhr (1941, 43) อีกต่อหนึ่ง[1]

ในการอภิปรายเกี่ยวกับธรรมชาติในทางการเมือง 2 ด้านนี้ของมนุษย์ อันจะนำไปสู่ข้อสรุปว่าการเมืองเป็นเรื่องที่ชั่วร้าย Morgenthau เสนอว่าในขณะที่ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ยังอาจพอมีขีดจำกัดอยู่บ้าง แต่ความกระหายทะยานอยากในอำนาจของมนุษย์นั้น ไม่มีคำว่าพอ เขาให้เหตุผลว่า รากฐานของความเห็นแก่ตัวมาจากความต้องการจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย ความมั่นคงปลอดภัย ความรักความผูกพัน เมื่อใดที่ความจำเป็นพื้นฐานในเรื่องเหล่านี้ได้รับการตอบสนองหรือมีหลักประกันที่เพียงพอสำหรับความอยู่รอดของตน (self- preservation) ความรู้สึกเห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนนั้นก็อาจจะพอเหนี่ยวรั้งไว้ได้บ้าง แต่สำหรับความกระหายทะยานอยากในอำนาจของมนุษย์แล้ว หาอะไรมายับยั้งได้ยากหรือไม่มีเลย เพราะรากฐานของความต้องการชนิดนี้มาจากการเปรียบเทียบสถานะของตนกับของคนอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา ทำให้เขาปรารถนาจะรักษา แสดง และยกระดับความเหนือกว่าของตนเองต่อคนอื่น ๆ รวมทั้งต้องการขยายวงคนที่อยู่ภายใต้อาณัติของตนออกไป[2] ซึ่งจะทำให้เขาไม่มีวันพอใจได้จนกว่า “มนุษย์คนสุดท้ายตกเป็นวัตถุในการครอบครองของเขาแล้ว ไม่มีใครอยู่เหนือหรือเสมอกับเขาได้อีก” และแม้แต่ธรรมชาติ ที่เป็นสิ่งจำกัดความเป็นไปได้ในวิถีแห่งมนุษย์ ก็ไม่อาจสกัดกั้นความคิดของมนุษย์ที่จะหาทางเอาชนะธรรมชาติเพื่อขยายพรมแดนของความเป็นไปได้ เพื่อจะได้นำมาสนองต่อความต้องการครอบครองอันไม่มีที่สิ้นสุดของตน[3] และโดยนัยเช่นนี้ animus dominandi หรือความกระหายอยากในอำนาจจะถึงจุดสูงสุดของความพอใจได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์ “กลายเป็นพระเจ้า” (Morgenthau, 1946, 193)

ความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมอาจมาจากความต้องการหลากหลายด้านผสมผสานกันอยู่ แต่องค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ในความสัมพันธ์ทางการเมืองคือความต้องการอำนาจและการอยู่เหนือผู้อื่น ซึ่งนำไปสู่การใช้คนอื่นเป็นเครื่องมือเพื่อบรรลุถึงความต้องการอำนาจนั้น องค์ประกอบนี้เองที่ Morgenthau เห็นว่าทำให้พบความชั่วร้ายแทรกเจืออยู่ได้ทั่วไปในการกระทำทางการเมืองของมนุษย์ แม้แต่การกระทำที่ประกอบไปด้วยความตั้งใจดีก็ตาม Morgenthau สรุปว่าตราบเท่าที่ “แก่นและเป้าหมายของการเมืองคืออำนาจเหนือคนอื่น การเมืองเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะในระดับเช่นนี้ มันทำให้คุณค่าของคนลดลงไปเป็นเพียงเครื่องมือสำหรับให้คนอื่น ๆ ใช้…[ในการเมือง] animus dominandi มิได้เป็นเพียงแค่เป้าหมายหนึ่งที่ผสานไปกับเป้าหมายหลักประเภทอื่น ๆ แต่มันคือแก่นแท้ของความตั้งใจ เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงการกระทำ เป็นหลักธรรมนูญพื้นฐานของการเมืองที่ทำให้กิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่นี้มีลักษณะเฉพาะ” (Morgenthau, 1946: 197)

Morgenthau ยังเสนอต่อไปถึงการถ่ายโอนความต้องการทะยานอยากในอำนาจในระดับบุคคลไปสู่ระดับรัฐ กระบวนการนี้เกิดขึ้นเมื่อรัฐสมัยใหม่กลายเป็นหน่วยการเมืองที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้อำนาจกับคนที่อาศัยอยู่ในเขตแดน และเมื่อคนในรัฐนั้นเริ่มรู้สึกว่าตนเป็นพลเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับความเป็นไปของรัฐ มอบความภักดีให้แก่รัฐของตน และกังวลสนใจกับสถานภาพของรัฐตนโดยเปรียบเทียบกับรัฐอื่นๆ ผลที่เกิดขึ้นตามมาไม่เพียงแต่จะทำให้ความเห็นแก่ตัวและแรงขับดันให้แสวงหาอำนาจยกระดับจากระดับบุคคลไปสู่ระดับรัฐเท่านั้น แต่ยังทำให้ animus dominandi ในระดับรัฐมีคุณลักษณะทางศีลธรรมที่แตกต่างไปด้วย ในระดับบุคคล สังคมอาจสร้างระบบศีลธรรมจรรยาขึ้นมากำกับควบคุมและขัดเกลาความชั่วร้ายอันเกิดจากแรงขับในตัวบุคคลที่ต้องการมีอำนาจอยู่เหนือผู้อื่นได้ไม่มากก็น้อย แต่พอมาถึงในระดับรัฐแล้ว ความรู้สึกชาตินิยมก็ดี หลักการที่เสนอว่าศีลธรรมของรัฐแตกต่างจากของบุคคลก็ดี หรือรัฐไม่ต้องคำนึงถึงหลักการทางศีลธรรมใดๆ เลยนอกเหนือจากเหตุผลของรัฐหรือ raison d’état ก็ดี ทำให้การดำเนินการเพื่อแสวงหาและขยายอำนาจรัฐ ไม่เพียงแต่จะได้รับการยกย่องสรรเสริญว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม แต่ยังถือว่าความชั่วร้ายนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ที่รับผิดชอบอำนาจรัฐจำต้องกระทำ

วิธีคิดที่เป็นลักษณะเด่นของพวกสัจนิยมทางการเมืองอีกแบบหนึ่งคือวิธีคิดที่เห็นการเมืองระหว่างประเทศว่ามีลักษณะของโศกนาฏกรรม (tragedy) Wolfers อ้างถึงงานของนักวิชาการแนวสัจนิยมทางการเมืองอีกผู้หนึ่งคือ John H. Herz (1951) ที่เสนอว่ามนุษย์นั้นไม่ได้ชั่วร้าย แต่จากความต้องการป้องกันรักษาตัวเอง (self-preservation) ที่มีอยู่โดยธรรมชาติ ทำให้มนุษย์มุ่งแสวงหาความมั่นคง แต่ลักษณะอนาธิปไตยของการเมืองระหว่างประเทศ ที่ปราศจากสิทธิอำนาจศูนย์กลางในการทำหน้าที่ดูแลความอยู่รอดปลอดภัยให้แก่รัฐต่างๆ ทำให้แต่ละรัฐต้องรับผิดชอบหามาตรการมาดูแลความมั่นคงของตนด้วยตนเอง ไม่อาจพึ่งใครอื่นได้ สภาวะเช่นนี้พวกสัจนิยมมักอ้างถึง Thomas Hobbes ผู้ชี้ให้เห็นสภาวะของสงครามหรือ state of war ที่ปรากฏอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนี้

แต่ถึงแม้ว่าจะไม่เคยมีช่วงเวลาไหนเลยที่มนุษย์คนใดคนหนึ่งจะอยู่ในสภาวะสงครามต่อกันและกัน แม้เช่นนั้นก็ตาม โดยตลอดเวลา เหล่ากษัตริย์และบุคคลแห่งอำนาจอธิปัตย์ เนื่องจากพวกเขาต่างเป็นอิสระต่อกัน ต่างไม่เคยอยากเห็นใครได้ดีไปกว่าใคร และในสภาพและการคุมเชิงแบบขุนศึกนักรบ ที่หันอาวุธจ่อเข้าหากัน ตาจับจ้องกัน วางป้อมปราการ ค่ายทหาร และปืนเรียงรายตามแนวชายแดนแห่งอาณาจักรของพวกเขา รวมทั้งคอยลักลอบเข้าไปสืบหาข่าวจากเพื่อนบ้านอยู่ไม่เคยขาด นี่คือลักษณาการของสงคราม (อ้างใน Bull, 1981, 720) 

ในสภาวะของสงครามหรือ state of war ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเช่นนี้ ความพยายามของแต่ละรัฐ ที่ต่างฝ่ายต่างมุ่งแสวงหาและเสริมสร้างความมั่นคง นำไปสู่ผลอันก่อให้เกิดลักษณะที่เป็นโศกนาฏกรรมของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นั่นคือ การมุ่งแสวงหาความมั่นคงทำให้ทุกฝ่ายมีความมั่นคงน้อยลงไป Herz เรียกสภาวะเช่นนี้ว่า security dilemma เขาเสนอว่า

ไม่ว่ามนุษย์ ‘โดยธรรมชาติ’ แล้วจะรักสันติและมีความร่วมมือกัน หรือก้าวร้าวและหาทางครอบงำกันก็ตาม มิใช่ประเด็น สภาพที่เราสนใจอยู่นี้มิใช่สภาวะเชิงมานุษยวิทยาหรือชีววิทยา แต่เป็นสภาวะเชิงสังคม เป็นเพราะความไม่แน่นอนและความวิตกกังวลเกี่ยวกับเพื่อนบ้านว่าจะมีจุดมุ่งหมายหรือความตั้งใจจะทำอะไร ที่ทำให้เขาต้องเผชิญกับปัญหาพื้นฐานของการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และทำให้ ‘homo homini lupus’ กลายเป็นข้อเท็จจริงของชีวิตทางสังคมของมนุษย์[4]

Booth และ Wheeler (2008) นำแนวคิดว่าด้วย security dilemma ของ Herz มาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น และเสนอว่าภายใต้สภาวะเช่นนี้รัฐต้องเผชิญกับ dilemma หรือการต้องตัดสินใจเลือกระหว่างทางเลือกสองทางซึ่งสร้างความลำบากใจด้วยกันทั้งคู่ อยู่ถึง 2 ชั้นด้วยกัน จากการที่ไม่มีใครสามารถจะมั่นใจได้ว่าความพยายามของฝ่ายอื่นในการสร้างความมั่นคงนั้น เป็นไปเพื่อต้องการป้องกันตัวเองเท่านั้น หรือต้องการจะคุกคามและดังนั้นจึงเป็นอันตรายต่อเราได้ด้วย นำไปสู่ dilemma ชั้นแรก ว่าจะพิจารณาและเข้าใจการกระทำของคนอื่นอย่างไร จะมองในแง่ดีไว้ก่อนหรือมองในแง่ร้ายไว้ดีกว่า กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ จากมาตรการด้านความมั่นคงที่ฝ่ายตรงกันข้ามดำเนินและพัฒนาไปนั้น เราจะมองว่าฝ่ายตรงกันข้ามทำไปเพราะต้องการรักษาสถานะเดิมที่เป็นอยู่ (status quo power) หรือว่าแท้ที่จริงแล้ว แสดงว่าฝ่ายนั้นต้องการเปลี่ยนแปลงระเบียบและสถานภาพเดิมไปสู่การจัดระเบียบใหม่ (revisionist power) จาก dilemma แรกเกี่ยวกับการมองสถานการณ์ว่าจะเป็นแบบไหนแน่ ก็ตามมาด้วย dilemma ชั้นที่ 2 คือ เราจะเลือกรับมือและหาทางหนีทีไล่อย่างไร จะใช้วิธีการโอนอ่อนผ่อนปรนทางการทูต หรือจะหามาตรการเพื่อป้องกันและป้องปรามการคุกคามจากฝ่ายตรงกันข้าม dilemma ประการหลังเป็นเรื่องการต้องตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการด้านความมั่นคง และถ้าเราคิดแบบปลอดภัยไว้ก่อนหรือเตรียมตัวเผื่อไว้สำหรับเหตุการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ (Mearsheimer, 2001, 36) เราก็ต้องคิดหามาตรการเสริมสร้างความมั่นคงของฝ่ายเราเองให้เข้มแข็งที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งก็จะทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามคิดด้วยตรรกะและตอบโต้ด้วยแนวทางแบบเดียวกัน ผลอันน่าเศร้าที่ตามมาจากการที่แต่ละฝ่ายดำเนินมาตรการโต้ตอบต่อกันเช่นนี้ก็คือ การมุ่งแสวงหาความมั่นคงของแต่ละฝ่ายทำให้แต่ละฝ่ายเกิดความไม่มั่นคงในที่สุด

หรือในทางตรงกันข้าม ถ้าเราเลือกดำเนินมาตรการแบบโอนอ่อนผ่อนปรน โดยหวังว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะเกิดความพอใจและไม่คิดเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมที่เป็นอยู่ แต่ถ้าอีกฝ่ายกลับแสวงความได้เปรียบจากการโอนอ่อนผ่อนปรนของเรา หรือมีความคิดและความต้องการที่จะขยายอำนาจของตนออกไปอีกโดยไม่หยุดยั้ง การโอนอ่อนผ่อนปรนกลับจะทำให้ฝ่ายนั้นยิ่งได้ใจ เรียกร้องเพิ่มเติมมากขึ้นแบบได้คืบเอาศอก เช่นเดียวกับพฤติการณ์ของ Hitler ในช่วงก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยิ่งประเทศอังกฤษยอมโอนอ่อนผ่อนตามข้อเรียกร้องต้องการต่างๆ ของเยอรมนีมากเพียงใด เยอรมนีก็ยิ่งขยายการเรียกร้องจากเรื่องหนึ่งไปสู่เรื่องอื่นๆ มากขึ้นไปอีก ซึ่งทำให้ยุโรปแทนที่จะมั่นคงกลับต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากเยอรมนีที่เข้มแข็งและขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

กล่าวโดยสรุปก็คือ ในสภาวะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่มีใครปกป้องใคร ความพยายามของแต่ละรัฐในการสร้างความมั่นคง ทำให้รัฐต้องเผชิญกับการตัดสินใจเลือกระหว่างทางเลือกต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นคง ซึ่งแต่ละทางมีความเป็นไปได้ที่จะก่อผลแบบ ปฏิทรรศน์ (paradox) ซึ่งทำให้แต่ละรัฐเกิดความไม่มั่นคงในที่สุด (Booth and Wheeler, 2008, 9) 

นอกจาก Wolfers แล้ว ยังมีนักวิชาการในรุ่นหลังจากเขาอีกหลายคนที่เสนอเช่นเดียวกันว่า วิธีคิดของสัจนิยมทางการเมืองประกอบด้วยการมองโลกแบบชั่วร้ายและการมองโลกแบบเป็นโศกนาฏกรรม (เช่น Spirtas, 1996) อย่างไรก็ดี บทความนี้มีข้อเสนอว่าถ้าเราพิจารณาความคิดของนักคิดแนวสัจนิยมแบบคลาสสิกรุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ให้ดี เราจะเห็นว่างานของคนเหล่านี้มีทัศนะการมองโลกไปในทางโศกนาฏกรรมมากกว่าการมองโลกทางสังคมว่าเกิดจากธรรมชาติที่ชั่วร้ายของมนุษย์ แต่ลักษณะของโศกนาฏกรรมในทัศนะของพวกสัจนิยมทางการเมืองมิได้เกิดขึ้นจากแรงบีบคั้นของสภาพ state of war หรือ security dilemma ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น หากยังมีที่มาจากข้อบกพร่องและความไม่สมบูรณ์แบบของคน–และแน่นอนว่าในความบกพร่องนั้นมีความชั่วร้ายรวมอยู่ด้วย–อันเกิดขึ้นจากมนุษยภาวะของเขาเอง ที่ทำให้เมื่อเขาเข้าสู่โลกของการกระทำ เขาจึงตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัด ที่ไม่เพียงแต่จำกัดทางเลือกและการตัดสินใจ การต้องเผชิญกับปัญหาที่ต้องเลือกระหว่างความจำเป็นกับศีลธรรม หรือข้อจำกัดที่เหนี่ยวรั้งเขาไว้ไม่ให้บรรลุถึงเป้าหมาย แต่ยังรวมถึงข้อจำกัดที่อาจทำลายความสำเร็จต่าง ๆ ซึ่งเขาบรรลุถึงแล้วอีกด้วย ในแง่นี้ ความคิดของสัจนิยมทางการเมืองแบบคลาสสิกที่มุ่งตีแผ่มนุษยภาวะทั้งในระดับบุคคลและสังคม จึงสะท้อนลักษณะความเป็นโศกนาฏกรรมในชีวิตของมนุษย์ มากกว่าที่จะเป็นการมองว่ามนุษย์เป็นสัตว์โลกที่ชั่วร้ายจนเกินแก้ไข และด้วยเหตุนี้ เราจึงควรพิจารณาข้อเสนอของสัจนิยมทางการเมืองเกี่ยวกับความตั้งใจใฝ่หาอำนาจที่เป็นธรรมชาติของมนุษย์ ว่าเป็นข้อเสนอที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะโศกนาฏกรรมซึ่งดำรงอยู่ในมนุษยภาวะ มากกว่าที่จะเป็นเพราะสัจนิยมทางการเมืองนิยมพอใจในอำนาจหรือต้องการสนับสนุนให้ใช้กำลังความรุนแรงในการกระทำทางการเมือง

 เพื่อสนับสนุนข้อเสนอข้างต้น เราย้อนกลับไปพิจารณาความคิดของ Morgenthau ที่ Wolfers เสนอว่าเป็นตัวแทนความคิดแบบมองการเมืองและการเมืองระหว่างประเทศว่าเป็นเรื่องชั่วร้ายอีกครั้งหนึ่ง ถ้าอ่านงานของ Morgenthau (1946) โดยละเอียด เราจะพบว่าการเสนอธรรมชาติทางการเมืองของมนุษย์ว่าชั่วร้ายของเขา เป็นส่วนหนึ่งในภาพใหญ่ของการอภิปรายเกี่ยวกับมนุษยภาวะ เพื่อโต้ตอบกับพวกเสรีนิยมที่เชื่อว่าการกระทำตามหลักเหตุผลและการหาความรู้ตามแบบวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจะช่วยให้มนุษย์ไม่เพียงแต่ตระหนักและบรรลุถึงความสอดคล้องต้องกันอย่างสมานฉันท์ระหว่างผลประโยชน์ของแต่ละบุคคล แต่ยังสามารถพัฒนาสภาวะทางสังคมการเมืองให้มีความก้าวหน้าขึ้นได้ เสรีนิยมเชื่อมั่นว่าปัญหาต่างๆ ในสังคมมนุษย์นั้นถ้าไม่ใช่เป็นปัญหาที่เหตุผลได้แก้ตกไปแล้ว ก็เป็นปัญหาที่น่าจะแก้ไขให้ลุล่วงได้ในอีกไม่ช้าด้วยการใช้เหตุผลเช่นกัน (Morgenthau, 1946, 206)

 เหตุผล ความรู้ความสามารถ และความเชี่ยวชาญของมนุษย์นำเขาให้พบกับความสำเร็จ แต่ความสำเร็จนี้มักก่อให้เกิดการย่ามใจ เชื่อว่าตนอยู่เหนือจากข้อจำกัดทั้งปวง เกิดเป็นอหังการว่าตนสามารถควบคุมทุกสิ่งไว้ได้ ไม่มีสิ่งใดอยู่นอกเหนืออำนาจหรือความสามารถของตนไปได้ จนกระทั่งเลยขาดความยับยั้งชั่งใจ และถลำไปสู่ความพินาศในที่สุด (Morgenthau, 1946, 156, 222) Richard Ned Lebow (2007: 68) สรุปข้อจำกัดในมิตินี้ไว้ว่า

การวางความสำเร็จของมนุษย์ไว้เคียงข้างกับการล่วงละเมิดเป็นแนวเรื่องหลักของโศกนาฎกรรมกรีกและสัจนิยมแบบคลาสสิก เหมือนกับบรรดาลูกคู่ใน Antigone Thucydides, Clausewitz และ Morgenthau ตระหนักถึงความสามารถเป็นพิเศษของมนุษย์ในการนำเอาธรรมชาติมารับใช้จุดมุ่งหมายของตนเอง รวมทั้งแนวโน้มที่จะทำลายสิ่งที่กว่าจะสร้างขึ้นมาได้ต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคนลงไปด้วยสงครามและการใช้กำลังความรุนแรงประหัตประหารพวกเดียวกันเอง งานเขียนของพวกเขาสำรวจเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการสร้างระเบียบ แต่พวกเขาก็คงทัศนะที่มองโลกในแง่ร้ายว่าคนที่มีอำนาจนั้นยากเหลือเกินที่จะรู้จักการยับยั้งชั่งใจตัวเอง

ภายใต้ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นในโลกของการปฏิบัติดังเช่นที่กล่าวมาข้างต้น การแสวงหาความรู้ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของพวกสัจนิยมทางการเมืองจึงมีจุดมุ่งหมายมิใช่เพื่อการหาหนทางเปลี่ยนแปลงธรรมชาติที่เป็นอนาธิปไตยของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือขัดเกลาธรรมชาติการใช้กำลังความรุนแรงและความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ ที่ต้องการครอบงำผู้อื่นและใช้บุคคลอื่นเป็นเครื่องมือเพื่อไปสู่เป้าหมายของตน ให้ดียิ่งขึ้นแบบแนวคิดนอกกระแสสัจนิยม (Morgenthau, 1946) สัจนิยมทางการเมืองมีเป้าหมายในเชิงปฏิบัติในอีกลักษณะหนึ่ง กล่าวคือ ต้องการสร้างองค์ความรู้หรือ “the science of international politics” (Morgenthau, 1985: 18)เพื่อช่วยให้ผู้ที่ต้องรับผิดชอบดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีหลักสำหรับใช้นำการตัดสินใจได้อย่างมีเหตุมีผลและสมเหตุสมผล สอดคล้องกับเงื่อนไขข้อจำกัดที่เป็นอยู่จริงและความเป็นไปได้ มากกว่าการยึดหลักของสิ่งที่ควรจะเป็น ทั้งในสภาพแวดล้อมของการเมืองระหว่างประเทศและในลักษณะของมนุษย์เอง (Morgenthau, 1985, 7)

 การมองโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแง่ร้ายแบบโศกนาฏกรรม แม้จะทำให้พวกสัจนิยมทางการเมืองไม่ตั้งความหวังอันเลิศลอยว่าจะมีใครสามารถผลักดันให้เกิดเปลี่ยนแปลงและพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ก้าวหน้าไปสู่โลกของสันติสุขอันถาวรได้ แต่ก็มิได้ทำให้พวกสัจนิยมทางการเมืองเสนอให้ทิ้งทุกอย่างไว้แก่โชคชะตา ธรรมชาติ หรือบาปกำเนิด (Michael J. Smith, 1986, 103 – 6; Niebuhr, 1941/1943) ที่ลิขิตติดตัวมนุษย์มาแล้วจนไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ หรือเสนอให้ปฏิเสธสิ่งที่เป็นคุณค่าความดีงามทั้งหมดในบริบทของการเมือง แล้วหันไปเน้นแต่เรื่องการตั้งใจใฝ่หาอำนาจ การใช้กำลังความรุนแรง สงคราม และการต่อสู้ฟาดฟันกันเท่านั้นก็หามิได้ (Carr, 1939/64) ประเด็นสำคัญที่สัจนิยมเสนอให้พิจารณาคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับข้อบกพร่องจำกัดนั้น และรู้จักการยับยั้งชั่งใจและการควบคุมตนเอง

งานเชิงทฤษฎีดังกล่าวข้างต้นของ Carr, Morgenthau และ Waltz, และของนักวิชาการอื่น ๆ เช่น Reinhold Niebuhr, George Kennan, Arnold Wolfers และ Raymond Aron ก็ดี รวมทั้งการย้อนกลับไปศึกษาตีความงานของนักคิดคนสำคัญของโลกตะวันตก เช่น Thucydides, Machiavelli, Hobbes และ Rousseau เพื่อสืบให้เห็นรากฐานทางปรัชญาการเมืองของขนบความคิด ซึ่งต่อมาได้ตกผลึกก่อรูปมาเป็นความคิดแม่บทของสำนักสัจนิยมก็ดี ทั้งหมดนี้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อการศึกษาและวิเคราะห์ปรากฏการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในแวดวงวิชาการ IR นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา แม้ตามข้อเท็จจริง สัจนิยมจะมิได้สร้างทฤษฎีและคำอธิบายหนึ่งเดียวที่เป็นเอกภาพ เช่น ยังมีข้อถกเถียงมากมายระหว่างนักวิชาการ IR ด้วยกันเกี่ยวกับการอธิบายการเกิดขึ้นของการถ่วงดุลอำนาจ การสร้างพันธมิตร การป้องปราม เสถียรภาพของระบบระหว่างประเทศ และสงคราม เป็นต้น แต่การศึกษาประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้ของการศึกษา IR กระแสหลัก ต่างใช้หรือยอมรับความคิดแม่บทของสัจนิยมที่เสนอภาพโลกความความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ว่าเป็นโลกของการขัดแย้งแข่งขันอันเกิดจากการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ ในบริบทของอนาธิปไตย ที่แต่ละฝ่ายมุ่งรักษาอัตตาณัติในอำนาจการปกครองของตนเอง แสวงหาอำนาจขีดความสามารถ และเลือกใช้วิธีการและเครื่องมือในการดำเนินความสัมพันธ์ตามที่เห็นว่าเหมาะสม เพื่อรักษาความอยู่รอดปลอดภัย และความมั่นคงของรัฐอันเป็นผลประโยชน์แห่งชาติพื้นฐานที่สุด และรวมทั้งเพื่อรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ด้านอื่น ๆ ในระดับรองลงมา

ในเวลาเดียวกับที่สัจนิยมได้กลายเป็นความคิดกระแสหลักของการศึกษา IR นักวิชาการ IR ในสหรัฐอเมริกา ได้พยายามที่จะยกระดับสถานภาพแห่งสาขาวิชาของตน ให้เป็นที่ยอมรับในวงวิชาการ ด้วยอิทธิพลของแนวทางการศึกษาแบบพฤติกรรมนิยม (behaviorism) ที่แพร่หลายในแวดวงของการศึกษารัฐศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักวิชาการ IR รุ่นใหม่ในยุคนั้นจำนวนมากเห็นว่า ทฤษฎีและวิธีการศึกษาตามแบบแผนเดิม (classical approach) ที่เน้นการใช้วิจารณญาณ จากฐานของความรอบรู้เชี่ยวชาญส่วนตัวของผู้ศึกษาเกี่ยวกับประเด็นปัญหาหรือประเทศและภูมิภาคหนึ่ง ๆ ประกอบกับหลักคิดจากปรัชญาการเมือง ประวัติศาสตร์ และกฎหมายเป็นแนวทางในการวิเคราะห์ ไม่น่าที่จะเป็นรากฐานอันหนักแน่นสำหรับการสร้างความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความรู้ที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถเข้าไปควบคุมและจัดการแทรกแซงสภาพแวดล้อมทางสังคมเพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดเงื่อนไขสภาวะที่พึงปรารถนา นักวิชาการรุ่นใหม่เหล่านี้เห็นว่าความรู้ในลักษณะเช่นนี้ จะเกิดขึ้นได้ย่อมต้องอาศัยการพัฒนาทฤษฎีที่สามารถอธิบายและคาดการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศได้อย่างเป็นระบบ และปลอดจากค่านิยมส่วนตัวของผู้ศึกษา โดยเป็นทฤษฎีที่เสนอชุดของคำอธิบายที่สามารถนำไปพิสูจน์ตรวจสอบกับความเป็นจริง ในโลกที่สัมผัสหรือสังเกตด้วยประสบการณ์ได้ 

แนวทางการศึกษาของสำนักพฤติกรรมนิยม ในเรื่องระเบียบวิธีวิทยาของการศึกษารัฐศาสตร์และ IR ในทางหนึ่ง ส่งผลให้มีการตื่นตัวอย่างมากที่จะพัฒนาให้ IR มีสถานะของความเป็นศาสตร์ ที่คลังองค์ความรู้ของสาขาวิชาสามารถสั่งสมเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จากสมมุติฐาน และข้อเสนอที่ผ่านการทดสอบและพิสูจน์แล้วว่าเป็นจริง (cumulative knowledge) โดยใช้วิธีวิจัยที่สมาทานญาณวิทยา และระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์แบบปฏิฐานนิยม (positivism)[5] นักศึกษา IR ในระดับบัณฑิตศึกษาในสหรัฐอเมริกา ล้วนแต่ต้องผ่านการครอบครูด้วยงานทางปรัชญาวิทยาศาสตร์ของ Popper, Hempel และ Lakatos เป็นอาทิ รวมทั้งต้องเรียนรู้ที่จะใช้วิธีการวิเคราะห์ในเชิงปริมาณ และเครื่องมือการวิจัยเช่นสถิติอย่างช่ำชอง ความพยายามนี้ดำเนินไปอย่างกระตือรือร้น นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 เป็นต้นมา[6] แต่ในอีกทางหนึ่ง ความพยายามที่จะทำให้การศึกษา IR มีความเป็นศาสตร์ ด้วยระเบียบวิธีและทฤษฎีญาณวิทยาแบบปฏิฐานนิยมได้นำไปสู่วิวาทะใหญ่รอบที่สองในช่วงทศวรรษ 1960 ระหว่างนักวิชาการที่เชื่อมั่นในพลังของแนวทางการศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ กับนักวิชาการที่ยังคงเห็นว่าแนวทางการศึกษาตามแบบแผนเดิมหรือคลาสสิกมีความเหมาะสมต่อการศึกษาปรากฏการณ์ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากยิ่งกว่า[7]

วิวาทะนี้ไม่มีบทสรุปที่ชัดเจนสำหรับวงวิชาการ IR นอกจากว่า นักวิชาการแต่ละฝ่าย ต่างเลือกที่จะใช้เครื่องมือที่ตนเห็นว่าเหมาะสมในการสร้างความรู้ต่อไปและนำเสนอผลงานเหล่านั้นในเวทีและแวดวงของแต่ละฝ่าย อย่างไรก็ดี ควรบันทึกความเห็นของ Hedely Bull นักวิชาการที่ใช้แนวทางแบบคลาสสิกลงในบริบทนี้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเวลานักวิชาการสำนักตะวันตกเขาปกป้องความคิดความเชื่อของตนเองและของสำนักที่ตนสังกัดนั้น เขาสู้กันจริงจังขนาดไหน Bull กล่าวยกย่องงานของ Martin Wight ที่รวบรวมความคิดทางปรัชญาการเมืองของนักคิดรุ่นก่อน ๆ มาจัดแยกออกเป็น traditions เพื่อสร้างบทสนทนาอันไม่สิ้นสุดระหว่างกัน อันทำให้ฝ่ายที่ศึกษาในแนวทางวิทยาศาสตร์บางทีเรียกงานของแนวทางศึกษาแบบคลาสสิกว่า traditionalists ซึ่ง Bull เห็นว่าเป็นการเรียกขานที่ค่อนข้างจะ ‘absurd’ แต่ Bull ไม่เห็นด้วยกับท่าทีของ Wight ซึ่งเป็นอาจารย์ของเขา ที่เพิกเฉยมองข้ามและไม่ลุกขึ้นโต้กับการท้าทายของพวกที่ใช้แนวทางศึกษาแบบวิทยาศาสตร์ Bull กล่าวว่าเขาเลือกทำอีกแบบหนึ่ง ขอคัดมาลงไว้โดยไม่แปล และเหตุการณ์ที่ Bull ยกมาเป็นความเปรียบค้นหาอ่านจากประวัติศาสตร์อังกฤษกับสก็อตแลนด์ได้ไม่ยาก

I felt that they represented a significant challenge and that it was important to understand them and engage in the debate with them. The correct strategy, it appeared to me, was to sit at their feet, to study their position until one could state their own argument better than they could and then – when they were least suspecting – to turn on them and slaughter them in an academic Massacre of Glencoe. (Bull, 1976, 103; 1991, xi)

หลังจากการวิวาทะใหญ่ครั้งที่ 2 นักวิชาการ IR ในสหรัฐอเมริกาที่ศึกษาตามแนวทางวิทยาศาสตร์ก็ต้องคอยลุกขึ้นมาสะกิดเตือนกันเอง รวมทั้งคอยชี้แจงแถลงไขให้นักวิชาการกันเองทราบอยู่เป็นระยะว่า ผลผลิตหรือ ‘ความรู้’ ที่พวกตนสร้างกันมานั้น มีคุณูปการที่เป็นรูปธรรม สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงปฏิบัติได้อย่างไรสำหรับผู้ดำเนินนโยบาย หรือมิเช่นนั้น ก็เป็นการประเมินให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าทฤษฎี IR ของฝ่ายตนมีความ ‘ก้าวหน้า’ มาถึงขั้นไหนแล้ว[8]

งานของ Kenneth Waltz คือ Theory of International Politics[9] ที่ตีพิมพ์ในปี 1979 ถือได้ว่าเป็นหลักหมายสำคัญของแนวทางการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบ realist ทั้งในแง่ของการสร้างทฤษฎีได้ตามมาตรฐานของความเป็นศาสตร์ตามแนวปฏิฐานนิยม และสามารถดึงใจนักวิชาการรุ่นใหม่ ที่ในช่วงทศวรรษ 1970 เคยท้าทายความสามารถของสัจนิยม ในการวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศในบริบทที่มีความหลากหลายมากขึ้นนั้น ให้หันมายอมรับสารัตถะของฐานคติแบบสัจนิยมเป็นจุดเริ่มต้นของการมองประเด็นปัญหา และคิดค้นคำอธิบายปรากฏการณ์ทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งที่เป็นความขัดแย้งและความร่วมมือ[10]

สัจนิยมจึงครองความเป็นเจ้าในอาณาบริเวณของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเป็นเวลานานเกือบห้าสิบปี แม้สัจนิยมจะถูกท้าทาย แต่ก็เป็นการท้าทายในลักษณะที่ยอมรับสารัตถะในส่วนที่เป็นความคิดแม่บท หรือที่ Lakatos เรียกว่าเป็น hard core assumptions อันได้แก่ ฐานคติสำคัญที่ว่าการเมืองระหว่างประเทศเป็นการเมืองเรื่องการต่อสู้เพื่ออำนาจและความอยู่รอดระหว่างรัฐในภาวะอนาธิปไตย[11] ด้วยเหตุนี้สถานะของสัจนิยม ใน IR จึงเป็นมากกว่าแนวคิดกระแสหลักของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เป็นแนวทางการศึกษาที่เป็นตัวกำหนดสารัตถะและตัวตนแห่งความเป็นสาขาวิชาของ IR ในสังคมศาสตร์เลยทีเดียว ซึ่งนับได้ว่าเป็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน

ข้อดีก็คือ สัจนิยมให้ความเป็นเอกภาพแก่การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เอกภาพนี้มิได้หมายความว่าจะไม่มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลายในบรรดาทฤษฎีและข้อสรุปที่เกิดจากแนวทางการศึกษาแบบดังกล่าว วิวาทะและข้อถกเถียงระหว่างนักวิชาการสัจนิยมกันเองอาจจะมีมากยิ่งกว่าระหว่างสัจนิยมกับฝ่ายอื่นๆ หากเอกภาพในที่นี้หมายถึงการให้ความเข้าใจตรงกัน ว่าอะไรคือเนื้อหาสาระและลักษณะของความรู้ที่เหมาะสมและเป็นที่ต้องการและยอมรับ มีเกณฑ์ในการประเมินความถูกต้องน่าเชื่อถือของความรู้ไปในทางเดียวกัน และสามารถสร้างความรู้ที่สั่งสมสืบเนื่องกันต่อไปได้ แต่ความเป็นเอกภาพของ IR ที่เกิดขึ้นมาได้ด้วยความคิดแม่บทของสัจนิยมนี้ ก็ต้องแลกกับการที่ IR อยู่โดดเดี่ยวและปิดตัวเองจากการเรียนรู้หรือ ‘สนทนา’ กับแนวความคิดและแนวทางการศึกษาของสาขาวิชาอื่น ๆ ในสังคมศาสตร์หรือมนุษยศาสตร์ ยกเว้นแนวทางการศึกษาซึ่งสอดคล้องกับญาณวิทยาแบบปฏิฐานนิยม เช่น rational choice และทฤษฎีเกม ที่นักวิชาการสัจนิยม รับมาด้วยความยินดีจากเศรษฐศาสตร์ อันเป็นสาขาที่ได้รับการนับถือว่ามีสถานะของความเป็นศาสตร์สูงสุดในบรรดาวิชาในสังคมศาสตร์ด้วยกันแล้ว, IR และ สำนักสัจนิยมของ IR ก็มิได้เปิดใจกว้างให้แก่ใครอีก และแม้นักวิชาการสัจนิยมจะเสนอว่ารากเหง้าของแนวทางของตนสามารถสืบย้อนจาก Morgenthau ขึ้นไปได้ถึง Weber, Rousseau, Hobbes, Machiavelli และ Thucydides, แต่การ ‘อ่าน’ งานทฤษฎีการเมืองหรือประวัติศาสตร์เหล่านี้ของนักวิชาการสายสัจนิยม ก็เป็นการอ่านโดยมีฐานคติเกี่ยวกับการเมืองระหว่างประเทศของตนเป็นเครื่องถอดรหัส IR และ สัจนิยมจึงไม่ได้อะไรเพิ่มขึ้นมากนักนอกจากพบว่า นักคิดเหล่านี้มีความเห็นที่แม้จะไม่เหมือนกันในรายละเอียดทั้งหมด แต่ต่างก็อยู่ในขนบความคิดและต่างก็ยืนยันถึงสัจธรรมของสัจนิยมนั่นเอง[12]


หมายเหตุท้ายบทความ

บทความประกอบการสอนนี้เขียนเมื่อปี 2008 นานพอที่ผู้เขียนจะลืมไปแล้วว่าเคยเขียนอะไรไว้ ครั้นค้นเจอและกลับมาอ่านใหม่อีกรอบหลังจากเวลาผ่านไปนานกว่า 1 รอบนักษัตร มีที่อยากแก้ไขอยู่หลายตอน เพราะความคิดเปลี่ยน แต่ส่งมาลงที่ 101 อีกครั้งโดยมิได้แก้ไขแต่อย่างใดนอกจากตัดคำเกินและเติมคำตกหล่น เพราะเห็นข้อความบางตอนที่ในเวลาที่เขียน ไม่ได้เห็นนัยความหมายอย่างที่พบในการอ่านล่าสุด เรื่องหนึ่ง คือ แนวทางต่อฝ่ายตรงข้ามที่แตกต่างกันระหว่างศิษย์กับอาจารย์ Bull กับ Wight ซึ่งพอมาเจอเข้าอีกในตอนนี้ เห็นว่าน่าคิดเหมือนกัน และชวนให้นึกถึงคำของผู้ใหญ่ที่ผู้เขียนเคารพนับถือ ท่านเคยบอกผู้เขียนเมื่อนานมาแล้วว่า ความไม่แยแสเป็นวิธีปฏิเสธที่เย็นที่สุด เพราะเอานรกออกไปห่างจากเรา แต่พร้อมกันนั้น ท่านก็สอนด้วยว่า ถ้ามีฝ่ายตรงข้ามที่เคารพนับถือได้ ก็เรียนรู้จากเขาไว้ได้ ข้าพเจ้านึกขึ้นมาแล้ว ก็ยิ่งเห็นว่าวิธีของ Wight ที่ไม่ได้สร้างขั้วตรงข้ามทางความคิดขึ้นมาเพียง 2 แล้วนับตัวเองเข้าอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่จัดความคิดออกมาเป็น 3 traditions ให้รับไว้ เพื่อให้ทั้ง 3 เปิดบทสนทนากันไปเรื่อย สร้างบทยืนแย้งยันมาตั้งประเด็นตั้งคำถามต่อกันเป็น 3 มุมในการอ่านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นวิธีอบรมบ่มเพาะความคิดที่ดีมาก ท่านผู้อ่านจะเห็นด้วยกับผู้เขียนและแนวทางแบบคลาสสิกของ Wight เช่นนี้หรือไม่ ขอฝากท่านพิจารณา


[1] ดูการอภิปรายเกี่ยวกับอิทธิพลของ Niebuhr ต่อ Morgenthau ใน Michael J. Smith (1986, 134) และข้อโต้แย้งของ Christoph Frei (2001, 110 – 111) ว่าแม้ Morgenthau จะมีแนวความคิดเกี่ยวกับมนุษย์และการเมืองที่สอดคล้องกับของ Niebuhr แต่เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดมาจาก Nietzsche มากกว่า อย่างไรก็ดี เมื่อมีผู้ขอให้ Morgenthau ระบุหนังสือที่มีความหมายต่อเขามากที่สุด 10 เล่ม 2 ในจำนวน 10 เล่มนั้นได้แก่ The Nature and Destiny of Man ของ Niebuhr และ The Collected Works of Friedrich Nietzsche (Frei, 2001, 113).

[2] ใน Politics among Nations (1985, 40) Morgenthau อ้างข้อความจาก the Melian Dialogue ของ Thucydides มาสนับสนุนประเด็นนี้ของตนว่า “ในบรรดาพระเจ้าที่เรารู้จัก และในบรรดาคนที่เราศรัทธาเชื่อถือ (ที่จริงข้อความตรงนี้ต้นฉบับของ Thucydides ที่แปลโดย Rex Warner เขียนว่า ในบรรดาพระเจ้าที่เราศรัทธาเชื่อถือ และในบรรดาคนที่เรารู้จัก) ต่างเห็นว่าเป็นกฎอันจำเป็นของธรรมชาติแห่งพวกเขาที่จะปกครองที่ไหน ๆ ก็ตามเท่าที่พวกเขาจะทำได้”

[3] ด้วยความทะเยอทะยานที่จะเอาชนะธรรมชาติเช่นนี้เอง ที่ทำให้ความปรารถนาของนักล่าอาณานิคมชาวอังกฤษอย่าง Cecil Rhodes ที่ Morgenthau ยกมาอ้างในบริบทนี้ ค่อย ๆ เขยิบเข้ามาใกล้ความเป็นจริง Rhodes เคยปรารภว่า “บรรดาดวงดาราที่ท่านเห็นลอยอยู่เหนือศีรษะในยามค่ำคืน, จักรวาลอันไพศาลที่เราไม่อาจเอื้อมถึง ถ้าสามารถทำได้ ข้าพเจ้าต้องการผนวกดาราจักรทั้งหมด ข้าพเจ้าคิดถึงเรื่องนี้อยู่บ่อยๆ มันทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าที่เห็นมันแจ่มกระจ่าง แต่ก็ช่างอยู่ห่างไกล” (Morgenthau, 1946, 193)

[4] ประโยคในภาษาละตินพอจะแปลเอาใจความได้ว่า “มนุษย์กระทำต่อมนุษย์เยี่ยงหมาป่า” อีก 50 ปีต่อมา John Mearsheimer (2001, 3) พัฒนาทฤษฎีสัจนิยมด้วยวิธีวิทยาแบบวิทยาศาสตร์ ก็ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับ “โศกนาฏกรรมของการเมืองระหว่างชาติมหาอำนาจ” ในทำนองเดียวกันว่า “ชาติมหาอำนาจซึ่งไม่มีเหตุผลใดๆ ที่ต้องการจะรบพุ่งกัน และคำนึงถึงแต่เพียงความอยู่รอดของตน แม้กระนั้น ก็มีทางเลือกน้อยมาก ที่ทำให้จำต้องมุ่งแสวงหาอำนาจและหาทางครอบงำรัฐอื่นในระบบ”

[5] กล่าวอย่างสั้นที่สุด ปฏิฐานนิยมในที่นี้หมายถึงจุดยืนเชิงทฤษฎีความรู้และภววิทยาที่เชื่อว่า 1) มีเอกภาพระหว่างศาสตร์สาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ หรือวิทยาศาสตร์สังคม และวิธีการแสวงหาและสร้างความรู้ของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติสามารถนำมาใช้ได้ในการแสวงหาและสร้างความรู้เกี่ยวกับสังคม; 2) มีความแตกต่างและดังนั้นจึงควรจะแยกระหว่างข้อเท็จจริง (facts) กับคุณค่าความเชื่อ (values) และข้อเท็จจริงในโลกภายนอกนั้นดำรงอยู่อย่างเป็นภววิสัย ไม่ว่าเราจะสังเกตเห็นมันหรือไม่ก็ตาม การวิเคราะห์ข้อเท็จจริงตามสภาวะที่มันเป็น เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ ถ้าเราตระหนักถึง, และระมัดระวังที่จะไม่ปล่อยให้, อัตวิสัย – คือระบบคุณค่าความเชื่อของเรา – เข้าไปแทรกในการพิจารณาข้อเท็จจริงนั้น ๆ; 3) มีสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ (regularities) จนทำให้เราสามารถสังเกตแบบแผนของปรากฏการณ์หรือแนวโน้มนั้นได้ทั้งในโลกของธรรมชาติและโลกทางสังคม; และ 4) ความรู้ที่แท้ได้มาจากข้อเสนอของทฤษฎีใด ๆ ที่เปิดโอกาสให้สามารถตรวจสอบ, และผ่านการพิสูจน์,ความผิดถูกได้โดยข้อมูลเชิงประจักษ์. Steve Smith, “Positivism and Beyond,” in Steve Smith, Ken Booth, and Marysia Zalewski, eds., International Theory: Positivism and Beyond (Cambridge: Cambridge University Press, 1996),16.

[6] บทความซึ่งเป็นการสำรวจงานทฤษฎี IR ของ Michael Haas ที่ตีพิมพ์ในปีค.ศ. 1970 สะท้อนให้เห็นถึงความกระตือรือร้นและเชื่อมั่นในการพัฒนาความเป็นศาสตร์ของ IR ได้อย่างชัดเจน โปรดดู Michael Haas, “International Relations Theory,” in Michael Haas and Henry S. Kariel, eds., Approaches to the Study of Political Science(Scranton, PA: Chandler Publishing Company, 1970), 444 – 78.

[7] ดูตัวอย่างของวิวาทะดังกล่าวนี้ใน James Rosenau, ed., Contending Approaches to International Politics (Princeton NJ.: Princeton University Press, 1969).

[8] ตัวอย่างของงานทำนองนี้ได้แก่ Alexander L. George, Bridging the Gap : Theory and Practice in Foreign Policy (Washington, D.C.: United States Institute of Peace Press, 1993); Miroslav Nincic and Joseph Lepgold, eds., Being Useful : Policy Relevance and International Theory (Ann Arbor : University of Michigan Press, 2000); Emanuel Adler and Beverly Crawford, eds., Progress in Postwar International Relations(New York : Columbia University Press, 1991); Colin Elman and Meriam Fendius Elman, eds., Progress in International Relations Theory : Appraising the Field(Cambridge : MIT Press, 2002); John A. Vasquez, “The Realist Paradigm and Degenerative and Progressive Research Programs : An Appraisal of Neotraditional Research on Waltz’s Balancing Proposition,” in John A. Vasquez and Colin Elman, eds., Realism and the Balancing of Power : A New Debate (Upper Saddle River, N.J. : Prentice Hall, 2003), pp. 23 – 73; และ David A. Lake, “Progress in International Relations : Beyond paradigms in the Study of Institutions,” in Michael Brecher and Frank P. Harvey, eds., Millennial Reflections on International Studies : Realism and Institutionalism in International Studies (Ann Arbor : University of Michigan Press, 2002), pp. 135 – 152.

[9] Kenneth Waltz, Theory of International Politics(Reading, MA: Addison-Wesley, 1979).

[10] ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืองานของ Robert Keohane โปรดดู Robert Keohane and Joseph Nye, Power and Interdependence (Glenview, IL: Scott, Foresman, 1976) และ Robert Keohane, After Hegemony: Cooperation and Discord in the World Political Economy(Princeton: Princeton University Press, 1984). ดังนั้นเราจึงอาจระบุผู้ที่เป็น realist ได้จากการยอมรับในฐานคติหลักของrealism และใช้ฐานคติหลักนี้เป็นจุดเริ่มของการมองและวิเคราะห์ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ.

[11] Robert Keohane ใช้มโนทัศน์ research program ของ Imre Lakatos เป็นกรอบในการอภิปรายเกี่ยวกับฐานคติของ realism ในบทความ “Theory of World Politics: Structural Realism and Beyond,” in Robert Keohane, ed., Neorealism and Its Critics (New York : Columbia University Press, 1986), pp.158 – 203.

[12] ดูตัวอย่างการอ่านเช่นนี้ได้ใน Martin Wight, International Theory: The Three Traditions, edited by Gabriel Wight and Brian Porter (New York: Holmes & Meir, 1992). และงานของนักวิชาการรุ่นหลังที่พยายามลดช่องว่างระหว่าง international theory กับ political theory แต่ยังจัดนักคิดในอดีตตาม realist traditionคือ Michael W. Doyle, Ways of War and Peace: Realism, Liberalism, and Socialism(New York: Norton, 1997).

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save