'พิพิธภัณฑ์' ไม่ใช่ที่เก็บของ ไม่ใช่ของที่เก็บ

‘พิพิธภัณฑ์’ ไม่ใช่ที่เก็บของ ไม่ใช่ของที่เก็บ

ยุกติ มุกดาวิจิตร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

ในรอบสัก 10 ปีที่ผ่านมา ผมไปพิพิธภัณฑ์สักกี่แห่งกัน เอาเข้าจริงๆ แล้วก็นับไม่ถ้วน แต่ก็ไม่เคยมานั่งคิดจริงๆ เลยว่า พิพิธภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้มีอะไรแตกต่างกัน

ครั้งหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ผมรับไปบรรยายเรื่องมุมมองต่อพิพิธภัณฑ์ ณ Thammasat Museum of Anthropology มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมจึงลองนึกว่าจะดึงอะไรบางอย่างออกมาจากพิพิธภัณฑ์ที่เคยไปเยือนเหล่านั้นได้บ้าง ข้อเขียนนี้เป็นบันทึกของการบรรยายครั้งนั้น

ถ้ากลับไปเริ่มต้นจากคำถามที่ว่า ทำไมผมถึงชอบไปพิพิธภัณฑ์ ไปแล้วได้อะไร แนวทางการทำพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งที่ไปมาเป็นอย่างไร ผมเรียนรู้อะไรบ้างจากการไปพิพิธภัณฑ์หลายๆ แห่งที่เคยเดินไปเยี่ยมชม ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ทั้งหมดเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ผมเคยไปมาแล้วทั้งสิ้น

ทำไมผมไปพิพิธภัณฑ์

ไปที่ไหนก็ตาม หากมีเวลาไม่มาก หรืออย่างมากสักหนึ่งสัปดาห์ ที่ที่ผมเลือกไปมักจะมีอยู่ไม่กี่ที่ ที่แรกๆ คือตลาดสด ร้านขายของชำ ย่านการค้า แล้วก็ไปชิมอาหารของคนที่นั่น ไปบาร์ท้องถิ่น ร้านหนังสือ สวนสาธารณะ วัดวาอาราม ศาสนสถาน แล้วอีกที่ที่ต้องไปคือพิพิธภัณฑ์ ผมคิดว่าที่เหล่านี้ช่วยให้รู้จักคนได้อย่างรวดเร็ว

ไปตลาดสด ร้านขายของชำ ร้านอาหาร จะได้รู้ว่าคนเขากินอยู่กันอย่างไร เขาใช้ข้าวของแบบไหน มีสินค้าอะไรที่ที่อื่นไม่มี ความ mass ของที่เหล่านี้บอกอะไรได้มากมายเกี่ยวกับคนที่ต่างๆ ขนมที่คนกินบอกว่าอะไรคือของกินเล่น อาหารสด อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูป บอกวัตถุดิบ บอกรสนิยม บอกกระบวนการผลิต บอกพัฒนาการทางสังคม บาร์ทำให้รู้จักวิถีการกินดื่มสังสรรค์

แล้วที่เลือกไปพิพิธภัณฑ์ เพราะคิดว่าจะได้ทำความรู้จักกับอดีตและปัจจุบันของคนอย่างมีเรื่องราวลึกซึ้งขึ้น สำหรับผม พิพิธภัณฑ์เป็นเหมือนหนังสือบรรจุความรู้ที่เข้าใจง่าย ช่วยให้เรียนรู้ได้รวดเร็ว ฉะนั้น อย่างน้อยที่สุดผมจะเลือกไปพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะ หรือที่มักเรียกว่า Arts gallery ผมเชื่อว่าพิพิธภัณฑ์สองแบบนี้ ช่วยให้เข้าใจความเป็นมาและความสร้างสรรค์ของสังคมที่สร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาได้อย่างรวดเร็วที่สุด

สำหรับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ แน่นอนว่าต้องบอกเล่าเรื่องราวอดีตของสังคมนั้นๆ หากแต่มุมมองและเรื่องราวเฉพาะบางอย่าง เมื่อไปชมมาหลายๆ แห่ง จากแหล่งที่เป็นคู่ขัดแย้งกัน เรื่องราวเดียวกัน กลับถูกเลือกนำเสนอต่างมุมมองด้วยเช่นกัน

ดังนั้นคงไม่ผิดหากจะสรุปว่า ไม่มีความเป็นกลางในพิพิธภัณฑ์ ยิ่งพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นโดยรัฐ ยิ่งไม่เป็นกลาง อยู่ที่ว่าจะเลือกเสนอมุมมองไหน หรือพูดอีกแบบคือ อยากให้ประชาชนของตนเข้าใจอะไร อย่างไร และอยากให้ผู้ชมจากที่ต่างๆ เข้าใจประเทศตนอย่างไร

แต่นั่นก็ยิ่งทำให้ผมอยากไปพิพิธภัณฑ์ เพราะมันจะช่วยให้เห็นว่า คนในประเทศนั้นหรือรัฐของประเทศนั้น เล่าเรื่องตนเองอย่างไร เรียนรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างไร ไม่น้อยไปกว่าข้อเท็จจริงที่ไม่ผ่านมุมมองเหล่านั้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะต้องดูว่า แม้ในประเทศเดียวกัน มีการเล่าเรื่องชีวิตผู้คนในพิพิธภัณฑ์แตกต่างกันอย่างไรบ้าง เพื่อเข้าใจการแลกเปลี่ยนความเห็นกันของสังคมผ่านพิพิธภัณฑ์

นอกจากนั้น การมีหรือไม่มีพิพิธภัณฑ์ในแต่ละแบบ ของแต่ละที่ ยังบอกถึงความตื้นลึกหนาบาง ความสนใจเฉพาะของแต่ละถิ่น ที่แตกต่างกันออกไป

อย่างที่ฮานอย มีพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงกับพิพิธภัณฑ์ชาติพันธ์ุวิทยา พิพิธภัณฑ์สองแห่งนี้ไม่มีในประเทศไทย หรือที่ไทยมีอย่างพิพิธภัณฑ์ชนกลุ่มน้อยที่เชียงใหม่ ก็เทียบระดับของความเอาจริงเอาจังไม่ได้กับที่เวียดนาม ซึ่งมีถึงสองแห่งขนาดใหญ่ นี่แสดงถึงการให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้ของเวียดนาม

ส่วนพิพิธภัณฑ์ผู้หญิง หากประเทศไทยจะมี ผู้หญิงไทยที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ก็คงจะไม่เหมือนกับผู้หญิงเวียดนามในพิพิธภัณฑ์เวียดนาม ไม่มีนักรบหญิงที่ต่อสู้กับจักรวรรดินิยมตะวันตก ไม่มีผู้หญิงชนเผ่า ไม่มีผู้หญิงสามัญชนมากเท่ากับหญิงสูงศักดิ์ นั่นเพราะความคิดเบื้องหลังการทำพิพิธภัณฑ์ในระดับชาติของสองประเทศแตกต่างกัน

ฉะนั้นการไปพิพิธภัณฑ์ของผมจึงเป็นการไปทั้งเข้าใจสังคมนั้นๆ ค้นหาข้อจำกัด และความโดดเด่นของสังคมเจ้าของพิพิธภัณฑ์ รวมทั้งเปรียบเทียบอัตลักษณ์ และการจัดทำเรื่องราว การนำเสนอเนื้อหาและสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะ หรือพิพิธภัณฑ์เฉพาะอย่างของแต่ละประเทศ แต่ละท้องถิ่น

จากที่เก็บของ ถึงของที่เก็บ

ผมคิดว่าความล้มเหลวในการดึงคนเข้าพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย น่าจะมาจากการที่คนยังเห็นว่าพิพิธภัณฑ์เป็นที่เก็บของเก่า หรือไม่ก็ พิพิธภัณฑ์มีแต่ของเก่าๆ หรือเปล่า หรือเพราะคนทำพิพิธภัณฑ์เองนั่นแหละ ที่ยังไม่สามารถทำให้คนเห็นได้ว่าพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่ที่เก็บของเก่าหรือมีแต่ของเก่าๆ

อันที่จริงแล้ว สถานที่ที่ใกล้เคียงพิพิธภัณฑ์ หรือบางแห่งก็เรียกตัวเองว่าพิพิธภัณฑ์หรือถูกรับรู้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์มากมาย ก็มีลักษณะอย่างนั้นจริงๆ นั่นแหละ อย่างเช่น House on the Rock ที่วิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา หรือบรรดาของที่เก็บไว้ตามวัดต่างๆ ในประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่การจัดแสดงของในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ พระนคร ในกรุงเทพฯ เมื่อสัก 30 ปีที่แล้ว ที่เหมือนสุมๆ ของต่างๆ ไว้มากมาย บางคนบอกว่านั่นแหละคือ ‘พิพิธภัณฑ์’ ในความหมายดั้งเดิมที่สุดของคำนี้ในภาษาไทย คือที่ที่เอาของจากที่ต่างๆ มารวมไว้แล้วจัดแสดง

ความหมายพิพิธภัณฑ์ในภาษาไทย ค่อนข้างแตกต่างจากความหมายดั้งเดิมของคำนี้ในภาษาอังกฤษ ที่โยงไปยังภาษากรีก คำว่า -eum เป็น suffix ของ muse โดยคำว่า -eum นั้นแปลว่าสถานที่ ส่วน muse นั้นหมายถึงเทพีแห่งศิลปะวิทยาการทั้งเก้า เป็นรากคำเดียวกับคำว่า music หมายถึงศิลปะที่เหล่าเทพีแห่งศิลปะวิทยาการทั้งเก้าจัดแสดง

ในความหมายนี้ museum จึงน่าจะใช้แสดงสิ่งของที่สูงส่ง สร้างความบันดาลใจ ตลอดจนให้ความรู้ หากแต่ว่าชื่อพิพิธภัณฑ์ในความหมายไทยนั้น แม้จะมีการสะกดและเปล่งเสียงอย่างพิสดาร หากแต่ความหมายถูกลดทอนลงเป็นเพียงที่เก็บของ ซึ่งจะว่าไปก็ดูจะสะท้อนกิจกรรมที่ทำกันในพิพิธภัณฑ์ไทยมากมายอยู่จริงๆ

พิพิธภัณฑ์ไทยในความหมายเก่าจึงกลายเป็นที่เก็บของ แต่นั่นก็คงจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายนัก เนื่องจากถึงที่สุดแล้ว ของที่ถูกเก็บ ก็ไม่ใช่อะไรก็ได้ที่ถูกนำมาวางไว้อย่างอิเหละเขละขละอยู่ดี เพราะสิ่งของมากมายในโลกนี้ก็ไม่ได้ถูกเก็บอย่างเท่าเทียมกันทุกชิ้น ของที่พิพิธภัณฑ์เก็บจึงเป็นของพิเศษ ของที่ถูกให้ค่า หรือหากจะพูดแบบคนเล่นของจำนวนมากก็คือ ของเหล่านี้มีชีวิตผ่านพ้นสถานะของของใช้ในชีวิตประจำวัน ไปสู่การเป็นของสะสม และในอีกไม่นานมันอาจจะกลายเป็นโบราณวัตถุ หรือไม่ก็กลายสภาพไปเป็นศิลปะพื้นบ้านไปก็ได้

พิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้จึงกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ และอาจเป็นแหล่งชุมนุมแลกเปลี่ยนซื้อขายสิ่งของของนักค้าของเก่า นักซื้อของเก่า นักเก็บของเก่า และนั่นก็คือการที่พิพิธภัณฑ์แปรสภาพสิ่งของและที่เก็บของให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ หรือที่จัดแสดงของมีค่า

สำหรับการเข้าใจสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ นักศึกษาชีวิตของสิ่งของ อย่างเจมส์ คลิฟเฟิร์ด (James Clifford) ในบทความชื่อ ‘On Collecting Art and Culture’ (ว่าด้วยการสะสมศิลปะและวัฒนธรรม พิมพ์ปี 1988) เคยเสนอว่า สิ่งของต่างๆ อาจแบ่งออกไปเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน คือ 1) งานศิลปะ 2) วัตถุทางวัฒนธรรม 3) สิ่งประดิษฐ์ 4) สินค้านักท่องเที่ยว แม้ว่าเขาจะไม่ได้พูดถึงพิพิธภัณฑ์โดยตรง แต่การเปลี่ยนคุณค่าของสิ่งของ ส่วนใหญ่ก็ถูกจัดการโดยพิพิธภัณฑ์ในที่สุด หรืออย่างน้อยพิพิธภัณฑ์ก็เป็นสถาบันที่สำคัญในการสร้างคุณค่าให้กับสิ่งของ

อย่างไรก็ดี คลิฟเฟิร์ดเสนอว่า สิ่งของทั้ง 4 กลุ่มนี้อาจเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ประเภทต่างๆ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ถูกให้คุณค่าว่าเป็นของแบบต่างๆ ได้ทั้งสิ้น พูดอีกอย่างคือ สิ่งของเปลี่ยนฐานะของมันได้เสมอ เช่น ของใช้ทั่วไปที่เป็นประดิษฐกรรมธรรมดาๆ อาจกลายเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมเมื่อมันถูก ‘ใส่กรอบ’ ที่เป็นบริบททางสังคมและวัฒนธรรม

เช่นเดียวกันกับงานศิลปะ วัตถุจากกลุ่ม 3 และ 1 จึงกลายไปเป็น 2 ได้เสมอ ส่วนงานศิลปะ ก็อาจกลายไปอยู่กลุ่ม 2 ได้ หากผลงานนั้นถูกนับเป็นวัตถุของยุคสมัย หรือวัตถุทางวัฒนธรรมอย่างหม้อ ไห ไม้ถูพื้น ก็อาจกลายไปเป็นงานศิลปะได้ ดังที่เครื่องประกอบพิธีกรรม หรือรูปวาด ของแกะสลักทางวัฒนธรรม กลายไปเป็นของสะสมในพิพิธภัณฑ์ศิลปะก็มี ที่ก้าวล้ำหน่อยก็การที่วัตถุของใช้ธรรมดา กลายไปเป็นงานศิลปะประเภท ‘anti-art’ อย่างงานของมาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp)

การที่พิพิธภัณฑ์ทำหน้าที่ดังกล่าว ก็ถือได้ว่าเป็นหน้าที่สำคัญแล้ว นั่นคือ มันได้แปลงความหมาย คุณค่าของสิ่งของ ให้กลายเป็นสิ่งของแบบต่างๆ ในแง่นี้สิ่งของในพิพิธภัณฑ์จึงไม่ได้สักแต่จะเก็บๆ รวบรวมไว้ หากแต่มันได้จัดการอะไรบางอย่างกับสิ่งของ ได้สร้างความหมาย แปลงความหมายให้กับสิ่งของ หากแต่สิ่งที่คลิฟเฟิร์ดไม่ได้สนใจนักในที่นี้ก็คือ การจัดการสิ่งของในพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์ให้ชีวิตสิ่งของอย่างไร พิพิธภัณฑ์ทำอย่างไรให้สิ่งของกลายเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้

พ้นไปจากที่เก็บของและของที่เก็บ

สิ่งที่ผมสนใจที่สุดอย่างหนึ่งคือ การเล่าเรื่องในพิพิธภัณฑ์ ที่แน่ๆ ก็คือ พิพิธภัณฑ์ต้องมีของ แต่อย่างที่กล่าวข้างต้นคือ ของมีสถานะต่างๆ ได้หลายแบบ แล้วแต่ว่าจะเข้าใจมันอย่างไร การเล่าเรื่องจึงเป็นวิธีที่ทำให้สิ่งของมีค่าแตกต่างกันไป พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทำให้สิ่งของมีค่าแตกต่างกันได้ ผ่านการให้ความหมายด้วยเรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งของ

1. การเล่าเรื่องในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ

หากจะกล่าวถึงบทบาทของการเล่าเรื่อง ถ้าพูดถึงพิพิธภัณฑ์ที่น่าจะดู conventional ที่สุดแล้วก็คือพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เรียกได้ว่าสิ่งของควรจะเป็นสิ่งที่เล่าเรื่องด้วยตนเองมากที่สุด บรรดาพิพิธภัณฑ์มีชื่ออย่าง MoMA (the Museum of Modern Art) ที่นิวยอร์ค ก็เต็มไปด้วยผลงานชิ้นเอกอุของศิลปะสมัยใหม่ และนั่นก็อาจกลายเป็นแนวทางหลักๆ ของพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ก็คือการสะสมผลงานมาสเตอร์พีซของศิลปินดังๆ เพื่อแสดงแก่ผู้ชม ให้ได้รู้จักกับผลงานชิ้นเอก สมกับที่เป็นสถานที่แสดงเทพีแห่งศิลปะวิทยาการทั้งเก้า

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ท้าทายสำหรับพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ไม่ได้มีผลงานชิ้นเอกอุมากมายคือ จะนำเสนอผลงานที่มีอย่างไร ต่อปัญหานี้ ผมเห็นแนวทางสองสามอย่างของพิพิธภัณฑ์

ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะในประเทศมั่งคั่ง มักจะมีผลงานสะสมของศิลปินดังระดับโลก อย่างที่สหรัฐอเมริกาไม่ต้องพูดถึง งานสำคัญๆ ในตำราประวัติศาสตร์ศิลป์ก็มักอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะต่างๆ ในนิวยอร์คหรือชิคาโก แต่กับพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่อื่นๆ ในโลก ด้วยเพราะไม่ได้มีผลงานมีค่าเก็บอยู่มากมาย ก็จะต้องหาวิธีอื่นที่จะเล่าเรื่องราวทางศิลปะของโลก เช่น

วิธีหนึ่งคือ หากมีทุนเพียงพอ ปัจจุบันเริ่มมีการเวียนนำเอาผลงานสำคัญๆ ไปแสดงในที่ต่างๆ นอกถิ่นของประเทศที่เก็บผลงานเหล่านั้นไว้ นี่ทำให้ผู้ชมในประเทศเจ้าของผลงานเหล่านั้นเอง บางครั้งอาจจะไม่ได้ชมผลงานสำคัญๆ ได้ง่ายๆ ด้วยซ้ำ เนื่องจากถูกยืมไปจัดแสดงที่ต่างๆ ในโลกอย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างหนึ่งที่ผมเคยเจอคือ การแสดงชุดผลงานของโมเนต์และเรอนัวที่พิพิธภัณฑ์แห่งเมืองเกียวโต กับงานแสดงชุดผลงานของมาร์กริต ที่สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก

อีกแนวทางหนึ่ง เป็นการเล่าเรื่องด้วยการทำให้งานศิลปะกลายเป็นวัตถุทางวัฒนธรรม นั่นคือการใช้การเปรียบเทียบผลงานต่างยุค แล้วอธิบายให้เห็นความแตกต่างของแนวทางทางศิลปะ ทั้งนี้ไม่ได้เพื่อแสดงให้เห็นอัจฉริยภาพของศิลปิน มากเท่ากับแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของแนวทางในการทำงานศิลปะ และความเปลี่ยนแปลงของเนื้อหาที่ศิลปินเลือกนำเสนอ

หรืออีกแนวทางหนึ่งคือ การที่พิพิธภัณฑ์จัดแสดงภาพโดยไม่เรียงตามลำดับพัฒนาการของประวัติศาสตร์ศิลป์ ไม่ไล่เรียงไปตามขั้นตอนทางประวัติศาสตร์ เขาเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้ผู้ชมสร้างความเชื่อมโยงสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้เอง หรืออีกแนวทางหนึ่งคือการไม่แสดง caption ของภาพเลย เพื่อให้ผู้ชมพิจารณาภาพอย่างตรงไปตรงมาด้วยสายตา ก่อนที่จะรับรู้ความหมายของภาพตามคำอธิบายของศิลปินหรือภัณฑารักษ์

ส่วนพิพิธภัณฑ์ศิลปะในประเทศที่ไม่ค่อยสนใจผูกโยงตนเองเข้ากับโลกสากล ก็มีความน่าสนใจไปอีกแบบหนึ่ง เช่น ในเวียดนาม ภายใต้ความเป็นรัฐสังคมนิยม แม้ในปัจจุบัน สำหรับรัฐแล้ว ศิลปะเกี่ยวกับสงครามเป็นประเภทของศิลปะที่สำคัญพอๆ กับศิลปะแบบสังคมนิยมสัจนิยม (socialist realism) แม้ว่าในตลาดศิลปะนั้น ผลงานได้ก้าวข้ามงานที่เก็บในพิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งชาติไปไกลแล้วก็ตาม

หรือที่น่าสนใจมากคือพิพิธภัณฑ์ศิลปะอิสลามที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ที่รวบรวมผลงานศิลปะทั้งโบราณเก่าแก่และสมัยใหม่ของศิลปินอิสลาม ช่วยให้เข้าใจความคิดทางสุนทรียศาสตร์แบบมุสลิมได้ดีทีเดียว นอกจากนั้น ก็เป็นแนวทางที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะหลายที่ใช้ คือการนำเสนอผลงานศิลปะของท้องถิ่นตนเอง ในแง่นี้ ตรงกันข้ามกับการแสดงผลงานชิ้นเอกอุระดับโลก พิพิธภัณฑ์ศิลปะจึงเป็นที่แสดงลักษณะเฉพาะของแต่ละถิ่นได้ด้วยเช่นกัน

ในข้อนี้ แม้แต่พิพิธภัณฑ์ศิลปะที่สหรัฐอเมริกา ก็เลือกผลงานของศิลปินอเมริกันมาจัดแสดงไว้มากเช่นกัน เพื่อแสดงให้เห็นความเฉพาะตัวของศิลปินอเมริกัน เช่นงานของแกรนต์ วูด (Grant Wood) ชาวอเมริกันในภาคตะวันตกตอนกลาง (the Midwest) ของประเทศ ซึ่งมักวาดรูปชนบทในภาคตะวันตกกลางของอเมริกา ที่แสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะชิคาโก

หรือการแสดงอัตลักษณ์ศิลปินแคนาเดี่ยนที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งออนทาริโอ เมืองโตรอนโต ที่นั่นศิลปินกลุ่มหนึ่งพยายามสร้างงานที่แสดงลักษณะเฉพาะผ่านภูมิประเทศและภาพชีวิตคนในแคนาดา รวมทั้งการให้ความหมายแก่ภูมิประเทศเหล่านั้น เช่น การวาดภาพน้ำแข็ง ภาพหิมะ ภาพใบไม้ ภาพทะเลสาบ ภาพชีวิตผู้คนทั้งชนพื้นเมืองและชนผิวขาว

พิพิธภัณฑ์ศิลปะไม่จำเป็นต้องเล่าถึงความงามตามกรอบพัฒนาการของศูนย์กลางอำนาจของโลกเท่านั้น หากแต่ยังสามารถเลือกประเด็นปัญหาเฉพาะสังคมมานำเสนอได้ อันที่จริงพิพิธภัณฑ์ศิลปะในขณะนี้ก้าวข้ามความงามแบบเก่าๆ ไปสู่การตั้งคำถามกับสังคมและนำเสนอปัญหาของโลกปัจจุบันมากขึ้น เช่น พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่ไทเป ไต้หวัน ซึ่งผมเพิ่งไปเยือนมาเมื่อไม่กี่วันนี้ เขากำลังจัดแสดงนิทรรศการเรื่อง Post-Nature: a Museum as an Ecology (หลังธรรมชาติ : พิพิธภัณฑ์ในฐานะนิเวศวิทยา) เพื่อแสดงปัญหาสิ่งแวดล้อมและชี้ให้เห็นความสัมพันธ์แนบแน่นระหว่างคนกับโลกธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์ศิลปะจึงก้าวมามีบทบาทต่อสังคมมากขึ้นได้เช่นกัน

ผลงานของศิลปินแคนาดา ที่นำเสนอความงามของภูมิศาสตร์และผู้คนในแคนาดา ภาพเหล่านี้จัดแสดงที่ Art Gallery of Ontario เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา
ผลงานของศิลปินแคนาดา ที่นำเสนอความงามของภูมิศาสตร์และผู้คนในแคนาดา ภาพเหล่านี้จัดแสดงที่ Art Gallery of Ontario เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา
ผลงานของศิลปินแคนาดา ที่นำเสนอความงามของภูมิศาสตร์และผู้คนในแคนาดา ภาพเหล่านี้จัดแสดงที่ Art Gallery of Ontario เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา
ผลงานของศิลปินแคนาดา ที่นำเสนอความงามของภูมิศาสตร์และผู้คนในแคนาดา ภาพเหล่านี้จัดแสดงที่ Art Gallery of Ontario เมืองโตรอนโต ประเทศแคนาดา

2. เรื่องที่เล่าในพิพิธภัณฑ์

เรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์มีลักษณะเฉพาะต่างกันออกไปในแต่ละที่ ที่ผมว่าน่าสนใจมากคือ การที่เรื่องหลายเรื่องไม่ได้ถูกเล่าในหลายประเทศ แต่กลายเป็นเรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์ของบางประเทศ เนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ที่ล่อแหลมมากคือการเล่าเรื่องความขัดแย้งของสังคม ไล่ไปตั้งแต่เรื่องที่เห็นได้ชัดตรงไปตรงมาอย่างเรื่องสงคราม ซึ่งในแง่หนึ่งเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ การเล่าก็อาจดูเหมือนไม่ต้องคำนึงถึงความร้าวฉานหรือบาดแผลมากนัก เพราะเล่าถึงตนเองกับคนนอกสังคมประเทศตนเอง แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่ง่ายนักเช่นกัน

อย่างการเล่าเรื่องสงครามโลกครั้งที่สอง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ของเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่นก็เล่าเรื่องไม่เหมือนกัน และแน่นอนว่ามุมมองต่อสงครามโลกครั้งที่สองที่นำเสนอใน Museum district ที่วอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง The United States Holocaust Memorial Museum ซึ่งเล่าถึงความเป็นฮีโรของอเมริกัน ก็ย่อมแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ในประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ Peace Museum แห่งโอซาก้า ที่เลือกจะเล่าการเป็นเหยื่อของสงคราม แทนที่จะเล่าถึงความล้มเหลวของญี่ปุ่นในการรุกรานประเทศต่างๆ และนำประเทศเข้าสู่สงครามโลก

Peace Museum โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น แสดงปลอกระเบิดที่สหรัฐอเมริกาทิ้งทำลายเมืองโอซาก้าช่วงสงคราม โลกครั้งที่สอง ก่อนที่จะทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ
Peace Museum โอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น แสดงปลอกระเบิดที่สหรัฐอเมริกาทิ้งทำลายเมืองโอซาก้าช่วงสงคราม โลกครั้งที่สอง ก่อนที่จะทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ

แต่ก็ยังคงมีอีกบางแห่ง เช่นที่ Kyoto Museum for World Peace มหาวิทยาลัยริสุเมคาน ณ เมืองเกียวโต เล่าความผิดพลาดของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ญี่ปุ่นให้อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของจักรพรรดิ ทำนองเดียวกับที่เรื่องเล่าประชาธิปไตยในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา ย่อมแตกต่างจากการไม่ค่อยอยากเล่าเรื่องประชาธิปไตยในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ในประเทศไทย

เมื่อสองปีที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องสงครามได้ดีแห่งหนึ่ง คือพิพิธภัณฑ์เดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม ซึ่งแสดงให้เห็นการจัดการทางการทหารของเวียดนาม ซึ่งให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนกลุ่มต่างๆ หลากหลายชาติพันธ์ุ เขาให้ความสำคัญกับรายละเอียดของเรื่องราว จึงลงทุนให้มีผู้บรรยายตามกลุ่มย่อย และการเล่าเรื่องไม่ได้เน้นความเกลียดชังระหว่างคู่ขัดแย้งทางการทหาร แน่นอนว่ามีการแสดงอาวุธยุทโธปกรณ์มากมาย เพื่อเป็นการเปรียบเทียบศักยภาพทางการทหารที่แตกต่างกัน เรื่องเล่าทั้งหมดนำไปสู่ข้อสรุปว่า แม้ว่าฝรั่งเศสจะมีศักยภาพเหนือกว่า แต่ความชำนาญในพื้นที่ ความอุตสาหะ และความร่วมมือกันของคนกลุ่มต่างๆ ทำให้เวียดนามชนะฝรั่งเศสได้

พิพิธภัณฑ์เดียนเบียนฟู เมืองเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม
พิพิธภัณฑ์เดียนเบียนฟู เมืองเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม

แต่เรื่องเล่าอีกแบบคือ เรื่องความขัดแย้งภายในประเทศเอง แต่ละประเทศต่างก็มีบาดแผลภายในอันเกิดจากการก่อสงครามของของรัฐต่อประชาชนของประเทศนั้นเอง พิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะเป็นการบอกเล่าความผิดพลาดและการทำร้ายกันของคนในสังคมเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความุรนแรงเกินกว่าเหตุอันเกิดขึ้นด้วยน้ำมือของรัฐ

ตัวอย่างที่ผมประทับใจมากที่สุดคือพิพิธภัณฑ์สันติภาพที่ไทเป ประเทศไต้หวัน พิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องการที่รัฐใช้กำลังปราบปรามประชาชนในไต้หวันหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เหตุการณ์เริ่มที่ไทเป แล้วระบาดไปทั่วทั้งไต้หวัน เหตุเกิดจากการที่ชนชั้นแรงงานประท้วงการขึ้นค่าบุหรี่ของรัฐ จนเกิดการปราบปรามสังหารประชาชน แล้วประชาชนจึงเข้ายึดสถานีวิทยุของเมืองเพื่อประกาศให้คนทั่วไปรู้ ในที่สุดเมื่อมีการสร้างพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมา จึงได้นำอาคารสถานีวิทยุมาดัดแปลงเป็นพิพิธภัณฑ์

แต่เรื่องที่พิพิธภัณฑ์นี้เล่า โยงย้อนกลับไปถึงยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันแล้วทำให้เกิดสังคมชนชั้น คนจีนดั้งเดิมที่เป็นชาวฮกเกี้ยนและฮากกากลายเป็นชนชั้นแรงงาน ถูกกดขี่ทั้งจากคนญี่ปุ่นและคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ที่อพยพมาภายหลัง จนบานปลายไปเป็นการปราบปรามประชาชนและเกิดจลาจลทั่วประเทศแล้ว

อีกนานหลายปีกว่าที่พิพิธภัณฑ์นี้จะได้รับการอนุมัติให้สร้างขึ้นมา ในปลายทศวรรษ 1990 นี้เอง จนเมื่อสร้างเสร็จ การจัดแสดงในห้องเกือบสุดท้าย ที่แสดงรายชื่อประชาชนที่ถูกสังหารด้วยความรุนแรงเกินกว่าเหตุของรัฐ ทุกคนได้รับการแสดงชื่อ และในห้องจัดแสดงนี้เองที่นำเสนอคลิปถ่ายทำพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ ข้อความหนึ่งที่ประธานาธิบดีคนที่มาเปิดพิพิธภัณฑ์กล่าวคือ การกล่าวแสดงความเสียใจต่อประชาชน ในนามของรัฐบาลในอดีตที่ปราบปรามทำร้ายประชาชน

จะเห็นได้ว่าพิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้จะมีขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อสังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่การยอมรับบาดแผลของสังคมเองได้แล้วเท่านั้น พิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้จึงเกิดขึ้นได้เมื่อเรื่องเล่าบางลักษณะได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้นแล้วนั่นเอง สังคมทั้งสังคมต้องเติบโตไปด้วยกันก่อน ต้องกล้าหาญที่จะรับความบกพร่องของตนเอง ที่สำคัญคือ สังคมจะต้องเปิดเผย มีเสรีภาพ ยอมรับสิทธิของประชาชนมากพอก่อน จึงจะเล่าเรื่องการทำร้ายประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐได้ ถึงที่สุดแล้ว กล่าวได้ว่าพิพิธภัณฑ์จึงทำหน้าที่เยียวยาสังคม ด้วยเรื่องเล่าประวัติศาสตร์บาดแผล

3. เรื่องเล่าชีวิตสามัญชน

พิพิธภัณฑ์ที่ผมไปหลายแห่ง น่าประทับใจที่เขาเล่าเรื่องสามัญชน ที่ประทับใจเพราะสามัญชนเป็นกลุ่มคนที่ไม่ค่อยถูกเล่าถึงมากนักในพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์เล่าเรื่องสามัญชนค่อนข้างแตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ ซึ่งมักเล่าเรื่องชนชั้นนำ ชนชั้นสูงของสังคม กับพิพิธภัณฑ์กลุ่มชาติพันธ์ุ ที่มักเล่าเรื่องลักษณะเฉพาะของกลุ่มชน ซึ่งก็อาจทำให้ไม่เห็นว่า เรื่องราวของคนกลุ่มเดียวกันนั้น บางส่วนเสี้ยวของชีวิตพวกเขา หรือส่วนใหญ่ของชีวิตพวกเขา ข้าวของเครื่องใช้ธรรมดาสามัญของพวกเขา ไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก เช่น คนจนเมือง ชาวไร่ชาวนา หรือคนธรรมดาทั่วไปที่เรื่องราวของพวกเขาไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเร้าใจ

ในไทเป ไต้หวัน มีพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่แสดงเรื่องคนสามัญ ที่นี่เขาเก็บโรงงานและชุมชนรายรอบโรงงานผลิตอาวุธของทหารไต้หวัน ก่อนที่เมืองส่วนนี้จะถูกเวนคืนเพื่อพัฒนากลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจในปัจจุบัน เดิมทีพื้นที่นี้เป็นที่พักอาศัยของคนจนเมือง ส่วนหนึ่งคือคนที่ทำงานในโรงงานผลิตอาวุธแห่งนี้ การจัดแสดงเป็นการดัดแปลงโรงงานส่วนหนึ่งเป็นห้องแคบๆ ของผู้พักอาศัยในอดีต แล้วแสดงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเขา ส่วนพื้นที่ที่เคยเป็นบ้านเรือนลักษณะห้องแถวเล็กๆ ส่วนหนึ่งก็ถูกปรับปรุงไปใช้เป็นร้านขายของที่ระลึกและร้านกาแฟ อีกส่วนหนึ่งกลายเป็นที่รับเลี้ยงเด็ก

ที่โอซาก้า ญี่ปุ่น มีพิพิธภัณฑ์ที่พักอาศัยของเมือง ซึ่งจัดแสดงอยู่ชั้นบนของตึกที่ทำการแห่งเมืองโอซาก้า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เล่าทั้งเรื่องพัฒนาการของเมืองในยุคเก่าแก่ จนถึงยุคที่มีการพัฒนาเมืองให้เป็นดังในปัจจุบัน หากแต่เรื่องราวที่เล่านั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับบรรดาชนชั้นสูง แต่เน้นชนชั้นล่างและคนสามัญทั่วไป ส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ยังจัดเป็นชุมชนแออัดในเมืองในอดีตเมื่อเกือบร้อยปีก่อน เป็นเสมือนเมืองโบราณ ให้คนได้เดินดูรายละเอียดและเข้าไปสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันในอดีต ช่วยให้เข้าใจลักษณะเฉพาะของชีวิตคนทั่วไปได้ดี

เรื่องเล่าเกี่ยวกับคนจนเมืองที่โดดเด่นอีกเรื่อง คือส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ผู้หญิงในฮานอย เวียดนาม นอกจากจะเล่าเรื่องบทบาทในชีวิตประจำวันของผู้หญิงแล้ว พิพิธภัณฑ์ยังแสดงบทบาทนำในสังคมด้วยการเสนอประเด็นวิพากษ์นโยบายของเมืองฮานอย อย่างไรก็ดี ผมควรกล่าวไว้ในที่นี้ด้วยว่า การที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แสดงบทบาทดังกล่าวได้ ก็เพราะพิพิธภัณฑ์นี้ดำเนินการโดยสมาพันธ์ผู้หญิงเวียดนาม ซึ่งเป็นองค์กรของพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีอิทธิพลสูงไม่น้อยไปกว่าองค์กรมวลชนอื่นๆ ของพรรคฯ

การวิพากษ์ที่ว่าเกิดขึ้นร่วมสิบปีที่แล้ว เมื่อเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดเอเชียนเกมส์ สิ่งหนึ่งเมืองฮานอยทำคือการกวาดล้างคนจนเมือง และจัดระเบียบเมืองด้วยการกวาดล้างหาบเร่แผงลอยตามท้องถนน หาบเร่เหล่านี้มีจำนวนมากในฮานอย คนจนเมืองเหล่านี้อพยพเข้ามาทำงานจากเมืองรายรอบฮานอยตามฤดูกาล พวกเขาส่วนมากเป็นผู้หญิง ขายของสารพัด ตั้งแต่อาหารสด ปลาเป็น ไก่เป็น ดอกไม้ ผลไม้ ข้าวของเครื่องใช้ และที่พบเห็นมากคือเครื่องเคลือบเซรามิก พวกเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นแค่ลูกหาบ ไม่ได้ซื้อของมาขายเอง กำไรส่วนใหญ่จึงไม่ได้เป็นของพวกเขา

เมื่อเมืองกวาดล้างหาบเร่ พิพิธภัณฑ์ก็ตอบโต้ด้วยการเก็บข้อมูล สัมภาษณ์ เก็บภาพ เก็บข้าวของ และจัดแสดงนิทรรศการชั่วคราวว่าด้วยหาบเร่ในฮานอย รวมทั้งจำลองหาบของเพื่อให้ผู้เข้าชมเข้าใจภาระรายวันของคนใช้แรงงานบนท้องถนนเหล่านี้ ตลอดจนแสดงรายละเอียดการดำรงชีวิตของพวกเขาและเธอเหล่านี้ เมื่อนิทรรศการนี้จัดขึ้นและดำเนินไประยะหนึ่ง คนทั้งเมืองเริ่มตื่นตัว แล้วเมืองฮานอยก็ต้องยอมยกเลิกนโยบายกวาดล้างหาบเร่หลังจากที่เอเชียนเกมส์หมดไปแล้ว ปัจจุบันบางส่วนของนิทรรศการนี้ก็ยังคงจัดแสดงอยู่

สังคมที่มีพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการซึ่งแสดงชีวิตสามัญชนได้นั้น จะต้องเป็นสังคมที่สำนึกต่อคุณค่า คุณูปการของคนเหล่านี้ ต้องเป็นสังคมที่เริ่มมีการกระจายของความเท่าเทียมกันอย่างเสมอหน้ามากขึ้น ต้องเป็นสังคมที่เห็นอกเห็นใจกัน สังคมที่ยังไม่มีพิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้ แต่เน้นพิพิธภัณฑ์ของชนชั้นสูง ชนชั้นปกครอง ก็คงจะสะท้อนด้านกลับของสังคมที่มีพิพิธภัณฑ์ลักษณะนี้ได้บ้างเช่นกัน

4. สินค้าที่กลายเป็นวัตถุทางพิพิธภัณฑ์

ผมอยากเล่าถึงพิพิธภัณฑ์อีก 2 ลักษณะ คือพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับสิ่งของเฉพาะอย่าง ที่มักจัดแสดงโดยเกี่ยวพันกับสินค้าที่ขาย ที่มิดเดลตัน ชานเมืองแมดิสัน รัฐวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา มีพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง คือพิพิธภัณฑ์มัสตาร์ตนานาชาติ ไม่น่าเชื่อว่า เครื่องจิ้มที่ผลิตอย่างเป็นอุตสหากรรมชนิดนี้ กลายเป็นเรื่องราวที่สามารถทำเป็นพิพิธภัณฑ์ได้เช่นกัน พิพิธภัณฑ์เล่าทั้งวิธีการผลิต การใช้กินประกอบอาหาร ความหลากหลายของท้องถิ่น ภาชนะที่ใช้ใส่ ซึ่งรวบรวมมาจากทั่วโลก และท้ายสุดคือร้านขายมัสตาร์ตที่มาจากหลายถิ่นมาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ของกินพื้นๆ อีกประเภทที่กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ได้อย่างน่าประทับใจคือบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาทิ Momofuku Ando Instant Ramen Museum ที่โอซาก้า ญี่ปุ่น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้ใหญ่โตอะไร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้เข้าชมฟรี และอันที่จริงก็เรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทำขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าอย่างแน่นอน หากแต่ก็เป็นพิพิธภัณฑ์อาหารที่ทั้งน่าสนใจ ให้ความรู้ และน่าสนุกอีกแห่งหนึ่ง ทำให้ได้รู้ว่าเขาทำบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกันอย่างไร โดยที่คนริเริ่มโรงงานนี้ก็เป็นคนญี่ปุ่นที่มาจากไต้หวัน และทำให้รู้จักโลกของบะหมี่สำเร็จรูปมากขึ้น เช่น ของแห้งที่ใส่มีอะไรบ้าง บะหมี่แต่ละรุ่นมีอะไรบ้าง รุ่นไหนของยี่ห้อนี้เป็นที่นิยมมากที่สุด ที่สำคัญคือ สุดท้ายเขาให้คนมีส่วนร่วมทั้งทำบะหมี่เองและใส่หีบห่อด้วยการเลือกเครื่องปรุงเองและออกแบบถ้วยเองได้ด้วย

Momofuku Ando Instant Ramen Museum เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น
Momofuku Ando Instant Ramen Museum เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากอาหาร เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์รองเท้าของบาทา (Bata) หรือที่ในไทยแปลงเป็นบาจา ที่จริงชื่อบาทาเป็นชื่อครอบครัวชาวเช็คครอบครัวหนึ่ง ผมไม่แน่ใจว่าทำไมครอบครัวนี้ถึงมาทำพิพิธภัณฑ์รองเท้าที่โตรอนโต แคนาดา แต่ก็ตั้งใจไปชมเนื่องจากอยากรู้ว่าเขาจะเล่าเรื่องรองเท้าอย่างไร

เขาเล่าตั้งแต่กายภาพของการเริ่มเดินตัวตรงของมนุษย์ ทำให้รองเท้ามีความจำเป็น แล้วก็ไล่เรียงมาตั้งแต่ยุคที่พบซากรองเท้าอายุเก่าแก่ราว 6,000 ปี แล้วก็ไล่อารยธรรมของรองเท้ามาเรื่อยๆ ที่น่าสนใจคือการสอดแทรกรองเท้าของคนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือ ไปพร้อมๆ กับอารยธรรมรองเท้าจากแหล่งอารยธรรมใหญ่ๆ

มุมมองของคนทำรองเท้าช่วยให้เสนอมิติของรองเท้าเกี่ยวกับการสวมใส่ตามความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภูมิอากาศ ศาสนา และชนชั้น เมื่อผ่านจากการแนะนำรองเท้าในอดีต อันค่อนข้างห่างไกลจากหลายอารยธรรมแล้ว พิพิธภัณฑ์ก็พาไปดูรองเท้าของคนขั้วโลกกลุ่มต่างๆ นี่ก็สะท้อนการสร้างอัตลักษณ์พิพิธภัณฑ์ในท้องถิ่นแคนาดาเมืองหนาว ยิ่งผมไปดูในฤดูหนาว ยิ่งเข้ากันดี จากนั้นพิพิธภัณฑ์ก็เสนอมุมมองเชิงวิพากษ์ต่อรองเท้าของชาวยุโรปยุคเริ่มต้นอุตสาหกรรม ที่พิพิธภัณฑ์กล่าวว่าคนยุคนั้นเป็นเหยื่อของแฟชั่น

นอกจากที่ว่ามา ยังมีพิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยวัตถุทางวัฒนธรรมและประดิษฐกรรมเฉพาะอย่างอีกหลายแห่งที่ผมไปเที่ยวชม เช่น พิพิธภัณฑ์โรงเบียร์ที่โตรอนโต พิพิธภัณฑ์รถไฟที่โอซาก้า แต่ทั้งหมดนั้นก็กล่าวได้ว่า ช่วยให้เราเข้าใจวัฒนธรรมและสังคมของข้าวของเครื่องใช้ อาหารการกิน ที่ใกล้ตัวเรา อยู่ในชีวิตประจำวันเรา การได้เข้าใจสิ่งใกล้ตัวมากขึ้น และขยายภาพความเข้าใจไปยังสังคมและวัฒนธรรมสิ่งใกล้ตัวที่แตกต่างกัน ไม่ว่าเราจะบริโภคเองหรือไม่ก็ตาม น่าจะมีส่วนทำให้สามารถเพิ่มจินตนาการได้ เห็นความเป็นไปได้อื่นๆ ที่อาจนำไปสู่การสร้างสรรค์ ช่วยให้เข้าใจความเหมือนและต่าง รวมทั้งอาจช่วยเป็นจุดเริ่มต้นให้คิดถึงสิ่งของประจำวันอื่นๆ ในบริบทที่เหมือนและต่างกันออกไปได้อีกว่า ต่างก็วางอยู่บนสังคมและวัฒนธรรมที่ลึกซึ้งต่างกันไป

5. มุมมองจากของและเจ้าของ

การจัดพิพิธภัณฑ์อีกแบบที่ผมสนใจ คือการใช้สิ่งของเล่าเรื่องโดยตัวของมันเอง หรือการอาศัยมุมมองของการเล่าเรื่องจากสิ่งของ

นิทรรศการชั่วคราวครั้งหนึ่งของพิพิธภัณฑ์แห่งเมืองชิคาโก (ไม่ใช่ที่ Field Museum อันโด่งดังนั่น) คือการนำสิ่งของที่ไม่เคยถูกจัดแสดงมาปล่อยให้ของเล่าเรื่องตนเอง ชื่อนิทรรศการ The Secret Lives of Objects พิพิธภัณฑ์เมืองชิคาโกอธิบายว่า เขาเลือกวัตถุจัดแสดงจำนวนหนึ่ง (ประมาณ 20 ชิ้น) ที่ยังไม่เคยถูกนำมาแสดงเลย เนื่องจากยังไม่สามารถจัดเข้าพวกให้เป็นเรื่องราวกันกับวัตถุอื่นๆ ได้ แต่พวกเขาคิดว่า วัตถุเหล่านี้ถูกเก็บไว้นานแล้ว และควรได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวมันเองบ้าง เขาจึงเลือกชิ้นที่มีเรื่องราวชัดเจนมานำเสนอ

ที่น่าสนใจคือ การที่เขาเลือกเล่าด้วยการให้วัตถุมีตัวตน ใช้สรรพนานเรียกตัวเองว่า “I” มีความเป็นผู้กระทำการของตนเอง เล่าเรื่องราวที่มันประสบมาเอง

สิ่งของจัดแสดงชิ้นหนึ่งในนิทรรศการ Secret Lives of Objects จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
สิ่งของจัดแสดงชิ้นหนึ่งในนิทรรศการ Secret Lives of Objects จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา

เช่น แว่นตาคู่หนึ่ง ที่มีรอยแตกจากกระสุนปืน เล่าว่ามันเป็นพยานของการก่ออาชญากรรมในคดีหนึ่งอย่างไรบ้าง แท่นพิมพ์ตัวหนึ่ง ที่เล่าว่ามันถูกชาวบ้านที่ไม่พอใจสิ่งพิมพ์ที่มันพิมพ์ บุกเข้ามายึดมันไปโยนทิ้งลงแม่น้ำ จักรยานคันหนึ่ง ที่เล่าว่าเด็กหญิงคนหนึ่งได้มันมาขับขี่เล่นในเมืองชิคาโก แล้วเมื่อเธอโตขึ้นมันก็ถูกวางทิ้งไว้เนิ่นนาน

สิ่งของที่ดูประหลาดชิ้นหนึ่งคือ ชุดประดาน้ำที่ถูกใช้แก้ปัญหาน้ำรั่วในอุโมงค์น้ำที่เชื่อมต่อกันยาวถึง 42 ไมล์ใต้เมืองชิคาโก มันถือว่าตัวเองเป็นฮีโร่ มันบ่นว่าคอเสื้อมันเริ่มขาด แต่ไม่มีใครสนใจ ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ได้ใส่ใจอะไร บัดนี้มันนอนนิ่งสนิทอยู่ในพิพิธภัณฑ์กับบรรดาข้าวของอื่นๆ ที่ไม่เคยถูกจัดแสดง

มุมมองในการเล่าเรื่องแบบนี้ บอกเล่าเรื่องต่างไปจากเรื่องเล่าของคนที่ได้ของมา หรือจากที่เข้าใจกันทั่วไป นิทรรศการหนึ่งที่ชี้ให้ผมตระหนักถึงเรื่องนี้ได้ดี คือนิทรรศการวูดู จัดแสดงที่ Field Museum แห่งชิคาโก เล่าเรื่องศาสนาผีของคนเฮเชียน ในประเทศเฮติ

นิทรรศการนำสิ่งของเกี่ยวกับวูดูกว่า 2,000 ชิ้นมาจัดแสดง ของส่วนใหญ่มาจากประเทศเฮติ จัดแสดงวนไปหลายที่และหลายประเทศ ของในนิทรรศการนี้ต้องการแก้ไขความเข้าใจผิดเกี่ยวกับศาสนาวูดูว่าเป็นลัทธิงมงาย หากแต่เป็นศาสนาที่เชื่อมสังคมเข้าด้วยกัน และมีนัยในเชิงการต่อต้านเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส ที่สำคัญคือ นิทรรศการนี้สัมภาษณ์ชาวเฮเชียน นำบทสัมภาษณ์มาดำเนินเรื่อง แล้วให้ผู้ชมเข้าใจความหมายของวูดูจากมุมมองของชาวเฮเชียนเองให้มากที่สุด

ณ Field Museum นี้เอง เป็นที่กำเนิดของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธ์ุวิทยาที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา และมีภัณฑารักษ์ด้านชาติพันธ์ุวิทยาคนแรกที่ชื่อว่า ฟรานซ์ โบแอส (Franz Boas) ได้รับบทเรียนตั้งแต่การจัดนิทรรศการครั้งแรกเมื่อร้อยกว่าปีก่อนในงานฉลอง 400 ปี Columbus ว่า การแสดงผลงานของกลุ่มชนต่างๆ นั้น จะต้องเคารพชีวิต ความเป็นมุนษย์ และวัฒนธรรมของพวกเขา

งานนี้เองที่ทำ ‘ชื่อเสีย’ ให้แก่ Field Museum แต่แรกเริ่ม ด้วยการนำคนมาจัดแสดงในลักษณะ human zoo ความผิดข้อนี้ได้รับการยอมรับโดยพิพิธภัณฑ์เอง และแสดงไว้ในงานแสดงครบรอบร้อยปี Field Museum ที่ผมเองก็ได้ไปชมด้วย นอกจากนั้น เมื่อชมนิทรรศการถาวรในส่วนของชาติพันธ์ุวิทยาเกี่ยวกับคนอเมริกันพื้นเมืองแล้ว ก็จะพบว่า มีตู้จัดแสดงหลายตู้ที่สิ่งของว่างเปล่า โดยมีข้อความติดไว้ว่า “สิ่งของที่เคยจัดแสดงในตู้นี้ ถูกกลุ่มชนเจ้าของวัตถุจัดแสดงมาขอคืนไป และพิพิธภัณฑ์ก็ได้จัดคืนไปแล้ว ตามกฎหมายและข้อตกลงต่างๆ ที่มีต่อกัน”

แน่นอนว่าการเล่าเรื่องจากมุมมองของสิ่งของและเจ้าของ ผู้เล่าก็ยังคงเป็นผู้เรียบเรียงเรื่องอยู่ดี หากแต่เมื่อเพิ่มความพยายามที่จะใส่เสียงและความเป็นผู้กระทำการของสิ่งของและเจ้าของเข้าไปแล้ว เรื่องเล่าเกี่ยวกับสิ่งของและการจัดแสดงสิ่งของเหล่านั้น ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน อย่างน้อยก็ยังดีเสียกว่าที่จะละเลยมุมมองเหล่านี้

กล่าวส่งท้าย

ผมไปท่องพิพิธภัณฑ์มามากมายหลายแห่ง ไม่ว่าจะไปที่ไหน ผมก็ต้องไปพิพิธภัณฑ์ จนระยะหลังเริ่มเบื่อที่จะไปพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาบ้างแล้ว ที่ยิ่งเบื่อมากคือ พวกพิพิธภัณฑ์ที่แสดงความยิ่งใหญ่ของอารยธรรมต่างๆ เพราะที่เหล่านั้นมักเก็บของที่ชวนให้สงสัยถึงที่มาของสิ่งของมากขึ้นทุกวันว่า ของสูงค่าจากที่ต่างๆ ทั่วโลกเหล่านี้มาอยู่ที่นิวยอร์ค ชิคาโก ลอนดอน โตเกียว ฯลฯ ได้อย่างไรกัน แต่ก็ยังไม่วายที่ผมยังชอบไปพิพิธภัณฑ์หลายๆ แห่ง หากแต่ผมมักเลือกไปพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องของผู้คนสามัญ หรือไม่ก็เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งประเด็นวิจารณ์ สะท้อนปัญหาสังคม

ผมยังไม่ได้เล่าถึงพิพิธภัณฑ์เด็ก พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่และแสนอัศจรรย์ของชิคาโก พิพิธภัณฑ์ขนาดพอเหมาะที่โอซาก้า พิพิธภัณฑ์ชาติพันธ์ุวิทยาอันอลังการและมีชื่อเสียงที่โอซาก้า พิพิธภัณฑ์ชาติพันธ์ุวิทยาขนาดค่อนข้างใหญ่และเป็นที่นิยมของทั้งคนเวียดนามและนักท่องเที่ยว ทั้งที่ฮานอยและถายเงวียน และพิพิธภัณฑ์อีกถึง 5 แห่งในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ทำให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนจากทุกมุมโลก

แต่เพียงเท่าที่เล่ามาข้างต้น ก็คงพอตอบโจทย์ได้บ้างว่า พิพิธภัณฑ์สร้างชุดความหมายขึ้นมาได้อย่างไร นอกจากนั้น ยังน่าจะพอให้เห็นภาพว่า สิ่งของกลายเป็นเรื่องราวที่มีความหมายขึ้นมาอย่างไรบ้าง ตลอดจนการที่พิพิธภัณฑ์กับชุมชนจะแสดงบทบาทต่อกันอย่างไร แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกเรื่องที่พิพิธภัณฑ์นำเสนอจะถูกต้อง พิพิธภัณฑ์ไม่ได้ปราศจากค่านิยม อุดมการณ์ อคติ ความโน้มเอียงบางด้าน หากแต่ว่า หากเราจะทำพิพิธภัณฑ์กันขึ้นมาบ้าง อคติหรือคติแบบใดกันที่เราต้องการนำเสนอ เป็นโจทย์ที่คนทำพิพิธภัณฑ์ต้องตอบร่วมกัน

เห็นได้ชัดว่า พิพิธภัณฑ์ไม่ได้เป็นแค่ที่เก็บของและไม่ได้มีค่าที่ของที่เก็บแล้วนำมาจัดแสดงเท่านั้น หากแต่พิพิธภัณฑ์มีคุณค่า มีคุณูปการต่อสังคม ทั้งให้การศึกษาระยะยาว และกระตุ้นในสังคมคิด หรือแม้แต่กระตุกให้คนมีอำนาจสนใจ ใส่ใจต่อสังคมได้ ก็ด้วยการสร้างความหมายให้แก่ชีวิต สังคม และวัฒนธรรม

หากเดิมทีพิพิธภัณฑ์เป็นแท่นจัดแสดงเหล่าเทพีแห่งศิลปวิทยาการแล้ว ปัจจุบันนี้ คนทำพิพิธภัณฑ์คงต้องคิดกันว่า อะไรคือเทพีแห่งศิลปวิทยาการนั้นที่เราอยากนำมาจัดแสดงบนแท่น หากพิพิธภัณฑ์ยังไม่ถึงกับเป็นอนุสาวรีย์ แท่นบูชา กระทั่งกลายเป็นเทวสถาน พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกคงคิดและเริ่มทำกันมากขึ้นแล้วว่า จะหยิบเอาคุณค่าใดที่ฝังตนอยู่ในวัตถุจัดแสดงประเภทไหนกัน อันจะนำมาเป็นเทพีเพื่อการจัดแสดง

หากชีวิตสามัญ ข้าวของใกล้ตัว งานศิลปะแบบต่างๆ ที่ชวนให้เราสำเหนียกถึงประเด็นทางสังคม หรือกระทั่งความขัดแย้งที่รอคอยการปรองดองและความเข้าอกเข้าใจ เป็นชุดความหมายที่เราต้องการนำเสนอแล้วล่ะก็ โจทย์สำคัญคือ พิพิธภัณฑ์จะทำอย่างไรที่จะเอาข้าวของที่มี หรือข้าวของที่จะจัดหามาได้ มานำเสนอชุดความหมายเหล่านั้น

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save