Readjust ปรับตัวเพื่อเดินหน้าต่อไป มองโลกธุรกิจใหม่หลัง COVID-19 กับ อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์

Readjust ปรับตัวเพื่อเดินหน้าต่อไป มองโลกธุรกิจใหม่หลัง COVID-19 กับ อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์

ปกป้อง จันวิทย์ สัมภาษณ์

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรียบเรียง

 

 

“ช่วงนี้ หลายคนเริ่มพูดถึง new normal ในโลกหลังโควิด-19 กันมากขึ้น ซึ่งเราต้องมีการปรับตัวเพื่ออาศัยอยู่กับสิ่งเหล่านี้กันต่อไป เมื่อพูดถึงการปรับตัว ผมอยากใช้คำว่า ‘readjust’ เพราะมีคำว่า re- ที่แปลว่าทำใหม่ และ adjust ที่แปลว่าปรับ นึกภาพว่าเราเป็นเครื่องเสียงที่ต้องปรับจูนกันใหม่หลังวิกฤตโควิด-19”

อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ กล่าวเริ่มต้นในรายการ 101 One on One  Ep.133 ถึงวิถีชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปลงของคนทุกคนหลังผ่านพ้นวิกฤตโรคระบาด โดยเฉพาะการปรับตัวรับมือกับในโลกธุรกิจที่อาจผันผวนพลิกโฉมใหม่นับจากนี้เป็นต้นไป

New normal สำหรับโลกธุรกิจในยุคหลังโควิด-19 จะมีอะไรบ้าง? 101 สนทนากับอิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ บรรณาธิการบริหาร Brand Inside เว็บไซต์ “ธุรกิจคิดใหม่” และผู้ร่วมก่อตั้ง blognone เว็บข่าวและชุมชนคนไอทีรุ่นบุกเบิก ถึงผลกระทบของโรคระบาดต่อวิถีธุรกิจในระบบทุนนิยมโลกาภิวัตน์ การปรับตัวครั้งสำคัญในแวดวงต่างๆ ทั้งการสื่อสาร ความบันเทิง และร้านอาหาร ไปจนถึงเทรนด์เทคโนโลยีที่จะมา disrupt อุตสาหกรรมในอนาคต

 

ในยุคที่การสื่อสารและการทำงานจากบ้านเป็นเรื่องสำคัญ

 

ผมคิดว่าหลักๆ โควิด-19 ทำให้ 3 สิ่งที่เคยเคลื่อนไหวอยู่หยุดชะงัก คือ ข้อมูล คน และ สิ่งของ

ในสามสิ่งนี้ ข้อมูลเป็นสิ่งที่เคลื่อนย้ายได้ง่ายที่สุด เราเคลื่อนย้ายข้อมูลผ่านการสื่อสาร ทั้งเสียง รูป และอื่นๆ ซึ่งการสื่อสารก็พัฒนามาตลอด เมื่อก่อนเราสื่อสารกันผ่านจดหมาย แต่จดหมายหนึ่งฉบับอาจย้ายข้อมูลได้ไม่มาก แถมยังล่าช้า ต่อมาเราจึงพัฒนาเป็นโทรศัพท์ ย้ายข้อมูลเสียงส่งถึงกัน มาจนถึงส่งข้อมูลรูปถึงกันได้ ส่วนตัวผมคิดว่า สุดยอดฟอร์มของการสื่อสารในเวลานี้คือเกมออนไลน์ เพราะมีทั้งภาพ เสียง และเราสามารถควบคุมตัวละครในเกมให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้

ตอนนี้ธุรกิจเกี่ยวกับการสื่อสารและ IT เกือบทั้งหมดได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นบวก ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ คือจากเดิมสองเดือนที่แล้ว คนจำนวนมากทั่วโลกรวมถึงคนไทยอาจไม่รู้จัก Zoom มาก่อน มาตอนนี้ทุกคนใช้เป็นหมด แอปที่เกี่ยวกับการทำงานหรือ remote working หลายเจ้า เช่น Zoom, Microsoft Teams,  Skype และ Google Meet ได้รับความนิยมและเติบโตสูงมาก เพราะหลายบริษัท หลายหน่วยงานหันมาใช้การทำงานบนโลกออนไลน์แทนการเคลื่อนย้ายคนหรือสิ่งของ พวกซอฟต์แวร์ เช่น Zoom จะเห็นได้ว่า เมื่อปลายปีที่แล้วมีผู้ใช้ประมาณ 10 ล้านคน แต่เดือนล่าสุดเพิ่มมาเป็น 300 ล้านคน หรือ Microsoft teams เดือนมีนาคมมีผู้ใช้ 44 ล้านคน มาเดือนนี้เพิ่มเป็น 75 ล้านคน เพิ่มมาอีกเท่าตัว

นอกจากนี้ ยอดขายสินค้าที่เกี่ยวกับการสื่อสารหรือการทำงานที่บ้านก็เพิ่มขึ้นมาก เช่น ยอดขายชิป PC เครื่องพิมพ์ ไปจนถึงเก้าอี้ โต๊ะทำงาน เพราะทุกคนต้องทำงานจากบ้านและต้องการอุปกรณ์พื้นฐานต่างๆ

ความท้าทายหนึ่งของธุรกิจ IT เหล่านี้ คือ การรองรับจำนวนผู้ใช้มากๆ ที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ต้องออกแบบระบบ cloud เบื้องหลังให้ดี แต่ช่วงนี้มาตรการในหลายประเทศก็ผ่อนปรนมากขึ้น ดังนั้นอาจจะถือว่าเลยจุดพีคไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ผมมองว่าบริษัท IT ทั้งหลายจะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากตอนนี้ที่ชีวิตเราพึ่งพา Google Facebook Amazon มากแค่ไหน อนาคตจะเพิ่มขึ้นอีก 1.5-2 เท่าในไม่อีกช้า

 

อีเวนต์ – คอนเสิร์ต – ชุมนุมรูปแบบใหม่

ในวันที่คนมาเจอกันไม่ได้

 

การเคลื่อนย้ายคนเป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุด เพราะเมื่อคนไม่สามารถมาเจอกัน เข้าใกล้กัน สัมผัสกันไม่ได้ ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนเปลี่ยนไปหมด จากปกติเวลาคนเราเจอกันจะต้องตัดสินใจ 2 เรื่อง คือ หนึ่ง เจอกันไปทำอะไร เช่น เจอกันเพื่อกินข้าว เที่ยวกลางคืน ดูชกมวย ดูคอนเสิร์ต กับ สอง เดินทางไปอย่างไร ซึ่งมีหลายแบบ ทั้งเดิน ขับรถ ไปจนถึงนั่งเครื่องบิน พอเกิดโควิด-19 เรื่องเหล่านี้ก็ถูกเปลี่ยนไปทั้งหมด

ตอนแรกอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เช่น สายการบินยังงุนงงเลยว่าต้องทำอย่างไรต่อไป ตอนนี้เริ่มมีไอเดียขึ้นบ้างแล้วว่านั่งที่เว้นที่ได้ไหม เอาแผ่นอะคริลิกมากั้นระหว่างที่นั่งได้ไหม นั่งสวม face shield ได้หรือเปล่า แต่ยังไม่มีคำตอบตายตัว

ส่วนธุรกิจอีเวนต์ การจัดคอนเสิร์ต ก็ถือว่าเจอกับความท้าทายที่สำคัญเช่นกัน บริษัท IT อย่าง Google  Facebook Microsoft ที่ถูกยกเลิกอีเวนต์ตลอดทั้งปีพยายามจะเปลี่ยนงานเหล่านี้ให้เป็นแบบออนไลน์   เพียงแต่วิธีการนำเสนอหรือการสื่อสารจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน นี่เป็นเรื่องที่แต่ละแห่งต้องคุยกัน

บางแห่งที่ประสบความสำเร็จก็มี อย่าง Salesforce ซึ่งเป็นบริษัท IT ยักษ์ใหญ่ของโลก เพิ่งยกเลิกงานอีเวนต์ที่ออสเตรเลีย และปรับมาอยู่บนโลกออนไลน์ จากปกติงานนี้มีคนเข้าร่วมหมื่นกว่าคน เมื่อออนไลน์กลับมีคนเข้าร่วม 8 หมื่นคน นี่เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจว่า ในอนาคตงานเหล่านี้อาจไม่ต้องจัดแบบออฟไลน์ก็ได้

อีกตัวอย่างหนึ่งในต่างประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ คือการจัดคอนเสิร์ตในเกม โดยเกม Fortnite ซึ่งเป็นเกมชื่อดังคล้ายกับ PUBG ของไทยจัดคอนเสิร์ตโดยให้ผู้เล่นล็อกอิน สร้างตัวละครเข้าไปร่วมงาน มีเอฟเฟ็กต์ต่างๆ น่าตื่นตาตื่นใจ งานนี้มีคนดูทั้งหมด 12 ล้านคน แสดงให้เห็นว่านี่เป็นไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่อีกแบบหนึ่ง จากเดิมที่เราเคยคิดว่าการดูคอนเสิร์ตต้องดูใน hall ถึงจะได้อารมณ์ ที่จริงแล้วก็อาจไม่จำเป็นขนาดนั้น เพราะยังมีคนอีกกลุ่ม อีกเจนฯ ที่ชื่นชอบกับประสบการณ์รับชมแบบใหม่

ประเด็นสุดท้ายเกี่ยวกับคนหลังโควิด-19 คือเรื่องการชุมนุมประท้วงทางการเมือง ผมเห็นตัวอย่างในอิสราเอลว่ามีการชุมนุมแบบ social distancing ยืนห่างกัน ก็ถือว่าแปลกใหม่ดี แต่ส่วนตัวมองว่าโมเดลการประท้วงยุคใหม่ที่น่าสนใจเป็นของฮ่องกง โดยโจทย์ใหญ่ของการประท้วงในฮ่องกงที่ผ่านมาคือเรื่อง surveillance รัฐบาลมีกล้องวงจรปิด วิธีการต่างๆ ในการระบุตัวตนคน เพื่อจับกุม ซึ่งชาวฮ่องกงก็ใช้วิธีการพรางตัว ซ่อนตัวตนมากมาย เช่น ปิดมือถือ ปิดหน้าปิดตา นี่อาจจะเป็นต้นแบบการประท้วงในยุคที่ IT ใกล้ชิดกับเรามากขึ้น

 

เมื่อแวดวงอุตสาหกรรมต้องคิดใหม่ ทำใหม่

 

โควิด-19 สร้างผลกระทบต่อเรื่องสิ่งของหลายด้าน ด้านแรกคือเรื่อง supply chain คนไทยน่าจะสัมผัสกันได้ว่าช่วงแรกหน้ากากอนามัยขาดแคลนมาก ซึ่งต้นเหตุส่วนหนึ่งมาจากสารเคมีที่ใช้พ่นหน้ากากมีเฉพาะในจีน พอจีนปิดประเทศ ทำให้ supply chain ในจีนชะงัก ตามด้วยทั้งโลก

ผมคิดว่าเคสนี้อาจทำให้หลายประเทศต้องคิดใหม่ ทำใหม่เรื่อง supply chain อย่างในอเมริกา เมื่อตอนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี ก็มีเสียงเรียกร้องให้บริษัทอเมริกันผลิตสินค้าในประเทศมากขึ้น ซึ่งในทางปฏิบัติอาจไม่ง่าย เพราะมีเรื่องความเกี่ยวพันด้าน supply chain และต้นทุนต่างๆ แต่พอเกิดโควิด-19  หลายประเทศก็เริ่มคิดเรื่องนี้อย่างกระตือรือร้นขึ้น

ผลกระทบด้านต่อมา คือเรื่องการกระจายสินค้า ถ้าเราย้อนกลับไปมองตั้งแต่ยุคก่อนโควิด-19 ตอนที่เรายังเดินห้างได้ ฟังก์ชันในการเดินห้างหลักๆ คือเป็นกระบวนการค้นหาผลิตภัณฑ์ หรือที่เรียกในเชิงการตลาดว่า product discovery ผมไปเดินเลือกซื้อของ ตัดสินใจซื้อในตอนนั้น เสร็จแล้วก็นั่งรถกลับบ้าน ในแง่นี้อาจถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีที่ได้เดินเลือกซื้อ แวะกินข้าว ทำกิจกรรมอื่นเพิ่มเติม แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ก็อาจไม่คุ้มค่าหรือมีประสิทธิภาพเท่าไร เพราะผมอาจจะต้องพาคนในบ้านหลายคนมาห้างเพื่อซื้อของ 1 ชิ้นกลับบ้าน ยังไม่รวมว่าห้างมีต้นทุนเรื่องการนำสินค้ามาจัดแสดงด้วย

ฉะนั้น เมื่อเกิดโควิด-19 มันทำให้โมเดลการส่งของผ่าน e-commerce ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเข้ามาแทน อธิบายให้เห็นภาพคือ เมื่อผมสั่งของออนไลน์ คนส่งของอาจจะนำของของผมมาส่งพร้อมกับของคนอื่นอีกกว่า 100 ชิ้นในวันเดียว เมื่อเทียบระหว่างการพาคนออกจากบ้านทั้งครอบครัว ไปซื้อของ 1 ชิ้น กับเอาคน 1 คนส่งของ 100 ชิ้น ประสิทธิภาพต่างกันมากนะครับ

เมื่อ e-commerce เติบโต ไม่ว่าจะเป็น Amazon Lazada JD หรือโซเชียลมีเดีย รวมกับเดลิเวอรี่ จะกลายเป็นกลยุทธ์แบบ O2O หรือ Online to Offline ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง จากเมื่อก่อนเราเลือกไปเดินห้างเพื่อซื้อประสบการณ์ด้วย ตอนนี้อาจจะไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว

ส่วนเรื่องการออกแบบและพัฒนาสินค้าใหม่ (R&D) อาจได้รับผลกระทบน้อย เพราะใช้คนน้อย แรงงานส่วนใหญ่ยังถือว่าเป็นแรงงาน white collar คือนั่งโต๊ะ ทำงานออนไลน์ได้ แต่พอข้ามไปถึงจุดที่ต้องผลิตสินค้าจะเริ่มมีปัญหาว่าต้องใช้แรงงานคนในโรงงาน และสิ่งที่เจ้าของกลัวที่สุดคือโดนสั่งปิดโรงงานเพราะมีคนติดโควิด-19 ตรงนี้จะเร่งให้เกิดการนำระบบอัตโนมัติ (automation) มาใช้เร็วขึ้น จากเดิมเราพูดกันว่าจะนำหุ่นยนต์ แขนกล สายพานมาใช้จนแรงงานตกงานอย่างไม่จริงจังนัก พอเกิดโควิด-19 โรงงานหลายแห่งจะรีบเปลี่ยนกันมากขึ้น และเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งผมมองว่าในช่วง 5 ปีหลัง ราคาหุ่นยนต์เองก็ถูกลงมาก กลายเป็นโจทย์ที่ต้องคิดว่า ถ้าเกิดแรงงานตกงานกันมาก จะทำอย่างไรกันต่อ

 

เราจะอยู่รอดท่ามกลาง AI หลัง COVID-19 อย่างไร

 

เทคโนโลยี automation หรือ AI ที่เป็นอัตโนมัติ ช่วยทำงานใช้ทักษะน้อย เป็นเรื่องที่เกิดมานานแล้ว แต่เมื่อเทียบกับสมัยนี้ AI นั้นฉลาดขึ้นมาก และราคาถูกขึ้นมาก เมื่อก่อนอาจต้องใช้วิศวกร 100 คนที่เก่งที่สุดในโลก ใช้เวลา 3 ปี เพื่อสร้างระบบ AI สักอย่าง ในราคา 100 ล้านบาท แต่เมื่อมีคนทำเสร็จหนึ่งคน ระบบพวกนี้สามารถใช้ซ้ำได้ และทุกวันนี้ยังมีบริการAI จากระบบ Cloud ที่ต่างๆ ให้ใช้ในราคาถูก

ดังนั้น งานพื้นฐานบางส่วน AI ทำได้แน่นอน และมันอาจทำให้งานบางอย่างที่เคยเป็นของคนหายไป จนเกิดคำถามว่าคนควรจะทำงานอะไรดี

ผมคิดว่าเทรนด์งานที่ AI ยังไม่สามารถแทนที่ได้ มี 3 เรื่อง เรื่องแรก คือ งานครีเอทีฟ งานสร้างสรรค์ คนยังมีที่ทางอยู่ เพราะ AI ยังไม่สามารถมาแทนการเขียนหนัง เขียนบทละคร แต่งเพลง อย่างน้อยก็ในอีกสิบปีข้างหน้า

เรื่องต่อมาคือ งานที่ต้องใช้ร่างกายหรือใช้มือ เช่น งานคราฟต์ งานไม้ งานถักทอชั้นสูง หรืองานดูแลคน หากใครเคยอ่านหนังสือของ Yuval Noah Harari มีตอนหนึ่งเขาพูดว่าหมอจะสูญพันธุ์ก่อนพยาบาล เพราะงานของหมอคือการวินิจฉัย ซึ่ง AI ทำแทนได้ แต่งานละเอียดอ่อน เช่น เปลี่ยนเสื้อผู้ป่วย AI ทำแทนไม่ได้ง่ายๆ ดังนั้น งานที่ต้องเอาใจใส่และความเป็นมนุษย์สูงก็ยังอยู่ได้อีกนาน

เรื่องสุดท้าย คือ งานที่ต้องทำกันเป็นทีม งานที่คนหนึ่งคนต้องใช้ทักษะหลายเรื่อง เช่น การเล่นกีฬา อย่างฟุตบอลต้องอาศัยการเล่นประสานกัน AI อาจทำได้ไม่ดีนัก

สำหรับเรื่องทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อแรงงานในอนาคต ผมคิดว่าหลักๆ เลยคือทักษะเกี่ยวกับ IT ก่อนหน้านี้ มีการพูดกันเยอะว่าการเขียนโปรแกรมจะกลายเป็นภาษาที่สาม ถ้าให้นึกภาพการเขียนโปรแกรม คนมักจะนึกถึงหน้าจอคอมพิวเตอร์ มีตัวหนังสือเยอะๆ ไม่รู้เรื่อง แต่เนื่องจากการเขียนโปรแกรมมีหลายแบบ ผมจึงอยากพูดในเซนส์ที่กว้างกว่านั้น คือเป็นทักษะที่สามารถวางแผนได้ว่าจะสั่งให้คอมพิวเตอร์ทำอะไร

 

สตรีมมิงและเกม ยักษ์ใหญ่ในวงการความบันเทิงแบบดิจิทัล

 

ความบันเทิงแบบดิจิทัลที่เติบโตขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในตอนนี้ คือ Netflix ถัดมาคือพวกเกม ซึ่งมีหลากหลายแบบ แล้วแต่คนชอบ สำหรับในช่วงที่สัมภาษณ์กันตอนนี้ เกมที่มาแรงแซงโค้งคือ Animal Crossing เป็นเกมสร้างบ้านบนเกาะ วัยรุ่นเล่นกันเยอะ

ในวงการสตรีมมิงเฉพาะหนัง ต้องบอกว่านี่เป็นเกมของยักษ์เท่านั้นที่จะอยู่ได้ ตอนที่ Netflix เกิดใหม่ๆ เขาใช้วิธีซื้อหนังจากค่ายดังๆ มาใช้บนแพลตฟอร์มของตัวเอง ซึ่งสมัยก่อน ค่ายหนังจะมองว่ารายได้หลักมาจากการฉายในโรง ถัดจากนั้นคือการขายแผ่น สตรีมมิงเป็นเพียงรายได้เสริม ดังนั้นเขาก็ยินดี

แต่พอทำไปทำมา คนหันมาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น กลายเป็นว่าสตรีมมิงเข้ามาทดแทนการดูหนังโรง ถ้าต่อไป Netflix อาจมีสถานะเป็นโรงหนังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ก็คงมีอำนาจต่อรองกับค่ายหนังสูงมาก ทำให้จากเดิมที่ค่ายหนังทำหนังอย่างเดียวไม่ต้องสร้างโรง เขาก็ต้องเริ่มทำโรงเองแล้ว เช่น Disney+ HBO Max แต่ละเจ้าจะนำหนังของตัวเองมาฉาย เพื่อเปลี่ยนโมเดลจาก Horizontal Integration คือมีการประสานกันระหว่างค่ายหนังและโรงหนังใหญ่ ต่อไปจะเป็นการประสานแนวดิ่ง ค่ายหนังทำทุกอย่างเอง ทำหนังเอง ฉายเอง ขายของเอง เบ็ดเสร็จไม่แบ่งใคร Netflix เองก็ทราบเรื่องนี้ดี หลังๆ เขาจึงจ้างคนทำคอนเทนต์มาฉายบนแพลตฟอร์มตัวเองบ้าง

ส่วนภาพรวมของวงการเกม อันที่จริงเกมเป็นอุตสาหกรรมที่ใหญ่กว่าหนังมาสักพักแล้ว หนังที่เราเห็นว่ามีคนดูเยอะ อย่าง Avengers, Star Wars หรือ Frozen จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาหลายเดือนเพื่อทำรายได้ให้ถึง แต่ถ้าเป็นเกมดัง เช่น Call of Duty ช่วงออกใหม่ๆ ใช้เวลาไม่เกินหนึ่งสัปดาห์ในการทำรายได้พันล้านเหรียญสหรัฐฯ นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมา 4-5 ปีแล้ว ฟอร์มของเกมทำเงินได้เร็วกว่าหนังเยอะ แต่ต้นทุนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ด้านการแข่งขัน ก็ถือว่าแข่งขันสูงและเป็นสงครามของยักษ์เช่นกัน ค่ายเกมมีการรวมตัว ซื้อตัวกันบ้าง อย่างไรก็ตาม ต้องบอกว่าเกมเป็นฟอร์มของความบันเทิงที่กว้างมาก คือ ไม่ว่าจะเป็นคอเกมเมอร์ที่ซื้อ PC ตัวละ 5-6 หมื่นบาท หรือเป็นแค่คนเล่นเกมบนมือถือ ก็ถือว่าเล่นเกมทั้งหมด ในช่วงหลัง วงการเกมยังมีพัฒนาการที่สำคัญอีกอย่าง คือไม่ต้องซื้อเกม ถ้าเป็นสมัยก่อน เวลาผมซื้อเครื่องเล่น Play Station ก็ต้องซื้อแผ่นเกมมาด้วย แต่มายุคนี้ พอค่ายเกมเริ่มทำเกมมือถือ ก็เปลี่ยนมาเป็นให้เล่นฟรี แล้วขายของในเกมแทน รวมถึงพยายามหลอกล่อให้คนเล่นจ่ายเงินด้วยวิธีการแตกต่างกันไป เพราะฉะนั้น อาจต้องแยกย่อยดูว่าเกมแต่ละแบบ เจาะกลุ่มผู้ใช้แต่ละแบบ แข่งขันกันอย่างไร

 

เรื่องกินเรื่องใหญ่ โมเดลใหม่ของธุรกิจร้านอาหาร

 

ผมคุยกับคนที่อยู่ในวงการร้านอาหาร เขาว่าหลายวิกฤตที่ผ่านมา ทั้งน้ำท่วม ชุมนุมประท้วง จะอย่างไรคนไทยก็ยังออกไปกินข้าวนอกบ้าน แต่พอเกิดโควิด-19 นี้ ร้านอาหารไม่สามารถนั่งได้ กลายเป็นวิกฤตใหญ่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ร้านอาหารทุกร้านในประเทศไทยถูกบังคับให้ต้องทำโมเดลออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเดลิเวอรี่ สั่งแล้วส่งทันที หรือสั่งล่วงหน้า แล้วค่อยส่งวันหลังหรือนัดรับที่ร้าน มันเป็นมุมที่หลายๆ ร้านไม่คุ้นเคยมาก่อน

เราอาจไม่สามารถสรุปได้ว่าในภาพรวม ร้านอาหารปรับตัวกันไปอย่างไร เพราะร้านอาหารมีหลากหลายมาก ตั้งแต่ร้านตามสั่งขายข้าวกะเพรา ไปจนถึงซูชิโอมากาเสะคอร์ส แต่ละร้านอาจมีวิธีการกินแตกต่างกัน เช่น สั่งข้าวกะเพรากินที่ร้าน กับสั่งเป็นกล่องมากิน มันไม่ต่างกันมาก แต่ถ้ากินสเต๊กมีเดียมแรร์ ที่ต้องทอดเสร็จใหม่ๆ เท่านั้น การสั่งมากินที่บ้านไม่ใช่เรื่องง่าย ฉะนั้น ไม่ใช่ร้านอาหารทุกประเภทที่เหมาะกับเดลิเวอรี่ นี่เป็นโจทย์ที่ท้าทายที่แต่ละร้านต้องปรับตัวกัน

นอกจากนี้ ปัญหาที่ตามมากับการเดลิเวอรี่ คือแพลตฟอร์มสั่งอาหารที่ใช้เดลิเวอรี่ส่วนใหญ่คิดราคาตามระยะทางเป็นหลัก ถ้าร้านอยู่ไกลจากบ้านก็อาจต้องคิดหนัก เพราะค่าส่งแพงกว่าค่าข้าวแน่ๆ เมื่อก่อนตอนเราขับรถออกไปซื้อเองอาจไม่ได้คิดอะไรมาก แต่พอใช้เดลิเวอรี่ที่เห็นต้นทุนกันชัดๆ ก็เริ่มทำให้คนตัดสินใจยากขึ้น

ดังนั้น โมเดลหนึ่งของร้านอาหารที่น่าสนใจซึ่งตามมากับการลงสนามเดลิเวอรี่เป็นจำนวนมาก และเริ่มมีพูดถึงในต่างประเทศแล้ว คือ cloud kitchen หรือ ghost kitchen อธิบายง่ายๆ คือ ถ้าผมอยากกินอาหารจากร้านชื่อดังที่อยู่ไกลบ้านมาก ก็อาจจะขอให้ร้านนี้มาเปิดครัวกลางตามพื้นที่ต่างๆ กระจายกันไปให้ครอบคลุม มีเชฟที่ผ่านการเทรนมาแล้วให้ทำอาหารรสชาติคงที่ และขายผ่านแอปอย่างเดียวโดยไม่มีหน้าร้าน เมื่อกดสั่ง ระบบจะคัดเลือกร้านที่ใกล้ที่สุดให้ ซึ่งโมเดลนี้คล้ายกับฟาสต์ฟู้ดในปัจจุบัน

 

รับมือเศรษฐกิจยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยโลกของแพลตฟอร์ม

 

โจทย์เรื่องการเติบโตของธุรกิจแพลตฟอร์ม เป็นโจทย์เหมือนตอนที่ห้างโมเดิร์นเทรดเข้ามาในบ้านเราใหม่ๆ เรากังวลว่าห้างเหล่านี้อาจทำให้ธุรกิจร้านค้าปลีกรายย่อยอยู่ไม่ได้ แต่ความแตกต่างระหว่างห้างโมเดิร์นเทรดกับแพลตฟอร์ม คือ ห้างโมเดิร์นเทรดยังมีระยะทางเป็นตัวจำกัดศักยภาพของมัน ถ้าบ้านผมอยู่ห่างจากห้าง ก็อาจจะคิดหนัก ทำให้ไปซื้อของจากร้านค้าในท้องถิ่นแทน

แต่แพลตฟอร์มออนไลน์ไม่มีข้อจำกัดเรื่องนี้ ทำให้การผูกขาดจะยิ่งรุนแรงกว่าเดิม เพราะการทำแพลตฟอร์มต้องใช้ความรู้ ทุน และเทคโนโลยีมหาศาล ไม่ใช่มีแค่เงินก็ทำได้ จะเห็นว่าห้างสรรพสินค้าแบรนด์ใหญ่ๆ ในไทย แม้จะรวย แต่กลับทำ e-commerce ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะการทำแพลตฟอร์ม e-commerce ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญด้านวิธีคิด วิธีการทางเทคนิค ซึ่งเป็นทักษะที่บริษัทค้าปลีกไทยไม่ค่อยเชี่ยวชาญ บางแห่งจึงใช้วิธีร่วมทุนกับบริษัทแพลตฟอร์มแทน เช่น JDCentral ก็เป็นการร่วมทุนระหว่าง Central กับ JD

เมื่อการสร้างแพลตฟอร์มใช้ต้นทุนสูงมาก จึงเกิดเป็นกำแพงกั้นรายย่อยๆ ที่จะเข้ามาในตลาด และทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอยู่ยิ่งใหญ่ไปอีก ถือว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทาย เพราะสมัยก่อน ถ้าใกล้บ้านไม่มีห้าง ร้านค้าปลีกก็ยังอยู่ได้ แต่ตอนนี้ร้านขายของรายย่อยต่างมีคู่แข่งเป็น Shopee Lazada ดังนั้น ผู้ประกอบการรายเล็กๆ ที่มีความสามารถในการแข่งขันต่ำ ก็จะอยู่ยากไปอีก

ในที่นี้ รัฐอาจจะต้องเข้ามากำกับดูแลคล้ายกับธุรกิจโทรคมนาคม อย่างประเทศไทย ทางหนึ่งจะเห็นได้ว่า กสทช. ส่งเสริมให้มีเจ้าของธุรกิจรายใหม่เข้ามาแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีอยู่นานมากแล้ว แต่มันไม่เคยเกิดขึ้นเลย เพราะธุรกิจนี้ใช้เงินลงทุนสูงมาก วงการแพลตฟอร์มก็อาจประสบปัญหาคล้ายกัน

ฉะนั้น สิ่งที่รัฐควรทำคือ ต้องทำให้เกิดการแข่งขันในหมู่ผู้เล่นในตลาดให้ได้มากที่สุด แต่ต้องระวังว่าเมื่อแข่งไปได้สักพัก จะมีรายที่แข่งไม่ไหวแล้วขาดทุน จากนั้นเกิดการควบรวมกิจการกัน ทำให้ผู้เล่นในตลาดยิ่งน้อยลงไปอีก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ธุรกิจเรียกรถยนต์ ซึ่งก่อนหน้านี้มี Grab กับ Uber ต่อมา Uber ประสบปัญหาภายในจึงถอนตัวออกจากอาเซียน และขายหุ้นให้กับ Grab ทำให้ Grab แทบไม่มีคู่แข่งในอาเซียนเลย อาจจะมี Gojek ในอินโดนีเซียบ้าง แต่ในไทยแทบไม่มี ซึ่งก็มีปัญหาเรื่องราคา และเรื่องให้บริการอื่นๆ ตามมากับการผูกขาด

 

สำรวจโมเดลการกำกับดูแลธุรกิจแพลตฟอร์มในยุโรปและอเมริกา

 

ภูมิภาคยุโรปถือว่าก้าวหน้าที่สุดเรื่องการกำกับดูแลในหลายๆ เรื่อง เพราะมีหน่วยงานของรัฐบาลที่ค่อนข้างแข่งขันกันเอง มีกฎหมายค่อนข้างดี และยังมีประเด็นเรื่องชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง

ขอย้อนว่าบริษัท IT ยักษ์ใหญ่ของโลกส่วนใหญ่เป็นของอเมริกา และฝั่งยุโรปเองแข่งเรื่องนี้กับอเมริกาไม่ได้ ดังนั้น หลายประเทศในยุโรปจึงมีความรู้สึกว่าธุรกิจอเมริกันมาทำการค้าในบ้านตัวเอง แต่ไม่ยอมจ่ายภาษี เพราะฝั่งนั้นก็มีวิธีเลี่ยงภาษีมากมาย เช่น ถ้าผมซื้อ iPhone ในฝรั่งเศส เวลาจ่ายภาษีจะไม่ได้เข้าฝรั่งเศส เนื่องจาก Apple ไปบริษัทลูกที่ไอร์แลนด์ซึ่งมีอัตราภาษีต่ำกว่า ดังนั้น รัฐบาลเจ้าของประเทศจึงไม่ได้ภาษีจากธุรกิจเหล่านี้เท่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการแข่งขันทางธุรกิจ เช่น Google เป็นบริษัทที่ทำ search engine ควบคู่ไปกับบริการอื่น อย่างชอปปิ้ง ค้นหาตั๋วเครื่องบิน กดจองตั๋วโรงแรม ทำให้บางบริษัทที่ทำบริการเฉพาะเรื่องและนำตัวเองเข้าไปอยู่บน Google search เกิดคำถามว่า Google กีดกันคู่แข่งด้วยการไม่ปรากฏชื่อในหน้าค้นหาหรือเปล่า มีหลายบริษัทในยุโรปฟ้องร้องคณะกรรมการที่กำกับดูแลเรื่องนี้ และชนะด้วย ทำให้ Google ต้องแก้ไขกันไป

สำหรับฝั่งยุโรปยังมีความรู้สึกกีดกันบริษัทอเมริกันเพราะถือเป็นธุรกิจต่างชาติ แต่ขณะเดียวกัน เมื่อเป็นบริบทในประเทศอเมริกาที่ไม่มีพรมแดนเรื่องชาติเข้ามาเกี่ยว ก็เกิดคำถามว่าควรจัดการธุรกิจขนาดยักษ์เหล่านี้อย่างไร

ในอดีต อเมริกาเคยมีปัญหาเรื่องทำนองเดียวกันนี้มาก่อน เช่น บริษัทน้ำมัน Standard Oil หรือบริษัทโทรศัพท์ AT&T เคยมีเคสผูกขาดในอดีต ซึ่งวิธีที่รัฐบาลอเมริกันใช้กำกับดูแล คือใช้คำสั่งศาล จับแตกบริษัท อย่างบริษัทน้ำมันก็ให้แยกไปอยู่แต่ละพื้นที่ ลดอิทธิพลลง แต่เมื่อเป็นธุรกิจ IT โจทย์ยิ่งยาก เพราะโลก IT แยกให้ขาดออกจากกันยากมาก มีไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นเหมือนกันว่าให้แยกตามบริการ เช่น Facebook ที่มี Instagram หรือ WhatsApp ต้องจับแยกออกจากกัน นี่ก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกัน ยังไม่ได้ดำเนินการจริงจัง

 

ความเป็น ‘ชาติ’ ยุคใหม่ที่ใส่ใจประชาชน

 

ผมได้ไอเดียเรื่องชาตินิยมจากบทความของ The101.world หลายชิ้น หนึ่งในนั้นมีบทความชิ้นที่ประทับใจคือบทสัมภาษณ์อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งพูดถึงเรื่องการนิยามความเป็นชาติในแต่ละแห่งแตกต่างกันไป ของประเทศไทยอาจคุ้นเคยกับคำว่า “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ประเด็นที่อาจารย์นิธิยกมาคือ ศาสนาอาจไม่ได้มีบทบาทมากแล้วในปัจจุบัน แต่ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราก็เห็นว่าศาสนาเข้ามามีบทบาทไม่น้อย วัดหลายแห่งกลายเป็นโรงทานสมัยใหม่ จึงเป็นไปได้ว่าฟังก์ชันของสถาบันเชิงสังคมเหล่านี้อาจเปลี่ยนไป หรือกระทั่งคำนิยามเรื่องชาติเองก็อาจเปลี่ยนแปลง

อีกประเด็นที่น่าสนใจในไทยช่วงนี้ คือ คนเริ่มรู้สึกว่ารัฐบาลไม่ค่อยดูแลประชาชน ถึงจะมีมาตรการควบคุมออกมาอย่างจริงจังขึงขัง แต่พอคนตกงาน อดตาย เรากลับเห็นความเชื่องช้า ไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับเรื่องที่อาจารย์นิธิพูดว่า คำว่า “ชาติ” ของไทยไม่เคยมี “ประชาชน” อยู่ในนั้นมาก่อน

ชาติยุคใหม่จึงต้องดันให้ประชาชนเป็น first priority รัฐบาลต้องทำทุกอย่างเพื่อประชาชนก่อนเป็นอย่างแรก

 

เศรษฐกิจใหม่ การเมืองใหม่ เปลี่ยน ‘ชาติ’ ให้ทันสมัยกว่าเดิม

 

โจทย์เรื่องเศรษฐกิจที่ต้องคุยกันต่อไป คือหลังโควิด-19 ภาครัฐอาจมีบทบาทสูงมาก เพราะภาคเอกชนบอบช้ำจากวิกฤตเศรษฐกิจ โปรเจกต์ที่ต้องมีการลงทุนครั้งใหญ่อาจมีรัฐเป็นผู้นำ ซึ่งผมมองว่ารัฐคงต้องกลับมาใช้โมเดลรัฐวิสาหกิจ เพื่อลงทุนบางอย่างที่เอกชนไม่ลงทุน แต่เราก็รู้ว่ารัฐวิสาหกิจมีข้อจำกัดเรื่องประสิทธิภาพ การคอร์รัปชัน ซึ่งนี่ก็เป็นโจทย์ที่ต้องคิดกันต่อไปว่า ถ้าเราต้องสร้างรัฐวิสาหกิจยุคใหม่ ควรมีหน้าตาอย่างไรถึงจะเดินหน้ากันต่อไปได้

ส่วนเรื่องการเมือง ผมคิดเหมือนนักวิชาการหลายท่านว่า โมเดลรัฐสวัสดิการจะเพิ่มเข้ามาเยอะ แต่รัฐสวัสดิการอาจไม่ได้เป็นยาวิเศษแก้ทุกอย่าง เพราะรัฐสวัสดิการต้องเผชิญคำถามว่าเอาเงินมาจากไหน จัดการเงินอย่างไร ซึ่งปัญหาที่ประเทศไทยเจอมานานและถ้าแก้ไม่ได้ ก็จะยิ่งเพิ่มปัญหามากขึ้น คือการกระจายอำนาจท้องถิ่น รัฐส่วนกลางมีอำนาจมากเกินไป ทำให้การบริหารจัดการแต่ละท้องถิ่นยากลำบากและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ยกตัวอย่าง สมัยก่อนผมไปจอดรถข้างวัดพระแก้วแล้วโดนจับ ตำรวจบอกว่ามีป้ายห้ามจอด แต่ป้ายนั้นกลับอยู่อีกฝั่งหนึ่งของหัวถนน ผมคิดว่านี่มันไม่ make sense เลย ถ้ามองในเชิงโครงสร้าง ก็สะท้อนว่า หน่วยงานที่ปักป้ายกับหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายเป็นคนละหน่วยกัน ประสานงานกันได้ไม่ดี ดังนั้น ถ้าเมืองไทยทำเรื่องการกระจายอำนาจท้องถิ่นดีขึ้น การจัดการทรัพยากร งบประมาณ ให้ท้องถิ่นก็จะทำได้อย่างตรงใจที่สุด มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

ก้าวข้ามทศวรรษที่สูญเปล่า ก้าวไปยังอนาคตหลัง COVID-19

 

หลังจากนี้ ผมคิดว่าเราคงต้องปรับตัวกันมากขึ้น ถ้าเป็นภาษาประวัติศาสตร์คงเรียกได้ว่าโควิด-19 ทำให้เราอยู่ในช่วงพระเจ้าตากทุบหม้อข้าว ก่อนหน้ามีหลายเรื่องที่เรารู้ว่าต้องทำ แต่อาจจะยังไม่มีความกล้า หรือติดอุปสรรคเรื่องต่างๆ ตอนนี้วิกฤตมาถึงตัว เราต้องเร่งทำสิ่งที่ไม่เคยคิดฝันว่าต้องทำ

อย่าง Wongnai ก็ต้องปรับตัวเรื่องให้พนักงาน Work From Home ทันทีโดยมีเวลาเตรียมตัวน้อย การบริหารจัดการหลังบ้านหลายเรื่องที่เราเคยคิดว่าไม่สำคัญ มาตอนนี้ก็สำคัญและต้องเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เช่น Wongnai เป็นพาร์ทเนอร์กับ Line Man ทำให้ร้านอาหารที่จะขายบน Line Man ต้องมาลงทะเบียนกับเรา ซึ่งในอดีต เราใช้วิธีการส่งเอกสารกระดาษ แต่เมื่อเจอโควิด-19 ก็ต้องปรับตัว พัฒนาวิธีการอื่นๆ และฐานข้อมูลที่รองรับร้านอาหารได้มากขึ้นในชั่วข้ามคืน เป็นต้น

ส่วน Brand Inside ก็ต้องปรับตัวในแง่ความเป็นสื่อ ผมมองว่าสื่อในไทยเผชิญปัญหาเดียวกัน คือ demand ของผู้ชมสูงขึ้น คนโหยหาข้อมูลมากขึ้น แต่รายได้ไม่ได้โตขึ้นเป็นสัดส่วนที่เท่ากัน อาจจะเป็นเพราะคนยังไม่มั่นใจกับภาวะเศรษฐกิจ หน่วยงานที่ลงโฆษณาได้รับผลกระทบ นี่ก็เป็นข้อจำกัดที่ต้องทำงานภายใต้ demand ที่มากขึ้น แต่มีทรัพยากรจำกัด

โควิด-19 ทำให้เราตระหนักได้ว่าหลายๆ อย่าง เราเคยใจเย็นมาก่อน จนช้าไปมากเมื่อต้องเจอวิกฤตจริง ต่อจากนี้เราจึงต้องคิดเร็วทำเร็วกว่านี้ มีวิกฤตมาจะได้รับมือทัน

 

 

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save