fbpx
อ่านจดหมาย ศุภมิตร ปิติพัฒน์

อ่านจดหมาย

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

14 พฤษภาคม 2561

ศุภมิตร

 

เนื่องจากวงประชุมจะเว้นช่วงไปอีกนาน ระหว่างที่ไม่ได้เจอกัน เมื่อฉันนึกอะไรออกจะเขียนมาให้เธอรวบรวมไว้ เลยไปแล้วเดี๋ยวจะลืม ประกอบกับฉันเองมีงานจริงงานจรอื่นๆ อีกมาก ดังนั้น บางทีจึงอาจขาดหายไปนานๆ เพราะเขียนตามแต่มีเวลาและมีเหตุให้นึกเรื่องอะไรขึ้นได้ การค้นคว้าต่างๆ ที่เธอเขียนเล่ามาให้ทราบเสมอนั้น ถึงไม่ได้ตอบเธอทันใด ก็ขอให้รู้ว่าฉันพอใจอ่าน ให้ส่งมาเถิด

วันนี้มีเวลา จึงได้โอกาสเขียนความเห็นมาบอกเธอ 2 เรื่อง

เรื่องแรก ฉันอ่านบทความของเธอในหนังสือพิมพ์ที่เขียนถึงพวกอนุรักษนิยมแล้ว เธอตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับอนุรักษนิยมไทยออกมาให้พิจารณาไว้อย่างนั้นก็ดี วงประชุมคราวหน้าที่กำหนดอ่านหนังสือ Fin-de-Siècle Vienna ของ Schorske มาแลกเปลี่ยนกันอาจมีจังหวะให้เธอพูดเรื่องนี้ขึ้นเทียบความแตกต่างได้บ้าง แต่ฉันเห็นว่าที่เธอเขียนคลุมๆ ไว้เกี่ยวกับพวกอนุรักษนิยมในสากลโลกตามที่เธอเรียก เธอควรเขียนออกมาให้ชัดกว่านั้นถ้าหากได้เขียนอีกโดยไม่ถูกเนื้อที่เท่าบทความหนังสือพิมพ์จำกัดไว้แบบนั้น ความคิดพวกอนุรักษนิยมตามที่ฉันเข้าใจ ฉันเห็นว่ามีหลักการที่พวกนี้เห็นพ้องกันทั่วไปอยู่ 4 ข้อใหญ่ แม้ว่ารายละเอียดในเหตุผลอาจต่างกันไปได้ในหมู่พวกเขาเอง จึงขอไขความเข้าใจของฉันมาให้เธอทราบ

ข้อแรก คือเรื่องธรรมชาติมนุษย์ อนุรักษนิยมไม่มองว่ามนุษย์ดีสมบูรณ์แบบ หรือว่าชั่วร้ายจนเกินแก้ไข ในบทความของเธอที่ฝากมากับจดหมายฉบับก่อน เธอเขียนถึง Faust ของเกอเธ่ ฉันก็ชอบใจเรื่องนี้เหมือนเธอ เลยจะบอกเธอว่า มนุษย์ของอนุรักษนิยมก็คือคนอย่างเฟาสต์ตามที่เกอเธ่วาดออกมานี่เอง เป็นคนอย่างที่พระเจ้าเห็นว่าดีพอใช้ได้ พอจะช่วยไถ่ให้รอดได้ แต่ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบจนกระทั่งว่าทำอะไรไม่ผิดอย่างที่มารจะเข้ามาลวงล่อไม่ได้เลย ความอ่อนแอในจิตใจมนุษย์มีไหม มีแน่ มนุษย์ทำผิดพลาดเหลวไหลไหม แน่นอน และมีโอกาสเกิดขึ้นอย่างนั้นได้ตลอดเวลา เพราะนั่นอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ แต่พร้อมกันนั้น มนุษย์ก็มีสำนึกและสิ่งที่ช่วยปลุกสำนึกให้รู้คิดได้ว่าอะไรเป็นความถูกต้องดีงาม อะไรเป็นความผิดหลงเลวร้ายได้ด้วยเหมือนกัน

การมองเห็นมนุษย์ว่ามีธรรมชาติดีเลว มีทั้งเหตุผลและไม่ฟังเหตุผล มีทั้งการรู้คิดและอคติ เป็นไปได้ทั้งสองทางอยู่ในตัว จนพระเจ้ากับซาตานอยากท้าวางพนันกันว่าอำนาจของฝ่ายไหนจะเป็นฝ่ายชนะครองใจมนุษย์ได้นี่ละ คือธรรมชาติของมนุษย์ในแบบที่อนุรักษนิยมมอง และเมื่อมองธรรมชาติมนุษย์แบบนี้ พวกอนุรักษนิยมจึงไม่รู้สึกประหลาดใจอันใดกับการที่ระเบียบทางสังคมของมนุษย์ไม่ว่าในยุคไหนจะสะท้อนลักษณะธรรมชาติในตัวมนุษย์ทั้งบวกและลบออกมา แต่จะเห็นประหลาดกับใครก็ตาม ที่คิดว่าจะสามารถสร้างประดิษฐกรรมเชิงสถาบันขึ้นมาใหม่ได้เอง เพื่อใช้บังคับดัดอุปนิสัยใจคอและแรงจูงใจดีร้ายในความสัมพันธ์ของมนุษย์ ให้เหลือเหมาะแต่สำหรับที่ทุกคนจะอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นสุขในสังคมอุดมคติที่สถาบันเหล่านั้นสร้างขึ้นมา

ในแง่นี้ ใครหวังจะใช้เส้นทางเดินประวัติศาสตร์ของมนุษย์ซึ่งเป็นอย่างเฟาสต์ ที่ถูกซาตานกับพระเจ้าวางเดิมพันแล้ว มาเป็นเครื่องปลุกใจว่ากระแสประวัติศาสตร์จะเดินเข้าหาปลายทางที่เป็นระเบียบทางสังคมงดงามตามอุดมคติ และเปลี่ยนอคติในแต่ละสังคมที่มีอยู่ต่างๆ กัน ไปสู่อุดมคตินามธรรมแบบเดียวกันได้ในที่สุด ก็มักปลุกให้ดีใจอยู่ได้เพียงชั่วครู่ชั่วยามเท่านั้น ไม่ใช่เพราะเหตุว่าประวัติศาสตร์แปรพักตร์ไปเข้าข้างฝ่ายอนุรักษนิยมไม่เข้าข้างฝ่ายอุดมคติ แต่เป็นเพราะการแปรเปลี่ยนกลับกลายได้ในธรรมชาติความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ต่างหากที่ทำให้กระแสประวัติศาสตร์ ถ้าประวัติศาสตร์มีกระแสอย่างที่ว่าอยู่จริง ไม่ได้เลือกยืนข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดอก

การกระทำที่ทำไปด้วยความมุ่งหวังตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงสังคมให้ก้าวหน้าไปในทางใดของฝ่ายใดจึงอาจจะเป็นการลงแรงสูญเปล่า หรือให้ผลที่บิดเบี้ยวไปมาก ถ้าหากไม่เข้าใจธรรมชาติมนุษย์ที่ว่านี้ และไม่ได้เตรียมรับมือสำหรับการที่จะต้องลงมือทำ และตรวจสอบแก้ไขผลอันเกิดจากสิ่งที่ได้ทำแล้วต่อเนื่องตลอดไปไม่มีวางเว้น แต่จะมีใครสักกี่คนมีแรงทำอย่างนั้นได้โดยตลอดเล่า

ประวัติศาสตร์จึงมักเปลี่ยนมาลงเอยเหมือนกับว่ายังไม่ได้เปลี่ยน เป็นทีให้พวกอนุรักษนิยมพยักหน้าพูดได้ว่าเป็นดังที่กันคาดไว้ไหมล่ะ ที่ไม่ค่อยมีใครจะเห็นใจอนุรักษนิยมพวกนี้ที่สะใจได้แบบนั้น ฉันก็ว่าสมควรแล้ว แต่นักอุดมคติที่มุ่งหวังอยากเห็นความก้าวหน้าจากการเปลี่ยนแปลงเป็นผู้ได้รับความเห็นใจจากฉันเสมอ เพราะเขามีโอกาสผิดหวังมากกว่าจะสมหวัง มีโอกาสจะถูกความสิ้นหวังกับการตั้งความหวังไว้อย่างเกินขนาดเหวี่ยงกลับไปกลับมาได้ตลอดเวลา

เธอล่ะ คิดจะเป็นนักอุดมคติเพื่อช่วยผลักกระแสประวัติศาสตร์กับเขาบ้างไหม

ข้อที่สอง อนุรักษนิยมไม่ใช่พวกที่จะหาทางคงสภาพทุกอย่างไว้ไม่ให้อะไรเปลี่ยนแปลงไปได้เลย จนถึงกับกลายเป็นพวกปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นพวกที่เห็นว่าอดีตและสิ่งที่อดีตสั่งสมมาในสังคมจนเกิดเป็นประเพณีวิถีปฏิบัติ เป็นสถาบัน เป็นสิทธิในด้านต่างๆ ด้านหนึ่งย่อมสะท้อนถึงลักษณะนิสัยใจคอและคุณค่าอันเป็นที่ยึดถือของคนในสังคมนั้น และโดยเหตุนั้นจึงมีความสำคัญในฐานะที่เป็นตัวช่วยผสานสัมพันธ์ระหว่างคนในสังคมในความสัมพันธ์หลากหลายรูปแบบที่พวกเขามีต่อกัน

และในอีกด้านหนึ่งความคิดความเชื่อหรือสิทธิอันตกทอดมาจากอดีต หรือสถาบันทางสังคมที่ได้รับการรักษาไว้โดยประเพณีที่สืบเนื่องมาในหมู่พวกเขาเองอย่างนี้นี่ล่ะ ที่พวกอนุรักษนิยมเห็นว่ามีผลดีที่สุดในทางฝึกปรือความคิดจิตใจพลเมืองให้รู้จักการรวมตัวกันเพื่อป้องกันรักษาสิ่งเหล่านี้ที่เคยมีอยู่แล้วและเป็นของพวกเขาเองอย่างเข้มแข็ง มากกว่าที่จะไปหวังให้พวกเขามารวมตัวกันเพื่อปกป้องสิทธิที่พวกเขาไม่ได้คุ้นชินมาก่อนหรือการปกป้องรักษาหลักการความคิดแบบนามธรรมสากลในนามของใครที่ไม่ได้นับเป็นสมาชิกในหมู่พวกเขา แล้วเธอจะใช้กฎหมายไปบังคับหรือบีบให้เขายอม เขาก็หาได้ยอมหรือเชื่อฟังไม่

ดูแต่คนเมืองเชียงใหม่เถิด เขาไม่จำเป็นต้องอ่านคำอภิปรายหรือจดหมายของ Burke เกี่ยวกับชาวอาณานิคมในอเมริกาเลย แต่พวกเขาก็ร่วมใจรวมตัวกันออกมาปกป้องป่าดอยสุเทพกันอย่างแข็งขันเมื่อเขาเห็นว่ากำลังมีการอ้างกฎหมายมาทำเรื่องอันขัดกับประเพณีของเขา หรือเรื่องการรับคนอพยพผู้ลี้ภัยในยุโรปและสิทธิของคนเหล่านี้ในสังคมใหม่ก็ยังจะเป็นประเด็นให้ประชาธิปไตยกับหลักการสากลเสรีนิยมคัดง้างกันไปอีกนาน

พวกอนุรักษนิยมเป็นพวกที่เข้าใจความสำคัญของจิตวิทยาและอารมณ์มนุษย์ในทางการเมืองดีมาก และรู้ว่าสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ในทางการเมืองอาจจะเป็นไปได้ขึ้นมาก็ได้ ถ้าหากใครรู้จักใช้อารมณ์ความรู้สึกของคนมาขับเคลื่อน ถ้า Burke ได้มาอ่านข้อค้นพบของ Amos Tversky และ Daniel Kahneman ในเรื่องที่ว่ามนุษย์ยินดีจะเสี่ยงยอมสูญเสียและจ่ายราคาเพื่อปกป้องในสิ่งที่พวกเขามีอยู่หรือครอบครองไว้แล้ว มากกว่าที่จะยอมเสี่ยงเพื่อสิ่งที่ยังไม่ได้มา Burke ก็คงขอบใจคนทั้งสองที่อุตส่าห์หาข้อยืนยันทางวิชาการมาสนับสนุนความเห็นของเขา และพวกอนุรักษนิยมก็ใช้ความรู้ข้อนี้ไปจัดความเข้าใจของคนต่อไปว่าสิ่งที่พวกเขาเคยมีอยู่ เคยเป็นของพวกเขามา จะสูญเสียไปเพราะความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

เธอชอบ Tocqueville ไม่ใช่หรือ ฉันอ้างเขาในมติข้อนี้ให้เธอไว้ก็แล้วกัน เพราะเห็นว่าออกจะใกล้เคียงกับสิ่งที่พวกอนุรักษนิยมมองความสำคัญของอดีต ไม่ได้ค้นอ้างอิงให้เธอ แต่เธอคงรู้ว่าจะหาได้ที่ไหน Tocqueville เขียนไว้อย่างนี้ว่า ถ้าหากอดีตหยุดส่องทางให้แก่อนาคตเสียแล้ว ความคิดจิตใจคนก็ได้แต่ดุ่มเดินไปในความมืดมิด

ข้อที่สาม พวกอนุรักษนิยมเห็นตรงกันในความสำคัญของทรัพย์สินส่วนบุคคลที่ต้องรักษาไว้เพื่อให้เป็นหลักประกันของเสรีภาพส่วนบุคคล แต่เหตุผลสนับสนุนที่เสนอออกมา พวกเขาให้ต่างๆ กันไป

ฉันเสนอให้เธอฟังอย่างนี้ก็แล้วกัน เธอเองทำงานวิชาการ ใช่ไหมว่าในการทำงานวิชาการถ้าเธอยังไม่พ้นความกังวลในเรื่องการมีรายได้พอกิน และยังต้องสาละวนกับเรื่องการหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวอยู่เช้าค่ำ การเป็นตัวของตัวเองและการมุ่งแสวงหาหรือถ่ายทอดความรู้ชนิดที่ไม่มีผลตอบแทนทางวัตถุโดยตรงเป็นชิ้นเป็นอันเข้ามาเกี่ยวข้องก็ยากอยู่เหมือนกันที่จะเป็นไปได้ หรือจะทำออกมาได้ดี ใครจะมาอ่านเช็คสเปียร์เพื่อชื่นชมเช็คสเปียร์กับเธออยู่ได้ทุกเช้าค่ำถ้าชีวิตยังต้องกรำแดดกรำฝนออกไปทำงาน ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยเป็นที่ให้ยืมการมีชีวิตอิสระชั่วคราวสำหรับนิสิตที่เข้ามาเรียน หรือถ้าเธอได้อ่านประวัติชีวิตของนักวิทยาศาตร์ชั้นนำอย่าง Schrödinger ที่ให้เธอไป ให้สังเกตว่าเงื่อนไขการครองชีวิตวิชาการที่มุ่งความรู้บริสุทธิ์ในสถาบันวิจัยวิชาการชั้นสูงดำรงไว้ได้ด้วยเงินอุดหนุนและความมั่งคั่งอันเกิดจากการสั่งสมรักษาทรัพย์สินส่วนบุคคล

พูดแบบนี้คงถูกเธอว่า เพราะฐานะอย่างฉันจึงตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ได้ ก็คงจะจริง และคงเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ปัญญาชนส่วนใหญ่ในแวดวงของเธอ ไม่มีใครชอบ Hayek แต่ถึงอย่างนั้น ฉันอยากให้เธอหาโอกาสอ่านวิธีที่เขาให้เหตุผลในหนังสือ The Constitution of Liberty ที่โยงความไม่เท่าเทียมกันในช่วงเวลาขณะหนึ่งอันเกิดจากทรัพย์สินและความมั่งคั่งส่วนบุคคลกับบ่อเกิดของสิ่งน่าพึงปรารถนาอันมีคุณค่าทางสุนทรียะ รสนิยม ความคิดความเชื่อ ศิลปกรรม นฤมิตกรรม ดุริยางค์ไพเราะ การศึกษาค้นคว้าและวิจัย ไปจนถึงการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ

แต่ฉันก็ต้องยอมรับว่าสังคมตะวันตกอย่างที่เขาอยู่มานั้นมีสถาบันทางสังคมที่พัฒนามาในทางที่ช่วยถ่ายโอนความมั่งคั่งส่วนบุคคลแปรออกมาสร้างสรรค์ของบำรุงจิตใจและปัญญาความคิดเหล่านี้อยู่มาก และ Hayek ไม่ได้พูดถึงช่วงชั้นระหว่างประเทศที่ส่งผลต่ออิทธิพลที่สังคมแต่ละแห่งมีไม่เท่ากันในการผลิตและกำหนดคุณค่าทางความคิด ความรู้และความงาม ความมั่งคั่งในสังคมที่ไม่ได้อยู่ในช่วงชั้นบนของการผลิตและเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงความคิดและรสนิยม จึงอาจผลิตแต่พวก parvenu ออกมาวิ่งไล่ไขว่ตามสินค้าที่ใช้แสดงสถานะและรสนิยมสูงส่งพร้อมๆ กับที่ผลิตแรงงานราคาถูกเข้าสู่สายพานการผลิตสินค้าราคาถูกส่งให้ตลาดโลก

ลักษณะความคิดของพวกอนุรักษนิยมข้อสุดท้ายตามความเข้าใจของฉัน เธอเองก็ได้เขียนไว้บ้าง แต่ฉันเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญ ที่ควรเน้นให้ชัดยิ่งขึ้น

นั่นคือ พวกอนุรักษนิยมเห็นความสำคัญของระเบียบทางศีลธรรม ที่สมาชิกของสังคมหนึ่งๆ ถ้าจะให้อยู่ร่วมกันได้เป็นปกติสุข จะต้องมีหลักอันไม่พึงล่วงละเมิดเกี่ยวกับถูกผิดดีเลวเคารพยึดถืออยู่ร่วมกัน ถ้าหากขาดหลักยึดถือที่ตรงกันในระเบียบทางศีลธรรมนี้ขึ้นมาเมื่อไร ความขัดแย้งและความต้องการที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายต่างๆ อันเป็นของปกติในการอยู่ร่วมกันในสังคม ก็จะหาทางออกตามปกติด้วยวิธีการแข่งขัน ต่อรอง หรือเจรจาเพื่อหาข้อตกลงที่จะได้รับการยอมรับร่วมกันได้ยากมาก ไม่ว่าจะเป็นความเห็นพ้องในกระบวนการ หรือในผลลัพธ์ก็ตาม เพราะเกณฑ์เกี่ยวกับความถูกต้องที่ชอบด้วยหลักการและโดยธรรม แต่ละฝ่ายยึดถือไม่ตรงกันเสียแล้ว

ในจดหมายฉบับก่อน เธอเล่าว่างานวิจัยที่เธอกำลังทำอยู่มีอาจารย์นักปรัชญาการเมืองอยู่ในทีมด้วย ฉันมั่นใจว่าเขาจะเข้าใจมติของพวกอนุรักษนิยมตามที่ว่ามา และจะเห็นด้วยกับความคิดของพวกอนุรักษนิยมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อนี้แน่ จึงขอยกข้อความจากยูไธโฟรในสำนวนแปลของเขามาวางให้ชม เผื่อว่าจะเพิ่มความเลื่อมใสของเธอในเหตุความสำคัญต่อสังคมการเมืองของระเบียบทางศีลธรรมขึ้นมาได้บ้าง ข้อความตอนที่ว่านั้น เขาแปลไว้ดังนี้

~~~~~~~~~~

“โสเกรตีส: … ถ้าเราเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของขนาดของสิ่งต่างๆ เราก็ควรยุติการเห็นไม่ตรงกันนั้นเสียด้วยการวัดใช่ไหม?

ยูไธโฟร: ใช่

โสเกรตีส: และข้าพเจ้าก็คิดว่าเราควรจะตกลงกันได้ในเรื่องของน้ำหนักที่แตกต่างกันด้วยการชั่งใช่ไหม?

ยูไธโฟร: แน่นอน

โสเกรตีส: แต่การเห็นไม่ตรงกันในเรื่องอะไรเล่า ที่เราไม่สามารถจะตกลงกันได้และทำให้เราเป็นศัตรูกัน และโกรธขึ้งซี่งกันและกัน? บางทีท่านอาจจะไม่สามารถให้คำตอบได้ทันที ขอให้ข้าพเจ้าได้ลองแนะดู ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับถูก-ผิด สูงส่ง-ต่ำทราม และดี-เลว ดอกหรือ? ปัญหาเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่หรือที่ท่านและข้าพเจ้าและคนอื่นๆ ต้องกลายเป็นศัตรูกัน เมื่อเรากลายเป็นศัตรูกันนั้น เป็นเพราะเราเห็นแตกต่างกัน และไม่สามารถตกลงกันได้อย่างเป็นที่พอใจในเรื่องเหล่านี้ มิใช่หรือ?”

~~~~~~~~~~~

ในขณะเดียวกัน ก็ไม่ใช่ของแปลกประหลาดอะไรและมีให้เห็นตลอดมาที่คนรุ่นใหม่แต่ละรุ่นๆ จะลุกขึ้นวิพากษ์หลักในระเบียบทางศีลธรรมที่ทำงานอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา และรวมตัวช่วยกันรณรงค์ผลักดันที่จะยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงหลักที่พวกเขาเห็นว่าไม่เข้าท่าเข้าทางหลายอย่าง นิสิตหลายคนของเธอก็เป็นแบบนี้กระมัง พวกอนุรักษนิยมถ้าไม่ต้านการเคลื่อนไหวแบบนี้ ก็คงจะไม่สนับสนุนนัก

แต่ถ้ามีใครบอกว่า เมื่อระเบียบทางศีลธรรมที่เป็นอยู่เต็มไปด้วยข้อกดขี่บังคับหรือมอมเมาที่ไม่เข้าท่า แล้วเท่ากับว่าศีลธรรมทั้งหมดเป็นเรื่องเหลวไหลใช้ไม่ได้ หรือไม่มีความจำเป็นที่ความสัมพันธ์ของคนในสังคมจะต้องใช้ศีลธรรมมาเป็นเครื่องกำกับอีกต่อไป โดยคิดไปว่าจะอาศัยลำพังแต่เพียงกฎหมายและการแก้เปลี่ยนกฎหมายเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว พวกอนุรักษนิยมจะลุกขึ้นมาชี้ว่านี่เป็นความหลงอย่างร้ายทีเดียว

พูดเรื่องนี้แล้วทำให้นึกถึงลี กวน ยู ฉันไม่แน่ใจว่าเขาได้อ่านปรัชญาการเมืองโบราณขนาดไหน แต่ต้องนับว่าอนุรักษนิยมแบบเขารู้ความสำคัญของการมีและความจำเป็นในการรักษาระเบียบทางศีลธรรมที่พลเมืองเห็นพ้องกันข้อนี้ดีอยู่ เกาะขนาดเล็กแบบสิงคโปร์นั้น ถ้าพลเมืองแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเพราะความแตกแยกในหลักถูกผิดดีเลวจนทำให้กลายเป็นศัตรูต่อกันขึ้นมา ความตึงเครียดในสังคมจะยกระดับทวีขึ้นเร็วและจะคุมไว้ไม่ให้ลุกลามออกไปได้ยากทีเดียว

ส่วนสังคมไหนที่ความขัดแย้งทางความคิดในหมู่พลเมืองเกี่ยวกับหลักและระเบียบทางศีลธรรม ที่ใช้กำกับการครองชีวิตและความสัมพันธ์ของพวกเขา ได้สร้างความแตกแยกเกิดขึ้นมาแล้ว ที่จะให้ความแตกแยกนั้นกลับคืนไปปรองดองกันเหมือนอย่างเก่าทำสำเร็จได้ยากนักหนา มีแต่จะต้องสู้กันเพื่อยกเปลี่ยนสภาพไปสู่ภาวการณ์ใหม่ ซึ่งพวกอนุรักษนิยมไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงแบบนั้นจะก้าวหน้าพาไปใกล้เป้าหมายนามธรรมสากลที่พากันหวังไว้แค่ไหน และบนรายทางของการต่อสู้นี้ การบีบบังคับที่จะทำต่อกันจะเรียกราคาความสูญเสียขึ้นมาสักเท่าใด

ที่ฉันว่ามาดังนี้ จะมีส่วนไหนที่มี elective affinities เข้ากับความคิดของเธอได้ ก็บอกมาให้ฉันรู้บ้าง

ทีนี้ มาถึงเรื่องที่สอง เธอเล่าว่าทุกเดือนต้องเขียนบทความเกี่ยวกับการอ่าน แต่เขียนแล้วใครจะอ่านหรือจะเขียนให้ใครอ่าน เธอไม่ได้บอกมา ถ้าไม่มีใครอ่าน ก็ถือว่าเขียนให้คนเอาใจยากอย่างฉันอ่านก็แล้วกัน ฉันไม่รู้ว่าเธอรู้จัก Romain Rolland นักเขียนฝรั่งเศสไหม วันก่อนเจอความเห็นเกี่ยวกับการอ่านของเขาเข้าพอดี ฉันคิดว่าเหมาะกับเธอเลยจดส่งมาให้ เขาเขียนว่า “No one ever reads a book. He reads himself through books, either to discover or to control himself.” ฉันเห็นว่าความข้อนี้ใช้กับการเขียนได้ด้วยเหมือนกัน

 

หวังว่าจะเป็นที่ชอบใจ

น.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save