fbpx
อ่านเพื่อสังเกต ศุภมิตร ปิติพัฒน์

อ่านเพื่อสังเกต

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกููล ภาพประกอบ

 

1

 

เหตุการณ์การเมืองในสัปดาห์ก่อนค่อนข้างจะพัลวันมาก จนผมนึกเรื่องที่จะเขียนบทความไม่ถูก เพราะมัวแต่ติดตามความพลิกผันของสถานการณ์เช่นเดียวกับท่านทั้งหลาย

แต่เมื่อถอนตัวออกจากข่าวเพราะได้เวลาต้องเขียนบทความ ก็คิดถึงความสำคัญของการอ่านเพื่อสังเกตขึ้นมาได้ และคิดว่าวิธีการอ่านแบบนี้น่าจะเป็นประโยชน์อยู่บ้างที่จะนำมาเสนอ แม้ว่ามันไม่ถึงกับช่วยลดความไม่แน่นอนที่มีอยู่เป็นปกติวิสัยลงไป แต่อย่างน้อยการรู้วิธีอ่านเพื่อสังเกตก็พอช่วยลดความวูบไหวไปตามกระแสที่ปั่นป่วนขึ้นมาในแต่ละระยะได้บ้าง

การอ่านเพื่อสังเกตเป็นทักษะการอ่านพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ช่วยฝึกคนอ่านให้รู้จักมองหาจุดสังเกต และฝึกการตั้งประเด็นในสิ่งที่เห็นจากจุดที่ใช้สังเกตนั้นออกมา ไม่ว่าจะเพื่อการหาข้อสรุปเบื้องต้นให้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร หรือจะเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับการคิดและติดตามพิจารณาเหตุปัจจัยต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนั้นต่อไปก็ตาม นิสิตที่ต้องเขียนรายงานหรือทำวิทยานิพนธ์สารนิพนธ์จะได้รับการฝึกฝนให้รู้จักวิธีอ่านเพื่อสังเกตนี้กันทุกคน ส่วนหนึ่งเป็นการฝึกอ่านจากเหตุปัจจัยในสถานการณ์จริง จากการอ่านข้อมูลที่ผู้เขียนผู้วิจัยลงไปเก็บด้วยตัวเองในพื้นที่ อ่านจากข่าวหรือจากข้อมูลตัวเลขสถิติต่างๆ ที่มีคนจัดทำไว้ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการฝึกอ่านตั้งข้อสังเกตจากข้อเสนอ/ข้อค้นพบที่อยู่ในรายงานหรือผลงานวิชาการของคนอื่นๆ เพื่อนำมาประมวลแล้วคิดต่อจากนั้นออกไป

ขอเก็บการอ่านสังเกตจากสถานการณ์จริงไว้แนะนำในโอกาสต่อๆ ไปนะครับ บทความคราวนี้ผมขออนุญาตนำเสนอวิธีอ่านเพื่อสังเกตสำหรับอ่านงานวิชาการแก่นิสิตผู้เริ่มเรียนและต้องสำรวจงานในหัวข้อเดียวกันที่มีผู้ทำมาก่อน หรืออ่านงานวิชาการซึ่งให้ข้อค้นพบในประเด็นที่เป็นความสนใจของนิสิต ซึ่งจัดเป็นการฝึกอ่านเพื่อสังเกตในขั้นต้น ก่อนจะก้าวขึ้นไปอ่านสังเกตเหตุปัจจัยจากสถานการณ์จริงหรือในภาคสนามต่อไป

อนึ่ง ควรติดฉลากไว้แต่ต้นตรงนี้ว่า ผมเขียนคำแนะนำการอ่านเพื่อสังเกตนี้จากประสบการณ์การอ่านบทความวิชาการของตัวเองที่จำกัดและการนำประสบการณ์มาแบ่งปันอาจเป็นประโยชน์อยู่บ้างก็สำหรับคนที่อยู่ในสายรัฐศาสตร์ การเมืองเปรียบเทียบ หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นหลักนะครับ

 

2

 

การอ่านบทความหรือหนังสือที่ได้ตั้งคำถาม ตั้งกรอบการวิเคราะห์ และเสนอคำอธิบายให้ความเข้าใจได้ดี แล้วเราตั้งข้อสังเกตตามต่อจากนั้น จะช่วยให้เราคิดต่อยอดออกไปได้อีกหลายทาง และเห็นอะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจและใช้ประโยชน์สำหรับงานของเราได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งเห็นช่องว่างที่ยังเปิดให้แก่การตั้งคำถามและการเสนอคำอธิบายใหม่ๆ ออกมา และอาจกล่าวได้ว่า การอ่านเพื่อสังเกตเป็นขั้นที่นำไปสู่การอ่านเพื่อวิพากษ์หรือเพื่อการวิจารณ์ต่อไป

ในปี 1963 Bob Dylan เคยให้สัมภาษณ์ในรายการวิทยุของ Studs Terkel เกี่ยวกับงานเขียนเพลงของเขาในช่วงแรกๆ โดยเปรียบให้เห็นสถานการณ์ว่า มันเหมือนกับบอร์ดกระดานหนึ่งที่มีตะปูตอกติดไว้เต็มไปหมด คนที่มาถึงบอร์ดแผ่นนั้นทีหลังจะรู้ว่ามันเหลือที่น้อยลงๆ สำหรับตะปูตัวใหม่ที่เขาจะตอกลงไป แต่ก็หวังว่ามันยังจะพอมีที่ว่างเหลืออยู่ เพราะถ้าหากเราพอใจอยากเห็นงานของเราเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในบอร์ดแผ่นนั้น ไม่ใช่บนไม้แผ่นใหม่ เราก็ต้องมองหาที่ว่างที่เหลืออยู่นั้นให้เจอ[1]

บอร์ดที่ Dylan พูดถึงก็เหมือนหัวข้อบทความ รายงาน หรือวิทยานิพนธ์ของเรา เราไม่ใช่คนแรกที่มาถึงหัวข้อวิจัยนี้ และเมื่อไม่ใช่คนแรก ที่ว่างบนบอร์ดสำหรับจะปักหมุดผลงานของเราลงไปเคียงกับงานอื่นๆ ที่คนทำมาแล้วก่อนหน้า ก็มีเหลือน้อยลงสำหรับคนมาทีหลัง การสังเกต และการรู้วิธีตั้งข้อสังเกตจากงานเดิมที่มีอยู่แล้วบนบอร์ด จึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้เรามองเห็นว่ายังมีช่องว่างตรงไหนที่พอเหมาะ  เหลือให้สำหรับการเสนอผลงานของเราได้ปักหมุดลงไปบนกระดานแผ่นนั้น

ในการสาธิตวิธีอ่านเพื่อสังเกต จำเป็นต้องหาตัวอย่างมาใช้ ทีแรกผมมองหาหัวข้อและตั้งใจจะใช้งานที่เป็นที่รู้จักแพร่หลายดีแล้ว เช่น สองนคราประชาธิปไตย ของศาสตราจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์  แต่ก่อนลงมือเขียนบทความนี้ รองศาสตราจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์ แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กรุณาส่งหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับการเมืองไทยที่เธอเป็นหนึ่งในผู้เขียนมาให้ชม เป็นหนังสือที่ ISEAS สิงคโปร์เพิ่งตีพิมพ์ออกมาใหม่ล่าสุด มี Michael J. Montesano, Terence Chong และ Mark Heng ร่วมกันเป็นบรรณาธิการ หนังสือรวมบทวิเคราะห์ของนักวิชาการชั้นนำทั้งไทยและเทศเล่มนี้ตั้งชื่อได้อย่างน่าติดตามว่า After the Coup: The National Council for Peace and Order Era and the Future of Thailand

ผมอ่านบทความของอาจารย์เวียงรัฐในเล่มแล้วเห็นว่าเหมาะแก่การใช้เป็นตัวอย่างของเรามาก เพราะเนื้อหาในบทมีจุดให้สังเกตอยู่หลายแห่ง และเนื้อหาในแต่ละแห่งก็ควรแก่การตั้งข้อสังเกตสำหรับศึกษาต่อไปได้อีกมาก ไม่เฉพาะแต่เรื่องการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งก่อนและหลังรัฐประหารอันเป็นหัวข้อของบทความโดยตรงเท่านั้น[2] แต่ผมอ่านแล้วยังได้ข้อสังเกตมาใช้ในการพิจารณาการทำงานของรัฐไทย ทั้งในยุคร่วมสมัยและในพัฒนาการที่ผ่านมาของรัฐ และความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมไทยด้วย จึงได้ขออนุญาตอาจารย์เวียงรัฐใช้งานนี้ของอาจารย์มาเป็นตัวอย่างสาธิตวิธีอ่านเพื่อสังเกต อาจารย์กรุณาให้ใช้ได้ด้วยความยินดี ต้องขอขอบคุณอาจารย์เวียงรัฐไว้ ณ ที่นี้ครับ

 

3

 

การอ่านงานวิชาการของคนอื่นเพื่อตั้งข้อสังเกตเป็นการอ่านที่ละเอียดกว่าการอ่านเอาเรื่อง แต่จำเป็นต้องใช้การอ่านเอาเรื่องนั้นเองเป็นจุดตั้งต้นสำคัญ นั่นคือ ต้องอ่านงานนั้นจนเข้าใจดี สามารถเขียนบรรยายสรุปใจความสำคัญออกมาได้อย่างชัดเจนเท่าที่จะเหมาะสมกับเนื้อที่และเนื้อหาของเรื่องที่เรากำลังเขียน หรืออย่างน้อยจะต้องบอกได้ว่า งานดังกล่าวตั้งคำถามอะไร และเสนออรรถาธิบายอะไรออกมา ด้วยวิธี หรือแนวทางการวิเคราะห์อย่างไร

ส่วนที่ผมอยากแนะนำเพิ่มเติมตรงนี้มีอยู่ว่า การอ่านเอาเรื่องแล้วเขียนบรรยายสรุปงานของคนอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ในงานของเราต่อไปนั้น จริงๆ แล้วเราสามารถจัดเนื้อหาที่เขาเขียนออกมานำเสนอได้เป็นหลายแง่ หลายแบบ และในขนาดความสั้นความยาวแตกต่างกัน  แต่จะเป็นแบบไหน และเราจะเลือกส่วนไหนของงานนั้นออกมาไฮไลต์เป็นจุดสังเกต และจะตั้งข้อสังเกตอะไรต่อจากนั้นตามมา ส่วนหนึ่งแน่นอนว่า ขึ้นอยู่กับข้อเสนอต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในเนื้อหาของงานนั้นเอง    แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน ยังขึ้นอยู่กับประเด็นที่เป็นจุดมุ่งหมาย หรือเป็นวัตถุประสงค์ในงานวิจัยของเราเอง ที่เป็นตัวกำหนดว่า เราจะเลือกพิจารณาและนำเสนองานนั้นๆ ของคนอื่นออกมาในบริบทไหน และในแง่ไหน แบบไหน

คนทำงานวิจัย 2 คน ที่มีวัตถุประสงค์หรือมีประเด็นวิจัยแตกต่างกัน ถึงพวกเขาจะอ่านบทความเดียวกัน ก็เป็นไปได้มากว่า คนทั้ง 2 จะนำเสนอผลงานเดียวกันนั้นออกมาไม่เหมือนกัน และไม่จำเป็นว่าต้องเหมือนกัน เพราะประเด็นในใจของเขาแต่ละคนที่มาจากวัตถุประสงค์การวิจัยแตกต่างกัน จะทำให้เขาแต่ละคนเห็นจุดสังเกตไม่เหมือนกันในงานเดียวกันที่พวกเขาอ่าน และเป็นไปได้มากว่า การตั้งข้อสังเกตที่จะตามมาจากนั้น จะแตกต่างกันไปได้มากด้วย

ถ้าใช้ความเปรียบของ Dylan ข้างต้นก็อาจพูดให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า เราเองที่เป็นคนเลือกบอร์ดสำหรับจะปักหมุดผลงานของใครๆ ที่เราเห็นว่ามีความสำคัญลงไปบนบอร์ดแผ่นนั้น เพื่อที่เราจะพิจารณาต่อไปว่า เมื่อบอร์ดนั้นประกอบไปด้วยผลงานใหญ่น้อยเหล่านั้นแล้ว มันยังเหลืออะไรให้เราทำต่อได้อีกบ้าง การเขียนบรรยายเพื่อนำเสนอสารัตถะของผลงานหนึ่งๆ เมื่อมันถูกมองถูกพิจารณาในบอร์ดที่แตกต่างกันโดยการจัดของเราเอง มันก็จะให้ภาพออกมาไม่เหมือนกันทีเดียวนัก

เราลองมาดูตัวอย่างจากงานของอาจารย์เวียงรัฐก็ได้ครับ ว่าการตั้งจุดสังเกตจากประเด็นในใจที่ไม่เหมือนกันจะส่งผลให้การนำเสนองานเดียวกันนั้นบรรยายออกมาได้แตกต่างกันอย่างไร

ถ้าหากเป้าหมายที่เป็นประเด็นในใจของเราเป็นการนำเสนอภาพรวมเนื้อหาของหนังสือ After the Coup ทั้งเล่ม ก่อนที่จะลงมือวิจารณ์ต่อไป การนำเสนอบทความอาจารย์เวียงรัฐว่าด้วยการเมืองเรื่องการปฏิรูปและพลังต้านทานการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ก็ควรตั้งจุดสังเกตที่เมื่อบรรยายสรุปจากจุดนั้นออกมาแล้ว ทำให้เราได้ข้อค้นพบจากงานของอาจารย์ ที่สามารถนำไปเทียบเคียงกับเนื้อหาของบทความอื่นๆ ในเล่มเดียวกันได้ว่า ข้อเสนอของอาจารย์เวียงรัฐ เมื่อพิจารณาจากกรณีกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่น  ให้ความเข้าใจการทำงานในเชิงสถาบันของรัฐไทยหลังรัฐประหารไว้อย่างไร การทำงานส่งผลแบบนั้นก่อให้เกิดผลลัพธ์แบบไหนต่อการกระจายอำนาจ ต่อพลวัตการเมืองในท้องถิ่นหลังจากรัฐประหาร ต่อพลังหรือความเสื่อมถอยของอำนาจรัฐศูนย์กลางในทางอุดมการณ์

และที่สำคัญ ข้อค้นพบของอาจารย์เกี่ยวกับการทำงานของกลไกของรัฐในเชิงสถาบันดังกล่าว เมื่อนำไปเทียบเคียงกับข้อเสนอของบทความอื่นในเล่มเดียวกัน ที่ใช้จุดวิเคราะห์แตกต่างออกไป เช่น ขบวนการเคลื่อนไหว ชนชั้น หรือ อัตลักษณ์ มันชี้ให้เราเข้าใจถึงพลังที่ขัดกันอยู่ในสนามการเมืองไทยปัจจุบัน และอนาคตของความขัดแย้งกับการต่อสู้ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นต่อไปอย่างไร

แต่ถ้าหากเป้าหมายหรือประเด็นในใจของเราเป็นอีกอย่าง ไม่ใช่เรื่องการเมืองไทยหลังรัฐประหาร เราก็ไม่จำเป็นต้องอ่านและนำเสนองานของอาจารย์เวียงรัฐโดยเทียบเคียงกับบทความอื่นๆ ในเล่มเดียวกันนี้ เช่น ถ้าหากเราสนใจศึกษาความคืบหน้าและชะงักงันตลอดจนอุปสรรคปัญหาในการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในแง่นี้บทความของอาจารย์เวียงรัฐจะถูกอ่านแยกออกมาจากบทอื่นๆ ในหนังสือ และถูกพิจารณาเป็นต่างหากบนบอร์ดอีกแผ่นหนึ่ง เคียงคู่ไปกับงานของนักวิชาการคนอื่นๆ ที่ศึกษาเกี่ยวกับการกระจายอำนาจการปกครองของไทย

การตั้งจุดสังเกตของเราสำหรับนำเสนองานของอาจารย์ออกมา ก็จะเป็นจุดสังเกตที่ช่วยในการเทียบเคียงคำอธิบายการกระจายอำนาจของอาจารย์กับงานของคนอื่นๆ ที่ศึกษาเรื่องเดียวกัน  ที่เราคัดมาทบทวนร่วมกันบนบอร์ดที่ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นของไทย ว่างานเหล่านั้นพิจารณาตัวแปรอะไรว่าเป็นปัจจัยผลักดัน หรือเป็นปัจจัยต้านทานการปฏิรูป เป็นตัวแปรจากระดับการวิเคราะห์ใดบ้าง และข้อค้นพบของงานเหล่านั้นมีนัยสำคัญในเชิงทฤษฎีกับข้อเสนอในภาคปฏิบัติแตกต่างหรือใกล้เคียงกับงานของอาจารย์เวียงรัฐในจุดใดบ้าง

จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นว่า การอ่านเอาเรื่องด้วยประเด็นในใจไม่เหมือนกัน หรือด้วยจุดมุ่งหมายที่จะนำไปใช้ต่อต่างกัน จะมีผลต่อการตั้งจุดสังเกตสำหรับนำเสนองานนั้นออกมา แน่นอนว่า ถ้าผู้สังเกตมีความสามารถอ่านเอาเรื่องได้ดี ไม่ว่าเขาจะอ่านด้วยวัตถุประสงค์อะไร ก็จะไม่พลาดที่จะสังเกตเห็นข้อเสนอสำคัญๆ ที่ปรากฏในงานที่อ่าน

เช่น ในบทความตัวอย่างของอาจารย์เวียงรัฐ อาจารย์ให้ความสำคัญแก่การวิเคราะห์เชิงสถาบันต่อการทำความเข้าใจการทำงานของรัฐไทย ข้อเสนอและการวิเคราะห์ของอาจารย์ในส่วนนี้ จึงควรปรากฏออกมาเป็นจุดสังเกตที่ได้ตรงกันไม่ว่าจะสรุปสารัตถะงานของอาจารย์จากการอ่านและการใช้งานของอาจารย์ด้วยประเด็นในใจอะไร

ที่เขียนมาค่อนข้างยาวก็เพราะอยากบอกข้อพึงระวังที่ผมใช้เตือนตัวเองเสมอและบอกนิสิตที่เพิ่งเริ่มต้นว่า การอ่านเอาเรื่องโดยมีแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งมาเป็นธงนำโดยลำพัง และพิจารณาอะไรๆ ที่อ่านพบไปตามแนวคิดธงนำนั้น ไม่ใช่ถึงกับจะห้ามว่าไม่ควรทำอย่างนั้น แต่ข้อพึงระวังคือ การใช้แนวคิดเดียวเป็นธงนำในการอ่าน อาจทำให้พลาดในการอ่านเอาเรื่อง อันเป็นขั้นตอนแรกสุดของการอ่านเพื่อสังเกต เพราะอาจทำให้จับประเด็นสำคัญในงานนั้นไม่ได้ หรือไม่ได้หมด หรือมองข้ามข้อเสนอจากฐานคิดอื่นๆ ที่น่าพิจารณาไปอย่างน่าเสียดาย

เช่น ถ้าอ่านงานในหนังสือรวมบทความเกี่ยวกับการเมืองไทยหลังรัฐประหารข้างต้นโดยใช้แนวคิดอัตลักษณ์อย่างเดียวเป็นธงนำ ก็อาจทำให้มองปัจจัยอื่นไม่เห็นถนัด  และไปลดทอนความสำคัญของคำอธิบายที่เสนอให้พิจารณาปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองไทยในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมาจากมิติอื่นๆ  ความพยายามที่จะสวมการอธิบายที่ใช้แนวคิดอัตลักษณ์ลงไปคลุมการทำความเข้าใจความขัดแย้งและความชะงักงันทางการเมืองไทยจากฐานคิดอื่นที่แตกต่างออกไป ไม่มากก็น้อย  ย่อมก่อให้เกิดเป็นความจำกัดในการอธิบายสภาพความเป็นจริง และละเลยที่จะพิจารณาการทำงานของเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่อาจพลิกผลและผลลัพธ์ทางการเมืองให้เป็นไปได้ในหลายทางกว่าที่จะมองด้วยเลนส์อัตลักษณ์เป็นธงนำ

อนึ่ง หากใครมีโอกาสได้อ่านบทนำของหนังสือ After the Coup อยากให้ท่านลองพิจารณาส่วนที่บรรณาธิการเขียนสรุปนำเสนองานของอาจารย์เวียงรัฐไว้ด้วย[3] ก็จะเห็นตัวอย่างเทียบเคียงกับที่ผมได้เขียนมานี้ อย่างได้ความเข้าใจที่ชัดขึ้นครับ

เขียนมาถึงครึ่งทาง ผมขอสรุปเกี่ยวกับกรรมวิธีส่วนแรกก่อนพาท่านเข้าสู่ตอนต่อไปว่า กระบวนท่าการอ่านเพื่อสังเกต ตั้งต้นที่การอ่านเอาเรื่อง โดยมีประเด็นในใจของคนอ่านเป็นตัวกำกับการมองหาเรื่อง หรือมองหาจุดสังเกตจากเรื่องที่อ่าน เพื่อตั้งประเด็นอันควรแก่การสังเกตจากแต่ละจุดนั้นแล้วบรรยายออกมา ซึ่งตอนที่ 4 จะเป็นการสาธิตกรรมวิธีในส่วนนี้

และอีกข้อหนึ่ง คือ ให้ระวังอคติที่ยึดแนวคิดใดแนวคิดเดียวเป็นธงนำไว้ล่วงหน้าในการอ่านงานของคนอื่น มันจะบังเราไว้แต่แรกให้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นจากงานเหล่านั้นน้อยกว่าที่ควรจะได้ เพราะเราจะมองหาและเลือกจะเห็นแต่ส่วนที่เข้ากับแนวคิดที่เราใช้เป็นธงนำ

 

4

 

ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าบทความหรือผลงานวิชาการหนึ่งๆ อ่านหาจุดสังเกตได้เป็นหลายแบบ ตามแต่ว่าคนอ่านมีความสนใจมองหาอะไร เมื่อผมอ่านบทความของอาจารย์เวียงรัฐ ผมอ่านด้วยประเด็นในใจที่ต่างจากคนสนใจศึกษาการเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่น และต่างจากนักวิชาการที่สนใจการเมืองไทยภายใต้ระบอบคสช. งานวิจัยที่ผมกำลังทำอยู่เกิดประเด็นที่ทำให้ต้องหาทางอธิบายว่ารัฐไทยเคยมีประสิทธิภาพเพียงใดและยังคงมีประสิทธิภาพเช่นนั้นอยู่หรือไม่ในการรักษาสถานภาพเดิม ความสนใจของผมในระยะนี้จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับรูปการณ์ของรัฐไทยและพัฒนาการของมันในเส้นทางการเปลี่ยนไปสู่รัฐสมัยใหม่ ครั้นได้อ่านงานของอาจารย์เวียงรัฐ ผมก็พบจุดสังเกตหลายแห่งและได้ข้อสังเกตหลายอย่างที่ช่วยผมตอบประเด็นความสนใจดังกล่าวได้

ในการสาธิตตัวอย่างวิธีตั้งข้อสังเกตต่อไป ผมจึงจะขอใช้ประเด็นจากงานวิจัยของผมข้างต้นเป็นตัวกำหนดจุดสังเกตและตั้งข้อสังเกตออกมางานของอาจารย์นะครับ

 

[4.1]

 

วิธีอ่านเพื่อหาจุดสังเกต และตั้งข้อสังเกตจากงานที่เราอ่านออกมาพิจารณา ข้อแรกที่ผมอยากแนะนำคือ พึงให้ความสำคัญแก่กรอบที่ผู้เขียนใช้เฟรมประเด็นปัญหาที่เขาสนใจขึ้นมาศึกษา แม้เรื่องที่เขาสนใจและเป็นประเด็นหลักในการวิเคราะห์ของบทความหรือหนังสือเล่มนั้นอาจไม่ตรงกับหัวข้อที่เรากำลังศึกษาอยู่ ก็ไม่เป็นไร ถ้าหากว่ากรอบที่ผู้เขียนใช้เฟรมประเด็นปัญหานั้นคล้ายกัน ถามคำถามใกล้เคียงกัน หรือมีแนววิเคราะห์ที่เทียบเคียงกันได้กับกรอบที่เราใช้พิจารณาตั้งคำถามและหาคำตอบในงานที่เราทำ  ก็เป็นประโยชน์ที่เราจะใช้วิธีอ่านเพื่อสังเกตอ่านข้อเสนอและข้อค้นพบที่ปรากฏอยู่ในงานนั้นออกมา

อาจารย์เวียงรัฐสนใจการปฏิรูปการเมืองด้านการกระจายอำนาจการปกครอง กับการเมืองการปกครองส่วนท้องถิ่น อันเป็นเรื่องอยู่นอกขอบข่ายความรู้และความสนใจของผมเรียกว่าเกือบจะโดยสิ้นเชิง เพราะแม้แต่การไม่นับกรุงเทพมหานครว่าเป็นจังหวัด ผมก็เพิ่งทราบเมื่อไม่กี่วันก่อนนี่เอง และถ้าบทความของอาจารย์จะศึกษาเรื่องการกระจายอำนาจนี้ไปในแนวทางรัฐประศาสนศาสตร์หรือนิติศาสตร์ผมก็คงไม่ได้อ่านต่อ แต่บทความของอาจารย์จับความสนใจของผมไว้ได้ตั้งแต่ย่อหน้าแรกๆ

อาจารย์เฟรมหัวข้อที่อาจารย์ต้องการศึกษาออกมาด้วยประเด็นที่ให้ความสำคัญแก่การวิเคราะห์รัฐว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับเข้าใจพลวัตและข้อจำกัดของการปฏิรูปการเมืองในเรื่องการกระจายอำนาจ และเสนอว่าลักษณะของรัฐไทย 3 ด้านคือ ระบบราชการรวมศูนย์อำนาจ  ลักษณะความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบอุปถัมภ์ และอุดมการณ์ที่ครองอำนาจนำ (อาจารย์ใช้คำว่า hegemonic ideology)  ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อกระบวนการปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจ และเปิดทางให้แก่พลังที่ขัดขวางกระบวนการปฏิรูปให้สามารถเข้ามาสกัดและยั้งการกระจายอำนาจที่ดำเนินมาร่วม 2 ทศวรรษเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังรัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา

เมื่ออ่านงานของอาจารย์แล้ว ผมได้จุดสังเกตจากคำอธิบายพลังเหนี่ยวรั้งการปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจการปกครองของไทย และนำมาตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับกลไกการทำงานของรัฐไทยรูปแบบต่างๆ ที่ผมจะใช้เทียบเคียงในงานของผมได้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการศึกษากลไกการทำงานของรัฐไทยท่ามกลางแรงผลักดันและแรงกดดันจากความเปลี่ยนแปลงหลากหลายกระแสในการหาทางรักษารูปการณ์ของรัฐ และการดำรงอยู่ของระบอบการเมืองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สิ่งที่ผมอยากแนะนำในจุดนี้ก็คือ การอ่านงานที่ใช้กรอบใกล้เคียงกันในการเฟรมปัญหาขึ้นมาศึกษา แม้หัวข้อที่ศึกษาจะเป็นคนละประเด็น แต่งานหนึ่งก็ช่วยส่องทางให้แก่การวิเคราะห์ของอีกงานหนึ่งได้  การอ่านงานที่เฟรมปัญหาขึ้นมาศึกษาด้วยกรอบที่ใกล้เคียงกันกับเราด้วยการอ่านแบบสังเกต ให้ประโยชน์แก่เราหลายอย่าง ที่สำคัญคือ ช่วยให้เราได้แนวเทียบเคียงสำหรับการวิเคราะห์ที่เราจะทำต่อไป   ช่วยให้เราเห็นวิธีที่ผู้เขียนใช้กรอบนั้นประกอบเหตุปัจจัยขึ้นมาจัดคำอธิบายให้แก่ปัญหาที่เขาศึกษา  และช่วยเราในการเตรียมตั้งค่าระดับความเป็นทั่วไปหรือ generalization ของข้อเสนอและคำอธิบายจากการวิเคราะห์ของเราเองที่ใช้กรอบใกล้เคียงกันนั้น ว่าเมื่อพิจารณาจากงานของคนอื่นๆ แล้ว คำอธิบายที่เราเตรียมเสนอออกมาจากกรอบนั้นจะใช้เป็นแนวทางในการทำความเข้าใจและอธิบายกรณีต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางทั่วไปประมาณไหน

และเพื่อจะได้ประโยชน์ดังที่กล่าวมา เราก็ใช้มันมาเป็นตัวตั้งสำหรับการอ่านเอาเรื่องแล้วตั้งข้อสังเกตต่อจากนั้นออกมาเสียเลย นั่นคือ

> อ่านตั้งข้อสังเกตจากแนวการวิเคราะห์ของผู้เขียน

> อ่านตั้งข้อสังเกตจากเหตุปัจจัยที่ผู้เขียนประกอบขึ้นมาเป็นคำอธิบายในงานนั้น

และ

>อ่านตั้งข้อสังเกตจากการจะนำแนวทางวิเคราะห์และคำอธิบายที่ผู้เขียนเสนอไปประยุกต์ใช้อธิบายและทำความเข้าใจกรณีอื่นๆ

เรามาดูกันนะครับว่าโดยการอ่านเอาเรื่องแล้วใช้กระบวนท่าข้างต้นตั้งข้อสังเกต ผมจะอ่านได้อะไรออกมาบ้างจากบทความเรื่องการกระจายอำนาจของอาจารย์เวียงรัฐ

 

[4.2]

 

การตั้งข้อสังเกตจากแนวการวิเคราะห์ที่ผู้เขียนใช้

หลักการอ่านเพื่อตั้งข้อสังเกตในจุดนี้มีอยู่ว่าการอ่านบทความวิชาการ นอกจากจะอ่านเอาเรื่องทำความเข้าใจโจทย์วิจัยและกรอบความคิดที่ผู้เขียนใช้เฟรมคำถามและเสนอคำอธิบายแล้ว ส่วนสำคัญที่ผู้อ่านบทความต้องอ่านให้เข้าใจ คือ แนวทางดำเนินการวิเคราะห์ของผู้เขียน  เมื่ออ่านจนเห็นชัดแล้ว เราก็จะใช้แนววิเคราะห์ของผู้เขียนนั้นเองมาตั้งข้อสังเกตของเราต่อไป

ในบทความ อาจารย์เวียงรัฐจัดการวิเคราะห์เกี่ยวกับอิทธิพลของรัฐและตัวแสดงกลุ่มต่างๆ ที่ส่งผลต่อจุดเริ่มต้นและพลวัตที่ตามมาของการปฏิรูปการเมืองในเรื่องการกระจายอำนาจ ลงไปในกระบวนการนโยบายแต่ละขั้นตอน  ตั้งแต่กระบวนการผลักดันให้เป็นประเด็นวาระและการตัดสินใจปฏิรูป ไปจนถึงการนำผลของการตัดสินใจไปแปรเป็นยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการ ไปจนถึงขั้นการดำเนินการให้เกิดผล ตามด้วยผลในขั้นตอนนั้นที่พลิกกระบวนการกระจายอำนาจไปอีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากเกิดรัฐประหาร 2557 และอาจารย์ให้ความสำคัญแก่การวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่างๆ ในกระบวนการแต่ละขั้นโดยชี้ให้เห็นความสำคัญของสถาบัน (institutions) ทั้งในด้านที่เป็นตัวบทกฎหมาย การจัดความสัมพันธ์และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน/องค์กรที่อยู่ในขั้นต่างๆ ของกระบวนการนโยบาย  และในด้านที่เป็นบทบาท/วิถีปฏิบัติที่ผู้กระทำการหรือตัวแสดงต่างๆ เข้าใจกันและคาดหวังจากกัน

แนวการวิเคราะห์ของอาจารย์เวียงรัฐ ที่แบ่งการพิจารณาการเมืองของการกระจายอำนาจตามขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการนโยบาย เราใช้มาเป็นจุดตั้งข้อสังเกตได้ทุกขั้นตอน แต่เพื่อไม่ให้บทความนี้เปลี่ยนจากบทความแนะแนวการอ่านไปเป็นอื่นและยาวจนเกินขนาด ผมขอสาธิตการตั้งข้อสังเกตเฉพาะในขั้นตอนแรกของกระบวนการนโยบายตามที่อาจารย์เสนอไว้ ได้แก่ ขั้นตอนการผลักดันประเด็นวาระที่นำไปสู่การตัดสินใจปฏิรูปการเมืองและกระจายอำนาจ ดังนี้ครับ

ข้อเสนอของอาจารย์ในขั้นตอนนี้มีอยู่ว่า ภายหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสในการปฏิรูปออกมา กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในกระบวนการผลักดันให้การกระจายอำนาจเป็นประเด็นวาระสำคัญของการปฏิรูปการเมือง ได้แก่ปัญญาชนนักวิชาการ แม้ธนาคารโลกจะมีส่วนเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องนี้แก่สภาพัฒน์ฯ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มีอิทธิพลมากไปกว่าการบรรจุเรื่องการกระจายอำนาจอยู่ในแผนพัฒนา

จากข้อเสนอนี้ เห็นคำถามที่น่าสนใจน่าไถ่ถามอะไรบ้างไหมครับ? เพราะกระบวนท่าสำคัญของการอ่านเพื่อสังเกตก็อยู่ตรงที่การหยุดตั้งคำถามในจุดอันควรสะดุดใจสังเกตนี่ล่ะครับ ถามแล้วได้ความว่าอย่างไรก็ให้เขียนเรียบเรียงประเด็นออกมาเป็นข้อสังเกตของเรา

ในกระบวนท่านี้ อย่าเพิ่งกังวลกับคำตอบว่าจะเป็นอะไรนะครับ ให้ตั้งคำถามเยอะๆ เพื่อให้ได้ประเด็นอันควรแก่การตั้งข้อสังเกตออกมาก่อน แล้วจากการประมวลข้อสังเกตที่ได้เหล่านั้นเข้าด้วยกัน ภาพความเข้าใจใหม่ หรือแง่มุมที่ซ่อนอยู่ในภาพความเข้าใจเดิมจะปรากฏชัดขึ้นและให้เบาะแสใหม่ๆ แก่เราในการพิจารณาหาคำตอบหรือคำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนั้น

ลองดูตัวอย่างกันนะครับ

จำได้ใช่ไหมครับ ว่าประเด็นความสนใจในงานวิจัยของผมเป็นเรื่องความสามารถในการรักษาสถานภาพเดิมของรัฐไทยเมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดัน/ผลักดันให้เปลี่ยนแปลง ผมจะลองตั้งคำถามจากประเด็นความสนใจนั้นออกมาเป็นข้อสังเกต เรียบเรียงประเด็นไปตามลำดับนะครับ

ถ้ารับข้อเสนอของอาจารย์เวียงรัฐข้างต้นว่าผู้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการกระจายอำนาจให้เป็นประเด็นวาระสำคัญของการปฏิรูปการเมือง และขับเคลื่อนเรื่องนี้ในกระบวนการตัดสินใจจนกระทั่งได้ออกมาเป็นพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ได้แก่นักวิชาการและปัญญาชนคนสำคัญ ก็น่าถามเหมือนกันว่า :-

ก. ถ้าในขั้นตอนแรกของกระบวนการนโยบายมีปัญญาชนนักวิชาการเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ทำไมลำพังเสียงของปัญญาชนนักวิชาการจึงมีพลังพอที่จะผลักดันการกระจายอำนาจจนเกิดการปฏิรูปได้สำเร็จ ใช่หรือไม่ว่าพลังในการผลักดันนโยบายของปัญญาชนนักวิชาการและความสำเร็จดังกล่าวมาจาก authority ของพวกเขาเอง ผสมกับการขานรับของสื่อมวลชนที่แทบทั้งหมดก็ชุมนุมกันอยู่ในส่วนกลางที่เมืองหลวง และเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขเฉพาะของช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ พฤษภาคม 35 ที่เปิดโอกาสช่วงสั้นๆ ให้แก่การปฏิรูป หรือว่าพลังในการเคลื่อนไหวทางนโยบายของปัญญาชนนักวิชาการผู้มีชื่อเสียงเหล่านั้น ที่ออกมาผลักดันการกระจายอำนาจ มีฐานสนับสนุนอันแน่นอนและกว้างขวางจาก/อยู่ในท้องถิ่นที่ได้มีการรวมตัวกันเรียกร้องการปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจ และมีข้อเสนอชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบการกระจายอำนาจของท้องถิ่นอยู่ก่อนแล้ว

ข. เนื่องจากอาจารย์เวียงรัฐไม่ได้เสนอว่าเป็นแบบหลัง และถ้าเราอนุมานว่าเป็นแบบแรก ก็น่าถามต่อว่า ความเป็นจริงข้อนี้ช่วยให้เราเข้าใจจุดอ่อนในขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อกระจายอำนาจของภาคประชาสังคมไทยในเวลานั้น และข้อจำกัดที่มีอยู่ของฝ่ายปัญญาชนนักวิชาการที่สนับสนุนการปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจอย่างไร และใช่หรือไม่ว่า ไม่เพียงแต่รัฐราชการไทยเท่านั้นที่มีลักษณะรวมศูนย์   แต่ในสภาวะรวมศูนย์ของรัฐราชการไทยยังทำให้การก่อรูปขึ้นมาเป็นขบวนการเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมไทย ถ้าจะมีพลังขึ้นมาได้  ก็ยังจำเป็นต้องพึ่งหรือต้องยืมพลังทางสังคมที่ชุมนุมอยู่ในศูนย์กลางอำนาจรัฐ เช่น สื่อมวลชน ปัญญาชนนักวิชาการ ‘ผู้หลักผู้ใหญ่’ รวมทั้งเสียงขานรับสนับสนุนขององค์กรระดับโลกาภิบาลอย่างธนาคารโลกช่วยสร้างกระแสจากภายนอกเข้ามาเสริมพลังผลักดันอีกทางหนึ่ง

ค. ถ้าในจุดตั้งต้นของกระบวนการนโยบาย การผลักดันประเด็นวาระการปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจขาดบทบาทและพลังที่มาจากข้อเรียกร้องของท้องถิ่นเอง มีแต่บทบาทและข้อเรียกร้องที่มาจากนักวิชาการปัญญาชนเป็นหลัก ความเป็นจริงข้อนี้เปิดทางอย่างไรในขั้นต่อไปของกระบวนการนโยบายซึ่งเป็นขั้นการจัดทำแผน และการวางแนวทาง ขั้นตอน วิธีการปฏิรูป ที่ฝ่ายเป็นตัวแทนของรัฐราชการรวมศูนย์จะได้โอกาสพลิกกลับ และใช้ขั้นตอนนี้ในกระบวนการนโยบายเข้ามากำหนดหรือแปรรูปแบบการกระจายอำนาจ ไปในทางที่ช่วยรักษาอำนาจของราชการส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นของฝ่ายมหาดไทย ของฝ่ายกลาโหม หรือกอ.รมน.  ให้ยังคงอำนาจไว้ในราชการส่วนภูมิภาคที่จะเข้ามากำกับส่วนท้องถิ่น

ตัวอย่างคำถามที่เป็นข้อสังเกต 3 ประการข้างต้นเมื่อนำมาประมวลเข้าด้วยกันแล้ว เปิดแง่มุมสำคัญที่ซ่อนอยู่ในการวิเคราะห์ของอาจารย์เวียงรัฐออกมา และการนำแง่มุมดังกล่าวมาขยายให้เห็นชัดทำให้ผมได้ประเด็นน่าสนใจไปคิดต่อในงานวิจัยของผม นั่นคือในบางจังหวะเวลาทางการเมืองที่ฝ่ายรัฐราชการไทยต้องยอมถอยให้แก่แรงกดดันจากพลังทางสังคมของฝ่ายอื่น และเปิดทางให้แก่การปฏิรูปเพื่อคลายอำนาจของศูนย์กลางลงไป แม้ว่าจริงๆ แล้ว ยังคงต้องการจะรักษาความสัมพันธ์ที่ให้อำนาจแก่ศูนย์กลางเหนือส่วนอื่นๆ อยู่เหมือนเดิมไม่คิดอยากจะเปลี่ยน ในสภาวะเช่นนี้  ฝ่ายที่เป็นตัวแทนของรัฐราชการไทยสามารถรอจังหวะอาศัยอำนาจและพลังอิทธิพลในเชิงสถาบันในกระบวนการนโยบาย มาเป็นฐานต้านทานความพยายามของฝ่ายอื่น ที่จะเข้ามากำหนดการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรัฐราชการรวมศูนย์  และถือโอกาสดึงอำนาจที่กระจายไปนั้นกลับคืนสู่การควบคุมของส่วนกลาง เมื่อเงื่อนไขทางการเมืองพลิกเปลี่ยนกลับมา

แง่มุมที่ซ่อนอยู่ในการวิเคราะห์ของอาจารย์เวียงรัฐ (และเป็นแง่มุมที่จะช่วยผมตอบประเด็นความสามารถของรัฐไทยในการรักษาสถานภาพเดิมที่ผมสนใจอยู่ได้ด้วย) ก็คือคำถามที่ว่า  อำนาจและพลังอิทธิพลในเชิงสถาบันที่อยู่ในตัวบทกฎหมาย ในความสัมพันธ์และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงาน/องค์กรที่อยู่ในขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการนโยบาย  และในด้านที่เป็นบทบาท/วิถีปฏิบัติที่ผู้กระทำการหรือตัวแสดงต่างๆ เข้าใจกันและคาดหวังจากกันนั้น ฝ่ายที่เป็นตัวแทนอำนาจรัฐราชการรวมศูนย์ในกระบวนการนโยบายใช้อำนาจและพลังอิทธิพลในเชิงสถาบันแบบนี้ให้ทำงานส่งผล และทำงานได้ผลอย่างไร

และคำถามนี้เองที่ผมใช้เป็นจุดสังเกตของผมในการอ่านเหตุปัจจัยที่อาจารย์เวียงรัฐประกอบขึ้นมาเป็นคำอธิบายการปฏิรูปและการต้านทานการปฏิรูปการกระจายอำนาจในช่วงเวลาที่ผ่านมา

 

[4.3]

 

การตั้งข้อสังเกตจากเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ผู้เขียนประกอบขึ้นมาเป็นคำอธิบาย

ถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านเริ่มรู้สึกสนุกกับการอ่านเพื่อสังเกตขึ้นมาบ้างหรือยังครับ?

ไม่สนุกก็ไม่เป็นไรหรอกครับ เพราะการอ่านงานวิชาการ ที่จะให้สนุกขึ้นมานั้นยาก แต่เมื่อพบความจำเป็นบังคับ เราก็ควรรู้กระบวนท่าในการอ่านไว้บ้าง ผมจะขอแถลงของผมต่อไปให้ท่านผู้สนใจอ่านต่อนะครับ

การอ่านตั้งข้อสังเกตจากองค์ประกอบในคำอธิบายที่ผู้เขียนเสนอไว้ในงานของเขานั้น ไม่ถึงกับว่ามีแบบแผนตายตัวว่าต้องอ่านแล้วตั้งข้อสังเกตออกมาอย่างไร แต่ที่ผมอยากบอกเป็นเบื้องต้นก็คือว่า การตั้งข้อสังเกตต่อข้อเสนอคำอธิบายในงานคนอื่น อย่าเริ่มด้วยการเข่นคำอธิบายของเขาลงมาอย่างเหมารวมทั้งก้อนเพียงเพราะเห็นว่าคำอธิบายนั้นมาจากทฤษฎีหรือสำนักคิดที่ไม่ต้องใจเรา แล้วยืมคำวิจารณ์แบบสำเร็จรูปมาประทับลงไป อ่านอย่างนั้นไม่เรียกว่าอ่านเพื่อสังเกต เราเรียกว่าอ่านเพื่อข้าม และเมื่อข้ามไปอย่างนั้นก็จะไม่ได้รับประโยชน์สักน้อยหนึ่งจากงานที่อ่าน

แต่บางทีเราก็จะเห็นพี่ๆ ผู้มากวิทยายุทธอ้างงานที่มาจากสำนักคิดหรือทฤษฎีที่เขาไม่เห็นด้วยเรียงไว้เป็นแถวแล้วอ่านเพื่อข้ามเหยียบออกไปหางานสำนักที่เขาพอใจมากกว่า

จากประสบการณ์ของผมในการอ่านงานวิชาการ ผมพบว่าการอ่านข้อเสนอคำอธิบายในงานของคนอื่นแล้วจับสังเกตในประเด็นต่อไปนี้ ช่วยให้เข้าถึงและพิจารณาหัวใจสำคัญของข้อเสนอส่วนต่างๆ ที่อยู่ในคำอธิบายที่ผู้เขียนเสนอไว้นั้นได้ถนัดถนี่ขึ้น ซึ่งผมขอแนะนำไว้สัก 3 ประเด็นนะครับ เพราะคำอธิบายในงานของอาจารย์เวียงรัฐมีจุดที่จะทำให้ผมนึกตั้งข้อสังเกตตามประเด็นเหล่านี้ได้พอดี

ก. ถ้าผู้เขียนเสนอคำอธิบายว่าปัจจัยหนึ่งเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดผลอย่างหนึ่งขึ้นมา เราอ่านเอาเรื่องจนเข้าใจแล้วก็รับคำอธิบายนั้นไว้ก่อน แต่ให้มองว่าคนเขียนเขาเสนอหรือแสดงการทำงานส่งผลของปัจจัยนั้นชัดหรือยัง แสดงการทำงานหรือการส่งผลผ่านกลไกหรือกระบวนการอะไร เปิดให้เราคนอ่านย้อนตรวจสอบได้ไหม  เช่น ติดตามในคำอธิบายได้ว่าปัจจัย X ทำงานส่งผลผ่านกลไก ก. ข. และ ค. ในกระบวนการนโยบายในขั้นที่หนึ่ง สอง และสาม ได้ผลออกมาเป็นการสกัดยับยั้งการปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจ

ถ้าในคำอธิบายของงานที่เราอ่านแสดงกลไกการทำงานส่งผลของเหตุปัจจัยอย่างชัดเจน จะทำให้เราคนอ่านประเมินน้ำหนักของปัจจัย และคำอธิบายนั้นเปรียบเทียบกับปัจจัยอื่นๆ ได้ถนัด ทั้งที่อยู่ในคำอธิบายชุดเดียวกัน และจากคำอธิบายชุดอื่น หรือพบข้อที่จะแย้ง หรือตั้งข้อสงวนได้ว่า ในเงื่อนไขอีกแบบ กลไก ก. และ ข. ในกระบวนการนโยบายอย่างเดียวกัน ส่งผลเป็นอย่างอื่น หรือในทางอื่นได้อีก หรือไม่ได้เกิดผลดังเช่นคำอธิบายของผู้เขียนได้เสนอไว้ หรือยังมีกลไกอื่นอีกที่ทำงานส่งผลแบบเดียวกันนั้นออกมาได้เหมือนกัน

ถ้าหากคำอธิบายยังแสดงการทำงานส่งผลของเหตุปัจจัยยังไม่ชัด ให้ถือเป็นโอกาส ไม่ใช่โอกาสที่จะไปตำหนิวิจารณ์เขานะครับ เพราะการอ่านเพื่อสังเกต ไม่ใช่การอ่านหาข้อวิจารณ์ ถ้าอ่านองค์ประกอบต่างๆ ในคำอธิบายของเขาแล้ว พบว่ามันยังขาดกลไกหรือยังไม่ได้แสดงให้เห็นกระบวนการทำงานส่งผลของเหตุปัจจัยในคำอธิบาย เราก็ใช้ตรงนี้แหละครับเป็นจุดตั้งข้อสังเกตของเราเพื่อเสนอออกมา ว่าเราคิดว่าเหตุปัจจัยดังกล่าวนั้นทำงานผ่านกลไกอะไร ส่งผลแบบไหน อย่างไรได้บ้าง เราก็จะได้ความเข้าใจที่กระจ่างขึ้นจากข้อสังเกตของเราเอง โดยอาศัยงานของคนอื่นเป็นจุดตั้งต้น

ในงานของอาจารย์เวียงรัฐ อาจารย์เสนอว่าการสกัดขัดขวางของรัฐราชการรวมศูนย์ของไทยที่มีแนวโน้มความคิดเป็นแบบอนุรักษนิยมทำให้การปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจเกิดความชะงักงันหรือเดินหน้าไปอย่างติดๆ ขัดๆ และในที่สุดถอยหลังกลับสู่การดึงอำนาจคืนสู่ส่วนกลางอีก ในคำอธิบายของอาจารย์ อาจารย์แสดงให้เห็นว่าที่ทำเช่นนั้นได้ก็เพราะรัฐราชการไทยใช้อำนาจเชิงสถาบันในขั้นตอนของการกำหนดและนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติมาเป็นเครื่องมือแทรกแซงกระบวนการปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจ เช่น  อำนาจหน้าที่ดำเนินการให้เกิดผลตามกฎหมาย การจัดตั้งและแต่งตั้งบุคคลเป็นคณะกรรมการเพื่อทำหน้าที่แปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การตั้งกรอบและขั้นตอนในแผนปฏิบัติการ อำนาจในการจัดหน้าที่ภารกิจ และการควบคุมหรือตรวจสอบ และอำนาจในการเปลี่ยนข้อกำหนดที่ตั้งไว้ในกฎหมาย เช่น การยกเลิกหรือขยายกรอบเวลาเดิมที่จะต้องดำเนินการให้ได้ตามข้อกำหนดในกฎหมายออกไป เป็นต้น

เมื่อผมอ่านคำอธิบายของอาจารย์แล้ว ความสนใจของผมไม่ได้อยู่ที่ผลที่เกิดขึ้นต่อการปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ผมสนใจว่า อำนาจในเชิงสถาบันที่ตัวแทนอำนาจรัฐราชการไทยสามารถดึงมาใช้เป็นเครื่องมือหรือกลไกแทรกแซงและยับยั้งการปฏิรูปเพื่อกระจายอำนาจนั้น จะถูกนำมาใช้และทำงานส่งผลเช่นเดียวกันหรือไม่ ในการรักษาความเป็นปึกแผ่นของระบอบการเมืองการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด ในเงื่อนไขใด

การตั้งข้อสังเกตของผมต่อองค์ประกอบของเหตุปัจจัยต่างๆ ในคำอธิบายของอาจารย์เวียงรัฐ จึงเป็นการดึงกลไกการทำงานส่งผลที่อาจารย์เสนอไว้นั้น มาพิจารณาต่อในประเด็นที่ผมสนใจต่างจากอาจารย์ อย่างเช่นว่า อำนาจในเชิงสถาบันของรัฐราชการไทย เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการหลากหลายประเภทและในระดับต่างๆ กับการแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการเหล่านี้ หรือการกำหนดบทบาทภารกิจในขั้นตอนนโยบาย เช่น การกำหนดกลไกตรวจประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการ หรือการจัดหลักสูตรฝึกอบรมผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น สามารถนำมาใช้เป็นกลไกควบรวมกลุ่มพลังนอกระบบราชการ เช่น นักวิชาการปัญญาชน นักบริหารมืออาชีพ นักธุรกิจ และบุคคลที่มีพลังจะเป็นแกนนำในภาคประชาสังคม ให้เข้ามาอยู่ในเครือข่ายหรือเป็นฝ่ายเดียวกันกับระบบได้ดีเพียงใด หรือจะใช้อำนาจในเชิงสถาบันเป็นกลไกสำหรับสลายหรือกระจายพลังต้านไม่ให้มีเวลาหรือช่องทางมารวมตัวกันติด ที่จะก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวก่อผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบอบการเมืองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ข.  ถ้าคำอธิบายนั้นประกอบด้วยหลายเหตุปัจจัยผสมกันอยู่หลายข้อ เมื่ออ่านทำความเข้าใจแล้ว ให้ลองตามสังเกตว่าที่ผู้เขียนเสนอ ปัจจัย A, ปัจจัย B, ปัจจัย C แล้วว่าปัจจัยทั้ง 3 นี้ทำให้เกิดผลที่ต้องการอธิบายขึ้นมาได้นั้น ให้ตามดูในคำอธิบายดังกล่าวว่าผู้เขียนเสนอไว้อย่างไร :

A, B, C ทำงานแยกกันคนละด้านเป็น 3 สายส่งผลต่อเหตุการณ์ที่ต้องการอธิบาย

หรือ

A และ B และ C ต้องทำงานไปด้วยกันร่วมกันอยู่ในเงื่อนไขแบบหนึ่งจึงจะเกิดเหตุอันจำเป็นและเพียงพอที่จะก่อผลที่ต้องการอธิบายนั้นขึ้นมาได้

หรือ

ปัจจัย A, B, C ในคำอธิบายนั้น ในบางเงื่อนไข ยังมีความสัมพันธ์เป็นบวกเป็นลบต่อกัน และส่งผลหากัน/ถึงกันในทางที่ขยายหรือทอนพลังกันและกันได้ และถ้านำเงื่อนไขดังกล่าวเข้ามาร่วมพิจารณาด้วย ก็อาจเพิ่มความซับซ้อนเข้าไปในคำอธิบายได้อีก

เช่น ปัจจัย C ที่เคยเป็นตัวเปิดทางและหนุนส่งให้การทำงานร่วมกันของปัจจัย A และ B เกิดขึ้นและส่งผลออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลาแรก แต่อาจไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปในช่วงเวลาหลัง เพราะเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปแล้วในช่วงเวลาหลัง กลับทำให้ปัจจัย C แม้จะเป็นตัวเปิดโอกาสให้ A กับ B ได้ทำงานส่งผลร่วมกัน และก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ต้องการอธิบายออกมาได้ แต่ก็กลายเป็นตัวทอนพลังอิทธิพลที่เคยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพของ A และ B ลงไป

สมมุติว่าปัจจัย A คือ Authority ในแง่ charisma ของตัวบุคคล ปัจจัย B คือ Bureaucracy พลังของกลไกอำนาจรัฐในระบบราชการไทย และปัจจัย C คือ Coup หรือรัฐประหาร ในบางช่วงเวลา รัฐประหารเป็นการเปิดทางให้แก่ A กับ B ได้ทำงานร่วมกันและส่งผลออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพในทางช่วยรักษาความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาของระบอบการเมืองการปกครอง หรือในงานของอาจารย์เวียงรัฐ อาจารย์เสนอว่า รัฐประหาร 2557 คือปัจจัยสำคัญที่เปิดทางให้กลไกในระบบรัฐราชการรวมศูนย์กลับมาดึงอำนาจควบคุมส่วนท้องถิ่นให้คืนมาอยู่ในมืออำนาจที่ส่วนกลาง ส่งผลเป็นความชะงักงันของการกระจายอำนาจและความยังไม่ตั้งมั่นของการเมืองประชาธิปไตยในท้องถิ่น

อย่างไรก็ดี แม้อาจารย์จะไม่ได้แสดงความสัมพันธ์ส่งผลถึงกันระหว่างปัจจัยต่างๆ ที่ประกอบอยู่ในคำอธิบายของอาจารย์ชัดนัก แต่อาจารย์ก็ให้เบาะแสแก่เราคนอ่านว่า ปัจจัย C หรือ Coup รัฐประหารปี 2557 ไม่ได้เป็นเงื่อนไขในทางที่ทำให้ปัจจัย A คือ authority ที่เป็น charisma ส่วนบุคคล กับปัจจัย B ที่เป็นกลไกของระบบราชการ ทำงานส่งผลร่วมกันออกมาได้ราบรื่นมีประสิทธิผล เพราะในช่วงเวลาที่เกิดรัฐประหารคราวหลังสุดนี้ อาจารย์เสนอว่าเงื่อนไขสำคัญข้อหนึ่งที่ช่วยรักษาความยินยอมพร้อมใจทางการเมืองโดยไม่ต้องใช้กำลังบังคับไม่เหลืออยู่แล้ว นั่นคือการสูญเสียพลังอุดมการณ์ที่ครองอำนาจนำหรือ hegemonic ideology

ค. แนวทางที่สาม ที่ใช้อ่านตั้งข้อสังเกตต่อคำอธิบายในงานวิชาการได้ คือการพิจารณาจุดกำเนิดหรือจุดตั้งต้นอันเป็นที่มาของเหตุปัจจัยที่ผู้เขียนเสนอในคำอธิบาย กับการคงตัวหรือการเปลี่ยนรูปการณ์ของมันไปในช่วงเวลาแต่ละระยะของเหตุปัจจัยเหล่านั้น

กระบวนท่านี้ถ้าหากได้วิธีการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ หรือแนวพินิจที่ให้ความสำคัญแก่การจรบรรจบของเหตุปัจจัยในช่วงเวลา และความแตกต่างทั้งในความเป็นไปและในความเป็นไปได้ของเหตุปัจจัยทั้งหลายเหล่านั้นระหว่างเวลาช่วงต่างๆ มาเป็นตัวช่วยในการสังเกต ก็จะทำให้อ่านเห็นอะไรๆ สว่างกระจ่างใจขึ้นอีกมาก แต่ความยาวของบทความนี้ไม่เหลือที่สำหรับให้ยกตัวอย่างแนวพินิจแบบนั้นได้เสียแล้วล่ะครับ ไว้ถ้าผมพบเรื่องที่เหมาะสำหรับนำเสนอการอ่านเพื่อสังเกตคำอธิบายแบบนี้เมื่อไร ก็จะนำมาเขียนใน 101 ในโอกาสต่อไปครับ

ในที่นี้ ผมขอยกประเด็นจากงานของอาจารย์เวียงรัฐมาเป็นตัวอย่างโดยสังเขปนะครับว่าประเด็นแบบนี้ อ่านแล้วน่าตั้งข้อสังเกตในทางเหตุผลความเป็นมาหรือในเชิงประวัติศาสตร์ได้ นั่นคือ ข้อเสนอของอาจารย์เกี่ยวกับชาติ/ประชาชาติ (nation) เรื่องหนึ่ง และข้อเสนอเรื่องผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นของอาจารย์อีกเรื่องหนึ่ง

ในบทความ อาจารย์เสนอความหมายของชาติต่างจากความหมายที่เป็นมาหรือใช้กันมาในพัฒนาการของการเมืองไทย ทำให้เปิดประเด็นได้ว่า เส้นทางสู่ความเป็นชาติหรือประชาชาติไทยในความหมายต้องประสงค์ของอาจารย์ยังไม่เกิดขึ้น และทำไมเส้นทางสู่ความเป็นชาติในความหมายที่ใช้ที่เข้าใจกันทั่วไปในสังคมการเมืองไทยจึงเกิดขึ้นมาได้ และกลบทับความเป็นไปได้ของเส้นทางและความหมายสายอื่นๆ รวมทั้งเส้นทางและความหมายของชาติ/ประชาชาติที่อาจารย์พอใจจัดนิยาม

และเมื่อเป็นเช่นนั้น จากจุดตั้งต้นที่ความหมายของชาติมีความเป็นไปได้หลายแบบ แต่เมื่อความหมายแบบหนึ่งเกิดขึ้นและอยู่ตัว มันส่งผลต่อรูปการณ์ของรัฐและความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคมที่ดำเนินมาอย่างไร หรือถ้าพิจารณาในบริบทของงานอาจารย์เวียงรัฐ การรักษาหรือหาทางเปลี่ยนความหมายของชาติ/ประชาชาติ จะส่งผลอย่างไรต่ออำนาจรัฐราชการรวมศูนย์ และต่อความยาก/ง่ายในความพยายามจะปฏิรูปรัฐดังกล่าวด้วยการกระจายอำนาจ

ในทำนองเดียวกัน อาจารย์เวียงรัฐเสนอให้พิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นกับอำนาจรัฐจากศูนย์กลาง เรื่องนี้ไม่ได้เป็นปรากฏการณ์เพิ่งเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย แต่เป็นวิธีสำคัญที่สุดที่ศูนย์กลางอำนาจรัฐแต่โบราณใช้คุมกำลังคน และการคุมกำลังคนผ่านผู้มีอิทธิพลและการเอาใจออกหากของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น คือมูลเหตุแห่งสงครามและการมองภัยต่อความมั่นคงของอำนาจรัฐมาแต่โบราณ การเปลี่ยนรูปรัฐโบราณมาเป็นรัฐราชาธิปไตยหาได้เปลี่ยนความสำคัญของการคุมคนและกำลังคน และความสำคัญของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นในการแผ่อำนาจรัฐจากศูนย์กลางเข้าไปในทุกพื้นที่ในอาณาเขต แต่รูปการณ์ของความสัมพันธ์ที่ปรากฏออกมาเปลี่ยนไป และเปลี่ยนต่อมาอีกเรื่อยๆ ตามพัฒนาการทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ระบบอุปถัมภ์ในรูปการณ์แบบเก่าอาจหายไป แต่ใช่หรือไม่ว่า วิธีมองท้องถิ่นและการแผ่อำนาจของรัฐศูนย์กลางเข้าไปในท้องถิ่นโดยผ่าน/อาศัยผู้ทรงอิทธิพลเป็นกลไก ยังคงเป็นอย่างที่เคยเป็นมา และถ้าหากรับว่าเป็นอย่างนั้น ก็ควรอ่านข้อสังเกตเรื่องนี้เพื่อหานัยสำคัญที่มีต่อการกระจายอำนาจต่อไป

 

[4.4]

 

การตั้งข้อสังเกตเพื่อจะนำข้อเสนอ/คำอธิบายไปประยุกต์ใช้กับกรณีอื่นๆ

มาถึงการอ่านเพื่อสังเกตแบบสุดท้ายตามที่ตั้งประเด็นไว้แล้วนะครับ บอกให้ท่านโล่งใจว่าบทความจวนจบแล้ว

การอ่านตั้งข้อสังเกตแบบนี้ตามหลังมาจากที่ได้อ่านเพื่อสังเกตในแบบอื่นๆ มาแล้ว และเกิดอยากจะทดสอบสมรรถนะว่าวิธีอธิบาย/ตัวแบบคำอธิบายที่นักวิชาการหนึ่งๆ เสนอไว้ในกรณีของเขานั้น จะใช้อธิบายกรณีอื่นๆ ได้ด้วยหรือไม่ และได้ดีเพียงใด การตั้งข้อสังเกตแบบนี้ทำได้ไม่ยากครับ เมื่อเราเข้าใจองค์ประกอบของเหตุปัจจัยที่อยู่ในตัวแบบคำอธิบายในงานของใครที่เขาใช้อธิบายกรณีเฉพาะของเขา แล้วอยากนำไปทดสอบใช้กับกรณีอื่นๆ หรือใช้ในงานของเราเอง ว่ามันจะใช้ได้อย่างเป็นทั่วไปเพียงใด  เราก็แปรคำอธิบายและการอธิบายส่วนนั้นให้อยู่ในรูปของข้อสันนิษฐานหรือสมมุติฐานอย่างกลางๆ ทั่วไปไม่เจาะจง พร้อมจะพกพาไปใช้ไปทดสอบเปรียบเทียบกับในกรณีอื่นๆ แล้วดูผลว่าคำอธิบายและวิธีอธิบายแบบนั้นใช้ได้จริงอย่างกว้างขวางเพียงใด

ลองดูตัวอย่างที่ผมแปรข้อเสนอในงานของอาจารย์เวียงรัฐ เกี่ยวกับกลไกการทำงานของระบบรัฐราชการไทย ที่ให้อำนาจในเชิงสถาบันแก่ผู้เป็นตัวแทนฝ่ายอนุรักษนิยมของอำนาจรัฐรวมศูนย์ มาเป็นข้อสันนิษฐานทั่วไปให้นำไปพิสูจน์ เปรียบเทียบการทำงานส่งผล หรือใช้อธิบายในกรณีอื่นๆ ดูนะครับ

ข้อสันนิษฐานทั่วไปของผมเป็นดังนี้ครับ

การทำงานจัดการกับกลุ่มพลังทั้งภายในและภายนอกระบบราชการให้เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบพิสัยที่ยอมรับได้ กลไกอำนาจรัฐอาศัยอำนาจในเชิงสถาบันที่อยู่ในระบบรัฐราชการรวมศูนย์ของไทยดังต่อไปนี้

> อำนาจตามกฎหมายที่จะกำหนดแต่งตั้งหรือเปลี่ยนตัวบุคคลเพื่อปฏิบัติหน้าที่

> อำนาจที่จะเปลี่ยนข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่ง หรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่ง

> อำนาจในการจัดและเปลี่ยนคณะ ขนาด และองค์ประกอบของผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายขั้นตอนต่างๆ

> อำนาจที่จะจัดสรร แบ่งปัน รวม กระจายหรือดึงกลับ อำนาจหน้าที่ การควบคุม บทบาทภารกิจ ทรัพยากร

> อำนาจที่จะกำหนดหรือเปลี่ยนเพิ่มลดขั้นตอน หรือวงจรในกระบวนการนโยบาย

> อำนาจกำหนดชุดภาษาและความหมายที่ใช้เป็นเป้าหมายและตัวชี้วัดในนโยบายและแผนยุทธศาสตร์

และ

> อำนาจที่จะรื้อลงเมื่อการทำงานในเชิงสถาบันของกฎ และการจัดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ให้ผลไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง หรือผลิตพลังที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของระบบ

 

5

 

เขียนมายืดยาวแล้ว ผมขอสรุปสั้นๆ ว่าในการอ่านเพื่อสังเกตนี้ ส่วนสำคัญที่สุดอยู่ที่จุดที่เราใช้ตั้งต้นเป็นจุดสังเกต นั่นคือ ส่วนที่เราสังเกตเห็นจะเป็นผลมาจากว่าเราเลือกที่จะเข้าหาประเด็นนั้น  เราเลือกจะอ่านเรื่องนั้นจากมุมไหน การมองเห็นอะไรโดยรอบต้องอาศัยการหยุดมองที่จุดๆ หนึ่ง แล้วพิจารณาสิ่งที่สังเกตเห็นได้จากจุดๆ นั้นให้ทั่ว เมื่อสังเกตจากจุดนั้นถ้วนทั่วแล้ว จะเปลี่ยนทางไปพิจารณาในจุดสังเกตอื่นๆ ต่อไป ก็ทำได้ และจะทำให้เราเห็นอะไรที่แตกต่างออกไปได้อีก แต่เราจะหวังจะเห็นจากทุกจุดที่เป็นไปได้และสังเกตเห็นได้ทุกๆ อย่างพร้อมกันหมดนั้นยังคงเป็นสิ่งที่พ้นปกติวิสัยของมนุษย์

เพราะแบบนี้กระมังครับ Wittgenstein จึงเปรียบว่า “If I want the door to turn, the hinges must stay put.”[4] Hinges ของ Wittgenstein ในวิธีอ่านเหตุ~สังเกตเป็น ก็คือตำแหน่งที่เราตรึงไว้เป็นจุดสำหรับสังเกต

และในการสาธิตนี้ ผมก็ตรึงทุกท่านไว้ที่ตำแหน่งนั้นด้วยกันกับผม อันเป็นตำแหน่งสังเกตของอนุรักษนิยมไทย

 


 

อ้างอิง

[1] “Pounding a Nail: Studs Terkel Talks to Bob Dylan, 1963,” Granta 90 (Summer 2005), 243-54.

[2] Viengrat Nethipo, “Thailand’s Politics of Decentralization: Reform and Resistance before and after the May 2014 Coup,” in After the Coup: The National Council for Peace and Order Era and the Future of Thailand, edited by Michael J. Montesano, Terence Chong, and Mark Heng (Singapore: ISEAS – Yusof Ishak Institute, 2019), 224-53.

[3] Michael J. Montesano, “Introduction: Thai Realities and Possibilities after the 22 May Coup,” in After the Coup: The National Council for Peace and Order Era and the Future of Thailand, edited by Michael J. Montesano, Terence Chong, and Mark Heng (Singapore: ISEAS – Yusof Ishak Institute, 2019), 1-23.

[4] Ludwig Wittgenstein, On Certainty, edited by G. E. M. Anscombe and G. H. von Wright (New York: Harper & Row, 1972), 341. อ้างถึงใน Richard Swedberg, The Art of Social Theory (Princeton, N.J.: Princeton University Press, 2014), 182.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save