fbpx
ฝึกอ่านความหมายมาใช้เปิดประเด็น

ฝึกอ่านความหมายมาใช้เปิดประเด็น

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์เปิดเทอมต้นของมหาวิทยาลัย บทความเดือนนี้จึงขอกลายร่างมาในรูปของเอกสารประกอบการเรียน เพื่อแนะนำตัวอย่างวิธีแปรการอ่านความหมายของแนวคิดที่นิสิตได้เรียนในวิชาพื้นฐานมาใช้ประโยชน์ในการเขียนงานวิชาการให้คนแรกเรียนพอรู้ว่าทำได้อย่างไรนะครับ

 

การฝึกทักษะนิสิตในวิชาพื้นฐาน

 

ในหลักสูตรรัฐศาสตร์ ระดับปริญญาตรี เรามีวิชาพื้นฐานสำคัญวิชาหนึ่ง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายถ่ายทอดทักษะสำคัญสำหรับการเรียน และรวมถึงการทำงานของนิสิตต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการทำงานในแวดวงหรือนอกแวดวงวิชาการก็ตาม นั่นคือ วิชาว่าด้วยการใช้เหตุผลและการอ่านการเขียนทางสังคมศาสตร์

นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมและการบ้านสำหรับฝึกฝนทักษะการใช้เหตุผลการอ่านการเขียนให้แก่นิสิตแล้ว จุดมุ่งหมายอีกอย่างหนึ่งของวิชานี้คือการจุดประกายให้นิสิตนำความรู้ที่ได้เรียนจากวิชาพื้นฐานวิชาอื่น ๆ มาลองใช้ประโยชน์ในการเขียนงานวิชาการ เช่น ใช้เขียนงานวิจารณ์หรือทดลองเขียนบทความปริทัศน์สั้นๆ และเมื่อถึงตอนปลายภาคก็เขียนรายงานวิชาการที่เรียกว่า term paper หรือภาคนิพนธ์ออกมา ซึ่งเป็นมากกว่าการเขียนแสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่าชอบ/ไม่ชอบ ถูกใจ/ไม่ถูกใจ เห็นด้วย/ไม่เห็นด้วย แต่เป็นงานเขียนที่ประกอบด้วยการเสนอข้อโต้แย้ง คำอธิบายหรือความเข้าใจประเด็นปัญหาหนึ่งๆ พร้อมด้วยเหตุผลประกอบอย่างมีหลักวิชาและการอ้างอิงหลักฐานข้อมูลสนับสนุน

ความสามารถในการนำเสนอความคิดเห็นและข้อโต้แย้งคำอธิบายด้วยเหตุผลอย่างมีหลักวิชานี้จริงๆ แล้วเป็นทักษะไม่เฉพาะแต่สำหรับการเขียนงานทางวิชาการ แต่ยังเป็นทักษะพลเมืองที่สำคัญมากสำหรับสังคมประชาธิปไตยทุกแห่งหน อย่างไรก็ดี วิชาทักษะพื้นฐานระดับนี้ไม่ได้ถึงกับตั้งวัตถุประสงค์ขนาดที่ว่าจะสำเร็จเป้าหมายอันใหญ่โตอย่างนั้นได้จากสิ่งที่สอนในวิชานี้เพียงเท่านั้นหรอกครับ คนสอนหวังกันเพียงว่าเมื่อถึงตอนปลายภาค นิสิตจะเขียนงานวิชาการเป็น สำเร็จได้แค่นี้ คนสอนก็ดีใจมากแล้ว

กิจกรรม/การบ้านงานเขียนแบบหนึ่งในวิชานี้ คือการฝึกให้นิสิตรู้จักมองหาประเด็นที่จะนำมาตั้งคำถามและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสังคม หรือตั้งเป็นโจทย์วิจัยสำหรับทำรายงานวิชาการต่อไป แต่ปัญหาอย่างหนึ่งสำหรับนิสิตที่เพิ่งเข้ามาใหม่คือ นิสิตจำนวนไม่น้อยมักมองวิชาที่เรียนแต่ละวิชาอย่างแยกออกจากกัน และไม่ได้นำความรู้จากวิชาพื้นฐานที่เรียนในตอนปี 1 อย่างรัฐศาสตร์พื้นฐาน เศรษฐศาสตร์พื้นฐาน สังคมวิทยาพื้นฐาน หรือความรู้เบื้องต้นทางกฎหมาย มาพิจารณาเชื่อมโยงหากัน หรือนำมาผสมกันเป็นแนวพิจารณาประเด็นปัญหาในสังคม หรือใช้เป็นตัวช่วยในการตั้งต้นวิเคราะห์ปัญหาหรือวิจารณ์ความคิดข้อเสนอต่างๆ ในการเขียนรายงาน รวมทั้งการเสนอเป็นคำตอบข้อสอบ

วิชาการใช้เหตุผลและการอ่านการเขียนทางสังคมศาสตร์จึงเป็นโอกาสที่จะได้ใช้กิจกรรมในชั้นเรียนและการบ้านงานเขียนของนิสิตเข้าไปช่วยกระตุ้นให้นิสิตมองเห็นความสำคัญของแนวคิดและความรู้ที่ได้เรียนมาจากวิชาพื้นฐานวิชาอื่นๆ และช่วยให้คนเรียนเห็นแนวทางและวิธีที่จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิชาพื้นฐานเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ต่อในงานเขียนทางวิชาการของนิสิตในวิชาต่างๆ ต่อไป ทั้งในการคิด การใช้เหตุผล การตั้งข้อเสนอคำอธิบาย และการวิพากษ์วิจารณ์

ขณะที่นิสิตปี 1 กำลังเหลียวซ้ายแลขวาว่าควรจะตั้งต้นอย่างไรตรงไหนดี การแนะให้เริ่มจากบรรดาแนวคิดที่เขาได้เรียนในวิชาพื้นฐาน และนำแนวคิดนั้นๆ มาฝึกมาทดลองใช้เปิดประเด็น มาตั้งคำถาม มาเป็นฐานในการวิจารณ์ความเห็นข้อเสนอที่เป็นประเด็นโต้แย้งสาธารณะ ก็น่าจะช่วยให้เขาเกิดความสนใจและใส่ใจสังสรรค์กับเนื้อหาบทเรียนได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยให้เขาได้กรอบไปใช้เขียนตอบข้อสอบและทำรายงานได้ดีขึ้น ขออนุญาตเสนอเป็นตัวอย่างสักเรื่องนะครับ โดยใช้แนวคิดเบื้องต้นเกี่ยวกับอำนาจน่าจะดี เพราะนิสิตได้เรียนเรื่องนี้ในวิชาพื้นฐานทางรัฐศาสตร์อยู่แล้ว

 

อ่านความสัมพันธ์เชิงอำนาจในวิชาพื้นฐานทางรัฐศาสตร์

 

อำนาจเป็นแนวคิดสำคัญที่นิสิตจะได้เรียนในวิชาพื้นฐานทางรัฐศาสตร์ และเป็นแนวคิดที่คนเรียนรัฐศาสตร์จะได้ใช้ตลอดไปในการเรียนสาขานี้ รวมทั้งในชีวิตการเป็นประชาชนหรือพลเมืองของทุกๆ คน ว่าไปแล้ว อาจารย์คนสอนวิชาทางรัฐศาสตร์วิชาไหนๆ ก็ใช้แนวคิดอำนาจมาเปิดประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมด้วยกันทั้งนั้น จนนิสิตบางคนนึกคำตอบอะไรมาตอบข้อสอบไม่ทัน ก็เขียนขายผ้าเอาหน้ารอดเป็นคำตอบส่งไปก่อนว่าปัญหานั้นปัญหานี้ต้องพิจารณาที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ราวกับว่าเมื่อตอบด้วยคำตอบครอบจักรวาลแบบนี้แล้วจะเอาตัวรอดจากการสอบไปได้

แต่มักไม่รอดหรอกครับ ถ้าหากตอบมาเพียงแค่นั้น การจะเล่นกับอำนาจได้ถนัด หรือจะเปิดเผยความสัมพันธ์เชิงอำนาจออกมาให้เห็นกันชัดๆ ได้ ต้องรู้เป็นพื้นฐานก่อนว่าจะมองอำนาจอย่างไรได้บ้าง เพราะความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ว่านี้ ในทางรัฐศาสตร์/สังคมศาสตร์มีมากมายหลายรูปแบบ และมองแตกต่างกันไปได้มากตามแต่ความหมายของอำนาจที่เลือกมาใช้  ตรงนี้เองที่การเรียนนิยามความหมายของคำหรือแนวคิดในวิชาพื้นฐานให้ประโยชน์แก่เราได้ ยิ่งถ้าเรียนมาแน่นและแม่น จะใช้คิดอ่านอะไรแตกหน่อต่อยอดต่อไปได้อีกมาก

นิสิตที่เรียนวิชาพื้นฐานทางรัฐศาสตร์ สังคมวิทยาหรือมานุษยวิทยามาดี จะเข้าใจและรู้ที่จะจำแนกความสัมพันธ์ทางอำนาจในรูปแบบต่างๆ มาพลิกปัญหาหนึ่งๆ ขึ้นมาพิจารณา ว่าอำนาจแบบไหน ในลักษณะไหน กำลังทำงานอยู่ในความสัมพันธ์นั้น หรือคำอธิบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางอำนาจที่คนอื่นๆ เสนอการวิเคราะห์และคำอธิบายไว้ เราจะมองให้แตกต่างออกไปได้อย่างไร ที่จะเปลี่ยนความหมายและความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจในปัญหานั้นให้เห็นเป็นอีกแบบ หรือเป็นอีกหลายแบบ

แต่ในที่นี้ ขออ่านความหมายของอำนาจสัก 2 – 3 แบบที่เป็นพื้นฐาน พอให้เห็นเป็นตัวอย่างเพื่อสร้างความเข้าใจแก่นิสิตแรกเรียนนะครับ

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบหนึ่ง คือแบบที่พิจารณาความสัมพันธ์ซึ่งปรากฏออกมาให้เห็นที่การกำหนดและการตัดสินใจเลือกนโยบายด้านต่างๆ แนวทางนี้พิจารณากลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆ ในกระบวนการผลักดันนโยบาย ที่มีจุดมุ่งหมายความต้องการ มีผลประโยชน์ ที่ขัดแย้งกันอยู่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเรื่องหนึ่งเรื่องใด หรือมีความพอใจในทางเลือกในการดำเนินนโยบายในเรื่องนั้นๆ แตกต่างกัน การดูว่าใครมีอำนาจในสนามการตัดสินใจ จึงคือการดูที่ผลของการแข่งขันต่อสู้เพื่อนโยบาย การผลักดันและการต่อรองในกระบวนการกำหนดและตัดสินใจ และคนที่มีอำนาจก็คือคนที่ชนะในกระบวนการตัดสินใจได้นโยบายที่ตอบสนองผลประโยชน์ความต้องการของฝ่ายตน

การพิจารณาความสัมพันธ์จากความหมายของอำนาจที่เป็นการกำหนดผลลัพธ์ทางนโยบายในกระบวนการตัดสินใจเช่นนี้ เป็นการติดตามว่า “ใครปกครอง” [1] โดยดูจากผลลัพธ์ทางนโยบายในช่วงเวลาหนึ่งๆ ที่ผ่านมาว่าตอบสนองข้อเรียกร้องหรือรักษาผลประโยชน์ความต้องการของฝ่ายใด ฝ่ายนั้นก็คือผู้ที่มีอำนาจทางปกครอง หรือถ้าติดตามดูแล้ว พบว่าไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะในทุกเรื่องเสมอไป แต่ผลลัพธ์ทางนโยบายกระจายไปตามข้อเรียกร้องต้องการของฝ่ายนั้นบ้าง ของฝ่ายนี้บ้าง ฝ่ายนี้ได้ในเรื่องหนึ่งแต่ก็ไม่ได้ในอีกหลายเรื่อง และฝ่ายอื่นๆ ก็เป็นเช่นเดียวกัน การจัดสรรผลประโยชน์ผ่านนโยบายไม่กระจุกผูกขาดผลลัพธ์อยู่ที่กลุ่มใดเพียงกลุ่มเดียว ก็เรียกความสัมพันธ์เชิงอำนาจเช่นนั้นว่าเป็นแบบพหุนิยม

แต่การมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบนี้เป็นการมองจำกัดวง คือเน้นพิจารณาไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มและผู้นำของกลุ่มที่แข่งขันกันอยู่ในสนามการกำหนดและตัดสินนโยบายอยู่แล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งคือมุ่งพิจารณาความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างชนชั้นนำ และกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มผลักดัน ที่มีพลังขับเคลื่อนข้อเรียกร้องทางการเมืองอยู่ก่อน ว่าพวกเขาใช้อิทธิพลต่อกันอย่างไร ใช้การต่อรองแบบไหนมาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์หรือให้เกิดการสมประโยชน์ระหว่างกัน

เมื่อเห็นการมองอำนาจในวงจำกัดเช่นนั้น คนสอนความรู้พื้นฐานทางรัฐศาสตร์เขาก็จะสอนวิธีพลิกมุมมองให้นิสิต โดยชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ทางอำนาจอีกแบบหนึ่งที่ซ่อนอยู่ในการมองแบบที่ว่ามาข้างต้นนี้  ด้วยการตั้งประเด็นให้นิสิตพิจารณาว่า คนที่เป็นฝ่ายรับผลกระทบจากการตัดสินใจและการดำเนินนโยบายต่างๆ ได้แก่ใครบ้าง แล้วคนเหล่านั้นสามารถรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นมาเป็นกลุ่มเป็นก้อนได้ด้วยพวกเขาเองหรือไม่ มีพลังมากน้อยเท่าใด และยากง่ายเพียงไรที่จะข้ามข้อจำกัดของปัญหา collective action เข้ามาเรียกร้องหรือผลักดันในกระบวนการนโยบาย เพื่อหาทางเปลี่ยนแปลงแก้ไขผลกระทบที่พวกเขาได้รับ หรือตรงข้าม คือเตะถ่วงขัดขวางไม่ให้นโยบายที่กำหนดแล้วนำไปปฏิบัติได้ ทรัพยากรที่พวกเขาต้องระดมมาใช้ในกระบวนการทางการเมือง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่อยู่ในวงของกระบวนการตัดสินใจกำหนดนโยบายอยู่แล้ว ได้แก่อะไร และจะหาทรัพยากรเหล่านั้นมาได้มาจากไหน เป็นต้น

การพลิกจากการพิจารณาฝ่ายต่างๆ ที่แข่งขันกันอยู่ในกระบวนการกำหนดและตัดสินใจนโยบาย แล้วมาดูที่ปลายอีกด้านหนึ่งของคนที่เป็นฝ่ายรับผลและผลกระทบที่เกิดจากนโยบายเช่นนี้ จึงอาจพลิกการเห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจจากภาพของพหุนิยมที่พบในตอนแรก มาเป็นการมองเห็นความเหลื่อมล้ำในความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ซ่อนอยู่ข้างหลังภาพพหุนิยมดังกล่าว อย่างเช่นในกรณีการเมืองอเมริกันในสมัยทศวรรษ 1950 ที่ดาห์ลเก็บข้อมูลการเมืองใน New Haven แล้วได้สรุปออกมาว่าเป็นความสัมพันธ์แบบพหุนิยมนั้น แท้ที่จริง ถ้ามองจากสายตาของคนผิวสี ที่อยู่ในย่านเสื่อมโทรมของเมือง พวกเขาจะไม่เห็นว่าการเมืองของ New Haven เป็นพหุนิยมอะไรตรงไหนเลย

เช่นเดียวกัน ในหลายประเทศที่การเมืองเปิดกว้างมากขึ้นหลังจากสมัยรัฐบาลเผด็จการ อาจทำให้มีคนกลุ่มใหม่ๆ เข้าสู่แวดวงการตัดสินใจเชิงนโยบายได้มากขึ้น แต่การเปิดพื้นที่ทางการเมืองแบบนี้อาจจะยังไม่ได้เปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวงเมืองใหญ่ฝ่ายหนึ่งกับชนบทอีกฝ่ายหนึ่งไปในทันที และยังคงลักษณะเป็นความสัมพันธ์แบบรวมศูนย์อำนาจการตัดสินใจไว้ที่เมืองหลวง แม้ว่าในศูนย์กลางอำนาจที่เมืองหลวงนั้น จะมีหลายฝ่ายเข้าไปแข่งขันช่วงชิงแบ่งเค้กกันอยู่ก็ตาม การเปิดประเด็นศึกษาจากการพิจารณาความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบนี้จึงอาจเป็นการศึกษาเกี่ยวกับลู่ทางที่จะผลักดันการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางไปยังท้องถิ่น หรือมิเช่นนั้น ก็ตั้งประเด็นศึกษาว่า  กระบวนการประชาธิปไตยจะช่วยเพิ่มอำนาจของคนในท้องถิ่นชนบทในกระบวนการตัดสินใจนโยบายระดับชาติเพิ่มขึ้นในทางไหน อย่างไรได้บ้าง

ขอให้สังเกตว่า การพลิกออกจากตัวแบบการมองความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบพหุนิยมข้างต้น ยังคงรักษาการมองอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจตามแนวทางของฝ่ายเสรีนิยมอยู่นะครับ เพราะที่ว่ามาทั้งหมดเน้นการมองความสัมพันธ์ทางอำนาจไปที่ตัวปัจเจกบุคคล ที่การรวมตัวขึ้นมาเป็นกลุ่มของคนฝ่ายต่างๆ และที่การระดมทรัพยากรเพื่อเข้ามาต่อสู้ต่อรองในกระบวนการนโยบายเป็นหลัก โดยไม่ได้มองไปที่ความสัมพันธ์ทางอำนาจในเชิงโครงสร้าง ซึ่งยังทำได้อีกหลายทาง รวมทั้งการมองเป็นความสัมพันธ์แบบชนชั้น ซึ่งก็มองได้อีกเป็นหลายแบบ รวมทั้งการวิเคราะห์อำนาจทางชนชั้นแบบมาร์กซิสต์ แต่จะขอทิ้งเรื่องใหญ่เรื่องนี้ให้ไปเรียนในชั้นเรียนโดยตรงดีกว่านะครับ

สุดท้าย ผมจะใช้ความหมายของอำนาจอีกแบบหนึ่งจากวิชาพื้นฐานทางรัฐศาสตร์ที่ง่ายกว่าเรื่องชนชั้นมาเสนออีกสักตัวอย่าง การมองอำนาจที่จะกล่าวต่อไปนี้แพร่หลายมากไม่แพ้ของฝ่ายเสรีนิยมที่ยกมาข้างต้น แต่ต่างกันตรงที่การมองความสัมพันธ์ทางอำนาจของฝ่ายเสรีนิยมเน้นมองที่การตัดสินใจหรือการได้รับผลและผลกระทบจากการตัดสินใจ ในขณะที่การมองความสัมพันธ์อำนาจในตัวอย่างแบบที่ 2 ที่จะกล่าวต่อไปนี้เป็นการพิจารณาไปที่ “การไม่ตัดสินใจ” หรือ nondecision [2] ซึ่งในแง่หนึ่ง ก็เป็นการวิจารณ์ความสัมพันธ์เชิงอำนาจในกระบวนการตัดสินใจของฝ่ายเสรีนิยมอยู่ในตัว

ที่ว่า nondecision คืออย่างไร คืออย่างนี้ครับ ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรูป nondecision ฝ่ายที่มีอำนาจจะสามารถกันเรื่องหรือประเด็นใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อการรักษาสถานภาพเดิมของกลุ่มชนชั้นนำไม่ให้เข้าสู่กระบวนการตัดสินใจ หรือไม่ให้กลายมาเป็นวาระสาธารณะที่จะเกิดกระแสผลักดันให้มีการตัดสินใจที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิม และตีกรอบการกำหนดและตัดสินใจดำเนินนโยบายแต่เฉพาะในเรื่องในประเด็นที่ไม่กระทบกระเทือนต่อผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นนำที่มีอำนาจปกครอง

การมองความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบ nondecision เป็นการเสนอให้พิจารณาว่าชนชั้นนำคงโครงสร้างอำนาจที่เอื้อต่อการรักษาสถานภาพเดิมไว้อย่างไรไม่ให้เปลี่ยนแปลงไป การศึกษาอำนาจโดยนัยนี้ นิสิตจึงได้คำถามใหม่เกี่ยวกับอำนาจเพิ่มขึ้นอีกคำถามหนึ่งต่อจากคำถามว่า “ใครมีอำนาจปกครอง?”  คือคำถามว่า “กลุ่มคนที่มีอำนาจปกครองรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนำในความสัมพันธ์ทางอำนาจไว้ด้วยวิธีใดบ้าง?”

แน่นอนว่า วิธีหนึ่งในการรักษาโครงสร้างอำนาจที่นิสิตจะทราบจากการเรียนอำนาจในความหมาย nondecision นี้ คือวิธีที่เรียกว่า “mobilization of bias”  และเมื่อทราบแล้วว่า อะไรคือวิธีที่เรียกว่า mobilization of bias ที่แฝงอยู่ในกฎในกระบวนการในการทำงานของกลไกเชิงสถาบัน การจะคิดต่อไปว่า แล้วยังมีกฎ มีกระบวนการ มีวิธีแนบเนียนใดไหนอีก ที่ชนชั้นนำใช้รักษาอำนาจให้คงสถานภาพเดิมไว้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนเรียนแล้ว เพราะมาถึงตอนนี้ นิสิตได้รู้แล้วว่า ในเรื่องอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มีประเด็นสำคัญอะไรบ้างที่น่าถาม และจะเปิดประเด็นอย่างไร

ในขณะเดียวกัน การเรียนรู้จากการจับคู่อภิปรายเกี่ยวกับเรื่องอำนาจระหว่างฝ่ายเสรีนิยมกับฝ่ายที่วิจารณ์โต้แย้งเสรีนิยมก็ให้ตัวแบบแก่นิสิตแรกเรียนว่า วิธีจะหาคำตอบมาตอบคำถามสำคัญเกี่ยวกับอำนาจ นักวิชาการทั้งฝ่ายเสนอและฝ่ายแย้งเขาทำกันอย่างไร ใช้วิธีไหน ด้วยฐานคิดและข้อโต้แย้งแบบไหน  แน่ละว่าในเรื่องที่สำคัญต่อการเมืองอย่างอำนาจไม่ได้มีเพียงแค่ 2 คำถาม 2 แนวทางในการเสนอคำตอบอย่างที่กล่าวมาเท่านั้น แต่ที่ยกเป็นตัวอย่างเพียงเท่านี้ ก็คงพอจะทำให้นิสิตที่เรียนวิชาพื้นฐานรัฐศาสตร์ตั้งหลักที่จะศึกษาต่อไปด้วยตัวเองได้ เมื่อได้ขึ้นไปเรียนวิชาอื่นๆ ในชั้นปีที่สูงขึ้น

รวมทั้งสามารถติดตามศึกษาความหมายของอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในรูปแบบอื่นๆ ในขั้นสูงต่อไปได้ถนัดขึ้น เพราะรู้หลักแล้วว่าก่อนอื่นใดต้องจับที่ตัวคำถามที่ความหมายแบบนั้นเปิดขึ้นมา และดูวิธีมองอำนาจที่ใช้หาและเสนอคำตอบแก่คำถามนั้น

พูดเกี่ยวกับการเรียนมามากแล้ว ผมขอจบบทความที่ให้ความหมายของอำนาจในลักษณะที่ไม่จำเป็นต้องเรียนบ้าง เป็นความหมายของอำนาจที่ผมชอบมากความหมายหนึ่ง เพราะเกี่ยวกับความสามารถที่จะคงดำรงอยู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไร

Karl Deutsch ให้ความหมายอำนาจในความสัมพันธ์ชนิดนี้ ไว้แบบนี้ครับ

To have power means not to have to give in, and to force the environment or the other person to do so. Power in this narrow sense is the priority of output over intake, the ability to talk instead of listen. In a sense, it is an ability to afford not to learn.[3]

ผมคิดถึงอำนาจในความหมายนี้ของ Deutsch อยู่มิวาย แต่ท่านอย่าถามผมเลยว่าทำไม.

 

อ้างอิง

[1] ยืมคำและความคิดในการมองอำนาจและความสัมพันธ์เชิงอำนาจในลักษณะนี้มาจากงานอันเป็นที่รู้จักกันดีของ Robert A. Dahl, Who Governs?: Democracy and Power in an American City (New Haven, CT.: Yale University Press, 1962).

[2] Peter Bachrach and Morton Baratz, Power and Poverty: Theory and Practice (New York: Oxford University Press, 1970).

[3] Karl W. Deutsch, The Nerves of Government: Models of Political Communication and Control (New York: Free Press, 1963), p. 111.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save