fbpx
อ่านจากข่าว

อ่านจากข่าว

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

อ่านอะไรจากข่าวได้บ้าง?

ผมก็เหมือนกับอีกหลายๆ คนแหละครับ ที่เวลาอ่านข่าว ชอบอ่านความคิดเห็นของบุคคลสาธารณะ หรือคนที่เคลื่อนไหวอยู่บนเวทีการเมือง ยิ่งถ้าเป็นตัวแสดงที่กำลังเล่นบทบาทน่าสนใจ มีตำแหน่งสำคัญ หรือออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องที่มีความสำคัญ ความเห็นของพวกเขาในกระแสข่าวก็ยิ่งน่าติดตาม

ความคิดเห็นของบุคคลในข่าวเหล่านี้ ถ้าเราพิจารณาจากข่าวที่ปรากฏตามลงไปหาสิ่งที่แอบอยู่ในความเห็นเหล่านั้น ว่าถ้าเขาพูดอย่างนี้ หรือมีความเห็นออกมาแบบนี้ มันบ่งให้เห็นอะไรอีกบ้างถึงสิ่งที่เขาอาจจะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ แต่เราก็เข้าใจได้หรือจับนัยออกมาได้ว่าเป็นอย่างนั้น หรืออ่านจากความเห็นที่เขาแสดงไปหาฐานคิดของเขา ว่าถ้าเขาใช้ฐานคิดแบบนั้น มันบอกอะไรแก่เราได้อีกบ้าง กระบวนท่าในการอ่านข่าวติดตามข่าวแบบนี้ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวและสถานการณ์ได้มากขึ้นพอดู

ผมขอนำวิธีที่ผู้ช่ำชองการข่าวรู้จักเจนจบดีอยู่แล้วมาเขียนให้ผู้แรกเริ่มได้รู้วิธีสังเกต เลยขอใช้ตัวอย่างอ่านง่ายที่ระดับกระจุ๋มกระจิ๋มก็อ่านได้ โดยใช้ข่าวความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้เองครับ

ท่านคงเหมือนกับผมที่อ่านพบข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้ตั้งข้อสงสัยสอบสวนผู้ชุมนุมที่ออกมาเรียกร้องการเลือกตั้งเมื่อไม่นานมานี้ในเรื่อง “ท่อน้ำเลี้ยง” [1]

ไล่เลี่ยกันนั้น ผมไปเห็นข่าวมิตรสหายทางเฟซบุ๊กแชร์ข่าวจากหนังสือพิมพ์ที่นำความเห็นของสมาชิกของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยกลุ่มหนึ่งมาเผยแพร่ว่า สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มที่ว่านี้ไม่สู้จะเห็นด้วยกับการออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้งอย่างที่เกิดขึ้น เพราะเขาเห็นว่าการนำเดี่ยวโดยที่ยังไม่มีฐานหรือการจัดตั้งขบวนการรองรับ รวมทั้งการสร้างเครือข่ายทางอุดมการณ์และแนวร่วมเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวให้เข้มแข็งกว้างขวางเสียก่อน น่าจะไม่สำเร็จผลอันใดมากนัก [2]

อ่านจากข่าวที่ออกมาไล่เลี่ยกันนี้ในชั้นแรก ผมเห็นความแตกต่างในความเห็นระหว่าง 2 ฝ่าย ความเห็นที่ต่างกันเป็นตรงกันข้ามนี้ ถ้าอ่านแบบไม่คิดอะไรมาก ก็ชวนให้มองว่า ไม่ฝ่ายหนึ่งก็ต้องฝ่ายใดที่เข้าใจกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวนี้ไม่ถูกต้อง

แต่ถ้าอ่านจากความเห็นในข่าวลงไปหาฐานคิดในวิธีมองการเคลื่อนไหวทางการเมือง ผมพบว่าในความเห็นดังกล่าวของทั้ง 2 ฝ่าย มีฐานคิดหรือ assumption ที่เหมือนกันอยู่บางอย่าง นั่นคือ การเคลื่อนไหวทางการเมืองต้อง (หรือพึง) ทำกันอย่างเป็นขบวนการ และต้อง (หรือควร) มีการจัดตั้งอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งในด้านการจัดองค์กร และฐานทรัพยากร หรือสิ่งที่เป็นกำลังสนับสนุนสำคัญสำหรับการหวังผลระยะยาว ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐอาจเพ่งเล็งที่ทุนทรัพย์ที่เป็นเงิน ในขณะที่ฝ่ายกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยเห็นว่าเครือข่ายอุดมการณ์ในสังคมเป็นฐานสนับสนุนสำคัญ

การอ่านไปหาฐานคิดหรือ assumption ที่แฝงอยู่ในความเห็นที่แสดงออกมาช่วยให้เบาะแสแก่เราที่จะนำมาอ่านสถานการณ์ต่อไปได้อีกหลายทาง เช่น จากตัวอย่างข้างต้น เราอย่าเพิ่งไปตัดสินว่าความเห็นของใครผิดของใครถูก แต่ให้ถามไปอีกแบบว่า การที่เขาแสดงความเห็นออกมาอย่างนั้น มันชี้ให้เราที่เป็นผู้อ่านผู้ชมเห็นอะไรในสถานการณ์และเห็นสถานการณ์อย่างไร จะเข้าใจสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างไรได้บ้าง เราก็จะได้การอ่านอีกชั้นออกมา

เรามาพิจารณาข่าวแรกกันก่อนนะครับ ความเห็นและสิ่งที่สะท้อนอยู่ในความเห็นของข่าวนี้มองออกง่าย แม้ว่าเมื่อเห็นแล้วมันจะไม่ใช่เรื่องง่าย

เรื่องผู้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้งที่เพิ่งเกิดขึ้นถูกตั้งข้อสงสัยว่ามีท่อน้ำเลี้ยงนั้น เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันให้เห็นได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริง แต่การนำเสนอข้อสงสัยเรื่องท่อน้ำเลี้ยงออกมาสะท้อนวิธีคิดและนัยที่ซ่อนอยู่ในความเห็นของฝ่ายอำนาจรัฐให้เราที่เป็นคนอ่านข่าวเห็นอย่างน้อย 2 เรื่อง

เรื่องแรก “ท่อน้ำเลี้ยง” เป็นการใช้ความเปรียบที่อาศัยภาพพจน์ทางภาษามาแทนการแสดงรูปธรรมที่ชัดเจนออกมาให้เห็นว่ากลุ่มคนที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยมีความเชื่อมโยงในแง่ใดแน่/ในลักษณะใดบ้างกับต้นทางของ “ท่อน้ำเลี้ยง” ที่ว่านี้ แต่คำๆ นี้ให้ภาพพจน์โน้มนำคนอ่านข่าวให้เห็นภาพการจัดตั้งเป็นขบวนการของฝ่ายต่อต้านอำนาจรัฐในปัจจุบันว่ายังคงมีอยู่จริง และยังคิดลงทุนหาทางกลับคืนสู่การเป็นผู้คุมอำนาจในการเล่นอีกครั้งถ้าหากการเลือกตั้งเกิดขึ้น

การตั้งข้อสงสัยเรื่องท่อน้ำเลี้ยงเอากับผู้ออกมาชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้งอาจจะเป็นข้อสงสัยเลื่อนลอย แต่ที่แน่ชัดคือฝ่ายอำนาจรัฐปัจจุบันใช้ภาพพจน์ท่อน้ำเลี้ยงเพื่อสื่อว่าใครเป็นผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการเคลื่อนไหวดังกล่าว หรือเมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้น และหวังให้ความหมายที่ปรากฏโดยนัยนี้รักษาประชาชนฝ่ายที่ต่อต้าน “ระบอบทักษิณ” เป็นฐานสนับสนุนของรัฐบาลต่อไป

เรื่องที่สอง ที่อาจจะน่าสนใจกว่าเรื่องแรก เพราะมันมีนัยชวนให้ปริวิตกว่ามีอะไรรอเราอยู่ข้างหน้ากันแน่ในเวลาไม่ช้าไม่นานต่อจากนี้ การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องการเลือกตั้งที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นการเคลื่อนไหวที่ว่าไปแล้วทุกฝ่ายคงเห็นตรงกันว่าพวกเขาที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องเรื่องนี้ตั้งข้อเรียกร้องทางการเมืองอย่างจำกัดวงมากๆ และที่สำคัญไม่ได้มีอะไรเกินไปจากสิ่งที่รัฐบาลประกาศเป็นโรดแมปไว้แล้วแม้แต่น้อย

สมมติท่านเป็นรัฐบาลที่เตรียมดำเนินการเลือกตั้งตามโรดแมปอย่างแน่วแน่และแน่ชัด ถ้ามีคนออกมาเคลื่อนไหวถามหาการเลือกตั้ง ท่านจะเลือกตอบข้อเรียกร้องแบบกระจุ๋มกระจิ๋มนี้อย่างไร ที่จะเป็นโอกาสทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ทุกฝ่ายทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งผู้ที่ยังสงสัยในความอึมครึมว่าจะมีหรือไม่มีเลือกตั้งตามโรดแมป และตัดพลังก่อหวอดที่จะมาจากการเคลื่อนไหวแบบนี้ไปได้พร้อมกัน คำตอบนั้นง่ายมากถูกไหมครับ

แต่ฝ่ายอำนาจรัฐไม่เลือกตอบแบบที่จะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นอย่างนั้นขึ้นมาได้ หรือจะน่าวิตกกว่านั้นคือถ้าตอบแล้วแต่ไม่มีใครเชื่อมั่นอยู่ดี แล้วใช้การทิ้งความเข้าใจให้มีการเชื่อมโยงว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องสิ่งที่รัฐบาลประกาศไว้ในโรดแมป มาจากพวกที่มีท่อน้ำเลี้ยงมาเบี่ยงประเด็นไป เมื่อเป็นแบบนี้ รัฐบาลจะรู้ไหมว่า ด้วยการตั้งข้อเรียกร้องแบบกระจุ๋มกระจิ๋มอย่างนั้น กลุ่มเคลื่อนไหวเล็กๆ กลุ่มนี้ เขาต้องการเผยไต๋ที่รัฐบาลกบไว้ออกมาให้เห็นกันทั่วๆ

เมื่อไม่เลือกคำตอบที่ควรจะเป็นคำตอบง่าย ก็แสดงว่าคำตอบแบบนั้นน่าจะไม่ง่ายสำหรับรัฐบาลเสียแล้ว และถ้าเป็นอย่างนั้น คำตอบอะไรแน่ที่รอเราอยู่ข้างหน้าในเวลาไม่ช้าไม่นานต่อจากนี้ รัฐบาลวิตกอะไรจึงไม่เลือกคำตอบที่น่าจะสร้างความเชื่อมั่นได้ง่ายและเป็นวิธีปกติที่สุดในการลงจากอำนาจ แล้วความวิตกของรัฐบาลแบบนั้นจะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนที่น่าวิตกแบบไหนตามมา

อ่านจากข่าวแรกได้ความอย่างนั้นแล้ว เรามาอ่านจากข่าวที่สองดูบ้างนะครับ

ข่าวที่สองเป็นความเห็นจากคนที่ว่าไปแล้วอยู่ร่วมขบวนการอุดมการณ์แบบเดียวกันกับกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้ง เป็นความเห็นในทางที่เสนอแย้งเพื่อให้ทบทวนแนวทางของกลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวว่าไม่ควรเป็นการเคลื่อนไหวแบบนำเดี่ยว โดยปราศจากการจัดตั้งขบวนการ ยุทธศาสตร์การนำ และเครือข่ายสนับสนุน

ผมเห็นว่าข้อทักท้วงข้างต้นมีแง่มุมที่น่านำมาคิดและอ่านสถานการณ์ต่อประเด็นจากที่เขาตั้งไว้ ผมอ่านความเห็นของเขาแล้วได้ความเข้าใจออกมาอย่างนี้ครับ

ใช่ไหมว่า การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้งที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ที่ถูกมองว่าเป็นการนำเดี่ยวโดยวีรชนเอกชน เป็นการเคลื่อนไหวในลักษณะที่เข้าข่ายเป็นปฏิบัติการเชิงยุทธวิธี ปฏิบัติการที่เป็นการเคลื่อนไหวในเชิงยุทธวิธีแบบนี้ ถ้าหากว่าไม่ดำเนินควบคู่ไปกับการมียุทธศาสตร์สำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่เป็นจุดหมาย และยุทธศาสตร์อันจำเป็นนี้จะเกิดขึ้นมาได้ก็โดยการมีองค์กรหรือภาคีที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ในการนำ และสร้างเครือข่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในสังคมอย่างกว้างขวางเพียงพอ ก็น่าวิตกว่า การเคลื่อนไหวในระดับยุทธวิธีเช่นนี้ ไม่เพียงแต่จะเป็นการเคลื่อนไหวที่อาจจะไม่ได้อะไร แต่ยังจะถูกกลุ่มอำนาจที่เป็นผู้เล่นและเคลื่อนไหวในระดับยุทธศาสตร์ฝ่ายต่างๆ นำไปใช้สร้างเงื่อนไขอีกแบบหนึ่ง ที่อาจไม่เป็นผลดีต่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยโดยสันติ

แต่อาจเสนอข้อโต้แย้งต่อการอ่านแบบข้างต้นได้ว่า ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ ในเวลาระหว่างที่การจัดตั้งองค์กรหรือภาคีการนำและเครือข่ายในภาคประชาชนที่มุ่งสนับสนุนประชาธิปไตยร่วมกัน แม้จะแตกต่างกันในเป้าหมายเรื่องอื่นๆ ยังเกิดขึ้นมาไม่ได้อย่างที่คิดกัน การเคลื่อนไหวแบบยุทธวิธีก็มีความจำเป็นเช่นกัน

คงมีโอกาสต่อไปที่จะมาอ่านแนวทางการเคลื่อนไหวและคนที่ใช้การเคลื่อนไหวในเชิงยุทธศาสตร์ กับแนวทางการเคลื่อนไหวในเชิงยุทธวิธี กับฝ่ายที่ใช้การเคลื่อนไหวแบบนี้ เปรียบเทียบกัน

แต่จากข้อโต้แย้งที่มีอยู่ในฝ่ายนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองซึ่งหลุดเป็นข่าวออกมานี้ มองจากคนที่อ่านข่าวอยู่วงนอกไกลๆ ผมอ่านได้ว่ากลุ่มที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลือกตั้งที่เพิ่งเกิดขึ้น พวกเขาเลือกใช้การเคลื่อนไหวในเชิงยุทธวิธีโดยตั้งใจให้เป็นแบบนั้น โดยยุทธวิธีคราวนี้ของพวกเขา กลุ่มเรียกร้องการเลือกตั้งได้พลิกสิ่งที่ถูกคว่ำไว้ให้หงายขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนเห็น ความหวังของนักเคลื่อนไหวยุทธวิธีน่าจะอยู่เพียงแค่ว่าข้อสรุปที่ตามมา เมื่อทุกคนได้เห็นอย่างชัดเจนแล้วนั้น จะทำให้คนทั้งหลายทั่วไปที่ไม่ได้เป็นพันธมิตรแนบแน่นอยู่กับฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันขยับและปรับมุมมองต่อสถานการณ์ในทางที่จะทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยสะสมพลังสนับสนุนได้มากขึ้น

ในพื้นที่ที่ครองไว้ด้วยอำนาจรัฐฝ่ายคสช. อย่างเข้มข้นแบบนี้ คนที่เลือกออกมาเคลื่อนไหวทางยุทธวิธี ไม่ได้หวังผลที่การเปลี่ยนแปลงใหญ่โดยตรง ในสนามที่ยังไม่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวในระดับยุทธศาสตร์ ปฏิบัติการในเชิงยุทธวิธี ที่วูบวาบขึ้นมาในจุดนั้นจุดนี้ ทำหน้าที่ที่มีประโยชน์ได้หลายแบบ แต่ที่สำคัญที่สุด มันช่วยยืนยันว่าท่ามกลางการปิดกั้นด้วยกำลังบังคับรอบด้าน สปิริตของการไม่ยอมยังยงคงอยู่เสมอไป.

 

เชิงอรรถ

[1] ข่าวตรวจสอบ “ท่อน้ำเลี้ยง” ของผู้ออกมาเคลื่อนไหว

[2] ข่าวจากการเเชร์สเตตัสในเฟซบุ๊กซ้อนไปมากับหนังสือพิมพ์อย่างนี้ผมไม่มั่นใจในวิธีอ้างอิงที่เหมาะสม จึงขอละไว้นะครับ และส่วนที่เราต้องการพิจารณาไม่ใช่ว่าใครเป็นผู้พูด แต่อยู่ที่พูดอะไร และจากที่พูดนั้นสะท้อนอะไร หรือมิเช่นนั้นก็ขอให้ท่านคิดเสียว่าผมแต่งเรื่องนี้ขึ้นมาจากเค้าเรื่องจริงเพื่อประโยชน์ในการดำเนินความ

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023