fbpx

Read มีดสั้น: บุรุษ อิสตรี ทุนนิยม และปรัชญาปลอบใจวิญญูชนหลังโลกอุดมการณ์ล่มสลาย

มีงานหลายชิ้นที่วิเคราะห์นิยายจีนกำลังภายในว่า เป็นวรรณกรรมที่แสดงให้เห็นถึงการโหยหาความเป็นจีนภายใต้ความกดดันของสงครามเย็นและการที่วัฒนธรรมจีนโดนดูถูก บางคนเสนอว่า นิยายกำลังภายในเป็นที่ลี้ภัยทางอารมณ์ของลูกหลานจีนไปด้วยในช่วงทศวรรษ 2500-2510 ความคึกคักของการอ่านเห็นได้จากสถิติร้านเช่าหนังสือแถบบางลำพูที่ว่ากันว่าไม่ตำ่กว่าวันละ 100 เล่ม ถึงขนาดว่ามีการรอซื้อหนังสือที่เพิ่งออกจากแท่นพิมพ์เลยทีเดียว[1] ลักษณะเช่นนี้อาจเปรียบได้กับความนิยมใน แฮรี่ พอตเตอร์ ช่วงทศวรรษ 2540 ที่วรรณกรรมต่างประเทศเป็นที่สนใจและขายดิบขายดีในวงกว้าง แต่ในบทความนี้จะมองนิยายกำลังภายในเรื่องหนึ่งในฐานะข้อสังเกตบางประการแบบที่ตั้งชื่อเรื่องไว้

คนในวงการมักจะถือว่า มังกรหยก ที่แปลโดยจำลอง พิศนาคะตั้งแต่ปี 2501 เป็นนิยายกำลังภายในเรื่องแรกๆ และเป็นฝีมือของเขานี่เองที่ให้กำเนิดคำว่า ‘กำลังภายใน’ [2] อย่างไรก็ตาม มีผู้วิจารณ์ว่าสำนวนการแปลของจำลองออกไปในแนวเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ที่แปลสามก๊ก นักแปลหน้าใหม่เสนอว่า นิยายกำลังภายในเป็นเรื่องของคนเถื่อนและวงนักเลง การใช้สำนวนเช่นนั้นอาจไม่เหมาะ ควรจะเป็นสำนวนแบบไม้ เมืองเดิม นี่คือ ไอเดียของผู้ใช้นามปากกว่า ว. ณ เมืองลุง ผลงานชิ้นแรกของเขาคือ กระบี่ล้างแค้น ในปี 2506 สำนวนแบบใหม่ที่สั้นกระชับ รวบรัด ลุ่มลึก ได้ใจความลึกซึ้ง และสอดแทรกปรัชญาได้รับการตอบรับอย่างดี ถึงขนาดตีพิมพ์ช่วงเช้า 6,000 เล่มไม่พอขาย ต้องพิมพ์เพิ่มอีก 2,000 เล่ม[3]

หลังม่านฤทธิ์มีดสั้น

ในที่นี้จะเจาะจงพูดถึง ฤทธิ์มีดสั้น บทประพันธ์ของโก้วเล้ง นิยายเรื่องนี้ขึ้นชื่อในฐานะนิยายกำลังภายในคลาสสิกเล่มหนึ่งถูกแปลเป็นไทยโดย ว. ณ เมืองลุง ครั้งแรกในปี 2514 ต่อมา น.นพรัตน์ ได้แปลออกมาในชื่อ มีดบินของลี้น้อย บทความนี้จะขอยึดต้นฉบับ ว. ณ เมืองลุงที่ตีพิมพ์ในปี 2549[4] เป็นหลัก

ฤทธิ์มีดสั้น ถือเป็นผลงานชิ้นเอกที่โก้วเล้งได้ตีพิมพ์ลงนิตยสาร ชุนชิว ช่วงปี 2511-2513 ขณะที่ตลาดการนิยายกำลังภายในกำลังเฟื่องฟูในไทย โก้วเล้งขึ้นชื่อว่า มักจะดัดแปลงนิยายตะวันตกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน อย่าง เดชอุกาบาต ก็ดัดแปลงมาจาก Godfather ของมาริโอ พูโซ ส่วนฤทธิ์มีดสั้นนั้นเชื่อกันว่าดัดแปลงมาจาก Gunfight at the O.K. Coral เนื้อเรื่องในยุคคาวบอย

ก่อนจะวิเคราะห์ตัวนิยาย อยากให้ผู้อ่านเห็นสภาพแวดล้อมของผู้เขียนก่อน โก้วเล้งเกิดที่ฮ่องกง ราวปี 2480-2481 แต่มาโตที่ไต้หวันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะนั้น ไต้หวันกลายเป็นดินแดนยุทธศาสตร์สำคัญช่วงสงครามเย็น จีนแผ่นดินใหญ่ถูกปกครองด้วยพรรคคอมมิวนิสต์ จีนฮ่องกงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ ขณะที่จีนไต้หวันได้รับการแบ็กอัพจากสหรัฐอเมริกา โก้วเล้งทำงานเป็นบรรณารักษ์อยู่ในห้องสมุดของสำนักงานข่าวสารอเมริกัน (USIS) หน่วยงานสำคัญของสหรัฐอเมริกาในยุคสงครามเย็น[5]

อาจกล่าวได้ว่า ไต้หวันที่โก้วเล้งอาศัยอยู่นั้นมิได้เป็นสังคมอันน่าอภิรมย์สักเท่าใดนัก ขณะนั้นไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของเจียงไคเช็ก เผด็จการทหารผู้ปกครองประเทศด้วยระบอบของความหวาดกลัวที่เรียกว่า ‘ความน่าสะพรึงสีขาว’ (White Terror) ซึ่งว่ากันว่าดำรงอยู่ในช่วงปี 2490-2531 รัฐบาลใช้กฎอัยการศึกปกครองประเทศพร้อมการปราบปรามอย่างเหี้ยมโหดต่อผู้ต่อต้านรัฐ โดยเฉพาะผู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นสายลับคอมมิวนิสต์

ไต้หวันเคยตกเป็นดินแดนอาณานิคมของญี่ปุ่นหลังจากได้สิทธิ์ครอบครองตามสนธิสัญญาชิโมโนเซกิปี 2438 ญี่ปุ่นเป็นผู้วางรากฐานระบอบสาธารณูปโภคพื้นฐานตั้งแต่ทางรถไฟไปจนถึงมหาวิทยาลัย[6] อาจกล่าวได้ว่าโก้วเล้งใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ยุคเผด็จการที่สหรัฐอเมริกาหนุนหลังเช่นเดียวกับประเทศจำนวนมากในเอเชีย เห็นได้ชัดก็คือ ประเทศไทยภายใต้อำนาจสฤษดิ์-ถนอม ที่บรรยากาศดังกล่าวอยู่ภายใต้ความตึงเครียดของสงครามเย็น แรงกดดันทางการเมืองระดับทวีป การโฆษณาชวนเชื่อจากทั้งฝ่ายไต้หวันและจีนแผ่นดินใหญ่

สังคม(เกือบจะ)ไร้รัฐ และไม่มีชาตินิยมในฤทธิ์มีดสั้น  

เหตุร้ายในฤทธิ์มีดสั้นเกิดขึ้นเรียกได้ว่าเกิดขึ้นในสภาวะที่ไร้รัฐ เราไม่พบเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามารับผิดชอบอาชญากรรมและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในท้องเรื่องเลย หากใครคุ้นตาเรื่อง เปาบุ้นจิ้น เราจะเห็นบทบาทของข้าราชการที่ทำหน้าที่ปราบคนพาลอภิบาลคนดีอย่างชัดเจน แต่ในนิยายจีนกำลังภายในทั่วไป เราพบบทบาทเช่นนี้น้อยมาก ยิ่งดูในฤทธิ์มีดสั้น ยิ่งชัดเจนว่าแทบไม่มีสิ่งที่เรียกว่า ‘รัฐ’ เลย

แต่จะกล่าวอย่างนั้นก็ไม่ได้เต็มปาก เพราะตัวลี้คิมฮวงพระเอกเองก็เคยรับราชการ ในฐานะบัณฑิตหลวงในตำแหน่ง ‘ลี้ถ้ำฮวย’ หรือจอมยุทธ์ที่เป็นสหายเก่าที่หนีไปบวชก็เคยรับราชการ กระทั่งมีฉากหนึ่งที่เล้งโซ่วฮุ้นเข้าไปใช้บ้านเสนาบดีผู้หนึ่งใช้เป็นที่ประกอบมิจฉากิจ อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์ที่ว่า แทบไม่มีบทบาทต่อตัวละครและเหตุการณ์ในท้องเรื่องเลย เป็นเพียงคราบและฉากเก่าๆ ที่ถูกทิ้งไว้แบบไม่มีใครใยดี

หากเทียบกับพฤติกรรมของ ‘ก๊วยเจ๋ง-เอี้ยคัง’ ในมังกรหยกแล้ว นอกจากเราจะหาจุดเปรียบเทียบในประวัติศาสตร์ไม่เจอว่า เรื่องนี้อยู่ในยุคสมัยไหนใดกันแน่ เรายังไม่เห็นถึงอุดมการณ์ชาตินิยม หรือการพูดถึงชาติในหน่วยทางการเมืองขึ้นมาเลย

ดังนั้นจึงแทบไม่มีการสร้างความรู้สึกร่วมกันใดๆ ของตัวละครในฐานะการเผชิญชะตากรรมรวมหมู่ นอกจากคดีบ้วยฮวยเต๋า (โจรดอกเหมย) ที่ไม่ถือเป็นภัยคุกคามมากกว่า ความพยายามสะสางคดีเพื่อชื่อเสียงและลาภยศสรรเสริญ ดังนั้นกลุ่มพระเอกก็ทิศทางหนึ่ง กลุ่มกลางๆ ก็แก่งแย่งชิงดีเรื่องชื่อเสียงเกียรติยศ ส่วนตัวร้ายก็ไม่ได้ถึงกับเป็นภัยคุกคามยุทธภพที่จะต้องรวมกำลังต่อสู้กับมัน สอดคล้องกับอุดมคติที่พบในเรื่อง เมื่อกล่าวถึงจอมคนในตำนาน คือการปลีกวิเวกออกไปสู่ดินแดนที่ไกลจากสังคมมนุษย์อันวุ่นวาย

จอมยุทธ์ก็ต้องกินข้าว เมื่อพวกเขาพ่ายแพ้ต่อทุนนิยม

เรามักจะสงสัยอยู่เสมอว่า พวกจอมยุทธ์ทั้งหลายประทังชีวิตด้วยอะไร มีอาชีพอะไรหรือเปล่าถึงดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความเพริศแพร้ว ไม่ว่าจะเป็นการร่ำสุรา การเที่ยวหอนางโลม หรือการเล่นพนันแบบไม่กลัวเสีย ฤทธิ์มีดสั้นพยายามชี้ให้เห็นความเป็นจริงของพวกเขาผ่านความตกต่ำของตัวละคร ลี้คิมฮวง เดิมคือ ข้าราชการผู้มั่งคั่ง เขาคือลูกชายของตระกูลขุนนางเก่าที่สืบทอดกันมาหลายช่วง คฤหาสน์ตระกูลลี้เป็นที่รู้จักกันดี แต่ด้วยปมมากน้ำใจของเขา เขายกคนที่รักที่สุดให้กับเพื่อน ยกคฤหาสน์ของตระกูลให้เป็นเรือนหอ แจกจ่ายทรัพย์ที่มีกับตัวให้ผู้คน ดีที่ว่าทิท่วงกะได้ทัดทานไว้ว่า ควรเก็บส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าใช้จ่าย ข้อนี้กลายเป็นบุญคุณที่ลี้คิมฮวงคิดว่าเขาติดค้างกับชายหน้าหนวดเคราผู้นี้ เพราะลี้คิมฮวงเองไม่ได้มีกิจการอะไร เขาไม่ได้เป็นเจ้าของร้าน ไม่ได้เก็บค่าคุ้มครอง ไม่มีรายได้ใดๆ

ส่วนอาฮุย ตัวละครลึกลับที่ไม่มีที่มา เป็นตัวแทนของจอมยุทธ์ผู้ขัดสนมาแต่ต้น อาฮุยเป็นผู้ที่หยิ่งในศักดิ์ศรี สำหรับเขา เงินไม่สำคัญ และไม่ยอมติดค้างบุญคุณผู้ใด อย่างไรก็ตาม เมื่ออาฮุยถูกลากให้ลงนรกด้วยสภาวการณ์หนึ่ง อาฮุยพบว่า สุราและนารี ไม่ได้มาฟรีๆ แต่ล้วนซื้อมาได้ด้วยเงิน สำหรับเขาแล้ว เขารู้ซึ้งดีถึงวลีที่ว่า “no money, no honey”

กลุ่มตงง้วนโป้ยหงี (แปดคุณธรรมแผ่นดินตงง้วน) ที่เป็นพี่น้องที่รอวันล้างแค้นให้กับพี่ใหญ่ในกลุ่ม ต้องงำประกายจอมยุทธ์หาเลี้ยงชีพด้วยการมีอาชีพต่างๆ ที่ถือว่าต้อยต่ำเมื่อเทียบกับภูมิหลังของพวกเขา เช่น คนตัดไม้ คนขายผักกาดขาว คนขายเต้าหู้แห้ง คนหาบสุราเร่ขาย หมอยาพเนจร หมอดูตาบอด คนขายหมี่เกี๊ยว ฯลฯ[7]

กรณีของลู่ฮงเซย อดีตจอมยุทธ์เจ้าสำราญผู้เย่อหยิ่ง แม้ว่าความตกต่ำของจอมยุทธ์ที่เป็นทั้งคู่ต่อสู้และสหายของลี้คิมฮวงจะมาจากความพ่ายแพ้ต่อตัวร้ายทั้งที่ยังไม่ได้ลงมือสู้กัน แต่เขาอับอายจนไม่กล้ากลับไปสู้หน้าคนที่บ้าน อาศัยชีวิตอยู่นอกบ้านไปวันๆ คาดว่าเงินที่มีก็คงร่อยหรอลงไป เพราะเสาะหาแต่สุรามาใช้ราดดับทุกข์ ฉากที่ลี้คิมฮวงพบลู่ฮงเซยนอนกลิ้งเกลือกอยู่กับพื้นเพื่อแย่งสุราสื่อให้เห็นลักษณะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

กระทั่ง คฤหาสน์ของเล้งโซ่วฮุ้นก็กลับตกต่ำ เพราะไม่มีกระแสเงินสดไหลเวียน พ่อบ้านต้องขายของในบ้านเพื่อนำรายได้มาจุนเจือ การขัดสนเงินทองจึงเป็นตัวสะท้อนความตกต่ำของตัวละครมากกว่าจะยกย่องให้เห็นถึงความสมถะอยู่อย่างเพียงพอ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็แสดงให้เห็นถึงการที่คนเหล่านี้ไม่มีทักษะที่จะต่อกรกับความซับซ้อนของการเงิน การออม ขนาดอดีตลี้ถ้ำฮวยเองก็ยังต้องให้จอมยุทธ์หน้าหนวดเคราเป็นผู้เตือนสติเรื่องการเงิน

พรรคกิมจี๊ปัง (เหรียญทอง) ของเซี่ยงกัวกิมฮ้ง ตัวร้ายมากฝีมือที่พยายามจะวัดฝีมือกับลี้คิมฮวง องค์กรดังกล่าวมีความมั่งคั่งและขยายตัวอย่างรวดเร็ว เขารวมยอดฝีมือในตำราอาวุธของแป๊ะเฮี่ยวเซ็งมาเป็นพวกพ้องได้ถึง 17 คน กล่าวกันว่ายิ่งใหญ่กว่าพรรคกระยาจกเสียอีก[8] ชวนให้นึกถึงการเติบโตของระบบทุนนิยมที่ดูดกลืนและเอาชนะจอมยุทธ์ที่ไม่ประสีประสาเรื่องการทำมาหากิน การโจมตีของเซี่ยงกัวกิมฮ้งหลายครั้งมิได้ใช้อาวุธเลย แต่โจมตีไปที่หัวใจ นั่นคือ ทำให้คู่ต่อสู้สูญเสียความมั่นใจจนถอดใจไปเอง หรือไม่ก็ให้มือสังหารข้างกายเป็นผู้จัดการ โดยที่ตนเองไม่ต้องมือเปื้อนเลือด อาวุธที่เขามีก็น้อยนักที่จะเปิดเผยให้ใครได้เห็น เซี่ยงกัวกิมฮ้งจึงเหมือนเป็นคู่ต่อสู้ผู้น่าหวาดหวั่น แม้แต่สตรีโฉมสะคราญอันดับหนึ่งก็ไม่สามารถเอาชนะได้ ทั้งยังสามารถดูดกลืนความมั่งคั่งของลิ่มเซียนยี้ที่นางหาได้ไปด้วย ที่น่าสนใจคือ พลังการควบคุมจิตใจจอมยุทธ์วัยเยาว์ของเซี่ยงกัวกิมฮ้งที่สยบยอดฝีมืออย่างจิ้นบ้อเมี่ย และอาฮุยด้วยจิตวิทยา การอ่านจิตใจ และสิ่งที่พรรคสามารถจัดเตรียมให้ได้ในฐานะของที่ดีที่สุด เมื่อเทียบกับลี้คิมฮวง เขาชนะใจอาฮุยด้วยน้ำมิตรและสถานภาพที่เท่าเทียมและพร้อมเสียสละ หรือซื้อใจจิ้นบ้อเมี่ยด้วยการไว้ชีวิต

หากไม่ติดว่า ยุทธภพในเรื่องมีลักษณะไร้รัฐแล้ว พรรคกิมจี๊ปังมีลักษณะบางประการที่ทำให้เราหวนนึกถึงรัฐบาลเผด็จการเจียงไคเช็กที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุน ชื่อของพรรคแสดงให้เห็นการให้ความสำคัญกับเงินตรา เหรียญทองเป็นสัญลักษณ์ของวัตถุสูงค่าที่เป็นที่ยอมรับกันในโลกทุนนิยม การใช้เงินจัดการปัญหาของพรรคทำให้มิติด้านนี้มีความโดดเด่น เช่นเดียวกับวัฒนธรรมองค์กรที่มีลักษณะคล้ายกับบริษัทเอกชนในโลกสมัยใหม่ เจียงไคเช็กสร้างระบอบความน่าสะพรึงสีขาวที่ใช้กำปั้นเหล็กในการพิฆาตผู้เห็นต่างและฝ่ายซ้าย ร่วมสมัยกัน บนแผ่นดินใหญ่ก็เกิดความวุ่นวายภายใต้การปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในห้วงของการปฏิวัติวัฒนธรรมที่คนรุ่นใหม่หัวรุนแรงพยายามโค่นล้มสิ่งเก่าเพื่อสร้างโลกใบใหม่ในอุดมคติของพวกเขา พรรคคอมมิวนิสต์เป็นภัยสีแดงที่กำลังขยายตัวไปในเอเชียตามทฤษฎีโดมิโน เยาวรุ่นอาภรณ์แดงในเรื่องอย่างเล้งเซี่ยวฮุ้น บุตรของผู้หญิงที่ลี้คิมฮวงรักที่สุด ก็เป็นวัยเยาว์ผู้ชั่วร้ายจนถูกทำลายวรยุทธ์ทิ้งตั้งแต่ต้นเรื่องที่ทำให้เราอาจกระหวัดถึงเล่ายุวชนแดงหรือเรดการ์ดในพริบตาหนึ่ง

จะเห็นว่า ทั้งเผด็จการเจียงไคเช็กและพรรคคอมมิวนิสต์จีน ต่างก็เข้าไปควบคุมความทรงจำและจิตใจผู้คนผ่านอุดมการณ์ที่ตรงกันข้ามกัน เพียงแต่ว่าพรรคกิมจี๊ปังไม่ได้ถืออำนาจรัฐ พรรคเป็นเสมือนกลุ่มอิทธิพลนอกกฎหมาย

สำหรับจอมยุทธ์แล้ว ชายรักชาย ยิ่งใหญ่กว่าชายรักหญิง

เราจะเห็นว่าความรักฉันชู้สาวนั้นเป็นเรื่องรองของฤทธิ์มีดสั้น ลี้คิมฮวงตัดสินใจเลือกที่จะสนองความต้องการของมิตรสหายผู้เสี่ยงชีวิต ด้วยการมอบหญิงสาวอันเป็นที่รักของเขาให้แต่งงานด้วย แม้เขาจะสำนึกเสียใจว่า นั่นคือทางเลือกที่เป็นโศกนาฏกรรมชีวิตที่ไม่เพียงจะโบยตีเขา แต่ได้พังทลายชีวิตไปอย่างน้อยอีก 3 คน ลี้คิมฮวงยังได้วิจารณ์จอมยุทธ์ผู้ฆ่ามิตรสหายเพราะสตรีไว้ว่า “เต็กบู้จื้อท่านนั้น แม้มีเพลงกระบี่ที่สูงส่ง แต่จิตใจออกจะคับแคบเกินไปบ้าง ไยมิเคยได้ยินคำ ‘สหายดุจมือเท้า ภรรยาดุจเสื้อผ้า’ ชายชาตรีที่โอ่อ่าองอาจ ไหนเลยจะเห็นแก่ความรักของบุรุษสตรีไปทำอันตรายน้ำมิตรไมตรีได้”[9]

แม้ในเรื่องจะชี้ให้เห็นว่าซุนเซี่ยวอั๊งจะเป็นสตรีวัยเยาว์ที่จะมาเป็นผู้รู้ใจลี้คิมฮวงในบั้นปลาย แต่ก็พบว่านางเป็นเพียงผู้ที่มาช่วยเยียวยาบาดแผลทางจิตใจที่บอบช้ำ เป็นเสมือนยารักษาโรคซึมเศร้าของบุรุษผู้ผิดหวัง แต่ตลอดเรื่องเราจะเห็นว่า น้ำมิตรต่างหากที่มีความสำคัญกระตุ้นให้ผู้อ่านรู้สึกเต็มตื้นกับความลึกล้ำของคำว่ามิตรสหาย อาฮุย ทิท่วงกะ ก้วยซงเอี๊ยงหรือกระทั่งลู่ฮงเซย ล้วนเป็นมิตรสหายที่ลี้คิมฮวงยอมรับนับถือ บางคนลี้คิมฮวงพร้อมเสี่ยงชีวิตให้ บางคนพร้อมจะสละชีวิตให้ลี้คิมฮวง

ไม่เพียงเท่านั้น นิยายเรื่องนี้ยังแบ่งขั้วบุรุษ-สตรีอย่างชัดเจน เส้นแบ่งเพศด้วยอวัยวะนำไปสู่การจัดประเภทชายหญิงอย่างหยาบๆ “บุรุษสตรีแม้เสมอภาค แต่โลกกลับพานบันดาลให้มีเรื่องบางประการที่สตรีไม่อาจกระทำ และกระทำไม่ได้อีกด้วยหากสตรีนางใดคิดจะกระทำเรื่องเหล่านั้น มิใช่ไม่เจียมตัว ก็เป็นการแส่หาความอัปยศ สตรีย่อมเป็นสตรี เหตุผลนี้ มิว่าผู้ใดก็ทักท้วงไม่ได้”[10] สำหรับคนที่มีเพศสภาพไม่ชายไม่หญิง แม้จะมีอยู่เพียงผู้เดียวในเรื่อง แต่ก็กลายเป็นสิ่งแปลกประหลาด นั่น เฮียงซ้ง และพวกที่เป็นสมุนพรรคกิมจี๊ปังที่สามารถทนความเย้ายวนของลิ่มเซียนยี้ได้จนถูกกล่าวหาว่า “ที่แท้พวกท่านล้วนเป็นคนลักเพศ…ลักเพศที่ไม่หญิงไม่ชาย!” [11]

มีแนวโน้มว่า สตรีจะเป็นเพียง ‘คนนอก’ เพราะสตรีมักจะเป็นวัตถุอ้างอิงเพื่อเข้าใจสิ่งที่ลึกลับ ทั้งที่หากแทนคำว่า ‘สตรี’ ด้วย ‘มนุษย์’ ก็อาจได้ผลไม่ต่างกัน เช่น “บุรุษคนใดหากเข้าใจว่าตัวเองเข้าใจสตรี มิว่ามันทุกข์ทรมานเยี่ยงไร ก็นับว่าสาสมยิ่ง”[12] เช่นเดียวกันกับประโยคตัวอย่างดังต่อไปนี้

“ในโลกนี้ ไม่มีบุรุษคนใดสามารถเข้าใจสตรีได้จริงจัง หากมีผู้ใดเห็นว่ามันเข้าใจอิสตรี ความทุกข์ทรมานของมันจะต้องใหญ่หลวงยิ่งกว่าผู้อื่น”[13]

“การแปรเปลี่ยนของเหตุการณ์ในวงพวกนักเลง เฉกเช่นหัวใจอิสตรี ไม่มีผู้ใดสามารถหยั่งคำนวณได้เด็ดขาด!” [14]

“หากท่านต้องการมีชีวิตเบิกบานขึ้นบ้าง ก็อย่าหวังให้สตรีกล่าววาจาจริงใจกับท่าน”[15]

“หากสตรีจะกระทำเรื่องใด วิธีดีที่สุดคือปล่อยให้นางกระทำ นางก็จะรู้ตัวได้รวดเร็วยิ่งว่า เรื่องนั้นมิใช่สนุกสนานเท่าที่นางคิดหมายไว้เลย เนื่องเพราะมิว่าสตรีมีความสนใจในเรื่องใด จะต้องไม่เป็นไปได้นานเท่าใดนัก แต่หากท่านมิยอมให้นางไปกระทำ ความสนใจของนางกลับยิ่งรุนแรงกว่าเดิม นี่อาจบางทีเป็นจุดอ่อนของสตรีส่วนมาก สตรีเมื่อร้อยพันปีก่อนมีจุดอ่อนเช่นนี้ สตรีเมื่อร้อยพันปีให้หลัง ยังต้องมีจุดอ่อนเช่นนี้”[16]

นอกจากตัวร้าย นักเลงที่เป็นบุรุษแล้ว สตรียังเป็นตัวร้ายที่อาจล้ำลึกกว่าด้วย เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้วรยุทธ์ก็สามารถถึงจุดหมายได้ จิ้นบ้อเมี่ย อาฮุย และลู่ฮงเซย ล้วนถูกสตรีนางหนึ่งจู่โจมไปยังหัวใจ นางก็คือคือ ลิ่มเซียนยี้ สตรีสะคราญโฉมอันดับหนึ่งของแผ่นดิน อาวุธของลิ่มเซียนยี้มีพื้นฐานอยู่ในอากัปกิริยา 4 ประการ ได้แก่ รอยยิ้ม, การอยู่ในโอวาทบุรุษ, การประจบสอพลอ และดวงตา และหากไม่สำเร็จอาวุธสุดท้ายก็คือ การพลีเรือนกายให้เชยชม[17]

สตรีอ้วนคือตัวร้าย คาแรกเตอร์ที่คลอดมาจากมาตรฐานความงามในทศวรรษ 2510

แม้ว่า ลิ่มเซียนยี้จะเป็นสตรีที่ชั่วร้ายกลับกลอก เจ้าเล่ห์ และสร้างบาดแผลให้กับจอมยุทธ์มากหน้าหลายตา แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่นิยายแสดงให้เห็นด้านที่น่าสงสารของนางที่สำนึกได้เมื่อสาย แต่สตรีอีกกลุ่มหนึ่งกลับเป็นความชั่วร้ายที่มีมิติแบนราบ นั่นคือ ‘สตรีอ้วน’

สตรีอ้วนที่ปรากฏตัวในฤทธิ์มีดสั้น ออกมาต่างกรรมต่างวาระใน 3 ฉาก นับเป็น 3 ตัวละครร่างยักษ์ที่ถูกสร้างมาเพื่อเป็นอุปลักษณ์ของความชั่วร้ายก็ว่าได้ อาจต้องเข้าใจก่อนว่า ในช่วงที่ฤทธิ์มีดสั้นถือกำเนิด ความงามของสตรีที่มีเรือนร่างที่บอบบางมาพร้อมกับการเฟื่องฟูของวงการนางแบบที่เริ่มมาจากนางแบบในทศวรรษ 2500 จากนางแบบที่ชื่อ Twiggy[18]  

นางแรก เชียงมุ้ยฮูหยิน (ท่านผู้หญิงกุหลาบหนู) มีลักษณะ “นางความจริงไม่อาจนับว่ามีเอว ตลอดร่างคล้ายเป็นโอ่งน้ำที่ไม่ใหญ่เท่าใด น้ำที่บรรจุในโอ่งอย่างมากก็เพียงพอทดเข้าเต็มสองไร่เท่านั้น” และ “ยังคิดใช้สายรัดเอวมารัดไขมันอย่างไม่คิดชีวิต” ทั้งยังบรรยายว่า “ร่างที่หนักกว่าร้อยชั่งของนาง”[19] เชียงมุ้ยฮูหยินยังมีวีรกรรมที่ไม่น่าให้อภัย อย่างการทรยศสามีอย่าง เอี้ยไต้ฮูจื้อ หัวหน้าใหญ่เจ็ดสิบสองค่ายแห่งดินแดนกังหนำ แล้วไปมีชู้กับฮวยฮง ฉายาเทพบุตรพิสดารใจดำ ได้เสียกันจนตั้งครรภ์ เกรงว่าความลับจะถูกเปิดโปง จึงลักทรัพย์ของเอี้ยไต้ฮูจื้อหลบหนีมา เชียงมุ้ยฮูหยินโกหกว่า ฮวยฮงลักสมบัติหนี แต่จากปากคำฮวยฮงเล่าว่าไม่ใช่ แผนเดิมคือ ให้เชียงมุ้ยฮูหยินไปหาเหยื่อมารับบาปแทน จึงตั้งใจให้ซุนคุ้ย ฉายาคนหน้าม่วงที่สองมารับหน้า แต่กลายเป็นว่า อยู่กันไปทั้งคู่เกิดมีน้ำใจรักกันขึ้นมา ส่วนฮงฮวยก็ถูกจับตัดขาเสมอโคน ขังไว้ในคุกใต้ดินให้กินแต่ข้าวเปล่าคลุกน้ำมันจนมีสภาพเป็นก้อนเนื้อ[20] ฮงฮวยก็ได้แต่สำนึกเสียใจว่า “หากข้าพเจ้าเข้าใจหัวใจสตรี ก็ต้องไม่กลายเป็นสภาพเยี่ยงนี้แล้ว” ตบท้ายว่า การกลายเป็นก้อนเนื้อพิการของฮงฮวยนั้นถือว่าสมควรแล้ว “บุรุษคนใดหากเข้าใจว่าตัวเองเข้าใจสตรี มิว่ามันทุกข์ทรมานเยี่ยงไร ก็นับว่าสาสมยิ่ง”[21]

นางที่สอง จี้จุนป้อ (ของวิเศษ) ลูกศิษย์นึ้งพ่อสัก (โพธิสัตว์หญิง) ก็เป็นสตรีอ้วนอัปลักษณ์ ที่ได้รับการบรรยายว่า “หากตัดร่างนางออกเป็นสามคน พอนับเป็นสตรีโฉมงามได้จริงๆ แต่เสียดายที่คางนางมีสามชั้น เอวมหึมาราวถังน้ำ เนื้อในตัวยังมากกว่าคนธรรมดาถึงสามคนลี้คิมฮวงถูกนางอุ้มอยู่ในอ้อมแขน นับว่าคล้ายนอนอยู่บนนุ่นกองใหญ่จริงๆ…ถึงกับอ้วนจนน่ากลัวปานนี้ นับว่าอ้วนจนไม่คล้ายมนุษย์แล้วจริงๆ” ไม่เพียงเท่านั้น คุณสมบัติที่ถูกมองข้ามอย่างเสียงที่ไพเราะกลับถูกกลบไปด้วยอคติทางความงาม “สตรีที่กล่าววาจาด้วยเสียงนุ่มนวล หัวร่อเสียงสดใสไพเราะ ถึงกับอ้วนจนน่ากลัวปานนี้ นับว่าอ้วนจนไม่คล้ายมนุษย์แล้วจริงๆ”[22] การปรากฏตัวของจี้จุนป้อออกมาในฐานะของสตรีอัปลักษณ์ผู้มากราคะผู้อยากครอบครองร่างกายของลี้คิมฮวง และก็จากไปง่ายๆ ด้วยการซัดอาวุธของน่ำเฮียกจื้อ

นางที่สาม คือ นึ้งพ่อสัก ฉายาไต้ฮัวฮี้ (โพธิสัตว์หญิงเริงสำราญ) ครั้งนี้นึ้งพ่อสักพาลูกศิษย์สิบกว่านางมาด้วย โก้วเล้งได้อธิบายว่า “แต่มิว่าผู้ใดก็ไม่อาจว่าพวกนางเป็นสุกร เนื่องเพราะสุกรที่อ้วนเทียบเท่ากับพวกนาง โลกนี้ยังมีน้อยกว่าน้อยนัก และสุกรก็ไม่กินมากมายเทียบเท่าพวกนางเด็ดขาด” [23] ครานี้ความน่าขยะแขยงก็คือ พวกนางคล้ายกับสุกรที่ตะกละตะกราม ส่วนนึ้งพ่อสักนั้น “นับว่าคล้ายภูเขาลูกหนึ่ง…ภูเขาเนื้อ!” นางได้ฆ่าน่ำเฮียกจื้อ ผู้มีพระคุณของลี้คิมฮวงเพื่อล้างแค้นให้ศิษย์ของนาง นึ้งพ่อสักยังได้จับจอมยุทธ์อย่างอิ่วเล้งเซ็ง ฉายาเต๊าะเช็งเกี่ยม (กระบี่ชิงรัก) เป็นทาสปรนนิบัติอย่างจำยอม ลี้คิมฮวงกล่าววาจาท้าทายว่า “แต่ข้าพเจ้าติท่านอ้วนเกินไป หากท่านลดทอนเนื้อในตัวท่านสักสองร้อยชั่ง…” บริวารนึ้งพ่อสักสิบกว่าคนก็ล้อมไว้  “เห็นไขมันที่ห้อยย้อยตามร่างสตรีเหล่านี้แล้ว ลี้คิมฮวงนับว่าพอสัมผัสถูกก็ต้องอาเจียน” ที่ถูกเรียกว่า “พยุหมังสา” (เน็กติ่ง) ล้อกับ พยุหล้อฮั่นติ่งของเสียวลิ้มยี่ ในท้ายสุด แม้มีดบินของลี้คิมฮวงก็ทำอะไรปิศาจร้ายไม่ได้ จนต้องถูกอิ่วเล้งเซ็งลอบทำร้ายด้วยการแทงข้างหลังด้วยกระบี่จนมิดด้าม ซึ่งหากเป็นการประลองกันของบุรุษ วิธีนี้ถือเป็นการแทงข้างหลัง เป็นการลอบทำร้ายที่ไม่น่าให้อภัย แม้จะเป็นการฆ่าเพื่อล้างแค้นก็ตาม[24]

สามตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นได้ชัดถึงความไม่เป็นธรรมต่อสตรีเจ้าเนื้อเลย หากนำเอาบทวิจารณ์แป๊ะเฮี่ยวเซ็ง ผู้รู้ด้านอาวุธมาจับ ก็อาจเป็นคำวิจารณ์โก้วเล้งได้อย่างเหมาะเจาะ “แป๊ะเฮี่ยวเซ็งยกบุรุษหยามสตรี ในตำราอาวุธของมัน มิได้บรรจุยอดฝีมือสตรีเข้าไปด้วย”[25]

สังคมไทยกับฤทธิ์มีดสั้น

อาจกล่าวได้ว่า ฤทธิ์มีดสั้น เป็นนิยายจีนกำลังภายในที่เกิดขึ้นในยุคก่อน 14 ตุลาคม 2516 และมีชีวิตที่ยืนยาวจนอาจกล่าวได้ว่าเป็นนิยายคลาสสิกที่สร้างชื่อให้กับทั้งผู้แต่งและผู้แปล การถือกำเนิดในบรรณพิภพนั้น เกิดขึ้นพร้อมกับสังคมไทยที่โหยหาฮีโร่ และภราดรภาพของสังคม รัฐบาลเผด็จการที่ควบคุมสังคมไทยมาอย่างยาวนานถูกตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ยังไม่สามารถโค่นล้มลงได้ง่ายๆ

ในช่วงแรกฤทธิ์มีดสั้นได้มีส่วนร่วมนั้นพร้อมกับนิยายกำลังภายในต่างๆ แต่ด้วยความที่นิยายไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องการผดุงคุณธรรมและการร่วมมือกันต่อต้านศัตรูร้าย มันจึงไปกันไม่ได้ดีนักกับอุดมการณ์ใหม่ที่กำลังเบ่งบานในยุคนั้น นั่นคือ สังคมนิยมและพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเรียกร้องให้คนรวมกลุ่มกัน ให้คุณค่ากับชนชั้นแรงงานและเกษตรกร ยังไม่นับว่า พระเอกอย่างลี้คิมฮวง ถือเป็นวีรชนเอกชนที่ไม่น่าพึงประสงค์ในขบวนการเคลื่อนไหว

หลังการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม 2519 นักศึกษาและประชาชนจำนวนมากไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้อีกต่อไป จึงหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ปีเดียวกันนั้น ฤทธิ์มีดสั้นพิมพ์เป็นครั้งที่ 3 (ครั้งที่ 2 ราวปี 2516-2517) [26] อย่างไรก็ตาม ชีวิตในป่าไม่ใช่เรื่องง่าย ยังไม่นับว่า พคท.ไม่สามารถยืนระยะได้ไกล นอกจากการเมืองระหว่างประเทศที่ไม่สนับสนุนแล้ว การแตกแยกกันภายใน พคท. ก็นำไปสู่จุดจบในปี 2525[27]

นักศึกษาและสมาชิกพรรคจำนวนมากกลายเป็นผู้แพ้ในสงครามประชาชน อุดมการณ์ที่เคยเชิดชูว่าจะต่อสู้เพื่อปลดแอกคนในชาติกลายเป็นสิ่งที่น่าเคลือบแคลง เมื่อการเมืองใน พคท. เองก็แสนจะเป็นเรื่องกลืนไม่เข้าคายไม่ออก หลายคนหลังจากออกจากป่า มุ่งสู่อุดมการณ์ใหม่ที่ต่างออกไป บางคนเข้าสู่ร่มกาสาวพัตร์ บางคนหันกลับไปคืนดีกับ ‘พวกศักดินา’ และส่วนหนึ่ง พวกเขากลับไปสนใจข้างในของตัวเองผ่านศาสนาและปรัชญา

ว่ากันว่าในทศวรรษ 2520 หนังสือแนวพุทธศาสนา เซน เต๋า เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง พุทธทาสภิกขุ เป็นพระหัวใหม่ที่เปิดกว้างในการตีความพุทธศาสนา ทั้งยังมีส่วนทำให้เรื่องธรรมะเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่าย เช่นเดียวกับหนังสือแปลเกี่ยวกับเซนที่กลายเป็นปรัชญาที่ช่วยเยียวบาดแผลของผู้ปราชัย นอกจากนั้น ภายใต้ความหม่นหมองของจุดสิ้นสุดอุดมการณ์แบบสงครามเย็น ยังมีหนังสือเล่มหนึ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตพวกเขา หนึ่งในนั้นคือฤทธิ์มีดสั้น ในปี 2527 เป็นการตีพิมพ์ครั้งที่ 4 ก่อนหน้านั้นพบว่า นิตยสาร โลกหนังสือ ที่ดำเนินการโดยสุชาติ สวัสดิ์ศรี ถือเป็นชุมนุมวรรณกรรมไทยหัวก้าวหน้า ตีพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์ในปี 2520 ด้วยการขึ้นหน้าปกเป็นภาพนิยายจีนกำลังภายในโดยพาดหัวว่า “วรรณกรรมบู๊ลิ้ม ‘ค้างชีวิต ต้องชดใช้ชีวิต’ ”

ไม่เพียงเท่านั้น ปลายปี 2522 ก็มีนิยายจีนที่ได้ขึ้นหน้าปกโลกหนังสืออีกครั้งด้วยพาดหัวว่า “เส้นทางนวนิยาย ‘กำลังภายใน’” ดังนั้น ฤทธิ์มีดสั้น และนิยายจีนร่วมสมัย จึงเป็นหนึ่งในนิยายที่ช่วยระบายอารมณ์ความเปลี่ยวเหงาของผู้แพ้ การเสพตัวอักษรและแปลงตัวเองให้เป็นตัวเอกจึงเหมือนกับเป็นการหาทางออกให้กับตัวเอง ที่ในที่สุด แม้จะเปลี่ยนโลกไม่ได้ แต่อย่างน้อยตัวตนก็ยังถูกรักษาไว้ไม่พังทลายลงไป นิยายจึงพาพวกเขาหนีจากความจริงที่เคยเผชิญอย่างโหดร้ายไปด้วยและไม่ใช่เพียงพวกที่เข้าป่า แต่อาจหมายรวมถึงผู้คนจำนวนมากที่พบว่าอุดมการณ์ที่เคยเชิดชูได้พังทลายลงไป คล้ายกับจอมยุทธ์จำนวนมากที่แม้จะพ่ายแพ้ แต่ก็สามารถผดุงความเป็นวิญญูชนของตนอยู่ได้  

เราจึงพบว่า แม้หลายปีผ่านไป การกล่าวถึงบู๊ลิ้มเทียบกับสังคมการเมืองไทย ก็ยังทรงอิทธิพลอยู่ เห็นได้จากผลงานอย่าง ชุมนุมมังกรซ่อนพยัคฆ์ (2530) โดย เสถียร จันทิมาธร ได้เล่าถึงตัวละครของโก้วเล้งที่ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำมาอย่างต่อเนื่อง หรือหนังสือที่รำพึงถึง ‘ปรัชญา’ หากเทียบกันแล้วบนแผงส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับโก้วเล้งทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น โลก เหล้า และ ความรัก (2536) ชีวิต ความแค้นและความเหงา (2536), ยุทธจักรมังกรโบราณ เล่ม 2 ตำนาน อักษร กระบี่  (2538) ปรัชญา, ความคิดจาก ฤทธิ์มีดสั้น (2539) โดย วินัย สุกใส, ทะเลใจ เซียวลี้ปวยตอ ลี้คิมฮวง, วิถีแห่งรัก มังกรเดียวดาย โก้วเล้ง (2546), พยัคฆ์ซ่อนมังกรซุ่ม (2549) ฯลฯ

การอ้างถึงอาวุธของแป๊ะเฮี่ยวเซ็งในบทความผู้จัดการออนไลน์ในปี 2556 อย่าง “จากตำราอาวุธแป๊ะเฮียวเซ็งถึงโซเชียลมีเดีย: ระวังมรณกรรมของผู้ส่งข่าวสาร” [28] กรณีรายการคนค้นคน แชร์ข้อมูลไม่เป็นจริงเรื่องข้าวบรรจุถุงปนเปื้อนสารพิษก็ถือเป็นการสื่อสารด้วยการสนทนาจากฤทธิ์มีดสั้นโดยตรง สอดคล้องกับการตีพิมพ์ครั้งที่ 10 ในปี 2549 และยังพบว่าเกิดความขัดแย้งเรื่องลิขสิทธิ์การแปล จนโดยบริษัทมหาชนแห่งหนึ่งฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ยื่นโนติ๊สในปี 2546 แต่คดีสิ้นสุดในปี 2560 ให้ยกฟ้อง ฤทธิ์มีดสั้นเป็นหนึ่งในหนังสือที่เป็นคดี[29] นั่นหมายถึง ความนิยมของนิยายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

แต่ที่ผู้เขียนสนใจที่สุด และขอเป็นประเด็นทิ้งท้ายของบทความนี้ก็คือวาทะของสุรพล นิติไกรพจน์ที่ลั่นวาจาไว้เมื่อคราวรัฐประหาร 2549 ว่าตนยอมเปลืองตัวทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า

“ผมเชื่อในมโนสำนึกของผมว่าทั้งในฐานะนักกฎหมายมหาชน และทั้งในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะมีน้ำหนักและศักยภาพที่จะผลักดันเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากก็น้อย ไปให้ไปในทิศทางที่ผมยึดถือและเชื่อมั่นได้ผมเป็นพวกชอบอ่านนิยายกำลังภายใน และเชื่อที่โก้วเล้งเขียนไว้ในหลายเรื่องว่า ‘ถ้าหากเราไม่ลงนรก แล้วผู้ใดจะลงนรก’”[30]

นิตยสารโลกหนังสือ ฉบับปฐมฤกษ์ ตุลาคม 2520

[1] สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์, “อ่าน “นิยายกำลังภายใน” ในฐานะ “วรรณกรรมการเมือง” ”, ศิลปวัฒนธรรม, 32 : 7 (พ.ค. 2554) : 28-33  และ เถกิง พันธุ์เถกิงอมร, “เรื่องจีน : พัฒนาการ บทบาท และอิทธิพลในไทย”, วารสาร วิชชา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, 9 : 3 (2528) : 21-69 และงานอีกชิ้นของสิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ ที่กำลังจะเผยแพร่นั่นคือ “นิยายกำลังภายใน วรรณกรรมจีนแปลงไทย 14 ตุลา และระบบคุณค่า อารมณ์ความรู้สึกของ “ความเป็นจีนแบบไทยๆ” “

[2] สร้างสรรค์บุ๊คส์, “รู้จัก จำลอง พิศนาคะ”. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2565 จาก https://www.sangsanbooks.com/content/4910/รู้จัก-จำลอง-พิศนาคะ

[3] สร้างสรรค์บุ๊คส์, “รู้จัก ว. ณ เมืองลุง”. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2565 จาก https://www.sangsanbooks.com/content/4910/รู้จัก-ว-ณ-เมืองลุง

[4] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549)

[5] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม1, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า (7)-(8)

[6] มัธธาณะ รอดยิ้ม. “‘นักจารกรรม’: ไต้หวันกับมรดกขยาดจากสงครามเย็น”. the 101. World. สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2565 จาก https://www.the101.world/chinese-student-spy (17 ธันวาคม 2564)

[7] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม1, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 198-201

[8] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม2, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 515

[9] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม1, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 208

[10] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม3, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 1054

[11] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม3, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 1092

[12] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม1, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 83

[13] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม2, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 662

[14] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม3, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 856

[15] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม3, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 900

[16] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม3, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 1043

[17] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม2, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 681-685

[18] Business Insider. “THREE DECADES OF THIN: How The Fashion Business Promotes Anorexia”. Retrieved on January 9th, 2022 from https://www.businessinsider.com/three-decades-of-thin-how-the-fashion-business-promotes-anorexia-2012-3

[19] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม1, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 56, 59

[20] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม1, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 59-60, 83

[21] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม1, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 83

[22] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม2, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 708

[23] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม2, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 742

[24] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม2, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 744-756

[25] โก้วเล้ง (นามแฝง), ฤทธิ์มีดสั้น เล่ม2, ว. ณ เมืองลุง, ผู้แปล (กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2549), หน้า 588-589

[26] สร้างสรรค์บุ๊คส์, “สังเขปแห่งประวัติการจัดพิมพ์และคดีความ ของ “ฤทธิ์มีดสั้น” โดย ว. ณ เมืองลุง”. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2565 จาก https://www.sangsanbooks.com/content/3926/สังเขปแห่งประวัติการจัดพิมพ์และคดีความ-ของ-ฤทธิ์มีดสั้น-โดย-ว-ณ-เมืองลุง

[27] อ่านเพิ่มเติมใน ธิกานต์ ศรีนารา, หลัง 6 ตุลา ว่าด้วยความขัดแย้งทางความคิดระหว่างขบวนการนักศึกษากับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : หกตุลารำลึก, 2553) และผู้อ่านอาจเป็นผู้สังเกตการณ์บรรยากาศที่ไม่น่าอภิรมย์ในการเข้าป่าได้จากหนังสือหลายเล่ม หนึ่งในนั้นคือ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, น้ำป่า บันทึกการต่อสู้ในเขตป่าเทือกเขาบรรทัด (กรุงเทพฯ : อ่าน, 2558)

[28] โกศล อนุสิม. “จากตำราอาวุธแป๊ะเฮียวเซ็งถึงโซเชียลมีเดีย : ระวังมรณกรรมของผู้ส่งข่าวสาร”. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2565 จาก https://mgronline.com/columnist/detail/9560000092811 (28 กรกฎาคม 2556)

[29] สร้างสรรค์บุ๊คส์, “สังเขปแห่งประวัติการจัดพิมพ์และคดีความ ของ “ฤทธิ์มีดสั้น” โดย ว. ณ เมืองลุง”. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2565 จาก https://www.sangsanbooks.com/content/3926/สังเขปแห่งประวัติการจัดพิมพ์และคดีความ-ของ-ฤทธิ์มีดสั้น-โดย-ว-ณ-เมืองลุง

[30] ประชาไท. “สุรพล นิติไกรพจน์ ตอบด้วยมโนธรรมสำนึก “ถ้าหากเราไม่ลงนรก แล้วผู้ใดจะลงนรก””. สืบค้นเมื่อ 9 มกราคม 2565 จาก https://prachatai.com/journal/2006/11/10335 (1 พฤศจิกายน 2549)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save