fbpx
อ่านงานพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 เกี่ยวกับมหาสงคราม

อ่านงานพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 เกี่ยวกับมหาสงคราม

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพ

คุณวสิน

ได้โอกาสเขียนถึงคุณตามที่รับปากไว้นานแล้วว่าจะฉลองศรัทธาที่คุณอุตส่าห์แบกพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 ชุดสงครามโลกครั้งที่ 1 มาฝาก ตอนยังไม่เห็นของจริง ไม่นึกว่าจะเป็นหนังสือชุดขนาดใหญ่และน้ำหนักมากถึงขนาดนั้น ทำให้หาจังหวะว่างที่เหมาะกับขนาดใหญ่โตของหนังสือยาก จึงทิ้งค้างไว้เป็นนาน จนเดือนก่อน มีนิสิตมาขอคำปรึกษาว่าจะทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับสยามกับสงครามโลกคราวนั้น เลยใช้เวลาช่วงสิ้นปีไล่ดูเนื้อหาของเล่มต่างๆ  จึงได้ข้อสังเกตหลายเรื่องเขียนมาเล่าให้คุณฟังได้ ถือเป็นโอกาสรวบรวมความคิดของตัวเองไปด้วยในตัว เพราะเนื้อหาในหนังสือทำให้ผมเกิดความคิดใหม่ขึ้นอีกหลายอย่างในการทำความเข้าใจรัชกาลที่ 6 และยังได้ประโยชน์ไปใช้ในงานวิจัยที่กำลังทำอยู่อีกทางหนึ่ง

ไม่รู้คุณวสินอ่านหนังสือชุดนี้ถึงไหนแล้ว แต่ผมเห็นว่าใครที่จับมาวางอ่านจริงๆ (ต้องวางอ่านนะครับ เพราะยกไม่ไหว หนังสือหนักมาก) เมื่อเจอบทความของ ‘พันแหลม’ หรือ ‘รามจิตติ’ เข้า และยิ่งถ้าได้อ่านต่อเนื่องหลายบทความในคราวเดียวกัน อย่างน้อยจะต้องสะดุดใจและเกิดคำถามข้อหนึ่งขึ้นมาในใจทีเดียว

ปกติถ้ามีโอกาสได้ฟังการอธิบายเรื่องสยามกับการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1  เรามักได้ยินการวิเคราะห์เกี่ยวกับการตัดสินพระทัยของรัชกาลที่ 6 ในการทรงนำสยามเข้าร่วมมหาสงครามครั้งนั้นว่ามีอะไรเป็นสาเหตุแรงผลักดัน และผลได้ที่เกิดขึ้นตามมาจากการเป็นฝ่ายผู้ชนะสงคราม สยามได้รับประโยชน์อะไรบ้าง แต่หากว่าได้อ่านบทความพระราชนิพนธ์จากนามปากกา ‘รามจิตติ’ และ ‘พันแหลม’ ที่หนังสือชุดนี้รวบรวมไว้แล้ว ก็จะต้องเกิดสะดุดใจขึ้นมาแน่ว่า ทำไม ‘รามจิตติ’ และ ‘พันแหลม’ จึงตั้งแง่เป็นอริกับทุกสิ่งที่เป็นเยอรมันมากถึงขนาดนั้น

พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 เกี่ยวกับมหาสงคราม

บทความเหล่านี้ที่เป็นงานเขียนงานแปลแสดงท่าทีสนับสนุนฝ่ายสัมพันธมิตร และเป็นปฏิปักษ์ชัดแจ้งต่อเยอรมนี ในนามปากกา ‘รามจิตติ’ และ ‘พันแหลม’ ส่วนใหญ่ปรากฏขึ้นในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศนโยบายความเป็นกลางของสยามในระหว่างสงคราม ความเอนเอียงที่ปรากฏในบทความชุดนี้ทำให้เกิดคำถามที่น่าหาคำตอบ น่าหาทางอธิบายตามมาอยู่หลายข้อ

ข้อแรกสุด น่าคิดเหมือนกันว่าในขณะที่บทความลงตีพิมพ์ในวารสารหรือหนังสือพิมพ์นั้น มีใครคนอ่านทราบหรือรู้กันได้โดยไม่ยากหรือไม่ ว่า ‘พันแหลม’ ก็ดี ‘รามจิตติ’ หรือ ‘ร.จ.’ ก็ดี เป็นนามปากกาของใคร ในขณะเดียวกัน ท่านผู้ทรงเป็นเจ้าของนามปากกาทรงปิดบังเพียงใด ที่จะไม่ให้คนอ่านคนอื่นรู้ได้ว่าเป็นนามปากกาของพระองค์ พูดง่ายๆ ว่าทรงตั้งพระทัยที่จะไม่ให้ใครรู้เลย หรือว่าให้บางคนบางฝ่ายรู้เพื่อที่จะสื่อให้คนหมู่นั้นรู้ทั่วกันว่าทรงมีท่าทีต่อเยอรมันอย่างไร หรือว่าทรงทำให้เป็นที่พอจะรู้ๆ กันอยู่ แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน คำถามที่น่าถามอีกข้อหนึ่งในบริบทนี้คือ จากบทความที่ทรงเขียนต้านเยอรมนีอย่างต่อเนื่องในนามปากกาเหล่านี้ ทรงหวังผลอะไรในทางไหนบ้าง และผลที่เกิดขึ้นจริงๆ เป็นไปในทางใด

และในทางต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝ่ายเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการี ก็น่าติดตามสืบค้นจากรายงานของสถานทูตที่ส่งออกไปจากกรุงเทพฯ อยู่เหมือนกัน ว่าการข่าวของพวกเขาสืบทราบหรือไม่ว่าพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามกำลังทรงเขียนคอลัมน์เขียนบทความรุกเร้าต่อต้านพวกเขาอยู่ และถ้ารู้ สถานทูตเสนอท่าทีหรือได้รับคำสั่งให้ดำเนินท่าทีต่อสยามอย่างไร

ข้อสอง ทัศนะที่ปรากฏในบทความงานเขียนงานแปลของ ‘พันแหลม’ / ‘รามจิตติ’ ถ้าจะไม่ถือว่าเป็นแต่เพียงการดำเนิน information operation ต่อต้านเยอรมนีในช่วงสงครามที่สยามยังถือนโยบายความเป็นกลางเพื่อจะระดมมติมหาชนไปสู่การสนับสนุนการประกาศสงครามของสยามต่อมหาอำนาจกลางในที่สุด  แต่ยังสะท้อนถึงพระราชทัศนะส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 6 ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเยอรมนีจริงๆ ก็น่าจะมีใครเขียนเสนอออกมาให้เห็นเหมือนกันว่า อะไรแน่คือสาเหตุหรือประสบการณ์ที่ทำให้พระองค์ทรงมีทัศนคติต่อเยอรมนีในด้านลบถึงขนาดนั้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับรัชกาลที่ 5 เราจะอ่านพบความนิยมเยอรมนีและการเคารพพระเกียรติ ‘เอมเปรอ’ เยอรมันตามสมควรในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์รัชกาลที่ 5 ถ้าค้นพระราชบันทึกหรือพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ 6 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงก่อนหน้าขึ้นครองราชย์มาได้ ก็อาจพบเรื่องที่เป็นที่มาของเหตุที่ว่านี้

แต่ถ้าคุณวสินจะถามหาข้อคาดคะเนจากผม (คาดคะเนเป็นคำสวยที่คิดขึ้นมาใช้แทนเดา) การอ่านระหว่างบรรทัดในบทความบางเรื่องในงานชุดนี้ ผมอาจตั้งข้อคาดคะเนให้คุณวสินได้ว่า  ถ้าหากสาเหตุที่ทรงมีทัศนคติต่อเยอรมันเป็นลบนั้นจะมาจากประสบการณ์ส่วนพระองค์เอง  1. ประสบการณ์นั้นน่าจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ‘ไกเส้อร์’ และ 2. เหตุการณ์นั้นหรือประสบการณ์นั้นน่าจะมีผลทำให้พระองค์ได้ข้อสรุปเช่นเดียวกันกับที่ “ร.จ. แต่งโดยคำวานของบรรณาธิการ” ว่า “รัฐบาลเยอรมันดูถูกสยามเปนอย่างยิ่ง”

สาม ข้อคาดคะเนประการต่อมาคือบรรดาเจ้านายพระราชโอรสรัชกาลที่ 5 ที่ทรงไปเรียนด้านการทหารและพลเรือนที่เยอรมนี น่าจะทรงทราบว่านามปากกาใดในวารสารและหนังสือพิมพ์ฉบับใดเป็นของรัชกาลที่ 6 แต่ผมไม่กล้าคาดคะเนว่าเนื้อหาบทความที่รัชกาลที่ 6 ทรงเขียนกระหนาบหรือดูเบาเยอรมนีในเรื่องต่างๆ ตลอดไปจนถึงระบบการศึกษาของประเทศนั้น สร้างแรงกระทบและความตึงเครียดในทางส่วนพระองค์ขึ้นมาเพียงใดในหมู่เจ้านาย คุณวสินเคยอ่านพระราชหัตถเลขาและลายพระหัตถ์เจ้านายมามากคงพอทราบว่าพระราชโอรสที่รัชกาลที่ 5 ทรงพอพระราชหฤทัยในความรู้ความสามารถได้แก่พระราชโอรสพระองค์ไหน และพระองค์นั้นทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศใด ขนาดและความงามลดหลั่นกันของวังต่างๆ ที่พระราชทานแก่พระราชโอรสก็พอจะบอกอะไรได้มากอยู่ งานวิทยานิพนธ์คณะอักษรฯ ที่มติชนตีพิมพ์ออกมาของเทพ บุญตานนท์ รายงานความตึงเครียดเหล่านี้ ทั้งในส่วนเจ้านายและในส่วนราชการฝ่ายทหารไว้มากพอดู

แต่ที่น่าพิจารณาอีกเรื่องหนึ่งนอกจากเรื่องเจ้านาย คือการพัฒนากองทัพบกให้เป็นกองทัพสมัยใหม่ ซึ่งตั้งต้นในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทรงเริ่มปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดินเป็นต้นมา สังเกตได้ว่าแม้รัชกาลที่ 5 ทรงระมัดระวังที่จะไม่ทำให้ต่างประเทศเกิดความรู้สึกว่าในการพัฒนากองทัพ สยามเอนเอียงเข้าหามหาอำนาจชาติใดชาติหนึ่งเพียงชาติเดียว ดังจะเห็นได้จากการส่งพระราชโอรสไปศึกษาด้านการทหารในหลายประเทศพร้อมกัน ทั้งอังกฤษ เดนมาร์ก รัสเซีย และเยอรมนี แต่เมื่อพิจารณาประเทศมหาอำนาจในยุโรปในช่วงเวลานับแต่ทศวรรษ 1870 ไปจนถึงทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 เป็นที่ยอมรับว่าชาติที่มีอำนาจสมรรถนะด้านการทหารบกโดดเด่นที่สุดก็คือเยอรมนี ญี่ปุ่นเองเมื่อจะพัฒนากองทัพสมัยใหม่ ก็ปฏิรูปกองทัพโดยใช้ระบบของเยอรมันเป็นต้นแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบ Prussian/German general staff

ถ้ามาพิจารณาที่ชั้นนายทหารดูบ้าง คุณวสินคงจำได้ นายทหารที่ขึ้นมาคุมกำลังคนสำคัญๆ ที่จะมีบทบาทโดดเด่นอยู่ในทศวรรษ 2470 ไม่ว่าจะเป็นพระยาพหลพลพยุหเสนา พระยาทรงสุรเดช พระประศาสน์พิทยยุทธ 3 ใน 4 ทหารเสือฝ่ายผู้ก่อการคณะราษฎรที่เป็นผู้นำฝ่ายทหาร หรือพระยาศรีสิทธิสงคราม นายทหารคุมกำลังที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม ต่างก็เป็น ‘นักเรียนนายร้อยไทย ยุคไกเซอร์’ มาก่อนทั้งนั้น มารดาชาวเยอรมันของพลโทประยูร ภมรมนตรีเอง ก็เป็นครูสอนภาษาให้แก่นักเรียนจากสยามที่มาเรียนการทหารในจักรวรรดิเยอรมัน

ในช่วงเวลาจากรัชกาลที่ 5 จนถึงขึ้นรัชกาลที่ 6 ความคิดจัดการกองทัพสมัยใหม่ของสยาม ซึ่งโดยข้อจำกัดของงบประมาณที่สยามมีอยู่ตลอดมา และโดยภารกิจการทหารและความมั่นคงสมัยนั้น (หรือจนถึงสมัยนี้ก็ตาม) โจทย์ความมั่นคงของไทยเน้นความสำคัญและให้ความสำคัญไปที่กองทัพบกมากที่สุด คำถามที่น่าติดตามและน่ารู้ในส่วนนี้คือในการปฏิรูปกองทัพให้เป็นกองทัพสมัยใหม่ได้รับได้รับอิทธิพลเยอรมันเพียงใดในทางใดบ้าง และผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อประกอบกับงานเขียนระดมความคิดเห็นในทางต่อต้านเยอรมันในพื้นที่สาธารณะของรัชกาลที่ 6 ส่งผลหักเหเพียงใด-อย่างไร ต่อแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างและระบบกำลังพลของกองทัพในรัชสมัยของพระองค์ แต่เรารู้แน่ทีเดียวว่าระบบเยอรมันจะย้อนกลับมามีอิทธิพลต่อผู้นำกองทัพอีกครั้งหนึ่งในรัฐบาลพิบูลสงครามสมัยแรก แต่นั่นเป็นอิทธิพลจากไรช์เยอรมนีคนละสมัยเสียแล้ว

นอกจากคำถามข้างต้น หนังสือในชุดนี้โดยเฉพาะเล่มสุดท้ายเล่มที่ 6 (Victory วันชัย) ทำให้ผมเห็นการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งนั้นในความหมายอีกแง่หนึ่ง เป็นความหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตย การตัดสินพระทัยเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เราเริ่มต้นการแก้ไขสนธิสัญญาจำกัดอธิปไตยทางการศาลและด้านเศรษฐกิจที่ประเทศตะวันตกทำกับสยามได้ ข้อนี้เป็นที่ทราบกันทั่วไป แต่เราก็ไม่ควรมองข้ามประเด็นที่ว่าพระราชอำนาจในการประกาศสงครามและการตัดสินพระทัยประกาศสงครามนั้นเอง รวมทั้งการประกาศความเป็นกลางระหว่างสงครามก่อนหน้านั้น เป็นการใช้สงครามในวิถีปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศมาเป็นสัญลักษณ์แสดงออกถึงการทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยว่าสยามมีอิสราธิปไตยในด้านการทหารและการต่างประเทศอยู่บริบูรณ์

การแสดงออกถึงอิสราธิปไตยผ่านการประกาศสงครามที่นำสยามเข้าร่วมกับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรทำสงครามกับประเทศมหาอำนาจกลางนี้ ยังเป็นการให้ความหมายสมัยใหม่แก่บทบาทที่มีมาแต่โบราณของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นจอมทัพ หรือภาษาสมัยรัชกาลที่ 5 มีใช้ว่า “พระเจ้าแผ่นดินเป็นจอมพหลพลโยธา” บทบาทด้านนี้ของพระมหากษัตริย์ในรัฐโบราณก่อนสมัยใหม่ต้องทรงนำทัพออกศึกด้วยพระองค์เองมาจนถึงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและรัชกาลที่ 1 รัชกาลที่ 3 เมื่อยังทรงเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก็ทรงเคยนำทัพเช่นกัน แต่ในชั้นหลังมาพระเจ้าแผ่นดินไม่ได้นำทัพออกศึกเองอีกต่อไป หนังสือเล่ม Victory วันชัยได้นำภาพรัชกาลที่ 6  ในเครื่องแต่งพระองค์พระมหาพิชัยยุทธพร้อมด้วยพระแสงดาบคาบค่ายในวาระการประกาศสงครามคราวนั้นมาลงไว้ด้วย คุณวสินลองเปิดดูนะครับ  ผมเห็นว่ารูปนี้ ที่เป็นรูปเปิดเล่มของเล่มสุดท้ายในชุด มีทั้งความโบราณและสมัยใหม่ผสมกันอยู่ในนั้น

สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นสงครามสมัยใหม่  การประกาศสงครามของสยามก็เป็นการดำเนินตามกฎหมายระหว่างประเทศภาคการสงครามเพื่อแสดงออกถึงอำนาจอธิปไตยของรัฐในสังคมระหว่างประเทศสมัยใหม่ แต่ทรงตั้งพระทัยที่จะปรากฏพระองค์ในวาระการประกาศสงครามด้วยเครื่องแต่งพระองค์ของจอมทัพตามแบบโบราณ และเมื่อสงครามยุติโดยสยามอยู่ฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ รัชกาลที่ 6 ยังทรงทำพระราชพิธีประถมกรรม ‘เหยียบไม้ข่มนาม … ตามแบบทางไสยศาสตร์’ แต่ทรงเขียนบทความ ‘ประถมกรรมจริงๆ’ ลงดุสิตสมิตว่า “เวลานี้ทหารไทยได้เข้าเหยียบอยู่ในแดนเยอรมนีแล้ว. นี่แหละเป็นประถมกรรมจริงๆ, ยิ่งไปกว่าที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีประถมกรรมขึ้นที่ท้องสนามหลวง … เสียอีก, เปรียบเหมือนกับได้ต่อพระบาทออกไปเหยียบราชศัตรูแทนพระองค์ฉะนั้น”

อะไรต่าง ๆ ในงานพระราชนิพนธ์เกี่ยวกับมหาสงครามทั้งหมดนี้ รวมทั้งพระราชพิธีที่เกี่ยวเนื่องกับการเข้ามหาสงครามคราวนั้นทำให้ผมนึกถึง theater ขึ้นมา และผมคิดว่า theater เป็น metaphor ที่เหมาะมากสำหรับทำความเข้าใจงานของรัชกาลที่ 6

งานในหนังสือชุดนี้เล่าให้เห็นบางส่วนของ theaters of war ในมหาสงครามที่กำลังดำเนินอยู่ และโดยการนำเสนอนั้นก็ได้เปลี่ยนมหาสงครามให้กลายเป็น theater สำหรับให้คนอ่านติดตามชมการดำเนินเนื้อเรื่องไปด้วย ที่ส่วนหนึ่งเดินตามฉากการต่อสู้ในสมรภูมิจริงและสมรภูมิการข่าวกับอิงบทที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ แต่อีกส่วนหนึ่งวาดผู้ร้ายข้างฝ่ายอธรรมกับฝ่ายดีที่สู้ด้วยธรรมานุภาพขึ้นมาโรมรันกัน และเมื่อเป็นดังนั้น “…สยามมินทร์ภูบาล จึ่งมีโองการ ให้ส่งทหารชาญชัย ไทยไปยุโรปเทศไกล เพื่อช่วยชิงชัย ไทยช่วยสนับสนุนธรรม์ สมหมายฝ่ายราชสัมพัน ธะมิตรมหันต์ มหิทธิได้ชัยชิต” การที่ “ทหารไทยนำธงชัยของเราไปคลี่กลางสมรภูมิยุโรป” และมีชัยชนะเท่ากับว่า “ทหารไทยได้มีส่วนช่วยกระทำให้ความสุขสันติภาพได้กลับมีในโลกต่อไปอีก, เป็นที่เชื่อแน่ได้ว่าทุกชาติไม่ว่าใหญ่หรือน้อยปานใดจะได้รับความเสมอหน้ากัน.”

ถ้าหากพิจารณาว่าทั้งหมดนี้เป็นบทที่ทรงเขียนให้สยามแสดง ‘ธรรมานุภาพ’ และ ‘ธรรมาธิปไตย’ เชิดชูความองอาจกล้าหาญในการปกป้องธรรมะจากฝ่ายอธรรมในฉากสมรภูมิบนเวทีโลก มันก็เป็นบทในละครแบบ romance / comedy ผมเลยนึกเทียบว่าบนเวทีโลกและในสมรภูมิการสงครามคราวเดียวกันนี้ มีความหมายและสร้างความทรงจำอีกแบบหนึ่งแก่ชาวยุโรปที่แตกต่างอย่างเป็นตรงข้ามกับความหมายและความทรงจำถึงชัยชนะของสยาม เพราะมันผลิต tragedy หรือกระทั่งความเป็น absurd ออกมา

เมื่องานพระราชนิพนธ์ชุดมหาสงครามทำให้คิดถึง theater ขึ้นมาได้ ผมก็นึกถึงบทพระราชนิพนธ์แปล ‘ลครเริงรมย์ของวิลเลียม เชกสเปียร์ เรื่อง ตามใจท่าน’ ขึ้นมาพร้อมกันด้วย  ในข้อความตอนที่ว่า “ทั้งโลกเปรียบเหมือนโรงลครใหญ่ ชายหญิงไซร้เปรียบตัวลครนั่น ต่างมียามเข้าออกอยู่เหมือนกัน คนหนึ่งนั้นย่อมเล่นตัวนานา” คุณวสินคงจำได้ ผมคิดว่า รัชกาลที่ 6 ท่านก็โปรดที่จะรับบทเล่นหลากหลาย ไม่จำกัดแต่บทบาทของพระมหากษัตริย์ หรือกล่าวอีกแบบ เพราะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ จึงทรงมีความจำเป็นที่จะต้องแบ่งปางแบ่งภาคมาเล่นบทต่างๆ ที่จะเล่นที่จะพูดที่จะแสดงออกในฐานะของพระมหากษัตริย์ไม่ได้ หรือจะทำได้ไม่ถนัด

อย่างเช่น บทการระดมความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะ การเชิญชวนให้ประชาชนสนับสนุนนโยบายของพระองค์เอง การแสดงทัศนะโจมตีหรือต่อต้านมหาอำนาจบางชาติ การกล่าวแก้ให้แก่การดำเนินนโยบายที่ได้ทรงทำไป  หรือมาเป็นผู้เขียนบทอธิบายเหตุการณ์  จัดความหมายความเข้าใจให้แก่ความคิด เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ ที่จะส่งผลกระทบต่ออำนาจรัฐหรืออำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งในรัฐราชาธิปไตย เป็นเรื่องเดียวกัน การแบ่งปางแบ่งภาคลงมาเล่นในบทอื่นๆ ที่พระมหากษัตริย์จะออกโรงในฐานะพระมหากษัตริย์มากระทำเองได้ไม่ถนัดนี้ จึงเป็นการส่งพันแหลมนักแปลข่าวสงคราม หรือรามจิตติเนติบัณฑิตสยาม หรือ ร.จ. และวรรณะสมิต ผู้ช่วยบรรณาธิการหนังสือวารสาร ฯลฯ แทรกตัวเข้ามาอยู่ในปริมณฑลสาธารณะของสังคมการเมือง

ผมใช้อุปมาการแบ่งปางแบ่งภาคที่ชวนให้นึกถึงเทพเจ้า แต่ความเชื่อแต่โบราณของเราก็มองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่าเป็นการเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดินไปเป็นสมมุติเทพอยู่เหมือนกัน แต่นอกจากการแบ่งปางแบ่งภาคแล้ว รัชกาลที่ 6 ยังทรงใช้ละครพระราชนิพนธ์ การทรงรับบทเล่นในละคร และการสร้างสถานการณ์จำลองเช่นการซ้อมรบเสือป่า ที่เป็นการซ้อมรบจริงและทรงเอาจริงกับการฝึกซ้อมเช่นนี้มาก แต่ก็เป็นการรบในสถานการณ์ ที่จำลองขึ้นมา ผมจึงคิดว่า theater เป็นคำกุญแจสำหรับตีความทำความเข้าใจงานรัชกาลที่ 6 รวมทั้งการตีความบทบาทพระมหากษัตริย์ของพระองค์เอง ในการขับเคลื่อนทิศทางความคิดเห็นของประชาชน ความคิดอ่านของข้าราชการ และเพราะทรงเห็นความจำเป็นที่ต้องเสริมพลังอำนาจรัฐในส่วนลึก

งานพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 6 เกี่ยวกับมหาสงคราม

ในความคิดของผม บทบาทของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ในกระบวนการก่อรูปเป็นรัฐราชาธิปไตยของสยามแตกต่างกันในจุดนี้เป็นสำคัญ รัชกาลที่ 5 ท่านเปลี่ยนจตุสดมภ์แบบเก่ามาเป็นจตุสดมภ์แบบใหม่สำหรับทำงานสถาปนาและดูแลรักษาอำนาจอธิปไตยของรัฐสมัยใหม่ด้วยการสร้างสถาบันที่เป็นกลไกอำนาจรัฐขึ้นมา ในขณะที่รัชกาลที่ 6 ทรงเน้นไปที่การเสริมสร้างพลังอำนาจรัฐในส่วนลึก

เขียนรวบไว้อย่างนั้นแล้ว ผมขอขยายความต่ออีกสักหน่อยพอให้ครบถ้วนกระบวนความนะครับ

เริ่มที่จตุสดมภ์สมัยใหม่สำหรับดูแลอำนาจอธิปไตยของรัฐราชาธิปไตยสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนนะครับว่าได้แก่กลไกอำนาจรัฐในส่วนไหนบ้าง

ผมอยากตั้งข้อสังเกตให้คุณวสินลองพิจารณาว่า ถ้าหากเราดูกระบวนการก่อรูปเป็นรัฐสมัยใหม่ในบริบทที่สยามเผชิญกับมหาอำนาจตะวันตกนับแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา กลไกในระบบราชการแรกสุดที่เข้ามามีบทบาทความรับผิดชอบสำคัญในการดูแลปัญหาเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของสยามยังไม่ใช่ทหารและกองทัพ และกล่าวได้ว่าตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ 5   ซึ่งเป็นช่วงเวลาของระเบียบระหว่างประเทศแบบจักรวรรดินิยมที่คุมโดยมหาอำนาจเจ้าจักรวรรดิ, ความคิดแบบ racism, และกฎหมายระหว่างประเทศที่รับรองสถานะไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศตะวันตกกับประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตก รวมทั้งรับรองการขยายอำนาจของจักรวรรดินิยม ไม่ว่าการขยายและรักษาอำนาจนั้นจะใช้กำลังอย่างป่าเถื่อนเพียงใด ในช่วงเวลานั้น ทหารและกองทัพของสยามยังไม่ใช่/ ไม่อาจใช้เป็นกลไกหลักสำหรับดูแลรักษามิติภายนอกของอำนาจอธิปไตยได้

ส่วนที่เป็นหลักในการดูแลปัญหาที่เกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตยในมิติภายนอกทีแรกสุด ได้แก่บุคลากรในส่วนราชการที่ต่อมาคือกระทรวงการต่างประเทศ และในเวลาต่อมาจะมีฝ่ายกฎหมายและสถาบันด้านการยุติธรรมเข้ามาร่วมด้วย เมื่อสยามตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ในแง่นี้ จึงกล่าวได้ว่าการตัดสินพระทัยของรัชกาลที่ 6 พาสยามเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นคราวแรกที่ทหารไทยและกองทัพไทยเข้ามามีส่วนอย่างเต็มภาคภูมิในการแสดงออกถึงอำนาจอธิปไตยในมิติภายนอกของสยามตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ส่วนกลไกอำนาจรัฐสำหรับดูแลการสถาปนาอำนาจอธิปไตยที่เป็นมิติภายในในกระบวนการก่อรูปรัฐสมัยใหม่ของสยามได้รับการพัฒนาขึ้นในเวลาต่อมาในรัชกาลที่ 5 ดังที่คนเรียนประวัติศาสตร์ไทยทราบดี ซึ่งมีอยู่ 3 ส่วนประกอบกัน ทหารและกองทัพเป็นส่วนหนึ่ง อีก 2 ส่วนได้แก่บุคลากรฝ่ายกฎหมายและสถาบันด้านการยุติธรรม กับบุคลากรของราชการในฝ่ายมหาดไทยกับระบบการปกครองมณฑลเทศาภิบาล

สรุปได้ว่ากลไกอำนาจรัฐที่เกี่ยวข้องกับการก่อรูปเป็นรัฐสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสถาปนาอำนาจอธิปไตยตลอดทั่วทั้งดินแดน และการดูแลรักษาอธิปไตยในมิติภายนอก ได้แก่ ‘จตุสดมภ์’ สมัยใหม่ 4 ส่วนนี้เอง คือ การทูตกับการดำเนินความสัมพันธ์กับต่างประเทศ กฎหมายกับระบบยุติธรรม มหาดไทยกับการปกครอง และทหารกับความมั่นคง ที่เป็นมือไม้แขนขาให้แก่การเริ่มต้นรัฐราชาธิปไตยสยาม

คุณวสินดูแล้ว คิดว่ารัฐราชาธิปไตยสยามขาดกลไกอำนาจรัฐในหน้าที่สำคัญส่วนไหนไปไหมครับ?

ผู้นำคณะราษฎรและหลังจากนั้นต่อมาจะมาเติมกลไกส่วนที่ทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชากร โดยมีความช่วยเหลือจากต่างประเทศเข้ามาร่วมด้วยในภายหลังเมื่อไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ ในช่วงสงครามเย็น นี่ผมก็พูดเลยไปเสียแล้ว แต่ถ้าหากจะถามว่าในส่วนที่เรียกว่าเป็น ‘จตุสดมภ์’ สมัยใหม่ของรัฐราชาธิปไตยสยาม ส่วนไหนที่อาจเป็นอันตรายได้มากที่สุดต่อความมั่นคงและการดำรงอยู่ของรัฐราชาธิปไตยเอง หลายคนจะบอกว่าประวัติศาสตร์ให้คำตอบไว้แล้ว ว่าคือทหาร แต่คุณวสินก็คงไม่ลืมในข้อที่ว่า ผู้นำพลเรือนที่เป็นมันสมองของคณะราษฎรมาจากฝ่ายกฎหมาย

ไม่ว่าคำตอบจะเป็นฝ่ายไหน ประเด็นอยู่ที่ว่าสิ่งที่อาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงและการดำรงอยู่ของรัฐราชาธิปไตยเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่รัฐราชาธิปไตยได้ด้วยเช่นกัน คำถามคือทำอย่างไรที่จะทำให้สิ่งจำเป็นแต่อาจกลายเป็นอันตรายขึ้นมาได้นี้ ไม่เป็นอันตราย

ตรงนี้เองที่จะต้องพิจารณาการสร้างและรักษาความเข้มแข็งของอำนาจรัฐ ไม่แต่เฉพาะการจัดโครงสร้างระบบราชการสมัยใหม่ การกำหนดอำนาจหน้าที่และแบ่งบทบาทแก่กลไกอำนาจรัฐส่วนต่างๆ  และการพัฒนาคุณภาพคนและสมรรถนะของระบบปฏิบัติการของกลไกอำนาจรัฐแต่ละส่วน แต่ยังต้องพิจารณาให้เห็นพลังของรัฐส่วนที่อยู่ลึกลงไปด้วย โดยอาจเรียกส่วนที่อยู่ลึกลงไปนี้ว่า ไวยากรณ์ รากฐานวิธีคิด หรือค่านิยมอุดมการณ์ซึ่งกำกับการคิดเกี่ยวกับเหตุผลการดำรงอยู่ของรัฐว่าพึงเป็นไปเพื่อใคร และเพื่อสนองเป้าหมายอะไร และพึงใช้อะไรเป็นหลักสำหรับจัดอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างองคาพยพส่วนต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นรัฐ

อันตรายต่อรัฐราชาธิปไตย หรือรัฐแบบไหนก็ตาม จะเกิดขึ้นเมื่อการเปลี่ยนแปลงทางความคิดพาให้เกิดการไม่ยอมรับในเหตุผลการดำรงอยู่ของรัฐ และปฏิเสธหลักการจัดอำนาจและความสัมพันธ์ตามไวยากรณ์หรือรากฐานวิธีคิดที่ใช้อยู่ในขณะนั้น การสร้างและรักษาอำนาจรัฐให้เข้มแข็งจึงต้องรวมถึงการปลูกฝังไวยากรณ์ของรัฐส่วนลึกนี้ลงไปในความคิดจิตใจของประชากร และของคนที่ทำงานให้แก่กลไกอำนาจรัฐเอง

โจทย์และการตอบโจทย์เกี่ยวกับรัฐส่วนลึกของรัฐราชาธิปไตยสยามมีประเด็นปัญหาจากภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นปัญหาเดียวกันที่ทุกประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกต้องตอบ แต่ว่าแต่ละแห่งตอบไม่เหมือนกัน และแก้ไขหรือเปลี่ยนคำตอบที่ตอบไปแล้วแตกต่างกัน นั่นคือจะเป็นตะวันตกแค่ไหน จะเป็นสมัยใหม่ตรงไหน เมื่อถูกดึงเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมระหว่างประเทศที่มียุโรปเป็นศูนย์กลาง แต่ถูกกดให้มีสถานะด้อยกว่าประเทศและคนตะวันตกโดยวิธีหลายอย่าง นอกเหนือจากการทหาร จักรวรรดินิยมและเทคโนโลยีแล้ว เครื่องมือสำคัญที่ยกตะวันตกให้เป็นผู้อยู่เหนือกว่าคือวัฒนธรรมภูมิปัญญาที่แสดงเครื่องหมายของความเจริญ ประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกและคนที่ไม่ใช่ชาวตะวันตกจึงเผชิญกับคำถามที่ต้องหาคำตอบว่าจะรับความเจริญแบบไหนและตัวตนของเราที่ต้องรักษาไว้คืออะไร

รัชกาลที่ 5 ทรงมีคำตอบต่อปัญหานี้และพระราชทานพระบรมราชาธิบายไว้เสร็จสรรพ แต่ไม่ได้ทรงเข้ามาขยายผลทางความคิดในปริมณฑลสาธารณะ ซึ่งในเวลานั้นก็ยังเป็นวงจำกัดอยู่มาก   รัชกาลที่ 6 ทรงรับโครงสร้างสถาบันที่เป็นกลไกอำนาจรัฐราชาธิปไตยสยามที่รัชกาลที่ 5 ทรงสร้างขึ้นมาดูแลจัดการอำนาจอธิปไตยต่อมาโดยไม่ได้ทรงเปลี่ยนแปลงสิ่งใดมากนัก แต่ทรงจริงจังกับการนำคำตอบที่รัชกาลที่ 5 พระราชทานไว้มาขยายผลทางความคิดลงไปในรัฐส่วนลึก

นักวิชาการหลายคนที่ศึกษางานของรัชกาลที่ 6 สะท้อนให้เห็นตามแนวทางของเขาแต่ละคนว่า จนถึงทุกวันนี้ เราก็ยังอยู่กับผลงานความสำเร็จของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงใช้ theater ปลูกฝังและรักษารัฐส่วนลึก ในแบบและในบทที่พระองค์เป็นผู้เขียน ไว้ในรัฐราชาธิปไตยของสยาม

ขอเรียนคุณวสินมาโดยเคารพเพียงเท่านี้ก่อน

ศ.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020