fbpx
อ่านงานพระนิพนธ์และความคิดทางการเมืองการปกครอง ของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

อ่านงานพระนิพนธ์และความคิดทางการเมืองการปกครอง ของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

 

 I

การศึกษาผลงานพระนิพนธ์ทางการเมืองการปกครองของกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร

 

บทความเดือนนี้นำเสนอการอ่านพระนิพนธ์ของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร เพื่อพิจารณาความคิดทางการเมืองการปกครองที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ กรมหมื่นพิทยลาภฯ สิ้นพระชนม์ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2517 นับจนถึงบัดนี้ก็ครบ 45 ปีพอดี นับว่าเป็นกาลอันสมควรที่จะได้ระลึกถึงและย้อนพินิจผลงานความคิดของผู้ที่เป็นพลังทางภูมิปัญญาในฝ่ายราชานุภาพในช่วงเวลาต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

เนื้อหาของบทความตัดตอนมาจากส่วนหนึ่งของรายงานวิจัย แต่การอ้างข้อความในพระนิพนธ์ไม่อาจนำมาลงได้ทั้งหมด รวมทั้งไม่ได้นำส่วนที่เชื่อมโยงการวิเคราะห์ความคิดทางการเมืองการปกครองในพระนิพนธ์กับเนื้อหาส่วนอื่นๆ ของงานวิจัยมาลงไว้ แม้กระนั้นบทความนี้ก็ยังยาวมากสำหรับเผยแพร่ในสื่อออนไลน์ จึงขอเรียนท่านผู้อ่านให้ทราบถึงข้อจำกัดไว้ ณ ที่นี้

บทความขอเริ่มต้นที่บทสัมภาษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ของ Barbara Crossette ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ 21 พฤษภาคม 1989 (Foreign Correspondents’ Club of Thailand 2007, 123 – 126)

ในบทสัมภาษณ์นั้น Barbara Crossette กราบบังคมทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ว่าทำไมทรงเลือกบทบาทการเป็นพระมหากษัตริย์ที่ต้องทรงงานหลากหลายด้าน รวมทั้งการทำโครงการพัฒนาด้านต่างๆ แตกต่างจากพระมหากษัตริย์ในประเทศอื่นๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงตอบเธอว่า “I did not choose; it was chosen for me.” (Foreign Correspondents’ Club of Thailand 2007, 123)

รายงานของ Crossette ไม่ได้อธิบายนัยของคำตอบดังกล่าวนี้เพิ่มเติมให้เราทราบความหมายจนกระจ่าง แต่ใครก็ตามที่ศึกษาการฟื้นคืนสถานะและบทบาทความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงเวลาแห่งรัชสมัยแล้ว ย่อมต้องการหาทางทำความเข้าใจนัยแห่งคำตอบนี้ด้วยความสนใจ

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้อยู่ภายใต้ข้อจำกัดของข้อมูลที่มีและเข้าถึงได้ไม่มากนัก ทางหนึ่งที่สามารถทำได้ในการแก้ข้อจำกัดเช่นนี้ คือการอนุมานจากสิ่งที่รู้ไปสู่สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้ เพื่อขยายมุมมองในการทำความเข้าใจเรื่องนั้นๆ ต่อไป อีกวิธีหนึ่งที่ใกล้เคียงกัน คือการอ่านข้อมูลเท่าที่มี แล้วนำข้อมูลที่แยกกระจายกันอยู่คนละส่วนมาประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อตั้งข้อสันนิษฐานใหม่ๆ แล้วพิจารณาว่าข้อสันนิษฐานเหล่านั้นลงกับข้อเท็จจริงที่มีอยู่หรือที่ทราบแน่ชัดอยู่ก่อนเพียงใด ข้อดีของการอนุมานและการเสนอข้อสันนิษฐานคือการเปิดโอกาสให้คนอื่นตรวจสอบ โต้แย้ง หรือเสนอข้อมูล/ข้อเท็จจริงและการตีความเพิ่มเติมให้เราคิดต่อไปได้อีก

ในเบื้องต้น ผู้เขียนตั้งข้ออนุมานว่าคำตอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงกล่าวถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ว่า “I did not choose; it was chosen for me.” นั้น น่าจะเป็นระยะเวลาเมื่อแรกเสด็จขึ้นครองราชย์มากกว่าจะเป็นในระยะเวลาต่อมา

จากการอนุมานข้อแรกที่มีความเป็นไปได้ ข้ออนุมานต่อไปก็คือ คำตอบในบทสัมภาษณ์ดังกล่าวบ่งว่าในระยะเวลาเมื่อแรกเสด็จขึ้นครองราชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงต้นทศวรรษ 2490 น่าจะต้องมีผู้ที่ช่วยวางแนวทางเกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในสังคมการเมืองถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 อยู่บ้างเป็นแน่

ข้ออนุมานทั้ง 2 สอดคล้องกับความเห็นของนักประวัติศาสตร์ที่ศึกษาการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงต้นรัชกาลที่ 9 ซึ่งเห็นความสำคัญของพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากรตรงกันว่า กรมหมื่นพิทยลาภฯ คือผู้ที่น่าจะมีส่วนอย่างสำคัญในการวางแนวทางปรับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบการเมืองใหม่หลังจากรัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา (เช่น ธงชัย วินิจจะกูล 2556; ปฤณ เทพนรินทร์ 2556) ดังข้อเสนอในงานประวัติศาสตร์ไทยอันควรยกย่องของคริส เบเคอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตร (2557) ซึ่งผู้เขียนจะขอใช้เพื่อเปิดประเด็นในเรื่องนี้

ความคิดของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ในบทบาท ‘เป็นที่ปรึกษาอาวุโสแห่งราชสำนัก’ ที่คริส เบเคอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตรเสนอว่ามีอิทธิพลต่อแนวทางการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ในตอนต้นรัชกาลที่ 9 ได้แก่

1. การเน้นบทบาทพระมหากษัตริย์ว่าเป็นผู้ปกป้องประชาชนและพระพุทธศาสนา ซึ่งเบเคอร์และผาสุกเห็นว่าเป็นการตีความที่ “ย้อนกลับไปสู่ทฤษฎีอันเป็นที่นิยมในช่วงต้นรัตนโกสินทร์” และแตกต่างจากแนวความคิดเกี่ยวกับบทบาทพระมหากษัตริย์สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ที่เสนอพระมหากษัตริย์ในฐานะที่ทรงเป็นศูนย์รวมของชาติ

2. การตีความประเพณีเก่าว่าพระมหากษัตริย์ “ดำรงอยู่ในสายตาของสาธารณะโดยตลอด ทั้งในวรรณกรรม ในบทเทศน์ และทุกๆ ช่องทางการเผยแพร่สื่อสาร” เบเคอร์และผาสุกเสนอว่าในการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ กรมหมื่นพิทยลาภฯ  ร่วมกับสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร จึงได้ “ดัดแปลงพิธีกรรมหลวงขึ้นใหม่ให้แสดงความอลังการของสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นการขยายโครงการของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพที่จะให้สาธารณชนได้เห็นองค์พระมหากษัตริย์ในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย” จุดมุ่งหมายก็เพื่อใช้ความเชื่อมโยงกับพิธีกรรมมาสร้างความนิยมในหมู่พสกนิกร ซึ่งนักวิชาการทั้ง 2 เห็นว่าเป็นแนวทางที่ “แตกต่างจากแนวคิดบทบาทพระมหากษัตริย์สมัยก่อน 2475 ซึ่งเน้นไปที่ความสมัยใหม่ (modernity) เป็นตะวันตก และไม่ค่อยใกล้ชิดกับพสกนิกร”

3. เบเคอร์และผาสุกเสนอการตีความว่า “ในความเห็นของพระองค์เจ้าธานีฯ รัฐธรรมนูญเป็น ‘แนวคิดจากเมืองนอกอย่างสิ้นเชิง’ ไม่มีที่ทางในประเพณีไทย เพราะว่าจริยธรรมและความเป็นปราชญ์ของพระมหากษัตริย์คือแหล่งที่มาของกฎหมายอย่างแท้จริง” (คริส เบเคอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตร 2557, 266-7)

ในข้อเสนอทั้งหมดของเบเคอร์และผาสุกเกี่ยวกับกรมหมื่นพิทยลาภฯ ข้างต้นนี้ ข้อที่ควรเห็นพ้องกับนักวิชาการทั้ง 2 คือบทบาทที่ปรึกษาของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ที่ได้มีส่วนอย่างสำคัญในการวางแนวทางฟื้นฟูสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งลดลงไปมากภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ให้กลับคืนมามีความสำคัญในสังคมการเมือง แต่การตีความของนักวิชาการทั้งสองในประเด็นที่สรุปไว้ข้างต้นยังมีจุดที่ผู้เขียนมองแตกต่างออกไป

กล่าวคือ แทนที่จะเสนอในเชิงต้องเห็นเป็นทางหนึ่งทางใดดังที่เบเคอร์และผาสุกว่า เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็เท่ากับว่าไม่เป็นอย่างนั้น หรือเมื่อกรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงเน้นความสำคัญของบทบาทพระมหากษัตริย์ตามลักษณะของสมัยหนึ่งอย่างนี้ (คือเน้นลักษณะสมัยต้นรัตนโกสินทร์) ก็จะหมายถึงว่าทรงมีความเห็นแตกต่างจาก หรือโดยนัยคือ ไม่ได้ทรงสนับสนุนเห็นพ้องกับแนวความคิดเกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในอีกสมัยหนึ่ง (เช่นสมัยรัชกาลที่ 5) ผู้เขียนเห็นว่าในการวินิจฉัยยังควรต้องนำข้อคิดความเห็นในพระนิพนธ์อื่นมาพิจารณาประกอบด้วย ว่าจะสรุปได้เช่นนั้นจริงหรือไม่

ตัวอย่างเช่น ถ้าหากสงสัยว่ากรมหมื่นพิทยลาภฯ สนับสนุนแนวคิดบทบาทของพระมหากษัตริย์ที่เป็นการ ‘ย้อนกลับไปสู่ทฤษฎีอันเป็นที่นิยมในต้นรัตนโกสินทร์’ แล้วลดความสำคัญของแนวคิดพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมของชาติในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ลงไปหรือไม่ ก่อนจะสรุปอย่างนั้น อย่างน้อยควรพิจารณาบทความในปีพ.ศ. 2491 ‘ราชา มุขํ มนุสสานํ’ ประกอบ ในบทความนั้น กรมหมื่นพิทยลาภฯ เสนอว่าเมื่อสังคมเปลี่ยนจากสมัยที่พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าแผ่นดิน-เจ้าชีวิต มาเป็นสมัยที่ ‘บัดนี้กฎหมายเป็นใหญ่กว่าพระราชาธิบดี’ แล้ว พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงมีบทบาทสำคัญต่อชาติในการเป็น ‘ผู้ประสานน้ำใจคนได้ทั่วไป’ (พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร 2512, 50) จากพระมติในข้อนี้ จะเห็นว่ากรมหมื่นพิทยลาภฯ น่าจะมิได้ทิ้งแนวคิดพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมของชาติในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 ไปแต่อย่างใด

นอกจากนั้น ผู้เขียนมีข้อเสนอเพิ่มเติมในส่วนที่ว่า ผู้ที่ได้มีส่วนช่วยวางแนวคิดเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อฟื้นฟูสถานะและบทบาทความสำคัญขึ้นมาใหม่ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ความจริงแล้วน่าจะมิได้มีเพียงคนเดียว แต่ประกอบด้วยกลุ่มบุคคลที่เป็นคนชั้นนำ ซึ่งนอกเหนือจากกรมหมื่นพิทยลาภฯ ที่ทรงเป็นหลักแล้ว  ยังประกอบด้วยบุคคลอื่นๆ อีกจำนวนหนึ่ง ดังเช่นที่เบเคอร์และผาสุกกล่าวถึงบทบาทของสมเด็จฯ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร บุคคลเหล่านี้แม้จะมิได้จัดตั้งกันขึ้นมาเป็นคณะหรือเป็นองค์กรที่มีสถานะอย่างเป็นทางการเพื่อรับภารกิจดังกล่าว แต่ก็เชื่อได้ว่ามีการประสานกันอยู่อย่างหลวมๆ และเชื่อมโยงกันและกันในเครือข่ายสายสัมพันธ์ส่วนบุคคลอย่างแน่นอน

เราอาจอนุมานต่อไปได้ว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวย่อมต้องเป็นผู้ที่ผ่าน 2475 ทั้งในเชิงเหตุการณ์ สถานการณ์ ผล และผลกระทบที่ตามมา โดยท่านเหล่านั้นน่าจะได้เก็บความรู้สึกนึกคิดจากประสบการณ์ทั้งในส่วนบุคคลที่ได้รับมาโดยตรง รวมทั้งจากการติดตามเฝ้ามองการปกครองบ้านเมืองในระยะ 15 ปีภายใต้การนำของคณะราษฎร มาเป็นแนวทางในการจัดวางบทบาทของพระมหากษัตริย์ในสังคมการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎร ถวายพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่เพื่อฟื้นฟูสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

จากการอนุมานข้างต้น ข้อเสนอของรายงานวิจัยนี้ในประการต่อมาคือ เราควรพิจารณาแนวคิด คำแนะนำและข้อเสนอของพวกเขาในฝ่ายราชานุภาพประกอบกันและกันไป และโดยไม่ทิ้งแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ที่เคยมีมาในสมัยก่อนหน้าเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อันใดไปเลย แต่ควรจะวิเคราะห์ออกมาให้เห็นว่า ในการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์ คนชั้นนำกลุ่มนี้ได้ช่วยกันคิดและหาทางนำแนวคิดเหล่านั้นมาแปรรูป ปรับใช้และผสมความหมายและบทบาทของพระมหากษัตริย์ในมิติต่างๆ ออกมาอย่างไรบ้าง ในทางที่ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์และการปฏิบัติบทบาทของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 9 แผ่คลุมความหมายการเป็นตัวแทนทั้งในการรักษาสืบทอดโบราณราชประเพณีและการปรับรับแนวคิดในวิถีสมัยใหม่ แล้วใช้ความหมายจากทั้ง 2 ส่วนนั้นมารองรับบทบาทการทำงานของสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ในเวลาต่อมาจะมีการขยายออกไปจนครอบคลุมและเข้าถึงกิจกรรมในชีวิตของประชาชนหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ศาสนา วัฒนธรรม การเมือง สังคม เศรษฐกิจ กฎหมาย สุขภาพ การศึกษา การจัดตั้งมวลชน สันทนาการความบันเทิงและการพักผ่อนหย่อนใจ ฯลฯ โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อรักษา เสริมสร้างและขยายฐานการยอมรับสถาบันพระมหากษัตริย์ออกไปให้กว้างขวางที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงสภาพ จากสังคมเก่าไปสู่สังคมสมัยใหม่ และต้องเผชิญกับปัญหาท้าทายเสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐ ทั้งจากภายนอกและภายใน

ตามกรอบข้อเสนอที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จึงน่าเป็นการเหมาะสมกว่าที่จะพิจารณาแนวคิดที่กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงเสนอเป็นแนวทางสำหรับการฟื้นฟูสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นส่วนหนึ่งของภาพรวมใหญ่ ที่ได้มีการวางแนวทางเตรียมไว้สำหรับพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ที่เสด็จขึ้นครองราชย์แทนสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชในสถานการณ์ที่ไม่มีผู้ใดคาดคิด โดยกรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงรับหน้าที่ในบางด้านในบางเรื่องที่พระองค์ทรงมีความรู้ มีความถนัดชำนาญหรือมีประสบการณ์จากการทำงานในด้านนั้นๆ มาก่อน เช่น การศาสนา วัฒนธรรม และการศึกษา ในฐานะที่ทรงเคยทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการในรัชกาลที่ 7 ในขณะเดียวกัน ก็ยังมีบุคคลอื่นๆ ในกลุ่มเดียวกันนี้ที่จะเป็นผู้เสนอแนวทางถวายคำแนะนำเกี่ยวกับบทบาทพระมหากษัตริย์ในด้านอื่น และบุคคลเหล่านี้บางคนรวมทั้งกรมหมื่นพิทยลาภฯ ได้จัดอรรถาธิบายในส่วนของตนออกมาในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้คนทั้งหลายในวงกว้างได้เข้าใจความหมายและความสำคัญของพระมหากษัตริย์ในแต่ละมิติเหล่านั้น

ดังนั้น ถ้าหากการอ่านงานพระนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยลาภฯ แล้วพบการเน้นบทบาทของพระมหากษัตริย์ในด้านที่เกี่ยวกับการฟื้นฟูวัฒนธรรม การปกป้องพระพุทธศาสนา หรือแสดงความหมายความสำคัญของพิธีการตามโบราณราชประเพณี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็เป็นเรื่องอธิบายได้หรือเข้าใจได้ว่านั่นเป็นเพราะ กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงเป็นผู้รู้ในด้านดังกล่าว และทรงเคยรู้เห็นปฏิบัติหน้าที่ในงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆ มาก่อน และน่าจะมิได้หมายความว่าทรงเห็นบทบาทของพระมหากษัตริย์แตกต่างจากแนวคิดที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมของชาติ หรือไม่น่าจะทำให้เข้าใจไปว่า กรมหมื่นพิทยลาภฯ ไม่ทรงสนับสนุนบทบาทพระมหากษัตริย์ด้านที่เป็นสมัยใหม่เช่นเดียวกับบทบาทของรัชกาลที่ 5 ดังเช่นข้อเสนอของเบเคอร์และผาสุกบ่งนัยไปในทางนั้น

ความจริงน่าจะเป็นในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ เพื่อต้องการที่จะทำให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมของชาติได้จริงๆ ต่างหาก กรมหมื่นพิทยลาภฯ และคณะบุคคลชั้นนำในกลุ่มราชานุภาพ จึงได้มาร่วมกันวางแนวทางหลากหลายด้านสำหรับบทบาทพระมหากษัตริย์ที่ไม่จำกัดอยู่แต่เพียงเฉพาะบทบาทที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือที่ต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากการอ่านพระนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ร่วมกับงานของฝ่ายราชานุภาพคนอื่นๆ แล้ว รายงานวิจัยยังมีข้อเสนอว่า การอ่านพระนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยลาภฯ โดยเฉพาะเจาะจง เพื่อตีความแนวคิดและหลักการทางประเพณีเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ยังมีแนวทางการอ่านตีความจากตัวบทได้อีก โดยสังเกตจากหลักที่กรมหมื่นพิทยลาภฯ ใช้จัดการนำเสนอเรื่องในบทความหรือปาฐกถาออกมา ประกอบกับการใช้แนวคิดทางสังคมวิทยาการเมืองบางอย่าง มาช่วยสกัดความหมายที่เป็นความคิดทางการเมืองการปกครองในตัวบท อาทิเช่น แนวคิดสิทธิอำนาจ (authority) ก็จะทำให้เราเห็นข้อเสนอของกรมหมื่นพิทยลาภฯ อย่างชัดเจนและเป็นระบบยิ่งขึ้น รวมทั้งยังได้กรอบสำหรับการเปรียบเทียบข้อเสนอของพระองค์ กับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของไทยหลัง 2475 และบทบาทกับการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในเวลาต่อมา

พระนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ที่นักวิชาการนิยมอ้างถึงเสมอว่าเป็นพระนิพนธ์ที่มีนัยสำคัญต่อการตีความบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมการเมือง ได้แก่ ‘เรื่องบรมราชาภิเษก’ บทความนี้เป็นบทความที่กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงปรับปรุงขยายความมาจากปาฐกถาภาษาอังกฤษ ‘The Old Siamese Conception of the Monarchy’ ที่ทรงแสดง ณ สยามสมาคม เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2489 ซึ่งในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 พร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราชและสมเด็จพระราชชนนีได้เสด็จฯ มาฟังปาฐกถาดังกล่าวด้วย [1] ผู้เขียนจึงเลือกใช้งานพระนิพนธ์ทั้ง 2 ส่วนนี้เป็นหลักในการอ่านตีความตามแนวทางที่เสนอข้างต้น และเลือกงานพระนิพนธ์เรื่องอื่นๆ ของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์มาพิจารณาประกอบด้วยบ้างตามสมควร

 

 

II

ความคิดทางการเมืองการปกครองในงานพระนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยลาภฯ

 

ผู้เขียนเห็นความน่าสนใจในโครงสร้างการนำเสนอที่พบในงานพระนิพนธ์กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทั้งในส่วนปาฐกถาภาษาอังกฤษ ‘The Old Siamese Conception of Monarchy’ และบทความภาษาไทย ‘เรื่องบรมราชาภิเษก’ ที่ทรงเขียนขยายความจากปาฐกถา ว่าจะเป็นเบาะแสให้แก่เราได้ สำหรับที่จะใช้ทำความเข้าใจเค้าโครงความคิดของกรมหมื่นพิทยลาภฯ เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์

โครงสร้างการนำเสนอ ทั้งในปาฐกถาและในบทความ แสดงชัดว่ากรมหมื่นพิทยลาภฯ ใช้การจำแนกเป็นเครื่องมือจัดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ออกมา และโดยเครื่องมือเดียวกันนี้เองที่เราจะใช้ไขไปสู่การทำความเข้าใจความคิดทางการเมืองการปกครองเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในพระนิพนธ์กรมหมื่นพิทยลาภฯ การจำแนกหลักๆ ในพระนิพนธ์ดังกล่าวมีอยู่ 2 ระดับประกอบกัน

1. การแบ่งระหว่างความเข้าใจแบบเก่าออกจากความเข้าใจแบบใหม่ หรือที่เกิดขึ้นจากการต้องปรับใช้ใหม่

2. การแบ่งระหว่างส่วนที่เป็นทฤษฎีหรือเป็นหลักการตามประเพณี กับส่วนที่เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันจริงๆ หรือส่วนที่เป็นไปจริงๆ ซึ่งอาจไม่เหมือน หรือหันเหออกจากหลักการมากน้อยแตกต่างกันตามแต่กรณี บุคคล หรือช่วงเวลา

ควรหมายเหตุในจุดนี้เพิ่มเติมว่า การตีความของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ตามกรอบการจำแนกเก่า/ใหม่ หลักการ/ปฏิบัติ ทฤษฎี/ความเป็นจริง ที่พระองค์ใช้จัดความรู้และทัศนะของคนไทยเกี่ยวกับตำแหน่งและบทบาทของพระมหากษัตริย์นี้ ทรงได้มาจากการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในแง่ที่เป็นสถาบันทางสังคม และทรงเห็นว่าข้อค้นพบที่นำเสนออยู่ในปาฐกถาเป็นเรื่อง ‘new and original’ หรือ ‘ใหม่และเป็นต้นฉบับ’ อยู่พอสมควร (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร 2561, 146) หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ แม้เรื่องที่ทรงนำเสนอในปาฐกถาจะเป็น ‘old conception’ ของสยามเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ก็จริง แต่ก็เป็น old conception จากการศึกษาและจากการตีความใหม่โดยกรมหมื่นพิทยลาภฯ เอง

ในระหว่างกรอบความเข้าใจพระมหากษัตริย์แบบเก่าของสยามกับกรอบแบบใหม่ แน่นอนว่าเนื้อหาในปาฐกถาภาษาอังกฤษและในบทความภาษาไทยแทบทั้งหมดเป็นเรื่องแนวคิดที่มีมาแต่เดิมของสยามเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ถ้าดูในบทความภาษาไทย กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทิ้งประเด็นเกี่ยวกับแนวคิดแบบใหม่ที่จะมาแทนแบบเก่าไว้เพียงสั้นๆ ดังนี้

ตามที่ได้ลำดับ อาการเปลี่ยนแปลงแห่งความยึดถือของคนไทยในลักษณะแห่งตำแหน่งพระมหากษัตริย์มาทั้งนี้ นับว่าความยึดถือดังนี้ได้เป็นอยู่ตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยามาจนถึงรัชกาลที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนตั้งแต่รัชกาลที่ 4 มาจนถึงปัจจุบัน เพียง พ.ศ. 2475 นั้น ลักษณะแห่งตำแหน่งพระมหากษัตริย์เปลี่ยนแปลงไปในทางจะให้เหมาะสมกับสมัยปัจจุบัน อันโลกย่อมอนุโลมเข้าหาแบบแผนทางยุโรปมากขึ้นทุกที ส่วนภายหลัง 2475 ไม่อยู่ในขอบเขตแห่งปาฐกถาอันนี้ (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร 2561, 142)

นั่นคือ ทรงเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของไทยเกี่ยวกับ ‘ลักษณะแห่งตำแหน่งพระมหากษัตริย์’ ที่เปลี่ยนจากแบบเก่ามาเป็นแบบใหม่นั้นได้ตั้งต้นตั้งแต่รัชกาลที่ 4 และดำเนินมาถึงรัชกาลที่ 7 และเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่โน้มเข้าหาแบบแผนของยุโรป แต่ทรงเลือกไม่กล่าวถึง ‘ส่วนภายหลัง พ.ศ. 2475’ ซึ่งถ้าไปดูปาฐกถาในภาษาอังกฤษ ก็ทรงเลือกบรรยายถึงการปรับแนวคิดเข้าหาตะวันตกในระยะรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 7 แล้วหยุดไว้ที่นั่นเช่นกัน ในปาฐกถาทรงกล่าวว่าแนวความคิด ‘ภายหลัง พ.ศ 2475’ ซึ่งเป็น ‘the present’ ในตอนนั้น เป็น “pure foreign institution and need not be dealt with in a study of the old conception.” การนำเสนอความคิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ตามกรอบแบบใหม่จึงสะดุดอยู่เพียงเท่านั้น

จุดสะดุดนี้แน่นอนว่าเป็นจุดสำคัญที่ต้องตีความเพิ่มเติมต่อไปจากการเปรียบเทียบแนวความคิดที่มีมาแต่เดิมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในปาฐกถาของกรมหมื่นพิทยลาภฯ กับแนวคิดใหม่ที่ได้รับการเสนอใน ‘ส่วนภายหลัง 2475’  เมื่อคำนึงว่าผู้ฟังปาฐกถาที่กรมหมื่นพิทยลาภฯ แสดงในวันนั้นต่างอยู่ใน ‘สมัยปัจจุบันภายหลัง 2475’ มาแล้ว และต้องเป็นผู้ปฏิบัติบทบาทในตำแหน่งตามระบอบใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ถ้าแนวความคิดเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองและ ‘ลักษณะแห่งตำแหน่งพระมหากษัตริย์’ แบบใหม่ภายหลัง 2475 เป็น ‘pure foreign institution’ ความหมายของ pure foreign institution ในทัศนะของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงหมายถึงอย่างไรแน่ ระยะเวลาเกือบ 15 ปีหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงวันปาฐกถาไม่ได้เปลี่ยนหรือลดลักษณะที่เป็นต่างชาติลงไปเลยหรือ หรือลดไปได้แล้วเพียงใด และที่สำคัญ อะไรคือข้อเสนอของกรมหมื่นพิทยลาภฯ และฝ่ายราชานุภาพคนอื่นๆ จากแนวความคิดความเข้าใจที่มีมาแต่เดิมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์สำหรับจัดการกับลักษณะในเชิงสถาบันตามแนวคิดใหม่ที่มีลักษณะเป็นต่างชาตินี้? [2]

ในการนำเสนอแนวคิดและความเข้าใจที่มีมาแต่เดิมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงใช้กรอบการจัดจำแนกอีกระดับมาจัดความรู้ความเข้าใจของยุคสมัยที่ผ่านไปแล้วเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ นั่นคือ การแบ่งระหว่างหลักการตามประเพณี กับการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงๆ หรือระหว่างความหมายเชิงอุดมคติตามทฤษฎี กับความหมายตามความเป็นจริงเมื่อมีการนำมาประยุกต์ใช้และการปรับเปลี่ยนที่ตามมา ดังในปาฐกถาภาษาอังกฤษจะเห็นชัดว่าทรงแบ่งการอภิปรายระหว่างส่วน ‘Theory/Conception’ กับส่วน ‘The Theory in Actualities’ ออกจากกัน

ตามกรอบการจำแนกเช่นนี้ กรมหมื่นพิทยลาภฯ มีข้อเสนอ ‘ใหม่และเป็นต้นฉบับ’ จากการตีความของพระองค์ทั้งจากคัมภีร์และจากพิธีสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคัมภีร์พระธรรมศาสตร์และพิธีบรมราชาภิเษก ที่จะแนะทางค้นคว้าให้แก่นักประวัติศาสตร์และสังคมวิทยา ในด้านที่อาจเรียกว่าเป็นเทววิทยาหรือธรรมวิทยาทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย ขอสรุปข้อเสนอเชิงเทววิทยา/ธรรมวิทยาทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่พบในพระนิพนธ์กรมหมื่นพิทยลาภฯ มานำเสนอโดยสังเขป ดังนี้

ตั้งต้นด้วยฐานคิดเบื้องต้นสำหรับศึกษารูปแบบการเมืองการปกครองโดยทั่วไป ไม่ว่าเก่าโบราณหรือสมัยใหม่ ที่กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงนำมาใช้เป็นกรอบศึกษา และเสนอความเข้าใจส่วนทฤษฎีของการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ของไทยในสมัยก่อนออกมา

กล่าวคือ ตัวแบบการปกครองหนึ่งๆ ต่างมีความหลากหลายอยู่ในตัวเอง เช่น การปกครองแบบ republic ที่มีมาแต่โบราณจนถึง republic สมัยใหม่ มีทั้งที่เป็น republic แบบ democratic และ republic แบบ aristocratic หรือการปกครองแบบ monarchy ในยุโรปสมัยใหม่ก็มีทั้งที่เป็น absolute monarchy และ constitutional monarchy หรือ parliamentary monarchy ชนชั้นนำไทยรุ่นก่อนและรุ่นเดียวกันกับกรมหมื่นพิทยลาภฯ โดยเหตุที่พวกเขาคุ้นเคยกับ ‘แบบแผนทางยุโรป’ จากการติดต่อสัมพันธ์กับต่างประเทศและการไปศึกษาเล่าเรียนจากพับลิกสกูลและมหาวิทยาลัยชั้นนำในอังกฤษ เช่น ออกซฟอร์ดและเคมบริดจ์ ทำให้พวกเขามีความรู้ความเข้าใจความหลากหลายในเรื่องนี้ดีพอสมควร [3]

ในกรณีกรมหมื่นพิทยลาภฯ นั้นยังทรงเรียนมาโดยตรงทางด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และสนพระทัยทั้งประวัติศาสตร์สมัยโบราณและสมัยใหม่ทั้งของตะวันตกและตะวันออก จึงย่อมทรงทราบถึงความเป็นไปได้ ทั้งในเรื่องที่การปกครองรูปแบบหนึ่งจะมีลักษณะความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการจัดองค์ประกอบในเชิงสถาบันได้เป็นหลายแบบต่างๆ กัน  และใครที่มีโอกาสอ่านพระนิพนธ์ โบราณประวัติ ที่กรมหมื่นพิทยลาภฯ (2502) ทรงเรียบเรียงขึ้นจากเอกสารคำบรรยายวิชาประวัติศาสตร์โลก เมื่อครั้งทรงเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาดังกล่าว ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสมัยแรกตั้ง ก็จะเห็นจากคำบรรยายของพระองค์ว่าทรงทราบอย่างผู้รู้การปกครองกรีกและโรมันโบราณว่าการปกครองรูปแบบหนึ่งๆ นั้นมีทางเสื่อมถอยกลับกลายไปเป็นแบบที่เลวลงไปจากเดิมได้

ยิ่งไปกว่านั้น คำบรรยาย ‘โบราณประวัติ’ ของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการปกครองของรัฐโบราณนั้น ทำให้เราทราบเค้าความคิดของพระองค์จากคำบรรยายว่า เมื่อจะพิจารณาการปกครองแบบใด ทรงให้ความสำคัญแก่ส่วนที่เป็น คุณค่าพื้นฐาน หรืออาจเรียกว่า ธรรม ที่สังคมแห่งนั้นยึดถือเป็นหลักการแกนกลางอันสำคัญ และความสำคัญในการอบรมให้พลเมืองมีคุณลักษณะที่จะผดุงไว้ซึ่ง ธรรม หรือคุณค่าที่เป็นหลักการพื้นฐานนั้น

ในคำบรรยาย กรมหมื่นพิทยลาภฯ ชี้ให้เห็นถึงบุคลิกลักษณะของพลเมืองในการปกครองแบบหนึ่งๆ ว่ามีลักษณะเฉพาะอยู่อย่างไร ที่สะท้อนถึงคุณค่าพื้นฐานของการปกครองของสังคมนั้น อันเป็นเกณฑ์ที่กรมหมื่นพิทยลาภจะใช้ตัดสินด้วยว่า การปกครองรูปแบบไหนดีกว่าการปกครองแบบไหน [4]

เมื่อทรงนำฐานคิดข้างต้นนี้มาศึกษาการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์ของไทยในสมัยก่อน จึงทรงจำแนกให้เห็นตัวแบบอันหลากหลายมาแต่เดิมนั้นว่ามีอยู่แตกต่างกันอย่างไร และการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์ในแต่ละแบบนั้น มีอะไรเป็นคุณค่าหลักการพื้นฐาน หรือ ธรรม ที่แต่ละแบบยึดถืออยู่แตกต่างกัน ที่จะส่งผลต่อทั้งพระมหากษัตริย์และประชากรที่อยู่ภายใต้การปกครอง

ถ้าจะเทียบกับประชาธิปไตยในปัจจุบันก็อาจจะเข้าใจง่ายขึ้น กล่าวคือ ตัวแบบการปกครองประชาธิปไตยมีการจัดรูปแบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจและองค์ประกอบเชิงสถาบันแตกต่างกันได้เป็นหลายแบบ แต่ไม่ว่าจะจัดออกมาในแบบใด การปกครองประชาธิปไตยก็มีคุณค่าที่เป็นหลักการพื้นฐานหรือเป็นหลักธรรมอันสังคมประชาธิปไตยพึงยึดถืออยู่ร่วมกัน และการธำรงรักษาไว้ซึ่ง ธรรม หรือคุณค่าที่เป็นหลักการพื้นฐานของสังคมการเมืองประชาธิปไตยดังกล่าว ก็จำเป็นต้องอาศัยคุณลักษณะทางความคิด การใช้เหตุผล และการแสดงออกที่เหมาะสมของประชาชนพลเมือง ซึ่งคุณลักษณะอย่างนั้นจะมีขึ้นมาได้ ก็ต้องมีการอบรมบ่มเพาะขึ้นมา

และถ้าหากจะเทียบต่อไป ความแตกต่างระหว่างประชาธิปไตยกับการปกครองโบราณแบบมีพระมหากษัตริย์ของไทยอยู่ที่ 2 ระบอบนี้นับถือแหล่งที่มา สารัตถะและเป้าหมายของคุณค่าที่เป็นหลักการพื้นฐาน หรือ ธรรม นี้ต่างกัน ถ้าใช้คำทางสังคมวิทยาการเมืองในที่นี้ก็คือ 2 ระบอบนี้ยึดถือสิทธิอำนาจทางศีลธรรม (moral authority) ที่จะเป็นที่มา และเป็นที่กำหนดสารัตถะและเป้าหมายของคุณค่าพื้นฐานแตกต่างกัน และโดยความแตกต่างกันนั้น แต่ละระบอบก็ต้องการคุณลักษณะของพลเมืองต่างกันไปด้วย

แน่นอนว่าในงานพระนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยลาภฯ มิได้พิจารณาสิทธิอำนาจทางศีลธรรมของระบอบการเมืองประชาธิปไตยว่าอยู่ที่ไหน กำหนดอะไรว่าเป็นธรรมหรือเป็นคุณค่าพื้นฐานสำหรับการยึดถือร่วมกันในสังคมประชาธิปไตย และเพื่อเป้าหมายอะไร เพราะไม่อยู่ในขอบเขตการพิจารณาของปาฐกถา ที่มุ่งอธิบายแต่เฉพาะ ‘The old Siamese conception of monarchy’ เท่านั้น แต่การที่ทรงแจกแจงในงานพระนิพนธ์เรื่องสิทธิอำนาจทางศีลธรรมอันเป็นที่มาและเป็นหลักสำหรับกำหนด ธรรม ของการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์มาแต่โบราณของไทยไว้ค่อนข้างละเอียด โดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ ทำให้เราได้แนวเทียบในเรื่องดังกล่าวกับการอบรมบ่มเพาะคุณลักษณะอันเหมาะสมของประชาชนพลเมืองมาพิจารณาเปรียบเทียบกับของระบอบประชาธิปไตยหลัง 2475 ทั้งในส่วนทฤษฎี และในส่วนการนำทฤษฎีมาปฏิบัติจริงๆ

จากกรอบสำหรับทำความเข้าใจรูปแบบการเมืองการปกครองไม่ว่าเก่าหรือใหม่ข้างต้น กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงจัดแนวทางทำความเข้าใจการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์ในสมัยก่อนของไทยออกมา ทั้งในด้านที่เป็น ‘theory’ และในด้านที่เป็น ‘the theory in actualities’  ซึ่งผู้เขียนขอนำส่วนที่เห็นว่าสำคัญมานำเสนอแก่ผู้สนใจศึกษาคติเก่า ดังนี้

หนึ่ง ในระยะเวลายาวนานของสังคมแต่โบราณที่ใช้การปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เรื่อยมา กรมหมื่นพิทยลาภฯ ได้ชี้ให้เห็นว่า ในทางทฤษฎี ย่อมมีแนวความคิดเกี่ยวกับอำนาจและตำแหน่งสถานะของพระมหากษัตริย์สั่งสมมาหลากหลายรูปแบบจากการติดต่อสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนและถ่ายเทอิทธิพลทางสังคมวัฒนธรรมระหว่างกัน และจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตามระยะเวลาในแต่ละยุคสมัย ในสังคมไทยเองแต่โบราณมาจนถึงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ประเพณีการปกครองจึงมีตัวแบบเกี่ยวกับการจัดอำนาจและตำแหน่งสถานะของพระมหากษัตริย์และความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎรอยู่หลายตัวแบบเก็บสะสมมา ที่สำคัญคือ ตัวแบบพ่อปกครองลูก เทวราชา จักรพรรดิราช กษัตริย์นักรบผู้เป็นทั้งเจ้าแผ่นดินและเป็นเจ้าชีวิต ธรรมราชา และตัวแบบสโมสรสมมติ

ตัวแบบเหล่านี้ถ้าหากยึดหลักทฤษฎีของมันเองโดยเคร่งครัด แต่ละแบบจะจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างพระมหากษัตริย์กับส่วนอื่นๆ ในสังคมการเมืองแตกต่างกันมาก แต่ลักษณะของประเพณีการปกครองแต่โบราณของไทย ไม่ใช่การทิ้งตัวแบบหนึ่งแล้วเปลี่ยนชนิดขาดจากตัวแบบเดิมไปหาตัวแบบใหม่มาแทนที่ แต่เป็นการเปลี่ยนแบบเก็บหลักการหลายอย่างที่แตกต่างกันเหล่านี้มาผสมกันหรือรักษาไว้ให้ปะปนอยู่ด้วยกัน ลักษณะเช่นนี้อาจสะท้อน ‘คุณธรรมของชนชาติไทย’ มาแต่โบราณตามพระดำริของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2519, 229) ในข้อการรู้จักประสานประโยชน์หรือ power of assimilation ดังที่กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงวิเคราะห์ไว้ละเอียดในพระนิพนธ์เกี่ยวกับพิธีบรมราชาภิเษกว่าหลักจากทฤษฎีต่างๆ เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ถูกประสานเข้ามาไว้อยู่ในพิธีสำคัญนั้นมีอะไรบ้าง แต่ละส่วนมีความหมายอย่างไร ส่วนไหนสำคัญ ส่วนไหนเปลี่ยนแปลงได้ และเปลี่ยนมาแล้วอย่างไร ในสมัยใด

ประเด็นที่ตามมาก็คือ เมื่อประเพณีการปกครองแต่โบราณของไทยเลือกเก็บแนวคิดที่แตกต่างหลากหลายในทางทฤษฎีของการปกครองแบบมีพระมหากษัตริย์เอาไว้ แล้วใครจะเป็นผู้มี moral authority ในการที่จะเลือกว่าหลักการตามทฤษฎีพระมหากษัตริย์แบบไหนเป็นลักษณะสำคัญที่สุดและคุณค่าตามหลักการของแนวคิดแบบนั้นคือหลักธรรมของบ้านเมือง หลักตามทฤษฎีแบบไหนเป็นแต่ ‘ของประดับอยู่ภายนอก’ ในทางให้เกิดอลังการหรือเพื่อสืบรักษาประเพณีที่มีมาเท่านั้น แต่ไม่ใช่คุณค่าที่เป็นสารัตถะสำคัญ กรมหมื่นพิทยลาภฯ เสนอว่าผู้เป็นที่มาของสิทธิอำนาจทางศีลธรรมในการจัดคัดเลือกและรักษาหลักการและคุณค่าพื้นฐานของสังคมการเมืองได้แก่พระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ระเบียบตามทฤษฎีชุดเก่าเสื่อมถอยลงจากการศึกสงครามหรือความเสื่อมคลายของวัตรปฏิบัติภายในสังคมนับแต่องค์พระมหากษัตริย์ลงมา แล้วมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่สถาปนาพระราชอำนาจปราบดาภิเษกขึ้นมาใหม่ เช่นในสมัย ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงฟื้นฟูวัฒนธรรม’ (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร 2525)

การมีตัวแบบพระมหากษัตริย์ที่หลากหลายสั่งสมอยู่ในประเพณีการปกครอง และการที่ตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นตำแหน่งที่ทรงสิทธิอำนาจทางศีลธรรม มีนัยสำคัญที่ควรตั้งข้อสังเกตจากพระนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ออกมาได้อีกพอสมควร แต่เพื่อไม่ให้บทความยาวจนเกินไป ในประเด็นที่สอง เราจะพิจารณานัยสำคัญที่ตามมาจากเรื่องการมีตัวแบบหลากหลาย และเลือกข้อสังเกตเกี่ยวกับการทรงสิทธิอำนาจทางศีลธรรมของพระมหากษัตริย์มาเสนอในประเด็นถัดไปเป็นข้อสุดท้าย

สอง ประเด็นความหลากหลายในตัวแบบเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่มีอยู่ในสังคมไทย นำมาสู่ข้อพิจารณาการกระจายตัวอยู่ในประเพณีของหลักทฤษฎีที่แตกต่างกันเหล่านี้ ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะในศาสนา และวิธีสืบรักษาหลักการเหล่านั้นต่อมา

ในงานพระนิพนธ์ ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงฟื้นฟูวัฒนธรรม’ ข้อเสนอสำคัญที่สุดของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ในบริบทนี้ได้แก่ข้อเสนอที่ว่า “ในบ้านเมืองไทยแต่ครั้งโบราณ วัฒนธรรมย่อมแวดล้อมพระองค์พระมหากษัตริย์” นัยของข้อเสนอนี้มีความสำคัญในแง่ที่ชี้ให้เห็นว่าแนวความคิดเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์หลากหลายรูปแบบส่วนหนึ่งอยู่ในศาสนาแน่นอน แต่อีกหลายส่วนซึมแทรกอยู่ในวัฒนธรรมด้านต่างๆ

ส่วนที่เป็นศาสนานั้น อย่างน้อยนับแต่รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ทรง ‘ยอยกพระพุทธศาสนา’ เป็นหลักการสูงสุด และคติสำคัญของพระมหากษัตริย์ตามหลักการของพุทธศาสนา กรมหมื่นพิทยลาภฯ เสนอว่าได้แก่ “พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นธรรมิกราช … คือทรงทศพิธราชธรรม ทรงประกอบด้วยสังคหวัตถุ 4 ประการ ทรงดำรงอยู่ในจกฺกวตฺติวตฺต”

อย่างไรก็ดี เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงเลือกพระนามสำหรับครองแผ่นดิน พระนามที่ทรงเลือกคือ รามาธิบดี เป็นการย้อนกลับไปหาพระเจ้าอู่ทอง พระปรมาภิไธยนี้แน่นอนว่ามีรากฐานความคิดอยู่ในการอวตารของเทพเจ้าตามคติฮินดู แต่เมื่อทรงสร้างพระวิหารแล้วอัญเชิญพระรูปสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทองมาประดิษฐานไว้ที่พระวิหารพระเทพบิดรนี้ ได้แปลงพระรูปดังกล่าวเป็นพระพุทธรูปหุ้มเงินปิดทอง (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร 2525, 29)

กรณีข้างต้น พระนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ให้ข้อสังเกตว่าสังคมไทยแต่โบราณเก็บคติความเชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ที่ไม่ได้อยู่ในหลักพุทธศาสนาโดยใช้ส่วนพุทธศาสนามาคลุมและคุมไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังฝากไว้ในวัฒนธรรมส่วนอื่น และในวัฒนธรรมส่วนอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาแต่จัดว่าเป็นส่วนที่สำคัญมากในการรักษาคติความเชื่อนอกเหนือพุทธศาสนาอันเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เอาไว้ โดยเฉพาะความคิดพระมหากษัตริย์เป็นเทวราชา ส่วนนั้นได้แก่ พิธีที่เกี่ยวข้องและวัฒนธรรมที่แวดล้อมพระองค์พระมหากษัตริย์ ดังปรากฏการแสดงออกของความคิดชุดนี้ในพิธีสำคัญที่สุดของการเสวยราชสมบัติคือ พิธีบรมราชาภิเษก อันเป็นพิธีที่ต้องใช้พราหมณ์มาเป็นผู้ประกอบพิธี “สาธยายมนต์อัญเชิญพระเป็นเจ้าให้ลงมาสู่องค์พระมหากษัตริย์ แล้วใช้คำพูดแก่พระองค์ประดุจพระอิศวรเป็นเจ้า”

ความคิดเทวราชาเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู แต่เมื่อตลอดมาไทยไม่ได้ถือศาสนาพราหมณ์หรือเทพเจ้าฮินดูว่าอยู่เหนือพระพุทธเจ้า แต่ถือคติพราหมณ์ว่าเป็นไสย ในการสืบรักษาคติความเชื่อเกี่ยวกับเทพเจ้าตามลัทธิพราหมณ์ กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงชี้ให้เห็นว่าสังคมไทยสืบรักษาคติดังกล่าวผ่านงานวรรณกรรม และวรรณกรรมที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นวรรณกรรมที่ส่งผลและมีอิทธิพลสืบเนื่องคลุมศิลปกรรมแขนงต่างๆ ไว้ได้ทั้งหมด ได้แก่วรรณกรรมเรื่อง รามเกียรติ์ พระราชกรณียกิจทางด้านฟื้นฟูวัฒนธรรมของรัชกาลที่ 1 ผู้ทรงเลือกพระนามสำหรับครองแผ่นดินว่า รามาธิบดี ทรงเลือกการชำระศาสนาด้วยการสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นพระราชกรณียกิจเพื่อฟื้นฟูบ้านเมืองลำดับแรกก็จริง แต่ต่อจากนั้น กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษแก่พระราชนิพนธ์ ‘รามเกียรติ์’ ที่แม้ “ฝีพระโอษฐ์นับว่าปานกลาง … แต่สำคัญมากเพราะเป็นการรักษาความไว้ตลอดเรื่องอันยืดยาว”

ในระหว่างคติพระมหากษัตริย์เป็นธรรมิกราชและเป็นผู้อุปถัมภ์รักษาพุทธศาสนาให้ยั่งยืนและบริสุทธิ์ตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา กับคติพระมหากษัตริย์เป็นเทวราชาตามที่ปรากฏอยู่ในพิธีบรมราชาภิเษกและฐานคิดที่รักษาไว้ในวรรณกรรมรามเกียรติ์ น่าสังเกตว่ากรมหมื่นพิทยลาภฯ ได้ยกพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ รัชกาลที่ 1 ในตอนท้ายมาประกอบให้ผู้อ่านพิจารณาว่า คติใดที่เป็นหลัก คติใดที่เป็นแต่เพียง ‘ส่วนประกอบภายนอก’

อันพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์       ทรงเพียรตามเรื่องนิยายไสย

ใช่จะเป็นแก่นสารสิ่งใด              ดั่งพระทัยสมโภชบูชา

ใครฟังอย่าได้ใหลหลง               จงปลงอนิจจังสังขาร์ …

อย่างไรก็ดี แม้กรมหมื่นพิทยลาภฯ จะตีความว่ารัชกาลที่ 1 ทรงวางหลักในทางทฤษฎีไว้ให้พุทธศาสนาอยู่เหนือลัทธิไสยของพวกพราหมณ์และทรงตักเตือนไว้แล้วเช่นนั้น แต่ในทางปฏิบัติและโดยวัฒนธรรม ‘ที่แวดล้อมพระองค์พระมหากษัตริย์’ จะถือว่าพระมหากษัตริย์ไทยในช่วงเวลายาวนานที่ผ่านมา เป็นไปตามความหมายในแบบใดมากกว่ากัน บทพระนิพนธ์ของกรมหมื่นพิทยลาภฯ ฝากคำถามให้เราติดตามหาคำตอบในทางปฏิบัติของเรื่องนี้ตามเวลาในแต่ละยุคสมัยต่อไป  โดยทรงย้ำในที่หลายแห่งสอดคล้องกับพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์รัชกาลที่ 1 ข้างต้นว่าวัฒนธรรมที่แวดล้อมพระองค์พระมหากษัตริย์นั้นอาศัย “นิยายอันเป็นที่นิยมของคนโบราณ … คติสำคัญอยู่ที่ว่าพระราชาผู้ทรงธรรมย่อมเป็นที่นิยมกว่าผู้มีชัยด้วยคมอาวุธ” และข้อความตักเตือนผู้อ่านผู้ฟังในพระราชนิพนธ์อย่างรามเกียรติ์ “ออกจะเป็นการออกพระองค์ว่ามิได้ลุ่มหลงในดิรัจฉานกถา”

สาม การทรงสถานะเป็นผู้มีสิทธิอำนาจทางศีลธรรมของพระมหากษัตริย์นั้น ต้องเข้าใจว่าส่วนที่เป็นตัวหลักธรรมในทางทฤษฎีนั้นเป็นสิ่งดำรงอยู่ก่อนหน้าพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์แล้ว และเป็นหลักธรรมอันเป็นสัจจะที่มีความบริบูรณ์ในตัว เพียงแต่จะทรงไว้ให้บริสุทธิ์ได้อย่างไรในทางปฏิบัติ ทั้งในแง่การรักษาตัวบทที่เป็นหลักมิให้ผิดเพี้ยนมัวหมอง และการปฏิบัติให้ตรงหรือสอดคล้องตามหลักในตัวบทอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น พระไตรปิฎกและคัมภีร์ในพุทธศาสนา หลักธรรม เช่น ทศพิธราชธรรม หลักกฎหมายคือคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ หลักทั้งหมดเหล่านี้มิได้มาจากการตัดสินและไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยพระราชมติของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ แต่เป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ที่จะต้องธำรงรักษาไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สืบไป

สิทธิอำนาจทางศีลธรรมของพระมหากษัตริย์จึงเกิดมาจาก 1. การทรงปฏิบัติและรักษาศีลธรรม 2. การทำหน้าที่กวดขันศีลธรรมข้าราชการและพลเมืองให้ปฏิบัติตนสอดคล้องกับหลักการทางศีลธรรมอย่างถูกต้อง เช่นไม่นอกลู่นอกรอยไป “นับถือแต่ไสยศาสตร์ผีสางเทพารักษ์ต่างๆ ยิ่งกว่าพระไตรสรณาคม” 3. สนับสนุนสมณปฏิบัติให้เคร่งครัดถูกต้องตามพระธรรมวินัย 4. ชำระความ ‘ผิดเพี้ยนพิปลาส’ ของหลักธรรมคัมภีร์ทั้งหลายให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ 5. บำรุงสมณชีพราหมณ์ ศิลปกรรมด้านต่างๆ และวัฒนธรรมทั้งหลาย 6. การดูแลตัวบทกฎหมายให้มีความถูกต้องทั้งตัวบทมูลคดี ราชสาตร และการชำระความ

กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงตีความว่าโดยเหตุที่พระมหากษัตริย์แต่โบราณของไทยมิได้เป็นแหล่งที่มาของ ธรรม แต่อยู่ภายใต้กรอบที่จะต้องปฏิบัติตามกรอบแห่งหลักธรรม และการทรงสถานะที่จะเป็นผู้มีสิทธิอำนาจทางศีลธรรมขึ้นมาก็โดยการรักษาและปฏิบัติตามหลักธรรม รวมทั้งการยังให้ประชาชนทั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามครรลองธรรมอย่างถูกต้อง พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในโบราณสมัยโดยทฤษฎีจึงมิได้เป็นพระราชอำนาจแบบ absolute monarchy อย่างที่เข้าใจกันตามตามตัวแบบดังกล่าวของตะวันตก

โดยนัยนี้ ความรุ่งเรืองหรือเสื่อมถอยในการปกครองของพระมหากษัตริย์ในหลักการทางทฤษฎีจึงมีตัวชี้วัดให้พิจารณาได้จากการปฏิบัติหน้าที่ว่าเป็นไปเพื่อผดุงรักษา ธรรม ให้แก่บ้านเมือง การปฏิบัติตามหลักธรรมของพระองค์เอง และผลแก่บ้านเมืองอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการเหล่านั้น แต่ในความเป็นจริงในทางปฏิบัติ กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงให้เบาะแสสำหรับพิจารณาไว้เช่นกันในพระนิพนธ์เรื่อง ‘พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงฟื้นฟูวัฒนธรรม’ ว่าอาจดูได้จากตัวชี้วัดในอีกลักษณะหนึ่งที่ทรงยกมาแสดงในพระราชกรณียกิจรัชกาลที่ 1 คือ ความสามารถในการควบคุมกำลังคนในขอบขัณฑสีมาสำหรับการสงคราม แต่พร้อมกันนั้น กรมหมื่นพิทยลาภฯ มีความเห็นไปในทางที่แสดงว่าปัญหาการปกครองในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีในตอนปลายนั้นอาจพิจารณาว่าเป็นปัญหาความเสื่อมถอยในหลักการทางธรรมมากกว่าที่จะเป็นความเสื่อมถอยในทางปฏิบัติอันเกิดจากศูนย์กลางไม่สามารถควบคุมกำลังคนเพื่อการทำสงคราม

แต่ไม่ว่าจะวัดความเจริญรุ่งเรือง การฟื้นฟู หรือความเสื่อมถอยในทางหลักการทฤษฎี และในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ตัวแบบพระมหากษัตริย์ตามแบบโบราณตามที่กรมหมื่นพิทยลาภฯ เสนอการตีความออกมานี้ก็เป็นตัวแบบที่นับว่าเรียกร้องความรอบรู้และสติปัญญาความเฉียบแหลม คุณลักษณะอันสูงในการครองตนเอง และทักษะความสามารถเชี่ยวชาญหลากหลายด้านจากผู้ที่เป็นพระมหากษัตริย์

แต่คุณสมบัติทั้งหมดนี้จะได้มาแต่ไหน

…….

ผู้เขียนขึ้นต้นบทความตอนต้นด้วยคำตอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 แต่ขอลงท้ายในตอนที่สองนี้ด้วยพระราชปุจฉา

ในคราวทรงพระผนวชระหว่างเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 และเสด็จมาประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศวิหารเพื่อรับการอบรมธรรมจากสมเด็จพระอุปัชฌาย์และพระผู้ใหญ่แห่งสำนักนั้น วันหนึ่ง พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปุจฉาต่อพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) ว่า “ขณะที่ทรงผนวชอยู่นี้ เรียกกันว่า ‘พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว’ โดยที่ทรงดำรงฐานะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ยังมีอยู่ เป็นแต่เพียงทรงจีวรเช่นภิกษุเท่านั้น”

พระพรหมมุนีวิสัชนาถวายว่า “เรื่องนี้ทางธรรมะเรียกว่าสมมุติซ้อนสมมุติ สัจจะซ้อนสัจจะ ความเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็เป็นสมมุติอย่างหนึ่ง เรียกว่า ‘สมมุติเทพ’ ความเป็นภิกษุก็เป็นสมมุติอีกอย่างหนึ่งซ้อนขึ้นในสมมุติเทพนั้น ในการเช่นนี้ผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติให้เหมาะสมกับสมมุตินั้นๆ … สัจจะคือความจริง ตามที่ท่านอธิบายกันมีหลายอย่าง แต่เมื่อกล่าวโดยหลักธรรมก็มี 2 อย่าง คือ สมมุติสัจจะ จริงโดยสมมุติยกย่องขึ้นให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้ … [กับ] สภาวะสัจจะ จริงตามสภาวะเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นดินก็เป็นดินจริง เป็นน้ำก็เป็นน้ำจริง เป็นไฟก็เป็นไฟจริง เป็นลมก็เป็นลมจริง เป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์จริง เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง เป็นความดับทุกข์ก็เป็นความดับทุกข์จริง เป็นทางให้ถึงความดับทุกข์ก็เป็นทางให้ถึงความดับทุกข์จริง อย่างนี้เป็นจริงตามสภาวะ ท่านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปรมัตถสัจจะ”

 

 

III

“… อาจฉลองพระเดชพระคุณให้เป็นประโยชน์ได้อยู่บ้าง”

 

เนื่องจากบทความเป็นการตัดบางส่วนจากงานวิจัยมานำเสนอ เนื้อหาข้างต้นจึงเป็นส่วนย่อยประกอบอยู่ในส่วนใหญ่ซึ่งไม่อาจนำมาเสนอได้ในคราวเดียวกัน การจะเขียนบทสรุปออกมาให้แก่ส่วนย่อยจึงทำไม่ได้ถนัด  ผู้เขียน/ผู้วิจัยจึงขอคัดเลือกเกร็ดในพระประวัติบางตอนของกรมหมื่นพิทยลาภฯ จากหนังสือ อัตตชีวประวัติ (2517) มาลงไว้ เพื่อใช้แทนบทสรุปของบทความ ดังนี้

ในหนังสืออัตตชีวประวัติ กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงเล่าถึงที่มาอันทำให้ทรงมีความคุ้นเคยกับทางวังสระประทุมมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองว่า เมื่อทรงย้ายออกมาจากวังตลาดน้อยมาปลูกบ้านหลังใหม่ที่ถนนเพชรบุรีนั้น พระตำหนักหลังนี้อยู่ติดกับคลองที่ข้ามฟากไปฝั่งตรงข้ามจะตรงกับวังสระประทุมพอดี  สมเด็จพระวัสสาอัยยิกาเจ้าก็ทรงพอพระทัยที่ได้ท้าววรจันทร์มาเป็นเพื่อนบ้าน

“ว่างๆ ก็ทรงเรือพายเล็กๆ ข้ามมาตรัสคุยกันกับคุณย่า บางทีก็ทรงชวนลงเรือยนต์ไปประพาสตามลำคลองแสนแสบ ครั้งหนึ่งคุณย่าฉลองอายุ 90 (พ.ศ. 2474) สมเด็จพระราชชนนีเสด็จมาช่วยโดยทรงเรือข้ามฟากคลองแสนแสบมา พระโอรสธิดาของท่านทั้งสามพระองค์ทรงหิ้วลูกมะพร้าวมาพระหัตถ์ละลูก เพื่อช่วยท่านในการทำอาหารเลี้ยงในโอกาสนั้น แล้วเลยประทับทอดพระเนตรละคอนรำเรื่องอิเหนาด้วย” (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร 2517, 114)

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว กรมหมื่นพิทยลาภฯ ทรงบันทึกความรู้สึกส่วนพระองค์ว่าเหมือนกับ “จมโครมลงไปในห้วงลึกจนแทบจะเอาชีวิตไว้ไม่รอด และถึงรอด ก็อยู่มาอย่างหวาดๆ อยู่ว่าอาจตกต่ำลงไปถึงติดคุก หรือยิ่งกว่านั้นก็ได้”  ในช่วงเวลาของความไม่แน่นอนนี้ ทรงเล่าถึงคำทำนายกันเล่นๆ ในหมู่วงญาติที่สนิทว่าหม่อมเจ้าฉัตรมงคลเคยทายพระองค์ไว้ว่า “ยังจะขึ้นไปอีก สูงกว่าที่เป็นมาแล้ว”  (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร 2517, 91)

และคำทำนายกันเล่นๆ นั้นก็เป็นจริงขึ้นมาจนได้ เมื่อเกิดรัฐประหาร 2490

ทรงเล่าว่าหลวงกาจสงครามหัวหน้าคนหนึ่งของคณะรัฐประหารมาทูลเชิญให้รับตำแหน่งในคณะอภิรัฐมนตรีที่แต่งตั้งขึ้นมาใหม่ซึ่งมีกรมขุนชัยนาทนเรนทร (พระอิสริยยศขณะนั้น) เป็นประธาน และให้คณะอภิรัฐมนตรีนี้ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปด้วย เมื่อทรงตอบปฏิเสธ หลวงกาจสงครามทูลให้ทรงทราบว่า  “พวกข้าพระพุทธเจ้าก็ไม่ตั้งใจจะทูลรบกวนฝ่าพระบาท  แต่เสด็จในกรมชัยนาทท่านขอเติมพระนามฝ่าพระบาทเข้าไปอีกพระองค์หนึ่งแทนอีกชื่อหนึ่งซึ่งโปรดให้งด”  เมื่อทรงทราบความจริงจากหลวงกาจสงครามเช่นนั้น จึงไปเฝ้ากรมขุนชัยนาทนเรนทร

“ท่านเสด็จลุกมากอดแล้วตรัสว่า แกกับฉันรักกันมานมนานตั้งแต่ยังไว้จุกอยู่ด้วยกัน คราวนี้ฉันขอให้ช่วยสักทีเถิด พ่อ (หมายถึงกรมหมื่นพิทยลาภ) ไม่มีทางจะขัดท่านได้ เพราะรักท่านเป็นการรู้สึกส่วนตัวของพ่อ จำต้องยอมตามท่าน ก็เลยได้เข้าไปติดอยู่จนบัดนี้ … ทั้งเห็นด้วยตามรับสั่งว่าอาจฉลองพระเดชพระคุณให้เป็นประโยชน์ได้อยู่บ้าง” (กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร 2517, 139).

 

 

 

หมายเหตุ – บทความนี้ปรับมาจากส่วนหนึ่งของรายงานวิจัย : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 กับแนวคิดและเงื่อนไขทางการเมืองในการฟื้นฟูสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475\ รายงานวิจัยดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการวิจัยต่อเนื่องที่ทำเสนอต่อสถาบันพระปกเกล้า คือ โครงการ ‘จากมวลชนปฏิวัติสู่มวลชนประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์: ศึกษาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย’ ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร. ไชยันต์ ไชยพร เป็นหัวหน้าโครงการ ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นที่ปรึกษา และเอกลักษณ์ ไชยภูมี เป็นผู้ช่วยวิจัย บทความและรายงานวิจัยส่วนนี้ได้รับความเห็นอันเป็นประโยชน์ยิ่งจากบุคคลทั้งสาม และได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า แต่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับเนื้อหาและการตีความเป็นของผู้วิจัย-ผู้เขียนเอง อนึ่ง ผู้เขียนเคยชินกับธรรมเนียมเก่าที่จะเลี่ยงการเอ่ยถึงพระนามของพระมหากษัตริย์โดยไม่จำเป็น จึงขอเลือกกล่าวถึง ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙’ แทนที่จะเป็น ‘พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร’ ในการเขียนบทความและรายงานวิจัย


 

เชิงอรรถท้ายบท

[1] ทั้งปาฐกถาที่เป็นฉบับภาษาอังกฤษและบทความฉบับภาษาไทยได้รับการตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง ผู้วิจัยใช้ฉบับที่สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เป็นผู้ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์ออกมาครั้งล่าสุด (พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร 2561)

[2] อย่างไรก็ดี บทความจะไม่ได้เสนอส่วนที่เป็นการเปรียบเทียบความคิดของกรมหมื่นพิทยลาภฯ กับของคนอื่นๆ ทั้งในฝ่ายราชานุภาพ หรือที่เป็นคนละฝ่าย เลือกนำเสนอแต่เฉพาะส่วนที่เป็นแนวคิดและความเข้าใจของกรมหมื่นพิทยลาภฯ เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์จากการตีความเนื้อหาในปาฐกถาและบทความ

[3] ดูตัวอย่างการอภิปรายเรื่องความแตกต่างในตัวแบบการปกครองต่างๆ นี้ในพระนิพนธ์ที่ทรงไว้ก่อนหน้าเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ไม่นานนักของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (2519, 349)

[4] แต่ผู้เขียนจะไม่เฉลยในที่นี้ ขอทิ้งไว้ให้นักเลงหนังสือผู้สนใจลองติดตามหาคำตอบดูว่าระหว่างการปกครองรัฐโบราณแบบที่มีกษัตริย์ปกครอง กับการปกครองแบบประชาธิปไตย กรมหมื่นพิทยลาภฯ มีพระมติว่าแบบไหนดีกว่ากัน อย่างไร ขอกล่าวเพียงว่าพระมติในเรื่องนี้ออกจะใกล้เคียงกับนักปรัชญาโบราณอยู่มากทีเดียว

 

รายการอ้างอิง

ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. (2519). ประชุมปาฐกถาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ.  พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าอาชวดิศ ดิศกุล ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2519.

ธงชัย วินิจจะกูล. (2556). ประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง : ว่าด้วยประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่. นนทบุรี : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน.

เบเคอร์, คริส และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

ปฤณ เทพนรินทร์. (2556). “การก่อตัวของอุดมการณ์ราชาชาตินิยม, 2490-2510”. วารสารธรรมศาสตร์, 32 (1), 1-36.

พิทยลาภพฤฒิยากร, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. (2561). “เรื่องบรมราชาภิเษก.” ใน สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, กรมศิลปากร. ประมวลบทความเนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 135-158.

พิทยลาภพฤฒิยากร, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. (2525). เรื่องพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงฟื้นฟูวัฒนธรรม. กรุงเทพฯ : สยามสมาคม.

พิทยลาภพฤฒิยากร, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. (2517). อัตตชีวประวัติ. พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ณ พระเมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 15 ธันวาคม 2517.

พิทยลาภพฤฒิยากร, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น (2502). หัวข้อประวัติศาสตร์ภาค 1 โบราณประวัติ. กรุงเทพฯ : ไม่ทราบสำนักพิมพ์.

Foreign Correspondents’ Club of Thailand. (2007). The King of Thailand in World Focus.  Singapore: Editions Didier Millet.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save