fbpx

เรียนฐานคิดของเสรีนิยม (ไม่ใหม่) จากงานของนักรัฐศาสตร์รัฐธรรมนูญอเมริกัน Vincent Ostrom (1919-2012)

ตั้งชื่อให้ดูขลังอย่างนั้นเองครับ ความจริงข้อเขียนนี้เป็นบันทึกการอ่านงานของ Vincent Ostrom ตอนที่ 1 ที่ลงไว้ว่าตอนที่ 1 ก็มิใช่ว่าจะมีบันทึกตอนที่ 2 ที่ 3 มาลง 101 อีกในบทความคราวหน้าหรอกนะครับ แต่ทัดไว้เพื่อให้ทราบว่างานของ Vincent Ostrom มีให้ผมเขียนบันทึกต่อได้อีกยาว ยิ่งถ้าสนใจเรื่องกฎบัตรรัฐธรรมนูญแล้วอ่านควบคู่กับงานของนักรัฐศาสตร์ที่ศึกษาประวัติความคิดเกี่ยวกับเรื่องสหพันธรัฐและรัฐธรรมนูญอย่าง Daniel J. Elazar (1934 – 1999) บันทึกก็ยิ่งจะยาวได้เป็นมหากาพย์ทีเดียว ซึ่งแบบนั้นต้องเก็บไว้อ่านของผมคนเดียว เพราะเรื่องที่ผมนำมาลงที่ 101 นี้ก็ไม่ค่อยมีใครอ่านอยู่แล้ว     

จะแนะนำ Vincent Ostrom แก่ท่านผู้อ่านอย่างไรดี?

ผมไม่ได้เรียนทฤษฎีการเมืองอเมริกันมา จึงไม่มีภูมิทางวิชาการพอจะแนะนำนักวิชาการใหญ่อย่างเขาให้จุใจได้ จึงขอแนะนำตามเส้นทางที่พาผมมารู้จักงานของเขาดีกว่านะครับ นั่นคือ ผมอ่านงานวิชาการของ Elinor Ostrom (1933 – 2012) ภรรยาของเขามาก่อน และคิดว่าในบริบทวงวิชาการในประเทศไทย ผลงานของเธอ ซึ่งเป็นนักรัฐศาสตร์-เศรษฐศาสตร์การเมืองที่ได้รับรางวัลโนเบลทางเศรษฐศาสตร์จะเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานโดดเด่นในการศึกษา common-pool resources และการออกแบบปทัสถานของชุมชนเพื่อรักษาฐานทรัพยากรที่ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ผมมารู้จักงานของ Vincent Ostrom ในภายหลัง และที่รู้จักงานของเขาก็เพราะผู้ยิ่งใหญ่ในโลกวิชาการรัฐศาสตร์ด้านรัฐธรรมนูญศึกษาคือ Daniel J. Elazar แนะนำชี้ช่องทางให้ตามมา บทนำที่ Elazar เขียนให้แก่หนังสือของ Ostrom เล่มที่ผมนำมาเปิดบันทึกก็เป็นการแนะนำความคิดเกี่ยวกับระเบียบการเมืองและรัฐธรรมนูญของ Ostrom อย่างดีมาก [1]

ตรงนี้อาจเปิดวงเล็บเล็กๆ แนะนำนิสิตแรกเรียนได้ว่า การอ่านต่อทางจากคนหนึ่งไปหาอีกคนและต่อออกไปหาคนที่สามที่สี่ไปเรื่อย ถ้าไม่คิดถึงกำหนดส่งงานที่เรียกกันว่า เดดไลน์ มาจ่อรอเด็ดรอขาดอยู่ การอ่านแบบนี้จะช่วยพาขยายความรู้ความเข้าใจให้กว้างขวางได้รับประโยชน์ดีมาก เมื่อสักสิบกว่าปีมาแล้ว นักวิชาการอาวุโสท่านหนึ่งถามด้วยความแปลกใจเมื่อทราบว่าผมเป็นแฟนคลับติดตามผลงานของ Jon Elster ท่านถามว่ามาเจองานเขาได้อย่างไร ผมเล่าให้ท่านฟังว่าเพราะการเรียน rational choice ที่ฮิตกันมากในรัฐศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอเมริกันเวลานั้น ทำให้ต้องติดตามหาความเข้าใจจากคนที่เขียนอธิบายเรื่องนี้ให้คนอื่นเข้าใจได้ไม่ยาก มีประเด็นขยายผลต่อยอดความรู้ พร้อมกับสาธิตตัวอย่างชนิดที่ให้ความเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้น พอมาได้พบกับ Nuts and Bolts for the Social Sciences (Elster 1989) [2] ในวิชาทางระเบียบวิธีวิจัยเข้า ก็รู้สึกว่า Elster เขียนเข้าใจดี จากเล่มนี้ก็ตามงานที่เขาเขียนถึงการใช้เหตุผลของมนุษย์เล่มอื่นๆ มาอ่านต่อเรื่อยมา ซึ่งพาให้กลับไปต่อสายกับงานทฤษฎีในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งไม่ว่าใครจะโยนเหตุผลหรือวิธีคิดแบบไหนมา ความรู้ความเข้าใจวิธีคิดและข้อจำกัดในการใช้เหตุผลของมนุษย์ที่ได้จากงานหลายเล่มของ Elster ก็ทำให้เปิดประเด็นกับทุกสายได้   กับงานของ  Vincent Ostrom ก็เช่นเดียวกัน อ่านแล้วได้ประโยชน์กลับคืนมาใช้ขยายความเข้าใจและเปิดประเด็นกับงานในสาขาที่ต้องประกอบวิชาชีพคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีกลุ่มเสรีนิยมทุกสายได้ดีมาก

สมัยนี้วิชาการหลายส่วนในสังคมศาสตร์สนใจเรื่องการออกแบบ เช่น การออกแบบองค์กร ออกแบบเมือง ออกแบบระบบงาน ออกแบบระบบการศึกษาหรือระบบสุขภาพสวัสดิการ ที่การออกแบบกำลังอยู่ในความสนใจนั้น ส่วนหนึ่งจะมาจากอิทธิพลของเศรษฐศาสตร์ที่หันมาศึกษาพฤติกรรมด้วยกระมัง โดยเศรษฐศาสตร์เป็นฝ่ายที่ยอมผ่อนฐานคิดเรื่อง rational man ของมนุษย์เศรษฐกิจลงมา ถ้าหากท่านสนใจการออกแบบในทางรัฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ โดนเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญอเมริกัน การศึกษาทฤษฎีการเมืองในงานของ Vincent Ostrom ก็มีอะไรที่น่ารู้อยู่มาก แต่ที่ผมอ่านงานเขาทีแรกมาจากความใคร่รู้ว่าเขาจะศึกษาสถาบันทางการเมืองในรัฐธรรมนูญเหมือนกันกับภรรยาที่ศึกษาสถาบันในระดับชุมชนไหม อ่านแล้วพบว่าแม้จะมีบางส่วนที่เชื่อมต่อกันได้ในวิธีพิจารณาสถาบันจากตัวผู้กระทำการ แต่งานวิชาการของคนทั้งสองเป็นคนละด้านกัน ซึ่งก็น่าติดตามทั้งคู่ งานของ Vincent Ostrom นั้นให้ทางคิดสำหรับทำความเข้าใจทฤษฎีการเมืองและสถาบันการเมืองอเมริกันดีมาก อย่างน้อยในส่วนของผมก็ช่วยให้ผมอ่านความคิดที่อยู่ใน The Federalist Papers ได้ความเข้าใจที่ลึกขึ้น

ดังเช่น งานกลุ่มหนึ่งของ Ostrom ในทศวรรษ 1960 ที่รวบรวมอยู่ในหนังสือ The Political Theory of a Compound Republic: Designing the American Experiment (พิมพ์ครั้งแรก 1971, ขยายความปรับปรุงใหม่และพิมพ์ครั้งที่ 3 พร้อมบทนำของ Elazar 2008) ซึ่งเป็นที่มาของบันทึกนี้ พิจารณาการออกแบบระเบียบการเมืองผ่านการศึกษารัฐธรรมนูญและทฤษฎีการเมืองอเมริกันใน The Federalist Papers ว่านักคิดนักปฏิบัติผู้วางรากฐานและสถาปนาระบบการเมืองอเมริกันขึ้นมานั้น ได้พิเคราะห์ธรรมชาติคนในการเมือง ได้พิจารณา ‘republican disease’ ที่จะเกิดขึ้นได้กับสาธารณรัฐ และหาทางแก้ไข ป้องกัน หรือหาทางลดปัญหาเหล่านั้นอย่างไรในการออกแบบวางโครงสร้างและจัดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ในระบบการเมือง ผมอ่านส่วนที่ Ostrom เสนอความคิดเกี่ยวกับการออกแบบระเบียบการเมืองที่ย้อนกลับไปหาคำถามของแฮมิลตันด้วยความสนใจ Ostrom ขีดเส้นใต้คำถามเปิดประเด็นของแฮมิลตันในเอกสารลำดับแรกของ The Federalist Papers ไว้ตรงนี้เป็นพิเศษ เพราะงานของเขาในเล่มนี้จะให้อรรถาธิบายความคิดที่อยู่เบื้องหลังการตอบคำถามดังกล่าว นั่นคือ

… whether societies of men are really capable or not of establishing good government from reflection and choice, or whether they are forever destined to depend for their political constitutions on accident and force.

ทำไมงานของ Ostrom และการออกแบบระเบียบการเมือง ที่เขาพาย้อนกลับไปอ่าน The Federalist Papers จึงน่าสนใจ?

ผมเรียนทฤษฎีการเมืองแบบครูพักลักจำ และต่อทางกับทฤษฎีการเมืองตามแต่ที่ทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะพาออกมาเชื่อมโยง ไม่ได้เรียนทฤษฎีการเมืองอย่างที่เป็นต้นทางความรู้  ได้รู้จักมาคิอาเวลลี ฮอบส์และอยากอ่านเมดิสันก็เพราะประเด็นปัญหาในความมั่นคงและการจัดระเบียบการเมืองระหว่างประเทศพามา ดังนั้น ถ้าจะตอบคำถามข้างต้นโดยโยงเข้ามาหาหน้าที่การงานที่ทำอยู่ ก็ตอบได้ว่า งานของ Vincent Ostrom นำมาประยุกต์ใช้ในการสอนทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำนักเสรีนิยมสายต่างๆ ให้นิสิตได้ชัดเจนดี ว่าการจะเข้าใจความคิดเสรีนิยมและการใช้เหตุผลของตัวแสดงในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น มิใช่เน้นแต่เฉพาะความสำคัญของปัจเจกบุคคล เสรีภาพ และการใช้เหตุผลในเชิงเครื่องมือในการตัดสินใจเลือกเท่านั้น ความคิดเสรีนิยมก็ดี ความเข้าใจการใช้เหตุผลของปัจเจกบุคคลแต่ละคนในการตัดสินใจยังจะต้องนำบริบทและองค์ประกอบเชิงสถาบันที่กำกับการใช้เสรีภาพและการใช้เหตุผลในการตัดสินใจมาพิจารณาประกอบด้วย

หรืออีกนัยหนึ่งสำหรับผมแล้ว ส่วนที่น่าสนใจที่สุดในงานของฝ่ายเสรีนิยมอยู่ที่ศาสตร์และศิลป์ของการวางเครื่องเหนี่ยวรั้งยับยั้งใจในการใช้เสรีภาพ และการวางระบบวางเงื่อนไขกำกับสนับสนุนการตัดสินใจ ที่จะพาให้เหตุผลทำงานรับใช้การตัดสินใจนั้นให้ได้ผลออกมาดีเท่าที่จะเป็นไปได้มากที่สุด โดยไม่ย้อนรอยพลิกผันให้การตัดสินใจโดยเหตุผลที่สมเหตุสมผลในระดับบุคคลนั้นสร้างผลลัพธ์ที่ทำให้ผลได้ที่เกิดขึ้นกลายเป็นผลเสียแก่ส่วนรวม หรือกลับทำให้แต่ละคนได้รับผลที่นอกจากจะไม่ดีขึ้นกว่าเดิมแล้ว ยิ่งพากันเสียหายมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็นไปอีก   

นอกจากนั้น การจะทำความเข้าใจระเบียบระหว่างประเทศในสมัยที่อำนาจของสหรัฐอเมริกาเป็นใหญ่ในโลกจำเป็นต้องเข้าใจทางคิดและการจัดระเบียบตามหลักการของเสรีนิยม ปรัชญาและทฤษฎีการเมืองอเมริกันจึงเป็นแหล่งอันอุดมสำหรับสืบเสาะรากฐานทางความคิดของนักทฤษฎีฝ่ายเสรีนิยมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งมักจะเป็นนักวิชาการอเมริกัน ความคิดกระแสนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดการความมั่นคงในสภาวะอนาธิปไตยของโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวแบบการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอเมริกันภายหลังเป็นเอกราชจากอังกฤษ ซึ่งเกิดจากการทำความตกลงตรารัฐธรรมนูญระหว่าง 13 รัฐเพื่อสถาปนาการอยู่ร่วมกันภายใต้ union เป็นทางเลือกการจัดระบบเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงระหว่างรัฐที่มีนัยสำคัญต่อทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะการทำความตกลงจัดตั้ง union ในปี ค.ศ. 1787 สะท้อนให้เห็นความเป็นไปได้ว่า ตัวแบบจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐดังกล่าว ซึ่ง Daniel Deudney เรียกว่า the Philadelphian system [3] ได้เปลี่ยนสภาวะอนาธิปไตยในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐมาเป็นความสัมพันธ์ในสภาวะใหม่ ที่มีหลักการเสรีนิยมเป็นรากฐาน  Deudney เรียกว่าสภาวะแบบใหม่นี้ว่า negarchy ซึ่งไม่ใช่ทั้ง anarchy ของระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่แต่ละรัฐยึดถืออำนาจอธิปไตยของตน และมิได้จัดตัวอยู่ภายใต้โครงสร้างลำดับชั้นลดหลั่นกันในสายบังคับบัญชาจากศูนย์กลางตามลักษณะ hierarchy ของรัฐเดี่ยว ในสภาวะของ negarchy แต่ละรัฐยังคงมีสิทธิอำนาจในการจัดการปกครองตนเองแต่วางข้อกำหนดที่ผูกพันกำกับกันและกันไว้ในความสัมพันธ์ระหว่างกันและระหว่างมลรัฐกับรัฐบาลสหพันธ์ การจัดการปกครองในลักษณะนี้ที่พารัฐอเมริกันเลี่ยงออกมาจากสภาวะอนาธิปไตยมาจัดความสัมพันธ์กันเป็น union บนผืนทวีปกว้างใหญ่ Ostrom เรียกว่า compound republic  แต่ในขณะเดียวกัน รัฐที่มารวมตัวกันเป็น union ก็ยังต้องหาทางตอบโจทย์สงครามในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับโลกเก่าในอีกฟากของมหาสมุทรทั้ง 2 ด้านที่ยังไม่หมดไป ทำให้ต้องเตรียมพร้อมขีดความสามารถของ union ในการป้องกันตัวเองจากกำลังความรุนแรงที่รัฐทั้งหลายในโลกเก่าจัดตั้งไว้สำหรับการทำสงคราม (ดู Federalist 41 เป็นตัวอย่างในการหาทางตอบโจทย์ในเรื่องนี้)  

สรุปได้ว่า สหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบระบบความมั่นคงของมหาชนรัฐที่มารวมตัวกันเป็นสหพันธ์ในโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยังเป็นอนาธิปไตย ในขณะที่ The Federalist Papers คือที่มาอันสำคัญของความคิดในการออกแบบจัดการปกครองดังกล่าว งานของ Ostrom ให้อรรถาธิบายวิธีคิดที่อยู่ใน The Federalist Papers สำหรับทำความเข้าใจ republican security theory, the Philadelphian system ที่เป็นทางเลือกจาก the Westphalian system และ negarchy ในงานทฤษฎีของ Daniel Deudney ได้เป็นอย่างดี [4]

อีกประการหนึ่ง ชื่อหนังสือของ Deudney ที่ว่า Bounding Power เป็นชื่อหลายนัยที่มีความหมายสำคัญมาก ไม่แต่เฉพาะการจัดอำนาจการปกครองภายใน แต่ยังรวมถึงการจัดระเบียบระหว่างประเทศเพื่อควบคุมอำนาจที่เป็นใหญ่ในโลกความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งนำมาสู่ความสนใจของผมต่องานของ Vincent Ostrom ว่ายังมาจากข้อสงสัยที่มีตลอดมาทั้งในฐานะคนสอนคนเรียนต่อความคิดของฝ่ายเสรีนิยมในทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นั่นคือ การออกแบบการจัดระเบียบการเมืองเพื่อจำกัดอำนาจการปกครองและรักษา-ป้องกันเสรีภาพของประชาชน ที่เป็นหลักการเสรีนิยมข้อใหญ่ในความคิดการเมืองอเมริกันนั้น พอมาถึงงานของฝ่ายเสรีนิยมกับระเบียบระหว่างประเทศแล้ว ไม่ค่อยเห็นใครในฝ่ายเสรีนิยมอเมริกันเสนอปัญหาและแนวทางสำหรับการออกแบบสถาบันเพื่อจำกัดการใช้อำนาจเป็นใหญ่ของสหรัฐฯ ในการเมืองระหว่างประเทศสักเท่าใด นอกจากเสนอที่เห็นตามที่เป็นจริงว่าในเรื่องระเบียบระหว่างประเทศนั้น สหรัฐฯ จัดวางกฎไว้อย่างเข้มแข็งที่จะเรียกร้องกดดันคนอื่นให้ปฏิบัติตามกฎ และเดินตามหลักพหุภาคีนิยม แต่ยกเว้นตนเอง ที่ดำเนินการแบบเอกภาคีนิยมอยู่เสมอ หรือประกาศภาวะยกเว้นตัวเองจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กติกาและระเบียบนั้นได้เสมอ ใครอยากทราบว่าคนที่พบกับอำนาจของสหรัฐฯ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสภาวะยกเว้นในนามของสหรัฐฯ แล้วเป็นเช่นไร ก็ตามหาจากคนที่เคยผ่านที่คุมขังที่กวนตานาโมดูเถิด  

ระเบียบที่มีประเทศเจ้ามหาอำนาจหนึ่งใช้อำนาจได้ โดยไม่มีกลไกทางกฎหมายระหว่างประเทศมาเหนี่ยวรั้งอย่างได้ผล และประเทศนั้นก็ไม่ยอมผูกพันตัวเองในการรับกฎและกลไกอะไรภายนอกมาจำกัดการใช้อำนาจอธิปไตย นอกจากการตัดสินใจทำและเปลี่ยนสิ่งที่ทำไปแล้วด้วยเหตุและเหตุผลภายในของตนเอง อย่างนี้จะเป็นระเบียบระหว่างประเทศตามหลักเสรีนิยมได้แค่ไหน การหาทางถ่วงดุลผลประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งกับผลประโยชน์ของฝ่ายอื่นๆ ตามที่คิสซินเจอร์เสนอไว้เสียอีก ที่ผมเห็นว่ายังจะเข้ากับหลักการเสรีนิยมได้มากกว่า แต่พวกเสรีนิยมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมองคิสซินเจอร์เป็น realist และเขาเองก็คงพอใจจะเป็นเช่นนั้น  ผมจึงเห็นว่าน่ารู้ให้ชัดขึ้นเกี่ยวกับความคิดเรื่องการจัดระเบียบการเมืองที่อยู่ในความคิดการเมืองอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ส่งผลต่อการออกแบบรัฐธรรมนูญสำหรับ we, the people ที่สร้าง union ระหว่างมลรัฐทั้งหลายซึ่งเคยแยกกันอยู่ก่อนการปฏิวัติอเมริกัน ซึ่งงานของ Vincent Ostrom ช่วยให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ดีมาก ทั้งยังนำไปตั้งคำถามเปิดประเด็นกับฝ่ายเสรีนิยมในวิชาการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้หลายเรื่อง

เรื่องจากงานของ Ostrom ที่นำมาบันทึกในตอนนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับฐานคิดทางทฤษฎี ซึ่งในทางสังคมศาสตร์มีข้อถกเถียงกันอยู่มาก ว่าจะมองโลกสังคม หรือเศรษฐกิจ หรือความสัมพันธ์ในการเมืองระหว่างประเทศ ที่ตัดส่วนออกมาศึกษาเป็นการเฉพาะนั้น ว่ามีอะไรเป็นองค์ประกอบพื้นฐานอยู่ในนั้น บางทีก็เรียกปัญหานี้อย่างโก้หร่านว่าเป็นปัญหาในทางภววิทยาของทฤษฎี แต่บันทึกนี้จะไม่เลี้ยวเข้าไปที่เรื่องยากนั่น จะเก็บเรื่องที่เข้าใจง่ายกว่านั้นมาเขียน คือเรื่องฐานคิดหรือ basic assumptions ที่ทฤษฎีหนึ่งๆ ตั้งข้ออนุมานขึ้นมาในเบื้องต้นเกี่ยวกับโลกทางสังคมส่วนที่ต้องการศึกษา และหน่วยพื้นฐานที่สัมพันธ์กันอยู่ในโลกทางสังคมส่วนนั้น ว่าในทฤษฎีนั้นจะถืออย่างไร และเมื่อถืออย่างนั้นแล้ว จะจัดลักษณะของมันออกมาพิจารณาอย่างไร เพื่อที่จะนำไปสร้างข้อเสนอและคำอธิบายทางทฤษฎีต่อไป

เราทราบว่าฝ่ายทฤษฎีเสรีนิยมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถือว่าในการสร้างคำอธิบายสำหรับโลกการเมือง ถ้าหากจะเดินตามวิธีคิดแบบเสรีนิยม พึงตั้งต้นคิดที่ individuals ว่าเป็นหน่วยพื้นฐาน ในขณะที่นักทฤษฎีฝ่าย realism อย่าง Robert Gilpin ถือว่าการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องตั้งต้นคิดที่ social groups ที่เป็น conflict groups และ conflict groups ที่สำคัญที่สุดก็คือ รัฐ นี่เอง เพราะรัฐจัดตั้งขึ้นมาบนหลักของการผูกขาดการครอบครองและใช้กำลังที่มีความชอบธรรมไว้ (แน่นอนว่ามิใช่ว่าการใช้กำลังของรัฐจะชอบธรรมเสมอ แต่คนอื่นที่ใช้กำลังโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ที่รัฐกำหนดให้ใช้ได้ จะเจอปัญหาการขาดความชอบธรรมตามกฎหมายหลายอย่างแน่นอน)

เมื่อต้องมารับหน้าที่สอนทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้แก่นิสิตแรกเรียน ผมก็อ่านรับทราบไว้ และถ่ายทอดให้นิสิตเข้าใจตามนั้น แต่ความชอบใจเอนเอียงมาทางการมองพลวัตของการเมืองระหว่างประเทศจาก conflict groups มากกว่าที่จะใช้ individuals แบบ abstract มาเป็นฐานคิดอย่างที่ทฤษฎีเสรีนิยมใน IR เสนอ เพราะคิดว่าการไม่บรรจุลักษณะอะไรไว้ใน individuals นอกจากการคิดใช้เหตุผลแสวงหาทางเลือกเพื่อให้ได้ตาม preferences ของตัวเองแบบ rational actors นั้น ดูแล้วไม่ใช่มนุษย์มนาที่ผมเป็นและที่ผมรู้จักสักเท่าใด ดูจะเป็น AI เจ้าแห่งการคำนวณประมวลผลได้ยอดเยี่ยมมากกว่า หรือเป็นมนุษย์เทวดาที่ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาจัดการปกครองให้ เพราะแต่ละคนใช้เหตุผลปกครองตนเองในส่วนของตนได้ทุกคนไป ถ้ามีใครเขียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในโลกของเทวดาหรือของ AI – Robots ออกมาให้อ่านก็คงสนุกไม่น้อย แต่เมื่อมนุษย์ปัจเจกยังเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ AI พอผมได้ย้อนมาอ่าน The Federalist Papers ภายใต้การแนะนำกำกับของ Vincent Ostrom ผมก็ได้ข้อสรุปที่เห็นธรรมชาติของมนุษย์ปัจเจกอย่างประจักษ์แจ่มแจ้งและสมจริงยิ่งกว่าที่พบในงานที่อธิบายความคิดเสรีนิยมในทฤษฎีการเมืองระหว่างประเทศมากนัก [5]

Ostrom อธิบายว่าแฮมิลตันและเมดิสันไม่เห็นด้วยที่จะมองการเมืองจากฐานของ corporate actors หรือการจัดตัวเป็นกลุ่มก้อน collective entities ไม่ว่าจะในแบบไหนก็ตาม พวกเขาสนับสนุนการใช้ปัจเจกบุคคลเป็นหน่วยพื้นฐานในการพิจารณาการเมือง และเป็นฐานคิดสำหรับกำหนดเป้าหมายในระเบียบการเมืองที่พวกเขาช่วยกันคิดออกแบบมากกว่า พออ่านพบเข้าอย่างนี้ ผมจึงสนใจว่า คนเป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติอย่างเมดิสันและแฮมิลตัน มองปัจเจกบุคคลและปัจเจกภาพด้วยรูป-นามวิธีคิดแบบไหน คำถามข้อนี้ตอบสั้นๆ ได้ว่าในการออกแบบระเบียบการเมือง พวกเขามองที่ข้อจำกัดที่มาจากธรรมชาติของมนุษย์ปัจเจกเป็นจุดตั้งต้น Ostrom (หน้า 27-47) ได้จัดให้เราเข้าใจลักษณะของมนุษย์ปัจเจกที่อยู่ในฐานคิดของแฮมิลตันและเมดิสัน ใน The Federalist Papers ดังนี้

1. ปัจเจกภาพในฐานคิดของผู้วางรากฐานรัฐธรรมนูญอเมริกันมีได้มีแต่ด้านเหตุผล แต่ยังมีด้านที่เป็นอารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดแบบต่างๆ ทั้งที่เร่าร้อนและเยือกเย็น แฮมิลตันเสนอข้อสังเกตพฤติกรรมมนุษย์ปัจเจกใน Federalist 15 ว่า “… the passions of men will not conform to the dictates of reason and justice, without constraint.” (par. 12; Ostrom 2008, 31) การจะเข้าใจการใช้เหตุผลในพฤติกรรมของมนุษย์จะไม่มีทางสมบูรณ์ไปได้ ถ้าหากไม่นำอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดที่อยู่พ้นจากเหตุผลเข้ามาพิจารณาร่วมด้วย ความจริงข้อนี้ไม่เฉพาะแต่ฐานคิดของเสรีนิยมเท่านั้น แต่ยังเป็นจริงและพึงนำมาใช้เป็นฐานคิดสำหรับทฤษฎีฝ่ายอื่นด้วย นัยสำคัญของฐานคิดข้อนี้ต่อการพัฒนาคำอธิบายทางทฤษฎีมาอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคม พาเราติดตามการทำงานของกลไกก่อผลหลากหลายด้าน ที่ทำงานกับพฤติกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนที่เป็นกลไกในทางจิตวิทยา ทั้งส่วนที่ทำงานสัมพันธ์การรับรู้กลั่นกรองข้อมูลและวินิจฉัยตัดสิน และในส่วนที่ทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกที่ส่งผลต่อจินตนาการความคิดและการแสดงออกทางพฤติกรรม เช่น ความกลัว ความโกรธ ความตื่นตระหนก ความประหลาดใจ ความหวัง ความทรงจำรำลึกถึง ความทะเยอทะยานใฝ่ฝัน และความอิจฉา เป็นต้น

2. แฮมิลตันตั้งไว้ในสมมติฐานว่า ในความสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกชน พวกเขาจะเผชิญกับสถานการณ์ที่มีทรัพยากรไม่พอแก่ความต้องการ และสิ่งดีอันเป็นที่ปรารถนาก็มีไม่พอแก่ความต้องการ หรือไม่อาจที่ใครจะครอบครองไว้ได้หมดทุกอย่าง ในสภาวะขาดแคลนที่ไม่อาจมีทุกอย่างที่ต้องการทำให้การตัดสินใจเลือกว่าจะทำอะไร ยังไม่ทำอะไร หรืออะไรที่ไม่น่าทำ เป็นเรื่องจำเป็น โดยนัยนี้ การจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องการจะได้ และการกำหนดเป้าหมายที่รักษาความพอเหมาะแก่การบรรลุถึงได้กับเป้าหมายสูงสุดที่พึงเป็นเป็นส่วนที่ต้องเกิดขึ้นก่อน การใช้เหตุผลในการตัดสินใจเลือกจึงจะทำงานของมันต่อไปได้

3. ทั้งแฮมิลตันและเมดิสันเห็นตรงกันว่า คุณสมบัติตามธรรมชาติของปัจเจกบุคคลคือความรักตนเองและการคิดถึงประโยชน์ตน ที่ตนเองจะได้รับจากการลงมือกระทำการต่างๆ และพร้อมกันนั้นอย่างเลี่ยงไม่พ้น จุดนี้เป็นจุดที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและการแบ่งพรรคแบ่งพวกที่จะมีตามมา

แต่เมื่อยอมรับว่ามนุษย์เป็นแบบนี้ การออกแบบสถาบันทางการเมืองที่เข้าใจธรรมชาติข้อนี้ ก็จะต้องหาทางให้ธรรมชาติของมนุษย์ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายทัดทานกันและกัน เช่นที่เมดิสันเสนอไว้ว่า “Ambition must be made to counteract ambition.” (Federalist 51, par. 3) บันทึกถึงตรงนี้แล้วก็คิดถึงคนที่กำลังมองหาวิธีดำเนินยุทธศาสตร์ และต้องคุยกับฝ่ายอเมริกัน และยุโรปในเรื่องระเบียบอินโด-แปซิฟิก น่าลองนำหลักคิดจาก Federalist 51 ของเมดิสันข้อนี้ไปหารือการออกแบบระเบียบระหว่างประเทศกับประเทศฝ่ายตะวันตกดูในเวลาที่เขาเสนอ rules-based international order ว่าเขาจะเห็นนัยสำคัญในมติของเมดิสันข้อนี้อย่างไร

4. เมดิสันตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการเลือกและทางเลือกของปัจเจกใน Federalist 41, par 3 ว่า “Choice must always be made, if not of the lesser evil, at least of the GREATER, not the PERFECT, good …” อีกนัยหนึ่งคือ มนุษย์ในโลกการเมืองไม่มีทางพบกับสถานการณ์การเลือกที่ต้องตัดสินใจเลือกในภาวะอุดมคติ เพราะมนุษย์มีข้อบกพร่องในตัวเองและเพราะข้อจำกัดในสถานการณ์ที่จะมีอยู่เสมอไป

Ostrom เขียนขยายตีความให้เข้าใจว่า ข้อจำกัดในตัวมนุษย์แต่ละคนและความไม่กระจ่างในการทำงานของเหตุปัจจัยในสถานการณ์ที่จะเป็นต่อไปจากการตัดสินใจของแต่ละฝ่าย รั้งพวกเขาไว้ไม่ให้เห็นว่าทางเลือกไหนคือ lesser evil หรือแยกระหว่าง greater กับ lesser goods ได้ไม่ถนัด ยิ่งกว่านั้น ยังอาจไม่เข้าใจว่าอะไรคือหรือควรเป็นความพอใจและความสุขที่แท้จริงของตนเองอันควรมุ่งแสวงหา และเป็นไปได้มากว่าประโยชน์เฉพาะหน้ากับประโยชน์ระยะยาวอาจแตกต่างกันได้มาก แรงกระตุ้นของผลประโยชน์เฉพาะหน้า หรือการมุ่งมองแต่เฉพาะที่ผลลัพธ์จากเหตุที่เป็นมาแล้ว มากกว่าที่จะให้ความสำคัญแก่การสร้างผลได้ร่วมกันที่จะเกิดขึ้นได้จากความร่วมมือกันต่อไป อาจมีฤทธิ์ผลักดันรุนแรงจนยากจะห้ามใจคนตัดสินใจไม่ให้เลือกอย่างแรก เพื่อที่จะมาพบทีหลังว่า การเลือกอย่างแรก ก็ทำให้ไม่อาจได้อย่างหลังมา

จากการมองธรรมชาติส่วนปัจเจกของมนุษย์แบบนี้ แฮมิลตันจึงมองหาทางออกแบบกระบวนการและสถาบันที่จะเอื้อให้การคิดถึงและการตัดสินใจบนฐานของประโยชน์ระยะยาวมากกว่าเฉพาะหน้า บนฐานของผลได้ร่วมกันในอนาคตมากกว่าการสืบต่อความขัดแย้งจากปัจจัยในอดีต เป็นไปได้มากขึ้น คำถามสำหรับการออกแบบกลไกเชิงสถาบันมารองรับระเบียบระหว่างประเทศแบบเสรีนิยมคือ จะมีกลไกอย่างไรบ้างที่จะช่วยวางกระบวนการทางการทูตที่โน้มให้มหาอำนาจที่แข่งขันขัดแย้งกัน และให้ความสำคัญแก่ความได้เปรียบเสียเปรียบเฉพาะหน้าของตน หันมาคำนึงถึงความร่วมมือแก้ไขปัญหาที่เป็นผลประโยชน์ของส่วนรวมร่วมกัน และผลกระทบในระยะยาวที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ระยะสั้น

แต่การออกแบบเช่นนั้น ในการเมืองภายในยังต้องคิดถึงปัญหาการแบ่งพรรคแบ่งพวกตามผลประโยชน์หรือความรู้สึกนึกคิด (factions) ฉันใด การเมืองระหว่างประเทศก็มีปัญหายากนี้เช่นกัน ทำให้การพิจารณาว่าอะไรคือผลดี อะไรคือประโยชน์แก่ส่วนรวม อะไรคือผลประโยชน์ระยะยาว อะไรคือการแบ่งปันหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างเป็นธรรมที่แต่ละฝ่ายจะรับได้ ก็พลอยยากตามไปด้วย เพราะในการเมืองภายในยังมีทางที่จะอ้างให้ทุกคนคิดถึงความเป็นสมาชิกชุมชนการเมืองเดียวกัน แต่ factions ในการเมืองระหว่างประเทศ ที่มารวมตัวและร่วมลงมือกระทำการด้วยกันก็โดยแรงผลักดันจาก “some common impulse of passion, or of interest” (Federalist 10, par 2) มักลงเอยด้วยการสร้างผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนในประเทศอื่นหรือขัดขวางการบรรลุถึงสิ่งที่เป็นผลประโยชน์โดยรวมร่วมกันของมนุษยชาติ โดยที่ประชาคมโลกยังไม่พลังดึงใจคนให้คิดถึง ‘โลกทั้งผองพี่น้องกัน’ ได้

5. ข้อจำกัดของมนุษย์ปัจเจกประการสุดท้ายตามที่ Ostrom สกัดจากความคิดที่อยู่ใน The Federalist Papers แต่น่าสนใจไม่แพ้ข้ออื่น คือข้อจำกัดที่มีอยู่ในภาษาการสื่อสารของมนุษย์ เมดิสันกล่าวว่าไม่มีภาษาไหนที่จะมีคำมีวลีมากมายมั่งคั่งมากจนกระทั่งสามารถถ่ายทอดความคิดสลับซับซ้อนทุกความคิดที่มนุษย์คิดกันได้ทั้งหมด หรือมีพิกัดความหมายของคำที่ถูกต้องแม่นตรงจนทำให้ทุกๆ ความคิดที่ได้รับการถ่ายทอดด้วยคำในภาษานั้นสามารถทำออกมาได้ตรงนัยของมัน โดยไม่ซ้อนความหมายอื่นเข้ามาด้วยจนความคิดเดิมมีความหมายขยับเคลื่อนไป แม้แต่พระเจ้า ถ้าหากพระองค์ต้องสื่อสารความจริงด้วยภาษาของมนุษย์ หรือบรรจุคำสั่งสอนของพระองค์ผ่านคำและวลีในภาษาหนึ่ง ความสว่างกระจ่างแจ้งในความจริงนั้นก็จะต้องหมองลงไปเพราะความไม่พอที่ของทุกภาษามนุษย์ที่มีข้อจำกัดในการถ่ายทอดความหมายที่เข้าถึงความดีงามและความจริงของพระองค์ได้ถูกต้องแม่นตรง (Federalist 37)  

6. ความบกพร่องที่มนุษย์ปัจเจกมีติดตัวมาใน human condition นี้ทำให้เป็นไปได้ว่า ผู้กระทำการอาจไม่รู้ถึงผลกระทบหรือผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนว่าส่งผลเสียต่อคนอื่นๆ โดยไม่ตั้งใจ หรือการกระทำดำเนินการตามเหตุผลของตน ซึ่งอาจเหมาะสมหรือสมเหตุสมผลถ้าพิจารณาในระดับปัจเจก เช่น การรวมสมัครพรรคพวกตั้งเป็นกลุ่ม เพื่อขับเคลื่อนผลประโยชน์และเพิ่มพลังการรักป้องกันผลประโยชน์ในสนามความขัดแย้ง แต่ผลโดยรวมจากการเกิด factions ในทางการเมืองมิใช่ว่าจะดีเสมอไป

เมื่อเป็นอย่างนั้นหรือถึงแม้ว่ามนุษย์ปัจเจกจะเป็นแบบนั้นก็ตาม แต่มนุษย์ปัจเจกก็ยังมีคุณสมบัติด้านดีๆนั่นคือ ความสามารถในการเรียนรู้

ความสามารถในการเรียนรู้ ทำให้มนุษย์ปัจเจกเห็น human condition โดยรวมและหาทางใช้เหตุผลเพื่อแก้ไขข้อจำกัดอันมาจากการกระทำของตัวเองหรือของ human condition ที่ต่างฝ่ายต่างเผชิญอยู่ด้วยกัน และเห็นว่าการออกแบบกลไกเชิงสถาบัน เพื่อช่วยให้มนุษย์ปัจเจกใช้เหตุผลบรรลุผลประโยชน์ตน ผลประโยชน์ส่วนรวมดีขึ้น มีทางเป็นไปได้ สามารถทำได้ และควรสนับสนุนให้เกิดขึ้นมา

จากความสามารถที่จะเรียนรู้แก้ข้อจำกัดใน human condition อันเกิดจาก fallibility ของตนเองได้ ทำให้มนุษย์ปัจเจก แม้จะไม่ใช่มนุษย์สมบูรณ์เป็นเทวดา ก็สามารถพากันและกันจัดระเบียบการเมืองที่ช่วยให้บรรลุถึงและรักษาความสัมพันธ์ที่ก่อประโยชน์แก่กันและกันได้ แต่เมื่อมนุษย์ไม่ได้สมบูรณ์แบบ จึงต้องมีกลไกการควบคุมวางไว้ในการจัดระเบียบการเมือง ทางหนึ่งคือเครื่องเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจการปกครอง และอีกทางหนึ่งคือกลไกการปรับตัวแก้ไขและเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น  Ostrom ยกข้อเขียนอันเป็นที่รู้จักกันดีจาก Federalist 51 ย่อหน้า 3 ของเมดิสัน ที่มาจากการพินิจธรรมชาติของมนุษย์ของเขา

If men were angels, no government would be necessary. If angels were to govern men, neither external nor internal controls on government would be necessary.  

ในแง่ที่มนุษย์มีสมรรถนะการเรียนรู้ และการออกแบบการจัดระเบียบทางการเมืองควรให้ความสำคัญแก่กลไกเชิงสถาบันที่ทำงานสนับสนุนการเรียนรู้ของสังคมนี้ ทำให้ผมเห็นว่าวงวิชาการ IR อเมริกันก็ทำหน้าที่แบบนี้อยู่ เรามักพบแกนของเรื่องเล่า (narratives) หรือถ้าใช้คำของ Vonnegut คือ the shapes of stories [6] ในงานการศึกษานโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ ที่ประกอบด้วย human fallibility ในการเผชิญกับปัญหาท้าทาย ซึ่งนำไปสู่ความผิดพลาดในการดำเนินนโยบาย แล้วตามมาด้วยการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่สร้างความสูญเสียแก่คนอื่นและแก่สหรัฐฯ การทำความเข้าใจนโยบายต่างประเทศอเมริกัน ตามการเล่าเรื่องแบบนี้ ดูจะทำหน้าที่ในการกล่อมเกลาให้แวดวงนโยบายของสหรัฐฯ และนานาประเทศเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะมีและรู้วิธีที่จะทำให้ดีขึ้นในคราวต่อๆ ไป ส่วนโครงเรื่องและการเล่าเรื่องแบบนี้จะพาให้เข้าถึงความเป็นจริงส่วนไหนในความสัมพันธ์ในศตวรรษที่ 20 และ 21 ที่สหรัฐฯ มีกับเยอรมนี รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี  อิหร่าน คิวบา เวียดนาม กัมพูชา ชิลี กัวเตมาลา นิการากัว ปานามา อิสราเอล อียิปต์ ปาเลสไตน์ อิรัก ลิเบีย อัฟกานิสถาน และที่อื่นๆ และจะทำให้คนที่ได้ฟังเคลิ้มคล้อยไปกับการเรียนนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ คู่กับการย้อนดูหนังจอห์น เวย์น หรือแรมโบได้สนุกเพียงใด สุดแล้วแต่ท่านจะวินิจฉัย แต่เท่ากับว่าในระเบียบระหว่างประเทศเสรีนิยมที่มีสหรัฐฯ เป็นใหญ่ กลไกเหนี่ยวรั้งและกลไกสร้างการเรียนรู้มิได้อยู่ในมือคนอื่น แต่ขึ้นอยู่กับกลไกภายในของสหรัฐฯ เอง

ถ้าหากใครมีเวลาได้ย้อนทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น ก็คงสนใจใคร่ถามต่อว่า กลไกเหล่านั้นทำงานอย่างไร และทำงานได้ดีเพียงใดในการเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจเป็นใหญ่ในโลกให้เป็นไปในทางที่ตอบสนองประโยชน์สุขของพลเมืองสหรัฐฯ และของมนุษยชาติ ทั้งส่วนที่ทำงานหน้าฉากในการเสนอเหตุผลให้การรับรองและวิจารณ์ทัดทานที่เป็นการ speaking truth to power และส่วนที่ทำงานเบื้องหลังวงในที่เป็นการเสนอเหตุผลโต้แย้งอภิปรายอยู่ในห้องประชุมเพื่อให้ได้มาซึ่งคุณภาพของการตัดสินใจและการดำเนินนโยบาย

ภาพจาก Wikiberal

ในส่วนสุดท้ายของบันทึก ผมขอกล่าวถึงข้อเสนอของ Ostrom อีกส่วนหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการอ่านทำความเข้าใจผลงานความคิดที่อยู่ใน The Federalist Papers  Ostrom เสนอว่าในการออกแบบรัฐธรรมนูญ นอกจากฐานคิดเกี่ยวกับหน่วยพื้นฐานในสังคมการเมือง ซึ่งสำหรับแฮมิลตันและเมดิสันถือว่าได้แก่ปัจเจกบุคคลแล้ว ฐานคิดเกี่ยวกับมนุษย์ปัจเจกตามที่นำเสนอมาข้างต้นยังนำผู้วางรากฐานรัฐธรรมนูญอเมริกันไปสู่สมมุติฐานหลายประการเกี่ยวกับแบบแผนพฤติกรรมในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ปัจเจกในสังคมการเมืองแบบสาธารณรัฐ สมมุติฐานเหล่านี้กระจายแทรกอยู่ในข้อเขียนฉบับต่างๆ ใน The Federalist Papers โดยมิได้มีการแยกนำเสนอให้เห็นชัดออกมาเป็นข้อๆ ก็จริง แต่จากการอ่านของ Ostrom เขาสกัดออกมาให้เห็นในรูปของข้อเสนอได้ถึง 13 ข้อด้วยกัน และชี้ว่าทั้งหมดนี้คือความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ปัจเจกในการเมืองที่ผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญอเมริกันใช้เป็นฐานคิดในการสร้างและจัดวางข้อจำกัดเหนี่ยวรั้งการใช้อำนาจทางการเมืองและจัดความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประชาชน

ข้อเสนอ 13 ข้อที่เป็นตัวตั้งโจทย์ในการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ Ostrom (หน้า 63-71) สกัดมาจาก The Federalist Papers และผมแปลแบบเก็บความมา ประกอบด้วย

1. ควรอนุมานว่าทุกๆ คนคือผู้ที่จะตัดสินได้ดีที่สุดว่าอะไรคือความต้องการและเป็นผลประโยชน์ของตน (Federalist 85, par. 5)

2. ไม่มีใครจะเป็นผู้ตัดสินในเรื่องของตนที่มีผลประโยชน์ของคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบด้วยได้อย่างพอเหมาะ (Federalist 10, par. 8)

3. ด้วยเหตุผลพอกันหรือมากยิ่งกว่า เมื่อคนรวมตัวเป็นกลุ่มขึ้นมาแล้ว ไม่ควรมีกลุ่มไหนเป็นทั้งผู้ตัดสินและเป็นคณะที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องอยู่ในเรื่องนั้นในเวลาเดียวกัน (Federalist 10, par. 8)

4. พึงเปิดทางให้ความมุ่งมาดปรารถนาหรือความทะเยอทะยานของแต่ละคนหรือของแต่ละฝ่ายได้ตอบโต้กัน (Federalist 51, par. 3)

5. พึงนำผลประโยชน์ของคนมาผูกพันไว้กับสิทธิตามรัฐธรรมนูญของพวกเขา และกำหนดให้การปฏิบัติงานตามตำแหน่งของผู้มีอำนาจหน้าที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกจำกัดไว้โดยสิทธิและผลประโยชน์ของฝ่ายอื่นๆ (Federalist 51, par. 3)

6. อำนาจหน้าที่และวิธีการดำเนินการพึงกำหนดอย่างพอเหมาะกับเป้าหมาย และวางกฎการตัดสินใจในการใช้อำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องกับภารกิจที่จะต้องปฏิบัติ และสอดคล้องเป้าหมายกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการบรรลุ (Federalist 23, par. 5)

7. ในสถาบันทางการเมืองทุกสถาบัน อำนาจที่จะบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พลเมืองจำเป็นต้องเปิดทางให้มีการใช้ดุลพินิจในการพิจารณากำหนดเป้าหมายและแนวทางดำเนินการได้ แต่ควรระลึกว่าผู้มีอำนาจหน้าที่ก็อาจใช้อำนาจดุลพินิจนั้นไปในทางที่ไม่ถูกต้องหรือใช้ไม่ถูกทางได้เช่นกัน (Federalist 41, par. 3)

8. เป้าหมายที่ต้องคงไว้เสมอคือการแบ่งและจัดตำแหน่งส่วนงานที่ต้องปฏิบัติบทบาทหน้าที่ด้านต่างๆ ในลักษณะที่ฝ่ายหนึ่งตรวจสอบการทำงานของอีกฝ่ายหนึ่งได้ ในทางที่ทำให้ผลประโยชน์ส่วนบุคคลเป็นผู้เฝ้าระวังที่เข้มแข็งในการพิทักษ์รักษาสิทธิของสาธารณชน (Federalist 51, par. 4)

9. การเอาอำนาจทั้งปวงไปสั่งสมไว้ในมือเดียว ไม่ว่าของเอกบุคคล ของคณะบุคคล หรือของมหาชน ไม่ว่าจะได้รับอำนาจหน้าที่นั้นมาโดยการเป็นทายาท โดยการแต่งตั้งตัวเองหรือการแต่งตั้งกันเอง หรือได้รับมาโดยผ่านการเลือกตั้ง ก็ล้วนแต่จะนำไปสู่ทรราชย์ (Federalist 47, par. 2)

10. พวกและการแบ่งพวกในทางการเมืองได้แก่การที่พลเมืองมารวมตัวกันดำเนินการเคลื่อนไหวแบ่งเป็นฝักฝ่ายโดยผลประโยชน์บางด้านที่สมาชิกในแต่ละฝ่ายมีร่วมกัน และเป็นผลเสียหรือกระทบต่อสิทธิของคนอื่น หรือกระทบต่อผลประโยชน์โดยรวมของประชาคม (Federalist 10, par. 2)

11. ความสัมพันธ์ระหว่างเสรีภาพกับพวกก็เหมือนความสัมพันธ์ระหว่างลมกับไฟ (Federalist 10, par. 5)

12. ถ้าพวกๆ หนึ่งมีจำนวนน้อยกว่าเสียงข้างมาก หลักและกฎเกณฑ์การตัดสินที่อิงหลักการแบบสาธารณรัฐก็เข้ามาช่วยแก้ไขได้ การตัดสินใจด้วยการลงคะแนนเสียงตามปกติที่ยึดหลักเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์จะทำให้ข้อเสนอของพวกที่ไม่เป็นผลดีต่อผลประโยชน์สาธารณะต้องตกไป (Federalist 10, par. 11)

13. แต่ถ้าเสียงข้างมากถูกนำไปรวมอยู่กับพวกใดพวกหนึ่ง รูปแบบรัฐบาลที่มาจากประชาชนจะเปิดทางให้ผลประโยชน์สาธารณะและสิทธิของพลเมืองอื่นๆ ถูกสละไปให้แก่ความปรารถนาและผลประโยชน์ของพวกที่มีอำนาจในฝ่ายเสียงข้างมาก (Federalist 10, par. 11)

ผู้วางรากฐานทางความคิดในการออกแบบระเบียบการเมืองอเมริกันคิดจากการพิจารณาธรรมชาติของมนุษย์ที่มีข้อจำกัดหลายด้าน และอนุมานผลที่ตามมาจากข้อจำกัดเหล่านั้นว่าจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาในโลกการเมือง และต่อปัญหาต่างๆ รวมทั้ง ‘โรคร้าย’ ที่จะเกิดขึ้นได้กับการจัดการปกครองตนเองที่จะสร้างขึ้นมา ทั้งนี้เพื่อหาทางออกแบบกลไกเชิงสถาบันมาป้องกันผลเสียและแก้ไขปัญหาด้วยความเชื่อมั่นว่า “men are really capable of establishing good government from reflection and choice.”

จากความเข้าใจเกี่ยวกับ The Federalist ที่ได้จาก Ostrom ทำให้ผมคิดต่อไปว่า หลายประเทศมีความพยายามจะออกแบบรัฐธรรมนูญมาใช้จัดการปกครอง บางประเทศก็ทำแล้วก็เปลี่ยนแล้วก็ทำใหม่มาหลายรอบ ก็ยังไม่น่าพอใจสักที ชะรอยว่าพวกเขาอาจจะมิได้เริ่มด้วยฐานคิดที่ถือธรรมชาติของมนุษย์ปัจเจกเป็นจุดตั้งต้น แต่เป็นการคิดจากการที่จะหาทางเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่แทนประชาชน เพื่อป้องกันตัวเองและโต้กับพวกที่เป็นฝ่ายตรงข้ามในทางการเมือง การเขียนรัฐธรรมนูญจึงเป็นการหาทางเขียนบทเฉพาะกาลมากีดกันพวกอื่น และอ้างอำนาจจากประชาชนตั้งพวกเข้ามาสนับสนุนการใช้อำนาจของคณะตน โดยไม่สนับสนุนหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจและการให้อำนาจคานกันระหว่าง the one, the few และ the many ของเสรีนิยมให้เป็นบรรทัดฐานในการจัดการปกครองมาแต่แรก จึงกลายเป็นขนบสืบมา ทำให้พวกและการแบ่งพรรคแบ่งพวกที่ผู้วางรากฐานรัฐธรรมนูญอเมริกันถือว่าเป็น republican disease ไม่เพียงแต่จะกลายเป็นลักษณะถาวรในระบบการเมือง แต่ยังเป็นบรรทัดฐานในการออกแบบรัฐธรรมนูญเรื่อยมา  

References
1 ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ The Story of Vincent and Elinor Ostrom | On the Commons
2 ค้นหนังสือ Nuts and Bolts ได้ที่นี่
3 นับโดยเคร่งครัด ระบบจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอเมริกันแบบฟิลาเดลเฟียอยู่มาจนถึงสงครามกลางเมือง (ค.ศ. 1861) การขอแยกตัวของรัฐฝ่ายใต้ออกจาก union สะท้อนปัญหาในการจัดความสัมพันธ์ที่ต้องใช้สงครามมาเป็นเครื่องตัดสิน แต่เรื่องนี้อยู่นอกขอบเขตของบันทึก
4 ดูบทปริทัศน์หนังสือเล่มสำคัญที่เสนอ republican security theory ของ Daniel Deudney โดย Takashi Inoguchi ได้ที่นี่ Bounding Power: Republican Security Theory from the Polis to the Global Village – by Daniel H. Deudney (columbia.edu)
5 ในงานของ Andrew Moravcsik แสดงฐานคิดตั้งต้นของเสรีนิยมในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกี่ยวกับตัวแสดงที่เป็นปัจเจกบุคคล (1997, 516) ว่า “ตัวแสดงพื้นฐานในการเมืองระหว่างประเทศคือปัจเจกบุคคลและเอกชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งพิจารณาโดยเฉลี่ยแล้วเป็นคนที่มีเหตุผล หลีกเลี่ยงการสุ่มเสี่ยง พวกเขาจะรวมตัวจัดตั้งการแลกเปลี่ยนและการกระทำการร่วมกันเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายมีอยู่ต่างๆ กัน ภายใต้ข้อจำกัดของความขาดแคลนทางวัตถุ ความขัดแย้งในคุณค่าที่ยึดถือ และความแตกต่างในอิทธิพลทางสังคม”  ดูบทความของ Moravcsik ได้ที่นี่ Taking Preferences Seriously: A Liberal Theory of International Politics และอาจเทียบข้อเสนอนี้กับ rational actor และ ‘rigorous model of action’ ใน Graham T. Allison and Philip Zelikow, Essence of Decision, 2nd edition (New York: Longman, 1999).
6 ดูเพิ่มเติมได้ที่นี่ Kurt Vonnegut on 8 ‘shapes’ of stories – Big Think และ/หรือ Kurt Vonnegut on the Shapes of Stories – Bing video

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save