fbpx
อ่านวิธี think against ของจิตร ภูมิศักดิ์ จาก ‘ศัพท์สันนิษฐาน’

อ่านวิธี think against ของจิตร ภูมิศักดิ์ จาก ‘ศัพท์สันนิษฐาน’

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

1

การสอนอ่านคือความท้าทายอย่างหนึ่งของคนสอนวิชาพื้นฐานให้แก่นิสิตนักศึกษา ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้คนเรียนอ่านเป็น จับประเด็นและเห็นนัยความหมายจากเรื่องที่อ่านได้ หาพิกัดความคิดของตัวเองต่อสิ่งที่อ่านพบ และเขียนถ่ายทอดความคิดเหล่านั้นออกมาเป็นงานวิชาการที่ดีได้

ถ้าท่านฟังแล้วเหมือนว่าเป็นโจทย์ง่ายๆ ก็ใช่เลยครับ ดูเหมือนว่าง่ายจริงๆ และเรื่องที่เหมือนว่าจะง่ายนี้ยังสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของการเรียนในหลักสูตรสายสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ได้แม่นยำมากด้วย แค่ดูความสามารถในการตั้งคำถาม การเสนอคำตอบและคำอธิบายสนับสนุน วิธีศึกษาและใช้เหตุผลใช้ข้อมูลในงานเขียนทางวิชาการของคนที่เรียนจบหลักสูตรนั้นมาก็พอ

ส่วนสำคัญที่จะช่วยให้คนเรียนอ่านเป็น รู้จักตั้งประเด็นต่อสิ่งที่อ่าน และนำประเด็นที่ได้มาสร้างความรู้ต่อไปได้อีกนั้น มคอ. ท่านว่าต้องอาศัยการคิดเป็น แม้ว่าอะไรคือการคิดเป็น มคอ. ท่านไม่ได้บอกไว้ อาจเพราะเป็นเรื่องที่เหมือนจะรู้ๆ กันอยู่แล้วก็เป็นได้ บทความเดือนนี้ผมจึงขออนุญาตท่านผู้อ่านนำเรื่องที่เหมือนจะรู้ๆ กันอยู่แล้วนี้มาเสนอ เพื่อประโยชน์แก่เยาวชนผู้รักเรียนของเรา

Stanley Hoffmann ผู้เป็นอาจารย์ของนักทฤษฎีและนักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระดับก้องโลกหลายคน ให้คำแนะนำแก่ผู้เริ่มเรียนสาขานี้ไว้ในอัตชีวประวัติทางวิชาการฉบับย่อของเขา คำแนะนำข้อหนึ่งที่บอกถึงวิธีคิดของตัวเขาเองด้วย คือการ think against หรือให้หัดคิดแย้งต่อสิ่งที่เรารับฟังจากคนอื่น ต่อแนวโน้มทางความคิดของเราเอง หรือต่อสิ่งที่เป็นที่ยอมรับกันในขณะนั้นอยู่เนืองๆ ว่าสิ่งที่รับว่าใช่ว่าเป็นว่าคือแบบนั้น มันมีความเป็นไปได้อื่นๆ อีกไหมที่จะไม่ใช่ไม่เป็นแบบนั้น และจริงๆ แล้วยังเป็นแบบอื่นๆ ได้อีก รวมทั้งใช้ความคิดต่างกระแสกับที่เรายึดถืออยู่มาช่วยทำให้เรามองเห็นข้อจำกัดที่มีอยู่ในความคิดของเราเอง [1]

การอ่านโดยตั้งหลักคิดไว้ในโหมด think against แบบที่ว่ามานี้จะช่วยให้เราอ่านตัวบทอย่างตื่นตัวมากขึ้น สามารถสำรวจตรวจสอบได้ทั้งข้อเสนอที่มีอยู่ในตัวบทที่อ่านที่ฟัง และความคิดความเห็นที่ตัวเราเองมีอยู่ก่อน และที่จะคล้อยตามหรือเห็นต่างจากที่คนเขียนคนพูดเขาเสนอ หรือที่เราเคยคิดเคยเชื่อ

การ think against จึงให้ผล 2 ทาง ทางหนึ่งคือเปิดโอกาสให้เราเห็นว่าเราเองก็อาจจะผิดได้ และอีกทางหนึ่งคือทำให้เราเห็นว่าข้อเสนอที่เราอ่านพบนั้น ยังมีจุดให้โต้แย้งตรงไหนได้บ้าง หรือในระดับที่กว้างกว่านั้นอีก คือเห็นข้อจำกัดในกำแพงและเพดานที่วิถีอันเป็นที่ยอมรับกันอยู่ในสังคมกั้นไว้ และเห็นทางที่มันจะก่อให้เกิดความเกินเลยหรืออาการล้นเกินขึ้นมาได้

ผลในทางปฏิบัติเบื้องต้นจากการอ่าน-การคิดทั้ง 2 ทางนี้ เมื่อได้อ่านได้คิดมากขึ้นแล้ว จะช่วยผู้เริ่มเรียนได้มากในตอนที่ต้องเขียนรายงานวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนเสนอ argument หรือประเด็นวิเคราะห์ที่จะนำมาแย้งและยืนยันในการตอบโจทย์ที่เป็นคำถามหรือปัญหาหลักของรายงานที่ทำ

2

เพื่อแสดงวิธีคิดแบบ think against ที่จะช่วยฝึกการอ่านของเยาวชน ขอใช้งานเขียนของจิตร ภูมิศักดิ์ มาเป็นตัวอย่าง

จากบันทึกส่วนตัวของเขาที่เหลืออยู่ ทำให้เราทราบว่าจิตรเป็นคนที่อ่านมากและฝึกคิดแย้งต่อความรู้ในสิ่งที่เขาอ่านพบมาตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน จนการคิดแย้งกลายเป็นธรรมชาติในวิธีการหาความรู้ของเขาไป คนที่เห็นบันทึกเหล่านี้ของจิตรและคนที่รู้จักกับจิตรโดยตรงจะไม่แปลกใจว่าเพราะเหตุใดงานวิชาการของจิตร ทั้งเมื่อตอนที่เขายังเป็นเพียงนิสิตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และต่อมาภายหลังจากนั้น จึงเป็นงานที่ช่วยขยายพรมแดนความรู้ของสาขาวิชาที่เขาสนใจออกไปได้อีกมาก [2]

งานของจิตรที่เราจะพิจารณากันได้แก่บทความ “ศัพท์สันนิษฐาน: ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว” ในวารสาร ทรรศนะ อันเกี่ยวกับการอภิปรายความหมายของคำๆ หนึ่งในโคลงวรรคหนึ่งที่อยู่ใน ลิลิตพระลอ คือคำว่า ปลาผอก [3] ที่ยักษ์ใหญ่ผู้เป็นตำนานในโลกปัญญาชนไทย ขณะที่ยังเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เสนอความเห็นแย้งพระวรเวทย์พิสิฐ ผู้เป็นปราชญ์ใหญ่ทางภาษาไทยในเวลานั้น และเป็นอาจารย์ของจิตรเองด้วย [4]

บทความสั้นๆ ของจิตรบทนี้ นอกจากจะแสดงให้ผู้เริ่มเรียนเห็นตัวอย่างวิธี think against สำหรับเขียนรายงานวิชาการแล้ว ยังมีเรื่องราวมากกว่านั้น ที่สะท้อนให้เราเห็นด้วยว่า เงื่อนไขสนับสนุนการ think against นั้น นอกจากการหมั่นฝึกหัดในส่วนตัวของแต่ละคนแล้ว ยังต้องการองค์ประกอบภายนอกที่สำคัญอื่นๆ เป็นเครื่องสนับสนุนด้วย

และองค์ประกอบดังกล่าวที่จะขาดเสียมิได้ ได้แก่ ค่านิยมและวัฒนธรรมการสร้างสรรค์ความรู้ในชุมชนวิชาการนั้นเองที่ยอมรับสนับสนุนและรับฟังการ think against โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยอมรับหลักการที่เป็นรากฐานการสร้างสรรค์ความรู้ของชุมชนวิชาการ 2 ด้านที่ดูเหมือนจะขัดกัน ได้แก่ การมีขันติธรรมต่อการโต้แย้งที่มาจากความเห็นต่าง และการประเมินข้อเสนอเกี่ยวกับความรู้ใดๆ ด้วยการวิพากษ์อย่างเข้มงวด [5]

โรเบิร์ต เจ. บิกเนอร์ เคยเล่าเรื่องความขัดแย้งระหว่างพระวรเวทย์พิสิฐกับจิตร ที่มีเหตุจากบทความศัพท์สันนิษฐานไว้เแล้วตามคำขอของอาจารย์ของเขา คือวิลเลียม เก็ตนีย์ [6] เกตนีย์เข้าใจว่าความขัดแย้งไม่พอใจระหว่างพระวรเวทย์พิสิฐกับจิตรที่เกิดจากบทความศัพท์สันนิษฐานนี้เป็น “จุดเปลี่ยนผันครั้งสำคัญในชีวิตของจิตร” บิกเนอร์เล่าเรื่องนี้ด้วยสายตาของคนนอก พร้อมกับเสนอข้อสรุปของเขาที่น่าสนใจเกี่ยวกับวิธีคิดทางวรรณคดีของจิตรและพระวรเวทย์พิสิฐ ที่เอาเข้าจริงแล้ว บิกเนอร์เห็นว่าทั้งคู่มีความคิดที่ใกล้เคียงกัน และเขายังเห็นว่าการถกเถียงครั้งนั้นเป็น “ความเปล่าประโยชน์โดยสิ้นเชิง”  [7]

แต่ผมทราบเรื่องข้อวิวาทะระหว่างศิษย์-อาจารย์นี้จากข้อมูลที่อยู่ในวารสาร ทรรศนะ นั่นเอง จึงเป็นเหตุให้ตามพบงานของบิกเนอร์ในภายหลัง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี เพราะถ้าผมพบและอ่านเรื่องนี้จากบทความของบิกเนอร์ก่อน ก็อาจไม่ทันเห็นแง่มุมบางอย่างที่จะให้นำมาเล่าต่อที่ 101 นี้ได้ ต่อเมื่ออ่านบทความศัพท์สันนิษฐานที่จิตรเขียนด้วยสายตาของคนใน จึงจะเห็นอะไรขึ้นมาอีกแบบ ที่สะท้อนทัศนะวิธีคิดที่มีอยู่ในชุมชนวิชาการไทย ต่างจากที่บิกเนอร์นำมาเสนอ

และสิ่งที่จุดความสนใจของผมทีแรกต่อบทความศัพท์สันนิษฐานของจิตร มิได้เป็นเพราะตัวบทความของจิตรเองโดยตรง แต่มาจากคอลัมน์ “ทรรศนา” ของ “พร สืบเสาะ” ที่เป็นทำนอง “ลัดดาซุบซิบ” สังคมนิสิตนักศึกษาขณะนั้น (นี่ก็อาจใช้เป็นตัวอย่างวิธีอ่านแบบคนในของผมได้) ชะรอยว่าบรรณาธิการ ทรรศนะ คิดจัดทำคอลัมน์ข่าวสังคมแบบนี้ขึ้นมาเพื่อดึงดูดให้นิสิตนักศึกษาของจุฬาฯ และธรรมศาสตร์มาเป็นคนอ่านวารสารกระมัง ผลพลอยได้เลยทำให้เราทราบจากคอลัมน์นี้ใน ทรรศนะ ฉบับหลังสุดที่รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์หนึ่งไว้ว่า

“ ๒๑ ธนู ๒๔๙๓

อาจารย์ของมหาวิทยาลัยมีชื่อแห่งประเทศไทยผู้หนึ่ง เข้าห้องเลคเชอร์ช้าไป ๔๕ นาฑี ใบหน้าเคร่งเครียด ห้องนี้เป็นห้องเรียนของผู้เขียนเรื่อง “ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว” ใน “ทรรศนะ” ฉบับก่อน

ท่านผู้นี้เริ่มอธิบายคำว่า “ปลาผอก” ด้วยน้ำเสียงขุ่นๆ ทำนองว่าผู้เขียน “ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว” เข้าใจผิดและว่าลบล้างคำนิยาม “ปลาผอก” ที่อาจารย์ผู้นี้เขียนไว้ก่อนอย่างน่าเสียดาย

หมดชั่วโมง ท่านก็ออกจากห้องไป …

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า “จงโกรธทุกๆ คนที่มีความเห็นไม่เหมือนเรา” และ “เดินตามรอยเท้าผู้ใหญ่หมาไม่กัด” ” [8]

จากเรื่อง“สืบเสาะ” แบบ grapevine ข้างต้นนี้เองที่จุดความสนใจให้ผมอยากทราบขึ้นมาว่า

(1) จิตรเขียนเสนอข้อโต้แย้งอะไรไว้ในบทความ และใช้วิธีเขียนนำเสนอความคิดออกมาอย่างไรหรือ จึงทำให้เกิดเหตุข้างต้นขึ้นได้

และ

(2) ผลของบทความนี้ “ลบล้าง” คำนิยาม “ปลาผอก” ของคุณพระวรเวทย์ฯ ได้หรือไม่

3

ในห้วงเวลานั้นที่การ think against ยังมิได้เป็นขนบการสร้างสรรค์ความรู้ในวงวิชาการไทย ไม่ว่าจะในห้องเรียน หรือบนเวทีแลกเปลี่ยนทางวิชาการในปริมณฑลสาธารณะ จิตรเขียนศัพท์สันนิษฐานเสนอความเห็นแย้งความหมายของคำว่า “ปลาผอก” ของคุณพระวรเวทย์ฯ ออกมาตามมาตรฐานอันดีที่ควรจะเป็นของขนบการเขียนงานทางวิชาการ และเขียนอย่างตรงไปตรงมาด้วยความเรียบร้อยระมัดระวังที่เอ่ยแต่เฉพาะจุดที่เป็นประเด็นเห็นต่างในทางวิชาการ ไม่ได้พาดพิงถึงตัวบุคคล ไม่ได้เข้าไปก้าวล่วงในวิจารณญาณของใครถึงขั้นที่จะกลายเป็นการละเมิด

โครงสร้างของบทความศัพท์สันนิษฐานนี้จึงใช้เป็นแบบอย่างขององค์ประกอบที่ควรมีในการเขียนงานทางวิชาการแก่ผู้เริ่มเรียนได้ ว่าพึงประกอบด้วย

(1) ประเด็นปัญหาตั้งต้น ที่ผู้เขียนเตรียมเสนอข้อโต้แย้งหรือไขความกระจ่างด้วยคำอธิบายให้ความเข้าใจต่อไป

ในกรณีนี้ ได้แก่ ความหมายของคำว่า “ปลาผอก” ที่ “มีท่านนักวรรณคดีผู้อาวุโสอธิบายไว้แล้ว” ว่า คำว่า “ปลาผอก” ในวรรค “ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว” นั้น “อธิบายกันว่าเป็นชื่ออาหารชนิดหนึ่งใช้ปลาตัวเล็กๆ คลุกเคล้ากับพริกและเกลือแล้วใส่กระบอกไม้ไผ่เผาไฟ ทำนองเผาข้าวหลาม เรียกอีกอย่างว่า ‘ปลาหลาม’ ถ้าห่อใบตองหมกดินแล้วสุมไฟรอบๆ พูนดินที่หมกห่อปลาไว้ เรียกว่า ปลาหมก”

(2) เสนอจุดที่เห็นว่าคำอธิบายที่มีอยู่เดิมยังมีข้อให้โต้แย้งได้ หรือยังมีข้อที่ทำให้เกิดการตีความเป็นอีกแบบและให้ความเข้าใจที่แตกต่างกันได้

ในกรณีนี้ จิตรเสนอว่าความของโคลงในวรรคนี้ที่แต่งว่า “ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว” บ่งชัดว่า ปลาผอก เป็นของกินที่มีกลิ่นเหม็น ในยามหิวอยากอาหารขึ้นมา เมื่อไม่มีอะไรอื่นให้กิน ถึงจะเหม็นก็ต้องเคี้ยวกิน แต่ปลาหมกหรือปลาหลามในกรรมวิธีทำตามที่ “ท่านนักวรรณคดีผู้อาวุโส” อธิบายไว้ จิตรชี้ว่าไม่ได้เป็นอาหารที่มีกลิ่นเหม็นให้ต้องฝืนจำใจกินแต่อย่างใด ตรงข้าม อาหารปลาหมกตามกรรมวิธีที่อธิบายมาให้ “รสและกลิ่นติดใจ” ดังนั้น เป็นไปได้ว่าความหมายของปลาผอกจึงอาจไม่ใช่อย่างที่เข้าใจกัน

(3) เสนอคำอธิบายหรือการตีความของตนเกี่ยวกับประเด็นปัญหาที่เป็นหัวข้อของรายงานนั้นออกมา ประกอบกับเหตุผลสนับสนุนที่ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวควรแก่การรับฟังมากกว่า หรือน่าจะเข้าท่ามากกว่า คำอธิบายหรือการตีความที่มีอยู่เดิม

จิตรเสนอให้พิจารณาว่าปลาผอกคำนี้น่าจะเป็นคำมาจากภาษาเขมร และไม่ได้อ่านว่าผอก แต่อ่านว่า ผะ-อก เช่นเดียวกับคำไทยที่มาจากภาษาเขมรอื่นๆ เช่น ผอบ เผชิญ ผสม ผอูน  เหตุผลสนับสนุนของเขาคือในภาษาเขมร มีคำๆ หนึ่งที่อ่านออกเสียงใกล้กับคำว่า ผะอก และคำนั้นหมายถึงปลาที่กรรมวิธีทำแบบเดียวกับปลาเจ่าปลาร้าออกมาเป็นอาหารที่มีกลิ่นรุนแรง

(4) think against ข้อเสนอของตัวเองว่าน่าจะยังมีตรงจุดไหนบ้าง ที่ผู้รู้คนอื่นอ่านแล้วจะหยิบมาเป็นประเด็นแย้งกลับได้ (counter-argument) แสดงให้เห็นว่าเราก็ตระหนักในประเด็นเหล่านั้นอยู่และได้เตรียมคำอธิบายเสนอป้องกันไว้แล้ว

ข้อที่จิตรเห็นว่าอาจมีผู้หยิบยกมาโต้แย้งข้อเสนอของเขาเกี่ยวกับปลาผอก (ผะ-อก) ว่าเป็นคำเขมรที่หมายถึงปลาร้าได้แก่ประเด็นว่าภาษาไทยก็มีคำว่าปลาร้าอยู่แล้ว ทำไมจะต้องไปหยิบยืมคำเขมรมาใช้ ข้อหนึ่ง และอีกข้อหนึ่ง อาจมีผู้แย้งว่า ถ้าคำนี้อ่านว่า ผะ-อก อย่างที่จิตรเสนอจริง ทำไมจึงไม่เขียนผะอกแต่ไปเขียนว่าผอกให้เกิดความคลุมเครือขึ้นได้ จิตรได้เสนอคำอธิบายป้องกันข้อโต้แย้งที่อาจมีขึ้นมาจาก 2 ประเด็นนี้ในบทความของเขาแล้ว [9]

(5) กำหนดระดับความหนักแน่นแน่ชัดในข้อเสนอของตนเองว่าตีเสมอขนาดไหนเมื่อเทียบกับคำอธิบายหรือการตีความเดิมที่มีอยู่ : ดีกว่าและควรแทนที่คำอธิบายเดิม ต่อยอดคำอธิบายเดิมออกไป เป็นแต่เพียงขยายความหรือเสริมประเด็นที่คำอธิบายเดิมยังกล่าวไว้ไม่ละเอียด สนับสนุนคำอธิบายเดิมจากหลักฐานข้อมูลใหม่ที่พบ หรือเสนอเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อให้วงวิชาการได้พิจารณา ฯลฯ

ในข้อนี้ โดยเหตุที่เขาคงรู้ว่าเขากำลังเขียนแย้งความเห็นของใครอยู่ จิตรได้แสดงความนอบน้อมตามสมควรต่อ “ท่านนักวรรณคดีผู้อาวุโส” ที่จะไม่หักล้างว่า ความหมายของคำว่าปลาผอกที่เขาเสนอนั้นดีกว่าและเป็นความหมายที่ควรยึดถือมากกว่าในการทำความเข้าใจเนื้อความของโคลงบทนี้ และดังนั้นจึงควรแทนที่ความหมายเดิมที่เคยเข้าใจกันมา

ความมุ่งหมายของเขามีเพียงว่า “ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นความเห็นอีกแง่หนึ่งของผู้เขียน ใครจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามแต่ใจ จะอ่าน ‘ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว’ โดยถือว่าปลาผอกเป็นของไทยอย่างพจนานุกรม หรือจะอ่าน ‘ปลาผะ-อกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว’ ตามความเห็นของผู้เขียนก็ได้ แต่สำหรับท่านที่พอใจอ่านอย่างผู้เขียน เวลาเขียนโปรดอย่าเขียนผะ-อก ประวิสรรชนีย์ ควรเขียน ผอก รักษารูปภาษาเดิมอย่างที่เราเคยรักษาคำอื่นๆ”

4

องค์ประกอบที่พึงจะมีของงานวิชาการที่ปรากฏครบถ้วนในบทความของจิตร (ที่ในขณะที่เขียนนั้นยังเป็นนิสิต) และการเสนอประเด็นข้อโต้แย้งของจิตรในปริมณฑลสาธารณะทางวิชาการ เป็นวิธีปกติและมีประสิทธิภาพที่สุดที่ทำให้ข้อเสนอของเขาเกิดน้ำหนัก และช่วยตีกรอบการอภิปรายว่าถ้ามีใครต้องการแย้งเขากลับ ก็จะต้องเสนอเหตุผลอะไรที่ดีกว่าออกมาสู้ หรือที่จะมาหักล้างในประเด็นที่เขาตั้งไว้ โดยไม่อาจจะใช้สถานะของความมีอาวุโสหรือใช้อารมณ์เข้ามาเกลื่อนทับได้

แต่ในทางกลับกัน ความเรียบร้อยหมดจดในข้อเสนอที่เรียบเรียงออกมาได้อย่างน่าเชื่อถือในบทความของจิตร เทียบกับผลที่ตามมาต่อตัวเขาและความ “เปล่าประโยชน์” ที่ข้อเสนอศัพท์สันนิษฐานของจิตรไม่ได้ก่อให้เกิดผลสะเทือนใดๆ ต่อ “การลบล้างคำนิยาม” ปลาผอก ของคุณพระวรเวทย์ฯ อย่างที่ท่านคิด ก็สะท้อนให้เห็นขนบทางวิชาการอีกแบบหนึ่งว่าคือการจดจำ รักษาและสืบทอดความรู้ของปราชญ์ผู้รู้ที่ได้รับความนับถือยกย่องว่ามี authority

หรือดังที่ “พร สืบเสาะ” เขียนสรุปค่านิยมปิดท้ายเรื่องที่เขาเล่าไว้ : นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนเป็นผู้ใหญ่มักจะโกรธเมื่อเจอคนมาโต้แย้งในที่สาธารณะ และนิทานเรื่องนี้สอนคนอื่นๆ ที่เหลือว่า “เดินตามรอยเท้าผู้ใหญ่หมาไม่กัด” เพียงแต่อาจต้องเลือกสักหน่อยว่าจะเดินตามผู้ใหญ่คนไหน

เมื่อขนบทางวิชาการเป็นแบบนี้ แม้จิตรจะเขียนบทความจากการ think against ขึ้นมาด้วยความระมัดระวังเพียงใด และเคร่งครัดตามกรอบของขนบในการเขียนบทความทางวิชาการที่ดีเพียงใด และแม้เขาจะเขียนไว้ชัดแล้วว่าข้อเสนอนี้ของเขาเป็นแต่เพียงอีกทางเลือกหนึ่ง ในการทำความเข้าใจความหมายของคำว่าปลาผอกที่น่าจะเป็นไปได้เท่านั้น แต่จิตรก็ไม่รอดพ้นจากความกดดันที่ถูกมองว่าเขากำลังจะมา “ลบล้าง”

แต่อันที่จริง เมื่อขนบทางวิชาการเป็นแบบนี้ เรื่องที่เกิดขึ้นก็ไม่ควรที่จะสร้างความหงุดหงิดใจจนนำไปสู่ความร้าวฉานระหว่างศาสตราจารย์อาวุโสกับนิสิตที่เก่งที่สุดเท่าที่ท่านน่าจะเคยสอนมาแต่อย่างใดเลย เพราะท่านก็น่าจะทราบว่า จิตรก็ย่อมรู้ว่าชุมชนวิชาการยังครองไว้ด้วยวัฒนธรรมไทยที่เหนียวแน่นเพียงใดในการรักษาสืบทอดและให้ความเคารพคนที่เป็นครูบาอาจารย์ของตน ที่จะไม่เห็นใครออกหน้ามาเต็มตัวเพื่อคัดค้านหรือมาเปลี่ยนแปลงความรู้ที่ท่านมอบไว้ให้

และเมื่อขนบทางวิชาการเป็นแบบนี้ จนถึงทุกวันนี้พจนานุกรมฉบับของราชบัณฑิตยสถานก็ยังมิได้หันมารับและบรรจุความหมายทางเลือกที่จิตรเสนอไว้แต่อย่างใด แม้ว่าการเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของประเทศเพื่อนบ้านจะดีขึ้นมากแล้ว จนใครๆ ก็สามารถค้นหาทดสอบได้เองว่าข้อเสนอปลาผอกของจิตรว่าคือปลาร้าในภาษาเขมรนั้นเข้าเค้าหรือไม่  ท่านค้น ปร็อฮก ประฮ้อก ប្រហុក จากอินเทอร์เน็ตมาเทียบดูก็จะรู้ได้ [10]

5

บทความนี้เขียนข้อสรุปได้หลายแบบ และท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ก็สามารถหาข้อสรุปของท่านได้เองอยู่แล้ว รวมทั้งข้อสรุปที่ว่าชุมชนวิชาการของไทยเดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปมากแค่ไหนจากในสมัยของจิตร ที่จะทำให้เรามีความหวังได้เพียงใดต่ออนาคตของการศึกษาและการสร้างสรรค์ความรู้ ผมมีบางประเด็นที่อยากเสนอไว้สั้นๆ เป็นบทสรุปดังนี้ครับ

สรุป 1: เพื่อความเป็นธรรมต่อพระวรเวทย์พิสิฐ ผมควรกล่าวไว้ในบทสรุปว่า ที่เขียนมาทั้งหมดเขียนจากการอ่านข้อมูลที่ได้จากฝั่งของจิตร เช่น เก็ตนีย์ บิกเนอร์ หรือจากเรื่องแนว “สืบเสาะ” ใน ทรรศนะ และเราไม่รู้ว่าหลังจากเหตุการณ์ในห้องเรียนวันนั้น พระวรเวทย์พิสิฐกับจิตรประนอมเข้าหากันใหม่ได้หรือไม่ เพียงใด แต่เราที่เป็นคนในทั้งหลายต่างรู้กันดีอยู่ทุกคนว่าหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับจิตร ชุมชนวิชาการของไทยพัฒนาต่อจากนั้นมาได้แค่ไหน

สรุป 2: ภาพจำเกี่ยวกับจิตรมักเป็นในทำนอง “จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนนอกคอก” “จิตร ภูมิศักดิ์ ความคิดแหวกแนวของไทย” หรือ “จิตร ภูมิศักดิ์ นักวิชาการแหกคอก” ถ้าเราพิจารณาการเสนอความคิดและการเขียนงานในเชิงวิชาการของจิตรโดยตลอด จิตรไม่ได้แหกคอกหรือนอกคอกออกไปจากขนบของการสร้างสรรค์ความรู้และการนำเสนอความรู้ตามปกติของวิถีปฏิบัติที่พึงทำพึงเป็นในโลกทางวิชาการแต่อย่างใด สิ่งที่แหกคอกออกไปจากขนบปกติของโลกวิชาการไม่ใช่จิตร

สรุป 3: ศาสตราจารย์เก็ตนีย์ กัลยาณมิตรอาวุโสในทางวิชาการของจิตรและของไท/ไทยศึกษา อยากให้มีคนเล่าเรื่องจิตรกับพระวรเวทย์พิสิฐออกมา ผมคิดของผมว่า ในฐานะที่ท่านเป็นกัลยาณมิตรของพวกเรา ท่านคงอยากให้มีคนเล่าเรื่องนี้ เพื่อให้เรื่องนี้มีส่วนกระตุ้นให้วงวิชาการไทยไม่มองว่าสิ่งที่จิตรทำในทางวิชาการ รวมทั้งการ think against เป็นของแหกคอก แหวกแนว หรือขบถ อีกต่อไป แต่มองเป็นปกติ เพราะนั่นคือวิถีปกติของโลกวิชาการ

อ้างอิง

[1] Stanley Hoffmann, “A Retrospective,” in Joseph Kruzel and James N. Rosenau, eds. Journeys through World Politics (Lexington, MA.: Lexington Books, 1989), 269.

Hoffmann เล่าว่าเขาได้วิธีคิดแบบนี้มาจากอาจารย์ที่มีอิทธิพลต่อเขามากคือ Raymond Aron.

[2] เคร็ก เจ. เรย์โนลด์, ความคิดแหวกแนวของไทย : จิตร ภูมิศักดิ์และโฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน อัญชลี สุสายัณห์ แปล (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์อักษรสาส์นและสถาบันสีนติประชาธรรม, 2534), โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาในหน้า 29 – 38 และรายการอ้างอิงผลงานของจิตรในหนังสือเล่มนี้ของเรย์โนลด์.

[3] ในลิลิตพระลอมีโคลงบทหนึ่ง เป็นตอนนายแก้วนายขวัญมหาดเล็กกล่าวทูลพระลอในระหว่างเดินทางรอนแรมพบความลำบากในถิ่นกันดาร เพื่อมาหาพระเพื่อนพระแพง ว่า

พระเอยอาบน้ำขุ่น            เอาเย็น

ปลาผอกหมกเหม็นยาม    อยากเคี้ยว

รุกรุยราคจำเป็น              ปางเมื่อ แคลนนา

อดอยู่เยียวดิ้วเดี้ยว          อยู่ได้ฉันใด

พระวรเวทย์พิสิฐ, คู่มือลิลิตพระลอ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2520), 177.

[4] จิตร ภูมิศักดิ์, “ศัพท์สันนิษฐาน : ‘ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว’,” ทรรศนะ (ปีที่ 1 : ฉบับที่ 2, พฤศจิกายน 2493), 51 – 60. สมาคมกิจวัฒนธรรมและสำนักพิมพ์ต้นฉบับนำวารสาร ทรรศนะ ที่ออกมาทั้งหมด 3 ฉบับในช่วงปี 2492-93 ก่อนจะปิดตัวไปมาตีพิมพ์รวมเล่มใหม่ นับเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 2 ในปี 2547 ผมใช้ฉบับการพิมพ์ครั้งหลังนี้ในการอ้างอิง บทความดังกล่าวของจิตรจะอยู่ในหน้า 208-217.

[5] โปรดดูความสำคัญของวัฒนธรรมของชุมชนวิชาการต่อการสร้างสรรค์ความรู้ใน John Ziman, Riliable Knowledge: An Exploration of the Grounds for Belief in Science (Cambridge: Cambridge University Press, 1978), 124-157.

Ziman ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ว่าจะยังเป็นข้อที่อภิปรายกันไม่เสร็จสิ้นว่าหลักการพื้นฐาน 2 ด้านนี้เป็นลักษณะที่พบได้ในสังคมมนุษย์ทั่วไป หรือเป็นลักษณะทางวัฒนธรรมเฉพาะที่พัฒนามาในพัฒนาการของสังคมตะวันตกหลังยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ แต่ชุมชนวิชาการของโลกสมัยใหม่ไม่อาจตั้งอยู่ได้ถ้ามิได้มีวิถีปฏิบัติที่ยึดถือหลักการทั้ง 2 ข้อนี้เป็นหลัก

[6] ดังที่ทราบกันในหมู่ผู้รู้ชีวประวัติของจิตร วิลเลียม เก็ตนีย์เป็นกัลยาณมิตรอาวุโสทางวิชาการของจิตรและเป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์ในทางส่วนตัวในช่วงที่จิตรเป็นนิสิต ความรอบรู้เกี่ยวกับตระกูลภาษาไทและภาษาโบราณตะวันออกอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างลึกซึ้งของเก็ตนีย์นั้นยังหาคนเทียบเขาได้ยากแม้จนบัดนี้ เขาเห็นความสามาถของจิตรมาแต่แรกดังที่เขาเขียนจดหมายมาชมเชยบทความวิชาการเกี่ยวกับจารึกพิมายของจิตรว่า “เป็นบทความชิ้นหนึ่งที่ดีที่สุดเท่าที่นักวิชาการของสยามเคยเขียนมา”

ดูจดหมายของเก็ตนีย์และบทความ “พิมายในด้านจารึก” ที่เก็ตนีย์ชมเชย ใน จิตร ภูมิศักดิ์, รวมบทความทางภาษาและนิรุกติศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2529) จดหมายของเก็ตนีย์ฉบับนี้ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 1953 นั่นแสดงว่าจิตรเขียนบทความ “พิมายในจารึก” ขณะที่เขายังเรียนไม่จบจากจุฬาฯ

[7] บทความของบิกเนอร์ มีการแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ดูฉบับแปลได้ที่ โรเบิร์ต เจ. บิกเนอร์, “ข้อพึงพิจารณ์ในวรรณคดีพิพาทระหว่างจิตร ภูมิศักดิ์กับพระวรเวทย์พิสิฐ” ทอแสง เชาว์ชุติ แปล ใน สุวิมล รุ่งเจริญ, บรรณาธิการ จิตร ภูมิศักดิ์ : ปัญญาชนนอกคอก (กรุงเทพฯ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2553), 171-180.

ต้นฉบับภาษาอังกฤษเรื่อง “Reflections on a Literary Dispute between Jit Phumisak and Phra Worawetphisit” ของ Robert J. Bickner  อ่านได้ ที่นี่

[8] “พร” สืบเสาะ, “ทรรศนา” ทรรศนะ (ปีที่ 2 : ฉบับที่ 3, กุมภาพันธ์ 2494), 80-81. ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 หน้า 377-378. ผมเป็นคนเน้นข้อความข้างต้น

[9] ใน คู่มือลิลิตพระลอ, อ้างแล้ว หน้า 177-78. พระวรเวทย์พิสิฐเขียนข้อโต้แย้งกลับข้อนี้ไว้ว่า “ถึงแม้คำว่าผอกจะเป็นคำเขมรเรียกปลาร้าว่าผอก คำเช่นนี้ก็ไม่เคยใช้ในภาษาไทยเพราะมีคำปลาร้าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นปลาผอกในที่นี้ น่าจะเป็นปลาที่ยัดกระบอกหลาม” แต่ท่านเลี่ยงที่จะตอบประเด็นเกี่ยวกับกลิ่นของอาหาร ว่าปลาหลามหรือปลาหมกทำออกมาแล้วมีกลิ่นอย่างไรแน่.

[10] มีเพียง พจนานุกรมฉบับมติชน เท่านั้นที่บรรจุความหมายหนึ่งของคำว่าผอก ที่ดูจะใกล้เคียงกับที่จิตรเสนอไว้บ้าง แม้จะไม่ถึงกับแปลว่า ปลาร้า แต่ก็เก็บคำแปลคำหนึ่งว่า ปลาหมัก และยกตัวอย่างที่ใช้คำนี้จากโคลงลิลิตพระลอวรรคที่ว่า ปลาผอกหมกเหม็นยาม อยากเคี้ยว ซึ่งเท่ากับย้ายความหมายจากที่พระวรเวทย์พิสิฐให้ไว้ในหนังสือคู่มืออ่านลิลิตพระลอของท่านจากปลาหมกหรือปลาหลามมาเป็นปลาหมักแทน ดูจะเป็นการหาทางประนีประนอมระหว่างผู้เป็น authority 2 ฝ่ายที่ชอบกลอยู่ แต่ พจนานุกรมฉบับมติชน ก็มิได้ระบุคำอ่านของคำว่าผอกในความหมายนี้ หรือระบุว่าเป็นคำที่ได้มาจากภาษาเขมรแต่อย่างใด ในขณะที่คำข้างๆ กันอย่างคำว่าผอูน เขียนระบุไว้ชัดว่า คำเขมรใช้ว่า ปอูน

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save