fbpx
อ่าน “กรุงเทพฯ” ผ่าน “ข่าวชายแดนใต้”

อ่าน “กรุงเทพฯ” ผ่าน “ข่าวชายแดนใต้”

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

1.

ไม่กี่สัปดาห์ก่อน มิตรสหายจากนราธิวาสส่งลิงก์ข่าวชิ้นนี้มาให้ดู เพราะเห็นว่าสนใจติดตามเรื่องราวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกเหนือจากเหตุอาชญากรรม

ข่าวพาดหัวว่า เปิดชื่อ 6 หมู่บ้าน ตกอยู่ในอิทธิพล “บีอาร์เอ็น” อยู่ใน จ.นราธิวาส ทั้งหมด

ส่วนเนื้อข่าวระบุว่า

“ภายหลังเจ้าหน้าที่วิสามัญ 2 แนวร่วมกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 8 พ.ย ที่ผ่านมา ล่าสุดมีการแจ้งเตือนว่ากลุ่มของ “อุเซ็ง” จะแก้แค้น จึงมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจรอยต่อยะลา-ปัตตานี ปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวดขึ้น

ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันว่ากลุ่มก่อเหตุความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยเฟซบุ๊คของผู้ใช้ชื่อ สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ระบุถึงพื้นที่ที่เป็นหมู่บ้านที่ตกอยู่ในอิทธิพลของของบีอาร์เอ็น มีดังนี้

1. บ.ไอบาตู ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส 2. บ.เจาะเกาะ ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส 3. บ.ปอเนาะ ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส 4. บ.กูแบปูยู ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส 5. บ.ละหาน ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส 6. บ.บือราแง ต.โต๊ะเด็ง อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส

ทั้งนี้เฟซบุ๊ค สำเร็จ ศรีหร่าย ระบุในคอมเมนต์ว่า บ้านไอบาตู เป็นบ้านต้นแบบในการจัดตั้งในการปกครองของบีอาร์เอ็นเป็นครั้งแรกที่เรียกว่าอาเจาะ ย่อมาจาก อาลี จาวาตัน กัมปง”

ข่าวจบเพียงเท่านี้ จบแค่นี้จริงๆ ตอนแรกคิดว่าอาจจะมีข่าวเพิ่มในวันต่อมาหรือสัปดาห์ต่อมา แต่ไม่มี!

ที่เป็นเหตุการณ์นั้นมีอยู่เพียงสามบรรทัดแรก ที่เหลือเป็นข้อความจากเฟซบุ๊กของอดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4 ที่ศึกษาและเขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับ บีอาร์เอ็น หรือ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี  (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani)

คำถามคือ อะไรทำให้ข่าวสามบรรทัดกับข้อความในเฟซบุ๊กที่เป็นเชิงข้อมูลมาบรรจบกันได้ คงต้องไหว้วานมิตรสหายทั้งวงนอกวงในสื่อมวลชนและไม่ใช่สื่อมวลชนช่วยกันหาคำตอบ

เวลาบอกว่าหมู่บ้านที่ตกอยู่ในอิทธิพลของของบีอาร์เอ็น เราสามารถเข้าใจตามตรรกะเดียวกันนี้ได้ไหมว่า ทั้งชื่อถนน สะพานข้ามแม่น้ำ หมู่บ้านทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ อีกหลายจังหวัด ก็ตกอยู่ในอิทธิพลของรัฐไทยเช่นเดียวกัน

ถ้าคิดด้วยเหตุผลนี้ คณะพูดคุยสันติสุขทั้งฝ่ายไทยและฝ่ายขบวนการคงต้องทำงานหนักขึ้น และไม่แน่ว่าจะคุยกันเข้าใจทันช่วงชีวิตของคนในคณะฯ เองหรือไม่

 

2.

พอพูดถึงเรื่องชื่อหมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดนใต้ เลยนึกถึงโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ : “ชื่อบ้านนามเมืองในพื้นที่ชายแดนใต้” เมื่อปี 2557 ที่ศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PUSTA) สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา สถาบันภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลาร่วมกันทำขึ้นมา

เป็นการสร้างความเข้าใจใหม่ที่ผ่านการค้นคว้าและชำระประวัติศาสตร์จนออกมาเป็นหนังสือชื่อ “ชื่อบ้านนามเมือง”

ดูเนื้อหาแล้วอย่างน้อยก็ช่วยเปิดโลกภาษามลายู และเห็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ได้มีแค่บีอาร์เอ็น เช่น ชื่อหมู่บ้าน “กือปาลอบาตัส เกาะกาโป” หมู่ 3 ตำบลบันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา มีความหมายว่า “หัวถนนเตาปูน” คำว่า “กือปาลอ” แปลว่า หัว “บาตัส” แปลว่า ถนน และคำว่า “เกาะ” แปลว่า “เตาเผา” “กาโป” แปลว่า “ปูน” ชาวบ้านนำคำทั้งหมดมารวมกันเรียกเป็นชื่อหมู่บ้านว่า “กือปาลอบาตัส เกาะกาโป”

“กือปาลอบาตัส” มีที่มาจากชื่อเรียกหัวถนนของถนนสายหนึ่งในหมู่บ้าน หัวถนนดังกล่าวเป็นทางแยกจากถนนสายหลัก ยะลา-เบตง สามารถเดินทางไปยังเขื่อนบางลางได้ ส่วนคำว่า “เกาะกาโป” นั้นมาจากการที่หมู่บ้านแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตปูนขาว (กาโป) โดยชาวบ้านนำปูนขาวไปเผาในเตาเผา (เกาะ)

เตาเผาปูนดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณทุ่งนา ชาวบ้านก่อสร้างเตาเผาปูนโดยการขุดดินเป็นหลุม ปัจจุบันสถานที่ตั้งของเตาเผาปูนอยู่ห่างจากสะพานจาเราะกือโระห์ประมาณ 500 เมตร และยังคงมีร่องรอยหลงเหลืออยู่บ้าง ปัจจุบันชาวบ้านได้ใช้บริเวณดังกล่าวทำเรือกสวนไร่นา

ในอดีตป้ายชื่อหมู่บ้านและป้ายชื่อโรงเรียนใช้ชื่อว่า “เฆาะกาโป” เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2534 ทางการได้เข้าไปตัดถนนผ่านหมู่บ้านจากอำเภอบันนังสตาไปยังอำเภอเบตง และได้ขึ้นป้ายชื่อหมู่บ้านและโรงเรียนใหม่ว่า “บ้านเงาะกาโป” ที่เพี้ยนมาจากคำว่า “เกาะกาโป” ซึ่งไม่ตรงตามความจริง

อีกตัวอย่างที่สะท้อนว่าการตั้งชื่อหมู่บ้านของราชการไทยนั้นเหมือนคณะตลกที่ปล่อยมุขอย่างผิดกาลเทศะ เช่น บ้านบลีดอ หมู่ 8 ตำบลบาราเฮาะ อ.เมือง จ.ปัตตานี

หมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปัตตานี คำว่า “บลีดอ” เป็นภาษามลายูถิ่น หมายถึง ปลากราย ซึ่งมีอยู่ชุกชุมในบึงของหมู่บ้าน โดยเฉพาะช่วงฤดูน้ำหลากของทุกปี ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า “กัมปงบลีดอ” หมายถึงหมู่บ้านปลากราย

ข้อมูลบอกว่าเมื่อประมาณ 200 ปีก่อน มีชายหนุ่มคนหนึ่ง ชื่อนายสุหลง และเซ็ง เดินทางมาจากรัฐกลันตัน มาเลเซีย เพื่อมาศึกษาเล่าเรียนวิชาศาสนาที่ปอเนาะในปัตตานี หลังจากนั้นก็ตั้งรกรากที่หมู่บ้านแห่งนี้และได้สมรสกับหญิงปัตตานี และเป็นผู้ก่อตั้ง “ปอเนาะบลีดอ” เพื่อใช้สอนศาสนาและภาษามลายู ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือเสมือนบิดา และเรียกนายสุหลงว่า “โต๊ะบลีดอ”

ปัจจุบันบุคคลสำคัญในหมู่บ้านที่สืบเชื้อสายมาจาก “โต๊ะบลีดอ” คือ นายฮัจญีอับดุลรอนิง แวนิ อิหม่ามประจำมัสยิด “บลีดอ” ชาวบ้านหมู่บ้าน “บลีดอ” ล้วนแล้วแต่เป็นลูกหลานของนายสุหลงทั้งสิ้น

ในบรรดาหมู่บ้านนับพันของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หมู่บ้าน “บลีดอ” เป็นหมู่บ้านที่มีปัญหาเกี่ยวกับป้ายชื่อหมู่บ้านมากที่สุด เนื่องจากประมาณปี พ.ศ. 2535 มีการตัดถนนลาดยางเข้าสู่หมู่บ้านโดยสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทจังหวัดปัตตานี (รพช.)

เมื่อเสร็จสิ้นการดำเนินงาน ทาง รพช. ได้ติดตั้งป้ายชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านปิดอ” โดยไม่ได้ปรึกษาชาวบ้าน ความเร่งรัดและไม่รอบคอบในครั้งนั้นสร้างความคับข้องใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง เพราะคำว่า “ปิดอ” หมายถึงอวัยวะเพศหญิงและชาย หลังจากนั้นประมาณ 4-5 ปี ป้ายชื่อดังกล่าวก็ถูกชาวบ้านทำลาย เหลือไว้แค่เพียงเสาเท่านั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 กรมชลประทานได้เข้ามาพัฒนาและปรับปรุงบึงในหมู่บ้าน โดยได้ขึ้นป้ายชื่อว่า “บึงปรีดอ” ตามชื่อหมู่บ้าน “ปรีดอ” ดังที่ปรากฏในชื่อทะเบียนหมู่บ้าน อ.เมือง จ.ปัตตานี

แม้ว่าปัจจุบันชื่อของหมู่บ้านจะเปลี่ยนจาก “บ้านปิดอ” เป็น “บ้านปรีดอ” แล้ว แต่ชื่อที่ถูกต้องและต้องเปลี่ยนมาใช้คือ “บ้านบลีดอ”

นี่เป็นตัวอย่างจากอีกกว่า 1,700 หมู่บ้านในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องชื่อจากราชการไทย

 

3.

กลับมาที่เรื่องข่าว ลิงก์ข่าวที่ยกตัวอย่างตอนต้นมาคงไม่ใช่ครั้งแรกที่สร้างเส้นแบ่งเขา-เรา/มึง-กูให้ชัดขึ้น เลยต้องกลับไปค้นบทสัมภาษณ์อาจารย์ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เมื่อปลายปี 2559[1] ผู้เขียนหนังสือ ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ไทย: งานวิจัยปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย (2549) และ ประวัติศาสตร์วิพากษ์: สยามไทยกับปาตานี (2556)

ขอคัดบางตอนมาให้อ่านกัน อาจารย์ธเนศพูดถึงความเข้าใจเรื่องมุสลิมมลายูต้องการแบ่งแยกดินแดนในทางประวัติศาสตร์ว่า

“มันคือวาทกรรมการสร้างประวัติศาสตร์ชาติ ทุกที่พอเริ่มประกาศเอกราช ก็ต้องเปลี่ยนจากรัฐโบราณมาเป็นรัฐสมัยใหม่ ต้องเป็นรูปแบบรัฐชาติ จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้ แต่ในรัฐชาติอาจเป็นระบอบประชาธิปไตย ระบอบประธานาธิบดี หรือระบบกษัตริย์แบบอังกฤษก็ว่ากันไป”

ในประเทศอาณานิคมหรือกึ่งอาณานิคมแบบสยามนั้น กว่าที่จะรวมความเป็นเอกภาพได้ ต้องสู้กับอาณานิคม อังกฤษขีดเส้นประเทศให้มาเลเซีย แต่หลังจากนั้นก็ไม่ง่าย เพราะพอรัฐบาลกลางจะออกไปปกครอง ไปทำนโยบายอะไร ก็ต้องไปทะเลาะกับประเทศเพื่อนบ้าน

สยามในอดีต เวลาพูดถึงปัตตานี คือต้องจงรักภักดี สวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ เพราะยึดเขามาแล้ว แต่พอมาเป็นระบอบประชาธิปไตยหลัง 2475 ก็ใช้ระบบภูมิภาคไปปกครองส่วนต่างๆ เพราะฉะนั้นรัฐไทยสมัยใหม่ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พยายามสร้างความเป็นเอกภาพแล้วไปได้กับแนวคิดเรื่องความเป็นไทย ชาติไทย และยังเอาเชื้อชาติมาเป็นตัวตั้ง ปลุกระดมให้คนไทยยึดความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน จากนั้นก็มีวาทกรรมเรื่องคนไทยอพยพมาจากทางใต้ของจีน แล้วยังสอนเรื่องการเสียดินแดนอีก

คำว่า ‘แบ่งแยกดินแดน’ รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้ครั้งแรกตอนกวาดจับ ส.ส.อีสาน คือ นายเตียง ศิริขันธ์ และพวก ในข้อหา ‘คิดแบ่งแยกจากไทย และรวบรวมพวกลาวด้วยกันขึ้นเป็นรัฐลาว และขึ้นตรงต่อสันนิบาตเอเชียอาคเนย์’  ในปี 2491 เมื่อมองกลับไปก็เข้าใจได้ว่า นั่นเป็นผลพวงต่อเนื่องของการต่อต้านรัฐประหารปี 2490 ของ ส.ส.อีสาน ฝ่ายทหารซึ่งเป็นรัฐบาลก็หาทางปราบและกำจัด จนยัดข้อหาเรื่องแบ่งแยกดินแดนจนได้ ที่น่าสังเกตคือ หะยีสุหลงซึ่งก็ถูกจับในปี 2491 แต่ก็ไม่ได้มีการฟ้องร้องข้อหานี้และสื่อยังไม่ใช้ยี่ห้อ ‘แบ่งแยกดินแดน’ กับมุสลิมภาคใต้ ครั้งนั้นเขาถูกจับด้วยข้อหากบฏ กระด้างกระเดื่อง ไม่เกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนเลย มโนทัศน์การแบ่งแยกดินแดนภาคใต้จึงไม่เคยมีอยู่ในความคิดของชนชั้นปกครองสยามมาก่อนเลยก็ว่าได้

ฝ่ายขบวนการเขาก็บอกว่าไม่เคยใช้คำว่าแบ่งแยกดินแดนเลย บีอาร์เอ็นก็บอกตัวเองเป็นขบวนการแห่งชาติ (นิยม) ขบวนการพูโลก็บอกตัวเองเป็นกลุ่มปลดปล่อยปาตานี ไม่มีตรงไหนที่เขาจะแยกดินแดน พูดให้ถึงที่สุด คนปัตตานีกลับรู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนพื้นที่นี้ และเป็นเจ้าของผืนดินนี้มาแต่สมัยบรรพบุรุษ รัฐสยามและประเทศไทยต่างหากที่ไปรวมเขาเข้ามาอยู่ในแผนที่รูปขวานทอง

แล้วคำว่าแบ่งแยกดินแดนถูกประโคมขึ้นมาได้อย่างไร ?

อาจารย์ธเนศว่า อยู่ที่วิธีการพาดหัวข่าว เป็นวิธีการรายงานสถานการณ์ความรุนแรงว่าจะนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนต่างๆ เพราะไม่เช่นนั้นจะอธิบายไม่ได้ว่าเหตุการณ์มันน่ากลัวอย่างไร เช่น ถ้าอธิบายว่าพูโลต่อสู้เพื่อปัตตานี คำถามคือ ก็ปัตตานีอยู่ในนี้แล้วจะไปสู้เพื่อปัตตานีอีกทำไม มันเข้าใจยาก เลยอธิบายว่าแบ่งแยกไปเลย ฟังดูง่ายขึ้น กองทัพก็รับลูกด้วย เพื่ออธิบายว่าทำไมเขาต้องมาทำงานปราบปราม ก็เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติไม่ให้ถูกแบ่งแยกออกไป

 

เชิงอรรรถ

[1] บทสัมภาษณ์ ศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เรื่อง ประวัติศาสตร์มีชีวิต สัมภาษณ์โดยธิติ มีแต้ม ในหนังสือวิถีวิจัยในมหาสมุทรความรู้ พิมพ์โดย สกว. ร่วมกับ way ธ.ค. 2559

 

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save