fbpx
เราพบกันเพราะหนังสือ: รู้จักตัวตนของออง ซาน ซู จีผ่าน “จดหมายจากพม่า”

เราพบกันเพราะหนังสือ: รู้จักตัวตนของออง ซาน ซู จีผ่าน “จดหมายจากพม่า”

ลลิตา หาญวงษ์ เรื่อง

 

หลายปีมาแล้ว ขณะผู้เขียนศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ได้เริ่มสนใจประวัติศาสตร์พม่าในประเด็นอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องราวของสงครามในยุคจารีตระหว่างไทยกับพม่า และเริ่มรู้จักบุคคลสำคัญทางการเมืองของพม่าเพิ่มขึ้นในชั้นเรียนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สมัยใหม่ของศาสตราจารย์เอียน บราวน์ (Ian Brown)

แน่นอนว่าก่อนหน้านี้ผู้เขียนรู้จักชื่อของ “ออง ซาน ซู จี” จากสื่อไทย แบบไม่เคยสัมผัสตัวตนของเธอ จนเมื่อทราบว่าเธอเคยเป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยของผู้เขียน แต่ต้องเดินทางกลับพม่าอย่างกะทันหันในปี 1988 (พ.ศ. 2531) เมื่อมารดาของเธอป่วยหนัก  แล้วในปีเดียวกันนั้นเองก็เกิดเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาและประชาชนที่ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลเผด็จการครั้งใหญ่ที่สุด อันเป็นที่รู้จักกันในชื่อเหตุการณ์ “8888”

เมื่อได้รู้จักเธอผ่านอาจารย์ในมหาวิทยาลัยหลายคน ผู้เขียนจึงเริ่มสนใจการเมืองสมัยใหม่ของพม่าแบบไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว จนวันหนึ่ง เมื่อเดินเข้าร้านหนังสือ Waterstone’s มุมถนน Gower ซึ่งเป็นร้านที่ผู้เขียนแวะเวียนไปแทบทุกวัน ถึงไม่ได้ซื้อ ก็ขอให้ได้ดมกลิ่นหนังสือ หรือเพียงแค่ไป “เสพ” บรรยากาศของร้านหนังสือก็ยังดี ก็พบว่ามีหนังสือมือสองลดราคาใส่อยู่ในลังจำนวนหนึ่ง ค้นดูพบหนังสือชื่อ “Letters from Burma” หรือ “จดหมายจากพม่า” หน้าปกเป็นออง ซาน ซู จี ซุกอยู่ในซอกหลืบของลังหนังสือมือสอง ผู้เขียนจ่ายเงินไป 2 ปอนด์กับ 50 เพนซ์ และรีบเดินออกจากร้านหนังสือ ซื้อกาแฟ และหาเก้าอี้ในสวน Russell Square Garden เพื่อนั่งทำความรู้จักกับออง ซาน ซู จี อย่างจริงๆ จังๆ เป็นครั้งแรก

ผู้เขียนจึงรู้จักออง ซาน ซู จี จากหนังสือของเธอ และเชื่อว่าตัวตนจริงๆ ของเธออยู่ในหนังสือกึ่งอัตชีวประวัติเล่มนี้ หาใช่บทสัมภาษณ์หรือหนังสือเชิงปรัชญาและสิทธิมนุษยชนที่เราคุ้นเคยกันไม่

ออง ซาน ซู จี เขียน “จดหมายจากพม่า” เป็นตอนๆ ส่งไปตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มาอินิชิ (Mainichi Shimbun) ที่ญี่ปุ่น ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 1995 หลังรัฐบาลเผด็จการปล่อยตัวเธอจากการกักบริเวณ ณ บ้านพักริมทะเลสาบอินยา บนถนนมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง (University Avenue) ในปี 1989 เรื่อยมา

“จดหมายจากพม่า” แบ่งออกเป็น 52 บท ซู จี บอกเล่าเรื่องราวในชีวิตของเธอแบบครบรส เรียกได้ว่า “จดหมายจากพม่า” เป็นหนังสือเพียงเล่มเดียวที่เปลือยความคิดจิตใจและสามัญสำนึกของซู จีออกมาอย่างสวยงามหมดจดในฐานะมนุษย์ปุถุชน มิใช่ในฐานะวีรสตรีหรือเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผู้แบกชะตากรรมของประชาชนพม่าทั้งประเทศไว้

ในการเขียนหนังสือเล่มนี้ เธอเขียนขึ้นด้วยความเต็มใจ มิได้รู้สึกถูกกดดันจากนักข่าว เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ของการเป็นนักโทษการเมือง พัฒนาการของการเมืองพม่าสมัยใหม่ รวมทั้งสดุดีวีรกรรมของนายพล ออง ซาน บิดาของเธอ และอีกหลายเรื่องราว

ผู้เขียนจึงอยากชวนผู้อ่านกลับไป “อ่านใหม่” ออง ซาน ซู จี ด้วยกัน เพื่อทำความรู้จักเธอให้มากขึ้น

 

เมื่อมอง ออง ซาน ซู จี จากภายนอก เรามักจะเห็นสตรีตัวเล็กผอม เดินตัวตรงด้วยความสง่า และแววตาที่มุ่งมั่น กอปรกับสุ้มเสียงที่เด็ดขาดมั่นคง  ซู จี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่เธอร่วมก่อตั้งในปี 1988 ชี้ให้คนทั้งโลกเห็นความฉ้อฉลและการกดขี่ของระบอบเผด็จการทหารในพม่า

แต่หากเรารู้จักซู จี จากปลายปากกาของเธอเอง จะพบแง่มุมที่ทั้งสวยงามและขมขื่นของสังคมพม่าแฝงซ่อนอยู่อีกหลายประเด็น หลังได้อ่านหนังสือเล่มนี้ผ่านๆ เป็นครั้งแรก ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่าแนวทางหรือ “สไตล์” การเขียนของซู จี ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับนักเขียนหญิงพม่าชื่อดังอีก 2 คน ได้แก่ ขิ่น เมี้ยว ชิต (Khin Myo Chit) และ มิ มิ คาย (Mi Mi Khaing) ทั้งคู่มีความโดดเด่นตรงการเล่าเรื่องและบรรยายความสวยงามและเรียบง่ายของสังคมชนบทแบบพม่า

ใน “จดหมายจากพม่า”  ซู จี บอกเล่าปกิณกะว่าด้วยสังคมพม่าไว้แบบเรียบง่าย และเล่าเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมได้อย่างละเมียดละไม การใช้ภาษาอังกฤษของซู จีหาผู้ทัดเทียมได้ยาก สละสลวย ลึกซึ้ง กินใจ และน่าทึ่ง ผู้เขียนขอแบ่งประเด็นหลักที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้เป็น 3 ประเด็น ได้แก่ ทัศนคติแบบมองโลกในแง่ดี ระบอบเผด็จการในพม่า และลักษณะนิสัยส่วนตัวของเธอ  ทั้งสามประเด็นสามารถอธิบายทัศนคติของ ซู จี ต่อปัญหาการเมืองระดับชาติ และความขัดแย้งระหว่างตัวเธอและพรรค NLD กับกองทัพได้เป็นอย่างดี

 

ทัศนคติแบบมองโลกในแง่ดี

“อาจเป็นเพราะว่าคนพม่าอยู่กับการกดขี่และความอยุติธรรม คนพม่าจึงมีความสามารถโดดเด่นในการดึงความสุขขั้นสุดออกมาจากเทศกาลและประเพณีต่างๆ”[1]

ชาวพม่าโดยธรรมชาติเป็นคนมองโลกในแง่ดี ทำให้ “จดหมายจากพม่า” เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยพลังบวก ซู จี บรรยายความสวยงามของงานเทศกาลและประเพณีของคนพม่าได้อย่างมีสีสัน แต่ทั้งหมดนี้เพื่อเน้นให้เห็นถึงสังคมที่ถูกกดทับภายใต้งานเทศกาลที่สนุกสนานและวัฒนธรรมที่สวยงาม

พื้นที่ช่วงท้ายของหนังสือกลายเป็นเรื่องการเมืองและการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่แม้จะดูเป็นการต่อสู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุดและชวนสิ้นหวัง แต่เธอก็ไม่เคยหมดหวังกับขบวนการต่อต้านระบอบเผด็จการของเธอ เธอมีทัศนคติที่ดีกับลูกพรรค NLD ส่วนหนึ่งอาจเพราะเป็นผู้บริหารพรรคอายุน้อยที่สุดและเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียว ท่ามกลาง “ลู จี” (lu gyi) หรือ “ผู้เฒ่า” ในพรรค น่าสนใจว่าบรรดาผู้นำพรรค NLD ในรุ่นบุกเบิกเกือบทั้งหมด (ยกเว้นซู จี และ อู วิน ติน) ล้วนเคยเป็นนายทหารในกองทัพพม่า ไม่ว่าจะเป็น อู จี หม่อง, อู ลวิน, อู ติน อู และ อู อ่อง ฉ่วย ผู้คนเหล่านี้ถูกฝึกระเบียบวินัยมาจากกองทัพพม่าในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีนายพล ออง ซาน เป็นผู้วางพื้นฐานเพื่อต่อต้านการยึดครองของญี่ปุ่น และต่อต้านระบอบอาณานิคมของพม่า

การมองโลกในแง่ดีของซู จี อาจมาจากการน้อมนำหลักธรรมในศาสนาพุทธมาใช้ และปณิธานอันแรงกล้าที่จะนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชนชาวพม่า ภาพของ NLD และของซู จี คือการเป็นพรรคและผู้นำของมวลชน ที่มีนโยบายล้อตามความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศ เพื่อให้เข้าถึงชาวพุทธที่เป็นประชาชนส่วนมากของประเทศ จึงมีความจำเป็นที่ผู้นำจะต้องอ้างถึงหลักธรรมทางศาสนา และเป็นผู้ปฏิบัติดีทั้งกาย วาจา ใจ

นอกจากซู จีแล้ว เรามักเห็นอดีตนักโทษการเมืองพม่าหลายคนที่กล่าวว่าพวกเขาสามารถรักษากายและใจให้รอดพ้นจากการถูกทรมานในเรือนจำและการถูกพรากจากคนรักด้วยการทำสมาธิและการน้อมนำปรัชญาพุทธมาใช้

ออง ซาน ซู จี เป็นชาวพุทธที่มีวัตรปฏิบัติค่อนข้างเคร่งครัด เธอตื่นนอนตีสี่ครึ่งทุกเช้าและทำสมาธิ 1 ชั่วโมงก่อนปฏิบัติภารกิจประจำวันอื่นๆ เธอมักกล่าวถึงแนวทางอสิงหาแบบมหาตมะ คานธี[2] ควบคู่ไปกับการให้อภัยหรือการแผ่เมตตาให้กับคนในรัฐบาลทหารที่ล้วนมองเธอเป็นศัตรู เธอเชื่อว่าขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะก้าวต่อไปได้ต้องมี “มวลชน” ให้การสนับสนุน การแสดงออกให้มวลชนเห็นถึงความงดงามของการต่อสู้ด้วยหลักอหิงสาและความเมตตาจะนำมาซึ่งสังคมที่สงบสุขได้เอง ซู จี กล่าวว่า

“บางคนตั้งคำถามถึงความเหมาะสมว่าจะพูดเรื่องความเมตตากับสัจจะในบริบททางการเมืองได้หรือ แต่การเมืองเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชาชน และสิ่งที่เราเห็นกับตา พิสูจน์ว่าความรักและความจริงนั้นขับเคลื่อนผู้คนได้มากกว่าการกดขี่ใดๆ”[3]

การเป็นพุทธมามกะที่เคร่งครัด ผู้ศึกษาหลักธรรมของพุทธศาสนา สะท้อนออกมาใน “จดหมายจากพม่า” เธอเล่าถึงการนำหลักธรรมในพุทธศาสนาเข้าไปประยุกต์ใช้เพื่อทำให้เธอมีจิตใจที่ปลอดโปร่งและพร้อมต่อกรกับระบอบเผด็จการ ตลอดเวลาที่ถูกควบคุมตัวในบ้านพัก เธอใช้เวลาส่วนใหญ่อ่านหนังสือและศึกษาธรรมะ ซึ่งเธอมองว่าจำเป็น เพราะทำให้เธอ “ปลง” และไม่ยึดติดกับความวุ่นวายทางโลกมากจนเกินไป

ในบทที่ 33 ซู จีเขียนถึงเพื่อนแท้ (A Friend in Need) เธออ้างถึงคัมภีร์โลกนิติ (Lokaniti) ซึ่งเป็นสุภาษิตที่คนพม่าชื่นชอบและถูกนำมาอ้างถึงบ่อยครั้ง คัมภีร์โลกนิติมีลักษณะเป็นสุภาษิตคำสอน ที่ชี้แนะให้ผู้อ่านใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวังและอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสงบ เนื้อความส่วนหนึ่งของคัมภีร์ที่ซู จีนำมาอ้าง กล่าวถึง “เพื่อน” ว่า

“เพื่อนที่อยู่เคียงข้างคุณในยามป่วยยาก ในเวลาที่ขาดแคลน หรือในช่วงที่ตกอับ เมื่อถูกจับโดยศัตรู … คนเหล่านี้ล้วนเป็นเพื่อนแท้”[4]

ตลอดช่วงต้นทศวรรษ 1990 สมาชิกพรรค NLD จำนวนมากถูกรัฐบาลทหารควบคุมตัว แต่พวกเขากลับไม่แสดงความวิตกกังวลใดๆ ออกมา แถมยังยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดจนปล่อยมุกตลกใส่ผู้สื่อข่าว เมื่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศถามว่า ทำไมผู้นำพรรคฯ จึงมิได้รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ ก็มักจะได้รับคำตอบว่าการต่อสู้กับระบอบเผด็จการเป็นกลุ่มไม่ได้ทำให้สมาชิกพรรครู้สึกโดดเดี่ยว แต่กลับทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นมาก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า การต่อสู้ร่วมกันเป็นการพิสูจน์กัลยาณมิตร

ในช่วงท้ายของ “จดหมายจากพม่า” ผู้อ่านจะได้เห็นทัศนคติของออง ซาน ซู จีที่มีต่อชีวิตมากขึ้น ทั้งในทางโลกและทางธรรม ครั้งหนึ่งเพื่อนคนหนึ่งทักซู จีว่า เธอมีชีวิตที่แสนจะไม่ปกติ แต่ซู จียืนยันว่าเธอรู้สึกว่าชีวิตของเธอเป็นปกติและเป็นสุขดี แม้จะไม่สมบูรณ์ก็ตาม เธอกล่าวว่าง่ายๆ ว่า

“ฉันคิดว่าชีวิตในแบบของฉันอาจจะดูแปลกมากๆ สำหรับบางคน แต่ก็เป็นชีวิตที่ฉันรู้สึกคุ้นชินไปแล้ว และแท้ที่จริง มันก็ไม่ได้แปลกไปกว่าอะไรหลายๆ อย่างที่เป็นอยู่ในพม่าทุกวันนี้”

ภายใต้สีหน้าของผู้คนที่ดูยิ้มแย้มแจ่มใส เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ภายใต้ประเทศที่ดูสงบสุขและยังรักษาขนบธรรมเนียมแบบพุทธไว้อย่างดี แท้จริงแล้วกลับเน่าเฟะ เต็มไปด้วยการคอร์รัปชันและการกดขี่ในทุกระดับ ซู จีมักได้ยินนักท่องเที่ยวถามว่าเผด็จการที่ไร้ซึ่งอารมณ์ขันทั้งปวงและเลวร้ายสุดขีดโผล่ขึ้นมาจากสังคมที่แสนจะเรียบง่ายและสงบสุขอย่างพม่าได้อย่างไร ซู จีหัวร่อให้กับสโลแกนชักชวนให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวพม่า ซึ่งเธอมองว่าไม่ต่างกับ “สวนสนุกของเหล่าเผด็จการฟาสซิสม์” (Fascist Disneyland)[5]

 

ระบอบเผด็จการในพม่า

 

พม่าอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารรวมกันเกือบ 50 ปี นับตั้งแต่รัฐประหารของนายพล เน วิน ในปี 1962 (พ.ศ. 2505) จนเน วิน ลงจากตำแหน่งในปี 1988 (พ.ศ. 2531) ระบอบเผด็จการก็ยังไม่หายไปไหน กลับยิ่งทวีความรุนแรงโหยหาอำนาจมากขึ้นอีก

ในช่วงท้ายของ “จดหมายจากพม่า” ซู จี เล่าถึงความสูญเสียครั้งแล้วครั้งเล่าที่เธอประสบพบมาหลังจากเข้าสู่วงการการเมืองในปี 1988 (แต่เธอกลับไม่เคยเล่าถึงการพลัดพรากจากสามีและลูกๆ ของเธอเลย) ความสูญเสียที่ออง ซาน ซู จีต้องประสบหลังจากเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรค NLD นั้นมีมากมาย

นอกจากเธอจะสูญเสียไมเคิล อาริส ผู้เป็นสามี จากโรคมะเร็งต่อมลูกหมากโดยไม่มีโอกาสกล่าวคำอำลาเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เธอยังเห็นคนในพรรค NLD และประชาชนผู้รักประชาธิปไตยอีกมาก ที่ต้องพัดพรากจากครอบครัวและคนรัก ถูกซ้อมทรมาน และถูกจำคุกด้วยข้อหาที่ตนไม่ได้ก่อ ทั้งสมาชิกพรรคของเธอและประชาชนทั่วไปสามารถถูกรัฐจับกุมได้ทุกที่ทุกเวลา เมื่อรัฐประเมินว่าคนหล่านี้มีโอกาสสร้างความเดือดร้อนให้กับตน ซู จีเล่าว่านักโทษที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐสามารถถูกควบคุมตัวได้ถึง 3 ปี โดยที่ญาติไม่สามารถติดต่อได้

แม้การดำเนินชีวิตแบบปกติในสังคมเผด็จการอย่างพม่าจะยากลำบาก แต่สมาชิกพรรค NLD และชาวพม่าส่วนใหญ่ก็เห็นว่าการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเป็นสิ่งจำเป็น

ในตอน “ความตายระหว่างถูกคุมขัง” (Death in Custody) ซู จี พูดถึงอู หล่ะ ตัน (U Hla Than) สมาชิกพรรค NLD ที่ชนะการเลือกตั้งในปี 1990 จากหน่วยการเลือกตั้งบนเกาะโคโค่ (Coco Islands) เกาะเล็กๆ ในทะเลอันดามัน อดีตที่คุมขังนักโทษการเมือง (คล้ายกับเกาะตะรุเตาในไทย) ซึ่งมีประชากรมีเพียงประมาณ 1,000 คน การส่งคนของพรรค NLD ไปลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ที่ห่างไกลเป็นอนุสติที่เตือนให้พรรคฯ ระลึกว่าไม่ว่าพื้นที่นั้นจะไกลแค่ใด ประชาชนพม่าก็ต้องการประชาธิปไตย เช่นเดียวกับนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ต่อมา อู หล่ะ ตันถูกศาลที่ตั้งขึ้นโดยรัฐบาลทหารสั่งให้จำคุก 25 ปี ด้วยข้อหาเป็นกบฏ และเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัวในอีก 5 ปีต่อมา สาเหตุของการเสียชีวิตของอู หล่ะ ตันถูกเปิดเผยในภายหลังว่าเป็นเพราะโรควัณโรคและ HIV ซึ่งเกิดจากสภาพที่ย่ำแย่ภายในเรือนจำอินเส่ง (เรือนจำที่คุมขังนักโทษการเมืองและนักโทษอุกฉกรรจ์) และการขาดแคลนงบประมาณจนทำให้แพทย์ต้องใช้เข็มฉีดยาเข็มเดียวกับนักโทษหลายคน

การปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารยังก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นกระจายอยู่ทุกระดับ ปัญหาคอร์รัปชั่นสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจของพม่า เพราะเจ้าหน้าที่รัฐระดับล่างจำต้องคอร์รัปชั่นและรับสินบนเพื่อความอยู่รอด ในทศวรรษ 1990 ข้าราชการชั้นผู้น้อยในพม่าได้รับเงินเดือนไม่ถึง 500 บาท การเรียกรับ “เงินค่าน้ำชา” (แปลตรงตัวว่า “ทิป”) จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ซู จีเข้าใจประเด็นนี้เป็นอย่างดีและมิได้รู้สึกโกรธเกลียดเจ้าหน้าที่ผู้น้อยเหล่านั้น เป้าหมายการต่อสู้ของ NLD อยู่ที่การทลายกำแพงรัฐบาลทหารและกองทัพ ที่ในขณะนั้นอยู่ภายใต้การปกครองของสลอร์ค (SLORC หรือ สภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ) รวมทั้งเครือข่ายของสลอร์คที่แทรกซึมเข้าไปในระดับท้องถิ่น เครือข่ายเหล่านี้มีกลุ่มอันธพาล (thug) เป็นของตนเอง เพื่อสอดส่องดูแลพฤติกรรมของคนในชุมชน และเป็นกระบอกเสียงให้กับ MI (Military Intelligence) หรือหน่วยสืบราชการลับที่มีประสิทธิภาพอย่างมากของพม่า

 

ลักษณะนิสัยส่วนตัวของซู จี

“ดังที่ฉันได้พูดถึงมาหลายครั้งแล้ว ชีวิตของผู้ที่มีความเห็นต่างในพม่าไม่น่าเบื่ออย่างแน่นอน”[6]

ออง ซาน ซู จี เป็นตัวอย่างของผู้หญิงพม่าทั่วไป แต่ด้วยภูมิหลังทางครอบครัวและการศึกษาที่ได้รับจากอินเดียและอังกฤษ ทำให้เธอแตกต่างจากผู้หญิงพม่าที่มีการศึกษาอื่นๆ ในสมัยอาณานิคม ข้าราชการอาณานิคมที่เข้ามาในพม่าต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าผู้หญิงพม่ามีสถานะพิเศษในสังคม นอกจากจะเป็นทั้ง “เมีย” และ “แม่” แล้ว ผู้หญิงพม่ายังมีสถานะทางสังคมที่เหนือกว่าหลายสังคมในเอเชีย ค่านิยมที่เคารพผู้หญิงของชาวพม่า ประกอบกับการเป็นบุตรสาวของนายพล ออง ซาน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เธอก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า ภาพนักการเมืองฝั่ง NLD ที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและสมถะดูเป็นขั้วตรงข้ามกับนายพลในกองทัพและรัฐบาลทหารที่ใช้ชีวิตอย่างหรูหราฟู่ฟ่า

อย่างไรก็ดี การได้รับยกย่องว่าเป็นวีรสตรีของชาวพม่าและการที่สังคมมีความคาดหวังต่อเธออย่างสูง ทำให้ซู จี ต้องพัฒนาลักษณะนิสัยบางอย่างที่เราเห็นกันบ่อยขึ้นในช่วงหลังการเลือกตั้งทั่วไปในพม่า เมื่อปี 2015

ซู จีเป็นคนเคร่งครัดกับกฎระเบียบ ยิ่งเธอใช้ชีวิตอยู่ด้วยตัวของเธอเองมานาน ทำให้เธอมีความอดทนกับเรื่องจุกจิกน้อย และที่สำคัญเธอส่งข้อความผ่าน “จดหมายจากพม่า” อย่างชัดเจนว่าเธอไม่ชอบให้สัมภาษณ์สื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อพม่าหรือสื่อต่างชาติ มีนักข่าวที่รู้จักกันมานานและสนิทสนมเพียงบางคนเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงตัวเธอได้

ซู จีเล่าไว้อย่างละเอียดในบทที่ 36 ว่าด้วยการสื่อสาร (Communication) ว่าเธอไม่ชอบการโพสต์ท่าให้ช่างภาพถ่ายภาพติดต่อกันเป็นเวลานานๆ นอกจากนั้น เธอรู้สึกเหนื่อยทุกครั้งที่ต้องให้สัมภาษณ์เรื่องซ้ำๆ กับนักข่าวต่างประเทศ

หลังจากเธอได้รับการปล่อยตัวจากการถูกควบคุมตัวในบ้านพักในปี 1995 มีนักข่าวต่างประเทศหลายร้อยคนคอยสัมภาษณ์เธอ เธอมองว่าการสื่อสารกับนักข่าวบางคนเป็นเรื่องยาก ทั้งในเรื่องของภาษาและความแตกต่างด้านทัศนคติ มีนักข่าวเพียงไม่กี่คนที่เธอมองว่ามีทัศนคติที่ดีและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้พูดคุยด้วย

อาจเป็นเพราะ “อคติ” ที่ซู จีมีต่อนักข่าว จึงทำให้เธอมีปัญหากับนักข่าวบางคน โดยเฉพาะคนที่ชอบถามจุกจิกหรือถามคำถามที่เธอไม่อยากตอบ เห็นได้ชัดเจนจากกรณีที่เธอถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงในช่วงต้นปี 2016 ซึ่งมิชาล ฮุสเซน (Mishal Husein) ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวบีบีซีชาวอังกฤษเชื้อสายปากีสถาน สัมภาษณ์เธอในประเด็นเรื่องการปราบปรามชาวโรฮิงญา มีรายงานว่าซู จีหัวเสียอย่างหนักหลังการสัมภาษณ์และกล่าวขึ้นว่า “ไม่เห็นมีใครบอกฉันก่อนเลยว่านักข่าวที่จะมาสัมภาษณ์เป็นคนมุสลิม”

การอ่าน “จดหมายจากพม่า” นอกจากจะทำให้เราเข้าใจเธอมากขึ้นในฐานะนักการเมืองและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าแล้ว เรายังเข้าใจเธอมากขึ้นในฐานะคนธรรมดา ซู จีเป็นคนพม่าที่ฉลาดรอบคอบ พร้อมที่จะประนีประนอม อดทนอดกลั้นกับสิ่งเล็กน้อยเพื่อรอคอยความเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ใหญ่กว่า

ลักษณะนิสัยนี้สะท้อนออกมาอย่างชัดเจนในบทที่ 28 เธอเล่าถึงการซ่อมหลังคาบ้านพักที่กำลังรั่ว สำหรับเธอ การบริหารประเทศคงไม่ต่างกับการซ่อมโครงสร้างหลังคาบ้านที่กำลังมีปัญหา พ้องกับสุภาษิตพม่าโบราณที่ว่า “ถ้าหลังคาไม่ดี บ้านทั้งหลังก็จะรั่วได้ง่าย” ซึ่งหมายความว่า หากผู้บริหารระดับสูงไม่ดีก็จะก่อให้เกิดปัญหาลงมาถึงคนระดับล่างสุดได้[7]

ระหว่างที่ซู จีถูกควบคุมตัวในบ้านพัก ปัญหาใหญ่ที่เผชิญคือหลังคาบ้านรั่ว ต้องใช้เวลาไปกับการรองน้ำที่ไหลรั่วลงมาจากหลังคาและการทำให้พื้นบ้านแห้ง แนวคิดของเธอคือ หากตัวเธอและบ้านจะมีความสุขได้ก็ต้องทำหลังคาบ้านให้แน่นหนาเสียก่อนเป็นอันดับแรก และการซ่อมหลังคาต้องทำในหน้าอื่นที่ไม่ใช่หน้าฝนเท่านั้น เมื่อหลังคาเข้มแข็งแล้ว เธอและคนงานถึงจะเริ่มทาสี และทำความสะอาดส่วนอื่นๆ ได้ การเปลี่ยนหลังคาจึงเท่ากับเป็นการซ่อมแซมบ้านทั้งหลัง[8]

แต่การ “ซ่อมบ้าน” ของเธอนั้นมีอุปสรรคขวากหนามหลายอย่าง นอกจากรัฐบาลทหารที่ปกครองพม่ามาหลายสิบปีแล้ว ผู้เขียนมองว่าระบอบเผด็จการหรือระบอบฟาสซิสม์เองก็ฝังรากลึกอยู่ในสังคมแบบพม่าๆ ผู้นำพรรค NLD ยุคบุกเบิกล้วนเคยถูกฝึกมาแบบทหาร และเคยชินกับระบอบฟาสซิสม์แบบไม่รู้ตัว

ซู จีเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งใน “จดหมายจากพม่า” เป็นบทสนทนาระหว่างซู จี กับอู จี หม่อง อดีตพันเอกในกองทัพพม่า ขณะนั้นเป็นรองหัวหน้าพรรค NLD  อู จี หม่อง กล่าวถึงเพลงของกองทัพพม่าในระหว่างสงคราม ที่ยืมทำนองเพลงปลุกใจทหารของญี่ปุ่นมาใส่เนื้อร้องแบบพม่า ชาวญี่ปุ่นที่ศึกษาวัฒนธรรมพม่ามักตั้งคำถามว่าเหตุใดวิทยุและโทรทัศน์พม่ายังเผยแพร่เพลงปลุกใจเหล่านี้ ซึ่งถูกมองว่าเป็นของแสลงในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน แต่อู จี หม่อง กลับไม่เห็นว่าเพลงเหล่านี้มีลักษณะฟาสซิสม์หรือเป็นเพลงโฆษณาชวนเชื่อของกองทัพที่ตรงไหน อดีตนายพันมองว่าทำนองเพลงของกองทัพญี่ปุ่นนี้ช่างสวยงาม กล่าวถึงดอกซากุระและความเสียสละของทหารในกองทัพญี่ปุ่น[9]

 

นับตั้งแต่ “จดหมายจากพม่า” ออกสู่สายตานักอ่านในปี 1995 (พ.ศ. 2538) ก็ผ่านมาสองทศวรรษแล้ว ในช่วงเวลานี้ มีเหตุการณ์สำคัญหลายอย่างเกิดขึ้นในพม่า ตั้งแต่การวางแผนปฏิรูประยะยาวที่รู้จักกันในนาม “แผนการเจ็ดขั้นตอนสู่ประชาธิปไตย” (7 Steps Roadmap to Democracy) ที่เริ่มนำมาใช้ในปี 2003 (พ.ศ. 2546) จนถึงการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลทหารครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 19 ปี ในเหตุการณ์ “การปฏิวัติชายจีวร” (Saffron Revolution) ในปี 2007 (พ.ศ. 2550)

หลัง “จดหมายจากพม่า” ออกมาไม่นาน รัฐบาลทหารก็สั่งให้ควบคุมตัวออง ซาน ซู จี ในบ้านพักต่อไป เธอได้รับการปล่อยตัวอีกครั้งในปี 2010 (พ.ศ. 2553) ท่ามกลางกระแสประชาธิปไตยเบ่งบานสุดขีดในพม่า

ความคาดหวังที่สังคมพม่ามีต่อออง ซาน ซู จีเพิ่มมากขึ้น เมื่อพรรค NLD ได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งประวัติศาสตร์ในช่วงปลายปี 2015 (พ.ศ. 2558) ซึ่งเปิดทางให้ NLD ขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่เมื่อเธอและคนในพรรคเข้ามารับหน้าที่บริหารอย่างเต็มตัวแล้ว ทั่วโลกกลับมองว่าซู จีไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่สำคัญที่สุดในพม่า ได้แก่ ความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาได้ และเธอยังหลีกเลี่ยงไม่ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการสังหารหมู่ชาวโรฮิงญาที่มีมาตั้งแต่ปี 2012 (พ.ศ. 2555)

ผู้เขียนได้ชี้ประเด็นแล้วว่า ผู้นำพม่าในขณะนี้ล้วนเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัด ดังนั้นนโยบายของ NLD จึงเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวพุทธซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และเป็นฐานเสียงสำคัญที่สุดของพรรค

นอกจากนั้น อำนาจนำของกองทัพพม่ายังคงมีอยู่ ผู้นำอย่างซู จีก็มองเห็นว่า เธอไม่มีทางปฏิรูปประเทศได้สำเร็จตามแนวทางที่ได้วางไว้ หากไม่ได้รับไฟเขียวจากนายพลระดับสูงในกองทัพ

ซู จียังเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง ทำให้เธอไม่ไว้ใจใครอื่น นอกจากคนในพรรค NLD ที่ร่วมต่อสู้กันมา และที่ปรึกษาอีกจำนวนหนึ่งที่เธอคุ้นเคย ท้ายที่สุด อาจถึงเวลาที่เราต้องยอมรับแล้วว่า ด้วยวัย 72 ปี ออง ซาน ซู จี อาจจะไม่ใช่บุคคลที่เหมาะสำหรับการบริหารประเทศในยุคสมัยใหม่

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่พม่าจะปฏิรูปไปข้างหน้าด้วยมันสมองของ “ลู เหง่” หรือคนหนุ่มคนสาว มากกว่า “ลู จี” หรือผู้อาวุโส?

 

อ้างอิง

[1] Aung San Suu Kyi. Letters from Burma. London: Penguin Books, 1997, p.122.

[2] Ibid., p.137.

[3] Ibid., p.32.

[4] Ibid., p.149.

[5] Ibid., pp.203-4.

[6] Ibid., p.179.

[7] Ibid., p.112.

[8] Ibid., p.111.

[9] Ibid., p.109.

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save