fbpx
Re-defining Documentary : โลกลับแลของหนังสารคดี คุยกับ เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ

Re-defining Documentary : โลกลับแลของหนังสารคดี คุยกับ เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย และ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

สมัชญา แซ่จั่น ภาพ

 

ในช่วงสองสามปีมานี้ กระแสการชมหนังสารคดีเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่คนไทย การเกิดขึ้นของ Documentary Club รวมถึงแพล็ตฟอร์มหนังออนไลน์อย่าง Netflix ช่วยเปิดโลกของสารคดีให้กว้างกว่าที่เคยเป็นมา

เราได้เห็นสารคดีที่สนุกและสร้างความบันเทิงได้ไม่แพ้หนังที่อยู่ในกระแส ผิดจากภาพจำเดิมๆ ที่ดูน่าเบื่อและเข้าถึงยาก ขณะเดียวกันในฝั่งของผู้ผลิตเอง ก็เริ่มหันมาทำสื่อประเภทนี้กันมากขึ้น

ทั้งนี้เมื่อเราพูดถึงคำว่า “สารคดี” อีกคำหนึ่งที่มักจะถูกพ่วงท้ายมาด้วยเสมอ ก็คือคำว่า “ความจริง” หรือ “ข้อเท็จจริง”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของ สารคดี ว่า “เรื่องที่เรียบเรียงขึ้นจากความจริง ไม่ใช่จินตนาการ”

เวลาเราดูหนังสารคดี เรารู้ว่านั่นเป็นเรื่องที่สร้างขึ้นจากความจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เห็นนั้นต้อง ‘จริง’ ทั้งหมดเสมอไป

ยิ่งเมื่อผ่านการถ่ายทำ ตัดต่อ เรียบเรียงใหม่ การนำเสนอความจริงอย่างตรงไปตรงมา จึงเป็นเรื่องที่ถูกท้าทายและกลายเป็นประเด็นถกเถียงเสมอมา

คำถามที่น่าคิดก็คือ สุดท้ายแล้วแก่นแท้ของการทำสารคดีสักเรื่องหนึ่งคืออะไร แล้วการประกอบสร้างความจริงในงานประเภทนี้มีขอบเขตอยู่ตรงไหนกันแน่ ?

 

วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย

 

เพื่อจะหาคำตอบนี้ 101 จึงชักชวนคนทำสารคดีรุ่นใหม่มาล้อมวงสนทนา คนแรกคือ เบสท์-วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘นิรันดร์ราตรี’ ที่กำลังเข้าฉายอยู่ในเมืองไทยขณะนี้ แต่ก่อนหน้านี้ได้ไปฉายในเทศกาลหนังต่างประเทศมาก่อนแล้ว ทั้งในยุโรปและเอเชีย นอกจากจะเป็นคนทำหนังรุ่นใหม่ที่น่าจับตา เขายังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Eyedropper Fill กลุ่มศิลปินด้านวิชวลอาร์ตที่จัดเจนในการสร้างสรรค์สื่อสมัยใหม่ มีผลงานการันตีในระดับนานาชาติ

 

ณฐพล บุญประกอบ

 

อีกคนที่เราชวนมาคุยด้วยคือ ไก่-ณฐพล บุญประกอบ ผู้กำกับสารคดีมาดกวนที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงมาหลายปี ในหลายบทบาท ตั้งแต่การเป็นนักแสดง คนเขียนบท ผู้กำกับมิวสิควิดีโอ ผู้กำกับสารคดี ฯลฯ หลังจากบินไปนิวยอร์กเพื่อร่ำเรียนในสาขา Social Documentary Film ที่ School of Visual Arts แล้วสร้างผลงานชิ้นโบว์แดงอย่าง ‘Alex’ ที่เข้ารอบ shortlist ในเวที BAFTA Student Film Award เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ล่าสุดเขากลับมาปักหลักที่เมืองไทย และกำลังซุ่มทำโปรเจ็กต์สารคดีส่วนตัวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

นอกจากความหลงใหลในศาสตร์ของสารคดี สองคนนี้ยังมีแพชชั่นในการบ่มเพาะเด็กรุ่นใหม่ รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ในแวดวง ตั้งโครงการ ‘Young จะทำ’ เพื่อสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่มีฝัน มีไฟ และอยากใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม

ต่อไปนี้คือบทสนทนาสบายๆ ว่าด้วยพรมแดนของหนังสารคดี วิธีคิดในการทำสื่อสมัยใหม่ ไปจนถึงการนำเสนอความจริงของสังคมไทยภายใต้ช่วงเวลาแห่งการคืนความสุข

 

จุดเริ่มต้นในการทำสารคดีของแต่ละคนคืออะไร

ณฐพล : เราโตมากับการทำหนังฟิคชั่น เอ็มวี อีกขาก็คือวิดีโออินโฟกราฟิกที่ย่อยข้อมูลเชิงสังคม เริ่มจากทำคลิป ‘รู้ สู้ Flood’ ตอนน้ำท่วมปี 2554 งานนั้นจุดประกายให้เรารู้ว่าเครื่องมือที่เรามี สามารถสร้าง effect บางอย่างกับคนดูได้ และมันไม่จำเป็นต้องบันเทิงอย่างเดียว แต่สามารถตอบโจทย์ในการสื่อสารเรื่องราวของสังคมได้ด้วย

วรรจธนภูมิ : จุดที่ทำให้เราสนใจสารคดี มาจากการที่เราเขียนบทหนังที่เป็นฟิคชั่นไม่เก่ง เราก็เลยไปหาเรื่องเล่าจากคนอื่น ซึ่งมันดันสอดคล้องกับวิธีคิดตอนที่เราเรียนออกแบบ ที่เน้นการเก็บข้อมูล แล้วเอาข้อมูลนั้นมาทดลอง เอามาสร้างเป็นอะไรบางอย่าง การทำหนังสารคดีก็คล้ายกัน มันต้องออกไปถ่าย ไปเก็บข้อมูลบางอย่างมา แล้วเอาฟุตเทจที่ได้มาดูว่าจะทำเป็นอะไรได้บ้าง แล้วในฐานะคนทำ เราชอบกระบวนการของสารคดีตรงที่ว่า มันทำให้เราได้ไปเจอสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ มันต้องอิมโพรไวส์ ซึ่งจริงๆ เราถนัดอะไรแบบนี้มาก

 

การทำสารคดีจำเป็นต้องอิมโพรไวส์ ?

ณฐพล : ใช่ เพราะการรับรู้ของคนหนึ่งคน มันถูกจำกัดด้วยชุดความรู้กับประสบการณ์ที่เรามี ทำให้เรามองเห็นโลกในแบบหนึ่ง ยกตัวอย่างเมื่อเราเข้าไปจับประเด็นหรือ subject ที่เราสนใจ เช่น เราอยากทำเรื่องขวดน้ำ เราก็จะมีภาพขวดน้ำที่อยู่ในหัวเรา มีข้อมูลของขวดน้ำที่ได้จากการรีเสิร์ชมา ซึ่งเป็นข้อมูลชั้นสอง แต่เมื่อเราได้ไปเจอชีวิตของขวดน้ำจริงๆ ได้เห็นแง่มุมอื่นที่อยู่นอกเหนือจากการรับรู้เดิม มุมมองต่อขวดน้ำขวดเดิมก็อาจเปลี่ยนไป จุดนี้แหละที่เราคิดว่ามันเป็นความท้าทายในการทำสารคดีสักเรื่องหนึ่ง เพราะเราต้องเปิดรับให้มากพอ ขณะเดียวกันก็ต้องหนักแน่นว่าเราอยากเล่าเรื่องนี้เพราะอะไร

วรรจธนภูมิ : อย่างการทำหนังฟิคชั่น มันคือการทำโครงมาให้แน่น แล้วพยายามทำให้ใกล้เคียงกับโครงนั้นมากที่สุด อาจอิมโพรไวส์ได้บางส่วน แต่กับสารคดี มันต้องมีสกิลการอิมโพรไวส์ประมาณนึง ว่าเวลาไปเจอสิ่งนี้ เราควรจะ capture อะไรบ้าง จริงๆ หนังฟิคชั่นก็ต้องออกไปสัมภาษณ์หรือทำรีเสิร์ชมาเหมือนกัน แต่มันคือการทำตามบทที่เขียนมาเสร็จแล้วให้ได้มากที่สุด ส่วนสารคดีจะพลิกอยู่ตลอด คือเริ่มจากสิ่งที่คิด เจอ เปลี่ยน วนแบบนี้ไปเรื่อยๆ เรารู้สึกว่าหนังสารคดีที่ดีคือหนังที่ไม่ได้ยึดอยู่กับข้อมูลของตัวเองตลอดเวลา

 

หมายความว่าโครงเรื่องก็อาจเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ตามสถานการณ์ ?

ณฐพล : เราว่ามันเหมือนกับทาร์ซาน เวลาโหนเถาวัลย์ ต้องจับให้แน่น แต่พอเจอเถาวัลย์อีกอันที่จะทำให้ไปต่อข้างหน้า ก็ต้องปล่อยอันที่จับอยู่ ถึงจะไปต่อได้ ฉะนั้น การที่จุดเริ่มต้นกับผลลัพธ์ไม่เหมือนกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ตอนเราไปเรียนที่อเมริกา สิ่งที่เราชอบมากคือการที่เขาชวนคนทำหนังสารคดีมาพูดให้ฟัง เล่าเบื้องหลังว่าจุดเริ่มต้นของหนังเรื่องนี้คืออะไร พอทำเสร็จแล้วมันเป็นยังไง ปรากฏว่าหนังแทบทุกเรื่อง จุดเริ่มต้นกับผลลัพธ์นี่คนละทางกันเลย ไม่มีเรื่องไหนที่ตั้ง proposal มาแบบนี้ แล้วทำได้ตามนี้เป๊ะๆ

วรรจธนภูมิ : เรารู้สึกว่าหนังมันเติบโตตามคนทำเหมือนกันนะ อย่างเรื่อง นิรันดร์ราตรี เราใช้เวลา 4 ปี มีบางครั้งเหมือนกันที่เราพยายามเอาสิ่งที่เราคิดไปยัดให้เขา เคยมีช่วงแรกๆ ที่แบบว่า เฮ้ย พี่ต้องรู้สึกแบบนี้แน่ๆ เลย แล้วเราก็พยายามถามอยู่นั่นแหละ สุดท้ายความจริงมันไม่ใช่ เราต้องยอม ช่วงหลังๆ เราก็พยายามปล่อย ปล่อยให้เขาพาไป ซึ่งพอเราใช้วิธีแบบนี้ หนังก็เปลี่ยนไปในหลายๆ ด้านเหมือนกัน จนถึงขั้นสุดท้ายมันก็ผ่านตัวเราอยู่ดี แต่เป็นตัวเราที่มองเขา ไม่ใช่ตัวเราที่เอาความคิดของเราไปกำหนดเขา

 

แล้วถ้าเป็นแบบนี้ การตั้ง proposal ในตอนแรกยังมีความสำคัญอยู่ไหม

ณฐพล : สำคัญมาก สำคัญที่สุดเลย มันเหมือนเราวาง framework ก่อน ว่าถ้าจะทำเรื่องขวดน้ำ เราจะไปทางไหน แต่นั่นไม่ได้การันตีว่าเราจะเจออะไรหลังจากนั้น ถูกแล้วที่เราต้องมีแพชชั่นอย่างแรงกล้าในการทำเรื่องเกี่ยวกับขวดน้ำ เพื่อที่มันจะได้เป็นตัวนำทางเราเข้าไป แต่สุดท้ายเราต้องไม่ไปยึดติดว่าตัวนำทางนั้นจะต้องคงอยู่ตลอด การให้ทุนสนับสนุนสารคดีในเมืองนอกก็ใช้วิธีนี้แหละ คือคุณต้องมี proposal ก่อน คุณต้องทำรีเสิร์ช ทำ character reel เพื่อให้เห็นว่ามันมีศักยภาพ การทำ proposal มีไว้เพื่อให้นายทุนรู้ว่าคุณมีแพชชั่นกับเรื่องอะไร แล้วคุณสามารถเล่าเรื่องนี้ออกมาได้มั้ย แต่สุดท้ายเขาไม่ได้มาเช็คหรอกว่า เฮ้ย ไม่เห็นเหมือน proposal เลย หน้าที่เขาแค่ให้ทุนคุณมาทำ

 

แต่เมืองไทยไม่น่าใช่แบบนั้น

ณฐพล : (หัวเราะ) เออ ของบ้านเรานี่สมมติทีวีสักช่องจะให้ทุนมาทำสารคดีสักเรื่อง คุณก็ต้องทำเหมือน proposal ไม่ใช่ว่ายื่นมาแบบนี้ แต่ทำไมทำอีกแบบมา อันนี้ก็เป็นข้อจำกัดหนึ่ง ทำให้การทำสารคดีในไทยยังวนอยู่กับเรื่องของการให้ความรู้เป็นหลัก ซึ่งมันก็เชื่อมไปถึงพื้นฐานการรับรู้เกี่ยวกับหนังสารคดีในเมืองไทย ที่เราโตมากับกระจกหกด้าน จดหมายเหตุกรุงศรีฯ คนค้นฅน หรือสารคดีสัตว์โลกต่างๆ ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วมันเป็นเพียงส่วนเล็กมากๆ ในโลกของสารคดี

แต่ช่วงหลังมานี้ ก็มีกลุ่มอย่าง Documentary Club ที่นำสารคดีรูปแบบใหม่ๆ เข้ามาฉายในเมืองไทย ซึ่งก็ได้รับความสนใจพอสมควร

วรรจธนภูมิ : สำหรับเรา การเกิดขึ้นของ Documentary Club มีความดีงามมากในแง่ที่ช่วยยืนยันว่า จริงๆ มันมีคนดูสารคดีอยู่นะ แต่ในแง่คนทำสารคดี เราว่าก็ยังมีไม่เยอะมาก แล้วที่ทำออกมาก็ยังไม่หลากหลายเท่าไหร่

ณฐพล : อย่าง Netflix นี่ก็ดีนะ ช่วยเปิดโลกได้เยอะเหมือนกัน แต่อีกมุมก็ต้องเข้าใจด้วยว่าสารคดีถือเป็นชนกลุ่มน้อยอยู่แล้ว มันเป็นพื้นที่ลับแล แม้กระทั่งในอเมริกา สารคดีก็ยังไม่สามารถเป็นกระแสหลักของสังคมได้ ในบรรดาสื่อที่มีอยู่มากมาย สารคดีไม่ใช่ตัวเลือกแรกของคนเสพอยู่แล้ว ส่วนในมุมของคนทำ เราว่าการทำสารคดีบางรูปแบบ เช่น การเล่นกับบางประเด็นที่อ่อนไหว หรือเรื่องที่เกี่ยวกับส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ คนทำก็อาจต้องเผชิญผลกระทบจากเรื่องที่ทำ ตั้งแต่ขั้นตอนระหว่างถ่ายทำ ไปจนถึงตอนที่หนังฉายแล้ว พูดง่ายๆ ว่ามันค่อนข้างเซนซิทีฟเมื่อเทียบกับสื่ออื่นๆ

 

ในฐานะคนทำสารคดี มองว่างานประเภทนี้มัน ‘จริง’ แค่ไหน อย่างไร

ณฐพล : ก็ไม่จริงหรอก (หัวเราะ) คือมันมีวิธีการอธิบายเรื่องนี้หลายอย่าง แต่อันที่เราชอบใช้บ่อยๆ ก็คือ สารคดีเป็นแค่ impression ของความจริง เปรียบง่ายๆ ว่าคนทำสารคดีเหมือนทนาย คุณใช้หลักฐานมาโน้มน้าวผู้พิพากษา หลักฐานที่ทนายยื่นให้ผู้พิพากษาดู เปรียบเสมือนกล้องที่ใช้ถ่าย จบ ถามว่ากล้องวงจรปิดเป็นสารคดีไหม เช่น เรานั่งดูกล้องวงจรปิดที่บ้าน ถือว่าเราดูสารคดีรึเปล่า แบบนี้เราว่าไม่เป็น เพราะมันไม่มี point of view ของคนเล่า มันไม่มีเรื่อง แต่ถ้าเกิดเราเอาฟุตเทจจากในกล้องนี้มาใส่ในหนัง มันจะกลายเป็นพาร์ทหนึ่งของสารคดีทันที

วรรจธนภูมิ : สำหรับเรา จริงไม่จริง อยู่ที่มุมมองของผู้กำกับ แล้วแต่ว่าผู้กำกับจะดึงมุมไหนมาเล่า สุดท้ายแล้ว จริงไม่จริง อาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องมานั่งเถียงกัน แต่สิ่งสำคัญคือมันสื่อสารอะไรมากกว่า แต่อันที่เราว่าไม่น่าจะเวิร์กก็คือ การหยิบคนมาคนหนึ่ง แล้วไปสร้างเรื่องแต่งให้เขา แล้วมาหลอกคนดูว่าเป็นเรื่องจริง

 

พูดง่ายๆ ว่ายังไม่มีขอบเขตหรือเส้นแบ่งตายตัว

ณฐพล : ใช่ เรื่องจริยธรรมในการทำสารคดี เราว่ามันเป็นข้อตกลงระหว่างคนทำหนังด้วยกัน ไม่มีไกด์ไลน์ชัดเจน ไม่มีกฎหมาย เป็นแค่ข้อตกลงร่วมกันระหว่างคนทำหนัง คนดู เพื่อนร่วมวิชาชีพ มันถึงได้มีการดีเบตกันตลอดเวลา

วรรจธนภูมิ : เราว่ามันเหมือน gradient คือไม่มีเส้นแบ่งที่ชัดๆ อย่างในหนังเรา บางทีเราจะเอาฟุตเทจที่ได้มาตัดต่อใหม่ เพื่อให้เกิดนัยยะอีกแบบ สมมติเราถ่ายฉากงานศพมา ถ้าเฉพาะฉากนี้มันก็คืองานศพ แต่เมื่อเราเอาไปต่อกับฉากอื่นๆ มันก็จะเกิดเป็นนัยยะอีกแบบหนึ่ง ซึ่งเราก็มองว่ายังเป็นสารคดีอยู่ดี

ณฐพล : ใช่ๆ เหมือนขีดเส้นบนชายหาด มันปนกันอยู่ตลอดเวลา เช่น เราตกลงกันเบสท์ว่า ถ้าเราจะทำสารคดีกันสักเรื่อง เราจะไม่เปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่กระทบกับความน่าเชื่อถือของ subject เราอาจสลับ timeline ยังไงก็ได้จากที่ถ่ายมา แต่มันต้องไม่กระทบกับความจริงที่ว่าเขาเป็นคนแบบไหน อะไรแบบนี้เป็นต้น

วรรจธนภูมิ : อย่างตอนนี้ก็มีคนที่พยายามจะท้าทายเส้นแบ่งนี้อยู่ตลอดเวลา แล้วก็เล่นสนุกกับมัน แต่เราว่าจุดสำคัญของการเถียงเรื่องนี้ก็คือการสร้างคำถาม สร้าง awareness ให้คนดู ว่าอย่าพึ่งเชื่อในสิ่งเห็น เพราะสื่อมันไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น โดยเฉพาะสื่อทุกวันนี้

แล้วในมุมของแต่ละคน คิดว่าสารคดีจำเป็นต้องพูดถึงประเด็นสังคมเสมอไปไหม

วรรจธนภูมิ : เราว่าหนัง ไม่ว่าจะเป็นประเภทไหน มันก็พูดถึงสังคมในแง่ใดแง่หนึ่งอยู่แล้ว แม้กระทั่งหนังตลก หรือหนังผี ที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องสังคมในตัวมันเอง แต่การเกิดขึ้นของมันก็สะท้อนถึงสังคมที่เราอยู่ได้เหมือนกัน

ณฐพล : อันนี้เห็นด้วย เหมือนถามว่างานศิลปะเกี่ยวกับการเมืองรึเปล่า เราว่ามันก็เกี่ยวหมดแหละ ไม่ว่าคุณจะวาดรูปวัด หรือรูปอะไร ส่วนดีกรีของความเข้มข้นในการพูดถึงประเด็นสังคมอย่างรู้ตัวในงานศิลปะ หรือในหนัง จะมากจะน้อย ก็ขึ้นอยู่กับคนทำ

 

แล้วกับบางเรื่อง บางประเด็น ที่อาจพูดยาก หรือเซนซิทีฟ แต่ละคนมีวิธีการสื่อสารออกมาอย่างไร

ณฐพล : เรานับถือคนที่กล้าสื่อสารอย่างตรงไปตรงมา แต่การจะพูดให้คนรับฟังก็มีหลายวิธี แล้วในภาวะสังคมแบบนี้ เราคิดว่าการสื่อสารโดยหลบเลี่ยงการแดกดัน ดูถูก เป็นเรื่องสำคัญมากๆ เราไม่เห็นประโยชน์เท่ากับการพยายามพูดและอธิบายด้วยเจตนาที่เป็นมิตร เพราะสุดท้ายทุกฝ่ายก็ต้องก้าวไปด้วยกันอยู่ดี แหม่ ฟังดูโลกสวยชิบหายเลย (หัวเราะ) แต่นี่เป็นวิธีที่เราเชื่อ เราเลยอยากทำงานที่สื่อสารหลักวิชาการขั้นพื้นฐาน การนิยามความหมายของคำบางคำ หรือวาทกรรมบางอย่างที่เรายังมีมายาคติฝังแน่นอยู่ ให้คนทั่วไปเข้าใจเรื่องเหล่านี้ เพื่อยกระดับการถกเถียง

วรรจธนภูมิ : มีอยู่เรื่องหนึ่งที่เราเคยทำ เป็นสารคดีสั้น ชื่อ Dreamscape Project ทำช่วงที่มีรัฐประหารใหม่ๆ เลย พอทำออกมาก็มีฟีดแบคจากคนทั้งสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งก็บอกว่ามันโปรเจ้ามากๆ อีกฝั่งก็บอกว่ามันกวนตีน มันร้าย ทีนี้ความน่ากลัวคือ เวลาเราพูดถึงบางเรื่อง บางสถาบัน แม้จะไม่ได้พูดในเชิงลบ แต่มันก็สุ่มเสี่ยงที่จะถูกจับอยู่ดี โดยเฉพาะในสถานการณ์แบบนี้ อย่างที่เห็นว่ามีคนโดนจับไปตั้งเยอะแยะ แต่สุดท้ายเรายังเชื่ออย่างหนึ่งว่า การทำงานศิลปะที่เปิดให้คนตีความได้แบบนี้ เป็นวิธีเดียวที่จะสื่อสารประเด็นบางอย่างได้ และเป็นเหตุผลว่าทำไมศิลปะถึงสำคัญ คือเมืองไทยตอนนี้ก็อย่างที่เห็นกันอยู่ จะพูดอะไรตรงๆ ก็ลำบาก ซึ่งบางเรื่องเราว่าก็ควรพูดตรงๆ นะ แต่กลายเป็นว่าต้องอ้อม ซึ่งเราไม่ชอบเลย เราถึงเชื่อว่าสื่อคือปัจจัยสำคัญเหมือนกัน

ณฐพล : อันนี้เป็นแพชชั่นของเราเลย คือการพูดเรื่องสังคมผ่านงานสื่อ ไม่ว่าจะสื่อไหนก็ตาม เรารู้สึกว่าสื่อมันมีเวทมนตร์ อย่างคนที่เป็นเอ็นจีโอ เขาทำงานกันมากี่ปี พูดกันมากี่ปี แต่แทบไม่มีใครฟังเลย เพราะเขาสื่อสารไม่เป็น เรารู้สึกว่าเขามีข้อเท็จจริงหลายอย่างที่ควรค่าแก่การรับฟังมาก แต่เขาไม่รู้วิธีพูด ส่วนพวกเรา รู้วิธีพูด แต่ไม่มีอะไรจะพูด (หัวเราะ)

วรรจธนภูมิ : เออว่ะ ใช่เลย (หัวเราะ) ตอนนี้ปัญหาที่เราเห็นก็คือ ในหลายๆ งานที่เราทำ ไดเร็กชั่นมันตีกัน หมายความว่า เราพยายามจะยัดบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับสังคม ที่ทำให้คนตั้งคำถาม เข้าไปในงานที่เป็นคอมเมอร์เชียล ซึ่งบางงานก็ทำได้ บางงานทำไม่ได้ แต่เราก็พยายามจะยัดอยู่นั่นแหละ ซึ่งทำให้บางงานที่จำเป็นต้องขาย ขายได้ไม่สุด ส่วนประเด็นสังคมที่พยายามจะใส่เข้าไป ก็ไปไม่ถึง ไม่ตรงเข้าประเด็นอยู่ดี ตอนนี้ก็เลยวางแผนว่าจะเปิดอีกสายหนึ่งขึ้นมา เป็นสื่อที่อยู่ตรงกลางระหว่างนักวิชาการหรือนักวิจัยที่มีข้อมูลดีๆ กับคนทั่วไปที่ไม่เคยเข้าถึงข้อมูลพวกนี้ อยากสื่อสารคอนเทนต์เหล่านี้ออกมาให้คนสามารถเอ็นจอย สนุกกับมันได้ นี่คือสิ่งที่เราอยากทำในปีหน้า

 

การใช้ศิลปะเข้ามาช่วยในการสื่อสารแล้วทำให้เนื้อหาบางอย่างถูกลดทอนลงไป ถือว่าเป็นข้อด้อยไหม

ณฐพล : เรามองว่าการทำข้อมูลบางอย่างให้เข้าถึงผู้คนได้ง่าย บางทีก็ต้องยอมเสียรายละเอียดบางอย่าง หรือกระทั่งข้ามข้อมูลบางเรื่องที่ต้องการการอธิบายไปก่อน เพื่อให้คนเข้ามา engage ซึ่งอันนี้มันก็แล้วแต่ประเด็นด้วย เราเคยทำคลิปวิดีโอเรื่องเกษตรพันธสัญญา พูดเรื่องอุตสาหกรรมอาหาร อธิบายให้เห็นภาพความไม่เป็นธรรมในระบบการผลิต ซึ่งมันกลายเป็นไวรัลมากๆ มีคนแชร์เป็นหมื่น ปรากฏว่าสองวันต่อมา เขาก็ตามจนเจอว่าใครทำ แล้วโปรเจ็กต์นี้ก็โดนสั่งพับอย่างรวดเร็ว (หัวเราะ)

 

แล้วอย่างนี้ต้องเปลี่ยนวิธีไหม

ณฐพล : ไม่คิดว่าต้องเปลี่ยนวิธีนะ มันกลับทำให้เรามั่นใจด้วยซ้ำว่ามาถูกทางแล้ว แสดงว่าสิ่งที่เราทำมันอิมแพคกับคนหมู่มาก รวมถึงคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับประเด็นที่เราพูดถึง มันแปลว่าเราจี้ถูกจุด เขาถึงได้ขยับตัว

วรรจธนภูมิ : อย่างหนังเรื่อง Dreamscape Project เราส่งไปประกวดสารคดีในงาน Thai short film ซึ่งไม่ได้รางวัลในหมวดสารคดี แต่กลับได้ popular vote (หัวเราะ) แล้วการได้รางวัลนี้ มันทำให้เราได้รางวัลจากไทยพีบีเอสอีกที ซึ่งไม่ใช่รางวัลที่เราคาดหวังหรือภูมิใจขนาดนั้น แต่จุดสำคัญที่อยากบอกก็คือ มันเป็นรางวัลที่ช่วยคอนเฟิร์มว่า เฮ้ย จริงๆ คนมันอินกับเรื่องนี้ว่ะ ไม่ใช่แค่ตัวคอนเทนต์ แต่รวมถึงวิธีการด้วย ที่มันมีความคลุมเครือบางอย่าง สำหรับเรา บางเรื่องอาจไม่จำเป็นต้องพูดตรงๆ ก็ได้ แล้วการปล่อยให้คลุมเครืออาจทำให้เกิดผลบางอย่างที่รุนแรงกว่าการพูดตรงๆ ด้วยซ้ำ

นอกจากเรื่องที่ว่ามา มองเห็นปัญหาอะไรอีกบ้างในการทำสื่อภายใต้สภาวะสังคมแบบนี้

ณฐพล : เราว่าสิ่งที่บ้านเรายังขาดอยู่ ก็คือความเข้าใจในความรู้พื้นฐานต่างๆ คอร์รัปชันคืออะไร มายาคติในการมองประวัติศาสตร์คืออะไร ยังไม่ต้องไปพูดถึงการจำนำข้าว หรือประเด็นยิบย่อยอื่นๆ ที่เป็นเรื่องปลายทาง เพราะตอนนี้ตรรกะเรายังพังกันอยู่เลย แล้วเราจะดีเบตกันบนหลักการอะไร มันต้องมาเซ็ตตรรกะกันใหม่ก่อน โดยเฉพาะเด็กๆ และคนรุ่นใหม่

วรรจธนภูมิ : เออ เรารู้สึกว่าทุกวันนี้ตรรกะของคนในสังคมมันระเบิดไปไกล จนถึงขนาดที่ทำให้แอบคิดว่า นี่ไม่ใช่ความจริง เพราะมันโคตรเซอร์เรียล บางข่าวที่เราเห็นนี่แบบว่า เชี่ย เรื่องนี้มันเกิดขึ้นจริงๆ เหรอวะ เรารู้สึกว่าเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้แล้ว ยิ่งเห็นสิ่งรอบตัวเราเป็นแบบนี้ มันเหมือนเราโดนข่มขืนทุกวัน … เราไม่อยากแค่ระบายใส่เฟสบุ๊คแล้วก็จบไป แต่อยากใช้ความถนัดของเรา มาช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง แต่มันคงไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด ต้องค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละนิด

ณฐพล : เราว่าจุดที่น่าสนใจของงานสารคดีคือ มันเป็นสื่อที่ตั้งต้นจากการตั้งคำถาม และการสังเกต ซึ่งเราว่าถ้าในสังคมมีเซนส์แบบนี้เพิ่มขึ้น ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ทั้งนี้ก็ต้องวนกลับที่เรื่องเดิม คือเรื่องคอมมอนเซนส์ ตรรกะของคนในสังคม รวมถึงการเปิดโอกาสให้คนตั้งคำถามกับสังคม

สุดท้ายถ้ามันไม่ใช่แค่การทวีตออกมา แต่เป็นการทำหนังสารคดีสักเรื่อง คนพร้อมรึเปล่าที่จะดีเบตกันบนหลักการของเหตุและผล โดยที่ไม่ต้องเอาอิฐปาใส่บ้านใคร

 

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save