fbpx

ปัญหากระบวนการยุติธรรมในคดีข่มขืนของอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนเกี่ยวกับประเด็นสิทธิสตรีในสังคมอินเดียไว้ โดยเฉพาะเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างชาย-หญิงที่มีอยู่สูงมาก อันเป็นผลจากโครงสร้างสังคมอินเดียที่มีลักษณะผู้ชายเป็นใหญ่

ลักษณะสภาพสังคมเช่นนี้ไม่ได้พึ่งเกิดขึ้น แต่เป็นมาอย่างยาวนานแล้ว ดังจะเห็นได้จากมหากาพย์และคำสอนสำคัญทางศาสนาของอินเดียจำนวนมากที่มักรจนาเปรียบเปรยผู้หญิงประหนึ่งสิ่งของเท่านั้น ความน้อยเนื้อด้อยค่าของผู้หญิงในอินเดียส่งผลให้บางครั้งคนอินเดียถึงกับให้นิยามว่า “เกิดเป็นวัวยังดีกว่าเกิดเป็นผู้หญิงในสังคมอินเดีย” เพราะอย่างน้อยวัวก็เป็นพาหนะของเทพเจ้าในศาสนาฮินดูที่มีคนนับถือให้ความเคารพ แตกต่างจากผู้หญิงอย่างสิ้นเชิงที่แม้จะเป็นมนุษย์ แต่ก็ได้รับการปฏิบัติอย่างอยุติธรรมอยู่เสมอ

ความอยุติธรรมที่ว่านั้นไม่ได้มาในรูปของแรงกดดันทางด้านสังคมเพียงเท่านั้น แต่มันรวมถึงปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายในกระบวนการยุติธรรมด้วย เรื่องเหล่านี้มักจะเห็นได้ชัดเจนเมื่อเกิดคดีข่มขืนในประเทศอินเดีย และเมื่อเร็วๆ นี้มีคดีข่มขืนที่เรียกได้ว่าสั่นคลอนกระบวนการยุติธรรมของประเทศอย่างรุนแรง

 

เกิดอะไรขึ้นที่เมืองฮาทาร์ส ประเทศอินเดีย

 

เมื่อราวต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่สำนักข่าวและโซเชียลมีเดียของอินเดียร้อนระอุไปด้วยข่าวการข่มขืนหญิงวรรณะดาลิต (หรือคนไทยรู้จักกันว่า ‘จัณฑาล’) ที่เมืองฮาทาร์ส (Hathras) รัฐอุตตรประเทศของอินเดีย คดีนี้เป็นข่าวใหญ่ไม่เฉพาะภายในอินเดียเท่านั้น แต่ยังดังไกลไปทั่วโลก คดีข่มขืนนี้เกิดขึ้นในราวกลางเดือนกันยายน เมื่อหญิงวรรณะดาลิต อายุ 19 ปี และแม่ของเธอไปทำงานในไร่ตามวิถีปกติของหญิงชาวบ้านในเขตชนบท

แต่แล้วเมื่อตกเย็น แม่ของเธอพบว่าลูกสาวหายตัวไป จึงพยายามตามหาและขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านในบริเวณนั้น ซึ่งสุดท้ายแล้วแม่ของเธอพบร่างลูกสาวในช่วงเช้าของอีกวันหนึ่งด้วยสภาพที่บอบช้ำอย่างหนัก (ต่อจากนี้จะขอใช้คำว่าเหยื่อ) ซึ่งผู้เป็นแม่ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตอนที่พบร่าง เหยื่ออยู่ในสภาพที่คอมีรอยช้ำจากการบีบรัดอย่างรุนแรงจนลิ้นจุกปากออกมา และด้วยแรงบีบที่คอส่งผลให้ฟันของเหยื่อไปกัดลิ้นจนเกือบขาด ในขณะที่ดวงตาของเธอก็โปนออกมาจนผิดรูป

ทั้งนี้ เหยื่อถูกนำส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ในเขตพื้นที่ดังกล่าว โดยระหว่างที่รับการรักษานั้น เหยื่อเล่าว่าเกิดอะไรกับเธอบ้าง โดยย้ำว่าเธอถูกรุมข่มขืนจากผู้ชายจำนวน 4 คนในหมู่บ้าน ซึ่งทั้ง 4 คนมาจากวรรณะที่สูงกว่าเธอทั้งสิ้น เมื่อพี่ชายของเหยื่อทราบจึงเดินทางไปยังสถานีตำรวจเพื่อแจ้งความเอาผิดกับทั้ง 4 คนในคดีร่วมกันข่มขืนและพยายามฆ่า โดยตำรวจใช้เวลากว่า 10 วันในการจับกุมผู้ก่อเหตุ แม้ว่าผู้ก่อเหตุจะใช้ชีวิตปกติตลอดช่วงเวลาก่อนหน้านี้

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุดท้าย เหยื่อต่อสู้กับพิษบาดแผลแห่งความโหดเหี้ยมไม่ไหวอีกต่อไป เป็นเวลากว่าสองสัปดาห์เต็มที่เธอต้องทนกับบาดแผลและความเจ็บปวด จนหมดลมหายใจลงในช่วงปลายเดือนกันยายน ณ โรงพยาบาลประจำกรุงนิวเดลี ซึ่งเธอถูกส่งตัวมารักษาหลังจากที่โรงพยาบาลท้องถิ่นไม่สามารถรักษาอาการสาหัสของเธอได้ และการสิ้นใจของเธอนี้เองก็เปิดเผยความอยุติธรรมในกระบวนการทำงานของตำรวจในพื้นที่ให้สังคมอินเดียรับรู้

ความไม่ชอบมาพากลของตำรวจในการทำคดี

 

อย่างที่อธิบายไปแล้วว่า คดีข่มขืนหมู่ครั้งนี้เป็นกระแสขึ้นมาในสังคมอินเดียในช่วงต้นเดือนตุลาคม ทั้งที่คดีเกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความพยายามปิดข่าวของทางตำรวจในพื้นที่ รวมถึงฝ่ายการเมืองด้วย มีโซเชียลมีเดียของอินเดียจำนวนมากพยายามเปิดเผยข้อมูลของคดีนี้ออกมาในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อสำนักข่าวต่างๆ พยายามขอสัมภาษณ์กับทางตำรวจประจำรัฐอุตตรประเทศ คำตอบที่มักได้กลับมาเสมอคือ “มันเป็นข่าวปลอม” นี่คือความไม่ชอบมาพากลในเรื่องแรกๆ ของคดีนี้

แต่ความไม่ชอบมาพากลของคดีนี้ยังไม่จบเพียงแค่เท่านี้ และจะเพิ่มความเข้มข้นขึ้นไปอีกเมื่อวันที่เหยื่อเสียชีวิต โดยทางครอบครัวของเหยื่อยืนยันว่าจะไม่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ครอบครัวได้รับประกันจากกฎหมายอินเดียอยู่แล้ว แต่เรื่องไม่เป็นอย่างที่คิด เมื่อตำรวจรัฐอุตตรประเทศเบิกเอาศพของเหยื่อออกมาและนำไปเผาโดยพลการ มีเพียงการบอกกล่าวกับทางครอบครัวเท่านั้น พร้อมทิ้งคำพูดอันแสนเจ็บปวดให้กับครอบครัวว่า “สิ่งที่ผิดพลาดเกิดขึ้นไปแล้ว ถึงเวลาต้องเดินหน้าต่อไป”

ที่แย่ไปกว่านั้นคือ มีการใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนมากเพื่อกันไม่ให้ครอบครัวและนักข่าวเข้าร่วมงานฌาปนกิจดังกล่าว ซึ่งตรงจุดนี้เองที่สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้ทั้งครอบครัวและคนอินเดียทั่วไป ทุกคนต่างมองเห็นถึงความผิดปกติของการดำเนินการของตำรวจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะความเร่งรีบในการเผาร่างเหยื่อทั้งที่ครอบครัวไม่ยินยอม ความพิสดารของกรณีนี้ทำให้ผู้พิพากษาศาลหลายคนทนไม่ได้จนต้องออกมาให้คำแนะนำครอบครัวในการดำเนินการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด

ปัญหาการทำงานของตำรวจข้างต้นว่าแย่แล้ว แต่ที่แย่กว่านั้นคือตำรวจไม่ยอมแจ้งข้อหาข่มขืนกับผู้กระทำผิด โดยอ้างว่าไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนอันจะเชื่อได้ว่าเหยื่อถูกข่มขืน หนึ่งในนั้นคือตำรวจบอกว่าไม่พบอสุจิในบริเวณช่องคลอดของเหยื่อ แต่ปัญหาคือ ตำรวจมาเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์บนตัวเหยื่อช้าไป 2-3 วันหลังจากเกิดเหตุ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อหลักฐานทั้งหมดแต่ต้นแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ตำรวจบอกว่าไม่มีการแจ้งความเรื่องข่มขืนในสำนวน ทั้งที่พี่ชายของเหยื่อยืนยันว่าแจ้งความคดีข่มขืนตั้งแต่ต้น

เมื่อลองนำเรื่องราวความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายมาเชื่อมโยงกัน เราจะพบว่าขั้นตอนการทำงานของตำรวจท้องถิ่นมีปัญหาในทุกกระบวนการเลยก็ว่าได้ ตั้งแต่การเก็บหลักฐาน การสอบสวนสืบสวน ไปจนถึงการให้ความสำคัญกับพยานหลักฐาน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้พึ่งเกิดขึ้นกับคดีนี้เท่านั้น แต่มักพบเห็นได้บ่อยครั้งในกรณีข่มขืนที่เกิดขึ้นในอินเดีย

ปัญหาวรรณะ สิทธิสตรี และความไม่เชื่อถือในตัวเหยื่อ

 

คดีข่มขืนนี้น่าสนใจเพราะมันเป็นภาพสะท้อนความซับซ้อนทางสังคมของอินเดียได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศระหว่างชาย-หญิง ความไม่เท่าเทียมกันทางสถานะของคนที่วรรณะต่างกัน ซึ่งแม้ว่าในอินเดียจะมีกฎหมายไม่ให้มีการแบ่งแยกทางด้านวรรณะแล้ว แต่ในทางปฏิบัติ กฎหมายดังกล่าวแทบไม่สามารถบังคับได้จริง และสุดท้ายคือปัญหาการทำงานในกระบวนยุติธรรมของอินเดียโดยเฉพาะจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจในการจัดการกับคดีต่างๆ ภายในประเทศอินเดีย

เมื่อเราพิจารณาประเด็นเรื่องวรรณะ จะเห็นได้ชัดเจนว่ากรณีนี้ เหยื่อมาจากวรรณะที่อาจเรียกได้ว่าอยู่ล่างที่สุดในสังคมอินเดีย ในขณะที่ผู้ก่อเหตุนั้นมีวรรณะที่สูงกว่ามาก ปัญหาตรงนี้ส่งผลให้แนวโน้มการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเอนเอียงไปทางผู้ก่อเหตุมากกว่า เพราะหากเราศึกษาระบบตำรวจของอินเดียจะพบว่า ตำรวจในอินเดียจำนวนมากเป็นคนที่อยู่ในวรรณะระดับบน เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ในระบบราชการส่วนอื่นๆ ฉะนั้น อคติทางด้านวรรณะที่มีเป็นทุนเดิมส่งผลให้การดำเนินของตำรวจไม่ตรงไปตรงมา และอย่างที่เห็นก็คือ การกระทำกับศพของเหยื่อราวกับว่าเธอเป็นอาชญากร ทั้งที่เธอเป็นเหยื่อ

และเมื่อประเด็นวรรณะมาผนวกเข้ากับปัญหาความไม่เท่าเทียมระหว่างชาย-หญิงเข้าไปอีก ยิ่งทำให้คดีกลายเป็นปัญหามากยิ่งขึ้น เพราะถ้าตำรวจทำงานไปตามปกติก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่สิ่งที่ตำรวจทำนั้นกลับด้านกันอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการไม่แจ้งข้อหาข่มขืนและฆ่ากับผู้ก่อเหตุ ทั้งที่อัตราโทษสูงกว่ามาก ที่สำคัญกว่านั้นคือ เหยื่อเป็นผู้ให้ปากคำเองว่าถูกข่มขืน

การที่ตำรวจบอกปัดไม่แจ้งข้อหาดังกล่าวสะท้อนถึงความไม่เชื่อถือต่อเหยื่อ ซึ่งเกิดขึ้นกับกรณีข่มขืนจำนวนมากในอินเดียที่ตำรวจมักมองว่าเหยื่อโกหก และจะประทับรับฟ้องคดีข่มขืนต่อเมื่อผู้ถูกกระทำสามารถหาหลักฐานที่ชัดเจนมาแสดงได้ สิ่งเหล่านี้คือความอยุติธรรมอย่างยิ่งต่อเหยื่อที่ถูกข่มขืน เพราะการตามหาหลักฐานทุกย่างก้าวของเหยื่อและครอบครัว ก็เหมือนการถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำอีกของเหยื่อนั่นเอง

โดยสรุปแล้ว เพียงแค่คดีข่มขืนในอินเดียกรณีเดียวนี้เราทุกคนคงพอได้เห็นถึงความสลับซับซ้อนของสังคมอินเดียที่มีหลายประเด็นเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องวรรณะ และความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งถือเป็นปัญหาทางสังคมที่ใหญ่เรื่องหนึ่งของอินเดีย และเป็นฐานรากสำคัญของปัญหาด้านต่างๆ ของประเทศนี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save