fbpx
การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องเพศ : ความหมายใหม่และโทษใหม่ของการข่มขืนกระทำชำเรา

การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเรื่องเพศ : ความหมายใหม่และโทษใหม่ของการข่มขืนกระทำชำเรา

ปกป้อง ศรีสนิท เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ความผิดเกี่ยวกับเพศตามประมวลกฎหมายอาญา ได้รับการแก้ไขล่าสุดใน พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 27) พ.ศ. 2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาครั้งนี้ บางเรื่องเป็นการแก้ไขเล็กน้อย บางเรื่องเป็นการแก้ไขมากถึงขั้นเปลี่ยนหลักการของความผิด รายละเอียดของกฎหมายใหม่ทุกมาตราที่ถูกแก้ไขดูได้จากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

ประเด็นที่มีการแก้ไขครั้งนี้แยกได้เป็น 6 เรื่องหลักๆ คือ 1. ความหมายใหม่ของการช่มชืนกระทำชำเรา  2. การกำหนดเหตุเพิ่มโทษใหม่  3. การยกเว้นโทษในกรณีการกระทำชำเราโดยสมัครใจระหว่างเด็กด้วยกัน  4. การเปลี่ยนความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราให้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน  5. การขยายบทเพิ่มโทษในความผิดเกี่ยวกับเพศให้ไปถึงผู้ปกครองตามความเป็นจริง และ 6. การขยายการกระทำความผิดของผู้เอาเปรียบโสเภณี

ในบทความนี้จะกล่าวถึง 3 เรื่องแรก คือ ความหมายใหม่ของการกระทำชำเรา การกำหนดเหตุเพิ่มโทษใหม่ และการยกเว้นโทษในกรณีการกระทำชำเราโดยสมัครใจระหว่างเด็กด้วยกัน

 

1. ความหมายใหม่ของการข่มขืนกระทำชำเรา

 

การข่มขืนกระทำชำเรา (rape) หมายถึง การบังคับกระทำชำเรากับผู้อื่นโดยผู้อื่นไม่สมัครใจ ถ้าผู้อื่นยินยอมสมัครใจกระทำชำเราด้วย ก็ไม่เรียกว่าเป็นการข่มขืนกระทำชำเรา คงเป็นเพียงแต่การกระทำชำเรา หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยสมัครใจที่ไม่มีความผิด เว้นแต่ หากผู้อื่นเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี แม้เด็กยินยอม ผู้กระทำก็มีความผิด เพราะเด็กยังอาจตัดสินใจเรื่องทางเพศได้ไม่ดี จึงอาจถูกเอาเปรียบจากผู้ใหญ่[1]

ในอดีต การกระทำชำเรามีความหมายว่า “การกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น”[2] ลักษณะการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราในอดีตกว้างขวางมาก มีได้ตั้งแต่ผู้กระทำใช้อวัยวะเพศสอดใส่อวัยวะเพศผู้เสียหาย ไปจนถึงผู้กระทำใช้วัตถุอื่นใดสอดใส่อวัยวะเพศของผู้เสียหาย เป็นต้น

ศาลฎีกาเคยตีความคำว่า “กระทำกับ” ที่ถือว่าเป็นการกระทำชำเราสำเร็จ หมายถึง “การล่วงล้ำ” หรือ “การสอดใส่” (penetration)[3] ดังนั้นการที่ผู้กระทำความผิดใช้อวัยวะเพศสัมผัสกับอวัยวะเพศของผู้เสียหายโดยยังไม่มีการล่วงล้ำหรือสอดใส่ จึงยังไม่ถือว่าเป็นการกระทำชำเราสำเร็จ อาจเป็นเพียงการพยายามข่มขืนกระทำชำเรา หรือกระทำอนาจารซึ่งโทษเบากว่า

ความหมายของการกระทำชำเราตามกฎหมายเดิม คล้ายกับที่ปรากฏในประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศส มาตรา 222-23 ที่บัญญัติว่า “ข่มขืนกระทำชำเรา หมายถึง ทุกการกระทำที่มีการสอดใส่ทางเพศไม่ว่าด้วยลักษณะใด โดยวิธีการประทุษร้าย ทำให้ผู้อื่นขัดขืนไม่ได้ ขู่เข็ญ หรือ ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผู้อื่น”[4]

ในปัจจุบัน ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดความหมายของการกระทำชำเราใหม่ ดังนี้ “กระทำชำเรา หมายความว่า กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น”[5]

สิ่งที่เปลี่ยนไปจากกฎหมายเดิมคือ การใช้สิ่งอื่นใดหรืออวัยวะอื่นใดของผู้กระทำ สอดใส่อวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้เสียหายเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ ได้ถูกย้ายไปเป็นเหตุเพิ่มโทษของการอนาจาร[6] ดังนั้น การที่ผู้กระทำใช้นิ้วสอดใส่อวัยวะเพศของผู้เสียหาย จากเดิมผู้กระทำเคยมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา (rape) แต่ปัจจุบันผู้กระทำจะมีความผิดฐานอนาจารโดยการล่วงล้ำ (sexual assault by penetration) ซึ่งเป็นอนาจารที่มีเหตุเพิ่มโทษ การแก้ไขดังกล่าวคล้ายกับ ความผิดฐานอนาจารโดยการล่วงล้ำ (assault by penetration)[7] ในกฎหมายอังกฤษ

ความหมายของการข่มขืนกระทำชำเราตามกฎหมายเดิม สอดคล้องกับความหมายของข่มขืนกระทำชำเราในกฎหมายของหลายประเทศ[8] และสอดคล้องหลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (General Principle of respect for human dignity) นอกจากนี้ หากพิจารณาเรื่องความเสียหาย (harm) การที่ผู้เสียหายถูกบังคับสอดใส่อวัยวะเพศหรือทวารหนัก ไม่ว่าด้วยสิ่งใดก็ตาม น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายที่เท่ากัน ไม่ว่ามองจากผู้เสียหายหรือมองจากสังคม

แม้ว่าความผิดฐานอนาจารโดยการสอดใส่ตามมาตรา 278 วรรค 2 จะกำหนดโทษเท่ากับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สะท้อนความรุนแรงของทั้งสองความผิดให้เห็นว่าเท่ากันได้ แต่การถูกประณามจากสังคมยังคงต่างกัน ระหว่าง ข้อหา “ข่มขืน” กับข้อหา “อนาจาร”

ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6336/2557 วินิจฉัยว่า “การกระทำของจำเลย (ผู้ใหญ่) ที่ใช้ปากอมอวัยวะเพศของผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุ 12 ปี จากนั้นจำเลยจับอวัยวะเพศของผู้เสียหายใส่เข้าไปในทวารหนักของจำเลย ถือได้ว่าเป็นการใช้สิ่งอื่นใด (ปากกับทวารหนัก) กระทำกับอวัยวะเพศของผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานกระทำชำเรา”[9]

พฤติกรรมดังกล่าวหากเป็นกฎหมายใหม่ จะถูกลงโทษเพียงข้อหา “อนาจารเด็กโดยการล่วงล้ำ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 279 วรรค 4 ซึ่งฟังข้อหาแล้วดูเหมือนจะเบากว่าคำว่า “ข่มขืนกระทำชำเรา” ทั้งๆ ที่การกระทำดังกล่าวเป็นภัยร้ายแรงต่อเด็ก และควรถูกประณามเทียบเท่ากับการข่มขืนกระทำชำเรา

 

2. การกำหนดเหตุเพิ่มโทษใหม่

 

กฎหมายใหม่ได้กำหนดเหตุเพิ่มโทษใหม่ให้กับการข่มขืนกระทำชำเราและการอนาจารในหลายกรณี คือ

2.1 เพิ่มโทษผู้กระทำที่ใช้อาวุธปืนปลอม

ในอดีต กฎหมายเพิ่มโทษผู้กระทำความผิดข่มขืนกระทำชำเราโดยการมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิดในการข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น[10] หรือในการกระทำชำเราเด็ก[11] ดังนั้น หากผู้กระทำได้ใช้ปืนปลอมขู่ผู้เสียหายเพื่อให้ยอมให้กระทำชำเราด้วย ย่อมเป็นการข่มขืนกระทำชำเราทั่วไปที่ไม่อาจเพิ่มโทษได้ตามกฎหมายเดิม เพราะขาดองค์ประกอบภายนอกของเหตุเพิ่มโทษ

ในปัจจุบัน ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรค 2 ใหม่ และมาตรา 277 วรรค 3 ใหม่ ได้บัญญัติเพิ่มโทษผู้ข่มขืนกระทำชำเราที่ได้กระทำโดยทำให้ผู้ถูกกระทำเข้าใจว่าผู้กระทำมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด

การแก้ไขดังกล่าวเป็นสิ่งดีที่คุ้มครองผู้เสียหาย เพราะในช่วงเวลาวิกฤต ผู้เสียหายคงไม่มีโอกาสได้ดูว่าเป็นปืนจริงหรือปืนปลอม เหตุที่ผู้เสียหายจำยอมมาจากการกลัวสิ่งที่ผู้กระทำนำมาขู่ทั้งสิ้น

2.2 เพิ่มโทษผู้กระทำที่บันทึกภาพและเสียงขณะข่มขืนหรืออนาจารเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบ

ความน่ากลัวของการข่มขืนกระทำชำเราประการหนึ่งคือ ผู้เสียหายไม่กล้าแจ้งความเพราะความอับอาย โดยเฉพาะเมื่อตนเองถูกบันทึกภาพและเสียงไว้ กฎหมายใหม่จึงได้กำหนดเหตุเพิ่มโทษไว้ในมาตรา 280/1 โดยกำหนดให้ผู้กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหรือฐานอนาจาร ที่ได้บันทึกภาพหรือเสียงการกระทำชำเราหรือการอนาจารไว้ เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษหนักขึ้นหนึ่งในสาม และหากผู้กระทำได้เผยแพร่ส่งต่อภาพหรือเสียงดังกล่าว ต้องระวางโทษหนักขึ้นครึ่งหนึ่ง

2.3 เพิ่มโทษในกรณีการกระทำกับผู้ซึ่งไม่สามารถปกป้องตนเองได้  

ผู้ซึ่งไม่สามารถปกป้องตนเองได้ (vulnerable person) เป็นบุคคลที่ผู้กระทำฉวยโอกาสกระทำความผิดข่มขืนหรืออนาจารสำเร็จได้มากกว่าบุคคลทั่วไป ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 285/2 ใหม่ จึงได้กำหนดเหตุเพิ่มโทษหนักขึ้นอีกหนึ่งในสามกับผู้ข่มขืนหรืออนาจาร ที่ได้กระทำต่อบุคคลซึ่งไม่สามารถปกป้องตนเองได้อันเนื่องมาจากเป็นผู้ทุพพลภาพ ผู้มีจิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน คนป่วยเจ็บ คนชรา สตรีมีครรภ์ หรือผู้ซึ่งอยู่ในภาวะไม่สามารถรู้ผิดชอบ

บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรานี้ต้องมีลักษณะร่วมกัน คือ เป็นบุคคลที่มีสภาพทางกายภาพบอบบางที่ปกป้องตนเองลำบาก (vulnerable person) เช่น ตั้งครรภ์ต้องตั้งครรภ์ท้องแก่ มิใช่ตั้งครรภ์สองเดือน คนป่วยเจ็บต้องถึงขนาดอ่อนเพลีย ไม่ใช่แค่เป็นหวัดเจ็บคอ

 

3. การยกเว้นโทษในกรณีการกระทำชำเราโดยสมัครใจระหว่างเด็กด้วยกัน

 

ในอดีต เด็กกับเด็กมีเพศสัมพันธ์ด้วยความสมัครใจทั้งสองฝ่าย ผู้ใหญ่มักจะเข้ามาแก้ปัญหาด้วยการเรียกค่าเสียหาย หากค่าเสียหายลงตัว พ่อแม่เด็กก็มักจะไม่เอาเรื่องหรือไม่แจ้งความ หากค่าเสียหายไม่ลงตัว พ่อแม่เด็กผู้หญิงมักจะมีการแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับเด็กผู้ชายในข้อหากระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี แม้เด็กยินยอมก็เป็นความผิดตามมาตรา 277 รวมทั้งหากเด็กผู้หญิงอายุเกิน 15 ปี ก็ยังดำเนินคดีกับเด็กผู้ชายด้วยข้อหาพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร แม้ผู้เยาว์เต็มใจไปด้วยก็เป็นความผิดตามมาตรา 319 ทั้งที่มาตรา 277 กับมาตรา 319 น่าจะมีขึ้นเพื่อคุ้มครองเด็กไม่ให้ผู้ใหญ่มาหลอกลวงไปมีเพศสัมพันธ์

ทั้งสองมาตราดังกล่าว ไม่น่าจะมุ่งหมายใช้ลงโทษเด็กกับเด็กที่ยินยอมมีเพศสัมพันธ์กัน โดยเด็กมีอายุไม่ต่างกันมากและไม่ได้เอาเปรียบกัน การใช้กฎหมายผิดวัตถุประสงค์ดังกล่าวนำไปสู่การลงโทษเด็กที่มีเพศสัมพันธ์กันเองที่ไม่ได้มีพฤติกรรมเป็นอาชญากร บางคดีเด็กผู้ชายเป็นผู้ต้องหาในความผิดเหล่านี้ ทั้งๆ ที่เด็กผู้หญิงเป็นผู้เริ่มไปหาเด็กผู้ชายก่อนด้วยซ้ำ

ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคท้ายในกฎหมายเดิม ได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการกำหนดว่าการกระทำชำเราด้วยความยินยอมระหว่างเด็ก[12] ที่อายุต่างกันไม่มาก เช่น เด็กชายอายุไม่เกิน 18 ปี เด็กผู้หญิงอายุ 13-15 ปี ให้ศาลเยาวชนสั่งให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง หรืออนุญาตให้สมรสกันโดยกำหนดเงื่อนไข เมื่อศาลสั่งอย่างใดแล้ว ศาลจะลงโทษผู้กระทำน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้

หากพิจารณาให้ดีแล้ว มาตรา 277 วรรคท้ายตามกฎหมายเดิม เหมือนเป็นกฎหมายที่ “ลูบหลัง” และ “ตบหัว” เด็กผู้ชาย กล่าวคือ ตอนแรกก็ให้มีการคุ้มครองสวัสดิภาพหรือให้แต่งงานกัน ซึ่งเหมือนกับการเริ่มต้น “ลูบหลัง” ไม่ลงโทษเด็กผู้ชาย แต่เมื่อเด็กผู้ชายได้กระทำตามเงื่อนไขครบถ้วนแล้ว กฎหมายเดิมยังคงกำหนดให้ศาลลงโทษเด็กอยู่โดยลดโทษให้ ซึ่งเป็นเหมือนการมา “ตบหัว” เด็กผู้ชายภายหลัง

คำถามคือ “แล้วจะให้ไปคุ้มครองสวัสดิภาพหรือให้แต่งงานกันทำไม?” แม้เท่าที่ทราบ ศาลมักจะใช้วิธีการเลี่ยงการลงโทษเด็กผู้ชายในกรณีดังกล่าว แต่ก็ดูเหมือนเป็นมาตราที่เปิดช่องให้นำกฎหมายที่ใช้ลงโทษอาชญากรผู้ใหญ่ที่เป็นภัยทางเพศต่อเด็ก (pedophile) มาใช้ลงโทษเด็กกับเด็กด้วยกันเอง แม้บางคนจะยุให้พ่อแม่เด็กผู้ชายที่อายุไม่เกิน 15 ปี แจ้งข้อหาเด็กผู้หญิงที่มากระทำชำเราเด็กผู้ชายกลับบ้างด้วยข้อหาเดียวกัน แต่วิธีการดังกล่าวคงได้ผลในเชิงกลยุทธ์เจรจาลดค่าเสียหายระหว่างผู้ใหญ่สองฝ่าย แต่ไม่เป็นผลดีในภาพรวมต่อสังคม เพราะยิ่งจะทำให้ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงต้องถูกดำเนินคดีทั้งคู่ แทนที่จะได้กลับไปเรียนหนังสือตามปกติ

มาตรา 277 วรรค 5 และวรรค 6 ใหม่ได้มาแทนที่มาตรา 277 วรรคท้ายเดิม โดยยกเลิกกระบวนการ “ลูบหลัง” และ “ตบหัว” เด็กที่สมัครใจมีเพศสัมพันธ์กัน โดยให้ทั้งเด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงเข้าสู่กระบวนการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก ซึ่งเป็นกระบวนการทางปกครองไม่มีโทษอาญา ไม่มีการส่งสถานพินิจ และหากเด็กปฏิบัติตามเงื่อนไขสำเร็จ ให้ยกเว้นโทษอาญากับเด็กที่สมัครใจมีเพศสัมพันธ์กัน

ส่วนเรื่องค่าเสียหายทางแพ่งระหว่างพ่อแม่ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ยังคงดำเนินการเรียกร้องในคดีแพ่งได้ตามปกติตามสิทธิที่พึงมี โดยไม่ต้องนำคดีอาญามาบีบบังคับเรื่องค่าเสียหายกัน หากผู้ใหญ่จะเรียกเงินกัน ทำไมต้องมาทำลายอนาคตเด็กที่ไม่ได้เป็นอาชญากร นอกจากนี้ในกฎหมายใหม่ยังได้ยกเลิกอำนาจศาลในการอนุญาตให้เด็กสมรสกัน ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สอดคล้องกับอนุสัญญาสิทธิเด็ก และสอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่าเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ควรจะเป็นวัยเรียน ไม่ใช่วัยแห่งการตั้งครอบครัวที่ต้องรับภาระหน้าที่แบบสามีภรรยา

แม้จะมีการแก้ไขเรื่องดังกล่าวในมาตรา 277 วรรค 5 และ วรรค 6 ใหม่ แต่ยังมีเรื่องที่ควรต้องดำเนินการอีกสองเรื่อง คือ

เรื่องแรก กระบวนการยุติธรรมไม่ว่าในชั้นตำรวจ ชั้นอัยการ หรือ ชั้นศาล น่าจะกำหนดหลักเกณฑ์ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องเรียกหลักประกันให้กับเฉพาะเด็กที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 277[13] ที่เกิดจากความสมัครใจทั้งสองฝ่าย เพื่อให้เด็กกลับไปเรียนหนังสือโดยไม่ถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจระหว่างการดำเนินคดีตามสิ่งที่ควรจะเป็น

เรื่องที่สอง ในอนาคต ประมวลกฎหมายอาญาเรื่องพรากเด็กและพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 317 และมาตรา 319 ควรกำหนดบทยกเว้นโทษให้กับเด็กที่สมัครใจมีเพศสัมพันธ์แบบที่เขียนเป็นเหตุยกเว้นโทษไว้ในมาตรา 277 วรรค 5 และ วรรค 6 ด้วย เพราะเหตุว่า ในการกระทำกรรมเดียวกัน สิ่งที่รุนแรงกว่า (มาตรา 277) ยังยกเว้นโทษให้ สิ่งที่เท่ากันหรือเบากว่า (มาตรา 317,319) ควรยกเว้นโทษให้เช่นกัน[14]

คำถามที่ว่า “การแก้ไขกฎหมายโดยยกเว้นโทษให้เด็กที่สมัครใจมีเพศสัมพันธ์กันเองในครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมให้เด็กมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรหรือไม่” ผมเห็นว่าหน้าที่ในการสั่งสอนให้เด็กมีเพศสัมพันธ์เมื่อพร้อมและป้องกันตัวเองอย่างถูกต้อง ควรเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ชุมชน สังคม โรงเรียน ซึ่งอาจรวมถึงหน้าที่ของรัฐ แต่ที่แน่ๆ ไม่ใช่หน้าที่ของกฎหมายอาญาที่มีไว้เพื่อลงโทษคนที่เป็นอาชญากร

ในตอนหน้า ผมจะกล่าวถึงการแก้ไขความผิดเกี่ยวกับเพศในประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีเรื่องสำคัญอีก 3 เรื่อง คือ การเปลี่ยนคดีข่มขืนกระทำชำเราให้เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน การขยายบทเพิ่มโทษในความผิดเกี่ยวกับเพศให้ไปถึงผู้ปกครองตามความเป็นจริง และการขยายการกระทำความผิดของผู้เอาเปรียบโสเภณี

 


 

อ้างอิง

[1] ผู้อื่นที่สามารถให้ความยินยอมให้กระทำชำเราด้วยในประเทศไทยต้องมีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไป ถือว่าเป็นอายุที่สามารถให้ความยินยอมทางเพศได้ (age of consent)

[2] ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรค 2 เดิม

[3] คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4164/2555 “การที่จำเลยใช้ลิ้นเลียอวัยวะเพศผู้เสียหายยังไม่ถือว่าเป็นความผิดข่มขืนกระทำชำเราสำเร็จ เพราะจะเป็นการกระทำชำเราสำเร็จได้ต้องถึงขั้นอวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้ถูกกระทำ หรือล่วงล้ำเข้าไปในทวารหนักของผู้ถูกกระทำ หรือล่วงล้ำเข้าไปในช่องปากของผู้ถูกกระทำ  หากมีการใช้สิ่งของอย่างอื่น เช่น อวัยวะเพศเทียม (หรือลิ้นในกรณีนี้) หรือสิ่งของอย่างนั้นก็ต้องมีการล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศ หรือทวารหนักของผู้ถูกกระทำเช่นกัน”

[4] French Penal Code Article 222-23 “Any act of sexual penetration, whatever its nature, committed against another person by violence, constraint, threat or surprise, is rape.” With the participation of John Rason SPENCER QC,

[5] ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 1 (18) ใหม่

[6] ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 278 วรรค 2 บัญญัติว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำโดยใช้วัตถุหรืออวัยวะอื่นซึ่งมิใช่อวัยะเพศล่วงล้ำอวัยวะเพศหรือทวารหนักของบุคคลนั้น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท”

[7] Sexual Offences Act 2003, section 2

[8] ดู คดี Furundzija ICTY Trial Chamber II, 10/12/1998, paragraph 181 อ้างถึงใน ปกป้อง ศรีสนิท, คำอธิบายกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ, (กรุงเทพฯ: เดือนตุลา, 2556), หมายเลข 31 หน้า 29.

[9]  http://deka.supremecourt.or.th

[10] ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรค 3 เดิม

[11] ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรค 4 เดิม

[12] ในบทความนี้ใช้คำว่า “เด็ก” หมายถึง บุคคลที่อายุไม่เกิน 18 ปี

[13] รวมทั้งมาตรา 319 เรื่องพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจารโดยความยินยอมของผู้เยาว์

[14] ไม่ได้ยกเว้นโทษให้ กรณี ก.พาตัว ข. ไปจากพ่อแม่ของ ข. จนพ่อแม่ของ ข. ไม่สามารถติดตามตัว ข. ได้ แต่ควรยกเว้นโทษให้กรณี ก. กับ ข. ซึ่งเป็นเด็กหรือผู้เยาว์ที่อายุห่างกันไม่มากไปมีเพศสัมพันธ์กันด้วยความยินยอมแล้วทั้งคู่ก็ยังกลับบ้านไปอยู่กับพ่อแม่ผู้ปกครองตามปกติ

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save