fbpx
ปาฐกถา '72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์' ฉบับสมบูรณ์ พร้อมภาพชุดพิเศษ

ปาฐกถา “72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์” ฉบับสมบูรณ์ พร้อมภาพชุดพิเศษ

ปาฐกถา 72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์
บทปาฐกถาโดย ศาสตราจารย์ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ กล่าวนำในงานเปิดตัวหนังสือ ’72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์’  วันพุธที่ 27 มีนาคม 2562 ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ท่านคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์

ท่านอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชาญวิทย์  เกษตรศิริ

ท่านอาจารย์ชูศักดิ์

ท่านอาจารย์ปกป้อง

ท่านอาจารย์ธร

เพื่อนคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์

หลานนักศึกษา

และท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย

ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่คณะฯ จัดงาน 72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์  ผมถือกำเนิดในครอบครัวนายทุนไม่น้อยไม่ใหญ่ เวลาแจ้งเกิดมิได้แจ้งเอง มีคนไปแจ้งให้ คนแจ้งคงเดินหาที่ทำการอำเภอไม่เจอในชั้นต้น จึงแจ้งช้าไปกว่าปี ในเดือนธันวาคมนี้ ผมเข้าใจว่า ผมจะมีอายุ 74 ปี

ท่านอาจารย์สมศักดิ์  เจียมธีรสกุล เคยถามน้องสาวผมคนที่แต่งงานกับชาวฝรั่งเศสว่า ไม่มีใครจัดงาน 60 ปี รังสรรค์ เลยหรือ น้องสาวผมตอบว่า ผมไม่ชอบงานลักษณะนี้ เพราะมีแต่การสรรเสริญเยินยอ  แท้ที่จริงแล้ว ท่านอาจารย์สมบูรณ์ ศิริประชัย เคยพยายามจัดงานนี้ แต่ผมพยายามบอกเขาไม่ให้จัด ถ้าจัดผมจะไม่มา  ภายหลังจากที่ท่านอาจารย์สมบูรณ์ถึงแก่อนิจกรรม ลูกศิษย์คนสนิทของท่านคนหนึ่งมาบอกผมว่า ท่านอาจารย์สมบูรณ์ยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจ

ภาพรังสรรค์ในวัยเด็ก
ภาพรังสรรค์ในวัยเด็ก

ชีวิตครอบครัว

ผมถือกำเนิดในครอบครัวคนจีน จารีตของคนจีนคือยกย่องเพศชาย ซึ่งเป็นจารีตที่ไม่ดี  เมื่อวัยเด็กจนหนุ่ม ผมเกือบไม่ต้องทำงานบ้าน แม่และน้องสาวผมเป็นคนทำงานบ้าน ผมเอาแต่เที่ยวสนุก โชคดีที่ผมฝักใฝ่ในการหนังสือ แม้เมื่อผมกลับจากอังกฤษ แม่ยังเป็นคนซักผ้าและทำกับข้าว  แม่เป็นคนเข้มแข็งมาก แม้พ่อผมป่วยเป็นโรคประสาทตั้งแต่ประมาณปี 2500 แม่เป็นคนแบกภาระครอบครัวทั้งหมด  แม่สอนให้ลูกทุกคนซื่อสัตย์สุจริต มานะอดทน และรู้จักบุญคุณคน

ภาพในความทรงจำที่ฝังลึกก็คือ แม่จับมือผมคัดลายมือภาษาอังกฤษเมื่อผมเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา ทั้งๆ ที่แม่ไม่รู้หนังสืออังกฤษ แม่ไม่รู้ภาษาไทย พูดภาษาไทยปนจีน แม่อ่านแต่หนังสือและหนังสือพิมพ์จีน  ผมเขียนหนังสือเล่มหนึ่งอุทิศให้แม่ ผู้มีประชาธิปไตยในดวงจิต เวลานั้นแม่ยังมีชีวิตอยู่ แม่ดีใจมากและให้หลานชายคนหนึ่งอ่านคำนำหนังสือนั้นให้ฟังบ่อยมาก จนหลานคนนั้นจำสิ่งที่ผมเขียนได้ขึ้นใจ

รังสรรค์กับพ่อ น้องชาย และน้องสาว
รังสรรค์กับพ่อ น้องชาย และน้องสาว

ผมแต่งงานและมีความสุขและความทุกข์ระดับหนึ่ง  ความสุขจากการแต่งงานคือการมีลูก ลูกผมทั้งสองคนเป็นคนดี ไม่เสเพล ไม่ติดยาเสพติด อารมณ์ดีทั้งคู่ ชอบอ่านหนังสือ ชอบชมภาพยนตร์ ชอบชมละครเวที และชมคอนเสิร์ตเพลงคลาสสิกเหมือนผม

ความทุกข์จากการแต่งงานคือมีรายได้ไม่พอใช้  อาจารย์มหาวิทยาลัยเมืองไทยเป็นคนจนชนชั้นใหม่ (Nouveau Poor)  ถ้าไม่ประกอบกิจกรรมผิดกฎหมาย ไม่รับใช้นักการเมือง หรือเป็นขยะสังคม รายได้ไม่พอใช้ตามมาตรฐานการครองชีพของชนชั้นกลางแน่ๆ  ผมเคยทำงานสัปดาห์ละ 7 วัน ต่อเมื่อสุขภาพทรุดโทรมเมื่ออายุ 50 เศษ จึงหยุดทำงานวันเสาร์-อาทิตย์ แล้วไปออกกำลังกาย  เมื่อลูกชายบอกผมว่าอยากเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ผมให้ข้อคิดว่า อยากเป็นคนจนหรือ

รังสรรค์กับลูกสาวและลูกชาย

รังสรรค์กับลูกสาว
รังสรรค์กับลูกสาว

สถาบันการศึกษา

สถาบันการศึกษาที่มีอิทธิพลต่อชีวิตผม มีอยู่ 3 สถาบัน คือ โรงเรียนวัดบวรนิเวศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Cambridge University

โรงเรียนวัดบวรนิเวศ

โรงเรียนวัดบวรนิเวศเดิมเป็นโรงเรียนฝึกหัดครู ต่อมาย้ายสังกัดจากกรมการฝึกหัดครูไปสังกัดกรมสามัญศึกษา ผมเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศในปี 2499 ตั้งแต่ชั้นมัธยมที่หนึ่งถึงแปด  โรงเรียนสอนให้ผมมีวินัย ผมจำได้ว่า เคยถูกครูคณิตศาสตร์ตีมือที่เขียนเครื่องหมายเท่ากับไม่ตรงกับบรรทัดบน ในเวลานั้นผมฉุนที่ถูกตีมือ แต่มาคิดได้ในภายหลังว่า ครูคงต้องการสอนให้นักเรียนมีวินัย ในเวลานั้นครูเอาใจใส่ต่อหน้าที่ ตรวจการบ้านนักเรียนเอง ไม่สอนพิเศษ ซึ่งต่างจากสภาพการณ์ในปัจจุบัน

ผมมีเพื่อนสนิทหลายคนที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ เพื่อนสนิทของผมเกือบทั้งหมดมาจากชนชั้นกลาง มีจำนวนน้อยที่สามารถไต่บันไดขึ้นไปเป็นชนชั้นสูงหรือค่อนข้างสูง  เพื่อนสนิทคนหนึ่งเป็นมาเฟียจังหวัดชลบุรี ซึ่งทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจอย่างมาก เขาเป็นคนพูดจาสุภาพ สุขุม เงียบขรึม ยิ้มแย้มอยู่เสมอ นี่คือความเป็นอนิจจังของชีวิต

ผมสนิทกับเพื่อนที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศมากกว่าเพื่อนที่ธรรมศาสตร์ เพราะอยู่ด้วยกันตลอดทั้งวัน บางคนตลอด 8 ปี  ในขณะที่เพื่อนที่ธรรมศาสตร์พบกันเพียงบางวัน และเพียงไม่กี่ชั่วโมง

นักเรียนโรงเรียนวัดบวรนิเวศจำนวนมากหลายมาจากชนชั้นต่ำและชนต่ำชั้น  ทำให้ผมมีความเข้าใจหัวอกของคนยากคนจนระดับหนึ่ง

รังสรรค์ตอนเป็นนักเรียนวัดบวรนิเวศ
รังสรรค์ตอนเป็นนักเรียนวัดบวรนิเวศ

รังสรรค์ตอนเป็นนักเรียนวัดบวรนิเวศ
รังสรรค์ตอนเป็นนักเรียนวัดบวรนิเวศ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผมเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2507 ด้วยความผูกพันระดับหนึ่ง  บ้านผมเดิมอยู่ท่าช้างวังหลวง ผมมักจะเดินกลับจากโรงเรียน แวะเตะฟุตบอลที่สนามหลวง และเข้าไปชมการแข่งขันกีฬาในธรรมศาสตร์  ชาวท่าช้างวังหลวงเชียร์ธรรมศาสตร์มากกว่าจุฬาฯ และเชียร์ทหารเรือมากกว่าทหารบกในกรณีกบฏแมนแฮตตัน

ผมได้รับการปลูกฝังจากธรรมศาสตร์ (โดยมิได้รับการสั่งสอน) ในเรื่องการรักความเป็นธรรม และความเอื้ออาทรต่อคนยากคนจนในสังคม  บรรยากาศในธรรมศาสตร์สื่อความรู้สึกในเรื่องเหล่านี้ ดังที่เปลื้อง วรรณศรี เขียนไว้ในบทกลอนชื่อ ‘โดม…ผู้พิทักษ์ธรรม’ (วารสารธรรมจักร 2 พฤษภาคม 2495)

สิ่งเหล่านี้ที่โดมโหมจิตข้า

ให้แกร่งกล้าเดือนปีไม่มีหวั่น

ถ้าขาดโดม เจ้าพระยา ท่าพระจันทร์

ก็ขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม

หรือที่กุหลาบ สายประดิษฐ์ เขียนไว้ในบทความเรื่อง ‘ดูนักศึกษา มธก. ด้วยแว่นขาว’ (2495)

“…นักศึกษาและบัณฑิตของ มธก. มีความรักมหาวิทยาลัยของเขา มิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่า เขาได้เรียนมหาวิทยาลัยนี้  เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้  เขารักมหาวิทยาลัยนี้เพราะธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่น รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ไม่กักขังเขาไว้ในอุปทานและความคิดที่จะเอาแต่ตัวรอดเท่านั้น  ชาว มธก. รักมหาวิทยาลัยของเขา เพราะว่ามหาวิทยาลัยของเขาสอนให้รู้จักรักคนอื่นด้วย…”

แต่เหตุไฉนเนื้อหาในบทความข้างต้นจึงกลายเป็นวรรคทอง

ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน

ผมเข้าใจว่า คนที่สร้างวรรคทองวรรคนี้ นั่งอยู่ ณ ที่นี้

ผมเข้าห้องเรียนค่อนข้างสม่ำเสมอ แม้จะน่าเบื่อมากเพียงใดก็ตาม แต่ผมใช้เวลาค่อนข้างมากในห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินสวนกับหนอนหนังสือที่เดินกันขวักไขว่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สุชาติ สวัสดิ์ศรี ซึ่งรุ่นก่อนผม 2 ปี  มีโอกาสอ่านหนังสือของนักเขียนฝ่ายก้าวหน้าจำนวนมาก สามารถค้นราชกิจจานุเบกษาฉบับเก่าๆ ได้สะดวก มาภายหลังเมื่อผมศึกษากฎหมายเศรษฐกิจในประเทศไทยระหว่างปี 2475-2500 ผมไม่ต้องพึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเลย  ผมรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณบรรณารักษ์ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มาก ผมมักจะคุยโม้อยู่เสมอว่า ห้องสมุดในธรรมศาสตร์เป็นห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในประเทศไทย

ผมเริ่มกลายเป็นหนอนหนังสือตั้งแต่อยู่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ผมไปอ่านหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติ (เวลานั้นยังไม่ย้ายไปท่าวาสุกรี) ทุกฤดูร้อน ตั้งแต่ยังเรียนอยู่มัธยมที่สาม (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปัจจุบัน) ส่วนใหญ่เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชุมพงศาวดาร  ห้องสมุดที่มักจะไปนั่งอ่านค่อนข้างประจำ คือ หอพระสมุดดำรงราชานุภาพ ซึ่งอยู่ด้านหลังหอสมุดแห่งชาติ (เวลานั้นยังไม่ย้ายไปถนนหลานหลวง) เหตุผลสำคัญก็คือ หอพระสมุดดำรงฯ เป็น Open-Stack Library หยิบหนังสือได้เอง ในขณะที่หอสมุดแห่งชาติเป็น Closed-Stack Library ต้องให้เจ้าหน้าที่หยิบให้ แต่การที่ไปสุงสิงอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติและหอพระสมุดดำรงฯ ทำผมรู้จักเจ้าหน้าที่ แม้จะมิใช่ข้าราชการชั้นสูง แต่เป็นผู้รอบรู้หนังสือ ดังเช่นคุณสงวน อั้นคง

ผมได้ใช้บริการห้องสมุดอ่านอีก 2 แห่งตั้งแต่เป็นนักเรียนมัธยม คือ British Council เดิมอยู่เชิงสะพานพุทธ เยื้องๆ กับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และ AUA  เดิมอยู่ถนนพัฒน์พงศ์ ซึ่งบางครั้งมีรายการสนทนาและปาฐกถา รวมทั้งรายการเล่นดนตรี  เมื่อการเรียนที่ธรรมศาสตร์ยากขึ้น ผมใช้บริการห้องสมุดทั้งสองน้อยลง และท้ายที่สุดมิได้ใช้เลย

เมื่อผมเข้าธรรมศาสตร์ โลกหนังสือของผมกว้างใหญ่ไพศาลมากขึ้น

รังสรรค์ถ่ายกับพ่อแม่และครอบครัวในพิธีรับปริญญา มธ.
รังสรรค์ถ่ายกับพ่อแม่และครอบครัวในพิธีรับปริญญา มธ.

เศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์

เดิมผมต้องการเรียนรัฐศาสตร์ เพราะผมติดตามฟังไฮด์ปาร์คสนามหลวงตั้งแต่เป็นเด็กมัธยม ชื่นชอบดาวไฮด์ปาร์คที่ชอบด่าเผด็จการ (ผมอาจชื่นชอบผิดคน เพราะดาวไฮด์ปาร์คหลายคนเป็นพวกขวาจัด หลายคนในเวลาต่อมาเป็นสมุนรัฐบาลเผด็จการ) แม่ผมบอกให้ไปเป็นลูกศิษย์อาจารย์ป๋วย สำหรับแม่ ผมเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย เมื่อผมเข้าธรรมศาสตร์ในปี 2507 ผมต้องเรียนศิลปศาสตร์เป็นเวลาหนึ่งปี แล้วจึงแยกคณะ อาจารย์ป๋วยเป็นแม่เหล็กดูดดึงนักศึกษา นักศึกษาในรุ่นผมที่เรียนเก่งจำนวนมากพากันตบเท้าเข้าคณะเศรษฐศาสตร์  ในเวลาต่อมา เมื่อมีการสอบคัดเลือกเข้าคณะโดยตรง โดยไม่ต้องถูกบังคับให้เรียนศิลปศาสตร์จำนวน 1-2 ปี คะแนนสอบคัดเลือกจะเป็นตัวตัดสินการสอบเข้าคณะต่างๆ โดยตรง กระนั้นก็ตาม นักเรียนที่มีผลการเรียนดีก็ยังเลือกเข้าคณะเศรษฐศาสตร์  ผู้คนที่นับถือ เลื่อมใส และศรัทธาอาจารย์ป๋วย ต่างบอกลูกหลานให้ไปเป็นลูกศิษย์อาจารย์ป๋วย ดุจดังที่แม่ผมบอกผม

ทำไมธรรมศาสตร์จึงสอนเศรษฐศาสตร์ได้ เพราะเคยเป็นวิชาต้องห้าม ผมตั้งชื่อว่า อัปรียศาสตร์  หลายคนไม่ชอบศัพท์คำนี้  ผมเล่าเรื่องนี้ไว้ในปาฐกถาเรื่อง ‘จาก 2492 ถึง 2552’ ในวารดิถีที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อายุครบ 60 ปี

เมื่อพระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค) เขียนหนังสือชื่อ ทรัพยศาสตร์ ตีพิมพ์ในปี 2454 อันถือเป็นหนังสือเศรษฐศาสตร์ภาษาไทยเล่มแรก  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายใต้นามปากกา อัศวพาหุ  ทรงวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ใน สมุทสาร (5 กันยายน 2458) ทรงไม่เห็นด้วยกับบทวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างชนชั้นในหนังสือนี้ ทรงเห็นว่า ยังไม่ควรมีการศึกษาลัทธิที่เรียกว่า ทรัพยศาสตร์ ในประเทศไทย ต่อมามีการตราพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2470 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน 2470 กำหนดให้การสอนและการเผยแพร่ความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ หากมีผลตามมาตรา 4(1) เป็นความผิดทางอาญา มีโทษจำคุกไม่เกินกว่าสิบปี และให้ปรับไม่เกินห้าพันบาทอีกโสดหนึ่ง

แต่เหตุใดธรรมศาสตร์จึงสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ได้ โดยที่เป็นเสาหลักหนึ่งในสามของธรรมศาสตร์ในระยะแรกเริ่ม (เสาหลักทั้งสามของหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิตประกอบด้วยนิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการเมือง) ทั้งๆ ที่พระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2470 ยังมีผลบังคับใช้อยู่  ผมต้องขอบคุณผู้ช่วยวิจัยคนหนึ่งของผมในจำนวนกว่า 40 คนตลอดชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยของผม (ผมจำหน้าได้ แต่จำชื่อมิได้ จำได้แต่ว่ามาจากจังหวัดชลบุรี) ที่ชี้ให้ดูพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. 2476 มาตรา 3 ให้ยกเลิกบรรดากฎหมาย กฎ และข้อบังคับอื่น ซึ่งมีข้อความขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้”  นี่เป็นอัจฉริยภาพของท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์  แม้มาตรา 3 จะเขียนกันจนเป็นนิติประเพณี แต่ท่านไม่ต้องออกแรงแก้พระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2470

ต่อมาความผิดทางอาญาของการสอนและเผยแพร่เศรษฐศาสตร์ถูกยกเลิกโดยมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา พ.ศ. 2478

ผมเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ในระยะเปลี่ยนผ่าน อาจารย์ประจำยังมีน้อยมาก หลักสูตรยังเป็นหลักสูตรเก่าที่มุ่งผลิตบัณฑิตรับใช้ราชการ ข้อดีอย่างยิ่งของการได้เข้าศึกษาคณะนี้ก็คือ การได้เฝ้ามองวัตรปฏิบัติของอาจารย์ป๋วย ศึกษาความคิดของอาจารย์ป๋วย และซึมซับคุณธรรมของอาจารย์ป๋วย  ในประการสำคัญ ได้เฝ้ามองการเติบโตของคณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเมื่อพัฒนาเต็มที่แล้ว ผมมักจะคุยโม้ว่า ห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ เป็นห้องสมุดเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย ไม่เว้นแม้แต่ห้องสมุด ESCAP ซึ่งระยะหลังถูกองค์การสหประชาชาติตัดทอนงบไปเป็นอันมาก อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ยังมายืมหนังสือที่ธรรมศาสตร์  อยากอ่านหนังสือเล่มไหน ที่ยังหายืมไม่ได้ก็ขอให้ห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์สั่งซื้อเข้าห้องสมุด ถือเป็นการแนะนำหนังสือที่สั่งซื้อ

ผมถือเป็นหน้าที่ในการแนะนำหนังสือดีให้ห้องสมุดซื้อ ผมอ่าน The New York Review of Books, London Review of Books และอื่นๆ แล้วจดรายชื่อหนังสือที่ได้รับคำวิจารณ์ว่าดี ส่งให้บรรณารักษ์ห้องสมุดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พิจารณาสั่งซื้อ  ผมปฏิบัติทำนองเดียวกันกับห้องสมุดคณะเศรษฐศาสตร์ทุกเดือน จวบจนอายุ 50 เศษ เมื่อภาระงานมีมากขึ้น โดยเฉพาะงานวิจัย ผมจึงหยุดกิจกรรมนี้

เมื่อผมเป็นนักเรียนธรรมศาสตร์ ผมชื่นชมอาจารย์อยู่ 2 ท่าน คือ ท่านอาจารย์นิออน สนิทวงศ์ แห่งคณะศิลปศาสตร์ และท่านอาจารย์เสน่ห์  จามริก แห่งคณะรัฐศาสตร์  ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ผมนับถือท่านอาจารย์เดือน บุนนาคเยี่ยงปูชนียบุคคลได้ อาจารย์ป๋วยเคารพท่านมาก ท่านถูกกระทำอย่างรุนแรงในการรัฐประหาร 2490 แม้ท่านจะจบปริญญาเอกสาขาวิชานิติศาสตร์เกียรตินิยมดีเยี่ยมจากประเทศฝรั่งเศส และเป็นผู้แต่งตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญคนแรกในประเทศไทย โดยที่ตำราเล่มนี้ถือเป็นตำราคลาสสิกได้ แต่ท่านมีส่วนกรุยทางให้ Keynesian Economics เข้าสู่ธรรมศาสตร์และประเทศไทยมากขึ้น ด้วยการแปลตำราเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นของ Paul A. Samuelson

ใบแสดงผลการเรียนของรังสรรค์ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
ใบแสดงผลการเรียนของรังสรรค์ เมื่อสำเร็จการศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ มธ.
ใบจบการศึกษาเป็นเศรษฐศาสตร์บัณฑิตด้วยเกียรตินิยมดีมาก เมื่อปี 2511
ใบจบการศึกษาเป็นเศรษฐศาสตร์บัณฑิตด้วยเกียรตินิยมดีมาก เมื่อปี 2511
รังสรรค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร โดยมี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ยืนอยู่ฉากหลัง
รังสรรค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร โดยมี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ยืนอยู่ฉากหลัง

Cambridge University

ผมเข้า Cambridge University ในปี 2513 มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ให้ความรู้ด้านการจัดการมหาวิทยาลัยอย่างน้อย 3 ด้าน

ด้านที่หนึ่ง การให้ความสำคัญแก่โครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการ (Academic Infrastructure)  มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ให้ความสำคัญแก่การลงทุนด้านห้องสมุดและห้องปฏิบัติการทดลองอย่างมาก  การลงทุนดังกล่าวนี้มีผลต่อการเรียนการสอน และการผลิตองค์ความรู้ใหม่อย่างมหาศาล Cavendish Laboratory นับเป็นตัวอย่างที่ดี ระหว่างทศวรรษ 2480 ถึงทศวรรษ 2500 มากกว่าครึ่งหนึ่งของนักวิชาการในห้องปฏิบัติการทดลองนี้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์

ด้านที่สอง มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์หลังสงครามโลกครั้งที่สองมีการวางผังสถาปัตยกรรมมหาวิทยาลัยใหม่ (Campus Planning) ด้วยการรวมศูนย์การบรรยายเป็นหมวดวิชา ดังเช่นศูนย์การบรรยายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ศูนย์การบรรยายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ศูนย์การบรรยายแพทยศาสตร์ ฯลฯ

ด้านที่สาม การให้ความสัมพันธ์แก่ศิษย์เก่า มีจุลสารระดับมหาวิทยาลัยและระดับ College แจกจ่ายให้ศิษย์เก่าที่ยังมีชีวิตอยู่ มีการระดมทุนจากศิษย์เก่าจำนวนมาก บางครั้งได้เงินบริจาคมาสร้างห้องปฏิบัติการทดลอง บางครั้งได้เงินบริจาคมาสร้าง college ใหม่ เมื่อมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์มีอายุครบ 800 ปี สามารถระดมเงินบริจาคจากศิษย์เก่าและอื่นๆ มากกว่า 800 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง

รังสรรค์ขณะเตรียมออกเดินทางไปเรียนต่อที่ Cambridge University สหราชอาณาจักร
รังสรรค์ขณะเตรียมออกเดินทางไปเรียนต่อที่ Cambridge University สหราชอาณาจักร
รังสรรค์ขณะเตรียมออกเดินทางไปเรียนต่อที่ Cambridge University สหราชอาณาจักร
รังสรรค์ขณะเตรียมออกเดินทางไปเรียนต่อที่ Cambridge University สหราชอาณาจักร

Cambridge University ให้ประโยชน์ส่วนตัวแก่ผมหลายด้าน

ประโยชน์ด้านที่หนึ่ง ได้แก่ ประโยชน์จาก Supervision System (หรือ Tutorial System ใน Oxford University) Oxbridge ให้ความสำคัญแก่การบรรยายรวมน้อยมาก  การบรรยายรวมทั้งหมดมีเพียงบางหัวข้อของวิชา มิใช่การบรรยายทั้งวิชา นักศึกษาขาดการเข้าฟังการบรรยายรวมได้ แต่ขาดการเข้าร่วม Supervision System มิได้

Supervision System เป็นระบบการเรียนการสอนที่ใช้แรงงานเข้มข้น  นักศึกษา 2-3 คนต่ออาจารย์หนึ่งคน  วิธีการเรียนการสอนเริ่มด้วยอาจารย์ผู้สอนบอกหัวข้อเรียงความที่ต้องเขียนล่วงหน้าประมาณหนึ่งสัปดาห์ โดยแจ้งบทความและหนังสือที่ต้องอ่านประกอบ นักศึกษาต้องส่งเรียงความที่เขียนก่อนวันนัดหนึ่งวัน อาจารย์จะเขียนบันทึกความเห็นที่มีต่อเรียงความที่เขียน ในวันนัดอาจารย์จะเป็นผู้ตั้งคำถามให้อภิปรายโต้ตอบกัน Supervision System ช่วยขยายความรับรู้ และเข้าใจการตั้งคำถามทางวิชาการมากขึ้น

ผู้ที่เป็น Supervisor ประจำสาขาวิชาของผมตลอดระยะเวลาที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์มีประมาณ 3 ท่าน คนที่หนึ่งดูแลผมด้านเศรษฐศาสตร์การคลัง คนที่สองดูแลด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน คนที่สามดูแลด้านเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม ทั้งหมดอยู่นอก Churchill College บรรยากาศไม่เครียด บางคนแจกไวน์ให้จิบ แล้วนั่งคุยกันในหัวข้อที่เขียนเรียงความ

ผู้ที่เป็น Major Supervisor ของผมชื่อ David M. Newbery (1943-     ) สังกัด Churchill College ดูแลด้านหลักทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ทั้งจุลภาคและมหภาค ตำแหน่งสุดท้ายในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์คือ Professor of Applied Economics เขียนหนังสือและมีงานวิชาการจำนวนมาก ได้รับรางวัลและเกียรติยศสมแก่ฐานานุรูป (โปรดดู Power Points)  ทุกสัปดาห์ผมไม่ค่อยอยากเข้าห้อง Newbery เพราะผมถูกอัดเละออกมาทุกครั้ง แต่ผมมาซาบซึ้งประโยชน์ที่ได้จาก David M. Newbery ในภายหลัง เพราะเขาเป็นคนเดียวที่กระตุ้นให้ผมคิด และกระตุ้นให้ผมอ่านหนังสือ เขาสั่งให้ผมอ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Oliver Williamson และอ่านวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ Amartya Sen เรื่อง The Choice of Technique (1959)

ผมมี Supervision Partners อยู่ 3 คน น่ารักน่าคบเพียง 2 คน

คนที่หนึ่งเป็นชาวอังกฤษ เป็นฮิปปี้ แต่งตัวซอมซ่อ ชื่อ Richard Smith เรียน Part One: Engineering  เรียน Part Two: Economics  ผมเพิ่งค้นพบเมื่อ 5 ปีเศษที่แล้วว่า เขาดำรงตำแหน่ง Professor of Econometrics คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

คนที่สองเป็นชาวญี่ปุ่นชื่อ Hajime Tsujimoto เป็นนักเรียนทุนกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น แรกเริ่มเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์ ต่อมาย้ายไปเรียนสังคมวิทยา เคยเข้ามาเป็นอุปทูตดูแลด้านวัฒนธรรมในประเทศไทย เคยดูแลอาคารศูนย์ญี่ปุ่นศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เคยพบท่านศาสตราจารย์เพ็ชรี สุมิตร ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา เขาชอบเล่น Squash กับผม เพราะฝีมือสูสีกัน

ประโยชน์ด้านที่สอง คือ การศึกษาด้วยตนเอง นักศึกษาต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง การอ่าน (มิใช่การฟัง) เป็นวัฒนธรรมการศึกษาที่สำคัญ  เวลาคนอังกฤษถามว่า คุณกำลังศึกษาวิชาอะไร เขามิได้ถามว่า What are you studying? แต่ถามว่า What are you reading? ความช่ำชองในการศึกษาด้วยตนเองเป็นประโยชน์แก่ผมอย่างมากในการผลิตงานวิชาการในเวลาต่อมา

รังสรรค์ขณะใช้ชีวิตเป็นนักเรียนนอกอยู่ที่ Cambridge University
รังสรรค์ขณะใช้ชีวิตเป็นนักเรียนนอกอยู่ที่ Cambridge University

มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์มีจารีตปฏิบัติที่น่าชื่นชมหลายอย่าง ดังเช่น

ประการแรก การนำข้อสอบทุกภาคการศึกษามารวมพิมพ์เป็นเล่มทุกปี จำแนกเป็นสาขาวิชา นักศึกษาเมื่อถึงฤดูสอบไล่ สามารถเตรียมสอบ ด้วยการศึกษาข้อสอบเก่าเหล่านี้ได้โดยสะดวก ซึ่งจะพบว่ายากอย่างไม่น่าเชื่อ การพิมพ์ข้อสอบประจำปีนอกจากให้ประโยชน์แก่นักศึกษาและบุคคลทั่วไปแล้ว ยังบ่งบอกสถานะแห่งความรู้ และสถานะทางวิชาการของมหาวิทยาลัย บางครั้งข้อสอบยังสื่อพัฒนาการของวิชาอีกด้วย

ประการที่สอง อาจารย์ผู้สอนบางคนทิ้งบันทึกการสอนไว้ในห้องธุรการ เพื่อให้นักศึกษายืมถ่ายเอกสาร

ประการที่สาม เมื่ออาจารย์เขียนหนังสือเพื่อตีพิมพ์ มักจะทิ้งสำเนาหนังสือให้อาจารย์คนอื่นและนักศึกษาอ่าน เพื่อขอความเห็น สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติม เมื่อผมเป็นนักเรียน ผมได้สำเนาหนังสือ Lectures on Public Economics แต่งโดย A.B. Atkinson and Joseph Stiglitz ซึ่งเป็นหนังสืออ่านยากมาก ต้องใช้เวลาแกะแต่ละบทนาน บัดนี้ กลายเป็นหนังสือคลาสสิกในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณะ

รังสรรค์ขณะใช้ชีวิตเป็นนักเรียนนอกอยู่ที่ Cambridge University
รังสรรค์ขณะใช้ชีวิตเป็นนักเรียนนอกอยู่ที่ Cambridge University

เมื่อผมเป็นนักเรียนเคมบริดจ์ ผมมีโอกาสฟังการบรรยายของอาจารย์ระดับตำนานหลายคน ไม่ว่าจะเป็น Joan Robinson (1903-1983)  ซึ่งผมฟังออก แต่ไม่รู้เรื่อง Richard Kahn (1905-1989) ผู้นำเสนอ Multiplier Theorem เป็นคนแรกตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา มีอาจารย์หนุ่มสาวหลายคนสอนหนังสือดีถึงดีมาก หลายคนย้ายไปอยู่มหาวิทยาลัยอื่น เพราะการได้ตำแหน่งวิชาการที่เคมบริดจ์นั้นยากมาก

เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ท่านอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ถามผมว่า ประทับใจอาจารย์คนไหนมากที่สุดที่เคมบริดจ์ ผมตอบโดยไม่ลังเลว่า Maurice Dobb (1900-1976) ในเวลานั้น Dobb สอน Economics of Socialism ก่อนหน้านั้นถูกบีบให้ออกจาก Pembroke College เนื่องจากเป็นคอมมิวนิสต์ Bertrand Russell ช่วยให้ย้ายไปอยู่ Trinity College การที่ได้ย้ายไปอยู่ Trinity College ทำให้ Dobb สร้างคุณูปการสำคัญแก่วงวิชาการเศรษฐศาสตร์ ก็คือการจัดการให้การบรรณาธิกรณ์งานเขียนทั้งหมดของ David Ricardo (1722-1823) สำเร็จลุล่วง ต้นฉบับอยู่ที่ Piero Sraffa (1898-1983) ตั้งแต่ทศวรรษ 2470 แต่งานไม่คืบหน้า ไม่สามารถพิมพ์ได้  เมื่อ Dobb ทำหน้าที่เสร็จ Royal Economic Society เป็นผู้จัดพิมพ์เป็นหนังสือหลายสิบเล่ม การที่ Dobb ได้อ่านงานเขียนทั้งหมดของ Ricardo ทำให้เขาเขียนงานเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์สำนักคลาสสิกในภายหลังหลายเล่ม

Maurice Dobb ดุจเดียวกับ Marxist จำนวนมาก เมื่อหนุ่มๆ บู๊ล้างผลาญ ต้องการเอาชนะในวิวาทะต่างๆ แต่เมื่อผมเรียนหนังสือกับเขา ความบู๊ทางวิชาการเหือดหายไปเป็นอันมาก เขากลายเป็นคนสมถะและใจดี มายืนรอนักศึกษาหน้าห้องเรียนก่อนเวลาสอน ต่างจากอาจารย์ที่เป็นดาราที่เข้าห้องสอนสายเป็นประจำ ผมอ่านหนังสือเล่มสำคัญๆ ของเขาหลายเล่ม พร้อมทั้งติดตาม Dobb-Sweezy Debate  ด้วยความตื่นเต้นทางปัญญา ผมอาจจะติดหางเชื้อคอมมิวนิสต์มาจาก Maurice Dobb ก็เป็นได้

รังสรรค์กับป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ Cambridge University (ร่วมด้วยไพรัช ธัชยพงษ์)
รังสรรค์กับป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ Cambridge University (ร่วมด้วยไพรัช ธัชยพงษ์)

อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย

ผมเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2511 ปลายยุคการครอบงำของสำนักวิชาการขุนนาง

เมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยในเมืองไทย อาจารย์ผู้สอนทั้งในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองล้วนแล้วแต่เป็นขุนนางข้าราชการสังกัดกระทรวงทบวงกรมต่างๆ  เวลานั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยมิได้มีสถานะเป็นอาชีพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสลัดแอกออกจากสำนักวิชาการขุนนางได้ก่อนเพื่อน ด้วยการสร้างอาจารย์ประจำประมาณทศวรรษ 2490 เราจึงได้ยินชื่อยอดขุนพลด้านสังคมศาสตร์ โฉมฉาย-สายหู-ชูโต ในทศวรรษ 2500

มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเมื่อแรกสถาปนาในปี 2477 จำเป็นต้องว่าจ้างขุนนางข้าราชการมาเป็นผู้บรรยายโดยแจ้งชัด แต่ธรรมศาสตร์สลัดออกจากแอกสำนักวิชาการขุนนางเชื่องช้ามาก ขุนนางข้าราชการที่มาสอนธรรมศาสตร์ในระยะแรกเริ่มกับระยะหลังแตกต่างกันอย่างมาก อาจารย์ มธก.ในระยะแรกเริ่มมีความมุ่งมั่นในการสอนและการผลิตคำสอนที่มีคุณภาพ หลายเล่มกลายเป็นตำราคลาสสิก ท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์มีส่วนสำคัญในการคัดสรรอาจารย์ผู้สอน แต่หลังการรัฐประหารปี 2490 ขุนนางวิชาการที่เข้ามาสอนในธรรมศาสตร์จำนวนมากมิได้ผูกพันกับธรรมศาสตร์ในด้านจิตวิญญาณ ขาดสอนบ่อยมาก บางคนเข้าห้องสอนในสัปดาห์สุดท้ายของภาควิชา มิหนำซ้ำยังให้นักศึกษาสอบตก 60-70% ซึ่งท่านอาจารย์ป๋วยเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง

ในเวลานั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยมีสถานะเป็นเพียงงานอดิเรกของขุนนางข้าราชการ คนเหล่านี้ต้องการตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยมาเป็นเครื่องประดับสถานะทางสังคม การที่ธรรมศาสตร์ยังถูกครอบงำโดยสำนักวิชาการขุนนางย่อมนำความเสื่อมทรามมาสู่มหาวิทยาลัย ขุนนางข้าราชการที่สอนในมหาวิทยาลัยมิอาจก้าวตามความก้าวหน้าทางวิชาการได้ ในประการสำคัญ มิอาจศึกษาวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้  สิ่งที่สอนในมหาวิทยาลัยย่อมล้าสมัยตามกาลเวลา มหาวิทยาลัยจึงเป็นเพียงที่สิงสถิตย์ของความรู้อันล้าสมัย

ตลอดระยะเวลาหลังการรัฐประหาร 2490 ผู้บริหารในธรรมศาสตร์ไม่คิดสร้างอาจารย์ประจำ ทั้งที่มีตัวอย่างที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว จวบจนท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ หยิบยกประเด็นนี้เสนอต่อที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยฯ แต่ได้รับการคัดค้านจากคณบดีคณะใหญ่ 2 คณะ  คือ คณะนิติศาสตร์ และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  ท่านอาจารย์ป๋วยหันมาเพ่งพินิจการสร้างอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ โดยขอความช่วยเหลือจาก Rockefeller Foundation

การสร้างอาจารย์ประจำเป็นเงื่อนไขสำคัญของเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศ ดังเช่นวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) ในปลายทศวรรษ 2490 (Ford Foundation) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปลายทศวรรษ 2500 (Ford Foundation) ปัจจุบันคือ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปลายทศวรรษ 2500 ต่อต้นทศวรรษ 2510 (Rockefeller Foundation)

ดังได้กล่าวแล้วว่า ผมเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปลายยุคการครอบงำของสำนักวิชาการขุนนาง และอยู่ในช่วงต้นยุคอาจารย์มหาวิทยาลัยในฐานะอาชีพ ภายใต้ยุคดังกล่าวนี้ ผมคาดหวังว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องเป็นสำราญชน (Leisured Class) ดุจดังสังคมตะวันตก

แต่แม้จนเกษียณราชการมาหลายปีแล้ว ผมยังไม่มีโอกาสเป็นสำราญชน

มหาวิทยาลัยเมื่อแรกจัดตั้งในสังคมตะวันตกเป็นชุมชนของสำราญชน (Leisured Class) สำราญชนเป็นกลุ่มคนที่ใช้เวลาในการแสวงหาความสำราญ การแสวงหาปัญญาเป็นความสำราญอย่างหนึ่ง ปัญญาชนเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของสำราญชน อาจารย์มหาวิทยาลัยบางส่วนเป็นองค์ประกอบของปัญญาชน แต่บางส่วนเป็นสำราญชนที่มิใช่ปัญญาชน แต่สังคมตะวันตกมิได้คาดหวังให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นสำราญชนที่ไร้บทบาทหน้าที่ หรือใช้ชีวิตประดุจเสเพลชน หากแต่คาดหวังว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นสำราญชนที่มีบทบาทในการสร้างองค์ความรู้ในแขนงวิชาต่างๆ

ความคาดหวังเช่นนี้เองที่ทำให้อาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเป็นอาชีพของสำราญชน หากไม่มีเวลาว่างพอเพียง และไม่มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม อาจารย์มหาวิทยาลัยย่อมยากที่จะผลิตองค์ความรู้ใหม่หรือสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ อันมีผลต่อการขยายพรมแดนแห่งความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ได้ หากอาจารย์มหาวิทยาลัยมิใช่สำราญชน ก็คงไม่มีใครมาร่วมถกเถียงว่า อะไรคือความงาม ความจริง และความยุติธรรม จะมีใครที่จะมานั่งเฝ้าดูการเคลื่อนไหวในจักรวาล นั่งเพ่งพินิจกล้องจุลทรรศน์เพื่อศึกษาจุลินทรีย์ประเภทต่างๆ หรือนั่งเฝ้ามองการร่วงหล่นของผลแอปเปิลจากลำต้น

มรดกทางประวัติศาสตร์ในสังคมตะวันตกทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นอาชีพที่มีสถานะอันสูงส่งในสังคมตะวันตก ผู้มีอาชีพดังกล่าวนี้มิได้มีหน้าที่เฉพาะการถ่ายทอดความรู้และการฝึกอบรมกุลบุตรกุลธิดาเท่านั้น หากยังเป็นที่คาดหวังว่าจะมีบทบาทในการพัฒนาองค์ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ด้วย การกำหนดรูปแบบเชิงสถาบัน (Institutional Design) จึงเป็นไปในทางที่เกื้อกูลให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นสำราญชน กล่าวคือ มีเงินเดือนสูงหรือค่อนข้างสูง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกังวลต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพเพื่อการประทังชีวิต และมีเวลาว่างในการแสวงหาความรู้ใหม่

การสร้างเงื่อนไขให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นสำราญชน แม้จะจำเป็น แต่ก็ไม่พอเพียงที่จะให้อาจารย์มหาวิทยาลัยบุกเบิกพรมแดนแห่งความรู้ในสาขาวิชาของตน มหาวิทยาลัยจะต้องมีบรรยากาศทางวิชาการและมีสิ่งแวดล้อมอันอุดมด้วยศานติสุข รวมตลอดจนต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการศึกษาวิจัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งห้องสมุดและห้องทดลองหรือห้องปฏิบัติการ ในประการสำคัญ ต้องมีเงินอุดหนุนการวิจัยเพื่อเกื้อกูลต่อการแสวงหาความรู้ใหม่ด้วย วิทยาการที่ก้าวหน้าในสังคมตะวันตกเป็นผลงานของอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างค่อนข้างสำคัญ

รังสรรค์เมื่อเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 (ภาพจากสำนักพิมพ์ openbooks)
รังสรรค์เมื่อเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 (ภาพจากสำนักพิมพ์ openbooks)
รังสรรค์เมื่อเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 (ภาพจากสำนักพิมพ์ openbooks)
รังสรรค์เมื่อเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 (ภาพจากสำนักพิมพ์ openbooks)

งานเขียน

ผมเริ่มเขียนหนังสือเมื่ออยู่ชั้นมัธยมปีที่ 3 (เทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปัจจุบัน) ผมเขียนเรื่อง ‘โรงรับจำนำ’ โดยค้นจากวชิรญาณวิเศษ อันเป็นนิตยสารที่ออกในรัชกาลที่ 5 ตีพิมพ์ในนิตยสาร ดรุณสาร ของคุณนิลวรรณ ปิ่นทอง จำได้ว่าได้ค่าเรื่อง 25 บาท ผมเขียนบทความใน ดรุณสาร ต่อมาหลายเรื่อง แต่จำชื่อเรื่องมิได้เสียแล้ว ที่จำชื่อเรื่องแรกได้ เพราะมีที่เก็บในสมอง ต่อมาผมอ่าน สัปดาห์สาร ของคุณนิลวรรณ ปิ่นทองเช่นกัน เป็นครั้งแรกที่ผมได้ยินชื่อ นรนิติ เศรษฐบุตร ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และนิธิศักดิ์ ราชพิตร ซึ่งไปช่วยคุณนิลวรรณจัดทำนิตยสารนี้ น่าเสียดายที่ สัปดาห์สาร มีอายุแสนสั้น คุณนิลวรรณนับถือท่านอาจารย์ป๋วยมาก ท่านกล่าวถึงอาจารย์ป๋วยว่า เป็นปราการแห่งพุทธิปัญญาในสังคมไทย

เมื่อเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ผมเป็นสิงห์พเนจรเขียนบทความในหนังสือเล่มละบาทและหนังสืออนุสรณ์คณะต่างๆ บทความเหล่านี้ไม่ได้ค่าเรื่อง ประโยชน์ที่ได้รับก็คือความสัมพันธ์ที่มีกับผู้ที่ต่อมากลายเป็นนักเขียนหรืออยู่ในแวดวงหนังสือ อันเป็นความสัมพันธ์ที่ยืดเยื้อยาวนาน ตราบจนทุกวันนี้

ผมเขียนหนังสือเป็นอาชีพเมื่อเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย  เขียนให้ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ จะถือเป็นอาชีพมิได้ เพราะค่าเรื่องต่ำ และมิได้คิดถึงค่าเรื่องเมื่อตอนเขียน ผมมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการเป็นคอลัมนิสต์ ผมเป็นคอลัมนิสต์สิ่งตีพิมพ์หลายฉบับ แต่ที่อยู่นานที่สุดก็คือ การเป็นคอลัมนิสต์สิ่งตีพิมพ์ในเครือ ผู้จัดการ ระหว่างปี 2534-2547 ทำให้ต้องเลิกเป็นคอลัมนิสต์สิ่งตีพิมพ์อื่น เพราะเขียนไม่ไหว ต้องขอขอบคุณคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่ชักชวนไปเป็นคอลัมนิสต์

ผมตั้งใจเขียนคอลัมน์มาก คอลัมน์ของผมมิใช่ที่ละเลงความคิดส่วนตัว หรือเป็นพื้นที่โจมตีความเห็นที่ผมไม่เห็นด้วย บทความที่ตีพิมพ์แต่ละเรื่องเหมือนกับการทำวิจัยขนาดจิ๋ว จุดเด่นของบทความของผมอยู่ที่ข้อมูลและบทวิเคราะห์ ทุกวันนี้กลับไปอ่านบทความเหล่านี้คราใด ยังคงให้ความเห็นชนิดเข้าข้างตัวเองว่า ยังใช้ได้  บางเรื่องข้อมูลอาจล้าสมัย แต่ผมเข้าข้างตัวเองว่าบทวิเคราะห์ยังใช้ได้ ช่วงเวลา 13 ปีที่เป็นคอลัมนิสต์ทำให้ได้หนังสือรวมบทความหลายเล่ม ผมเป็นคอลัมนิสต์จนถึงปี 2547 แล้วเลิกเขียนตั้งแต่นั้น เพราะมีภาระงานวิจัยจำนวนมาก

รังสรรค์กับพี่น้องทั้งสี่คน
รังสรรค์กับพี่น้องทั้งสี่คน

งานวิชาการ

ผมเขียนบทความวิชาการและกึ่งวิชาการจำนวนมากพอใช้ แต่จะไม่กล่าวรายละเอียด ณ ที่นี้ ผมจะกล่าวถึงงานวิจัยเป็นหลัก ผมเริ่มทำงานวิจัยอย่างจริงๆ จังๆ เมื่อกลับจากประเทศอังกฤษ  แหล่งเงินทุนวิจัยที่ได้รับเรียงตามลำดับจำนวนเงินที่ได้รับ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย สถาบันไทยคดีศึกษา และสภาวิจัยแห่งชาติ ผมไม่เคยขอทุนวิจัยจากต่างประเทศเลย ยกเว้นที่ช่วย ศาสตราจารย์ ดร. ปราณี ทินกร ทำ

ผมกลับมาประเมินตัวเองว่า ในช่วงแห่งชีวิตของผม ผมได้มีส่วนบุกเบิกพรมแดนแห่งความรู้ในเรื่องอะไรบ้าง ผมประเมินอย่างเข้าข้างตนเองว่า ผมได้ทำคุณประโยชน์แก่วงวิชาการไทยอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ

เรื่องแรก งานวิจัยว่าด้วยการสำรวจสถานะแห่งความรู้ 

งานวิจัยชุดนี้มีหลายเรื่อง มิใช่ Survey of Literature ที่ปรากฏดาษดื่นในบทแรกของงานวิจัย และบทแรกของวิทยานิพนธ์ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เขียนเกือบไม่ได้อ่านงานวิชาการที่อ้างว่าตนได้สำรวจเหล่านั้น แต่การสำรวจสถานะแห่งความรู้ที่ผมทำเจาะลึกถึงระเบียบวิธีการศึกษา กล่าวถึงข้อบกพร่องของระเบียบวิธีการศึกษา  และเปรียบเทียบผลการศึกษาของงานวิจัยทั้งปวง  ผมมักจะแนะนำให้อาจารย์ใหม่ศึกษาในลักษณะนี้ เพื่อต่อยอดงานวิจัยในอนาคต ตัวอย่างงานวิจัยในกลุ่มนี้

เรื่องที่สอง เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ

ผมอ่านรัฐธรรมนูญทุกฉบับนับตั้งแต่ฉบับปี 2475 เป็นต้นมาก ยกเว้นฉบับปีพุทธศักราช 2560  ความละเอียดลออในการอ่านแตกต่างไปตามภววิสัย  ผมเขียนบทวิเคราะห์และอภิปรายรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับปี 2540 จำนวนหนึ่ง แต่งานชิ้นสำคัญของผมในเรื่องนี้ คือ

เรื่องที่สาม ทุนวัฒนธรรม

ผมไม่มีงานวิจัยว่าด้วยทุนวัฒนธรรม ผมนำเสนอแนวความคิดนี้ในปาฐกถาและบทความในหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งต่อมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ 3 เล่ม อันได้แก่

ผมมีแผนที่จะทำงานวิจัยอีกอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ

  • ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย พ.ศ. 2475-2500
  • เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยทุนวัฒนธรรม

ในเวลานั้น ผมอายุเกิน 60 แล้ว สมองอ่อนล้ามากแล้ว และเห็นว่าควรพักผ่อนได้แล้ว

ในช่วงแห่งชีวิตของผม นอกเหนือจากแม่ ผมเป็นหนี้บุญคุณปูชนียบุคคลอย่างน้อย 2 ท่าน ท่านแรกคือ ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นอกเหนือจากสรรพสิ่งที่ท่านให้แก่ผมแล้ว ผมเพิ่งทราบเมื่อไม่นานมานี้ว่า ท่านให้อาจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรมไปเยี่ยมแม่ผมทุกเดือนในระหว่างที่ผมอยู่ต่างประเทศ นับเป็นความเอื้ออาทรที่ท่านมีต่อผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างหาที่สุดมิได้ ท่านที่สองคือ ท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์  ท่านเป็นคนปากร้ายใจดี ผมได้เรียนรู้และซึมซับวัฒนธรรมวิพากษ์จากท่าน

รังสรรค์ในพิธีรับปริญญาเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2554 ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รังสรรค์ในพิธีรับปริญญาเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2554 ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รังสรรค์ในพิธีรับปริญญาเศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ประจำปี 2554 ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปัจฉิมกถา

ผมต้องกล่าวขอบคุณบุคคลอีก 2 ท่าน ที่มีส่วนช่วยผลักดันและจัดงานในวันนี้

ท่านแรก อาจารย์สิทธิกร นิพภยะ แห่งคณะเศรษฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรับเป็นภารธุระในการนำ สรรนิพนธ์รังสรรค์  ธนะพรพันธุ์ ขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของ Website คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยที่ท่านคณบดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ นอกจากนี้  ยังเป็นผู้ช่วยที่แข็งขันในการจัดทำ Power Points สำหรับการบรรยายในวันนี้ด้วย

ท่านที่สอง คุณชมภู่ ธงชัย เจ้าหน้าที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ช่วยจัดทำโปสเตอร์ และประชาสัมพันธ์งานนี้

ท้ายที่สุด  ผมต้องขอขอบคุณนักวิจัย ซึ่งมีมากกว่า 40 คน ที่ช่วยผมทำงานตลอดชีวิตทางวิชาการของผม  ขอบคุณผู้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเลขานุการที่ช่วยพิมพ์ต้นฉบับและจัดทำ Power Points ให้ผม ผมต้องสารภาพบาปที่อยู่ในใจผมหลายสิบปี ผมควรยกย่องให้คุณสิริลักษณ์ ศักดิ์เกรียงไกรเป็นผู้เขียนร่วมหนังสือ ภาษีอากรในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทย (2527) เนื้อหาเรื่องนี้เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของรายงานวิจัยเรื่อง การสำรวจสถานะความรู้ว่าด้วยภาษีอากรในเมืองไทย (2528)

ผมขอขอบคุณทุกท่านที่อดทนฟังผมสาธยายคุณงามความดีของผมอย่างยืดยาวในวันนี้.

รังสรรค์เมื่อเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 (ภาพจากสำนักพิมพ์ openbooks)
รังสรรค์เมื่อเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วงปลายทศวรรษ 2540 (ภาพจากสำนักพิมพ์ openbooks)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save