fbpx
รังสรรค์ / รัฐธรรมนูญ / ด้วยสันติประชาธรรม

รังสรรค์ / รัฐธรรมนูญ / ด้วยสันติประชาธรรม

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เรื่อง

Shin Egkantrong ภาพประกอบ

 

คอลัมน์รายสัปดาห์ จากท่าพระจันทร์ถึงสนามหลวง เปรียบเสมือน ‘หลุมดำ’ ที่ดึงดูดผมเข้าสู่ขอบฟ้าเศรษฐศาสตร์ พื้นที่ขนาดเล็กเพียงไม่ถึงครึ่งหน้ากระดาษนั้นเต็มไปด้วยความคิดตื่นตาและทรงพลังมากพอที่จะเปลี่ยนวิธีการมองโลกของผู้อ่านไปโดยสิ้นเชิง

ในโอกาส ’72 ปี รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์’ ผมขอย้อนรำลึกถึงบรรณาจารย์ด้วยการกลับไปอ่านงานชิ้นสำคัญใหม่ในห้วงเวลาสุญญากาศหลังการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562

เพื่อร่วมตอบโจทย์ที่ปกป้อง จันวิทย์ ตั้งไว้ว่า “ถ้าเราศึกษามรดกทางความคิดของอาจารย์รังสรรค์ในเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมือง การพัฒนา และนโยบายสาธารณะ ถ้าเราเอางานเก่าของรังสรรค์กลับมาอ่านใหม่ในยุคสมัยนี้ จะพอแกะรอยคำตอบที่น่าสนใจอะไรต่อปัญหาร่วมสมัยของเศรษฐกิจการเมืองไทยยุค ‘หลังรังสรรค์’ (วางมือ) ได้บ้าง”

ต้องย้ำไว้ตั้งแต่ต้นว่า นี่เป็นการตีความมรดกความคิดของอาจารย์รังสรรค์ด้วยสายตาของผมเอง แกะใหม่ ถอดใหม่ และสรุปใหม่ พ้นไปจากความรับผิดชอบใดๆ ของงานต้นฉบับ

 

รัฐธรรมนูญกับตลาดการเมืองไทย

 

อาจารย์รังสรรค์เป็นผู้บุกเบิกการนำ ‘เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ’ มาวิเคราะห์การเมืองไทย

รัฐธรรมนูญนับเป็น ‘อภิมหาสถาบัน’ (meta institution) เพราะเป็นกติกาสูงสุดของสังคมในการกำกับพฤติกรรมของผู้คน นอกจากนี้ ยังเป็นกลไกที่ใช้เป็นบรรทัดฐานในการตีความและกำหนดกรอบกฎหมายอื่นๆ สิ่งที่เขียนในรัฐธรรมนูญจึงมีผลสืบเนื่องไปถึงการจัดวางดุลอำนาจระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมด้วย

เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญมองการเมืองในฐานะที่เป็น ‘ตลาดแลกเปลี่ยนสาธารณะ’ ที่มีการซื้อขาย ‘บริการทางการเมือง’ โดยที่ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้ซื้อ และนักการเมืองผู้ยึดกุมอำนาจการบริหารเป็นผู้ขาย

แต่ตลาดการเมืองมิได้เป็นตลาดที่สมบูรณ์ในตัวของมันเอง เพราะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความเสี่ยง นโยบายที่พรรคการเมืองเสนอไว้นับเป็นสัญญาโดยนัยเท่านั้น เนื่องจากผู้ซื้อต้องลงคะแนนไปก่อนจะได้รับมอบสินค้า หากนักการเมืองที่เรากากบาทให้แพ้เลือกตั้งหรือไม่ได้ร่วมรัฐบาล บริการการเมืองที่สัญญาไว้ย่อมไม่เกิดขึ้น

อาจารย์รังสรรค์นำกรอบคิดข้างต้นมาวิเคราะห์ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2545 มองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปในทางลบมากกว่าทางบวก

ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะลดทอน ‘ทำนบกีดขวางการเข้าสู่ตลาดการเมือง’ ด้วยการลดขนาดเขตเลือกตั้งและให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้มุ่งหมายปรับเปลี่ยนตลาดการเมืองให้มีการแข่งขันสมบูรณ์ขึ้น เพราะเป็นการออกแบบบนฐานความเชื่อที่ลำเอียงชุดหนึ่ง เช่น 1. พรรคใหญ่ดีกว่าพรรคเล็ก 2. ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องจบปริญญาตรี หรือ 3. ไม่คำนึงถึงรายจ่ายการรณรงค์ทางการเมืองในความเป็นจริง

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จึงทำให้ประชาชนมีทางเลือกน้อยลง คนจนยากจะขยับสถานะทางอำนาจ ทั้งหมดนี้จะยิ่งทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่มีอำนาจเหนือผู้สมัคร ส.ส. และประชาชน จนตลาดการเมืองมีแนวโน้มจะกลายเป็น ‘ตลาดผู้ผลิตน้อยราย’ (oligopolistic market) ในที่สุด

เป็นการยากที่จะสรุปว่าข้อวิเคราะห์ข้างต้นเป็นจริงเพียงใด เพราะรัฐธรรมนูญปี 2540 มีอายุเพียงหนึ่งชั่วรัฐบาลเท่านั้น ก่อนจะจบชีวิตลงด้วยการรัฐประหารในปี 2549

แต่สิ่งหนึ่งที่เราพอจะสรุปได้ก็คือ นักการเมืองและพรรคการเมืองมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปตามกติกาใหม่อย่างชัดเจน

ในการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548 เกิดพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีเสียงข้างมากในสภา (ต่างจากทศวรรษ 2530 ที่เป็นรัฐบาลผสม) รัฐบาลมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น (จากที่เคยง่อนแง่นอายุสั้น) นักการเมืองย้ายพรรคน้อยลง (จากที่เคยย้ายพรรคง่ายดาย) นโยบายของแต่ละพรรคมีผลต่อการลงคะแนนมากขึ้น (จากที่เคยยึดตัวบุคคลเป็นหลัก)

การทิ้งรัฐธรรมนูญ 2540 ไปทั้งฉบับเพราะความหวาดกลัวชื่อคนชื่อพรรคทำให้เราพลาดโอกาสในการถอดบทเรียนสำคัญที่ว่า แม้แต่ในดินแดนอาถรรพ์ที่คนไทยส่วนใหญ่หวาดกลัวอย่างการเมืองนั้น ‘การเปลี่ยนแปลงกติกา’ ยังสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของนักการเมืองและพรรคการเมืองได้

นี่คือหัวใจสำคัญที่สุดของเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ

ฐานคิดหลักของเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญคือความเชื่อที่ว่า ‘ปัจเจกเป็นผลผลิตของสังคม’ เมื่อกฎกติกาในสังคมเปลี่ยน แรงจูงใจของผู้คนย่อมผันแปรตามไปด้วย

หลักการนี้ฟังดูผิวเผินเหมือนไม่สลักสำคัญอะไร แต่อันที่จริง เป็นหลักการที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อกระแสหลักในสังคมไทย ที่มักมองว่านักการเมืองนั้นมีพฤติกรรมแย่โดยกมลสันดาน ชาวบ้านยึดติดกับตัวบุคคลและเงินซื้อเสียง ระบบอุปถัมภ์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ – ทั้งหมดนี้เป็นมายาคติแบบปัจเจกนิยมหยุดนิ่ง จนนำไปสู่ข้อสรุปว่า พรรคการเมืองเป็นสถาบันที่อ่อนแอ (weak institution) ของสังคมไทย

ทั้งที่ในความเป็นจริงอาจเป็นว่า ‘พรรคการเมืองต่างหากที่ถูกทำให้อ่อนแอ’ (institutionalized to be weak) มาตลอดวิวัฒนาการการเมืองไทย

ข้อสรุปสองข้อนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง และมีผลต่อการออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างยิ่ง

หากผู้ออกแบบเชื่อแบบแรก โจทย์การออกแบบหนีไม่พ้นการลดอำนาจผู้แทนราษฎรเพื่อไปเพิ่มอำนาจให้องค์กรแต่งตั้ง ในขณะที่การออกแบบบนสมมติฐานข้อหลังจะมุ่งไปที่การทลายปัจจัยขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อสร้างพรรคการเมืองให้เป็นสถาบันหลักอีกสถาบันหนึ่งของสังคม

 

จากตลาดสู่จารีต

 

พลวัตการเมืองไทยหาได้หยุดที่ระบอบทักษิณ หลังรัฐประหารปี 2549 อาจารย์รังสรรค์พาเราเดินทางข้ามจากตลาดการเมืองไปพินิจพิเคราะห์พลังจารีตและมือที่มองไม่เห็นที่ครอบกลไกตลาดอยู่อีกชั้นหนึ่ง ดังข้อเสนอในปาฐกถาพิเศษ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ปี 2550 เรื่อง ‘จารีตรัฐธรรมนูญไทยกับสันติประชาธรรม’ ที่ว่า

“ด้วยเหตุที่ไม่มีลายลักษณ์อักษร จึงไม่มีใครอ่านออก ไม่สามารถจับต้องได้ แต่มีความสำคัญยิ่งยวดในการกำหนดชะตากรรมของสังคมการเมืองไทย จารีตการเขียนรัฐธรรมนูญเป็น ‘มือที่มองไม่เห็น’ ที่นักศึกษาสังคมไทยต้องใช้แว่นส่องให้เห็น แม้จารีตการเขียนรัฐธรรมนูญมิใช่ ‘หัตถ์พระผู้เป็นเจ้า’ ของ Maradonna แต่มีความสำคัญในระนาบเดียวกับ Invisible Hand ของ Adam Smith ในขณะที่ Invisible Hand ของ Adam Smith ทำหน้าที่กำกับตลาดผลผลิต และตลาดปัจจัยการผลิต จารีตการเขียนรัฐธรรมนูญเป็น ‘มือที่มองไม่เห็น’ ทำหน้าที่กำกับการเขียนรัฐธรรมนูญ”

อาจารย์รังสรรค์ชี้ให้เห็นว่า จารีตการเขียนรัฐธรรมนูญเป็นผลผลิตของการต่อสู้ระหว่างกลุ่มพลัง 3 เส้า อันได้แก่ ‘พลังอำมาตยาธิปไตย’ (นักการเมืองข้าราชการ) ‘พลังยียาธิปไตย’ (นักการเมืองอาชีพ) และ ‘พลังประชาธิปไตย’ ในยามที่กลุ่มพลังประชาธิปไตยอ่อนพลัง จารีตการเขียนรัฐธรรมนูญย่อมเบี่ยงเบนจากแนวทางประชาธิปไตย

จารีตสำคัญของการเขียนรัฐธรรมนูญไทยมีหลายข้อ อาทิ 1. การให้เอกสิทธิ์การเขียนรัฐธรรมนูญแก่ชนชั้นปกครองเพื่อสงวนและแบ่งปันอำนาจในหมู่ชนชั้นปกครองเท่านั้น 2. การเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อก้าวก่ายอำนาจและลดทอนการถ่วงดุลอำนาจ จนถึง 3. การใช้งานเนติบริกรอยู่เป็นนิจเพราะการดำรงอยู่ของวัฏจักรการเมืองและวัฏจักรรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นควบคู่กัน

เมื่อพิจารณาในบริบทรัฐประหาร รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่อาจมีข้อเสียอยู่หลายประการกลับดูโดดเด่นและมีคุณค่ายิ่งกว่าเดิม เพราะเป็นเพียงหนึ่งในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับของไทย (ในจำนวนรัฐธรรมนูญทั้งหมด 17 ฉบับระหว่างปี 2475 – 2549) เท่านั้นที่ยอมรับหลักการสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอย่างกว้างขวาง (อีกฉบับคือ รัฐธรรมนูญปี 2517)

ข้อสรุปของบทวิเคราะห์ในปี 2545 ว่าน่าเป็นห่วงแล้ว ข้อสรุป ณ ปี 2550 ยิ่งชวนหดหู่กว่าเดิม

“จารีตการเขียนรัฐธรรมนูญไทยในปัจจุบันได้รับอิทธิพลอย่างมากจากวัฒนธรรมอำนาจนิยม โดยที่อิทธิพลของวัฒนธรรมประชาธิปไตยมีเพียงส่วนน้อย จารีตการเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้มิอาจนำสังคมไทยไปสู่สันติประชาธรรมได้”

งานชิ้นนี้ใช้แนวทางการวิเคราะห์ที่ต่างไปจาก ‘เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ’ อย่างมาก แต่กลับกลายเป็นส่วนเติมเต็มอีกฟากหนึ่งที่หายไปในงานก่อนหน้า นั่นคือการอภิปรายบทบาทของ ‘กลไกทางสถาบันที่ไม่เป็นทางการ’ (informal institutions)

ในทุกสังคม กติกาที่กำหนดพฤติกรรมผู้คนล้วนเป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ระหว่าง ‘สถาบันที่เป็นทางการ’ อย่างรัฐธรรมนูญ กับ ‘สถาบันที่ไม่เป็นทางการ’ อย่างวัฒนธรรมและจารีตประเพณีเสมอ มากบ้างน้อยบ้างคละกันไป แต่ในกรณีของการเมืองไทยนั้นดูเหมือนว่า จารีตจะมีอิทธิพลเหนือรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรอย่างชัดเจน

ในดินแดนแห่งนี้ ภาพฝัน ‘อุตมภาพของพาเรโต’ (Pareto optimality) ไม่อาจทัดทานพลังของ ‘อุตมภาพสมบูรณาญาสิทธิ์’ (Absolutist optimality) ได้ แม้จะไม่มีใครรู้ว่าอุตมภาพทั้งสองหน้าตาเป็นอย่างไรก็ตาม

หากแป๊ะตงกับยายจันทน์มีชีวิตอยู่รอดถึงยุครัฐประหารอาจต้องอุทานว่า

“มิน่าเล่า ตลาดเราจึงไม่ทำงาน”

 

สันติ–ประชา–ธรรม

 

อาจารย์รังสรรค์ไม่เพียงวิเคราะห์สังคม ‘อย่างที่เป็นอยู่’ เท่านั้น แต่ยังชวนให้เราคิดถึงสังคม ‘ที่ควรเป็น’ อยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะในห้วงยามหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทย

ความสับสนหลังการเลือกตั้งปี 2562 และความไม่เชื่อมั่นของคนจำนวนมากต่อวิธีการเลือกตั้งและแนวทางตั้งรัฐบาลตามกรอบรัฐธรรมนูญปี 2560 ทำให้สังคมไทยอาจถึงเวลาต้องแสวงหาฉันทมติเรื่องอภิมหาสถาบันกันอีกครั้ง

อาจารย์รังสรรค์เคยตั้งคำถามว่า กติกาแบบใดที่จะสามารถนำพาสังคมไทยไปสู่ ‘สันติประชาธรรม’ ได้ และเสนอไว้ว่า “อุตมรัฐของป๋วย อึ้งภากรณ์ ต้องมีธรรมเป็นฐานราก ธรรมนอกจากต้องเป็นรากฐานของระบบการเมืองแล้ว ยังต้องเป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจไทยด้วย”

ด้วยบริบทที่เปลี่ยนไปและเงื่อนไขที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผมขออนุญาตเห็นต่างและเสนอว่า ในเวลานี้สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วนสำหรับสังคมไทยอยู่ที่ตัวกติกาเองมากกว่าเป้าหมาย

และหากจะแสวงหาฉันทมติของอภิมหาสถาบันกันอีกครั้งก็ควรยึดหลัก สันติ-ประชา-ธรรม อีกชุดหนึ่งที่มีนัยต่างออกไปจากยุคสมัยของอาจารย์ป๋วย

นั่นคือ ต้องเปลี่ยนแปลงกติกาอย่าง ‘สันติ’ เห็นความสำคัญของ ‘ประชา’ ชน และประเมินทุกฝ่ายอย่างเป็น ‘ธรรม’

ทั้งสามหลักการนี้สามารถนำกรอบเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญมาช่วยออกแบบได้เช่นกัน

 

สันติ – เปลี่ยนแปลงอย่างสันติ

หากจะมีการเปลี่ยนแปลงกติกา ก็ต้องทำผ่านกระบวนการที่ให้เกียรติและเคารพสิทธิของคนในสังคม ไม่ใช่การล้มกระดานผ่านรัฐประหารด้วยทหารหรือตุลาการ ผู้ที่สร้างสภาวะความไม่แน่นอน (uncertainty) ต่อกระบวนการเปลี่ยนแปลง เช่น ขู่ว่าจะทำรัฐประหาร ต้องจ่ายราคาของความไม่แน่นอนให้กับสังคม โดยอาจนับเป็นภาษีรัฐประหาร (coup tax)

และถึงจะทำรัฐประหารสำเร็จ คณะรัฐประหารก็ควรรับผิดชอบภาษีรัฐประหารอยู่ดี ต้นทุนความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่นิตยสาร The Economist เคยประเมินไว้จากการรัฐประหารของพลเอกประยุทธ์ที่ 20,000 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2557 อาจสูงเกินไป แต่ราคาที่รัฐไทยต้องจ่ายโครงการเมกะโปรเจ็คต์ที่แพงขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล (marginal expenditure) ก็พอจะนำมาหารเฉลี่ยระหว่างแกนนำรัฐประหารได้

เทียบเคียงกับการฟ้องร้องฐานละเมิดคำสั่งทำธุรกรรมใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปปกป้องค่าเงินบาทในวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่มีมูลค่าการฟ้องราว 1.8 แสนล้านบาท

 

ประชา – เห็นความสำคัญของประชาชน

รัฐธรรมนูญทำหน้าที่ Social Coordination Mechanism เชื่อมประสานภาคส่วนต่างๆ ของสังคมการเมืองให้ทำงานประสานกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชนในฐานะผู้ได้รับผลกระทบจากกติกาใหม่

กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้รับความชื่นชมก็เพราะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งในขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญ และขั้นตอนการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการจัดประชาพิจารณ์ (public hearing) เพื่อให้คณะกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็น ผู้แทนจังหวัดมีบทบาทเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในช่วงแรก หลังจากนั้นภาคประชาสังคมจึงเข้ามาร่วมรณรงค์ให้ร่างดังกล่าวผ่านสภา ดังที่อาจารย์รังสรรค์วิเคราะห์ไว้ว่า

“ความสำเร็จในการกดดันให้รัฐสภาให้ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดจากเหตุปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 4 ประการ คือ 1. การให้ความสำคัญด้านการตลาดการเมือง (Political Marketing) 2. การให้การศึกษาด้านการเมืองการปกครองแก่ประชาชน (Political Education) 3. บทบาทของสื่อมวลชน และ 4. การออกแบบมาตรา 211 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534/2539”

หากจะมีการลงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เห็นต่างสามารถรณรงค์แลกเปลี่ยนความคิดกันได้ ไม่ถูกกดทับกีดกันดังเช่นครั้งออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559

และเพื่อให้การแลกเปลี่ยนความคิดสาธารณะเกิดประโยชน์สูงสุด รัฐควรช่วยลดรายจ่ายในการรณรงค์ทางการเมือง (political campaign expenditure) ให้กับกลุ่มที่เสียเปรียบในสังคมด้วย เพื่อลดปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของพลังการต่อรอง (bargaining power) ระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ

 

ธรรม – ประเมินทุกฝ่ายอย่างเป็นธรรม

ปัญหาหลักประการหนึ่งในการออกแบบกติกาการเมืองไทยที่ผ่านมา คือ การพิจารณา ‘ตัวแสดงทางการเมือง’ (political actors) อย่างไม่ทั่วถึงเท่าเทียม

ในกระบวนการร่างกฎระเบียบเพื่อจูงใจและลงโทษตัวแสดงทางการเมือง ผู้ร่างมักนึกถึงแต่เพียงหน้านักการเมืองที่เป็นผู้ลงรับสมัครเป็นผู้แทนราษฎรเท่านั้น

อย่างไรก็ดี หากเรามองว่า “การแข่งขันในตลาดการเมืองเป็นการแข่งขันเพื่อยึดกุมอำนาจรัฐ หรืออีกนัยหนึ่งยึดกุม Political Property Right” แล้ว ผู้ที่พึงมีอำนาจตัดสินใจในการจัดสรรทรัพยากรของรัฐทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ส.ส. ผู้มีอำนาจเบื้องหลัง ส.ส. รัฐมนตรี ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรแต่งตั้ง ตัวแทนกลุ่มทุนที่เข้ามาร่วมกำหนดนโยบายรัฐ รวมถึงผู้ที่สามารถให้คุณให้โทษทางการเมืองต่างๆ ควรถูกนับเป็นตัวแสดงทางการเมืองทั้งสิ้น

นอกจากนี้ สมมติฐานเกี่ยวกับพฤติกรรมของตัวแสดงการเมืองก็ต้องเป็นไปอย่างคงเส้นคงวา ดังที่อาจารย์รังสรรค์เสนอไว้ว่า

“ภายใต้ระบบการวิเคราะห์ของเศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ ข้อสมมติที่สำคัญก็คือ มนุษย์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ หรือ homo economicus ผู้ต้องการอรรถประโยชน์สูงสุด (utility maximization) ข้อสมมตินี้นำไปใช้วิเคราะห์ประพฤติกรรมของตัวละครต่างๆ ในสังคมการเมือง ไม่ว่าจะเป็นประชาชนผู้เสียภาษีอากร ราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นักการเมือง รัฐบาล และข้าราชการ”

หากกติการะดับรัฐธรรมนูญไม่ประเมินตัวแสดงทางการเมืองอย่างเป็นธรรม ย่อมจะนำไปสู่สภาวะการกระจุกตัวของอำนาจทางการเมือง (power concentration) ในคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับอำนาจชี้เป็นชี้ตายตัวแสดงอื่น โดยแทบไม่ต้องแบกรับความรับผิดชอบ (accountability) หรือต้นทุนปฏิบัติการทางการเมืองใดๆ (political transaction cost)

ผลลัพธ์ระยะสั้นจากสภาวะนี้คือการชะงักงันของการดำเนินนโยบายรัฐ เพราะภายใต้โครงสร้างสิ่งจูงใจเช่นนี้ ผู้มีอำนาจย่อมเลือกยืนอยู่ข้างสภาวะเดิม (status quo) ปล่อยให้สรรพสิ่งอื่นๆ เป็นไปตามยถากรรม

ในขณะที่ระยะยาว ทรัพยากรและผู้คนจะไหลไปสู่ฐานอำนาจกระจุกตัวดังกล่าว (เช่น องค์กรแต่งตั้ง กองทัพ กลุ่มทุนใกล้ชิด) ปัจเจกผู้มีความคิดสมเหตุสมผล (the rational) ย่อมไม่มีใครอยากเป็นผู้แทนราษฎรหรือแม้แต่รัฐบาล เพราะต้องแบกรับความเสี่ยงสูงกว่าตัวแสดงการเมืองอื่นๆ

เมื่อนั้น สภาผู้แทนก็จะกลายเป็นสนามเล่นเกมที่มีเพียงบรรดานักแสวงหาค่าเช่า (rent seekers) และมนุษย์ผู้ไร้เหตุผล (the irrational) แย่งกันครอบครอง

เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะอนาธิปไตยที่ไร้ประสิทธิภาพและความเป็นธรรม

รังสรรค์รัฐธรรมนูญด้วยหลักการ ‘สันติ-ประชา-ธรรม’ คือทางออก.

MOST READ

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Political Economy

12 Feb 2021

Marxism ตายแล้ว? : เราจะคืนชีพใหม่ให้ ‘มาร์กซ์’ ในศตวรรษที่ 21 ได้หรือไม่?

101 ถอดรหัสความคิดและมรดกของ ‘มาร์กซ์’ ผู้เสนอแนวคิดสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ผ่าน 3 มุมมองจาก เกษียร เตชะพีระ, พิชิต ลิขิตสมบูรณ์ และสรวิศ ชัยนาม ในสรุปความจากงานเสวนา “อ่านมาร์กซ์ อ่านเศรษฐกิจการเมืองไทย” เพื่อหาคำตอบว่า มาร์กซ์คิดอะไร? มาร์กซ์ยังมีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 หรือไม่? และเราจะมองมาร์กซ์กับการเมืองไทยได้อย่างไรบ้าง

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล

12 Feb 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save