fbpx
รานา มิตเตอร์ : จีนสมัยใหม่ บนบันไดสู่มหาอำนาจในศตวรรษ 21

รานา มิตเตอร์ : จีนสมัยใหม่ บนบันไดสู่มหาอำนาจในศตวรรษ 21

สมคิด พุทธศรี และ กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

พิมพ์ใจ พิมพิลา ภาพ

ใครๆ ก็รู้ว่า จีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และความมั่นคง การทำความเข้าใจจีนอย่างลุ่มลึก รอบด้าน จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น

ปัญหามีอยู่ว่า เราจะเข้าใจจีนได้อย่างไร?

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า คนจีนมีสำนึกทางประวัติศาสตร์มากกว่าคนตะวันตก ดังนั้น การจะเข้าใจนโยบายของจีนในโลกปัจจุบันจึงจำเป็นต้องเข้าใจประวัติศาสตร์จีนด้วย

อาจเป็นเพราะเหตุนี้เองที่ทำให้ รานา มิตเตอร์ (Rana Mitter) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์การเมืองจีนสมัยใหม่แห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน ‘จีนสมัยใหม่’ ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่ง ผลงานวิชาการของเขา อาทิ หนังสือ จีนสมัยใหม่: ความรู้ฉบับพกพา (Modern China: A Very Short Introduction) และ หนังสือ ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ (A Bitter Revolution) ล้วนมีพลังและทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในการทำความเข้าใจสังคมจีนในปัจจุบัน

นอกรั้วมหาวิทยาลัย รานา มิตเตอร์ ยังมีบทบาทสำคัญในสถาบันวิจัยของกระทรวงกลาโหม กองทัพ และกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร รวมถึงยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีต่างประเทศยามมีภารกิจต้องเยือนจีนด้วย

เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา 101 ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ รานา มิตเตอร์ ว่าด้วยอนาคตของจีนสมัยใหม่ในสารพัดประเด็น ทั้งความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การเมืองภายในประเทศ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง นโยบายต่างประเทศของจีน ฯลฯ แต่ละคำตอบล้วนแหลมคม ชวนคิด มองเห็นตัวแปรสารพัดอย่างเป็นระบบ

ในยุคที่พญามังกรเริ่มกางปีก (และเขี้ยวเล็บ) ปกคลุมโลกของเรา คุณไม่ควรพลาดบทสัมภาษณ์นี้ด้วยประการทั้งปวง

รานา มิตเตอร์

คุณเขียนหนังสือเรื่อง จีนสมัยใหม่: ความรู้ฉบับพกพา (Modern China: A Very Short Introduction) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2008 ต่อมาปรับปรุงแก้ไขครั้งที่สองในปี 2016 ในช่วงระยะห่าง 8 ปี จีนเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง

ช่วง 8 ปีระหว่างปี 2008-2016 หรืออันที่จริงต้องบอกว่าทศวรรษที่ผ่านมา เป็นช่วงที่สำคัญมากสำหรับจีน เพราะเป็นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก ซึ่งกระทบความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศอื่นๆ ตอนที่ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ในฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก ระเบียบการเงินและแนวคิดด้านการพัฒนาของโลกยังคงถูกครอบงำโดยตะวันตกอยู่ แน่นอนว่า จีนร่ำรวยขึ้น กระนั้นก็ยังคงใช้ความคิดหรือมุ่งทิศตามโลกตะวันตก แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว

สิ่งที่โลกตะวันตกอาจไม่เข้าใจคือ จีนได้เปลี่ยนทัศนะของตนเอง ผู้นำจีนเห็นวิกฤตที่เกิดขึ้นในตะวันตก และคิดว่าโลกตะวันตกไม่สามารถสอนบทเรียนใดๆ ให้จีนได้อีกต่อไป อีกทั้งโลกตะวันตกยังไม่สามารถบอกจีนได้ว่า ควรจะขับเคลื่อนระบบอย่างไร เพราะจีนทำสิ่งที่แตกต่างจากประเทศตะวันตก สิ่งที่จีนทำคืออัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ จนเกิดเป็นการสร้างสาธารณูปโภคมากมายอย่างที่เราเห็นกันใน 10 ปีต่อมา ทั้งสนามบิน รางรถไฟ สัญญาณอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยี ล้วนเป็นผลผลิตมาจากช่วงนั้นทั้งสิ้น

อีกหนึ่งปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงคือผู้นำ โดย สี จิ้นผิง (Xi Jinping) รับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2012 ต่อจากหู จิ่นเทา (Hu Jintao) สี จิ้นผิงมีลักษณะที่มีอิทธิพลต่อผู้คนมากกว่า และพยายามจะเปลี่ยนจีนไปในทางที่เหมาะกับบุคลิกของเขา สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ จีนมีความเป็นเสรีนิยมน้อยกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แม้ในตอนนั้น จีนจะกังวลมากเกี่ยวกับบางประเด็น เช่น การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ แต่ก็ยังมีบางเรื่องที่เปิดให้ถกเถียงกันได้ โดยเฉพาะเรื่องการคอร์รัปชันระดับท้องถิ่น แต่ตอนนี้ทุกอย่างตึงเครียดมากกว่าเดิม หลายอย่างถูกควบคุมโดยพรรคการเมืองหรือมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะเรื่องสื่อและเสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech)

กล่าวแบบรวบยอดคือ ตอนนี้จีนรู้สึกมั่นใจเรื่องเศรษฐกิจและการเงินมากกว่าในปี 2008 แต่มีความเป็นอำนาจนิยมมากขึ้น และมีความเป็นเสรีนิยมน้อยลง

สิ่งที่ สี จิ้นผิง ทำคือการรวบอำนาจไว้ที่ตัวเขา โดยเฉพาะการแก้กฎหมายให้ไม่มีการจำกัดวาระในการดำรงตำแหน่ง หลายคนเปรียบเปรยว่านี่คือการกลับไปสู่ระบอบจักรพรรดิใหม่ ตัวคุณเองเขียนบทความหลายชิ้นว่า การเปรียบว่าสี จิ้นผิงเป็นจักรพรรดินั้นผิดฝาผิดตัว คุณทำความเข้าใจสถานะของเขาอย่างไร

การเปรียบ สี จิ้นผิง เป็นเสมือนจักรพรรดิใหม่ไม่ใช่ความคิดที่น่าเชื่อเท่าไหร่นัก เพราะเรื่องจักรพรรดิต้องขึ้นอยู่กับวิถีปฏิบัติ จักรพรรดิมีอำนาจมาก แต่ไม่ใช่ในแบบที่ผู้นำสมัยใหม่ปกครอง ผมมองว่า สี จิ้นผิง คือผู้นำแบบโลกสมัยใหม่ที่ใช้ความสามารถในการปกครองรัฐจีนสมัยใหม่ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง พูดง่ายๆ คือ สี จิ้นผิง ไม่ได้ปกครองจีนผ่านทางอำนาจหรือเสน่ห์เฉพาะตนแบบแนวคิดโอรสแห่งสวรรค์ (Son of Heaven) แต่เขาใช้อำนาจนั้นโดยตรงผ่านทางระบบราชการในรัฐอำนาจนิยมที่เขาปกครองอยู่

ระบบในจีนเป็นระบบที่ประธานาธิบดีไม่ได้อยู่แค่ยอดบนสุด แต่อยู่ในโครงสร้างทั้งหมดของพรรค ซึ่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พัฒนาอย่างมีนัยสำคัญและซับซ้อนมากในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นผู้ทรงอำนาจ อีกทั้งเขายังมีความคิดชัดเจนว่าต้องการให้จีนดำเนินไปในทิศทางใด

การที่คนจีนรวยขึ้น มีความเป็นปัจเจกชนมากขึ้น มีความเป็นสมัยใหม่มากขึ้น ไม่ทำให้สังคมจีนเปลี่ยนไปในทางที่เป็นเสรีนิยม หรือประชาธิปไตยมากขึ้นเลยหรือ

การตีความว่าทฤษฎีสภาวะสมัยใหม่ (modernization theory) จะนำไปสู่กระบวนการสร้างประชาธิปไตย (democratization) และกระบวนการทำให้เป็นเสรีนิยม (liberalization) ดูจะเป็นการตีความที่ง่ายเกินไป และโดนตั้งคำถามมากในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา มีหลายประเทศที่หากพิจารณามูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประเทศเหล่านั้นร่ำรวยกว่าเมื่อ 20 หรือ 40 ปีที่ผ่านมา แต่มีความเป็นเสรีนิยมน้อยลง เช่น ประเทศตุรกี

สำหรับจีน ประเทศนี้ไม่เคยเป็นเสรีนิยม แม้ช่วงต้นทศวรรษ 2000 จะมีความเป็นอิสระมากกว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเหตุผลหลายประการที่อธิบายเรื่องนี้ แต่ปัจจัยที่สำคัญมากๆ คือ ความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ เมื่อเรานำรายได้ต่อหัวมาพิจารณา จะเห็นว่าทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างรวยกว่าเมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่ทั้งสองประเทศก็ยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ และเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิม

ในกรณีนี้ สหรัฐฯ มีความเป็นประชาธิปไตย จึงทำให้ผลของความเหลื่อมล้ำแพร่ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยและกลับมาฉุดรั้งประชาธิปไตยเสียเอง ดังที่เห็นว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีที่มีตรรกะความเป็นประชาธิปไตยน้อยที่สุดเท่าที่สหรัฐฯ เคยมีมา ดังนั้น เราจึงไม่ควรด่วนสรุปง่ายๆ ว่า ประชาธิปไตยจะยังประโยชน์สุขแก่คนส่วนใหญ่เสมอ

แต่สถานการณ์ในจีนนั้นแตกต่างออกไป เพราะจีนร่ำรวยภายใต้ระบบที่ไม่ได้เป็นเสรีนิยม แม้ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มขึ้น แต่คนส่วนใหญ่ในสังคมยังรู้สึกว่าพวกเขาได้ประโยชน์ เมื่อผนวกกับความล้มเหลวที่จีนเห็นจากโลกตะวันตกหลังปี 2008 ด้วยแล้ว จีนยิ่งขยับออกห่างจากความเป็นประชาธิปไตย โดยที่ยังสามารถมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจต่อไปได้

 

ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ระบอบดังกล่าวนี้จะวิวัฒน์ไปสู่อะไร

ถ้าผมรู้คงรวยไปแล้ว (หัวเราะ) ผมคิดว่าไม่มีใครรู้ แม้กระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ไม่รู้แน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า สี จิ้นผิง อาจลงจากตำแหน่ง หรืออาจยังอยู่ในตำแหน่งต่อไป นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนต้องเฝ้าระมัดระวัง และคุณก็ไม่สามารถคาดการณ์ผลลัพธ์ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม เราสามารถระบุประเด็นความเสี่ยงที่อาจช่วยให้เข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

ข้อแรก เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงินและการเงินท้องถิ่นในจีน ตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกปี 2008 รัฐบาลจีนอัดฉีดเงินจำนวนมากเข้าไปในระบบการเงิน แต่ตอนนี้เงินเหล่านี้ต้องถูกนำออกมา ปัญหาคือการนำเงินออกมาต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อกันไม่ให้ระบบการเงินเกิดปัญหา นอกจากนี้ การนำเงินออกจากระบบจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง จีนจึงต้องพยายามสร้างสมดุลในการนำเงินออกมา และสี จิ้นผิง ก็เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในเรื่องนี้ ซึ่งเรายังไม่รู้ว่าเขาจะทำสำเร็จหรือไม่

ข้อที่สองคือเรื่องการใช้เทคโนโลยี จีนกำลังพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) การจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริง (Virtual Reality) หรือการจดจำเสียง (Voice Recognition) ทั้งหมดนี้จะส่งผลอย่างมากต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน อีกหนึ่งปัจจัยใหม่คือ ระบบเครดิตทางสังคม (Social Credit System) ที่จะเก็บข้อมูลของทุกคนในที่ๆ รัฐสามารถเข้าถึงได้ นี่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากในอีก 5 หรือ 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น คำถามคือ รัฐจะสามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน และรัฐมีอำนาจในการควบคุมประชาชนมากเท่าใด

ข้อที่สาม ซึ่งเป็นประเด็นที่ใหญ่ และเรายังไม่รู้ผลลัพธ์ของมันคือ โครงการเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 (Belt and Road Initiative; BRI) ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย ปัจจุบันคนมักพูดกันว่าจีนวางแผนขนาดใหญ่มาก แต่ก็เป็นการพูดมากกว่าทำจริง ประเด็นใหญ่ของ BRI คือ จีนมีทุนที่ล้นเกิน (excess capital) ภายในประเทศ ซึ่งก็เป็นผลมาจากการอัดฉีดเงินเข้าระบบอย่างที่บอกไป นึกออกไหมว่า ต่อให้จีนใหญ่แค่ไหน จีนก็ไม่ได้ต้องการสนามบิน 500 แห่ง รถไฟความเร็วสูงก็ไม่ได้สร้างได้แบบไม่จำกัด นี่คือเหตุผลว่าทำไมทุนจีนถึงหลั่งไหลไปต่างประเทศ

ประเด็นเรื่อง BRI ยังมีลักษณะเฉพาะของจีนด้วย นั่นคือ จีนยอมจ่ายเงินเพิ่ม เพื่อเพิ่มสถานะของตนเองในภูมิภาคนี้ ตัวอย่างล่าสุดคือกรณีของมาเลเซียที่จีนยอมลดราคารถไฟความเร็วสูงจาก 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหลือแค่ 10,000 ล้านเหรียญฯ เรื่องนี้สะท้อนว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับเรื่องเกียรติยศของโครงการ BRI มากกว่าเรื่องประหยัดเงิน

สำหรับตอนนี้ ผมคิดว่าคนยังไม่มั่นใจในเจตนาที่แท้จริงของจีนต่อโครงการ BRI ว่าจีนมีจุดประสงค์ที่ดี หรือว่าจะเป็นแบบในศรีลังกาหรือลาว ที่คนต้องกังวลเกี่ยวกับการเป็นหนี้จีนก้อนโต ถ้ารัฐบาลจีนไม่ทำอะไรกับข้อสงสัยดังกล่าว ก็จะส่งผลต่อเกียรติภูมิของจีนด้วย นี่เป็นอีกสิ่งที่คนจะให้ความสนใจใน 5 หรือ 10 ปีข้างหน้าเช่นกัน

ประเด็นหนึ่งที่ถกเถียงกันมากคือ โครงการ BRI มีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลังมากกว่านี้หรือไม่ มันเป็นโครงการที่เกิดจากเหตุผลทางเศรษฐกิจภายในหรือเกิดจากภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศกันแน่

โครงการ BRI ถูกผลักดันจากหลายเหตุผล เหตุผลแรกคือเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ โดยจีนพยายามจะสร้างสภาพแวดล้อมด้านความมั่นคงและการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เลยไปถึงแอฟริกาตะวันออกด้วย ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะทำให้จีนได้ประโยชน์ อีกเหตุผลหนึ่งคือ นี่เป็นวิธีการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของจีนอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะถ้าเศรษฐกิจยังเติบโตในอัตราต่ำ จะมีคนหนุ่มสาวว่างงานมากขึ้น การเสนองานให้เขาทำในต่างประเทศน่าจะเป็นทางแก้ปัญหาที่ดี นอกจากนี้ ยังมีนักวิเคราะห์จำนวนมากบอกว่า โครงการ BRI ถูกผูกติดอยู่กับวิสัยทัศน์เฉพาะตัวของ สี จิ้นผิง ดังนั้นเขาจึงรู้สึกว่าต้องทำมันให้สำเร็จ มิฉะนั้นเกียรติยศของเขาก็จะได้รับผลกระทบด้วย

ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเกียรติยศส่วนตัว ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และเป้าหมายที่จีนอยากจะยิ่งใหญ่ขึ้นในเวทีโลก ล้วนมีส่วนสำคัญในการผลักดันโครงการ BRI

รานา มิตเตอร์

เราเห็นกันว่า อำนาจของจีนกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในระดับนานาชาติ แล้วจีนมองตัวเองอย่างไรในการเป็นมหาอำนาจระดับโลก

จีนมีความปรารถนาที่จะเป็นมหาอำนาจในระดับโลก แต่ก็ยังไม่รู้ขอบเขตความรับผิดชอบที่มหาอำนาจระดับโลกพึงมี อย่างน้อยที่สุด จีนเป็นมหาอำนาจในระดับภูมิภาคแล้ว และถ้าจีนไม่ระวังการกระทำของตน ก็อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของจีนในระดับโลกได้

คนในภูมิภาคนี้เห็นถึงอิทธิพลของจีนในภูมิภาคแล้วในหลายๆ ด้าน เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำในโครงการ BRI เป็นต้น แต่ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่กองทัพเรือของจีนมีอำนาจมากขึ้นในทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดียด้วย ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ ประเทศต่างๆ จะกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับศักยภาพทางการทหารของจีน ดังตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับอินเดีย นี่คือสิ่งที่จีนต้องอธิบายกับประชาคมโลก เพราะที่ผ่านมาดูเหมือนว่าเหตุผลของจีนจะไม่ชัดเจนและไม่น่าเชื่อถือเท่าไหร่

เราสามารถพูดได้ว่า สิ่งที่จีนทำทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง แต่หากจีนไม่ระมัดระวัง การขยายอำนาจอาจนำไปสู่การเผชิญหน้ากับประเทศอื่นในภูมิภาคได้ แม้จะเป็นเรื่องที่จีนเองไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

คุณพูดถึงขอบเขตความรับผิดชอบที่มหาอำนาจระดับโลกพึงมี อยากให้ขยายความเรื่องนี้ในกรณีของจีนสักหน่อย

หากต้องการเป็นมหาอำนาจของโลก จีนยังต้องพิสูจน์ตัวเองในหลายด้าน ตัวอย่างในเรื่องนี้ เช่น วิกฤตการณ์ในซีเรีย ซึ่งรัสเซีย สหรัฐฯ อินเดีย หรือสหภาพยุโรป อาจแสดงท่าทีบางอย่างกับเรื่องนี้ ถ้าจีนจะเป็นมหาอำนาจระดับโลกจริงๆ จีนจะต้องเริ่มแสดงความคิดเห็นในวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในละแวกใกล้บ้านเท่านั้น

กรณีเกาหลีเหนือก็เป็นตัวอย่างที่ดีอีกเรื่องหนึ่ง ประชาคมโลกรู้ดีว่าจีนมีอำนาจมากกว่าเกาหลีเหนือ อย่างน้อยก็มากกว่าในซีเรีย (หัวเราะ) ดังนั้น จึงเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะคาดหวังให้จีนช่วยจัดการปัญหาเกาหลีเหนือ แต่ตอนนี้ เจตนาของจีนยังไม่ชัดเจนและไม่ได้แสดงออกว่าจะเอาอย่างไรแน่

จริงอยู่ว่าจีนยอมปฏิบัติตามกฎ เช่น ร่วมคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่านั้น ไม่ได้ใช้การทูตเชิงสร้างสรรค์ (Creative Diplomacy) หรือไม่ได้ลองวิธีใหม่ๆ เพื่อจะแก้ปัญหานี้ในภาพรวม บางทีจีนอาจจะถูกกดดันให้ทำแบบนั้น เพราะการประชุมพบปะกันระหว่างสองเกาหลีได้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ไปอย่างมาก จีนยังหวังว่าตัวเองจะยังมีอิทธิพลในการเจรจา มากกว่าเป็นตัวเสริมในการทำข้อตกลงบางอย่างระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสองเกาหลี

นอกจากนี้ จีนยังจำเป็นต้องเรียนรู้ว่า จะเข้าไปเกี่ยวพันกับปัญหาทางการทูตที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์โดยตรงของตนอย่างไร คุณอาจเห็นจีนมีบทบาทนำในการแก้ปัญหาโลกร้อน แต่กับนโยบายการต่อต้านโจรสลัดทางทะเลกลับนิ่งเฉย และคงจะไม่เปลี่ยนแปลงหากจีนไม่เปลี่ยนแนวคิดเรื่องผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเล

พูดให้ถึงที่สุด แนวความคิดที่ว่าจีนจะเป็นหลักและเป็นประเทศแรกที่ออกมามีส่วนในการผลักดันปัญหาร่วมของโลก ยังเป็นเรื่องอีกยาวไกล

คุณประเมินศักยภาพจีนอย่างไร เพราะต่อให้จีนอยากจะเข้าไปมีบทบาทในเวทีโลก แต่ตัวจีนเองมีศักยภาพเพียงพอในการจัดการกับปัญหาอย่างซีเรีย หรือประเด็นใหญ่โตระดับนั้นได้หรือ

ณ ตอนนี้คำตอบคือไม่ ผมคิดว่าจีนไม่ควร และยังไม่มีศักยภาพมากพอในการเข้าไปมีบทบาทในเวทีโลก แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ถ้าจีนมีศักยภาพพอ แล้วจีนจะได้รับการตอบรับจากประชาคมโลกหรือเปล่า

ลองคิดเกี่ยวกับนัยยะเรื่องความมั่นคงในโครงการ BRI ดู เพราะพื้นที่ส่วนมากของโครงการครอบคลุมบริเวณที่มีความอ่อนไหวต่อความมั่นคงของโลก หรือบริเวณอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ในกรณีของประเทศอัฟกานิสถาน ที่แม้ BRI จะไม่ได้ครอบคลุมอัฟกานิสถานโดยตรง แต่อัฟกานิสถานอยู่ใกล้กับประเทศปากีสถาน รวมถึงพื้นที่อื่นๆ ด้วย

ก่อนหน้านี้ จีนได้ประโยชน์จากการที่องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ได้ส่งกองกำลังเข้าไปรักษาความมั่นคงในอัฟกานิสถาน เพราะจีนมีผลประโยชน์อยู่ที่นั่น จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว NATO ได้ถอนกำลังออกมา สิ่งที่จีนต้องคิดคือจะส่งกองกำลังของตนเองไปแทรกแซงในอัฟกานิสถานหรือไม่ หากเกิดอะไรที่ทำให้ผลประโยชน์ของจีนในนั้น ซึ่งมีมูลค่ากว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เสียหาย แต่ถ้าทำแบบนั้น โลกจะกังวลกับการที่จีนส่งกองกำลังของตนออกไปยังต่างประเทศหรือไม่ หรือถ้าจีนเลือกจะไม่ส่งกองกำลังของตนเองออกไป จีนจะปกป้องผลประโยชน์ของตนอย่างไร

ประเด็นนี้ยังไม่เป็นที่ถกเถียงมากนัก แต่ในอนาคตจะเป็นประเด็นใหญ่แน่นอน ประเด็นหนึ่งที่เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้คือ เมื่อปีที่แล้ว นักการทูตจีน 4 คนถูกผู้ก่อการร้ายยิงจนเสียชีวิตที่เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน เพราะพวกองค์การก่อการร้ายมองว่า จีนเป็นมหาอำนาจที่กำลังผงาดขึ้นมา และเริ่มโจมตีสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของจีน เหมือนอย่างที่พวกผู้ก่อการร้ายโจมตีสหรัฐฯ หรือพื้นที่ที่เป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ นี่คือเหตุผลว่าทำไมจีนกังวลเกี่ยวกับเรื่องการก่อการร้ายมาก แต่ตอนนี้ จีนยังไม่มีศักยภาพหรือกรอบแนวคิดที่จะจัดการกับเรื่องเหล่านี้ได้

ดูเหมือนว่าประชาคมโลกไม่ได้ไว้ใจจีนมากนัก

จีนยังไม่มีสิ่งหนึ่งที่สหรัฐฯ มี นั่นคือพันธมิตร จริงอยู่ว่าจีนมีหุ้นส่วนความร่วมมือ เช่น ความร่วมมือกับประเทศรัสเซีย หรือองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation) หรือความร่วมมือในบางโครงการกับบางประเทศในภูมิภาค แต่ประเทศที่จะให้ความเชื่อใจจีนแบบจริงๆ นั้นมีน้อยมากในตอนนี้ พูดได้ว่า เป็นการยากมากๆ ที่จีนจะสร้างความสัมพันธ์ทางความมั่นคงแบบเต็มรูปแบบ (full shared security relationship) กับประเทศอื่นๆ ได้

แต่เอาเข้าจริง ถ้ามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ จีนเองก็ไม่เคยเข้าร่วมในสงครามซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ห่างไกลจากอาณาเขตของตนเอง เหมือนอย่างชาติมหาอำนาจอื่น เป็นไปได้ไหมว่านี่คือแนวคิดแบบดั้งเดิมของจีน

ต้องบอกก่อนว่า จีนสร้างอาณาจักรของตนเองขึ้นมา ซึ่งล่มสลายลงในราชวงศ์ชิง เราต้องยอมรับว่าอาณาเขตของจีนภายใต้ราชวงศ์แผ่ขยายไปมากในช่วงศตวรรษที่ 17-18 และสิ่งที่เราจะลืมไม่ได้คือ ในช่วงระหว่างศตวรรษที่ 17 และ 20 จีนถูกปกครองโดยพวกแมนจู ซึ่งไม่ใช่ชาวจีนแท้ๆ (ชาวฮั่น) ในแง่นี้ จีนมีการทำสงครามเพื่อขยายอาณาเขตของตนดังที่อาณาจักรอื่นทำ อีกทั้งอาณาจักรจีนยังเคยถูกปกครองภายใต้กลุ่มคนหลายชาติพันธุ์ด้วย

แต่ในช่วงศตวรรษที่ 20 การเข้าร่วมสงครามนานาชาติยิ่งน้อยลง เพราะจีนถูกโจมตีจากมหาอำนาจทางทะเล จากนั้นก็เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแน่นอนว่าเป็นช่วงเวลาที่บอบช้ำมากในประวัติศาสตร์จีน เมื่ออาณาเขตส่วนใหญ่ของจีนถูกรุกรานและถูกครอบครองโดยญี่ปุ่น และช่วงเวลาที่เหลือในศตวรรษที่ 20 ก็เป็นช่วงของการฟื้นตัวกลับมาจากจุดต่ำสุดนั้น

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ คุณมักจะใช้ประวัติศาสตร์ในการพิจารณาเหตุการณ์ปัจจุบันที่คล้ายคลึงกัน เราสามารถเปรียบเทียบกับจีนในทุกวันนี้ กับเหตุการณ์ใดในประวัติศาสตร์ได้บ้าง

อันที่จริง สถานการณ์ในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ไม่เคยเหมือนเดิม แต่บางครั้ง คุณอาจเห็นปัจจัยต่างๆ ประกอบเข้าด้วยกันได้ ในหนังสือเรื่อง ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ (A Bitter Revolution: China’s Struggle with the Modern World) ผมได้แสดงให้เห็นว่า ตลอดช่วงศตวรรษที่ 20 มีเหตุการณ์ในจีนที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาหลายครั้ง โดยมีรากฐานทางความคิดมาจากกระบวนการเดียวกัน นั่นคือ การเดินขบวนของนักศึกษาในปี 1919 หรือ ‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’ (May 4th Movement) ที่ปักกิ่ง

‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’ เป็นเสมือนรากฐานความคิดเกี่ยวกับเยาวชน ลัทธิสากลนิยม (Internationalism) และการใช้ความรุนแรงในทางการเมือง ซึ่งรากฐานความคิดเหล่านี้อาจถูกบิดเบือนไปบ้าง แต่ยังคงมีอิทธิพลอยู่ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในอีกราว 50 ปีภายใต้เหมา เจ๋อตง และก็ยังพบเจอร่องรอยความคิดเหล่านั้นอีก 20 ปีต่อจากนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอานเหมิน

มรดกตกทอดจากขบวนการ 4 พฤษภาคม ยังคงมีความสำคัญอยู่ในศตรรษที่ 21 ถ้าจะถอดแก่นความคิดออกมา ผมคิดว่าสโลแกนหลักซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงในตอนนั้นใช้ คือ Mr.Science (ศาสตร์) และ Mr.Democracy (ประชาธิปไตย) นี่คือแก่นหลัก คือสองความคิดรากฐานที่ยังคงมีการตีความกันอยู่ในจีนสมัยใหม่

สำหรับศาสตร์ ไม่ได้หมายถึงแค่การทำอะไรที่ทันสมัยอย่างพวกเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ยังกินความหมายถึงความรู้ด้วย แม้จีนยังคงมีความเข้มงวดกับเรื่องการเก็บรวบรวม การใช้ และการอภิปรายความรู้เกี่ยวกับการเมือง สังคมศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์อย่างมาก แต่หากมองความรู้ในความหมายกว้าง จีนสมัยใหม่กำลังมองหาวิสัยทัศน์ใหม่ของความรู้ได้อย่างแหลมคม

สำหรับเรื่องประชาธิปไตย จีนในตอนนี้มีความเป็นประชาธิปไตยน้อยกว่าเมื่อ 10-15 ปีที่แล้ว และการเลือกตั้งแบบเสรีประชาธิปไตยคงยังไม่เกิดขึ้นแน่ๆ แต่แก่นของการมีส่วนร่วมยังคงต้องมีอยู่ โดยเฉพาะการที่ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมกับประเด็นสาธารณะได้ ในกรณีของจีน เรื่องนี้จะยังไม่เป็นปัญหาตราบเท่าที่เศรษฐกิจยังดีอยู่และคนยังรวยขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่เกิดเศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาเหล่านี้จะตามมาอย่างแน่นอน และจะยิ่งรุนแรงกว่าที่เคยมีมา

คำถามที่ Mr.Science (ศาสตร์) และ Mr.Democracy (ประชาธิปไตย) ซึ่งเป็นผลผลิตของ ‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’ ได้ตั้งไว้ให้กับสังคมจีน จะยังคงสำคัญอยู่สำหรับจีนในศตวรรษที่ 21 แม้ปี 2019 กับปี 1919 จะมีบริบทที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงก็ตาม

รานา มิตเตอร์

คนจีนเคยเชื่อมโยงจิตวิญญาณของ ‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’ กับการเคลื่อนไหวอื่นๆ หรือแนวคิดใดๆ ในประวัติศาสตร์บ้างไหม

ขบวนการ 4 พฤษภาคม เป็นเหตุการณ์ที่คนจีนซึ่งได้รับการศึกษารู้จักกันดี เพราะว่าทุกคนเรียนเรื่องนี้ในโรงเรียนในฐานที่เป็นต้นกำเนิดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ปัญหาคือ การอภิปรายเหตุการณ์นี้แบบเปิดเผยเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความคิดที่อ่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปีนี้จะมีพิธีเล็กๆ เพื่อเป็นการระลึกถึงขบวนการ 4 พฤษภาคม แต่ผมยังคาดหวังว่าจะมีพิธีระลึกถึงเหตุการณ์นี้อย่างเป็นทางการบ้าง

แสดงว่าการตีความ ‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’ ของคุณกับของพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นไม่เหมือนกัน

ไม่เหมือนกัน พรรคคอมมิวนิสต์ตีความ ‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’ ในความหมายที่แคบมาก นี่อาจเป็นเหตุผลหลักที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้รับการอนุญาตให้เผยแพร่เป็นภาษาจีน

ในแง่หนึ่ง ‘ขบวนการ 4 พฤษภาคม’ ถูกบันทึกว่าเป็นเรื่องราวของคนหนุ่มสาวเมื่อ 100 ปีที่แล้ว มองในบริบทปัจจุบัน คนจีนรุ่นใหม่มีแนวโน้มจะเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหรือทางสังคม หรือสืบสานสปิริตแบบนั้นบ้างไหม

มีสองประเด็นเกี่ยวกับคนรุ่นใหม่ในจีน ซึ่งจะส่งผลกับคนรุ่นใหม่และสังคมจีนในอนาคต

ประเด็นแรกคือ การถูกบีบบังคับทางการเมือง ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการเมืองแบบอำนาจนิยม เช่น ตุรกี หรืออินเดีย ยังมีพื้นที่สำหรับพูดเรื่องการเมืองในสื่อสังคม (Social media) แต่นั่นไม่ใช่สำหรับจีน จริงอยู่ที่มีพื้นที่มากมายในสื่อสังคมสำหรับคนจีน แต่การจะถกเถียงกันเรื่องการเมืองหรือรัฐบาลยังเป็นเรื่องต้องห้ามอยู่ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่คนรุ่นใหม่จะเข้าไปเกี่ยวพันกับเรื่องพวกนี้ ถ้าจะทำได้ ก็อาจจะทำผ่านการเข้าร่วมกับองค์การไม่แสวงหาผลกำไร หรือประชาสังคมในประเด็นที่ผู้มีอำนาจอนุญาต เช่น สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบเป็นเรื่องต้องห้าม และคนที่ยุ่งกับเรื่องนี้ก็อาจจะได้รับคำเตือน หรือถูกจับกุม ซึ่งเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เกิดการรวมกลุ่มกันของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง น่าสนใจมากว่า กลุ่มนักศึกษาไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็นเสรีนิยมหรือนิยมประชาธิปไตยด้วยซ้ำ แต่นิยามตนเองว่าเป็นพวกลัทธิเหมา (Maoist) พวกเขาเรียกร้องสิทธิที่มากขึ้นให้กับแรงงาน รวมถึงต่อต้านการเอารัดเอาเปรียบและการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม แต่คนกลุ่มนี้ก็ถูกจับและถูกพาตัวออกไป

ผมคิดว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีความกังวลต่อเยาวชนจีนอายุ 20 ปีที่พูดเกี่ยวกับประธานเหมา เจ๋อตง มากกว่าการที่พวกเขาพูดเรื่องประชาธิปไตยในโลกตะวันตกเสียอีก และเราก็รู้สึกได้ว่า รัฐกังวลเกี่ยวกับคนจีนรุ่นใหม่ และไม่อยากยุ่งกับพวกเขามากนัก รัฐอยากให้คนรุ่นใหม่ปิดปากเงียบ ทำงานของตน และไม่พูดอะไรเกี่ยวกับการเมืองเลย

ประเด็นที่สองคือในปี 2029 ประชากรของจีนจะเริ่มลดลง เพราะว่านโยบายลูกคนเดียว (One-child policy) ทำให้จีนมีโครงสร้างทางประชากรที่แปลก แม้ว่านโยบายดังกล่าวจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่จีนยังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่แตกต่างกับอินเดีย อิหร่าน หรือเหล่าประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย แน่นอนว่าในปี 2029 จีนจะยังมีคนหนุ่มสาวอยู่หลายร้อยล้านคน แต่เมื่อคนในสังคมโดยรวมมีอายุสูงขึ้น พวกเขาเหล่านี้ย่อมได้รับผลกระทบจากการจ่ายภาษีเพื่อดูแลผู้สูงอายุ

โดยธรรมชาติ คนหนุ่มสาวมักไม่ค่อยชอบการถูกบีบบังคับปิดกั้น คนจีนรุ่นใหม่ไม่มีลักษณะเช่นนั้นบ้างเลยหรือ

แต่ละคนก็มีความเห็นแตกต่างกันไป สำหรับบางคน จีนคือประเทศแห่งโอกาสที่จะหาเงิน ขยับตนเองขึ้นมาเป็นชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นชีวิตที่พ่อแม่ หรือแน่นอนว่าปู่ย่าตายายของพวกเขาไม่เคยมี ดังนั้นคนจำนวนมากจึงรู้สึกพอใจ แต่สำหรับบางคน พวกเขาติดอยู่ในกับดักของชนชั้นกลาง (Middle-class trap) ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยหลายที่ เช่น สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร หรือเกาหลีใต้ กับดักที่ว่าคือ การที่รายได้เพิ่มขึ้น แต่ค่าครองชีพก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน คุณหาเงินได้มากขึ้น แต่ต้องใช้เงินเกือบทั้งหมดจ่ายค่าที่อยู่หรือค่าอาหาร

ในปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ ค่าที่อยู่อาศัยแพงมาก นี่เป็นปัญหาที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังกังวลอยู่เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ความไม่พอใจไม่ได้หมายความว่า คนจะแห่กันออกมาเดินขบวนบนถนนและเรียกร้องการเลือกตั้งที่เสรี แต่พวกเขาจะออกมาบอกว่า ไม่มีใครสามารถจ่ายที่อยู่ในปักกิ่งได้อีกต่อไป นี่คือปัญหาที่ผมคิดว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องการหาทางแก้ไขอย่างยิ่ง

เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายน 2019 มีประกาศว่า คนหนุ่มสาวในเมืองจำนวนมากจะถูกส่งไปอยู่ที่ชนบท เหมือนในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม (Cultural Revolution) สมัยประธานเหมา แต่นี่ไม่ใช่เพราะพวกเขาต้องการจะก่อการปฏิวัติขึ้นมาอีก แต่เป็นเพราะพวกเขาต้องการออกจากเมืองที่ไม่มีที่อยู่สำหรับพวกเขา โดยส่วนตัวผมคิดว่า การส่งคนรุ่นใหม่ไปยังชนบทไม่ใช่นโยบายที่ดีสักเท่าไหร่นัก (หัวเราะ)

ลูกหลานชนชั้นกลางของจีนจำนวนมาก มีโอกาสที่ออกไปศึกษาในประเทศตะวันตก ในอังกฤษเองก็มีรายงานว่า จำนวนนักศึกษาจีนเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่าในรอบหลายปีที่ผ่านมา กลุ่มคนเหล่านี้จะส่งผลกระเพื่อมต่อการเมืองจีนอย่างไร

ในทุกๆ ปี เยาวชนจีนจำนวนมากเดินทางไปศึกษาที่ประเทศตะวันตก ซึ่งเป็นที่ๆ คนจีนมองว่าดีที่สุดอยู่ จริงอยู่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งหรือมหาวิทยาลัยชิงหวาเป็นสถานศึกษาที่ดี แต่ก็เหมือนกับมหาวิทยาลัยจีนทั่วไป ที่พวกเขาจะเข้มงวดมากในการค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือการเมือง เป็นเรื่องน่าตลกที่นักศึกษาจีนที่ต้องการศึกษาเรื่องเหล่านี้ สามารถเรียนเรื่องพวกนี้ได้ในมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดหรือฮาร์วาร์ด ไม่ใช่ในจีน บางคนจึงไม่ชอบระบบแบบนี้ เพราะพวกเขารู้สึกว่า ตนเองไม่สมควรจะต้องอยู่ภายใต้ระบบที่ควบคุมชีวิตขนาดนี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนจำนวนไม่น้อย พวกเขาเลือกเดินทางกลับไปยังจีน โดยมองว่าจริงๆ แล้วระบบที่เป็นอยู่ก็ค่อนข้างดี เพราะพวกเขาเห็นวิกฤตที่เกิดจากประชาธิปไตย ในสหรัฐอเมริกา พวกเขาเห็นทรัมป์ชนะเลือกตั้ง ในอังกฤษพวกเขายังเห็นเหตุการณ์ที่สหราชอาณาจักรทำประชามติออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) สิ่งเหล่านี้ทำให้นักศึกษา ซึ่งต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่เป็นคนหลักแหลม ตีความว่านี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตย หรือทำให้รู้สึกว่าอย่างน้อยระบอบที่จีนก็มีปัญหาน้อยกว่า

แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องยากในการสำรวจความคิดเห็นของแต่ละคน แต่การจะบอกว่า คนที่ใช้ชีวิตในประเทศตะวันตกจะรับเอาคุณค่าแบบตะวันตกมานั้น เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเสมอไปนัก

อะไรคือกับดักสำคัญของการใช้ประวัติศาสตร์ในการทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์จีนซึ่งมีลักษณะซับซ้อนและมีข้อจำกัดในการศึกษาอย่างมาก      

ไม่ใช่แค่กับประวัติศาสตร์จีนหรอก อันที่จริงเรามักเชื่อมโยงประวัติศาสตร์เข้ากับปัจจุบันอยู่แล้ว อันตรายของวิธีการแบบนี้คือ การติดกับดักว่าปัจจุบันจะคล้ายอดีตมากกว่าที่มันเป็นจริง เช่น ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตอนนี้มักใช้สงครามเย็นในการอธิบายความสัมพันธ์กับจีน ทำให้มีบรรยากาศหวาดระแวงจีนในมิติต่างๆ ทั้งการแทรกซึมเข้ามาของจีนผ่านระบบการศึกษา การวิจัยและพัฒนา การส่งกองกำลังไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออก ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องขบคิด แต่บางครั้งปฏิกิริยาตอบโต้ที่เกิดขึ้นก็มากเกินกว่าที่จำเป็น

ส่วนหนึ่งเพราะคนมองว่า จีนจะเป็นเหมือนสหภาพโซเวียต แต่สหภาพโซเวียตกับจีนในทุกวันนี้ เป็นอะไรที่ไม่ได้สอดคล้องกันนัก เหตุผลหลักเป็นเพราะโซเวียตมีอุดมการณ์ของตนเอง พวกเขาใช้อุดมการณ์นี้ในการมองว่าโลกควรจะเป็นอย่างไร และต้องการจะสร้างโลกในแต่ละส่วนขึ้นมา หลังสงครามโลกโซเวียตต้องการที่จะควบคุมเยอรมนี ยุโรปตะวันออก และพื้นที่บางส่วนของเอเชีย แต่กับจีนยังไม่ชัดเจนว่าพวกเขามองโลกอย่างไร หรือต้องการเผยแพร่อุดมการณ์อะไร

แต่นักวิชาการหลายคนก็พยายามอธิบายว่า จีนกำลังใช้ ‘อำนาจที่แหลมคม’ (Sharp power) เข้ามาสร้างอิทธิพลในโลกอยู่ โดยเฉพาะจากการให้เงินลงทุน

การที่จีนเข้าแทรกแซงและเผยแพร่แนวคิดของตนไปทั่วโลก ค่อนข้างจะเป็นอะไรที่เฉพาะเจาะจง พวกเขาสนใจเฉพาะสิ่งที่คนนอกพูดถึงจีนเท่านั้น แต่จะไม่สนใจเลยถ้าคุณพูดเรื่องอื่น เช่น จีนอาจจะบอกว่า คุณไม่ควรวิจารณ์จีนในเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องการลงทุน หรืออะไรก็ตาม แต่การบอกว่าคุณไม่ควรพูดอะไร ไม่ใช่เรื่องเดียวกับการบอกว่าคุณควรพูดอะไร มันเหมือนปฏิบัติการที่พยายามจะรักษารากของจีนเอาไว้

อำนาจที่แหลมคมเป็นเหมือนอาวุธที่มีเวทมนตร์ เงินสามารถมีอิทธิพลกับหลายอย่าง ทำให้นักการเมืองทำสิ่งที่คนอื่นต้องการให้ทำ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องที่ดีแน่ๆ แต่ในอีกด้านต้องเข้าใจด้วยว่า อำนาจที่แหลมคมมีขอบเขตจำกัดมาก เป็นเสมือนกลยุทธ์ ไม่ใช่แนวคิดใหญ่อะไร

แต่บทวิเคราะห์ต่างๆ ในโลกตะวันตกเอง ก็กังวลกับประเด็นนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการที่ทุนจีนเข้าลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีเพื่อขโมยเทคโนโลยี หรือลงทุนในกิจการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงในที่ต่างๆ ทั่วโลก

ถ้าประเทศต่างๆ กังวลเกี่ยวกับการลงทุนของจีน ก็ขึ้นอยู่กับประเทศเหล่านั้นว่าจะหยุดจีนหรือไม่ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของจีนในการป้องกันตนเองจากการทำสิ่งที่จีนต้องการ เพราะนี่เป็นเรื่องปกติของประเทศที่กำลังจะขึ้นเป็นมหาอำนาจทำ และถ้าประเทศอื่นๆ รู้สึกไม่สบายใจกับจีน พวกเขาก็ต้องหยุดจีน ดังนั้น คำถามที่ว่านี่อันตรายหรือไม่ พวกเรายังไม่รู้

หนึ่งในประเด็นที่ยังถกเถียงกันคือ เรื่องของสาธารณูปโภคพื้นฐานและสินค้าเทคโนโลยี การที่บริษัทจีนยืนกรานจะสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ จะทำให้อนาคตของประเทศหนึ่งๆ ไม่มั่นคงหรือไม่ ผมมีโอกาสคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลายคน เชื่อไหมว่าในระยะสั้นพวกเขาไม่เห็นปัญหาอะไรในเรื่องนี้ แต่ในระยะยาว คำตอบคือไม่มีใครคาดเดาได้

ลองคิดดูว่า ถ้าคุณติดตั้งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานราคาแพงซึ่งเป็นของบริษัทจีน เช่น ในระบบโทรคมนาคมระดับชาติของคุณ แต่ในอีก 10 ปีข้างหน้า จีนอาจจะเจอกับภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ หรือความวุ่นวายทางการเมือง เพราะการเมืองจีนเป็นเรื่องที่คาดการณ์ไม่ได้เลย คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทที่คุณซื้อของมาจะยังดำเนินกิจการอยู่เมื่อคุณต้องการอัพเกรดของที่ซื้อมา

เศรษฐกิจการเมืองจีนมีพลวัตสูงมาก เมื่อ 40 ปีที่แล้ว จีนเป็นประเทศที่จนมาก ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า ในอีก 20 ปี จีนจะกลายเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ระดับโลก กลายเป็นมหาอำนาจด้านปัญญาประดิษฐ์ แล้วคุณจะคาดการณ์ได้อย่างไรว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอีก 20 ปีต่อจากนี้ แม้แต่จีนยังไม่สามารถคาดการณ์ได้เลย การเมืองจีนเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

ในระยะยาว สภาพแวดล้อมในโลกตะวันตกยังถือว่ามีเสถียรภาพสูงกว่ามาก จริงอยู่ว่าในตะวันตก บริษัทต่างๆ ก็ล้มละลายได้ แต่สิ่งที่คุณสามารถคาดการณ์ได้อย่างแน่นอนคือ ในอีกหลายทศวรรษข้างหน้า สหรัฐฯ จะยังคงมีการเลือกตั้งแบบเสรีประชาธิปไตยอยู่ หรือแม้แต่สหราชอาณาจักร ต่อให้ออกจากสหภาพยุโรปแล้ว ก็จะยังไม่เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของตนเอง เช่นเดียวกับฝรั่งเศส เยอรมนี หรือประเทศอื่นๆ

เราควรจะใช้มุมมองแบบใด หากเราต้องการเข้าใจจีนอย่างถ่องแท้ บางคนบอกว่าแว่นตาแบบเสรีนิยมไม่เหมาะกับการทำความเข้าใจจีน แต่เราจำเป็นจะต้องคิดเหมือนคนจีน เพื่อที่จะเข้าใจจีน

ผมคิดว่านั่นเป็นวิธีคิดที่ไม่ค่อยถูกต้องนัก เพราะมีคนจีนที่เป็นเสรีนิยมมากมาย และคุณอาจแย้งได้ว่า ลัทธิขงจื่อ (Confucianism) ยังมีหลายองค์ประกอบที่เป็นเสรีนิยม โดยเฉพาะความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง หรือการศึกษาด้วยตนเอง ดังนั้น การเป็นคนจีนกับการเป็นเสรีนิยมจึงไม่ใช่ความขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง

ยิ่งไปกว่านั้น ผมกลับคิดว่า เป็นเรื่องสำคัญที่จะมองจีนผ่านทางแว่นตาแบบเสรีนิยม เพราะหัวใจของแว่นตาแบบเสรีนิยมคือความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งทำให้คุณมองจีนในมุมมองที่แตกต่างออกไป มันช่วยทำให้เราเห็นถึงอิทธิพลของปัจจัยต่างๆ ที่มีต่อจีน และยังช่วยให้เข้าใจด้วยว่า ปัจจัยเหล่านี้รวมกันได้อย่างไร นอกจากนี้ การใช้แนวคิดแบบเสรีนิยมในการมองจีน ยังกระตุ้นให้เราคำนึงถึงมุมมองที่แตกต่างหลากหลายจากฝั่งของจีนด้วยเช่นกัน

รานา มิตเตอร์

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save