fbpx

สิ้นลาย ‘ราชปักษา’: ทำความรู้จักตระกูลการเมืองดังของศรีลังกา

ภาพและวิดิโอประชาชนศรีลังกาจำนวนมหาศาลที่พากันออกมาประท้วงตามท้องถนน และการบุกเข้ายึดบ้านพักและทำเนียบประธานาธิบดีกำลังกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก สโลแกน “Gota Go Home” ถูกกู่ร้องทั่วทุกมุมของกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา นี่ถือเป็นฉันทามติร่วมกันของประชาชนว่า วันนี้จะไม่ยอมทนต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลที่นำพาประเทศศรีลังกาเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่นับตั้งแต่ได้รับเอกราช ประชาชนจำนวนมากอยู่ในสภาพอดอยาก น้ำมันภายในประเทศมีไม่เพียงพอต่อการบริโภค ครัวเรือนจำนวนมากไม่มีไฟฟ้าใช้ และที่แย่ไปกว่านั้นคือ หลายโรงเรียนไม่สามารถจัดสอบได้ตามกำหนดเนื่องจากสภาวะขาดแคลนกระดาษ

วิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มก่อตัวมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2021 ระเบิดออกอย่างรุนแรงในช่วงต้นปี 2022 เมื่อราคาน้ำมันดิบและอาหารทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอันเนื่องมาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ปัจจัยเหล่านี้กลายเป็นตัวเร่งให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจอันแสนบอบบางของศรีลังกาล้มลงอย่างรวดเร็ว ค่าเงินอ่อนค่าอย่างหนัก เงินทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว เงินเฟ้อพุ่งสูง ขณะเดียวกันการเก็บภาษีก็ไม่เข้าเป้าจนรัฐบาลเข้าใกล้สภาพถังแตก

สิ่งเหล่านี้สร้างความไม่พอใจอย่างยิ่งให้กับประชาชนศรีลังกาต่อกลุ่มผู้บริหารประเทศ ซึ่งเรียกได้ว่าอยู่ในกำมือของตระกูลการเมืองเดียว นั่นคือ ตระกูล ‘ราชปักษา’ ตระกูลการเมืองที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 ในโอกาสนี้จึงอยากนำเรื่องราวของตระกูลราชปักษามาเขียนวิเคราะห์ให้ทุกคนได้อ่านกัน เกี่ยวกับจุดเริ่มต้นทางการเมือง แรงสนับสนุนที่ท่วมท้นจนทำให้ตระกูลมีอำนาจมากล้น สู่วันที่ถูกประชาชนทั่วทั้งประเทศขับไล่

จากเจ้าที่ดินท้องถิ่น สู่นักการเมืองระดับชาติ

ในภูมิภาคเอเชียใต้แล้ว การเมืองและครอบครัวถือเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปในเกือบทุกประเทศ ศรีลังกาก็เช่นเดียวกัน ศรีลังกาเต็มไปด้วยตระกูลการเมืองที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อการปกครองประเทศ หลากหลายตระกูลสืบทอดอำนาจกันมานับตั้งแต่ช่วงก่อนศรีลังกาได้รับเอกราชเสียด้วยซ้ำ ตระกูลการเมืองสำคัญๆ ของศรีลังกาก็มี เช่น ตระกูล ‘บันดารานัยเก’ (Bandaranaike) หนึ่งในตระกูลการเมืองที่สร้างนักการเมืองออกมามากที่สุดตระกูลหนึ่ง ทั้งยังสามารถส่งเสริมให้สมาชิกของครอบครัวสามารถเข้าสู่การปกครองประเทศทั้งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีอีกด้วย โดยปัจจุบันตระกูลนี้ยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเมืองศรีลังกาผ่านพรรคเสรีภาพศรีลังกา (Sri Lanka Freedom Party)

อีกหนึ่งตระกูลที่สำคัญต่อการเมืองศรีลังกาคือ ตระกูล ‘เสนานัยเก’ (Senanayake) ซึ่งสามารถส่งเสริมสมาชิกครอบครัวให้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของศรีลังกาได้ถึงสองคน ทั้งยังมีอิทธิพลอย่างมากผ่านพรรคสหชาติ (United National Party) ซึ่งก่อตั้งโดยบรรพบุรุษของตระกูล และถือเป็นพรรคการเมืองสำคัญที่ผลัดกันขึ้นมามีอำนาจแข่งกับพรรคเสรีภาพศรีลังกา

ฉะนั้นตระกูลการเมืองกับศรีลังกาถือว่ามีอยู่คู่กันมานานแล้ว ส่วนใหญ่ก็สืบทอดอำนาจกันมาเก่าแก่จากรุ่นสู่รุ่น และขยายวงตระกูลออกไปยังตระกูลในภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจ เพื่อให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ดังนั้นเมื่อมองไปในรัฐสภาของศรีลังกา แม้ว่าหลายคนจะนามสกุลต่างกัน แต่จริงๆ แล้วก็เป็นเครือญาติกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะผ่านการแต่งงานเพื่อเสริมสถานะทางการเมืองของกันและกัน สำหรับตระกูล ‘ราชปักษา มีความน่าสนใจแตกต่างจากสองตระกูลข้างต้นที่เราอาจเรียกว่าเป็น ‘ผู้ดีเก่า’ หรือกลุ่มตระกูลการเมืองเก่าที่มีฐานอำนาจในเขตเมืองใหญ่ผ่านการทำธุรกิจต่างๆ ในยุคที่ยังตกอยู่ภายใต้อาณานิคมอังกฤษ แต่สำหรับ ‘ราชปักษา’ เป็นเพียงตระกูลเจ้าที่ดินท้องถิ่นในชนบท ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในเขตฮัมบันโตตา (Hambantota) จังหวัดทางใต้ของศรีลังกาที่อยู่ไกลออกไปจากกรุงโคลัมโบ

เรียกได้ว่าตระกูลราชปักษาอยู่ห่างไกลจากอำนาจการเมืองระดับชาติอย่างมาก จุดเริ่มต้นของเส้นทางการเมืองของตระกูลนี้ก็เริ่มขึ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคเสรีภาพศรีลังกา โดยสมาชิกคนแรกที่เข้าสู่วงการเมืองระดับชาติคือ ดอน แมททิว ราชปักษา (Don Mathew Rajapaksa) ก่อนที่ ดอน อัลวิน ราชปักษา (Don Alwin Rajapaksa) จะมารับช่วงต่อทางการเมืองในเวลาต่อมา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของตระกูล เพราะต่อจากนั้นบรรดาลูกๆ ของดอน อัลวิน ราชปักษาก็ได้เข้าสู่วงการเมืองติดตามผู้เป็นพ่อ และหนึ่งในนั้นก็คือ มหินทรา ราชปักษา ผู้นำพาตระกูลการเมืองท้องถิ่นเล็กๆ ให้กลายเป็นตระกูลที่ทรงอิทธิพลที่สุดตระกูลหนึ่งในการเมืองศรีลังกา

สู่ตระกูลการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตระกูลหนึ่งของศรีลังกา

เอาเข้าจริงแล้ว ตระกูลราชปักษาแทบไม่ได้อยู่ในสายตาหรือกระแสการเมืองระดับชาติเลยด้วยซ้ำ ที่สำคัญไปกว่านั้น ช่วงก่อนศตวรรษที่ 21 ตระกูลราชปักษาก็แพ้เลือกตั้งในเขตของตัวเองหลายครั้งตามกระแสของพรรคการเมืองที่สังกัด ซึ่งรวมถึงมหินทรา ราชปักษาด้วย ที่ช่วงหนึ่งต้องผันตัวเองไปทำอาชีพทนายเพราะแพ้การเลือกตั้ง ก่อนที่ตระกูลราชปักษาจะกลับมาได้อีกครั้งในการเลือกตั้งปี 1989 ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากเขตฮัมบันโตตา แต่จุดเปลี่ยนสำคัญของตระกูลนี้เริ่มขึ้นเมื่อพรรคเสรีภาพศรีลังกากลับมามีความนิยมได้อีกครั้งในช่วงปี 1994 ภายใต้การนำของจันทริกา กุมารตุงคะ (Chandrika Kumaratunga) ลูกสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีสิริมาโว บันดารานัยเก (Sirimavo Bandaranaike)

กระแสความนิยมของพรรคเสรีภาพศรีลังกาส่งให้ตระกูลราชปักษาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และด้วยผลงานทางการเมืองในการเลือกตั้งก่อนหน้านี้ มหินทรา ราชปักษาซึ่งถือเป็นเป็นหัวหน้าตระกูลและเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างมากในการเลือกตั้งปี 1994 ได้รับการผลักดันให้ขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก การทำงานที่ตรงไปตรงมาส่งผลให้ มหินทรา ราชปักษาได้รับความไว้วางใจอย่างมากจากตระกูลบันดารานัยเก ซึ่งมีอิทธิพลเหนือพรรคเสรีภาพศรีลังกา ในครั้งที่พรรคพ่ายแพ้การเลือกตั้งและต้องกลับมาเป็นฝ่ายค้านในปี 2001 มหินทรา ราชปักษาได้รับเลือกให้ขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา

ทั้งนี้การผงาดขึ้นของตระกูลราชปักษาที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นในการครองอิทธิพลเหนือการเมืองในศรีลังกาตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มขึ้นในปี 2004 เมื่อพรรคเสรีภาพศรีลังกาสนับสนุนให้มหินทรา ราชปักษาขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นางจันทริกา กุมารตุงคะ เคยให้สัมภาษณ์ว่าการตัดสินใจครั้งนั้นของเธอเป็นสิ่งที่ผิดพลาดที่สุดทางการเมือง แต่เวลาก็ย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว เพราะการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของมหินทรา ราชปักษากลายเป็นบันไดทางการเมืองสำคัญที่ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคในเวลาต่อมา

และในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2005 มหินทรา ราชปักษาก็สามารถเถลิงอำนาจในการปกครองประเทศศรีลังกาได้สำเร็จ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มให้เขานำพาญาติพี่น้องและลูกหลานตระกูลราชปักษาเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญ ทั้งทางการเมืองและวงราชการของประเทศศรีลังกา โดยหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ทำให้ตระกูลนี้ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นจากชาวศรีลังกาคือ ความมุ่งมั่นกับการปราบกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมและนำพาประเทศสู่สันติสุข ซึ่งตระกูลราชปักษาสามารถทำได้สำเร็จในปี 2009 แม้จะต้องเผชิญกับการประฌาม และคว่ำบาตรอย่างหนักจากนานาชาติ

แต่สำหรับชาวศรีลังกา โดยเฉพาะกลุ่มชาวสิงหลที่นับถือพุทธศาสนาที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ นี่คือความสำเร็จครั้งสำคัญ และราชปักษาก็รู้ดีว่าฐานเสียงของตัวเองคือบรรดาประชาชนชาตินิยม ทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2010 มหินทรา ราชปักษาก็ยังสามารถครองใจมหาชนได้รับเลือกมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง และในสมัยที่สองนี้ นโยบายหลักคือมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศ แต่นั่นก็นำมาซึ่งข้อหาการทุจริตมากมายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากตัวมหิทรา ราชปักษาเองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบรรดาคนในตระกูลราชปักษาที่เข้าสู่ถนนการเมืองเคียงบ่าเคียงไหล่กับเขาด้วย ไม่ว่าจะเป็นพี่ชาย หรือน้องชายก็ตาม

ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลมหินทรา ราชปักษาแพ้เลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2015 และหลายคนก็มองว่านี่เป็นจุดสิ้นสุดของตระกูลราชปักษา เพราะสมาชิกภายในตระกูลที่มีความเกี่ยวข้องกับการทุจริตต่างพากันเดินทางออกนอกประเทศ มหินทรา ราชปักษาเองก็เผชิญกับข้อกล่าวหามากมายภายใต้การนำของรัฐบาลใหม่ที่อยู่ตรงข้ามกับเขา แต่เสือก็คือเสือ ไม่ได้สิ้นลายง่ายดายขนาดนั้น เพราะเหตุการณ์ก่อการร้ายในปี 2019 ส่งผลให้มหินทรา ราชปักษาใช้เรื่องดังกล่าวจุดกระแสชาตินิยมในประเทศอีกครั้ง

ปัจจัยนี้ส่งผลให้เครือข่ายพันธมิตรของพรรครัฐบาลแตกเป็นเสี่ยงๆ และนำมาซึ่งการพ่ายแพ้การเลือกตั้งทั้งในระดับรัฐสภาและประธานาธิบดี โดยในรอบนี้มหินทรา ราชปักษาผลักดันโกตาบาย่า ราชปักษา น้องชายของเขาลงชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีและประสบชัยชนะในปี 2019 ในขณะที่ตัวเขาเองก็ขึ้นรั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังจากนำพาพรรคใหม่ของพวกเขาชนะเลือกตั้งถล่มทลายในปี 2020 เรียกได้ว่าเป็นการกินรวบประเทศอย่างแท้จริงของตระกูลราชปักษา เพราะเขามอบตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญทั้งหมดให้คนในตระกูลของตัวเอง ทั้งพี่ชาย น้องชาย ลูกชาย และหลานชาย จนมีการคำนวณกันว่างบประมาณของประเทศเกินกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในมือการจัดสรรของตระกูลราชปักษา

จากจุดสูงสุด สู่จุดสิ้นสุดทางการเมืองของ ‘ราชปักษา’

แน่นอนว่าชัยชนะสองครั้งดังกล่าวส่งผลให้ตระกูลราชปักษากลายเป็นตระกูลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในทางการเมืองของศรีลังกา แต่คนในตระกูลราชปักษาคงไม่คาดคิดว่าการขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมืองในครั้งนี้ กำลังกลายเป็นจุดสิ้นสุดทางการเมืองที่นำพาให้พวกเขาหลายคนต้องเดินทางออกนอกประเทศ โดยมีประชาชนออกมากู่ร้องขับไล่ ถึงแม้ว่าหลายปัจจัยที่ส่งผลให้ตระกูลราชปักษาบริหารประเทศศรีลังกาล้มเหลวจะเกินกว่าที่คนในตระกูลจะต้องมาแบกรับภาระความรับผิดชอบ เช่น ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น และปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าหลายนโยบายภายใต้การนำของตระกูลราชปักษานำพาศรีลังกาเข้าสู่ภาวะวิกฤต เริ่มจากการออกนโยบายประชานิยมปรับลดอัตราภาษีเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในช่วงโควิด-19 ระบาด (แท้จริงก็เพื่อหวังผลทางการเลือกตั้ง) ส่งผลให้เงินภาษีที่จัดเก็บได้ลดลงอย่างมาก การคลังของประเทศประสบปัญหา ในขณะเดียวกันเงินทุนสำรองระหว่างประเทศก็ลดลงอย่างรวดเร็ว และเพื่อแก้ปัญหา รัฐบาลได้ออกนโยบายจำกัดการนำเข้าปุ๋ยเคมี ซึ่งถูกมองว่าส่งผลให้ต้องเสียเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก และทำให้ผลิตผลทางการเกษตรลดลงมหาศาล โดยเฉพาะชาที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญ ส่งผลให้นอกจากการส่งออกชาจะทำได้น้อยลงแล้ว รัฐบาลยังต้องนำเข้าอาหารมาทดแทนอีกด้วย กลายเป็นว่าต้องเสียเงินตราต่างประเทศเยอะกว่าเดิม

ความล้มเหลวเชิงนโยบายการเงินและการคลังติดต่อกันหลายครั้งค่อยๆ จุดชนวนระเบิดทางเศรษฐกิจของศรีลังกา ซึ่งโครงสร้างทางเศรษฐกิจเปราะบางอย่างมากอยู่แล้วแต่เดิม สุดท้ายแล้ว ระเบิดเวลาลูกนี้ก็ระเบิดออกเมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้นและเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนจน ส่งผลให้ราคาอาหารถีบตัวอย่างรุนแรง เงินเฟ้อในศรีลังกาพุ่ง ประชาชนอดอยาก น้ำมันในประเทศมีไม่เพียงพอ สร้างความไม่พอใจให้ประชาชนอย่างมาก จนสุดท้ายลุกลามบานปลายกลายเป็นการประท้วงใหญ่ทั่วประเทศ และแน่นอนว่าชาวศรีลังกาต่างมองว่าคนที่ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ก็คือตระกูลราชปักษานั่นเอง

ในท้ายที่สุดแล้ว เรียกได้ว่าตระกูลราชปักษาแทบจะถูกล้างบางทางการเมืองเมื่อประธานาธิบดีโกตาบาย่า ราชปักษาประกาศลาออกจากตำแหน่ง และเดินทางออกนอกประเทศ เขาถือเป็นสมาชิกคนสุดท้ายของตระกูลราชปักษาที่ยังคงดำรงตำแหน่งทางการเมืองของศรีลังกา ในขณะที่พี่ชายและน้องชาย รวมถึงหลานชายต่างลาออกและเดินทางออกนอกประเทศไปก่อนหน้านี้แล้ว การเดินทางหนีไปยังมัลดีฟส์ของโกตาบาย่าอาจเรียกได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของการสูญสิ้นอำนาจของตระกูลราชปักษาเหนือศรีลังกาก็คงไม่ผิดนัก         

แต่น่าสนใจว่าผู้มีบทบาทสูงสุดจริงๆ ในตระกูลอย่าง ‘มหินทรา ราชปักษา’ ยังคงปักหลักอยู่ในประเทศ และพรรคการเมืองของเขาก็ยังครองเสียงข้างมากในรัฐสภาอยู่ คำถามจึงเกิดขึ้นว่านี่เป็นจุดจบทางการเมืองจริงๆ ของตระกูล ‘ราชปักษา’ จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงหนึ่งฉากของละครการเมืองเพื่อหาทางหลบหลีกให้ตระกูลราชปักษา และรอวันที่พวกเขาจะกลับมาทวงอำนาจอีกครั้ง เหมือนหลายๆ ตระกูลทางการเมืองของศรีลังกาที่ก็ยังอยู่รอดและรอวันสลับพลัดเปลี่ยนกันขึ้นมาปกครองประเทศนี้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save