fbpx
ราษฎร์ลำเค็ญบนราชดำเนิน

ราษฎร์ลำเค็ญบนราชดำเนิน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

1

 

“ฟ้าแบบนี้ ช่างภาพเขาเรียกว่าฟ้าเน่า” ช่างภาพหนุ่มพูดพลางหยีตามองแสงอาทิตย์ที่ลอดผ่านก้อนเมฆออกมาเป็นริ้ว

เย็นย่ำแล้วตอนที่เราไปถึง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยดูเหงากว่าทุกวัน เมฆปกคลุมทับฟ้าเป็นสีเทา บดบังแสงอาทิตย์ที่กำลังจะหมดแรง “ดูแบบนี้ก็สวยดี แต่ถ่ายออกมาแล้วไม่สวย” เขาอธิบายต่อ ฟังแล้วก็พอเป็นคำคมได้เหมือนกัน หรือแม้แต่ท้องฟ้า ก็โดนโรคระบาดเล่นงานไปด้วย?

 

ไม่ใช่แค่ท้องฟ้าหรอก แต่ถนนราชดำเนินในยามนี้แทบไม่มีใครดำเนินอะไร ถนนว่างพอที่เดอะบีทเทิลส์จะมาเดินข้ามถนนถ่ายปกอัลบั้มได้อีกรอบ อนุสาวรีย์ที่โดนหยอกว่าเป็นแค่ที่วนรถ ในนาทีนี้ แม้แต่รถก็แทบไม่มาวน บริเวณเดียวที่ดูจะคึกคักคือใกล้ป้ายรถเมล์ มีผู้คนหลายสิบชีวิตนั่งเรียงแถวรอคอย – เปล่า พวกเขาไม่ได้รอรถเมล์ แต่รอรถอาหารที่ไม่รู้จะเวียนมาส่งเมื่อไหร่

“ที่นั่งๆ อยู่ก็รอข้าวแจกกันทั้งนั้นแหละ เราก็รอเหมือนกัน เห็นข้าวมาก็ดีใจวิ่งไปเอา” นิด (นามสมมติ) หญิงวัย 30 เล่าให้ฟัง ปกติเธอขายข้าวแกงช่วยแม่อยู่แถวนี้ แต่ตอนนี้รถเข็นถูกคลุมด้วยผ้าใบสีดำ เพราะไม่มีใครมาซื้อเลยในช่วงปิดเมืองที่ผ่านมา

คนที่มารอรับอาหารแจกที่ราชดำเนิน ส่วนมากมีอาชีพรับจ้างรายวัน พอทุกอย่างต้องหยุด งานของพวกเขาก็หายไปด้วย ยังไม่นับคนไร้บ้านอีกหลายชีวิตที่มารอรับอาหารเช่นเดียวกัน

ข้าวคนละกล่อง มาม่าปลากระป๋องคนละชุด น้ำคนละขวด ได้แล้วก็ถือไปนั่งกินริมทางเท้าบ้าง ใต้ต้นไม้บ้าง อันไหนเป็นของแห้งก็เก็บไว้เผื่อวันหลัง บางคนแบ่งข้าวหนึ่งกล่องไว้กินสองมื้อ เพราะไม่รู้ว่าจะได้รับแจกอีกเมื่อไหร่

อากาศช่วงปลายเมษา-ต้นพฤษภาแปรปรวน คล้ายตอกย้ำความทุกข์ร้อนของคนให้สาหัสถึงใจ บางวันร้อนเหมือนนรก แต่บางวันฝนก็กระหน่ำเหมือนน้ำตกไนแองการา คนที่ต้องใช้ชีวิตกลางแจ้งเช่นพวกเขาล้วนต้องตัดสินใจตามฟ้าฝน แทบไม่มีอะไรอยู่ในกำมือตัวเองเลย

ตอนที่นั่งคุยกัน อากาศยังร้อนระอุ เราเหงื่อไหลเหนียวเหนอะแม้เวลาเย็นแล้ว บนโลกใบนี้ บางคนโชคดีที่มีห้องแอร์ให้กลับไปนอนซุกผ้าห่ม แต่บางคนก็ไม่

สมหมาย (นามสมมติ) ไม่มีห้องแอร์ให้กลับไปหา อันที่จริงเขาไม่มีห้องให้กลับไปแล้ว เขาเดินถือกล่องกะเพราหมูสับผ่านมา รู้จักกับนิดเพราะมารอแจกข้าวเหมือนกัน เลยหยุดแวะเข้าร่วมวงสนทนา

“งานฉันน่ะอยู่ที่บางบอน ฉันทำงานก่อสร้าง พอโควิดมาเขาก็ไม่จ้าง ฉันไม่มีค่าห้อง เลยมานอนแถวนี้ ปัญหาหลักคือไม่มีข้าวกิน เลยต้องมากินข้าวที่นี่ ฉันได้เงินเป็นรายวัน พอเขาปิด เราก็ไม่ได้อะไรเลย ประกันสังคมก็ไม่มี” สมหมายเล่าพลางดันแว่นพลาสติกขอบสีฟ้าเสยผม ข้างตัวเขามีกระเป๋าผ้าใบเขื่องที่กลายเป็นเพื่อนแท้ในยามต้องโยกย้าย เขาไม่มีรายได้มากว่า 2 เดือนแล้ว

“ค่าห้องนี่เขาไม่ให้เลื่อนนะ จ่ายรายวันวันละ 70 บาท ค่าน้ำค่าไฟต่างหาก ฉันได้ค่าแรง 350 บาท คิดว่าฉันจะเหลือวันละกี่บาท แล้วต้องเก็บตังค์ค่ารถเพื่อไปทำงานอีก ตอนนี้มาอยู่อย่างนี้ เก็บข้าวกินก่อน” สมหมายเล่าถึงชีวิตช่วงที่ผ่านมา มือบีบกล่องข้าวแน่น

“ตอนนี้บอกตรงๆ นะ บาทเดียวในกระเป๋ายังไม่มีเลย” เขาพูดพลางตบกางเกงขาสั้นที่ไม่มีกระเป๋าให้ดู

สมหมายพยายามดิ้นรนด้วยการยื่นสิทธิเยียวยา ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ของรัฐบาล เพื่อรับเงิน 5,000 บาทมาประทังชีวิต แต่ทำกี่ครั้งๆ ก็ไม่สำเร็จ “เราเจอใครก็ขอยืมโทรศัพท์เขาสมัคร แต่ไม่ได้เลย เด้งออกตลอด บอกแต่ว่าเครือข่ายล่ม ให้รอ ไม่ไหวนะ ชีวิตเราต้องมานั่งรอเงิน 5,000 บาท”

ระหว่างที่ไม่มีงาน ไม่มีเงิน ไม่มีที่อยู่ สมหมายตระเวนหาที่นอนตามใต้สะพาน “นอนตรงที่ตำรวจไม่กวนเราตอนกลางคืน” สมหมายว่า “เราดูว่าวันนี้ถ้าตำรวจมา เราก็จะย้ายไปอีกที่หนึ่ง เขาบอกให้ไปนอนในซอย แต่ในซอยก็มีคนนอนกันเป็นพรืดเลย เราก็ต้องไปหาที่นอนใหม่ เพราะไม่ได้มีแค่เราคนเดียวที่ลำบาก แต่ตำรวจเขาก็ไม่อยากให้มีภาพไม่ดีใช่ไหม ก็ต้องทำ เราพูดแบบเป็นกลาง ไม่ได้โจมตีรัฐบาลเลยนะ เราเหนื่อยแล้ว ต้องแบกเสื้อผ้าเดิน”

เราลากันก่อนที่สมหมายกับนิดจะหิวข้าวไปมากกว่านี้ และก่อนที่ตะวันจะตกดินจนหาที่นอนไม่ได้

“แล้วรถแจกข้าวเขาจะมาอีกเมื่อไหร่” ฉันถาม

“ไม่รู้ ก็คือการรอคอยน่ะ อนาคตที่มองไม่เห็น ถ้ามีกินก็กิน ถ้าไม่มีก็ไม่ต้องกิน กินแต่น้ำไง ฉันยังขอน้ำเขากินเลย” จบประโยค เขาเริ่มตักกะเพรากิน

 

2

 

ฉันไม่แน่ใจว่านี่คือถนนข้าวสารตอน 6 โมงเช้า หรือ 6 โมงเย็น

ถนนทั้งสายเงียบสงัด มีการปรับปรุงถนนตลอดเส้น ร้านรวงปิดประตูแน่นสนิท มองเห็นลูกกุญแจกับป้าย ‘ปิดชั่วคราว’ ถี่พอๆ กับได้ยินความเงียบ ตรงวงเวียนสเวนเซนส์ที่เคยมีรถตุ๊กตุ๊กและแท็กซี่จอดรอรับนักท่องเที่ยว ตอนนี้ว่างโล่ง พ่อค้าแม่ค้าขายอาหารที่เคยตั้งรถเข็นในถนนข้าวสารมารวมตัวขายตรงวงเวียนแทน

ลูกชิ้น หมูปิ้ง ยำ ก๋วยเตี๋ยวไก่ สุกี้ โจ๊ก ผัดไทย ฯลฯ ยังส่งกลิ่นหอมและควันคลุ้งคล้ายคืนวันในอดีต ผิดไปก็แต่แทบไม่มีลูกค้าเลย

“ตั้งแต่ขายมาเดือนกว่า ยังไม่มีวันไหนได้เห็นเงินพันเลย” ป้ารี เจ้าของรถเข็นหมูปิ้งและลูกชิ้นพูดกลั้วหัวเราะ

 

 

ก่อนหน้านี้ หากใครเคยอยู่จนผับเลิก แล้วเดินผ่านตึก Buddy ในถนนข้าวสารจะเห็นรถขายหมูทอดที่มีคนต่อคิวยาวเหยียด บางคนกอดคอกันเมาได้ที่แต่ยังยืนรอ บางคนตั้งใจมาเพื่อซื้อหมูทอดป้ารีโดยเฉพาะแม้ไม่ได้อยากมาเที่ยวข้าวสาร รายได้วันหนึ่งหลายพันบาท และพุ่งสูงขึ้นไปอีกเมื่อถึงวันสงกรานต์ แต่หลังจากเกิดโควิด ป้ารีต้องปรับมาขายหมูปิ้งกับลูกชิ้นแทนชั่วคราว หมูทอดสูตรเด็ดต้องพักไว้ก่อนเพราะไม่อยากทับทางกับเจ้าข้างๆ

“แต่ก่อน วันสงกรานต์ ปีใหม่ยังเห็นรอยยิ้มแม่ค้า ตอนนี้พยายามยิ้ม บอกตัวเองว่าอย่าเครียด เครียดเดี๋ยวหัวใจกำเริบ” ป้ารีพูดไปปิ้งหมูไป “สงกรานต์ปีนี้ไม่ต้องพูดถึง ไม่ได้ออกมาขายเลย รายได้ศูนย์บาท ติดลบหมด” ว่าแล้วก็หยิบหมูปิ้งใส่ถุงยื่นให้

จากที่เป็นเมืองหลวงของสงกรานต์มาตลอด ปีนี้ที่ข้าวสารไม่มีการสาดน้ำ มิหนำซ้ำพอมีเคอร์ฟิว จากที่ป้ารีเริ่มขายของตั้งแต่หัวค่ำแล้วจบที่ใกล้รุ่งสาง ตอนนี้ต้องเริ่มขายตั้งแต่สี่โมงเย็นไปจนถึงสามทุ่มเพื่อรีบเข็นรถกลับบ้านให้ทัน

“เรามาขายอย่างนี้ก็ได้แค่ค่ากิน แต่ค่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟเขาก็ไม่ได้ลดให้เรานะ เราต้องจ่ายเต็ม แต่ก็จำต้องอยู่เพราะเราเป็นครอบครัว ลูกสองคน ต้องหาเงินจ่ายค่าบ้านเป็นก้อน” โชคดีที่ป้ารีให้ลูกสาวสมัครรับเงิน 5,000 บาทจากรัฐบาลได้ทัน จึงมีเงินมาตุนกระเป๋าได้อยู่

“สมัยรุ่นพ่อแม่เราบอกว่ามีตังค์ให้เก็บ รู้จักใช้นะ เพราะเขาเจอสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้ว เขายังต้องฝึกฝนอยู่เพื่อหลบภัย เขาก็เตือนเรา เราก็ไม่ได้สนใจเพราะไม่เคยเจอ แต่พอมาเจอสงครามเชื้อโรคก็ทำให้ทุกคนตื่นตัว เริ่มรู้จักใช้เงินมากขึ้น ไม่ใช้ฟุ่มเฟือย เก็บไว้กินอย่างเดียว เหลือจากกินค่อยเก็บ แค่นั้น ที่ผ่านมาเรารู้ตัวเองตลอดเวลา ควรใช้เงินอะไรตรงไหน จะไม่ฟุ่มเฟือย ไม่เคยฟุ่มเฟือย แต่ก็ยังได้แค่นี้”

ป้ารีพูดถึงตรงนี้ก็มีลูกค้าเข้ามาสั่งลูกชิ้น อากาศเริ่มเย็นลงแล้ว หลายร้านเริ่มตั้งเก้าอี้ เราลากันด้วยคำว่า “โชคดี”

 

3

 

 

ถ้าเป็นข้าวสารในช่วงเวลาปกติ 6 โมงเย็นคือเยาว์วัยของราตรี รถเข็นอาหารค่อยๆ ทยอยมาตั้งขาย พอหัวค่ำ เสียงกบไม้ของป้าชาวดอยก็ดังระงม เสียงดนตรีหลากแนวเปลี่ยนไปทุกครั้งที่เดินผ่านแต่ละร้าน ลากยาวไปจนถึงเส้นรามบุตรีที่สงบเงียบกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะร้างไร้ผู้คน

ก็อย่างที่รู้กัน นี่ไม่ใช่เวลาปกติ โควิดไม่ได้แค่ทำลายปอด แต่ทำลายวิถีชีวิตของผู้คนด้วย

“อยู่ที่นี่มาตั้งแต่เกิด เป็นครั้งแรกที่ข้าวสารเงียบขนาดนี้ ต่อให้เศรษฐกิจจะซบเซายังไงก็ตาม ก็ไม่เป็นแบบนี้” ฮั้ว เจ้าของร้านขายข้าวสารที่อยู่ตั้งแต่ถนนข้าวสารยังไม่กลายเป็นผับบาร์เล่าให้ฟัง “ถ้าถามว่าเงียบขนาดไหน ก็เงียบเหมือนตอนที่เรายังเด็ก ตอนที่ถนนข้าวสารยังอยู่กันเป็นบ้านคน”

“ครั้งนี้หนักกว่าวิกฤตปี 40 หนักมากเลย” เธอย้ำ

เธอรับหน้าที่ดูแลร้านขายข้าวสารต่อจากพ่อ ที่เปิดมาตั้งแต่สมัยอากงเมื่อ 70 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้ขายข้าวให้คนพม่า เนปาล ไทยที่เปิดร้านอาหาร และชาวบ้านร้านตลาดเอาไว้ไปหุงกินเองที่บ้าน ปกติขายได้วันละหลายกระสอบ แต่วันที่โควิดเยื้องกรายเข้ามา บางวันก็ขายไม่ได้เลย บางวันก็ขายได้ไม่กี่กิโลฯ นั่นหมายถึงมีเงินเข้าร้านไม่กี่ร้อยบาท

ร้านขายข้าวสารแห่งนี้ตั้งอยู่ในตรอกเล็กๆ ใกล้ถนนรามบุตรี ผนังเวิ้งเป็นอิฐสีส้ม มีร้านเบเกอรี่เล็กๆ ตั้งอยู่ตรงหัวมุม ผู้คนที่อาศัยในห้องแถวออกมายืนคุยกันบ้างประปราย ฮั้วกับแม่นั่งมองออกมานอกร้าน เดาไม่ออกว่ารู้สึกอย่างไร

ถึงแม้จะบอกว่าวิกฤตครั้งนี้หนักหนาสาหัสแค่ไหน แต่เมื่อถูกถามถึงอนาคต เธอตอบด้วยเสียงมั่นใจว่า “ร้านนี้เป็นกิจการของรุ่นปู่ รุ่นพ่อ แล้วมารุ่นเรา ก็คิดว่าจะขายอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ถึงเศรษฐกิจไม่ดีเราก็สู้ๆ เพราะมันเป็นทั่วโลก ไม่ได้เป็นแค่ประเทศไทย หวังว่าวันหนึ่งต้องดีขึ้น”

 

 

แสงอาทิตย์เริ่มโรยราแล้วตอนที่เราเดินเข้ามาเส้นรามบุตรี มีรถเข็นขายอาหารบ้างประปรายระหว่างทางแต่ก็แทบไม่มีลูกค้าเลย ถ้าเป็นเมื่อก่อน ถนนรามบุตรีจะมีเก้าอี้นั่งกลางแจ้ง เปิดให้คนนั่งจิบเบียร์หันหน้าเข้าถนน ผู้คนหลากเชื้อชาติเดินสวนกันไหล่ชนไหล่ แต่ตอนนี้เก้าอี้ถูกพับเก็บ ถนนกลายเป็นลานโล่งกว้าง และคำว่าโล่งจนตีแบดได้ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่นอีกต่อไป เมื่อมีคนมาตีแบดกันกลางถนนจริงๆ

ร้านขายผัดไทยที่อยู่ใกล้ๆ ตรงนั้นนั่งคุยกันอย่างเงียบเหงา “วันนี้ขายได้แค่ 3 กล่อง” พวกเธอบอก

“ขายตั้งแต่กี่โมง” ฉันถาม

“8 โมงเช้า”

ฉันก้มมองนาฬิกา 6 โมงกว่าแล้ว เป็นเวลากว่า 10 ชั่วโมงที่นั่งรอลูกค้า ดูก็รู้ว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ชีวิตก็แบบนี้ บังคับให้เราต้องอดทนเสมอ

 

 

แสงอาทิตย์เริ่มหายไป เสียงแมลงดังเรไรบนถนนที่ไม่เคยเงียบขนาดนี้ ทุกร้านติดป้ายลดราคาเอาไว้ ขายได้น้อยก็ยังดีกว่าขายไม่ได้ เราเดินลัดเลาะไปจนถึงมูนชายน์บาร์ บาร์ที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในถนนรามบุตรี หากเดินผ่านหัวมุม สิ่งที่เราจะเห็นคือเก้าอี้ไม้กว้างขวาง ดอกไม้และป้ายรูปดวงจันทร์ที่เป็นสัญลักษณ์ของร้าน

แต่คืนนี้ดวงจันทร์ไม่ส่องแสง ไม่มีเสียงเพลงขับกล่อม มีเพียงผ้าปิดร้านโดยรอบ เปิดแง้มไว้แค่ทางเข้า ใบไม้แห้งหล่นบนโต๊ะไร้คนเก็บกวาด พี่เอฟ เจ้าของร้านผู้ศรัทธาในการดื่มถือแก้วเบียร์ยืนอยู่ตรงนั้น ฟ้าเปลี่ยนสีเร็วมาก ค่อยๆ กลายเป็นความมืดมิดไปทั่วบริเวณ แสงไฟนีออนจากร้านคือแสงสว่างเดียวในยามนี้

โต๊ะพูลที่เคยต้องต่อคิวเล่น ตอนนี้ถูกทิ้งร้าง ทาวเวอร์เบียร์ที่ต้องต่อคิวกด ตอนนี้แห้งแล้งไร้ชีวิต หลังจากปิดร้านมาเกือบสองเดือน

 

 

“ตั้งแต่เปิดร้านเหล้ามา 20 ปี ครั้งนี้ปิดร้านนานที่สุด” พี่เอฟว่า แม้จะเจอวิกฤตแต่เขาก็ยังคงปรัชญาในการใช้ชีวิตเช่นเดิม ‘ชีวิตเหมือนสายน้ำ จงดื่มและล่องไหล’ — แน่นอน นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ต้องกัดฟันสู้ แม้วันนี้ไม่มีรายได้ แต่วันหน้าก็ต้องมีเข้ามา

ใบไม้แห้งร่วงหล่นเพราะผลัดใบมิใช่หรือ

4

 

นานๆ ทีจะมีรถเข็นผ่านมาสักคัน เซเว่นไม่มีแสง ร้านรวงไม่มีสี ความมืดค่อยๆ ปกคลุมบริเวณ ถ้าถามว่าฟ้าแบบไหนส่งผลต่อหัวใจคนอย่างร้ายกาจ ฉันว่า– ฟ้ามืดน่ากลัวที่สุด

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save