“เขาให้ไป เราก็ต้องไป” การทำใจจากลาของชุมชนจากที่ดินการรถไฟฯ
หากใครเคยได้เดินทางไปเยือนจังหวัดพระนครศรีอยุธยาด้วยรถไฟนั้น อาจเคยคุ้นตากับภาพความกุลีกุจอของผู้คน บวกกับความคึกคักของธุรกิจร้านค้า ร้านอาหาร และเกสต์เฮาส์ ที่บริเวณด้านหน้าสถานีรถไฟอยุธยา อันเป็นสถานีกลางของจังหวัดและถือเป็นด่านหน้าสำคัญในการต้อนรับนักท่องเที่ยวและแขกผู้มาเยือน แต่หากใครไม่ได้รีบรุดเดินทางออกจากสถานีและมีเวลานั่งแช่ตามม้านั่งริมชานชาลาสักระยะกระทั่งขบวนรถไฟที่มาจอดส่งเราวิ่งมุ่งหน้าออกไป ภาพทิวทัศน์อีกฟากฝั่งทางด้านหลังของสถานีที่หลุดออกจากการบดบังของขบวนม้าเหล็กก็จะปรากฏสู่สายตา ภาพที่เห็นนั้นอาจดูขัดแย้งกับบรรยากาศด้านหน้าสถานีเสมือนอยู่คนละเมืองเพราะภาพตรงนั้นคือกลุ่มอาคารบ้านเรือนเล็กๆ ที่ค่อนข้างทรุดโทรม
“บ้านป้าอยู่ตรงต้นไม้ใหญ่นั่นน่ะ” แม่ค้าขายโรตีสายไหมบนชานชาลาสถานีรถไฟวัย 54 อย่างเบญจพร มณเฑียร พูดกับเราพร้อมชี้นิ้วให้เรามองตามไปยังที่ตั้งของบ้านเธอซึ่งอยู่ในชุมชนเล็กๆ หลังสถานีตรงนั้น
ชุมชนดังกล่าวมีชื่อว่า ‘สุริยมุนี’ เป็นชุมชนเก่าแก่ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นคล้อยหลังจากสถานีรถไฟอยุธยาเริ่มให้บริการในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงทยอยขยับเข้ามาตั้งบ้านเรือนใกล้สถานีรถไฟมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโดยมากก็เป็นไปเพื่อแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากการเกิดขึ้นของสถานีรถไฟ และหนทางหนึ่งก็คือการเข้ามาขายอาหารและเครื่องดื่มให้ผู้โดยสารทั้งบนตัวอาคารสถานี และบ่อยครั้งก็กระโจนขึ้นขายบนขบวนรถไฟ จนนับได้ว่าเป็นอาชีพหลักอาชีพหนึ่งที่สืบเนื่องกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของผู้คนในชุมชนสุริยมุนี
“ป้าขายมาตั้งแต่เรียน ป.2-ป.3 จนตอนนี้อายุ 54 แล้ว” เบญจพรพูดขึ้นมา โดยเธอก็เป็นอีกคนหนึ่งที่อยู่ในชุมชนนี้มาแต่เกิดและประกอบอาชีพนี้มายาวนาน หากคำนวณระยะเวลาดูแล้วก็ประมาณการได้ว่าเธอทำงานนี้มาต่อเนื่องถึงราว 45 ปีเลยทีเดียว
แต่วันนี้เบญจพรเริ่มไม่มั่นใจว่าเธอจะได้ยึดอาชีพนี้ไปอีกนานเท่าไร เพราะในไม่ช้าไม่เร็ว เธออาจจะไม่ได้อยู่อาศัยในบ้านริมทางรถไฟกลางชุมชนสุริยมนีอีก
“เราก็คงต้องไป เพราะเราอยู่ในที่ของการรถไฟฯ ไม่ได้เช่าเขาอยู่ ไม่ได้เสียค่าเช่าให้เขา ถ้าเขาให้เราไปไหน เราก็ต้องไป” เบญจพรกล่าว
ตามที่เบญจพรบอก บริเวณชุมชนสุริยมุนีที่ชาวบ้านพากันเข้ามาตั้งรกรากนานนับหลายทศวรรษนั้นคือพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพราะฉะนั้นหากว่ากันตามกฎหมาย พวกเขาจึงถูกมองว่าเป็นผู้รุกล้ำพื้นที่ของการรถไฟฯ แต่กระนั้นการรถไฟฯ ก็ปล่อยให้พวกเขาอาศัยอยู่มานาน กระทั่งจุดเปลี่ยนกำลังมาถึงในรูปของ ‘โครงการรถไฟความเร็วสูง’
ในปี 2557 รัฐบาลไทยภายใต้นายกฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อร่วมมือกับรัฐบาลจีน เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย โดยปัจจุบันการดำเนินการก่อสร้างยังอยู่ในช่วงเฟสแรกระหว่างกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดใช้งานในปี 2571
หนึ่งในสถานีที่จะมีการเปิดให้บริการภายใต้เส้นทางรถไฟนี้คือสถานีอยุธยา ซึ่งจะถูกสร้างคร่อมอยู่เหนือสถานีรถไฟอยุธยาบนเส้นทางรถไฟธรรมดาที่มีอยู่เดิม แผนการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูงขนาดใหญ่ในบริเวณนั้นเองทำให้การรถไฟฯ พยายามเรียกคืนพื้นที่โดยรอบ และแน่นอนว่าชุมชนสุริยมุนีที่อยู่ติดทางรถไฟและอยู่ในพื้นที่การรถไฟฯ โดยตรง ย่อมไม่อาจหนีพ้น ทำให้บ้านเรือนที่มีอยู่เกือบ 40 ครัวเรือนจะต้องโดนไล่รื้อในเร็ววัน
การเตรียมไล่รื้อชุมชนสุริยมุนีได้สร้างข้อกังวลให้กับชาวบ้านอยู่หลายประเด็น ทั้งในเรื่องการรักษาโบราณวัตถุโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลวงพ่อสุริยมุนีหรือหลวงพ่อคอหัก พระพุทธรูปโบราณที่อยู่คู่ชุมชนมายาวนาน ซึ่งชาวบ้านอยากให้ตั้งไว้ที่เดิม รวมไปถึงความกังวลในเรื่องการสูญหายของความทรงจำในฐานะที่ชุมชนแห่งนี้เคยเป็นชุมชนลิเกที่สร้างลิเกเลื่องชื่อระดับประเทศมาแล้วมากมาย เช่น ไชยา มิตรชัย และศรราม น้ำเพชร แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ชาวบ้านกังวลที่สุดจากการต้องย้ายออกจากชุมชนแห่งนี้หนีไม่พ้นเรื่องการทำมาหาเลี้ยงปากท้อง เพราะนั่นแปลว่าพวกเขากำลังต้องออกห่างจากสถานีรถไฟอันเป็นแหล่งทำกินของตนมายาวนาน เช่นเดียวกับเบญจพรที่ไม่แน่ว่าอาจต้องเลิกอาชีพขายอาหารบนสถานีรถไฟไปเลยหรือไม่
“ถ้าเราไม่ได้อยู่แถวนี้ เราก็จะหากินลำบาก แล้วก็ไม่รู้จะไปเริ่มตรงไหน ถ้าไปหากินที่อื่น ก็ไม่รู้ว่ามันเป็นพื้นที่ของใครหรือเปล่า เพราะถ้าเป็นของคนอื่น มันก็ไปหากินไม่ได้นะ มันไม่ใช่ว่าจะหาที่ทำมาหากินใหม่ได้ง่ายๆ นะ มันไม่มีพื้นที่ที่รองรับเราอยู่แล้ว” ป้าเบญจพรกล่าว
แม้เบญจพรจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโครงการรถไฟความเร็วสูง แต่เธอบอกเราว่าเธอไม่ได้คัดค้านโครงการ และยอมรับสภาพหากจำต้องย้ายออกไปจริง
“ถ้ามี (รถไฟความเร็วสูง) ก็คงเจริญขึ้นนะ มันคงดีกว่านี้อีก เพราะป้าอยู่นี่มาหลายสิบปี มันไม่เจริญเท่าไหร่ เราก็ไม่ได้จะขัดขวางอะไร ถ้าเราต้องไปก็พร้อมไปอยู่แล้ว ขอแค่มีที่ให้เรา มีบ้านมีช่องให้เรา เพราะเราก็กลัวจะไปทำมาหากินที่ใหม่ไม่รอดเหมือนกัน” ป้าเบญจพรกล่าว
ชุมชนสุริยมุนีไม่ใช่ชุมชนเดียวที่กำลังได้รับผลกระทบ แต่โครงการพัฒนารถไฟภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ไม่ว่าจะเป็นรถไฟความเร็วสูงหรือรถไฟทางคู่ กำลังทำให้ชุมชนที่อาศัยอยู่บนที่ดินของการรถไฟฯ ตกอยู่ในความเสี่ยงจะถูกเรียกคืนพื้นที่ถึง 346 ชุมชนใน 35 จังหวัด ซึ่งครอบคลุมประชากรทั้งสิ้น 27,084 ครัวเรือน
ถัดจากชุมชนสุริยมุนี เรายังได้เดินทางไปสำรวจชุมชนในพื้นที่การรถไฟฯ อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งก็เป็นทางผ่านอีกจุดหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา นั่นคือชุมชนไบเล่ย์[1] ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา
ต่างจากชุมชนสุริยมุนีที่สามารถมองเห็นจากภายนอกและเหยียบย่างเข้าไปไม่ยากนัก ชุมชนไบเล่ย์ถูกบดบังอยู่ภายหลังดงต้นไม้ใหญ่ ไม่มีถนนให้รถเข้าไปถึงได้ ทำให้เราต้องเดินลัดเลาะเข้าไปบนพื้นดินเกรอะกรังตามริมรางรถไฟเท่านั้น ทั้งยังต้องเดินหลบรถไฟที่แล่นผ่านมาในบางจังหวะ
เราเดินไประยะหนึ่งก็พบกับชุมชนตรงนั้น ภาพที่เราเห็นคือบ้านหลังเล็กๆ ราว 10-20 หลังตั้งเรียงรายอย่างไม่เป็นระเบียบอยู่ทั้งสองฝั่งของรางรถไฟ โดยห่างจากตัวรางเพียงไม่กี่เมตร สภาพของบ้านเหล่านั้นดูผุพังและไม่ได้มั่นคงนัก ยิ่งไปกว่านั้นชุมชนแห่งนี้ยังไม่ได้มีน้ำประปาและไฟฟ้าจากทางการเข้าถึง และในเวลาที่ฝนตกหนักมักมีน้ำท่วมขังตามหน้าบ้าน เป็นภาพสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตคนที่นี่ที่ไม่ค่อยได้รับการเหลียวแล และอีกไม่ช้า ชุมชนในพื้นที่ของการรถไฟฯ นี้ก็กำลังจะถูกไล่รื้อเพื่อเป็นทางผ่านของรางรถไฟความเร็วสูง
“รู้สึกแย่นะ เพราะเราอยู่มาตั้งแต่เกิด อยู่มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ มาจนถึงรุ่นเรา ถามว่าอยากย้ายออกไปไหม ก็ไม่อยากไปหรอก” พี่เล็ก ชาวชุมชนไบเล่ย์วัย 45 ปี ผู้ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและเก็บของเก่าขาย เล่าความรู้สึกที่กำลังจะต้องจากที่นี่ไป
“ก็ใจหายเหมือนกัน แต่ถ้าจำเป็นต้องไปก็ต้องไป มัน (รถไฟความเร็วสูง) ก็เกิดขึ้นมาแล้วเนอะ เราจะมาดันทุรังอยู่ ก็ไม่ได้หรอก พูดถึงแล้วถ้าเขาให้อยู่ก็อยู่ได้เหมือนกัน แต่ถ้าเขาให้ไปเราก็ต้องไปเนอะ” เยื้อน นาครินทร์ หรือป้าเยื้อน ในวัย 76 ปี เป็นอีกคนที่บอกเล่าความรู้สึก
ป้าเยื้อนบอกด้วยว่าเธออยู่ในชุมชนไบเล่ย์มาตั้งแต่ปี 2528 หรือตีได้ว่าเกือบ 40 ปี ทำให้เธอได้เห็นชุมชนนี้มาตั้งแต่แรกเริ่มก่อตัวและมีผู้คนทยอยเข้ามาตั้งรกรากเรื่อยๆ โดยเยื้อนบอกว่าคนที่เข้ามานั้นมีร้อยพ่อพันแม่และมาจากหลากหลายพื้นที่ทั้งจากนครราชสีมาเองและจังหวัดอื่นๆ
ขณะที่แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา ที่ปรึกษาเครือข่ายริมรางย่าโม ให้ข้อมูลถึงความเป็นมาของการเข้ามาอยู่อาศัยของคนในพื้นที่นี้ว่า “คนกลุ่มใหญ่ที่สุดที่เข้ามาคือคนที่ถูกไล่มาจากที่ดินกองทัพบริเวณมอสูง ซึ่งตอนนั้นเป็นพื้นที่ว่างเปล่าที่มีชุมชนขนาดใหญ่มาตั้ง คนที่นั่นประกอบอาชีพทั้งรับจ้างทั่วไป ค้าขาย และเลี้ยงม้า คือเป็นแรงงานราคาถูกที่มารองรับกองทัพต่างชาติที่เข้ามาตั้งฐานในช่วงสงครามเย็นตอนนั้น แต่พอกองทัพมีโครงการทำบ้านพักสวัสดิการให้ทหาร ก็ให้ชุมชนทั้งหมดอพยพออกไปและกระจัดกระจายอยู่ โดยกลุ่มใหญ่ๆ ลงมาอยู่ตรงนี้ (ชุมชนไบเล่ย์) และชุมชนหลังจวนผู้ว่าฯ”
สำหรับชาวชุมชนไบเล่ย์จำนวนมาก นี่จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาต้องเผชิญกับการถูกขับไล่ออกจากที่อยู่อาศัยโดยไม่มีสิทธิเรียกร้องใดๆ เนื่องจากตามกฎหมายแล้วไม่ใช้พื้นที่ของพวกเขา และนอกจากชุมชนไบเล่ย์ ในนครราชสีมายังมีชุมชนอื่นๆ ที่รุกล้ำที่ดินการรถไฟฯ โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 12 ชุมชน ซึ่งมีผู้อาศัย 403 ครัวเรือน และคนเหล่านี้ก็มักต้องเผชิญการถูกไล่จากที่ดินครั้งแล้วครั้งเล่า
“สลัมในโคราชเป็นสลัมเก่าแก่ บางแห่งเกิดมา 60 ปีแล้ว อยู่มา 3-4 ชั่วอายุคน บางชุมชนก็อายุ 10-20 ปี คนก็มาจากตำบลข้างเคียงที่อพยพเข้ามาเพื่อที่จะหารายได้ แต่ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่มีหน่วยงานรัฐไหนที่แก้ไขเรื่องนี้ได้ ไม่ว่าจะมีการพยายามไล่รื้อมาแล้วหลายครั้งในแต่ละชุมชนก็ตาม แต่ก็เห็นว่าการแก้ปัญหาโดยการไล่รื้อไม่ได้ตอบโจทย์และไม่ได้ช่วยแก้ที่ต้นเหตุ” แม้นวาดกล่าว
แม้จะยังคงยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางการถูกข่มขู่และพยายามไล่รื้อมาหลายครั้ง แต่ดูเหมือนว่าครั้งนี้การมาถึงของโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่จะทำให้ชุมชนเหล่านี้ถึงคราวต้องอันตรธานไปจริง โดยในจังหวัดนครราชสีมานั้น ชุมชนบนที่ดินการรถไฟฯ 8 ชุมชน ซึ่งมีทั้งสิ้น 342 ครัวเรือน กำลังนับถอยหลังรอวันที่ต้องจากบ้านที่อยู่มายาวนาน
การลุกขึ้นสู้เพื่อบ้านหลังใหม่ กับบทพิสูจน์ ‘สิทธิการมีที่อยู่อาศัย’ ในฐานะพลเมืองไทย
หากว่ากันตามตัวบทกฎหมาย การรุกล้ำที่ดินการรถไฟฯ เข้ามาปลูกสร้างที่พักอาศัยของชาวบ้านย่อมเป็นเรื่องผิด ซึ่งที่ผ่านมานั้นพวกเขาก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมมาตลอด อย่างไรก็ตาม เราก็อาจต้องย้อนตั้งคำถามเช่นกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ปัญหานี้เกิดขึ้นมาแต่แรกทั้งยังแพร่กระจายไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ใช่ว่าเจ้าของพื้นที่และรัฐปล่อยปละละเลยไม่ได้เข้ามาจัดการแต่ต้นหรือไม่ และอาจเป็นเพราะประชาชนกลุ่มนี้ไม่ได้มีทางเลือกโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยแหล่งอื่นๆ แล้วหรือไม่
“เราพูดมาตลอดว่าปัญหาสลัมเมืองและการมีชุมชนอยู่ในที่ดินการรถไฟฯ เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทุกอย่าง คนเมืองอาจจะถามว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงอยู่แบบผิดกฎหมาย แต่โดยหลักการแล้ว มันไม่ควรจะเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นมาตั้งแต่ต้น เพราะเมื่อรัฐเห็นแนวโน้มว่าเศรษฐกิจกระจุกตัวในเมืองทำให้ชาวบ้านต้องเข้ามาอาศัยในเมือง รัฐก็ต้องหาที่อยู่อาศัยรองรับสำหรับคนเหล่านี้” แม้นวาดกล่าว พร้อมย้ำว่าสิทธิในการมีที่อยู่อาศัยคือสิทธิพื้นฐานของประชาชนที่ระบุไว้ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ต้องส่งเสริม
ท่ามกลางสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อชาวบ้านริมรางในหลายพื้นที่ทั่วประเทศจากการเกิดขึ้นของโครงการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ แม้นวาดให้ข้อมูลว่าองค์กรภาคประชาสังคมอย่างเครือข่ายสลัมสี่ภาค ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือ โดยเริ่มจากปี 2563 ที่ได้พูดคุยกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อร่วมมือกันสำรวจชุมชนในพื้นที่การรถที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศ ก่อนจะมีการนำข้อมูลไปนำเสนอและเจรจากับรัฐบาลเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหา
ในการเจรจานั้น ทางฝั่งภาคประชาสังคมและชาวบ้านได้ยื่นข้อเสนอให้นำมติของคณะกรรมการการรถไฟฯ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 ที่เคยให้ชุมชนในที่ดินของการรถไฟฯ 61 ชุมชนสามารถเช่าที่ดินของการรถไฟฯ ในบริเวณใกล้เคียงได้ มาใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาระบบรางในครั้งนี้ ก่อนที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติในรับทราบแนวทางที่เสนอมาดังกล่าว และมอบหมายให้ พอช. ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทำให้ในที่สุด 300 กว่าชุมชนที่ได้รับการสำรวจผลกระทบมาก่อนหน้านี้ สามารถยื่นเรื่องเช่าที่ดินของการรถไฟฯ ได้ ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ
“มันมีเงื่อนไขมาตั้งแต่ปี 2543 แล้วว่าการรถไฟฯ จะให้ชุมชนเช่าได้ เมื่อเช่าในนามชุมชน หมายถึงว่าคุณต้องรวมกลุ่มกันเท่านั้นและยื่นขอเช่าเป็นแปลงรวม แล้วหลังจากนั้นถึงมาซอยแบ่งล็อก บริหารจัดการกันเองภายใน เพราะฉะนั้นโจทย์ขั้นแรกของชุมชนคือต้องรวมกลุ่มกันให้ได้ก่อน และบันไดขั้นที่สองคือคุณต้องออมเงินร่วมกันเพื่อพิสูจน์ว่าสามารถส่งค่าเช่าที่ดินได้ในระยะยาว ใช้วินัยในการออมทรัพย์เป็นเครื่องพิสูจน์” แม้นวาดให้ข้อมูล
ในบรรดาชุมชนริมรางที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศนั้น ชุมชนในจังหวัดนครราชสีมานับว่าเป็นแห่งแรกๆ ที่สามารถรวมตัวกันได้ในชื่อ ‘เครือข่ายริมรางย่าโม’ ในปี 2564 ประกอบด้วย 166 ครัวเรือนใน 8 ชุมชน เพื่อเจรจาหาทางออกในเรื่องที่อยู่อาศัยร่วมกับทางการ
“ชุมชนที่สามารถเคลื่อนได้เร็วคือชุมชนที่เริ่มถูกไล่รื้อแล้ว เหมือนว่าไฟมาถึงหน้าบ้านเขาแล้ว อย่างชาวบ้านที่นี่ (นครราชสีมา) ก็ตื่นตัวเพราะมันมีรถไถ รถแบคโฮลงมาทำงานให้เห็นแล้ว มันเลยเป็นแรงขับที่ทำให้พวกเขาต้องต่อสู้ให้ชนะ เพราะถ้าไม่ชนะแปลว่าพวกเขาต้องไปอยู่ที่ไหนไม่รู้ และชะตากรรมจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้” แม้นวาดเล่า
“เมื่อภาคประชาสังคมมาคุยกับชาวบ้าน สิ่งแรกที่คุยกันคือให้พวกเขาทำความเข้าใจว่า ในฐานะที่พวกเขาเป็นพลเมืองของจังหวัดโคราช รัฐมีหน้าที่ต้องดูแลสิทธิพื้นฐานของพวกเขาซึ่งก็คือการมีที่อยู่อาศัยอย่างมั่นคง แต่ที่ผ่านมากว่า 60 ปี มันมั่นคงตรงไหน ทำไมพวกเขาถึงต้องอยู่แบบนี้ บางชุมชนไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ไม่มีถนน ไม่มีสาธารณูปโภคใดๆ ทั้งสิ้น และสภาพความเป็นอยู่ก็แย่มาก และที่มันแก้ไขไม่ได้เพราะพวกเขาไม่เคยลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง รอให้รัฐมาช่วยเหลือ ซึ่งพวกเขารอจริง และถ้าเขาไม่เรียกร้อง สิทธิของเขาก็จะเป็นแค่ตัวหนังสืออยู่ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่มีทางจะมาก่อให้เกิดประโยชน์กับพวกเขาได้ พอพวกเขาเกิดความเข้าใจว่าพวกเขามีสิทธิที่จะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และพวกเขาเป็นมนุษย์ที่ไม่ควรมาถูกไล่รื้อบ้านง่ายๆ แบบนี้ ก็ทำให้พวกเขาลุกขึ้นมาสู้เพื่อให้ได้มีบ้านของตัวเอง” แม้นวาดเล่าต่อ
การเจรจาระหว่างเครือข่ายริมรางย่าโมกับทางการมีขึ้นเป็นระยะ ภายใต้การสนับสนุนของโครงการบ้านมั่นคงจาก พอช. จนกระทั่งเป็นชุมชนแรกในประเทศที่ขอเช่าที่ดินของการรถไฟฯ ได้สำเร็จในเดือนสิงหาคม 2565 โดยการรถไฟฯ อนุมัติให้เช่าที่ดินบริเวณย่านสถานีพะไลในอำเภอเมืองซึ่งมีพื้นที่กว่า 12,000 ตารางเมตร ในอัตราค่าเช่าปีแรกที่ตารางเมตรละ 23 บาท ด้วยกำหนดระยะเวลาเช่า 30 ปี โดยมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากหน่วยงานรัฐต่างๆ ในหลายส่วน และในเวลาไล่เลี่ยกันนั้นก็มีการก่อตั้งสหกรณ์เครือข่ายริมรางเมืองย่าโมเพื่อบริหารจัดการการออมทรัพย์ของชาวบ้านในการนำส่งเป็นค่าเช่าให้กับการรถไฟฯ
ชุมชนการรถไฟฯ ในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ของประเทศไทยก็กำลังมีการเดินหน้าแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งจำนวนมากยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาขอเช่าที่ดิน แต่แนวทางการขับเคลื่อนของแต่ละพื้นที่นั้นก็ต่างกันออกไปขึ้นกับบริบทชุมชนและแนวทางการสนับสนุนของหน่วยงานภาคประชาสังคมและหน่วยงานรัฐที่เข้ามาให้ความช่วยเหลือในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งยังเผชิญอุปสรรคและความท้าทายในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย
หากย้อนไปยังชุมชนสุริยมุนีในจังหวัดพระนครศรีอยุธยานั้น ทาง พอช. และเทศบาลเมืองอโยธยา ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือโดยมีการเจรจาเช่าที่ดินของวัดประดู่ทรงธรรม ซึ่งอยู่ห่างออกไปจากพื้นที่ชุมชนเดิมราว 1 กิโลเมตร เพื่อให้ชาวบ้านได้มาเช่าเป็นที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคง และมีการกำหนดเงื่อนไขให้ชาวบ้านออมทรัพย์ส่งเป็นค่าเช่าเหมือนที่อื่นๆ
แต่สำหรับชาวชุมชนสุริยมุนีนั้น เรื่องการออมเงินถือเป็นความท้าทายขนานใหญ่ เพราะเดิมทีพวกเขาก็เป็นคนยากจนที่หารายได้ได้ไม่มากอยู่แล้ว ทำให้ชาวบ้านที่ไม่สามารถออมเงินได้หลุดออกจากโครงการมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจากเดิมที่มีผู้เข้าร่วมโครงการ 37 ครัวเรือน มาเหลือเพียง 7 ครัวเรือนเท่านั้นในปัจจุบัน
เบญจพร ชาวชุมชนสุริยมุนีที่เราได้คุยก่อนหน้านี้เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในโครงการและเผชิญความยากลำบากในการออมเงิน
“บางเดือนก็มีผ่อนฝากไว้ แต่บางเดือน อย่างสองเดือนที่ผ่านมานี่ก็ไม่ได้ฝากเลย เพราะค้าขายแย่ ไหนจะต้องมีค่าใช้จ่ายในบ้านอีกและส่งหลานเรียนอีก มันเหลือเงินไม่พอ จริงๆ เมื่อก่อนก็ผ่อนกันดีนะ แต่หลายเดือนมานี้เศรษฐกิจแย่ลง ถ้าโครงการมาเร็วกว่านี้ ป่านนี้ก็ย้ายไปกันได้แล้วเพราะเมื่อก่อนยังหากินคล่อง แต่ตอนนี้ลำบากกันหมด” เบญจพรเล่า และบอกด้วยว่าเธอมีความกังวลว่าหากต้องย้ายไปอยู่ในพื้นที่ที่เตรียมไว้ให้แล้ว อาจทำให้เธอประกอบอาชีพค้าขายบนสถานีรถไฟได้ลำบากขึ้น เพราะที่ใหม่นั้นอยู่ไกลออกไปจากสถานี
ขณะที่ชาวบ้านในชุมชนริมรางรถไฟในเขตเมืองนครราชสีมานั้นก็ถือว่ามีความท้าทายในการออมทรัพย์อยู่เช่นกัน แต่จำนวนมากก็บอกว่าสามารถออมเงินส่งสหกรณ์ได้ อย่างชาวบ้านชุมชนไบเล่ย์ที่แม้จะมีภาวะทางเศรษฐกิจแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดเดียวกัน แต่โดยรวมก็นับว่าเป็นชุมชนหนึ่งที่มีวินัยและความร่วมมือในการออมสูงที่สุด เพื่อที่พวกเขาจะได้ทยอยย้ายเข้าไปยังชุมชนใหม่ในพื้นที่พะไลอีกไม่ช้า
‘บ้านมั่นคงพะไล’ ต้นแบบการต่อสู้ของชุมชนบนที่ดินการรถไฟทั่วประเทศ
โครงการบ้านมั่นคงพะไลอยู่ห่างออกไปจากชุมชนในพื้นที่การรถไฟฯ ในเขตเมืองนครราชสีมาอยู่ประมาณ 8 กิโลเมตร แม้ระยะห่างของพื้นที่ใหม่นี้จะไม่ได้ตรงกับที่ภาคประชาสังคมได้ตกลงเงื่อนไขกับทางการไว้ว่า การรถไฟฯ จะต้องจัดหาพื้นที่รองรับใหม่ให้กับชุมชนที่ถูกขอคืนพื้นที่ในระยะไม่เกิน 5 กิโลเมตร แต่ชาวบ้านก็เลือกที่จะใช้พื้นที่พะไลนี้เป็นที่อยู่อาศัยใหม่ เพราะมีทั้งตลาด วัด และโรงเรียน อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งจะทำให้พวกเขาดำเนินชีวิตและทำมาหากินได้อย่างสะดวก
ปัจจุบันการสร้างบ้านในพื้นที่โครงการบ้านมั่นคงพะไลได้คืบหน้าไปมาก โดยได้สร้างแล้วเสร็จไปแล้ว 72 หลัง จากแผนก่อสร้างทั้งหมด 166 หลัง นับว่าเป็นชุมชนที่เดินหน้าโครงการได้รวดเร็วเป็นรูปเป็นร่างมากที่สุด
เครือข่ายริมรางย่าโมได้พาเราเดินสำรวจโครงการบ้านมั่นคง ก็พบว่าโครงการคืบหน้าไปมากแล้วจริงตามที่เราได้ข้อมูลมา โดยลักษณะบ้านเรือนนั้นเป็นอาคารหนึ่งชั้นหลายอาคาร ซึ่งแต่ละอาคารนั้นถูกซอยแบ่งออกเป็นห้องเล็กๆ หลายห้อง คล้ายกับว่าเป็นอะพาร์ตเมนต์ที่มีชั้นเดียว แม้ว่าตัวบ้านจะก่อร่างสร้างมาเสร็จสิ้น แต่การตกแต่งหลายส่วนยังดูไม่เสร็จดีนัก เช่น ผนังบ้านคอนกรีตที่ยังเปลือยเปล่าไร้การทาสี ขณะเดียวกันก็ยังไม่ได้มีน้ำประปาและไฟฟ้าจากทางการเข้าถึง โดยยังอาศัยเครื่องช่วยผลิตไปพลางอยู่ ซึ่งทั้งหมดกำลังได้รับการทยอยดำเนินการให้เสร็จสิ้นเร็วที่สุด
แม้จะยังไม่สมบูรณ์เต็มร้อย แต่ชาวบ้านในชุมชนริมรางบางส่วนก็ได้เริ่มย้ายเข้ามาอยู่อาศัยแล้ว โดยนำร่องที่ 27 หลังคาเรือนแรก และการที่ 27 ครัวเรือนนี้ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในโครงการนี้ก็นับว่าเปลี่ยนชีวิตของพวกเขาไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้มีที่อยู่ของตัวเองอย่างเป็นหลักแหล่งหลังจากอยู่ในพื้นที่ของคนอื่นมาทั้งชีวิต และเริ่มมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ผมได้ถามความเป็นอยู่ของแต่ละคนที่เขามาอยู่แล้ว เขาก็พอใจมาก พอใจในสิ่งที่ได้ พอใจในสิ่งที่รับ พอใจในสิ่งที่อยู่ แล้วตอนนี้ 27 ห้องนี้มีทะเบียนบ้านเป็นของตัวเองหมดแล้ว เราได้เห็นความรู้สึกเขา บางทีเขาก็วิ่งมากอด ขอบคุณเราที่ช่วยทำให้มีบ้าน ทำให้มีที่อยู่อย่างมั่นคง เราก็ดีใจกับชาวบ้าน” นิยม พินิจพงษ์ ผู้แทนเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ผู้ที่นับว่าเป็นแนวหน้าคนสำคัญคนหนึ่งในการต่อสู้เพื่อสิทธิในการมีที่อยู่อาศัยของคนในพื้นที่การรถไฟฯ ในนครราชสีมามายาวนาน เล่าให้เราฟัง
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านริมรางที่เตรียมย้ายเข้ามาอยู่ในโครงการบ้านมั่นคงในอนาคตอันใกล้ก็ตั้งความหวังเช่นกันว่าคุณภาพชีวิตของพวกเขาจะดีขึ้น เช่น ป้าเยื้อนในชุมชนไบเล่ย์ที่บอกว่า “ดีเหมือนกันนะ มันไม่ไกลเท่าไหร่ บรรยากาศก็ดี น้ำคงไม่ท่วมแบบนี้ (แบบที่บ้านไบเล่ย์มักเผชิญ) ชีวิตก็คงดีขึ้นกว่าเก่า และตรงนั้นมีตลาด ก็คงค้าขายได้ อยู่ที่จะมีคนซื้อหรือเปล่าแค่นั้นเอง (หัวเราะ)”
ชาวบ้านไบเล่ย์อีกคนอย่างเล็ก ก็บอกเช่นกันว่า “ก็ดีใจนะ เพราะเราอยู่ตรงนี้มาตลอด มันไม่มีน้ำมีไฟ ปกติก็ใช้หม้อแบตเตอรี่ โซลาร์เซลล์ หรือเทียน แต่อยู่โน่น เราจะมีน้ำมีไฟใช้”
ภาพของโครงการบ้านมั่นคงพะไลโดยรวมนั้นนับว่าไปได้ดี แต่นิยมก็เล่าว่าที่ผ่านมาได้เจอความขลุกขลักอยู่บ้าง เช่นงบประมาณอุดหนุนจากรัฐที่ไม่เพียงพอในบางส่วน และยังขาดช่วงไปในบางครั้ง ขณะเดียวกันก็เจอปัญหาด้านความล่าช้าและความซับซ้อนของการเดินเรื่องภายใต้ระบบราชการอยู่บ้างในบางประเด็น แต่ก็ได้พยายามหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกันมาเรื่อยๆ และขณะเดียวกันนิยมก็บอกว่าเมื่อโครงการสร้างบ้านแล้วเสร็จพร้อมต้อนรับคนเข้ามาอยู่เต็มที่แล้ว ก็ยังคงมีความท้าทายรออยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปรับตัวของชาวบ้านให้เข้ากับพื้นที่ใหม่ รวมถึงบางส่วนที่อาจต้องปรับเปลี่ยนอาชีพของตัวเองให้สอดรับกับพื้นที่และต้องหารายได้ให้ได้เพียงพอต่อการออมทรัพย์ส่งสหกรณ์ และที่สำคัญ การรักษาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ไปได้ดีตลอดรอดฝั่งก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ผู้แทนเครือข่ายริมรางย่าโมอย่างนิยมก็ยืนยันว่าจะพยายามทำให้ดีที่สุด
“มีบางคนกระแนะกระแหนเราว่าเหมือนย้ายสลัมมาเป็นสลัม เราก็จะแก้ต่างไป ผมจะทำชุมชนนี้ให้เป็นสีเขียว จะให้เขาลบคำสบประมาทนี้ออกจากหัวใจเขาเลยว่าเราจะไม่เป็นสลัมอีกต่อไป” นิยมกล่าว
ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้ชุมชนบ้านมั่นคงพะไลได้กลายเป็นแบบอย่างความสำเร็จให้กับชุมชนในพื้นที่การรถไฟฯ แห่งอื่นๆ ทั่วประเทศ และยังมีความหวังลึกๆ ว่านี่อาจเป็นบทเรียนให้รัฐในเรื่องการจัดการที่ดินของตัวเองด้วย
“การที่เราสามารถเช่าที่ดินของการรถไฟฯ ในเขตไข่แดงในเมืองได้ จะสามารถนำไปใช้เป็นโมเดลของการแบ่งปันที่ดินของรัฐในเมือง ไม่ว่าจะเป็นที่ดินกองทัพหรืออะไรก็ตามแต่ มาใช้ประโยชน์ในทางสังคมด้วย นอกเหนือไปจากการใช้ที่ดินเพื่อนำไปพัฒนาเศรษฐกิจหรือขายเพื่อเอากำไรเพียงอย่างเดียว” ที่ปรึกษาเครือข่ายริมรางย่าโมอย่างแม้นวาด กล่าว
ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลงพื้นที่ทำข่าว สนับสนุนโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
↑1 | จากการสอบถามชาวบ้าน ชุมชนมีชื่อเรียกเช่นนี้เนื่องจากเคยมีโรงงานผลิตน้ำดื่มยี่ห้อไบเล่ย์ตั้งอยู่บริเวณนั้น |
---|