fbpx
สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมู : แรงกดดันจากสหรัฐฯ กับความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไทย

สารเร่งเนื้อแดงในเนื้อหมู : แรงกดดันจากสหรัฐฯ กับความเสี่ยงด้านสุขภาพของคนไทย

ภัทชา ด้วงกลัด เรื่อง

 

เป็นเวลากว่าสิบปี คนไทยถูกปลูกฝังให้หวาดกลัว ‘สารเร่งเนื้อแดง’ ผ่านการรณรงค์ของหน่วยงานด้านสาธารณสุขและสื่อต่างๆ อย่างเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ จนหลายคนเชื่ออย่างฝังใจว่าสารเร่งเนื้อแดงคือสิ่งแปลกปลอมต้องห้าม ที่ไม่ควรมีในเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคแม้แต่น้อย เพราะมีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ จะเลือกซื้อเนื้อหมูก็ต้องระวังอย่าให้มีสีแดงคล้ำ หรือมีเนื้อมากไขมันน้อยจนเกินไป

ภาพการเป็นสิ่งต้องห้ามของสารเร่งเนื้อแดงถูกตอกย้ำด้วยกฎหมายและมาตรการควบคุมการใช้สารเหล่านี้ในฐานะสารเคมีอันตราย ห้ามมิให้มีการตกค้างในเนื้อสัตว์และเครื่องในสำหรับการบริโภคโดยเด็ดขาด หากฝ่าฝืนมีโทษรุนแรงถึงขั้นจำคุก[1] ความจริงจังเข้มงวดในเรื่องนี้ เห็นได้จากข่าวการตรวจจับฟาร์มหมูที่ใช้สารเร่งเนื้อแดง หรือบุกทลายแหล่งผลิตอาหารสัตว์ที่ผสมสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งมักปรากฏให้เห็นในสื่อต่างๆ เสมอ

แต่มาตรการอันเข้มงวดนี้กำลังเผชิญความท้าทาย ตั้งแต่เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาได้เริ่มการเจรจาขอเปิดตลาดเนื้อหมูและเครื่องในหมูของไทย โดยเปิดให้สามารถนำเข้าจากสหรัฐฯ ได้  สมาคมผู้เลี้ยงสุกรลุกขึ้นมาคัดค้านเรื่องนี้อย่างแข็งขันโดยหยิบยกประเด็นสำคัญที่โดนใจผู้บริโภคอย่างความปลอดภัยทางอาหาร ด้วยเหตุที่สหรัฐฯ อนุญาตให้มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างในเนื้อหมูที่ใช้บริโภคได้

ความกังวลจึงเริ่มก่อตัว หลายฝ่ายกลัวว่าหากเปิดตลาดรับเนื้อหมูจากสหรัฐฯ เข้ามาจริง จะเท่ากับเป็นการเอาสุขภาพคนไทยมาเสี่ยงมากขึ้นหรือไม่ จากเดิมที่เรามีมาตรฐานสูงดีอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อโต้แย้งว่าปริมาณสารเร่งเนื้อแดงที่สหรัฐฯ อนุญาตให้ตกค้างในเนื้อหมูนั้นมีเพียงเล็กน้อยเพราะมีการควบคุม และอยู่ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ตามมาตรฐานสากล

ในระหว่างที่การเจรจาอยู่ในกระบวนการที่ยังไม่ได้ข้อสรุป 101 อยากชวนคุณในฐานะผู้บริโภคมาทำความรู้จักกับสารเร่งเนื้อแดงให้มากขึ้น เพื่อหาคำตอบให้ตัวเองว่า คุณรับได้ไหม ถ้าหมูที่คุณกินจะมีสารเร่งเนื้อแดง?

 

สารเร่งเนื้อแดงคืออะไร

 

สารเร่งเนื้อแดง เป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-Agonist) มีด้วยกันหลายชนิด เช่น เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol) ซิลปาเทอรอล (Zilpaterol) และแรคโตพามีน (Ractopamine) เป็นต้น สารในกลุ่มนี้มีฤทธิ์ส่งเสริมการเปลี่ยนไขมันเป็นกล้ามเนื้อ และลดการสะสมไขมันในเนื้อเยื่อ จึงถูกนำมาใช้ผสมในอาหารสัตว์ที่ใช้เลี้ยงวัว ไก่งวง และหมู เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อแดงและลดไขมันลง ตอบโจทย์ความนิยมของผู้บริโภคที่รักสุขภาพ และความนิยมบริโภคเนื้อหมูสีแดงสวย

หมูที่ได้รับสารเร่งเนื้อแดงจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นโดยใช้อาหารน้อยลง ตัวอย่างเช่น หมูที่ได้รับแรคโตพามีน จะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจาก 60 กิโลกรัมเป็น 100 กิโลกรัม ได้เร็วกว่าปกติ 4 วัน ในขณะที่ให้อาหารน้อยลง 18.5 กิโลกรัม และมีน้ำหนักกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นประมาณ 3 กิโลกรัม นี่เป็นแรงจูงใจอย่างดีให้ผู้เลี้ยงหมูใช้สารเร่งเนื้อแดงเพื่อเพิ่มผลผลิต

ทั้งนี้ ‘แรคโตพามีน’ เป็นสารเร่งเนื้อแดงที่ได้รับความนิยม และเป็นสารชนิดสำคัญที่สหรัฐฯ อนุญาตให้ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ในขณะที่หลายประเทศห้ามใช้ หรือห้ามไม่ให้มีการตกค้างของของสารชนิดนี้ในเนื้อสัตว์ที่ใช้บริโภค

 

สารเร่งเนื้อแดงอันตรายต่อมนุษย์หรือไม่ ทำไมต้องห้าม

 

แต่เดิมสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์นี้ใช้เป็นตัวยาในทางการแพทย์ ช่วยขยายหลอดลมในผู้ป่วยโรคหอบหืดและหลอดลมอักเสบ และใช้ยับยั้งการหดตัวของมดลูกในสัตว์ นอกจากนี้ยังมีผลต่อหัวใจ โดยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ เพิ่มแรงในการบีบตัว และเพิ่มความเร็วในการนำไฟฟ้าของหัวใจอีกด้วย

เมื่อเบต้าอะโกนิสต์ถูกพัฒนามาใช้เป็นสารเร่งเนื้อแดง พบว่ามีการตกค้างในเนื้อสัตว์ที่เราบริโภคได้ หากมีการใช้ในปริมาณและระยะเวลาที่ไม่เหมาะสม ทำให้สารไม่สลายไปก่อนการนำมาบริโภค โดยสารกลุ่มนี้มีคุณสมบัติเสถียรต่อความร้อนทั้งน้ำเดือดที่ 100 องศาเซลเซียส  และน้ำมันที่ 260 องศาเซลเซียส การต้ม อบ ทอด หรือใช้ไมโครเวฟ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความเข้มข้นของสารกลุ่มนี้ได้

ในต่างประเทศเคยมีการรายงานพบผู้ป่วยได้รับพิษจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อนจนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยทางร่างกายหลายต่อหลายครั้ง ครั้งแรกที่มีการรายงานเกิดขึ้นในยุโรปช่วงปี 1990 พบผู้ได้รับพิษมีอาการกล้ามเนื้อสั่น ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ ปวดศีรษะ อาเจียน มีไข้ ต่อมามีรายงานพบผู้ป่วยมีอาการลักษณะเดียวกันจากการได้รับพิษในอีกหลายประเทศทั้งในยุโรปและเอเชียต่อเนื่องมาอีกหลายปี โดยสารที่คาดว่าก่อให้เกิดพิษคือ เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol) ซึ่งออกฤทธิ์ระยะยาว ตกค้างอยู่ในอาหารได้นานกว่าสารเร่งเนื้อแดงชิ้นอื่นๆ ทำให้เกิดอาการพิษแบบเฉียบพลัน

แม้พิษจากเคลนบูเทอรอลจะไม่ส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต แต่หากได้รับในปริมาณที่สูงกว่าการใช้รักษาทางการแพทย์ก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะผู้มีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ และความดันโลหิตสูง ต่อมาภายหลังการมีรายงานผู้ได้รับพิษอย่างต่อเนื่อง สารชนิดนี้ถูกห้ามและไม่ได้รับการรับรองให้ใช้เป็นสารเร่งเนื้อแดงในสหภาพยุโรป จีน และอีกหลายประเทศ รวมทั้งสหรัฐฯ

ในขณะที่สารเร่งเนื้อแดงชนิดอื่นๆ เช่น ซิลปาเทอรอล (Zilpaterol) และ แรคโตพามีน (Ractopamine) ซึ่งออกฤทธิ์ระยะสั้น สลายตัวได้เร็วกว่าเคลนบูเทอรอล แม้จากการศึกษาทางพิษวิทยาจะพบว่าก่อให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็ว และส่งผลต่อความดันโลหิตได้ แต่ยังไม่มีรายงานการเกิดพิษจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ปนเปื้อนสารเหล่านี้

อย่างไรก็ตาม สารในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ไม่ว่าจะชนิดที่ออกฤทธิ์ยาวหรือสั้น หากตกค้างในอาหารในปริมาณที่มากเกินไป ทั้งจากขนาดยา ระยะเวลา รวมถึงช่วงเวลาหยุดยาก่อนเข้าโรงฆ่าสัตว์ที่ไม่เหมาะสม ก็สามารถทำให้เกิดพิษเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ทั้งนั้น โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายมากได้แก่ ผู้มีโรคประจำตัวเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไทรอยด์  หญิงตั้งครรภ์  เด็กเล็ก และผู้สูงอายุ

กว่า 160 ประเทศทั่วโลก เช่น สหภาพยุโรป รัสเซีย จีน และไทย จึงเลือกใช้มาตรการ ‘ปลอดภัยไว้ก่อน’ (caution) โดยยึดหลักการ ‘Zero Tolerance’ หรือการห้ามใช้หรือห้ามไม่ให้มีการตกค้างของสารกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ในเนื้อสัตว์ที่ใช้ในการบริโภคโดยเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคทุกกลุ่ม

 

การเมืองเรื่องสารเร่งเนื้อแดง

 

แม้ว่าหลายประเทศจะห้ามการใช้สารเร่งเนื้อแดงโดยเด็ดขาด แต่ประเทศอีกจำนวนหนึ่งโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ผลิตเนื้อหมูรายใหญ่ของโลก กลับอนุญาตให้ใช้ได้ในปริมาณที่ควบคุมไว้ และต้องการกดดันให้ประเทศต่างๆ ลดความเข้มงวดของมาตรการห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดงลงในการเจรจาการค้า

ความแตกต่างขัดแย้งกันของมาตรการที่แต่ละประเทศใช้ นำมาสู่ความพยายามในการหามาตรฐานร่วมกันผ่านคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ Codex (Codex Alimentarius Commission) องค์กรภายใต้องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) ที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับอาหารให้เป็นมาตรฐานสากล

เมื่อปี 2555 Codex ได้ข้อสรุปจากการลงมติของประเทศสมาชิกยอมรับการตกค้างของสารแรคโตพามีนในเนื้อวัวและเนื้อหมูที่ใช้ในการบริโภค โดยมีเสียงสนับสนุน 69 เสียง ต่อเสียงคัดค้าน 67 เสียง ซึ่งนับว่าใกล้เคียงกันมาก ทั้งนี้ Codex ได้กำหนดปริมาณมาตรฐานสากลการตกค้างสูงสุด ( Maximum Residue Limits (MRLs)) ในเนื้อและไขมันไว้ว่าต้องค้างไม่เกิน 10 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ในตับไม่เกิน 40 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม และในไตไม่เกิน 90 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์จากข้อมูลการศึกษาที่ใช้อ้างอิง

มตินี้ถือว่าเป็นชัยชนะก้าวสำคัญของประเทศที่อนุญาตให้ใช้สารเร่งเนื้อแดง เพราะนำมาใช้เอื้อประโยชน์ในการเจรจาการค้าได้ ในขณะเดียวกันหลายประเทศกลับไม่ยอมรับมติดังกล่าว เช่น สหภาพยุโรป และจีน ซึ่งแสดงความเห็นว่าค่า MRLs ที่ Codex กำหนดนี้ไม่ได้มาจากมติเอกฉันท์ และมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ เนื่องจากอ้างอิงอยู่บนการศึกษาชิ้นเดียวที่ทดลองให้สารแรคโตพามีนในมนุษย์ ที่มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาเพียง 6 คนเท่านั้น

รัสเซียแสดงความเห็นว่าการคำนวณ MRLs ของ Codex มาจากข้อมูลที่ไม่มีการตรวจสอบที่เพียงพอ และเมื่อนำมาประเมินร่วมกับปริมาณเนื้อสัตว์ที่คนรัสเซียบริโภคแล้วพบว่า อาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพในระดับที่ยอมรับไม่ได้ ส่งเสริมให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น และลดอายุเฉลี่ยประชากรลง

อย่างไรก็ตามแม้ว่า Codex จะกำหนดปริมาณมาตรฐานการตกค้างไว้ดังกล่าว แต่เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ  Codex แนะนำว่าแต่ละประเทศสามารถกำหนดค่ามาตรฐานการตกค้างของตนเองได้ตามความเหมาะสม แต่ควรอยู่บนพื้นฐานการประเมินความเสี่ยงตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยต้องไม่เป็นการกีดกันทางการค้า

 

คนไทยควรรับได้ไหม หากหมูมีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อน?

 

สำหรับประเทศไทย มาตรฐานที่เหมาะสมในการควบคุมสารเร่งเนื้อแดงสำหรับเราควรเป็นอย่างไร? มาตรการไม่ยอมรับสารเร่งเนื้อแดงโดยเด็ดขาดในปัจจุบันนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ หรือจะถูกมองว่าเป็นเพียงเครื่องมือกีดกันทางการค้า?

เมื่อไม่นานมานี้เว็บไซต์ Knowledge Farm – ฟาร์มรู้สู่สังคม ได้นำเสนอรายงานเรื่อง “จะรับได้ไหม ถ้าไทยยอมให้เนื้อหมูเร่งเนื้อแดงเข้ามาขายในประเทศ ?” ซึ่งอ้างอิงมาจากโครงการวิจัยเรื่อง “การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพในการได้รับสารแรคโตพามีนจากการบริโภคเนื้อและเครื่องในสุกรและทัศนคติการเลือกซื้อเนื้อและเครื่องในสุกร” โดย ผศ.เวณิกา เบ็ญจพงษ์ และคณะ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) งานวิจัยชิ้นนี้พยายามตอบคำถามว่า ไทยควรอนุญาตนำเข้าเนื้อและเครื่องในสุกรที่มีสารแรคโตพามีนตกค้างเข้ามาในประเทศหรือไม่ หากมองในมุมความปลอดภัยทางอาหารของผู้บริโภค

การศึกษาชิ้นนี้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า รูปแบบการบริโภคหมูของคนไทยมีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงได้ กล่าวคือคนไทยบริโภคเครื่องในรวมทั้งเลือดหมู ซึ่งมีการตกค้างของสารแรคโตพามีนสูง เมื่อบริโภคในปริมาณมากสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิตสูง

จากการศึกษาชี้ให้เห็นว่า หากใช้ค่ามาตรฐานการตกค้างของ Codex เป็นเกณฑ์ พิจารณาการบริโภคเนื้อและเครื่องในหมูในประชากรโดยทั่วไปอายุ 18-64.9 ปี จะพบว่าประชากรกลุ่มเสี่ยงที่นิยมบริโภคเครื่องในมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือนจะได้รับสารแรคโตพามีนสูงกว่าประชากรกลุ่มทั่วไปมาก แต่การได้รับสัมผัสแรคโตพามีนทั้งในประชากรกลุ่มทั่วไปและประชากรกลุ่มเสี่ยงก็ยังน้อยกว่าค่าความปลอดภัยระดับปริมาณการเจือปนในอาหารที่รับได้ต่อวัน (Acceptable Daily Intake หรือ ADI) ซึ่งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยวัตถุเจือปนอาหารขององค์การอาหารและเกษตร และองค์การอนามัยโลก แห่งสหประชาชาติ (The Joint FAO/WHO Expert Committee on Food Additives, JECFA) ได้เสนอไว้ที่ 0-0.001 มิลลิกรัม/ กิโลกรัมน้ำหนักตัว/ วัน แต่หากประเมินในกรณีเลวร้ายที่สุด คือตามปริมาณสารตกค้างสูงสุดในเนื้อหมู เครื่องใน และก้อนเลือด จากที่รายงานที่ได้รับจากการทบทวนวรรณกรรม จะพบกว่าจะได้รับสัมผัสสารแรคโตพามีนเกินจากที่ JECFA เสนอไว้

นอกจากนี้หากพิจารณาความเสี่ยงสะสมของกลุ่มประชากรกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจและความดันโลหิต และเด็กเล็ก การได้รับสารแรคโตพามีนจากการบริโภคเนื้อสัตว์แม้ประเมินที่ระดับเฉลี่ยของการบริโภค ก็มีโอกาสเกิดอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตเกินกว่าระดับที่ยอมรับได้ โดยอ้างอิงจากการศึกษาแบบจำลองวิเคราะห์ความเสี่ยงสะสมเกี่ยวกับความผิดปกติของการทำหน้าที่ของหัวใจและหลอดเลือดของรัสเซีย มาเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า แม้จะได้รับสัมผัสแรคโตพามีนในระดับ MRL ของ Codex ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้นสูงเกินระดับที่รับได้ ทำให้อายุคาดเฉลี่ยของประชากรรัสเซียลดลง จากการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์จากการได้รับสารเร่งเนื้อแดงจากการบริโภคนั้นยังมียังคงมีข้อถกเถียง ที่อาจต้องการการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ในด้านผู้กำหนดนโยบาย สิ่งสำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ในปรับเปลี่ยนนโยบายหรือมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยด้านสุขภาพ คือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับประชากรกลุ่มต่างๆ ที่มีไม่เท่ากัน และจะทำอย่างไรให้ผู้บริโภคทุกคนมีสุขภาพที่ปลอดภัยไม่ด้อยลงไปกว่าเดิม

ในด้านผู้บริโภค ความเสี่ยงนั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการบริโภคของเราเองไม่น้อย ที่ผ่านมา การที่ไทยใช้มาตรการห้ามมิให้มีการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดงโดยเด็ดขาด อาจเรียกได้ว่าเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของผู้บริโภคในภาพรวมลง เพราะไม่ว่าผู้บริโภคจะมีพฤติกรรมการบริโภคอย่างไร มีโรคประจำตัวที่เพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นหรือไม่ ก็มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าปลอดภัยจากการตกค้างของสารเร่งเนื้อแดง

หากในอนาคตมาตรการอันเข้มงวดนี้จำเป็นต้องปรับลดลง เช่น ยอมให้มีการนำเข้าเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างได้ตามมาตรฐานสากล ผู้บริโภคเองคงต้องรับต้นทุนในการดูแลสุขภาพตนเองเพิ่มขึ้น อาจต้องยอมสลัดทิ้งความเคยชินเดิมๆ หันมาใส่ใจในการเลือกบริโภคให้ดีขึ้น หากต้องการมีสุขภาพที่ดี ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนี้ภาครัฐเองก็ควรมีบทบาทในการรับผิดชอบ ด้วยการให้ข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจ เช่น การติดฉลากแยกแยะเนื้อหมูปลอดภัยออกเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง หรือการตรวจสอบปริมาณสารตกค้างที่ได้มาตรฐานเชื่อถือได้

ผู้บริโภคในยุคใหม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนอยู่ตลอด การเป็นผู้บริโภคที่ตื่นตัวอยู่เสมอ ใช้ข้อมูลความรู้ในการตัดสินใจ และปรับพฤติกรรมการบริโภคไม่ให้เสี่ยงเกินไป คือพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้คุณมีสุขภาพที่ดี

คุณอาจต้องย้อนสำรวจตัวเองดูอีกครั้ง ก่อนตอบว่า ตัวคุณเองรับได้ไหมจริงไหม ถ้าเนื้อหมูที่คุณกินมีสารเร่งเนื้อแดง?

 

อ้างอิง

 

เชิงอรรถ

[1] ในประเทศไทย สารเร่งเนื้อแดง หรือสารกลุ่มเบต้าเบต้าอะโกนิสต์ ซึ่งรวมถึง แรคโตพามีนเป็นสารต้องห้าม โดยจัดเป็นสารเคมีอันตราย ห้ามไม่ให้มีการตกค้างในเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ที่ใช้ในการบริโภค ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 269 พ.ศ. 2546 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ ซึ่งกำหนดให้อาหารทุกชนิดต้องไม่ตรวจพบสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์และเกลือของสารกลุ่มนี้ รวมถึงสารในกระบวนการสร้างและทำลายสารดังกล่าว

อีกทั้งมีการควบคุมไม่ให้ใช้สารกลุ่มนี้ในอาหารเลี้ยงสัตว์ โดยมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด หรือลักษณะของอาหารสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าเพื่อขาย และการกำหนดชื่อ ประเภท ชนิด คุณสมบัติและส่วนประกอบของวัตถุดิบในอาหารสัตว์ พ.ศ.2545 ข้อที่ 3 ห้ามใช้ยา เภสัชเคมีภัณฑ์ และเภสัชเคมีภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปกลุ่มเบต้าอะโกนิสท์ เป็นวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ในการผลิตอาหารสัตว์ หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save