fbpx

เมื่อราษฎรจะยืนหลังตรงใน ‘วิกาลของลิงที่มาก่อน’

ข้าแต่พระราชา

ใช่ไหมว่าแท้จริงแสนปีก่อน

ข้าและท่านล้วนแล้วแต่วานร

กินสืบพันธุ์และหลับนอนไม่ต่างกัน

ข้าแต่พระราชา

กี่พันหมื่นผืนป่าแผ่นดินนั่น

กี่ผลหมากรากไม้เกินจำนรรจ์

ใครขีดเส้นกำหนดชั้นและครอบครอง

ข้าแต่พระราชา

จากเถื่อนถ้ำถึงทุ่งนาชนทั้งผอง

เราต่างลงจากต้นไม้ตามครรลอง

สู่เรือกสวนลำคลองกลายเป็นเมือง

(หน้า 41-42)

บทกวี ‘ข้าแต่พระราชา’ เป็นหนึ่งในบทกวีที่อยู่ในรวมบทกวีนิพนธ์ ‘วิกาลของลิงที่มาก่อน’ ของ รชา พรมภวังค์ กวีที่เคยมีผลงานตีพิมพ์มาแล้วสองเล่มคือ ‘พันธกาล’ (2557) และ ‘ย่ำรุ่งอันยาวนาน’ (2562) ผลงานกวีนิพนธ์ของเขามีส่วนที่เป็นการแสดง/สำแดงสภาวะภายในของตัวเองเมื่อต้องปะทะและเผชิญกับสิ่งเร้าภายนอกกับอีกส่วนที่เป็นการแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่อปรากฏการณ์ทางสังคมการเมืองที่เข้มข้น งานทั้งสองแบบนี้เป็นสิ่งที่ปะปนอยู่ในบทกวีแต่ละเล่มไม่ได้เป็นสิ่งที่แยกขาดออกจากกันดังนั้นเราจะได้เห็นถึงสภาวะของตัวรชาทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองอย่างเข้มข้นไปพร้อมๆ กัน

เมื่อเปิดอ่าน ‘ข้าแต่พระราชา’ เราจะได้ยินเสียงของประชาชนผู้ยากไร้กำลังกู่ก้องตะโกนอย่างกล้าหาญเพื่อร้องเรียกให้พระราชาได้ตระหนักถึงความเป็นคนเหมือนๆ กัน คนที่วิวัฒนาการมาจากลิง ลงมาจากต้นไม้เหมือนๆ กัน แต่ทำไมมีชีวิตที่แตกต่างกัน ทำไมลิงที่วิวัฒนาการแล้วตัวหนึ่ง พวกหนึ่ง จำนวนหนึ่ง ถึงมีอำนาจในการ ‘ขีดเส้นกำหนดชั้นและครอบครอง’ ทรัพยากร ดินแดน และกดขี่ขูดรีดเอาส่วนเกินลิงที่วิวัฒนาการแล้วเช่นกันไปอย่างหน้าตาเฉยและไม่รู้ร้อนรู้หนาวอะไร การกู่ก้องร้องเรียกดังกล่าวนี้เป็นได้ทั้งการเพรียกหามโนสำนึกของพระราชาและการแสดงให้เห็นถึงการไม่ยินยอมที่จะถูกกดขี่อีกต่อไปของประชาชน

แม้ดูเหมือนว่ามันจะเป็นการกู่เรียกอย่างเจียมเนื้อเจียมตนภายใต้คำว่า “ข้าแต่พระราชา” แต่มันมีนัยยะถึงการยอกย้อนว่าแม้กระทั่งการร้องเรียกหามโนสำนึกของพระราชาที่กดขี่ขูดรีดราษฎรอย่างเลือดเย็นความเป็นคนเหมือนกัน มีศักดิ์ศรีและวิวัฒนาการทางชีววิทยามาเท่าๆ กัน แต่ยังต้องเก็บพับไว้เพื่อแสดงความรู้จักที่ต่ำที่สูงด้วยหวังว่าจะทรงฟังเสียงประชาชนบ้าง — แต่ก็ไม่อาจฟังได้

สำหรับผมแล้วความน่าสนใจของกวีนิพนธ์บทนี้มันคือการยืนยันและตั้งคำถามว่าข้าแต่พระราชาเราและท่านไม่ต่างกัน — ใยจึงต่างกัน

บทกวีชิ้นนี้ก็ยังคงน่าสนใจต่อไปมากขึ้นไปอีกเมื่อเรา ‘อาจ’ เข้าใจได้ว่า ‘ข้าแต่พระราชา’ กำลังกล่าวถึงนิทานหลายๆ เรื่องที่มีพระราชาเป็นศูนย์กลาง รชาอาจกำลังนำเสนอให้เราเห็นว่าแท้จริงแล้วพระราชาในนิทานอาจไม่ใช่เทพเจ้าองค์ไหนบนสวรรค์อวตารลงมาเกิดบนโลกมนุษย์ แต่ก็คือลิงที่วิวัฒนาการมาเหมือนๆ กันนั่นเอง ดังนั้นศูนย์กลางของนิทานหลายๆ เรื่องควรจะเคลื่อนย้ายและเปลี่ยนจุดมาที่ราษฎรบ้าง เพราะนิทานบางเรื่องมันคือชีวิตของผู้คนธรรมดาสามัญนั่นเอง…

สำนึกทางชนชั้นและการกดขี่ขูดรีด

รชา พรมภวังค์เป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด ชื่อ รชานั้นเป็นนามปากกาที่เขาใช้ในการสร้างสรรค์งานวรรณกรรมส่วน ‘พรมภวังค์’ นั้นเป็นคำที่ วาด รวี เพื่อนของเขาตั้งเติมให้ จนกลายเป็นชื่อ รชา พรมภวังค์ ความสัมพันธ์ระหว่างรชากับวาด รวี นั้นพวกเขาสองคนเป็นเพื่อนที่รู้จักกันมายาวนาน ผมเข้าใจว่าทั้งคู่น่าจะไปเจอกันที่ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติเมื่อสมัยที่ยังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยอสัมชัญ จากคำนำของหนังสือเราจะเห็นได้ว่าวาด รวี มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดัน – คะยั้นคะยอแกมบังคับ – ให้รชาทำงานเขียนตลอดจนช่วยพิมพ์ผลงานรวมเล่มออกมาขาย ในบางเวทีเสวนาที่ผมเคยได้เจอวาด รวี เขาเคยพูดถึงรชาในฐานะนักเขียนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจและโดดเด่นอีกด้วย รชาเองก็ยอมรับเอาไว้ในคำนำว่า “คงไม่ใช่คำกล่าวที่เกินเลยหากบอกว่าตัวตนของ รชา พรมภวังค์ ที่เป็นคนเขียนบทกวี เป็นตัวตนที่ เป้ วาด รวีมีส่วนสร้างขึ้นมา” (หน้า 12-13)

ในบทสัมภาษณ์รชา พรมภวังค์ ในเว็ปไซต์สำนักพิมพ์ไชน์[1] เราจะได้เห็นตัวตนที่น่าสนใจของ รชา ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์บทกวีของเขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติและโลกทัศน์ที่เขามีต่อสังคมการเมือง รชากล่าวว่าตัวเขาเองได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเพื่อชีวิตทั้งเพลงและบทกวีอย่างมาก อิทธิพลจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และ 6 ตุลาคม 2519 มีส่วนสำคัญที่ผลักดันให้เขาเข้าไปอยู่ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติ เขากล่าวว่าในวันเด็กของเขานั้น

โตมากับบ้านที่เป็นแนวร่วมฝ่ายซ้าย ไม่เชิงปลูกฝังนะ มันจะมีวิธีคิดเรื่องความไม่ยุติธรรมบางอย่างอยู่ อย่างเช่น พาไปดูหนังจีนที่มีคนยากจนถูกนายทุนขูดรีด หรือเอาการ์ตูนมาให้อ่าน พวกครูสอนภาษาจีนที่เป็นพวกพรรคคอมมิวนิสต์เอาซำเหมามาให้อ่าน มันจะมีวิธีคิดเกี่ยวกับเรื่องว่า นายทุนเป็นปิศาจร้าย หรือคนยากจนถูกเอาเปรียบกดขี่ขูดรีด อุทิศชีวิตต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีกว่า มีแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์แบบการต่อสู้ทางชนชั้นอยู่บ้าง เพราะตอนเด็กๆ ญาติพี่น้องเข้าป่าเป็นแนวร่วมกันเยอะ[2]

‘หนักหลัง’ เป็นบทกวี่ที่ผมชอบมากที่สุดบทหนึ่งใน ‘วิกาลของลิงที่มาก่อน’ เล่มนี้ บทกวีชินนี้พูดถึงความรู้สึกของคนที่ต้อง ‘แบก’ รับทั้งความยากจนและ ‘ชนชั้นฟ้า’ อยู่ตลอดเวลา ประเด็นที่น่าสนใจของบทกวีชิ้นนี้คือนอกจากการพูดถึงอารมณ์และความรู้สึกของคนยากไร้หรือประชาชนผู้ต่ำต้อยในการ ‘แบก’ สิ่งต่างๆ เอาไว้แล้วในแง่หนึ่งมันคือการโต้กลับคำพูดที่ว่า ‘หนักแผ่นดิน’ ที่ชนชั้นสูงและบริวารภายใต้การปกครองเอาไว้ใช้ในการเรียก/ด่า/กล่าวหากลุ่มคนที่พวกเขาเชื่อว่าไม่มีความสำนึกในบุญคุณของแผ่นดินอยู่ไปก็หนักแผ่นดิน… อยู่บ้านนี้เมืองนี้จะคนดีได้ก็ต้องสำนึกในบุญคุณ เราล้วนเป็นหนี้บุญคุณ ‘ชนชั้นฟ้า’ กันทั้งนั้น

ในบทกวีแรก รชากล่าวว่า “ดินคือดินรองรับตีนที่ยืนอยู่ หนักไม่หนักมันไม่รู้ไม่เคยสน” ผมคิดว่าบทนี้เป็นการโต้กลับได้อย่างน่าสนใจ เพราะดินเป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิต ไม่มีความรู้สึก เป็นสิ่งที่ ‘อยู่ใต้ตีน’ เพราะต้อง ‘รองรับตีนที่ยืนอยู่’ แต่คนจำนวนหนึ่งที่ชี้หน้าด่าว่าคนอื่นหนักแผ่นดินนั้นเป็นคนแท้ๆ ที่มีความรู้สึกมีความคิดแต่กลับอยากเป็นดิน แม้ดินในความเห็นของรชานั้นจะไม่มีความรู้สึก “หนักไม่หนักมนไม่รู้ไม่เคยสน” แต่คนจำพวกนั้นอยากเป็นดินที่มีความรู้สึกว่าอะไรหนักและไม่หนัก และมีความภูมิอกภูมิใจที่จะได้ ‘รองรับตีน’ ที่พวกเขาเห็นว่าไม่หนัก ความหนักเช่นนี้สำหรับผมแล้วล้วนเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงสภาวะบ้านเมืองที่น่าหนักอกหนักใจจริงๆ

ความหนักที่รชาพยายามนำเสนอก็คือความหนักที่เกิดจากการ ‘แบก’ ความยากจนและชนชั้นฟ้าที่ชอบทวงบุญคุณคนแบกอยู่เสมอ ในบทนี้มีคำว่าแบกอยู่ทั้งหมดอยู่ห้าแห่ง คำว่าแบกแต่ละแห่งเป็นการตอกย้ำซ้ำๆ ให้เห็นและรู้สึกถึงความหนักหนาสาหัสที่อยู่บนหลังของประชาชนผู้ยากไร้ในบ้านเมืองนี้ ในแง่หนึ่งมันคือกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่น่าสนใจ แม้เราจะเห็นว่าการปรากฏตัวของคำว่าแบกเพียงห้าแห่งนี้อาจไม่ได้การันตีอย่างชัดเจนว่าจะช่วยสร้างภาพที่กวีต้องการนำเสนอให้เด่นชัดขึ้น แต่สิ่งที่รชาทำก็คือการทำให้คำว่าแบกปรากฏร่วมกับคำอื่นๆ เพื่อช่วยให้จินตภาพและความรู้สึกที่หนักหนาสาหัสของประชาชนมีความแจ่มชัดขึ้น เช่นคำว่า ‘หนัก’ ‘หลัง’ และขยายคำเหล่านี้ด้วยคำว่า ‘แทบพัง’ ‘แทบคลาน’ ทำให้ความรู้สึกหนักของประชาชนมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นและยังแสดงให้เห็นอีกว่าบรรดา ‘ภาระประชาชน’ ทั้งหลายนั้นสร้างความยากลำบากยากเข็ญอย่างไร

นอกจากเป็นการป่าวประกาศให้ทราบว่าประชาชนผู้ยากไร้นั้นรู้สึกอย่างไรแล้ว บทกวีชิ้นนี้ยังเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ผู้ที่อยู่บนหลังประชาชนมาตลอดนั่นคือ “ทั้งเวียงนาวังคลังล้วนพุงปลิ้น  สุขอยู่บนหลังเราจนชาชิน แกล้งไม่รู้ไม่ได้ยินเสียงครวญคราง” (หน้า 21) ตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้น หลังของประชาชนคือผืนนาอันไพศาลของชนชั้นปกครองและชนชั้นนำที่พวกเขาเอาไว้ใช้ในการแสวงหาประโยชน์มาอย่างยาวนานและปันผลประโยชน์กลับคืนสู่ประชาชนเพียงหยิบมือและที่สำคัญการปันประโยชน์ดังกล่าวยังอยู่ในรูปแบบของ ‘บุญคุณ’ อีกด้วย และ

พอเราทำหลังตรงไม่ทนแบก

ฮึ่มฮั่มเขี้ยวแยกมองตาขวาง

อ้างแผ่นดินมีคุณห้ามเราวาง

ต้องแบกมันขึ้นค้างบนหลังเรา

(หน้า 21)

ประชาชนผู้ยากไร้คือศูนย์กลางของกวีนิพนธ์ของรชา และสิ่งที่ตรงกันข้ามกันก็คือชนชั้นปกครองและชนชั้นนำ ในบท ‘เราและคุณ’ รชาแสดงให้เห็นคู่สภาวะภายในจิตใจของชนชั้นปกครองและชนชั้นนำได้อย่างน่าสนใจ

ความเห็นของคุณแจ่มชัด แต่มันแห้งแล้ง

ความรักของคุณสูงส่ง แต่มันเย็นชา

จิตใจของคุณสะอาด แต่มันว่างเปล่า

เกียรติยศของคุณล้ำค่า แต่มันเงียบงัน

(หน้า 22)

คู่ต่างภายในจิตใจของ ‘คุณ’ ซึ่งน่าจะหมายถึงชนชั้นปกครองและชนชั้นนำนั้น เราจะเห็นว่า มีทั้งความเห็นที่แจ่มชัด ความรักที่สูงส่ง จิตใจที่สะอาด เกียรติยศที่ล้ำค่า แต่มันถูกเปรียบต่างว่าความเห็นที่แจ่มชัดนั้นแห้งแล้ง เพราะเป็นความเห็นที่เห็นแก่ตัว ไม่มีน้ำใจ ไม่มีเมตตาต่อคนอื่น ความสูงส่งในความรักนั้นเย็นชาเพราะท้ายที่สุดแล้วความรักที่เย็นชาคือความรักที่เรียกร้องให้คนอื่นรักตนแต่เพียงผู้เดียว จิตใจที่สะอาดแต่ว่างเปล่านั้นเพราะพวกเขาเห็นแต่ตัวเองมันจึงมีแต่ความว่างเปล่า เกียรติยศที่ล้ำค่าแต่เงียบงันนั้นเป็นเพราะมันไม่อาจทำให้คนอื่นได้ตระหนักถึงเกียรติยศนั้นๆ ได้เลย

ในขณะเดียวกัน ‘เรา’ ในบทกวีชิ้นนี้เป็นการพูดถึง ‘เรา’ ในฐานะ คนยากไร้ที่ถูกกดขี่ขูดรีด

ความคิดเราอึงอล

เราส่งเสียง

เราหิวโหย ดิ้นรนและปรารถนา

เราชุ่มฉ่ำ เปรอะเปื้อน

เราต่างหากที่ถูกจดจำ

(หน้า 22)

ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดในการเปรียบต่างระหว่าง ‘เราและคุณ’ ก็คือ ในขณะที่ ‘คุณ’ (ชนชั้นปกครอง/ชนชั้นนำ) นั้นอยู่ในภาวะแช่แข็งและปราศจากความเคลื่อนไหวไร้ชีวิตชีวา แต่สำหรับผู้ยากไร้หรือ ‘เรา’ นั้นเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพราะมีแต่ผู้ที่ต่อสู้ดิ้นรนเท่านั้นที่จะเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้นำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ความยากลำบากในชีวิตเป็นพลังที่ขับเคลื่อน ‘เรา’ และเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา รชาเสนอว่าในท้ายที่สุดแล้ว การต่อสู้เคลื่อนไหวของคนยากไร้จะนำไปสู่การถูกจดจำในขณะที่ ‘คุณ’ นั้นจะค่อยๆ ล้มหายตายจากไปและถูกตัวหนอนแทะซากศพ ‘เราอยู่มาตลอด คุณต่างหากที่จะถูกลืม” (หน้า 22) ในอีกแง่หนึ่งเราอาจกล่าวได้เช่นกันว่าบทกวีของรชานั้นเป็นสิ่งที่พยายามจะปลุกเร้าการเคลื่อนไหวต่อสู้ของคนยากไร้ที่ยิ่งนับวันจะกลายเป็นสิ่งที่ถูกจดจำและถูกตระหนักว่าในฐานะชีวิตที่ไม่หยุดนิ่งมีพัฒนาการมาตลอดประวัติศาสตร์ ตรงกันข้ามกับชนชั้นนำที่เดินเข้าไปสู่ภาวะการเป็นผีดิบที่เย็นชา

บทกวีส่วนส่วนมากใน ‘วิกาลของลิงที่มาก่อน’ นั้นอยู่ในอารมณ์เช่นนี้ สิ่งที่ผมสนใจก็คือแม้ว่าจะเป็นบทกวีที่พูดถึงสังคมการเมือง แต่รชาไม่ได้พูดถึงเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยความโกรธเกรี้ยว แม้ว่าเราจะเห็นน้ำเสียงในชางช่วงของบทกวีหลายชิ้นในเล่มแสดงความไม่พอใจต่อสภาพสังคมที่เป็นอยู่ รชาพยายามจับอารมณ์ของเหตุการณ์ประสานเข้ากับอารมณ์ของตัวเองอย่างสุขุมและนำเสนอออกมาผ่านคำที่ง่ายๆ ที่สื่อสารได้เป็นวงกว้าง ดังนั้นเราจึงไม่เห็นความหวือหวาของถ้อยคำและอารมณ์ความรู้สึก แต่บทกวีของรชากลับชวนให้เราคิดคำนึงถึงเหตุบ้านการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อผู้คน และผู้คนในบทกวีของรชาคือประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ซึ่งต้องแบกอะไรต่อมิอะไรที่ไม่จำเป็นเอาไว้จนหนักหลังดังเช่นบทกวีดังที่กล่าวไว้ข้างต้นนั่นเอง

ยุคสมัยแห่งการไม่ยอมจำนน

บทกวีของรชา พรมภวังค์นั้นโดยมากเป็นบทกวีที่เขียนขึ้นจากอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์บ้านเมืองและสภาวะอันตึงเครียดที่เกิดขึ้นเนื่องมาจากปัญหาการเมือง ผมคิดว่ากวีนิพนธ์ที่มีสำนึกทางสังคมการเมืองมักจะมีลักษณะของงานเป็นแบบนี้ แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกประทับใจงานของรชา ก็คือการสะท้อนความรู้สึกของการไม่ยอมจำนนผ่านบทกวี ความรู้สึกที่ไม่ยอมพ่ายแพ้

ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจในปรากฏการณ์ของกวีนิพนธ์ร่วมสมัย การสะท้อนความรู้สึกของกวีเป็นสิ่งที่อาจพิจารณาได้ทั้งในฐานะที่เป็นความรู้สึกของปัจเจกบุคคลและความรู้สึกของยุคสมัยด้วยเช่นกัน เพราะในแง่หนึ่งกวีนิพนธ์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กวีนิพนธ์การเมืองคือการจับเอาความรู้สึกร่วมของผู้คนที่มีต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในสังคมมาใส่อารมณ์ความรู้สึกถ่ายถ้อยออกมาให้กระทบใจผู้คนที่ได้อ่าน ได้ฟัง กวีนิพนธ์หลายเรื่องของรชาที่รวมอยู่ใน ‘วิกาลของลิงที่มาก่อน’ นั้นหลายบทก็ใช้ในการอ่านในกิจกรรมทางการเมืองด้วย ดังนั้นมันจำเป็นอย่างที่จะต้องจับอารมณ์ความรู้สึกร่วมของผู้คนมาถักถ้อยร้อยความเป็นบทกวี กวีนิพนธ์ของ รชา พรมภวังค์หลายชิ้นจึงเป็นการสะท้อนความรู้สึกของการไม่ยอมจำนนต่อชนชั้นปกครองและชนชั้นนำอีกต่อไป

ในบทกวี ‘คือหมุดที่ตอกขึ้นบนฟ้า’ รชากล่าวถึงกรณีที่หมุดคณะราษฎรถูกถอดออกและแทนที่ด้วยหมุด ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ ส่วนหมุดเดิมของคณะราษฎรก็เป็นเช่นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ ที่ชนชั้นนำไม่ปรารถนาจะให้ดำรงอยู่ด้วยหลายเหตุผลนั่นคือหายไปอย่างไร้ร่องรอย

หมุดคณะราษฎรนั้นมีความสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่อย่างแน่นอน มันคือจุดที่พระยาพหลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ของประเทศชาติในระบอบใหม่และถือเป็นจุดจบของระบอบเก่า แม้กระนั้นการต่อสู้ระหว่างระบอบใหม่กับระบอบเก่าก็เป็นอย่างเข้มข้นตลอดมา ไม่ว่าใครจะแพ้หรือชนะ หมุดคณะราษฎรก็ถือเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในฐานะหมุดหมายสำคัญอย่างหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงประเทศ การถอดหมุดคณะราษฎรออกจึงเป็นการถอดรื้อความทรงจำและหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างน่าไม่อาย ต่อกรณีนี้ รชา กล่าวไว้ในบทกวีว่า

เขาเอาไปได้แค่สัญลักษณ์

แต่ความจริงปักหลักอยู่ทุกหน

ประวัติศาสตร์คือกงล้อที่หมุนวน

มุ่งไปวันที่คนจะลุกยืน

(หน้า 56)

ผมเห็นว่าการที่รชามองว่าหมุดคณะราษฎรเป็น ‘แค่สัญลักษณ์’ นั้นอาจจะเป็นการประเมินสถานะทางประวัติศาสตร์ของหมุดคณะราษฎรผิดไปหรืออาจจะไม่ตรงกัน เพราะหมุดคณะราษฎรเป็นหลักฐานที่เป็นรูปธรรมของเหตุการณ์ในอดีต การรื้อหมุดออกจึงเป็นความพยายามในการไล่รื้อถอนความทรงจำยุคประชาธิปไตยออกให้หมดแล้วแทนที่ด้วยความทรงจำแบบราชาชาตินิยม ในระยะยาวอาจไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก แม้กระนั้นสิ่งที่น่าสนใจกว่าในกวีบทนี้ก็คือสองวรรคสุดท้าย “ประวัติศาสตร์คือกงล้อที่หมุนวน มุ่งไปสู่วันที่คนจะลุกยืน” ผมคิดว่านี่คือการส่งสารที่รุนแรงไปยังคณะผู้ที่ถอดถอนความทรงจำยุคประชาธิปไตยออกไป เพราะในสองวรรคนี้ผมเข้าใจว่าเป็นวรรคที่ขบวนการฝ่ายซ้ายในสังคมไทยยุค 6 ตุลาคม 2519 รณรงค์อย่างหนักภายใต้ประโยคที่ “กงล้อประวัติศาสตร์จะบดขยี้ศักดินา”

บทต่อมา รชาดัดแปลงถ้อยความในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 มาเป็นบทกวีของตนเองว่า

ราษฎรทั้งหลายพึงรู้ไว้

แผ่นดินนี้เป็นของไพร่จงลุกตื่น

โค่นนิทานหลอกลวงให้พังครืน

สายน้ำไม่อาจฝืนวันเวลา

(หน้า 56)

แม้จะดูเป็นการนำเสนอที่เรียบง่าย แต่เมื่อบทกวีชิ้นนี้ถูกเผยแพร่ในวันที่ 24 มิถุนายน 2563 มันมีความสัมพันธ์ในด้านมิติเวลาที่น่าสนใจอย่างยิ่ง แม้บทกวีชิ้นนี้อาจไม่ได้เป็นการอ่านในลักษณะของการ performance ที่บริเวณหมุดแต่การเผยแพร่ในวันสำคัญวันเดียวกันก็ทำให้บทกวีชิ้นนี้มีพลังในการสื่อสารมากขึ้นไปอีก

ในบท ‘ข้าแต่พระราชา’ ที่ผมได้อภิปรายเอาไว้ในตอนต้นยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ผมสนใจมากๆ ก็คือ

ข้าแต่พระราชา

ราษฎรต่างดาราในคืนค่ำ

แม้นพระองค์หลับตาให้มืดดำ

ยังปรากฏในเงียบงำทุกค่ำไป

(หน้า 43)

ดังที่ผมกล่าวไว้ในข้างต้นว่าบทกวีชิ้นนี้ “กู่ก้องตะโกนอย่างกล้าหาญ” ต่อพระราชาที่กดขี่ขูดรีดราษฎรของเขา การใช้ความเปรียบราษฎรว่าคือดวงดาวบนท้องฟ้าในยามค่ำคืนนั้นแสดงให้เห็นว่า ราษฎรนั้นมีจำนวนมากและเป็นประกายระยิบระยับทำให้ท้องฟ้าในยามค่ำคืนสวยสง่ามีความหมาย ดังนั้นราษฎรคือความสง่างามคือประกายที่ย่นย่อท้อต่อความมืดมิดใดๆ ก็ตาม และไม่ว่าพระราชาจะหลับตาลงหรือทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นว่าได้กดขี่ขูดรีดราษฎรอย่างเลือดเย็นขนาดไหน ราษฎรก็ยังคงเปล่งประกายอยู่บนท้องฟ้า สำหรับราษฎรด้วยกันแล้วมันอาจเป็นความงดงามที่ยังคงยืนหยัดเปล่งประกายท่ามกลางความมืดมิด แต่สำหรับพระราชาดวงดาราบนท้องฟ้าที่ทรงแสร้งทำเป็นไม่เห็นนั้นอาจเป็นสิ่งที่ตามหลอกหลอนและไม่อาจเปลี่ยนเป็นอื่นได้

ส่งท้าย

ในบทกวี ‘ขัดราชประสงค์’ เป็นบทกวีอีกชิ้นทีทรงพลังใน ‘วิกาลของลิงที่มาก่อน’ และผมคิดว่าอาจไม่จำเป็นต้องอธิบายใดๆ เพิ่มเติมนั่นเป็นเพราะบทกวีของรชานั้นเรียบง่าย ทรงพลัง ชัดเจน บทกวีของรชาจะค่อยๆ เขย่าอารมณ์ความรู้สึกของผู้อ่านทีละน้อย ไม่หวือหวา แต่มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา ดังเช่นในบทกวี ‘ขัดราชประสงค์’

หากราชประสงค์ให้ลงกราบ

ขอยืนยันให้ทราบว่าเราไม่

ถึงสี่แยกก็เดินแยกแตกทางไป

ศักดินาหรือไม่ใครอยู่ยง

ราษฎรประชาชนคนสามัญ

ขออนุญาตดึงดันขัดราชประสงค์

อุดมการณ์คนเท่าเทียมขอปักธง!

ต่อจากนี้จะยืนตรงนิรันดร

(หน้า 83)


[1] https://shinepublishinghouse.blogspot.com/2020/05/blog-post.html

[2] เรื่องเดียวกัน

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save