fbpx
เมื่อเควียร์ละหมาด พระเจ้าไม่ยอมรับ

เมื่อเควียร์ละหมาด พระเจ้าไม่ยอมรับ

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

ท่ามกลางเสียงอาซานอันไพเราะชวนฝันใฝ่ถึงสันติภาพ อาจมีเสียงระเบิดและปืนแทรกมาเป็นระยะ นี่เป็นภาพคอนทราสต์แห่งความจริงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

แล้วท่ามกลางมิตรภาพความสัมพันธ์ของชาวมุสลิม ความรักบริสุทธิ์แบบหญิงชาย และการแสดงออกถึงตัวตนทางเพศตามขนบล่ะ อะไรคือภาพตรงข้ามที่ยังไม่ถูกเปิดเผย

‘Otherwise Inside เป็นเช่นอื่น อยู่ภายใน’ นิทรรศการภาพถ่ายของ สมัคร์ กอเซ็ม ศิลปินช่างภาพและนักมานุษยวิทยา อาจช่วยคลี่คลายความรู้สึกเหล่านี้

สมัคร์เกิดที่กรุงเทพฯ แต่ครอบครัวปัจจุบันอยู่ที่ระยอง เติบโตและร่ำเรียนในโรงเรียนปอเนาะย่านนนทบุรี ที่นี่ทำให้วัยเด็กของเขาได้คลุกคลีกับเพื่อนชายมุสลิมมลายูจำนวนมากที่ย้ายมาจากพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ก่อนจะพาตัวเองไปเรียนระดับปริญญาตรีและโทที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้านมานุษยวิทยา

เมื่อเควียร์ละหมาด พระเจ้าไม่ยอมรับ สมัคร์ กอเซ็ม
สมัคร์ กอเซ็ม

เขาเล่าย้อนไปในวัยเด็กของตัวเองเพื่ออธิบายที่มาของงานภาพถ่ายครั้งนี้ว่า สมัยที่เรียนหนังสือในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม หรือที่เรียกว่าปอเนาะ เขามักถูกล้อเลียนอยู่เสมอว่าเป็น ‘ปอแน’ (ในภาษามลายู) หรือ ‘กะเทย’ (ในภาษาไทยซึ่งเป็นคำเรียกที่ค่อนข้างแย่สำหรับเกย์หรือกับบุคคลข้ามเพศ

“ผมเคยมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อวาลัด ที่ต่างก็ต้องเผชิญกับการใช้คำพูดล้อเลียนสารพัด แต่เธอเป็นคนที่กล้าแสดงอัตลักษณ์กะเทยของตัวเอง ถึงแม้ว่าเธอจะแต่งสาวไปเที่ยวบาร์ แต่เธอกลับยังคงถือการปฏิบัติทางศาสนาอย่างเคร่งครัดตามที่พ่อแม่ขอร้องไว้ ดังนั้นเธอจึงยังเป็นในสิ่งที่เธอต้องการเป็นได้ วาลัดละหมาดครบห้าเวลาต่อวัน เธอสวมชุดมุสลิมแบบอาหรับเวลาไปมัสยิด แล้วค่อยกลับมาเปลี่ยนชุดไปเที่ยว ใส่รองเท้าส้นสูงและกระโปรงสั้นลายเสือ”

สมัคร์มองว่า ผู้คนที่โรงเรียนมักจะพูดกันอยู่เสมอถึงความผิดปกติ ผิดเพศ พระเจ้าจึงไม่เคยยอมรับการละหมาดของพวกเขา

“แต่พอตกดึก คนพวกนั้นก็ยังมาสะกิดเพื่อให้มาช่วยระบายความใคร่ของพวกเขาด้วย และคงคิดว่าการจะไปทำอะไรเพื่อนนักเรียนหญิงจะเป็นบาปเกินไป ก็เลยต้องหันมาเล่นกับน้องๆ ผู้ชายแทน การถึงเนื้อถึงตัวบางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นการล่วงละเมิดหรือเปล่า แต่ในสายตาพวกเขามักคิดกันไปเองว่าไม่เป็นไร”

เควียร์ ละหมาด พระเจ้า

เควียร์ ละหมาด พระเจ้า
ภาพโดย สมัคร์ กอเซ็ม

ความท้าทายของการพูดถึงความหลากหลายทางเพศในสังคมมุสลิมที่สมัคร์เห็น คือ แม้แต่คนที่คิดว่ามีความเปิดกว้างหรือก้าวหน้าในประเด็นการเมือง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน แต่พอลองโยนเรื่องเพศสภาพเข้าไปในวงถกเถียง เราจะเห็นอาการกระอึกกระอักของพวกเขาทันที

เขาคิดว่าไม่ใช่คนเหล่านั้นไม่ยอมรับเพราะใจแคบ แต่เพราะสังคมมุสลิมไม่เคยพูดเรื่องนี้กันอย่างเปิดเผย และเพราะไม่เคยได้รับการพูดถึงอย่างเปิดเผย มันจึงไม่เคยมีการพยายามหาทางออกร่วมกันว่ามุสลิมกับความหลากหลายทางเพศจะอยู่ด้วยกันอย่างไร จะเคารพซึ่งกันและกันได้อย่างไร

“ความเป็นเควียร์ในสังคมมุสลิมซับซ้อนและบั่นทอนมาก บางครั้งผมรู้สึกว่าถ้าคุณเป็นคนพุทธ คุณอาจมีวิธีการดีลกับตัวเองหรือสังคมให้ถูกยอมรับได้ และคงไม่มีใครมาชี้ว่าคุณบาป แต่การเป็นเควียร์มุสลิม นอกจากคำพิพากษาแล้ว หลายคนเขายังต้องอยู่กับชีวิตจริง เช่น ถ้าเป็นผู้ชาย ครอบครัวของคุณจะเรียกร้องให้คุณแต่งงานและมีลูก และต้องพยายามกดข่มอารมณ์ตัวเองไว้ คุณไม่อาจตุ้งติ้งเมื่ออยู่กับครอบครัวได้”

หลายครั้ง แม้สมัคร์รู้สึกว่าอยากใช้ชีวิตอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้เพราะเป็นสังคมในอุดมคติ เพราะง่ายในการใช้ชีวิตทั่วไป ถึงเวลาละหมาดก็ไปละหมาด จะกินอะไรก็มีอาหารฮาลาลกินได้ แต่ในทางกลับกัน เขาอธิบายว่าความง่ายนี้ก็ยากสำหรับมุสลิมที่มีความหลากหลายทางเพศ

“คนที่แปลงเพศ เสริมหน้าอก ก็อาจจะต้องไปอยู่ที่อื่น เพราะผมเองก็ไม่เคยเห็นคนที่แปลงเพศแล้วอยู่ใน จังหวัดชายแดนใต้ได้ ผมเคยคุยกับบางคน เขาเป็นหมอและเป็นเกย์ สุดท้ายเขาก็หนีไปจากการเป็นอิสลาม คือเขาไม่เอาแล้ว เขาคิดว่าจะสบายใจกว่าในการได้เป็นตัวของตัวเองอย่างเต็มที่”

นอกจากประสบการณ์ตรง สมัคร์ยังตกผลึกว่า เมื่อเขาถูกถามว่าต้องการอะไร จะเรียกร้องให้ศาสนายอมรับอย่างนั้นหรือ เขากลับรู้สึกว่าคำถามเหล่านี้ก็เป็นคำถามที่มาจากกรอบศาสนาอยู่ดี

“ผมแค่สะท้อนให้เห็นว่าในวัฒนธรรมที่มักเคร่งศาสนานั้น ยังมีความย้อนแย้งซุกซ่อนอยู่อย่างไม่มิดชิด และในทางหนึ่งมุสลิมก็รู้อยู่แก่ใจว่า ถึงที่สุดแล้วเราไม่มีหน้าที่ไปตัดสินพิพากษาใคร เพราะเราล้วนรู้อยู่แก่ใจว่าทั้งหมดขึ้นอยู่กับพระเจ้า”

เควียร์ ละหมาด พระเจ้า

เควียร์ ละหมาด พระเจ้า

ก่อนจะมีนิทรรศการนี้ สมัคร์ค่อยๆ เริ่มสร้างและสะสมผลงานตัวเองไว้ในชื่อ ‘ปอแนใต้ปอเนาะ’ ซึ่งเป็นชุดภาพถ่ายที่มาจากงานวิจัยภาคสนามทางมานุษยวิทยาในช่วงปี 2560 เพื่อพยายามทำความเข้าใจถึงความเป็นเควียร์ในสังคมมุสลิมสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับเพศสภาพที่หลากหลาย สมัคร์เห็นถึงข้อจำกัดและถูกมองว่าเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนที่จะนำเอามาพูดคุย รวมถึงเกย์มุสลิมที่ไม่สามารถเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองได้ ภาพถ่ายชุดนี้จึงเน้นเรื่องของตัวตนและการนำเสนอภาพแทนของการเป็นเกย์ท่ามกลางบริบทของอิสลามกระแสนิยมในพื้นที่ด้วย

“ภาพถ่ายของผมยังคงเน้นถึงการปฏิบัติของนักเรียนมุสลิมชายที่ ‘เล่นเพื่อน’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้อธิบายกิจกรรมทางเพศเดียวกันในกลุ่มเพื่อน ที่พวกเขามองว่าไม่ได้แสดงถึงการเป็นเกย์ แต่ขณะเดียวกันพวกเขาสร้างความรู้สึกถึงความเป็นพี่น้องกัน มุสลิมชายวัยรุ่นหลายๆ คนจึงมีมุมมองต่อการตีความการปฏิบัติของศาสนาที่เกี่ยวข้องกับร่างกายที่ทำให้พวกเขารู้สึกผิดน้อยลง เมื่อมาเกี่ยวข้องแรงปรารถนาทางเพศของพวกเขา”

ตรงนี้เองที่สมัคร์เลือกใช้ภาพถ่ายสะท้อนถึงการนิยามอันคลุมเครือของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ชายด้วยกัน ภายในกรอบที่เกิดขึ้นในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม และมากไปกว่าการเปิดเผยร่องรอยแห่งความเป็นจริงที่มีอยู่ งานภาพชุดนี้ยังมีส่วนสำคัญต่อการรื้อฟื้นเอาความทรงจำทางเพศขึ้นมา เพื่อตอบคำถามประเด็นเรื่องรักร่วมเพศในศาสนาอิสลาม การตีตราบาป การสำนึกผิด การกดทับอารมณ์ความใคร่ และการสูญเสียตัวตนจากการถูกนิยามทางศาสนา โดยเฉพาะเรื่องร่างกายและเพศสภาพ

“ยิ่งวิธีการที่ศาสนาเข้ามาจัดการกับร่างกายและเพศสภาพ จากการตีความจากตัวบทหลักการ ทั้งจากในคัมภีร์และคำสอนอิสลาม ท้ายที่สุดเขามองว่าเขาก็กลายเป็นเพียงพวกผิดเพศที่ถูกสาปแช่ง”

สมัคร์ยังยกตัวอย่างคลิปวิดีโอเรื่อง ‘The Day I Became’ ที่ปรากฏในนิทรรศการนี้ว่า ช่วงปลายปี 2560 ระหว่างที่รอคิวในร้านตัดผมชายบนถนนใกล้มหาวิทยาลัยในปัตตานี เขาเห็นหญิงสาวมุสลิมใส่ผ้าคลุมผมสีขาวมิดชิดสองคนขี่รถมอเตอร์ไซค์เข้ามาจอดอยู่หน้าร้านนานสองนาน จนกระทั่งทราบว่าหญิงสาวสองคนมาขอให้ช่างตัดผมช่วยตัดผมรองทรงแบบผู้ชายให้ แต่ช่างตัดผมแสดงความอึดอัดใจ เพราะไม่ค่อยตัดผมผู้หญิง แต่ก็เข้าใจว่าหญิงสาวสองคนนี้คงไม่มีทางเลือก

“เธอเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่เคยเป็นหญิง และย้ายออกมากจากเมืองยะลาบ้านเกิดเพื่อมาทำงานที่กรุงเทพฯ การย้ายออกของเธอไม่ใช่เพียงเพราะความอึดอัดจากเพศวิถีของตัวเองที่ถูกตัดสินว่าเป็นบาปเท่านั้น และไม่ได้เพื่อการแสวงหาพื้นที่สบายใจของตัวเองด้วย แต่เธอยังคงต่อสู้กับตนเอง กรอบของศาสนา สังคมและครอบครัว การตัดผมของเธอจึงเป็นเหมือนกระบวนการเปลี่ยนผ่านของตัวเองไปสู่ความเป็นอดีตมุสลิม”

The Day I Became โดย สมัคร์ กอเซ็ม และปฏิภาณ บุณฑริก
ผลงาน The Day I Became โดย สมัคร์ กอเซ็ม และปฏิภาณ บุณฑริก ความยาว 33:20 นาที

สำหรับสมัคร์ เขาเลือกจะเป็นมุสลิมด้วยความสบายใจไม่แปรเปลี่ยน อย่างน้อยก็จากการที่เขาเห็นว่า ถ้ามองมาจากสายตาของพระเจ้า ทุกคนคือมนุษย์เสมอภาคกัน

แต่ท่ามกลางการจดจ้องและพิพากษาที่ถาโถมเข้ามา ภาพถ่ายของสมัคร์เหมือนสะท้อนกลับมาว่า เบื้องหลังดวงตาหลายคู่เหล่านั้น ก็พยายามปกปิดความจริงที่ไม่มิดชิดอยู่เช่นกัน

หมายเหตุ-นิทรรศการจัดแสดงที่ WTF Gallery Bangkok (สุขุมวิท 51) ระหว่างวันที่ 19 กรกฎาคม – 16 สิงหาคม 2561

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save