fbpx

ตั้งแต่สิทธิมนุษยชนจนถึงธงสีรุ้ง มหากาพย์ดราม่า ณ กรุงกาตาร์ใน World Cup 2022

การแข่งขันฟุตบอลโลก ครั้งที่ 22 เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการที่กรุงกาตาร์ และปฏิเสธไม่ได้ว่ามันมาพร้อมข่าวคราวชวนกังขามหาศาล นับตั้งแต่กลิ่นอายการทุจริตที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2011 สมัยประมูลเพื่อให้ได้สิทธิในการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ไล่เรื่อยมาจนถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในวาระที่อีกไม่กี่อึดใจหลังจากนี้ โลกจะเคลื่อนตัวเข้าสู่มหกรรมกีฬาครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งอย่างเวิลด์คัพ เราจึงชวนมาสำรวจข้อพิพาทที่อาจเป็นเรื่องใหม่ทั้งในมุมของกาตาร์และในมุมของโลกฟุตบอลเอง

ตำนานใต้โต๊ะ

กล่าวอย่างย่นย่อ นี่เป็นการจัดการแข่งฟุตบอลโลกครั้งแรกในประเทศอาหรับ (และเป็นครั้งที่สองในทวีปเอเชียหลังจากจัดงานที่เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นปี 2002) กับข้อครหาที่มีมาตั้งแต่ปี 2010 สมัยต้องโหวตเลือกว่าใครจะได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานเวิลด์คัพลำดับต่อๆ ไป ประเทศที่ชิงดำในการถือสิทธิจัดการแข่งขันปี 2022 คือสหรัฐอเมริกากับกาตาร์ ซึ่งฝ่ายแรกนั้นถูกมองว่ามีความพร้อมมากกว่าเมื่อเคยถือสิทธิเป็นเจ้าภาพมาแล้วในปี 1994 หากแต่สหรัฐฯ ก็พ่ายให้แก่กาตาร์ด้วยคะแนนเสียงโหวต 14 ต่อ 8 ที่ถือว่าห่างกันขาดลอย

มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสของประเด็นนี้ โดยเชื่อกันว่า โมฮัมหมัด บิน ฮัมมัม ชาวกาตาร์ซึ่งเวลานั้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (Asian Football Confederation-AFC) จ่ายเงินใต้โต๊ะให้แก่ แจ็ก วอร์เนอร์ อดีตรองประธานฟีฟ่าเป็นจำนวนเงินเกือบสองล้านเหรียญฯ ทั้งสำนักข่าว The Sunday Times อ้างว่ามีเอกสารต่างๆ รวมทั้งหลักฐานการโอนเงินที่เป็นหลักฐานว่า บิน ฮัมมัม จ่ายเงินเจ้าหน้าให้ลงคะแนนเสียงให้กาตาร์ ทั้งหมดนี้ บิน ฮัมมัมให้การปฏิเสธ และย้ำว่ามูลเหตุการกล่าวหาทั้งหมดมาจากความไม่ไว้วางใจในกาตาร์ มิหนำซ้ำ ในกาตาร์นั้นก็มีกฎลงโทษหนักสำหรับการทุจริตและติดสินบนอยู่แล้ว ไม่มีเหตุอันใดที่บิน ฮัมมัมต้องมาเสี่ยงตัวเองเพื่อประเด็นนี้

People gather around the World Cup countdown clock in Doha on November 16, 2022, ahead of the Qatar 2022 World Cup football tournament. (Photo by PATRICIA DE MELO MOREIRA / AFP)

กระทั่งเดือนพฤศจิกายนปี 2014 ภายหลังจากการไต่สวนคดีต่างๆ โดยสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า (Fédération Internationale de Football Association-FIFA) ก็มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า กาตาร์จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันเวิลด์คัพครั้งที่ 22 นี้ โดยมีรายงานชี้ว่าพฤติกรรมของบิน ฮัมมัมนั้นเป็นปัญหาส่วนบุคคล และเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์โพดผลส่วนตัวมากกว่าการช่วงชิงสิทธิเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกของกาตาร์ (อย่างไรก็ตาม เวลานี้บิน ฮัมมัมถูกแบนจากโลกฟุตบอลตลอดชีวิตด้วยข้อกล่าวหาว่าเขาได้เสียกับผลประโยชน์ทับซ้อนบางประการ)

เวลาต่อมา สำนักข่าวหลายแห่งตั้งคำถามถึงความชอบธรรมและความเหมาะสมของกาตาร์ในอันจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก BILD สื่อหัวใหญ่ของเยอรมนีเขียนบทความเผ็ดร้อนว่า “การที่ฟีฟ่าขายสิทธิในการเป็นเจ้าภาพให้เหล่าชีคจากรัฐเล็กจิ๋วกลางทะเลทรายเช่นนี้ มันไม่ต้องมีคำอธิบายอะไรมากไปกว่าเรื่องเงินน่ะ” Daily Mail แท็ปลอยด์ปากแจ๋วแห่งอังกฤษบอกว่า “ก็นะ เวิลด์คัพมันเป็นแหล่งโกงกันอยู่แล้วนี่ ถึงได้ต้องไปจัดในประเทศที่เต็มไปด้วยการโกงยังไงล่ะ” และหมัดตรงจาก Libération สำนักข่าวฝ่ายซ้ายของฝรั่งเศส “เป็นไปได้ยังไงที่ประเทศเล็กๆ ซึ่งไม่มีวัฒนธรรมการกีฬา จะมาจัดมหกรรมใหญ่โตเช่นนี้ได้”

ความชอบธรรมของระบบคาฟาลาและแรงงานข้ามชาติ

หนึ่งในประเด็นอื้อฉาวมากที่สุดของกาตาร์คือประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน มีรายงานตั้งแต่ปี 2021 ระบุว่ามีแรงงานข้ามชาติเสียชีวิตในกาตาร์กว่า 6,500 ราย เมื่อเจ้าภาพฟุตบอลโลกเตรียมพร้อมรองรับมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่ด้วยการสร้างสนามกีฬาขนาดยักษ์และสนามบินแห่งใหม่ ยังผลให้มีการละเมิดสิทธิแรงงานต่างๆ เป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ดี กาตาร์เป็นประเทศที่ต้องใช้แรงงานข้ามชาติจำนวนมาก มีการประเมินกันว่ากันว่ามีแรงงานข้ามชาติอาศัยในกาตาร์กว่า 1.2 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากอินเดีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ เป็นต้น ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเป็นแม่บ้านหรือแรงงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะสูงมาก และเช่นเดียวกันกับประเทศอาหรับอื่นๆ กาตาร์เองใช้ระบบคาฟาลา (Kafala system) ซึ่งเป็นระบบการตรวจสอบดูแลแรงงานข้ามชาติที่ใช้กันในกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับเป็นหลัก หนึ่งในเงื่อนไขของระบบคาฟาลาคือนายจ้างต้องเป็นผู้ดูแล รับผิดชอบเรื่องหนังสือเดินทางและสถานะทางกฎหมายของแรงงาน ปัญหาคือตัวระบบไม่ได้โปร่งใสมากพอจะให้เกิดการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ยังผลให้ที่ผ่านมา มีนายจ้างจำนวนมากที่ยึดหนังสือเดินทางและขูดรีดแรงงานข้ามชาติโดยปราศจากการตรวจสอบ มีการประเมินเรื่องการขูดรีดแรงงานในกาตาร์เมื่อปี 2010 จากสมาพันธ์แรงงานระหว่างประเทศ (International Trade Union Confederation-ITUC) และพบว่า กาตาร์ -ตลอดจนประเทศในแถบอาหรับอีกหลายประเทศ- มีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างรุนแรง โดยหากแรงงานข้ามชาติต้องการเดินทางออกนอกประเทศ, สอบใบขับขี่ หรือเช่าบ้านนั้นจำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากนายจ้างเสียก่อน เป็นต้น

TO GO WITH DAIVED HARDING STORY,DOHA 6, DECEMBER AFP/ PHOTO STR/ QATAR OUT

ปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกาตาร์ถูกจับตามองมากขึ้นเมื่อมาถึงฤดูกาลฟุตบอลโลก กาตาร์ประกาศจะล้มเลิกระบบคาฟาลาในปี 2014 แต่ก็ล่าช้าจนล่วงเข้าปี 2016 ซึ่งถึงตอนนั้นก็มีสื่อมวลชนมากมายไปเยือนยังแคมป์คนงานและตีแผ่สภาพแวดล้อมย่ำแย่และเลวร้ายต่อคุณภาพชีวิตโดยรวม (กรณีที่อื้อฉาวอย่างมากคือนักข่าวจากสำนักข่าว BBC สี่รายที่ถูกรัฐบาลกาตาร์เชื้อเชิญให้มาเยือนประเทศ ถูกควบคุมตัวเป็นเวลาสองวันหลังพวกเขาพยายามรายงานสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานในแคมป์)

ปี 2021 The Guardian รายงานว่า ถนนมุ่งสู่เวิลด์คัพของกาตาร์นั้นแลกมาด้วยชีวิตแรงงานข้ามชาติราว 6,500 รายนับตั้งแต่มีการประกาศก่อสร้างสถานที่สำคัญแห่งใหม่ แม้ทางกาตาร์จะชี้แจงว่าสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เป็น ‘การตายโดยธรรมชาติ’ เช่นหัวใจวาย แต่ก็เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น มีการคาดการณ์ว่าการเสียชีวิตของแรงงานกว่า 70 เปอร์เซ็นต์นั้นไม่สามารถอธิบายได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากระบบการจัดการแรงงานได้มาตรฐาน จะสามารถระบุสาเหตุการเสียชีวิตของผู้คนได้กว่า 99 เปอร์เซ็นต์

“เมื่อคนงานที่อายุยังน้อยและสุขภาพดี เสียชีวิตหลังจากทำงานอย่างหนักติดต่อกันมาหลายชั่วโมง ท่ามกลางอุณหภูมิสูงลิ่วเช่นนี้ เราย่อมต้องตั้งคำถามต่อระบบความปลอดภัยในการทำงานของกาตาร์แล้ว” สตีฟ ค็อกเบิร์น ประธานฝ่ายความเป็นธรรมในสังคมของแอมเนสตี้กล่าว “กาตาร์ล้มเหลวในการลงมือสืบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิตของแรงงานข้ามชาติ เท่ากับว่ากาตาร์ละเลยต่อคุณภาพชีวิตของแรงงานซึ่งดีขึ้นได้หากได้รับการปรับปรุงแก้ไข และนี่เองที่เป็นการละเมิดสิทธิในการจะมีชีวิตอยู่ของเหล่าแรงงาน” (อย่างไรก็ตาม ฤดูร้อนปีนั้นเอง กาตาร์พยายามออกนโยบายที่ช่วยปกป้องเหล่าคนงานจากอุณหภูมิกว่า 40 องศา รวมทั้งการสั่งห้ามไม่ให้มีการใช้แรงงานเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดในช่วงฤดูร้อน เช่น ไม่อนุญาตให้มีการทำงานช่วงกลางวันที่อุณหภูมิสูงจัด) นอกจากนี้ นอกจากนี้ รายงานยังชี้ว่า เหล่าแรงงานข้ามชาติต้องทำงานวันละ 14-18 ชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลาเกือบสองปี โดยที่หลายรายไม่ได้เงินค่าทำงานล่วงเวลาด้วย

รายงานของ The Guardian ยังระบุด้วยว่า ครอบครัวของเหล่าแรงงานที่เสียชีวิตไม่ได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาลกาตาร์ ซึ่งตามกฎหมายแล้วกำหนดว่า หากแรงงานเสียชีวิตอันเนื่องมาจาก ‘การทำงาน’ นายจ้างต้องเสียค่าชดเชยให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต แต่เมื่อกาตาร์ไม่อาจระบุสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัดของแรงงานได้มากไปกว่าข้ออ้างว่าเสียชีวิตจากสาเหตุตามธรรมชาติหรือหัวใจวาย ดังนั้นหลายครอบครัวจึงไม่ได้รับเงินชดเชยส่วนนี้ ภรรยาของแรงงานชายชาวเนปาลวัย 34 ปีที่เสียชีวิตในแคมป์คนงานในกาตาร์บอกว่า เธอไม่เคยได้รับเงินก้อนใดจากกาตาร์ภายหลังการเสียชีวิตของสามีเลย “หัวหน้าแคมป์บอกว่าบริษัทไม่มีกฎจ่ายเงินชดเชยให้คนที่ตายเพราะหัวใจวาย และการจ่ายเงินนี้ก็ไม่ใช่หน้าที่ของพวกเขาด้วย” เธอบอก

นักกีฬาหลายคนออกมาแสดงความเห็นต่อประเด็นนี้เช่นกัน บรูโน เฟอร์นันเดส มิดฟิลด์ของแมนยูและเป็นกำลังหลักของทีมชาติโปรตุเกสบอกว่า “เรารู้หมดนะครับว่ามีอะไรเกิดขึ้นในเวิลด์คัพบ้าง ช่วงสองสามสัปดาห์หรือสองสามเดือนที่ผ่านมามันเป็นยังไง มีคนตายจากการก่อสร้างสเตเดียม และเราไม่สุขใจกับเรื่องนี้เลยสักนิด”

เมื่อโลกต่อต้าน หันหลัง และคว่ำบาตร

ความฉาวของประเด็นนี้ทำให้เกิดกระแสต่อต้านการแข่งขันที่กาตาร์จากหลายภาคส่วน ดูอา ลิปา นักร้องชาวอังกฤษที่เพลง One Kiss ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในเพลงลูกรักของชาวลิเวอร์พูลไปแล้ว ปฏิเสธว่าเธอไม่ได้ไปแสดงงานเปิดฟุตบอลโลก และจะไปเยือนกาตาร์ก็เมื่อประเด็นปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้รับการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว เช่นเดียวกับ ฟิลลิปป์ ลาห์ม อดีตนักเตะในตำนานชาวเยอรมันที่ระบุว่าเขาจะไม่ไปยังกรุงกาตาร์แน่นอนหากว่ายังมีประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิเช่นนี้อยู่

การคว่ำบาตรยังระเบิดตัวขึ้นในหลายต่อหลายแห่ง โดยเฉพาะในเยอรมนีที่แฟนบอลหลายคนพากันออกมาแสดงเจตจำนงต่อต้านกาตาร์ มีการชูป้ายคว่ำบาตรในสเตเดียมใหญ่ๆ ในฮัมบวร์กและเบอร์ลิน เช่นป้ายที่ระบุว่า “มีคนตาย 5,000 คนเพื่อให้เกิดการแข่งฟุตบอล 5,760 นาทีเนี่ยนะ บ้าไปแล้ว!” กันยายนที่ผ่านมา องค์กรแอมเนสตี้เผยแพร่แบบสำรวจที่ชี้ว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของแฟนฟุตบอลราว 17,000 คนจาก 15 ประเทศ สนับสนุนให้ฟีฟ่าชดเชยเหล่าแรงงานข้ามชาติในกาตาร์

Norway’s forward Erling Braut Haaland wears a t-shirt with the slogan ‘Human rights, on and off the pitch’ as he warms up before the FIFA World Cup Qatar 2022 qualification football match between Norway and Turkey at La Rosaleda stadium in Malaga on March 27, 2021. (Photo by JORGE GUERRERO / AFP)

เวลาเดียวกันนี้ สหพันธ์ฟุตบอลเดนมาร์ก (DBU) ทำเรื่องไปยังฟีฟ่าเพื่อขอสวมเสื้อกีฬาที่มีข้อความว่า Human Rights for All (สิทธิมนุษยชนเพื่อทุกคน) แต่คำขอดังกล่าวถูกฟีฟ่าปัดตกด้วยเหตุผลว่า ฟีฟ่าไม่อนุญาตให้มีข้อความใดก็ตามที่เกี่ยวข้องเรื่องการเมือง-ศาสนาบนอุปกรณ์กีฬาต่างๆ รวมทั้งเสื้อทีมด้วย ซึ่งประธานสหพันธ์ฟุตบอลเดนมาร์กออกมาโต้กลับว่า การเรียกร้องสิทธิมนุษยชนนั้นไม่ใช่การเรียกร้องทางด้านการเมืองอย่างที่เป็นเงื่อนไขของฟีฟ่าแม้แต่นิด ขณะที่ฮุมเมล (Hummel) แบรนด์กีฬาสัญชาติเดนมาร์กที่ดูแลเสื้อกีฬาให้ทีมชาติ ออกแบบเสื้อสีดำอันเป็นสีแห่งการไว้ทุกข์ ตลอดจนลดลวดลายที่ปรากฏบนเสื้อเกือบหมด เพื่อไว้อาลัยให้แก่เหล่าแรงงานที่เสียชีวิตจากการสร้างสนามกีฬาในกาตาร์

“เราต้องการส่งสารผ่านเสื้อทีมชาติของเดนมาร์ก ไม่เพียงแต่เราจะได้รับแรงบันดาลใจจากยูโรปี 1992 (หมายถึงทัวร์นาเมนต์ยูโรที่อังกฤษเจอกับเดนมาร์ก ในเวลาต่อมาถูกขนานนามว่าเป็นแมตช์ ‘เทพนิยายเดนส์’) และแสดงความเคารพต่อความสำเร็จอันเกรียงไกรของฟุตบอลเดนมาร์กเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงการต่อต้านกาตาร์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่นั่น เป็นเหตุว่าทำไมเราจึงลดรายละเอียดต่างๆ บนเสื้อฟุตบอลของทีมชาติเดนมาร์ก โดยเฉพาะสัญลักษณ์ต่างๆ ของเราด้วย เราไม่ต้องการมีตัวตนอยู่ในทัวร์นาเมนต์ที่แลกมาด้วยชีวิตของผู้คนนับพัน เราสนับสนุนทีมชาติเดนมาร์กทุกหนทางที่มีได้ หากแต่นี่ย่อมมิได้แปลว่าเราสนับสนุนกาตาร์ในฐานะเจ้าภาพ เราเชื่อว่ากีฬาควรเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกัน และเมื่อมันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เราก็ปรารถนาจะแสดงจุดยืน” ฮุมเมลแถลง

ธงสีรุ้ง อาจจะยังเป็นเรื่องชวนขุ่นหัวใจในกาตาร์

ธงสีรุ้งที่เป็นสัญลักษณ์สำคัญของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือ LGBTQ+ ปรากฏตัวอยู่ในแวดวงฟุตบอลอย่างน้อยก็ตั้งแต่ช่วงปี 2018 โดยเฉพาะเมื่อสโมสรใหญ่ๆ ในอังกฤษเข้าร่วมแคมเปญ Rainbow Laces ของมูลนิธิสโตนวอลล์ด้วยการใช้ธงมุมสนามเป็นธงรุ้ง หรือสัญลักษณ์สีรุ้งบนเสื้อผู้ตัดสิน และยิ่งเห็นหนาตามากขึ้นในการแข่งขันฤดูกาลที่ผ่านๆ มา เมื่อนักเตะจากสโมสรใหญ่ยักษ์หลายแห่งสวมปลอกแขนสีรุ้งเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนในการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะ แฮร์รี เคน กัปตันทีมชาติอังกฤษ, มานูเอล นอยเออร์ ผู้สวมปลอกแขนสีรุ้งในทัวร์นาเมนต์ยูโร 2020 ที่ผ่านมาจนสหภาพสมาคมฟุตบอลยุโรปหรือยูฟ่า (Union of European Football Associations-UEFA) ยื่นเรื่องตรวจสอบว่าเป็นการแสดงออกเชิงการเมือง -ซึ่งอาจถือได้ว่าผิดกฎ- หรือไม่ แต่ในที่สุดก็ต้องยกเลิกการสืบสวนนั้นไปเนื่องจากนอยเออร์แถลงการณ์อย่างหนักแน่นว่าการสวมปลอกแขนสีรุ้งนั้น “เป็นสัญลักษณ์ว่าด้วยความหลากหลายของทีมชาติเยอรมนี” หรือกระทั่งลอนดอนสเตเดียมในประเทศอังกฤษ ก็ทาสีที่นั่งเป็นสีรุ้งเพื่อเฉลิมฉลองหมุดหมายแห่งความเท่าเทียมทางเพศ

ขณะเดียวกัน การรักเพศเดียวกันยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายของกาตาร์ องค์กรฮิวแมนไรท์วอตช์ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศรายงานว่ากาตาร์นั้นระบุให้ผู้ที่รักเพศเดียวกันมีความผิดตามกฎหมาย และอาจต้องโดนจำคุกเป็นเวลาเจ็ดปี

A view shows the Khalifa International Stadium in Doha on October 29, 2022 ahaead of the Qatar 2022 FIFA World Cup football tournament. (Photo by Vincent AMALVY / AFP)

การเคลื่อนมาถึงของยุคสมัยแห่งความหลากหลายกับธงสีรุ้ง จึงเป็นเรื่องที่กาตาร์จับตามองอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ คาลิด ซัลแมน อดีตนักฟุตบอลกาตาร์และปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นทูตเวิลด์คัพ 2022 ให้สัมภาษณ์ผ่านช่อง ZDF สถานีโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ของเยอรมนีว่า สำหรับเขาแล้วการรักร่วมเพศนั้น “สร้างความเสียหายแก่จิตใจได้” และชี้ว่าการเป็นเกย์ถือเป็นเรื่องต้องห้าม รวมทั้งปิดท้ายว่าผู้ที่มาเยือนกาตาร์ ก็ควรให้ความเคารพแก่กฎของประเทศด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าภายหลังบทสัมภาษณ์ถูกเผยแพร่ออกไป หลายคนก็วิพากษ์วิจารณ์ซัลแมนอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในแง่ที่ว่า การให้ข้อมูลของซัลแมนนั้นอาจส่งผลร้ายแรงทางด้านความปลอดภัยแก่กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศทั้งในและนอกกาตาร์ได้ เซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ ประธานฟีฟ่าออกมาแถลงว่า “เราในฐานะฟีฟ่าไม่ปรารถนาให้เกิดการเลือกปฏิบัติ เราอยากให้การแข่งขันนี้เป็นเรื่องของทุกคน ของทุกวัฒนธรรม และนี่จะเป็นสิ่งที่เรามุ่งหน้าทำตลอดปี 2022”

อย่างไรก็ตาม ปลายปี 2020 กาตาร์ประกาศว่าธงสีรุ้งนั้นสามารถปรากฏอยู่บนสเตเดี้ยมได้ โดยให้เหตุผลว่า “ฟีฟ่ามีแนวทางของตัวเอง มีกฎและระเบียบต่างๆ ซึ่งเรา (กาตาร์) ก็เคารพในแนวทางนั้น” หากแต่เรื่องก็กลับมาชวนหัวอีกหนเมื่อเมษายนที่ผ่านมานี้ พลตรี อับดุลลาซิส อับดุลละห์ อัล อันซารี กล่าวกับสำนักข่าว AP ว่าเขานั้นยินดีต้อนรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมายังกาตาร์เหลือเกิน แต่ถ้าเขาเห็นใครถือธงสีรุ้งในที่สาธารณะ ก็ขอถือสิทธิดึงธงนั้นมาเก็บไว้ก่อน “ไม่ใช่เพราะผมอยากได้ธงนั้นหรือเพราะอยากเหยียดหยามพวกเขาเลย แต่เพราะอาจมีคนอื่นๆ แถวนั้นเข้ามาทำร้ายพวกเขาก็ได้ ผมไม่อาจรับประกันพฤติกรรมของคนอื่นๆ ได้นี่ มากที่สุดผมคงจะทำได้แค่บอกเขาว่า ‘ขอร้องล่ะ คุณไม่จำเป็นต้องยกธงขึ้นมาก็ได้นี่'” ร้อนถึง มาร์ก บุลลิงแฮม ผู้บริหารสมาคมฟุตบอลต้องออกมายืนยันให้ผู้คนมั่นใจว่า ผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถจับมือหรือจูบกันในที่สาธารณะได้ โดยไม่ผิดกฎหมายหรือถูกจับกุม

เกินร้อยคือหัวใจ ร่างกายนั้นไซร้แสนยม

เมื่อเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ากาตาร์จะเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขัน หลายฝ่ายก็แสดงความวิตกกังวลต่อสภาพอากาศและความเหมาะสมของกาตาร์แทบจะในทันที

ทั้งนี้ โดยทั่วไปตารางการแข่งขันฟุตบอลโลกมักจัดขึ้นช่วงเดือนมิถุนายนด้วยเงื่อนไขหลากหลายประการ ทั้งในแง่ที่ว่ามันเป็นช่วงปิดฤดูกาลของสโมสรในยุโรป และเป็นช่วงเวลาที่ไม่รบกวนตารางซ้อมปกติของนักเตะที่จะเริ่มซ้อมอุ่นเครื่องฤดูกาลใหม่ในเดือนสิงหาคม บวกกันกับที่มันเป็นช่วงซัมเมอร์ที่คนหลายประเทศเริ่มพักผ่อน โรงเรียนปิด และอุณหภูมิไม่สูงหรือต่ำมากจนรบกวนผู้เล่น อย่างไรก็ตาม ตารางเวิลด์คัพในกาตาร์จำต้องขยับมาเตะในช่วงเดือนพฤศจิกายน ลากยาวไปถึงธันวาคมด้วยสาเหตุว่า อุณหภูมิช่วงซัมเมอร์ที่ในกาตาร์นั้นตก 40 องศาเซลเซียส และเพื่อไม่ให้กระทบสุขภาพนักเตะ ฟีฟ่าจึงขยับเลื่อนตารางให้อยู่ในช่วงฤดูหนาวแทน

หากแต่ความยุ่งขิงคือ การเลื่อนจัดตารางเวลาเช่นนี้ทำให้กระทบตารางการแข่งขันพรีเมียร์ลีกซึ่งสุดท้ายต้องมีการพักกลางฤดูกาลให้นักเตะลงแข่งฟุตบอลโลก มากไปกว่านั้นมันยังทำให้นักเตะกรอบไปทั้งตัวจากการตะบี้ตะบันลงเตะเกือบทุกนัด ถ้ายังจำนัดระหว่างแมนยูกับเชลซีเมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้ คงยากจะลืมภาพ ราฟาเอล วาราน ร้องไห้กลางสนามเพราะกลัวว่าอาการบาดเจ็บจากการแข่งนัดนี้จะทำให้เขาชวดการลงแข่งในนามทีมชาติฝรั่งเศส (อย่างไรก็ตาม สุดท้ายวารานยังลงเล่นให้ฝรั่งเศสได้ โดยมีข้อแม้คือหลังจากนัดที่เจ็บ เขาจะไม่ลงเล่นให้แมนยูอีกเลยจนกว่าจะถึงนัดบอลโลก)

เยอร์เกน คล็อปป์ หัวเรือของลิเวอร์พูลยังออกมาให้สัมภาษณ์อย่างเหนื่อยใจ “ทุกคนรู้น่าว่านี่มันไม่ถูกต้อง มันต้องไม่ใช่แบบนี้ เหมือนปัญหาภูมิอากาศน่ะ เรารู้ว่าเราต้องหาทางแก้ไขแต่ไม่มีใครมาบอกว่าเราต้องทำอะไรบ้าง คือถ้าเราไปถึงรอบไฟนอลของเวิลด์คัพ จะแพ้หรือชนะก็ต้องลงแข่งไปตั้งเจ็ดเกมอยู่ดี แล้วไหนจะมีนัดชิงที่สามด้วย จากนั้นสัปดาห์ถัดมาก็กลับมาลงเตะในลีกต่ออีก นี่มันไม่โอเคเลยสักนิดนะ” เช่นเดียวกับ เปป กวาร์ดิโอลา แห่งแมนซิตี้ที่มีนัดเตะกับลิเวอร์พูลเพียงหนึ่งวันให้หลังจบฟุตบอลโลก ให้สัมภาษณ์ขื่นๆ ว่า ถึงที่สุดก็อาจต้องกลับมาลุ้นสภาพร่างกายนักกีฬาหลังเวิลด์คัพจบลง “ก็ไม่แน่นะ ผมอาจต้องไปเล่นกองกลางแทนก็ได้ ส่วนเผลอๆ เยอร์เกน คล็อปป์คงไปเตะตำแหน่งแบ็กซ้ายแทน เอาเป็นว่านี่แหละกลยุทธ์เราล่ะ”

แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มสามัญประจำบ้านใคร

การดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างดูกีฬานั้นแทบจะกลายเป็นสิ่งที่ร้อยโยงเป็นเนื้อเดียวกันในหลายๆ ประเทศ ทั้งจากการนั่งดื่มไปพลางดูถ่ายทอดสดที่บ้านหรือที่ร้านอาหารไปพลาง ไปจนถึงการกำขวดเบียร์เย็นเฉียบในสเตเดียมใหญ่และดูการแข่งขันด้วยตาตัวเอง หากแต่ความที่กาตาร์เป็นรัฐอิสลาม เงื่อนไขว่าด้วยการดื่มแอลกอฮอล์จึงอาจแตกต่างไปจากความเคยชินของแฟนบอลหลายๆ คน โดยกาตาร์ประกาศว่าผู้ชมสามารถดื่มแอลกอฮอล์ได้ (แต่ต้องอายุ 21 ปีขึ้นไปตามกฎหมาย) ในพื้นที่ที่จัดไว้

อย่างไรก็ตาม การดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะนั้นยังเป็นเรื่องต้องห้ามของกาตาร์อยู่ ภาพแฟนบอลเดินถือแก้วเบียร์อยู่กลางถนนจึงอาจไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นได้ทั่วไปอย่างที่เคยเกิดขึ้นในทัวร์นาเมนต์อื่นๆ อ้างอิงจากคำแนะนำในการเดินทางไปยังกาตาร์ของสหราชอาณาจักร ที่ระบุว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในที่สาธารณะนั้นอาจส่งผลให้มีการจำคุกสูงสุดเป็นเวลาหกเดือน หรือปรับเป็นเงิน 3,000 ริยัลกาตาร์ ทว่า ดูเหมือนจะมีการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ดังกล่าวเล็กน้อยเพื่อต้อนรับการมาถึงของเวิลด์คัพ โดยมีการจัดจำหน่ายแอลกอฮอลในสเตเดียมเป็นบางจุดเป็นเวลาสามชั่วโมงก่อนเริ่มเกม และหนึ่งชั่วโมงหลังเริ่มเตะ โดยไม่มีการขายระหว่างการแข่งขัน กฎสำคัญคือกรณีที่แฟนบอลพกพลุไฟหรือทะเลาะวิวาทเข้าไปในสนามแข่ง จะถือเป็นความผิดร้ายแรงและส่งผลให้ถูกจับกุมหรือถูกไล่ออกนอกประเทศทันที

มหากาพย์ดราม่าในมหกรรมกีฬาใหญ่ยักษ์

การจัดการแข่งขันในกาตาร์ถือเป็นหมุดหมายแห่งใหม่ของทัวร์นาเมนต์เวิลด์คัพ สำหรับหลายคน มันคือความหมายของการพาฟุตบอลไปยังดินแดนใหม่ที่ไม่เคยไป เท่ากันกับที่มันท้าทายกฎเกณฑ์บางประการที่ไม่เคยได้เจอมาก่อน และมันอาจสร้างแรงกระเพื่อม ตลอดจนภาพจำใหม่ๆ ให้แก่โลกฟุตบอลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนก็เป็นได้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save