fbpx

ความเงียบและเสียงหัวเราะ Purple Hibiscus (ชบาม่วง)

ชบาม่วง

Purple Hibiscus (ชื่อเรื่องฉบับแปลภาษาไทยคือ ‘ชบาม่วง’) เป็นนิยายปี 2003 เขียนโดย ชิมามันดา อึนโกซี อะดิชี นักเขียนสตรีชาวไนจีเรีย

ทั้งนิยายและนักเขียนนั้น ผมไม่เคยรู้จักชื่อเสียงเรียงนามมาก่อนเลยนะครับ แรงจูงใจที่ทำให้หยิบมาอ่านมีเพียงแค่ว่า นานหลายปีมาแล้ว ผมเคยอ่านนิยายไนจีเรียเรื่อง Things Fall Apart (ชื่อไทย ‘ก่อนรัตติกาลจะดับสูญ’) ของชินัว อะเชเบ ด้วยความชื่นชอบประทับใจ และทำให้สนใจอยากอ่านวรรณกรรมเรื่องอื่นๆ จากประเทศนี้อีก

พลันที่อ่าน Purple Hibiscus จบลง ผมก็มีงานเขียนที่เข้าข่าย ‘หนังสือเล่มโปรด’ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเรื่อง

คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่โดดเด่นมากของนิยายเรื่องนี้คือมันเหมาะอย่างยิ่งในการเป็น ‘เล่มแรกๆ’ สำหรับนักอ่านที่คุ้นเคยกับงานประเภทเบสต์เซลเลอร์แล้วอยากเลื่อนขั้นมาเริ่มต้นอ่านวรรณกรรมคลาสสิก

Purple Hibiscus เป็นเหมือนงานที่อยู่ตรงจุดกึ่งกลาง ระหว่างความสนุกบันเทิงชวนติดตาม ความชัดเจนตรงไปตรงมาในการนำเสนอแก่นสารสาระ และความเข้มข้นในการเร้าอารมณ์ตามครรลองของนิยายตลาดจ๋า กับวรรณกรรมแนวจริงจังขึ้นหิ้งเป็นอมตะที่มีความซับซ้อนลึกซึ้งทางด้านเนื้อหาและลีลาชั้นเชิงความเป็นศิลปะในการนำเสนอ

พูดกว้างๆ คือเป็นนิยายที่ประกอบด้วยส่วนผสมต่างๆ กำลังพอเหมาะพอดี มีความลงตัวมากในการผสานรวมระหว่างรสบันเทิง เนื้อหาสาระ การเร้าอารมณ์ และความแยบยลแนบเนียนในการเล่าเรื่องสื่อความหมาย

ไม่ยากเกินไปถึงขนาดต้องอ่านด้วยความยำเกรงท้อใจ ขณะเดียวกันก็ไม่สะดวกง่ายดายหมูตู้ สรุปทุกสิ่งชัดๆ ป้อนสู่ผู้อ่านแบบตำราฮาว ทู หรือขึ้นธรรมาสน์เทศน์สั่งสอนสารพัดสารพันจนเป็นการชี้นำ

Purple Hibiscus เป็นนิยายในฝัน แบบที่ผมชอบและรักที่จะได้อ่านอีกเยอะๆ นะครับ

พล็อตคร่าวๆ ของ Purple Hibiscus กล่าวถึงความเป็นไปที่เกิดขึ้นกับครอบครัวอะชิเค ประกอบไปด้วยยูจีน (พ่อ), เบียทริซ (แม่), จาจา (ลูกชาย) และคัมบิลี (ลูกสาว) ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องราวทั้งหมดผ่านมุมมองของเธอ

ครอบครัวอะชิเคมีฐานะร่ำรวย พ่อเป็นเจ้าของโรงงานขนมและเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์สแตนดาร์ด (ซึ่งยืนหยัดต่อต้านเผด็จการและรบราขับเคี่ยวกับความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคม) เคร่งศาสนา เชื่อมั่นศรัทธาในพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม ใจดี ชอบช่วยเหลือผู้ยากไร้ และบริจาคเงินเพื่อการกุศลเป็นนิจศีล

กล่าวโดยรวมคือ ยูจีนเป็นชายผู้วางตัวได้อย่างน่าเคารพนับถือ เป็นพ่อพระที่สังคมยกย่องชื่นชม

นั่นเป็นชีวิตที่ปรากฏต่อสาธารณะ เมื่ออยู่ที่บ้านยูจีนมีอีกภาพหนึ่ง เป็นพ่อและสามีที่ลูกเมียรักและเกรงกลัว เขากำหนดควบคุมทุกรายละเอียดในการใช้ชีวิตของสมาชิกครอบครัวอย่างเข้มงวด เฉียบขาด ชมเชยและอ่อนโยนเมื่อทุกคนปฏิบัติตามได้ถูกต้องไม่ตกหล่น และทำโทษอย่างรุนแรงเมื่อใครสักคนประพฤติตนนอกรีตนอกรอย

พูดง่ายๆ นอกบ้านยูจีนสู้กับรัฐบาลเผด็จการ แต่ในบ้านเขาทำตัวเป็นเผด็จการเสียเอง ร้ายกาจ น่าสะพรึงกลัว และที่สำคัญคือความเคร่งศาสนาของเขาเข้าขั้นสุดโต่งเกินเลย จนเหมือนป่วยไข้ทางจิต

ช่วงแรกของนิยายเล่าถึงต้นสายปลายเหตุที่ทำให้สองพี่น้องจาจากับคัมบิลี (รวมทั้งแม่) เหมือนนกน้อยในกรงทองปราศจากอิสระ คุ้นเคยกับสิ่งที่เป็นอยู่เกิดขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน ยอมรับการเป็นฝ่ายถูกกระทำโดยไม่เคยมีความคิดต่อต้าน ไม่ตระหนักว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งผิดปกติ

ทุกคนดำเนินชีวิตเช่นนี้วันแล้ววันเล่า ท่ามกลางความเงียบ ความกลัว ไร้ซึ่งปากเสียงหรือความคิดเป็นอื่น นอกเหนือไปจากการอยู่ในโอวาท เชื่อฟัง และพยายามทำตามทุกสิ่งที่ถูกกำหนดไว้ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด

เรื่องราวในช่วงถัดมาเล่าว่าสองพี่น้องมีเหตุให้ต้องเดินทางไปพักชั่วคราวที่บ้านอา (อิเฟโอมา) ซึ่งเป็นม่าย สามีเสียชีวิต ยังชีพเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เลี้ยงลูก 3 คนตามลำพัง

ที่บ้านอา สองพี่น้องจาจากับคัมบิลี ได้พบอีกโลกที่แตกต่างตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่ความทรุดโทรมและคับแคบของบ้าน ฐานะความเป็นอยู่ยากจนขัดสนไปเสียแทบทุกสิ่ง ที่สำคัญคือ ระหว่างอากับลูกพี่ลูกน้องของคัมบิลี ทุกคนสามารถพูดคุยต่อปากต่อคำแลกเปลี่ยนความเห็นกันได้ตลอดเวลาและเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ

คงคาดเดาได้ไม่ยากนะครับ ว่าสิ่งต่างๆ ที่จาจากับคัมบิลีพบเจอจะส่งผลออกฤทธิ์อย่างไรบ้าง เมื่อครบวาระสองพี่น้องเดินทางกลับบ้าน พวกเขาก็เปลี่ยนแปลงผิดไปจากเดิมไกลลิบลับ และขัดแย้งเป็นปฏิปักษ์กับกฎ กติกาของพ่อ จนเกิดเหตุสืบเนื่องติดตามมาหลายประการ

หนึ่งในสิ่งที่เกิดขึ้นคือใจความที่เกริ่นไว้ให้ทราบตั้งแต่บรรทัดแรกๆ ในช่วงเริ่มเรื่อง ซึ่งพูดอ้อมๆ ในที่นี้ได้ว่ามันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับทุกชีวิตในครอบครัวอะชิเค

พล็อตคร่าวๆ ของ Purple Hibiscus ที่ผมเล่ามา (แบบตั้งใจรวบรัดและข้ามรายละเอียดสำคัญๆ ไปมากมาย) ไม่ได้พิสดารพันลึกแปลกประหลาดอันใด ค่อนข้างใกล้เคียงกับหนังและนิยายที่มีลักษณะเป็นสูตรสำเร็จ เล่าถึงจุดเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญของตัวละครวัยรุ่น

เริ่มจากสภาพชีวิตทั่วๆ ไปที่เต็มไปด้วยสารพัดสิ่งไม่พึงปรารถนา ปราศจากความสุข จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์บางอย่างนำพาให้ชีวิตพบเจอเรื่องราวผิดแปลกไปจากความคุ้นเคยเดิมๆ จนเกิดความเปลี่ยนแปลง การเรียนรู้ เติบโต และคลี่คลายหลุดพ้นจากความเป็นไปเดิมๆ ล่วงเข้าสู่การเริ่มต้นชีวิตแบบใหม่

อย่างไรก็ตาม เนื้อในและรายละเอียดของ Purple Hibiscus ก็แตกต่างจากโครงสร้างที่คาดเดาล่วงหน้าได้ในย่อหน้าข้างต้น รวมถึงเรื่องย่อคร่าวๆ ซึ่งผมใช้ความสามารถพิเศษในด้านลบ เล่าเสียจนกลายเป็นเรื่องพื้นๆ ตื้นเขินอยู่มาก

Purple Hibiscus มีความพิเศษเฉพาะตัว ต่างจากงาน coming of age ตามสูตรสำเร็จไปไกลมาก ปัจจัยอย่างแรก ผมคิดว่าเป็นความสามารถของอะดิชีผู้เขียน ซึ่งแสดงความเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจขั้นฉกาจฉกรรจ์ ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครอย่างคัมบิลีได้อย่างสมจริง โดยเฉพาะการทำให้ผู้อ่านรู้เหตุการณ์รอบนอกเท่าๆ กับตัวละคร และรู้ความคิดอ่านภายในใจที่สับสนว้าวุ่น มีความเข้าใจโลกเข้าใจชีวิตตามช่วงวัยอายุ 15 ได้อย่างใกล้ชิด

ถัดมาคือการกำหนดจัดสรรว่าจะเล่าถึงสิ่งใด ทั้งผู้คน เหตุการณ์ สถานที่ อาหารการกิน และอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ของตัวละครได้อย่างมีชีวิตชีวา ชวนติดตาม และทำให้ผู้อ่านคล้อยตามตัวละครได้ตลอดทั้งยามทุกข์และยามสุข (ช่วงที่คัมบิลีไปอยู่บ้านอา เป็นความรื่นรมย์อย่างยิ่งในการอ่านและช่วงที่เธออยู่บ้านก็เขียนได้วิเศษไม่แพ้กัน ถึงขั้นทำให้ผมอ่านด้วยความรู้สึกหายใจไม่ทั่วท้อง)

เหนือสิ่งอื่นใดคืออะดิชีทำให้เรื่องเล่าของเธอกินความทั้งลึกทั้งไกลได้อย่างชาญฉลาดและแนบเนียน มีทั้งส่วนที่กระจ่างชัด จับต้องได้ทันที และมีทั้งส่วนที่เล่าเพียงแค่แสดงออกเป็นนัยๆ ให้ผู้อ่านต้องใช้จินตนาการเพิ่มเติม รวมทั้งทิ้งแง่มุมให้ครุ่นคิดต่อ (ที่โดดเด่นมากคือความสัมพันธ์ระหว่างคัมบิลีกับคุณพ่ออะมาดีว่าทั้งคู่รู้สึกต่อกันในระดับใด)

ประเด็นเนื้อหาของ Purple Hibiscus สะท้อนแง่มุมเอาไว้หลากหลายนะครับ ขั้นต้นสุดคือการเรียนรู้และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวละครสองพี่น้อง ลึกลงไปอีก งานชิ้นนี้พูดถึงภาพรวมกว้างๆ ของสังคมไนจีเรีย ผลพวงจากการเคยเป็นอาณานิคม ความเชื่อทางศาสนา การปะทะกันระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ ความเป็นตะวันตกกับวิถีดั้งเดิมในอดีต รวมทั้งอีกแง่มุมที่น่าสนใจมากจากบทวิเคราะห์ท้ายเล่ม ‘เสียงสร้างใหม่ของคัมบิลี’ เขียนโดยอาจารย์เมธาวี โหละสุต ซึ่งสรุปใจความประเด็นสำคัญๆ เอาไว้ครอบคลุม และพูดถึงสัมพันธบทระหว่าง Purple Hibiscus กับ Things Fall Apart เอาไว้อย่างถี่ถ้วน

ท่านที่สนใจ โปรดติดตามอ่านกันเองนะครับ สิ่งที่ผมจะเล่าสู่กันฟัง โดยพยายามแกล้งๆ ทำเป็นลืมสิ่งที่อ่านจากข้อเขียนของอาจารย์เมธาวี คือผมคิดว่านิยายทั้งสองนี้มีพล็อตแตกต่างเป็นคนละเรื่อง เกิดขึ้นต่างช่วงเวลา รวมถึงมีท่วงทีลีลาการเล่าผิดแผกกัน แต่ความน่าทึ่งก็คือ Things Fall Apart กับ Purple Hibiscus นั้นสามารถนับญาติกันได้ระดับเป็นญาติสนิทเลยทีเดียว (และถ้าอ่านควบคู่กัน ก็จะออกรสเพิ่มทวีขึ้นอีกเยอะ)

ผมคิดว่าตัวละคร ‘พ่อใหญ่’ ซึ่งผมไม่ได้พูดถึงในเรื่องย่อที่เล่าไว้ เป็นหนึ่งในหลายๆ อย่างที่เชื่อมโยงนิยายทั้งสองเรื่องนี้ให้เกี่ยวโยงกัน (ผมชอบเรื่องราว พฤติกรรม และบทสนทนาต่างๆ ของตัวละครนี้มากเป็นพิเศษ เป็นตัวละครที่เขียนออกมาได้น่าประทับใจเป็นที่สุด)

มีรายละเอียดหนึ่งซึ่งผมชอบมาก คือตัวละครคัมบิลีนั้นในช่วงเกือบครึ่งเล่มของนิยาย พูดจาเสียงเบาจนเหมือนกระซิบ และแทบไม่เคยยิ้ม ไม่เคยหัวเราะ

พูดแบบกอดตำราเขียนบทหนัง รายละเอียดเหล่านี้ก็เหมือนกับข้อมูลในการสร้างบุคลิกนิสัยพื้นฐานให้กับตัวละคร ใน Purple Habiscus ก็เข้าลักษณะที่ว่าทุกประการ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปจนถึงจุดคลี่คลาย รายละเอียดเหล่านี้ก็ผูกโยงไปสู่การสะท้อนขยายความแก่นเรื่อง แสดงความเปลี่ยนแปลงของตัวละครทั้งภายนอกและภายในได้อย่างประณีตและมีชั้นเชิง

ที่ยอดเยี่ยมไม่แพ้กันคือความเปลี่ยนแปลงของตัวละครจาจา ซึ่งเล่าผ่านคัมบิลีโดยการเฝ้ามองระยะห่างออกมา ผู้อ่านไม่ทราบถี่ถ้วนกระจ่างชัดเท่าน้องสาว รวมทั้งบอกกล่าวในปริมาณไม่มากนัก อย่างเช่นความสนใจต่อบรรดาดอกไม้ในสวนที่บ้านอา (โดยเฉพาะดอกชบาสีม่วง) คำพูดคำจาและการแสดงออกในบางวาระ ซึ่งทำให้คัมบิลีเอะใจ ผิดสังเกตและรู้สึกว่าพี่ชายไม่น่าจะพูดหรือกระทำเช่นนั้น จนดูเหมือนเปลี่ยนไปเป็นอีกคน

พูดอีกแบบคือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้กลมกลืนสอดคล้องไปกับเรื่องที่กำลังบอกเล่า ถ้าไม่จับสังเกตกันจริงๆ ก็ไม่รู้สึกว่ามีความหมายนัยยะอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ

ตอนอ่านรอบแรก ผมจับต้องอะไรเหล่านี้ไม่ติดหรอกนะครับ มาพบเห็นตอนอ่านรอบที่สอง หลังจากรู้ว่าอะไรเป็นอะไรในเนื้อเรื่องแล้ว (ตรงนี้ขออนุญาตเฉไฉนอกเรื่องเล็กน้อย ผมรู้สึกของผมเองไม่รับประกันการันตีความถูกต้องใดๆ นะครับ ว่านิยายเรื่อง Purple Hibiscus อ่านสนุกชวนติดตามตั้งแต่รอบแรกแล้วก็จริงอยู่ ทว่าเมื่ออ่านซ้ำรอบสอง สนุกเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมเยอะเลย)

มีรายละเอียดแบบดูเผินๆ เหมือนจะไม่สลักสำคัญ แต่แท้จริงแล้วซ่อนความหมายทำนองนี้อยู่ตลอดทั่วทั้งเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การนับเลขในใจของคัมบิลี ความรู้สึกของเธอเมื่อได้ยินแม่หรือพี่ชายพูดอะไรบางอย่าง แล้วเธอรู้สึกว่าเธอน่าจะและอยากจะเป็นคนเอ่ยถ้อยคำเหล่านั้น ฯลฯ

ผมใส่เครื่องหมาย ฯลฯ เพราะเชื่อว่าน่าจะมีอีกเยอะแยะมากมาย แต่เฉพาะหน้าขณะเขียนต้นฉบับ นึกออกและจำได้เท่าที่กล่าวมา และคิดว่าหากมีโอกาสอ่านซ้ำอีก ก็น่าจะเจอะเจออีก

ข้างต้นนี้พูดได้ด้วยความมั่นใจเลยนะครับ

ใจความสำคัญหรือสาระแง่คิดของ Purple Hibiscus สะท้อนผ่านเรื่องราวเหตุการณ์ บทสนทนา ตัวละคร ค่อนข้างชัด ขึ้นอยู่ที่การจับสังเกตและคิดต่อของผู้อ่านว่าจะอ่านความหมายไปได้ลึกและไกลแค่ไหน อีกสิ่งหนึ่งซึ่งผมคิดว่าเด่นชัดไม่แพ้กันคือการใช้สัญลักษณ์ในนิยายเรื่องนี้ อันได้แก่ ดอกชบาสีม่วงและตุ๊กตาเซรามิก

ชัดในแง่ว่ามันถูกเน้นย้ำบ่อยครั้ง จนผู้อ่านสามารถตระหนักสัมผัสได้ไม่ยากว่านี่คือสัญลักษณ์ แต่ที่เปิดกว้างและไม่มีคำตอบตายตัวก็คือสัญลักษณ์ดังกล่าวสะท้อนไปสู่ความหมายอย่างไร? อันนี้แต่ละท่านต้องออกแรงตีความกันตามอัธยาศัย

ด้วยความที่ไม่คุ้นกับประเทศไนจีเรีย ไม่คุ้นกับฉากหลังทวีปแอฟริกา ระหว่างการอ่าน ผมจึงได้รับรสประสบการณ์แปลกๆ อย่างหนึ่ง นั่นคือเวลามีการพรรณนาถึงเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ทรงผมของตัวละคร บ้านและกระท่อมที่พักต่างๆ รวมถึงอาหารผลไม้ ซึ่งผมคิดว่าผู้เขียนได้บรรยายเอาไว้ดีเยี่ยมแล้ว แต่ผมนึกภาพไม่ออกเพราะไม่เคยเห็นนะครับ

ผมจึงอ่านนิยายเรื่องนี้ (รวมทั้งเรื่อง Things Fall Apart) โดยมีภาพในจินตนาการขึ้นเอาเองตลอดเวลา ด้วยการจับแพะชนแกะนำเอาภาพจากหนังอินเดียบ้าง หนังสารคดีบ้าง และความทรงจำเท่าหางอึ่งเกี่ยวกับแอฟริกาที่มีอยู่ (ผ่านกองเชียร์ตอนดูฟุตบอลโลก) จนเกิดเป็นภาพคลุมเครือเลือนรางที่ไม่น่าจะใกล้หรือตรงกับความจริงสักเท่าไร แต่ก็ได้อรรถรสสนุกสนานแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับการอ่านนิยายสัญชาติอื่น

ความประทับใจสุดท้ายของผม เป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึกที่นิยายเรื่องนี้นำพาไปพบสัมผัส Purple Hibiscus เป็นงานเขียนที่มีหลากรส แต่ที่ยอดเยี่ยมตรึงใจผมมากเป็นพิเศษมีอยู่ 2 อย่าง

อย่างแรกเป็นความตระหนกตกใจ เป็นความรู้สึกช็อกที่เกิดขึ้นเนืองๆ ตลอดทั้งเรื่อง จากสิ่งที่ตัวละครยูจีนกระทำต่อคนในครอบครัว พูดก็พูดเถอะนะครับ จากประสบการณ์ดูหนังอ่านหนังสือที่ผ่านๆ มา ผมพบเจอตัวละครผู้เป็นพ่อที่มีนิสัยเข้มงวด ดุ โมโหร้าย มานักต่อนัก แต่ประมวลผลดูแล้ว ยูจีนในเรื่องนี้ถือเป็นพ่อที่น่ากลัว (แบบสมจริง) ที่ติดอันดับต้นๆ และยากจะลืมได้ลง เข้าขั้นเป็นที่สุดของที่สุดเลยทีเดียว

แน่นอนครับว่า ความน่ากลัวของยูจีนสืบเนื่องมาจากสิ่งที่เขากระทำ แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกว่าตัวละครนี้ร้ายกาจน่ากลัวหนักข้อขึ้นไปอีก อยู่ที่วิธีการบอกเล่าและวิธีเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่เขาทำ แต่ผู้อ่าน (โดยคำบอกเล่าของคัมบิลี) ไม่ได้เห็นภาพหรือรายละเอียดว่าเกิดอะไรขึ้น

อย่างต่อมาคืออารมณ์ความรู้สึกสารพัดสารพันที่ปนเปกันในช่วงท้ายเรื่อง มีทั้งความหม่นเศร้าอ้อยอิ่ง ความเข้มข้นรุนแรงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เย้ยหยันเสียดแทง ตกตะลึง เจ็บปวดรวดร้าวสะเทือนใจ

แต่เหนือสิ่งอื่นใด ท่ามกลางสรรพอารมณ์ความรู้สึกที่กล่าวมา มีความงดงามและความหวังอยู่เต็มเปี่ยม

Purple Hibiscus เป็นนิยายที่ผมตกหลุมรัก และอยากส่งเสียงดังๆ เชิญชวนให้ทุกท่านเสาะหามาอ่านนะครับ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save