fbpx
ปฏิทินแห่งความหวัง? : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

ปฏิทินแห่งความหวัง? : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน

กษิดิศ อนันทนาธร  เรื่อง

ณธน โพธิ์เถื่อน  วาดภาพสีน้ำ

ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน เป็นบทความขนาดสั้น ซึ่งอาจถือว่าเป็นงานชิ้นที่โด่งดังที่สุดของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็ว่าได้  ในบทความดังกล่าว ไล่เรียง “ความหวัง” ของมนุษย์คนหนึ่งตั้งแต่อยู่ในท้องของแม่ วัยเด็ก วัยเรียนหนังสือ วัยทำงาน วัยชรา คุณภาพชีวิตด้านต่างๆ จนกระทั่งการตาย และการจัดการศพหลังสิ้นชีพแล้ว

ในปี 2475 ซึ่ง ป๋วยเป็นนักเรียนชั้น ม.8 ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ คณะราษฎรได้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่พระมหากษัตริย์ทรงอำนาจสูงสุดในการปกครองบ้านเมือง มาเป็นระบอบราชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกกันในเวลานี้ว่า “ประชาธิปไตย”

ไม่เพียงแต่ด้านการเมืองเท่านั้น ที่คณะราษฎร “พลิกแผ่นดิน” สยามให้เข้าสู่ห้วงประวัติศาสตร์หน้าใหม่ แต่คณะราษฎรยังนำประเทศนี้เข้าสู่ยุค “ไทยใหม่” ที่มีความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตด้านต่างๆ ของราษฎรด้วย

แม้ระยะเวลา 15 ปี (พ.ศ. 2475-2490) จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และต่อมาระบอบประชาธิปไตยของไทยถูกช่วงชิงความหมายไป จนป๋วยเคยถึงกับกล่าวว่า “ในวงการเมืองนั้นคำว่าประชาธิปไตยใช้จนเฝือ เช่น ในโรงเรียนไทย แม้จะอยู่ในระบบเผด็จการ เขาก็ยังสอนให้นักเรียนท่องว่าประเทศไทยเป็นเสรีประชาธิปไตย”  และแม้ว่าสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในยุคคณะราษฎรจะค่อยๆ มลายหายไปอย่างน่าฉงน  แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมาแล้วนี้ เป็นความอัปรีย์จัญไร เลวร้าย อุบาทว์ชาติชั่วหมดแน่หรือ?  หรือว่าเป็นความหวังถึงคุณภาพชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่เกิดจนตาย ที่คนยุคคณะราษฎรได้ริเริ่มไว้ให้พวกเราสืบสาน รักษา และต่อยอด?

ไทยใหม่ ฉลองรัฐธรรมนูญ

ไทยใหม่

แม้คณะราษฎรจะมีบทบาททางการเมืองในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 15 ปี เริ่มในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก่อนที่จะค่อยๆ ถูกลดบทบาททางการเมืองลงหลังการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 แต่ช่วงเวลาดังกล่าวก็นับเป็นปรากฏการณ์ของ “ไทยใหม่” ที่น่าสนใจ

ช่วงเวลาแห่งยุคคณะราษฎนำมาซึ่งงานสถาปัตยกรรม ผลงานศิลปะ และวัตถุสิ่งของในชีวิตประจำวัน ที่สร้างขึ้นทั้งโดยภาครัฐและเอกชน มีรูปแบบเฉพาะอันเชื่อมโยงเข้ากับอุดมการณ์ทางการเมืองของคณะราษฎร จนอาจนิยามรูปแบบดังกล่าวได้ว่าเป็น “ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร” ซึ่งสอดแทรกความหมายนัยทางการเมืองไว้ด้วยเสมอ ตั้งแต่ “พานรัฐธรรมนูญ” ที่สะท้อนแนวคิดรัฐธรรมนูญนิยม การออกแบบที่สัมพันธ์กับเลข 6 ที่สื่อถึง “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎร อันประกอบด้วย เอกราช ความปลอดภัย เศรษฐกิจ เสมอภาค เสรีภาพ และการศึกษา

นอกจากนี้ ยุคสมัยของคณะราษฎรยังนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทางความคิด วัฒนธรรม และนวัตกรรมของสังคม เช่น การสร้างอนุสาวรีย์ของสามัญชนเป็นครั้งแรก การเปิดสวนสัตว์สาธารณะสำหรับราษฎร การจัดงานรื่นเริงเฉลิมฉลองเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของภาครัฐ เป็นต้นว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญ รวมถึงการสร้างสนามกีฬาแห่งชาติ สนามมวยที่ได้มาตรฐานสากล และการสร้างเมรุเผาศพแบบสมัยใหม่แทนการใช้เชิงตะกอนในอดีต

ในยุคสมัยนี้ ไม่เพียงเป็นครั้งแรกที่มีการสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ดังมีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในกรุงเทพมหานคร และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยประจำจังหวัดต่างๆ เป็นพยาน แต่ยังเป็นครั้งแรกที่ประเทศของเราได้รับเอกราชสมบูรณ์ สามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจนสร้างกลุ่มอาคารศาลฎีกาขึ้นมาเป็นที่ระลึก

และยังเป็นยุคสมัยที่เกิดนโยบายสร้างชาติทางวัฒนธรรมที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คน ในฐานะที่เป็นพลเมืองของระบอบใหม่ ดังที่ พล นิกร กิมหงวน ของ ป. อินทรปาลิต และ แลไปข้างหน้า ของ ศรีบูรพา ได้สะท้อนผ่านงานวรรณกรรมไว้อย่างน่าอ่าน

ทั้งหมดนี้ คือความเปลี่ยนแปลงจากยุค “สยามเก่า” สู่ “ไทยใหม่” ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย

อนุสาวรีย์ปราบกบฏ

 

อนุสาวรีย์ปราบกบฏ

แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จะเป็นการปฏิวัติที่ไร้การนองเลือด แต่ให้หลังจากนั้นเพียงปีเศษ คณะของพระองค์เจ้าบวรเดชได้ก่อกบฏขึ้น จนถูกปราบปรามลงในที่สุด โดยสมรภูมิสำคัญในคราวปราบกบฏครั้งนี้อยู่ที่ทุ่งบางเขน ภายหลังเหตุการณ์นี้จึงได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกแด่ทหารและตำรวจที่เสียชีวิต และบรรจุอัฐิของทั้ง 17 นายไว้ภายใน

อนุสาวรีย์แห่งนี้ออกแบบโดยหลวงนฤมิตรเลขการ แล้วเสร็จและทำพิธีเปิดเมื่อ 15 ตุลาคม 2479  ตัวอนุสาวรีย์ออกแบบเป็นเสาเทินพานรัฐธรรมนูญ ผนังทั้ง 4 ด้านออกแบบเป็นเรื่องราวที่ต่างกัน โดยผนังทิศตะวันตกจารึกชื่อทหารตำรวจที่เสียชีวิต ทิศตะวันออกเป็นประติมากรรมนูนต่ำรูปครอบครัวชาวนาซึ่งถือว่าเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกที่แสดงเรื่องราวสามัญชนในลักษณะที่เป็นองค์ประกอบเด่นของอนุสาวรีย์ ทิศเหนือเป็นรูปธรรมจักร และทิศใต้เป็นจารึกโคลง “สยามานุสสติ”

ในยุคคณะราษฎร มีรัฐพิธีเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในวันที่ 14 ตุลาคม ของทุกปี  แต่ภายหลังยุคคณะราษฎร อนุสาวรีย์ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “อนุสาวรีย์หลักสี่” และเริ่มลดบทบาทลง จนในที่สุดอนุสาวรีย์ได้ถูกย้ายออกไปจากที่ตั้งเดิมในปี พ.ศ. 2559 และถูกรื้อย้ายสูญหายไปในที่สุดเมื่อปี พ.ศ. 2561 โดยที่ปัจจุบันยังไม่มีใครทราบว่าอนุสาวรีย์นี้ถูกย้ายไปไว้ ณ ที่แห่งใด

อนุสาวรีย์ของสามัญชนคนแรก อนุสาวรีย์ของท้าวสุรนารี (ย่าโม)

อนุสาวรีย์ของสามัญชนคนแรก

อนุสาวรีย์ของสามัญชนคนแรกที่สร้างขึ้นในที่สาธารณะ คืออนุสาวรีย์ของท้าวสุรนารี (ย่าโม) ใน พ.ศ. 2477 นอกจากเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของท้าวสุรนารีแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นผลสืบเนื่องจากความพยายามลบภาพพจน์ที่ไม่ดีของเมือง “โคราช” ที่เป็นฐานที่มั่นสำคัญหนึ่งของกบฏบวรเดช ผ่านการสร้างอนุสาวรีย์ของคนโคราชที่รักชาติบ้านเมือง (มิใช่กบฏ) ขึ้น

อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีออกแบบและปั้นโดย ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci)  โดยเป็นอนุสาวรีย์ที่หล่อขึ้นด้วยทองแดงรมดำ ความสูง 1.85 เมตร แต่งกายด้วยชุดไทยประกอบเครื่องยศพระราชทาน มือขวากุมดาบ มือซ้ายเท้าสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตกซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร

แต่เดิม การสร้างอนุสาวรีย์จะสร้างให้กับกษัตริย์หรือเทพเจ้าตามความเชื่อทางศาสนาเท่านั้น  เมื่อคณะราษฎรเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วต้องการแสดงให้เห็นถึงบทบาทและความสำคัญของคนธรรมดาสามัญที่ทำคุณงามความดีให้แก่ชาติในระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าบูรพกษัตริย์พระองค์ต่างๆ ในอดีต จึงได้จัดสร้างอนุสาวรีย์ของสามัญชนคนแรกแห่งนี้ขึ้น แต่ก็หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสาวรีย์ย่าเหลตั้งไว้หน้าพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ พระราชวังสนามจันทร์ ราว 20 ปี

วัดประชาธิปไตย

วัดประชาธิปไตย

วัดประชาธิปไตยเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งที่เชื่อมโยงกับการปราบ “กบฏบวรเดช” เมื่อ พ.ศ. 2476 เพราะสร้างขึ้นในบริเวณทุ่งบางเขน ใน พ.ศ. 2483 ซึ่งรัฐบาลคณะราษฎรมีแนวคิดที่จะสร้างวัดขึ้นในบริเวณนี้ให้เป็นวัดอนุสรณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ดังให้ชื่อแต่แรกว่า “วัดประชาธิปไตย”  อย่างไรก็ดี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระศรีมหาธาตุ”

วัดนี้สร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2485 โดยมี พระยาพหลพลพยุหเสนา มาบวชที่วัดแห่งนี้เป็นพระรูปแรก ความสำคัญของวัดนี้อีกประการหนึ่งคือ คณะราษฎรต้องการที่จะสร้างให้เป็นวัดต้นแบบในการรวม “มหานิกาย” และ “ธรรมยุติกนิกาย” เข้ามาเป็นหนึ่งเดียว แต่หลังการรัฐประหาร 2490 เมื่อหมดยุคคณะราษฎร วัดแห่งนี้ก็ไม่สามารถรวมนิกายได้ และกลายเป็นวัดธรรมยุติกนิกายในปัจจุบัน

พระเจดีย์ที่ตั้งอยู่หน้าพระอุโบสถออกแบบด้วยรูปทรงสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ ภายใต้แนวคิดแบบวิหาร Panthéon ประเทศฝรั่งเศส  กล่าวคือ เป็นที่บรรจุอัฐิของสมาชิกคณะราษฎรในเจดีย์นี้  ส่วนรูปแบบเจดีย์เป็นทรงระฆังกลม ที่ตัดลวดลายทางสถาปัตยกรรมไทยแบบประเพณีออกไปทั้งหมด  และมีบัวกลุ่มยอดเจดีย์ทำเป็น 6 ชั้น ที่น่าจะสื่อความหมายถึง “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎร

รัฐธรรมนูญในศาสนสถาน

รัฐธรรมนูญในศาสนสถาน

ในช่วง 15 ปีที่คณะราษฎรมีบทบาทนำทางการเมือง “พานรัฐธรรมนูญ” กลายเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญในการสื่อสารความหมายการเป็นยุคสมัยใหม่ของประเทศที่ก้าวเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย สัญลักษณ์ดังกล่าวมิได้ถูกนำไปใช้เพียงแค่ในกลุ่มผู้มีอำนาจในระดับประเทศเท่านั้น แต่มวลมหาประชาชนคนทั่วไปและคณะสงฆ์ในหลายพื้นที่ต่างก็รับเอาสัญลักษณ์นี้ไปใช้กันอย่างแพร่หลาย

ศาสนสถานหลายแห่งในหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เริ่มปรับเปลี่ยนองค์ประกอบศิลปกรรมต่างในศาสนสถานจากลวดลายแบบจารีตประเพณีมาสู่ลวดลายพานรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นลายหน้าบัน ลายฝ้าเพดานโบสถ์ ลายประตูหน้าต่าง ลายตาลปัตร ลายพนักพิงธรรมาสน์ ฐานรองตาลปัตร ฯลฯ

ลวดลายดังกล่าวนอกจากจะทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ทางการเมืองของไทยแล้ว ยังเป็นวัตถุหลักฐานสำคัญที่ยืนยันให้เห็นถึงความตื่นตัวและการรับรู้เรื่องราวการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่ลงลึกไปถึงระดับท้องถิ่นที่ห่างไกล มิใช่เพียงแค่เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างจำกัดในหมู่ชนชั้นนำที่กรุงเทพฯ ตามความเข้าใจแบบเดิมๆ อีกต่อไป

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญประจำจังหวัด

อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญประจำจังหวัด

รัฐธรรมนูญ กฎหมายสูงสุดของประเทศที่มีเพื่อจำกัดอำนาจของผู้ปกครอง เป็นผลงานชิ้นสำคัญของคณะราษฎร แม้คณะราษฎรจะใช้คำว่าเป็นผู้ขอรับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ก็พึงตราไว้ว่า รัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรนำทูลเกล้าฯ ถวายให้ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้นั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับรัฐธรรมนูญที่พระองค์ให้คนร่างเตรียมไว้พระราชทาน เพราะร่างของพระองค์นั้น อำนาจอธิปไตยยังคงเป็นของพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ของราษฎร

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วเสร็จ รัฐบาลจัดให้มีพระราชพิธีและรัฐพิธีอย่างยิ่งใหญ่เพื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม 2475  โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายรัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้ซึ่งตั้งอยู่บนพานแว่นฟ้า แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ จากนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงยกรัฐธรรมนูญบนพานแว่นฟ้านั้นมาตั้งอยู่ที่ปะรำหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งนักข่าวได้ถ่ายภาพพานรัฐธรรมนูญและนำไปเผยแพร่ตามสื่อต่างๆ  และในเวลาไม่ช้า ภาพดังกล่าวก็กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย

หลังจากนั้นไม่นานได้เกิดการสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญประจำจังหวัดขึ้นในหลายพื้นที่ การออกแบบของแต่ละจังหวัดจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับงบประมาณและแนวความคิดของแต่ละท้องถิ่น โดยมีองค์ประกอบสำคัญที่ขาดไม่ได้คือ สัญลักษณ์ “พานรัฐธรรมนูญ”  รองลงมาคือ สัญลักษณ์ “หลัก 6 ประการ”  ซึ่งแต่ละพื้นที่จะแสดงออกในรูปแบบที่แตกต่างกัน  เช่น จังหวัดร้อยเอ็ดออกแบบเป็นฐานหกเหลี่ยมรองรับพานรัฐธรรมนูญ  จังหวัดสมุทรสงครามสร้างเสาหกต้นล้อมรอบพานรัฐธรรมนูญ เป็นต้น  ที่น่าสนใจคือ จากงานศึกษาของศรัญญู เทพสงเคราะห์ พบว่า “อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญประจำจังหวัดมหาสารคาม” สร้างขึ้นเป็นแห่งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 ซึ่งเป็นเวลาหลายปีก่อนการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนิน

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ในปี 2482 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีโครงการสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญก้าวหน้าทั้งมวลของชาติ  ตัวอนุสาวรีย์ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล เป็นผู้ออกแบบ ส่วนประติมากรรมตกแต่งออกแบบโดย ศิลป์ พีระศรี  แล้วเสร็จและทำพิธีเปิดในวันที่ 24 มิถุนายน 2483

องค์ประกอบทั้งหมดของอนุสาวรีย์จะสื่อความหมายถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทั้งสิ้น ตั้งแต่รัศมีของอนุสาวรีย์และความสูงของปีกทั้งสี่ด้านที่สูง 24 เมตร (วันที่), โดยรอบฝังปืนใหญ่ 75 กระบอก (ปี), ป้อมกลางอนุสาวรีย์มีประตู 6 บานและลวดลายพระขรรค์ 6 เล่มอยู่ที่กลางประตูแต่ละบาน (หลัก 6 ประการ), ลวดลายเหนือประตูคือ “อรุณเทพบุตร” สื่อถึงแสงสว่างเมื่อแรกขึ้น เปรียบถึงการมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งแรกมีในประเทศ, พานรัฐธรรมนูญสูง 3 เมตร (หมายถึงเดือน 3 คือเดือนมิถุนายน เพราะสมัยนั้นขึ้นปีใหม่เดือนเมษายน) และประติมากรรมนูนต่ำรอบฐานอนุสาวรีย์ทำเป็นเรื่องราวประวัติของคณะราษฎรที่นำพาประเทศสู่ประชาธิปไตยและความเจริญ

นอกจากเป็นสถานที่ที่ใช้จัดงานสำคัญต่างๆ เช่น การสวนสนามของขบวนการเสรีไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  หรือการใช้เป็นที่ชุมนุมทางการเมืองในหลายยุคหลายสมัย อนุสาวรีย์แห่งนี้ยังใช้นับเป็นหลักกิโลเมตรที่ 0 ของทางหลวงสายหลักของไทย คือ พหลโยธิน เพชรเกษม และสุขุมวิท กล่าวแบบภาษิตได้ว่า ถนนทุกสายจากกรุงเทพฯ จะนับเริ่มต้นที่อนุสาวรีย์นี้

งานฉลองรัฐธรรมนูญ

งานฉลองรัฐธรรมนูญ

งานวันรัฐธรรมนูญหรืองานฉลองรัฐธรรมนูญ มีขึ้นเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรทั่วไปรู้จักรัฐธรรมนูญและเข้าใจระบอบการปกครองใหม่ รวมถึง “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎร เริ่มจัดเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2475 ซึ่งถือเป็นมหกรรมขนาดใหญ่ของประชาชนพลเมือง ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดงาน จากการได้รับการสนับสนุนจากห้างร้าน การบริจาคสิ่งของ อาหารเครื่องดื่ม การแสดงมหรสพต่างๆ

การจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะของกรุงเทพฯ เช่น สนามหลวง เขาดินวนา สนามเสือป่า วังสราญรมย์ ถนนราชดำเนิน ส่วนในต่างจังหวัดก็มีการจัดงานที่ศาลาว่าการจังหวัดหรือสโมสรของจังหวัด ในต่างประเทศก็จัดขึ้นที่สถานทูต

ภายในงานมีการประดับประดาด้วยสัญลักษณ์พานรัฐธรรมนูญ โดยมีการจัดวางให้รัฐธรรมนูญอยู่สูงสุดของยอดเสาหรืออาคารภายในเพื่อแสดงถึงความสำคัญสูงสุดของรัฐธรรมนูญ มากไปกว่านั้น ยังมีมหรสพนานาประเภท และที่สำคัญคือ มีการจัดเวทีการประกวดอย่างหลากหลาย โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองของคณะราษฎร ทั้งการประกวดนางสาวสยาม ตลอดจนการประกวดอันเกี่ยวเนื่องกับศิลปวัฒนธรรม นับเป็นจุดเริ่มต้นการประกวดศิลปกรรมในโลกศิลปะไทย  อย่างไรก็ตาม ภายหลังการรัฐประหาร 2490 การจัดงานถูกตัดขาดออกจากอุดมการณ์คณะราษฎร และในปี 2501 รัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยกเลิกการจัดงานไป

กลุ่มอาคารศาลฎีกา คณะราษฎร

กลุ่มอาคารศาลฎีกา

กลุ่มอาคารชุดนี้เริ่มสร้างใน พ.ศ. 2482 เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ที่ประเทศไทยได้รับ “เอกราชทางการศาล” กลับคืนมาใน พ.ศ. 2481 นับจากที่ต้องสูญเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต (กฎหมายไทยไม่อาจใช้บังคับกับมนุษย์ทุกคนในแผ่นดินนี้ได้) ไปตั้งแต่ทำสนธิสัญญาเบาริ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช

เมื่อคณะราษฎรทำการปฏิวัติจึงระบุเรื่องเอกราชเอาไว้เป็นหลักข้อที่ 1 ของหลัก 6 ประการ และเมื่อแก้ไขสนธิสัญญาต่างๆ สำเร็จในสมัยที่ ปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จนได้รับเอกราชทางการศาล จึงเฉลิมฉลองด้วยการสร้างอาคารกลุ่มนี้ขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วย ที่ทำการศาลยุติธรรม ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

กลุ่มอาคารชุดนี้ออกแบบโดย พระสาโรชรัตนนิมมานก์ รูปแบบเป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ด้านหน้าของที่ทำการศาลยุติธรรมมีเสา 6 ต้นเพื่อสื่อถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร อย่างไรก็ดี ความสำคัญของตึกหลังนี้ค่อยๆ ลดลงไปหลังคณะราษฎรหมดอำนาจ และเริ่มมีแนวคิดรื้ออาคารมาโดยตลอดเพื่อสร้างศาลฎีกาใหม่ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ซึ่งความตั้งใจดังกล่าวมาสำเร็จในปี พ.ศ. 2556 ซึ่งกลุ่มอาคารศาลฎีกาทั้งหมดถูกรื้อถอนลง เหลือไว้เพียงส่วนด้านหน้าของที่ทำการศาลยุติธรรมหลังเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

มหาวิทยาลัย คณะราษฎร

มหาวิทยาลัย

ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สยามมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวของประเทศ หลังการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้ในหลัก 6 ประการ ที่มีหลักหนึ่งว่าด้วยการศึกษา จึงได้สถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (ม.ธ.ก.) เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งที่ 2 เป็นตลาดวิชาที่เปิดกว้างให้ราษฎรได้รับการศึกษาขั้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ทางกฎหมาย การปกครอง และสังคม เพื่อที่จะรองรับระบอบการปกครองที่เปลี่ยนไป  ด้วยเหตุนี้ ม.ธ.ก. จึงนับเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกของประเทศไทย

โดยก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2477 มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้ประศาสน์การ ก่อนที่ในปี 2495 จะมีการเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตราบจนปัจจุบัน การมีกำเนิดจากคณะราษฎรนับว่ามีส่วนสำคัญให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นทั้งสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและมีส่วนในการขับเคลื่อนทางการเมืองในสังคมไทย ในฐานะที่เป็นที่ตั้งของสถานที่หลักในการชุมนุมทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง

มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นสถาบันอุดมศึกษาอีกแห่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยนี้ โดยมีจุดเริ่มต้นเริ่มมาจากการก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรมใน พ.ศ. 2476 มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมที่ตอบสนองงานรัฐบาล หลังจากนั้นในปี 2486 จึงยกฐานะขึ้นเป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร” ซึ่งนับเป็นมหาวิทยาลัยทางศิลปะสมัยใหม่แห่งแรกของประเทศไทย โดยมีศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ร่างหลักสูตรศิลปะตามหลักวิชา (academic art) ทั้งนี้ ด้วยความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกรมศิลปากร (ก่อตั้ง พ.ศ. 2476) ซึ่งอยู่ภายใต้นโยบายที่ให้ความสำคัญกับงานศิลปะและวัฒนธรรมในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเป็นชาติ การเรียนการสอนศิลปะในระยะเริ่มต้นนี้จึงเป็นการสร้างบุคลากรในการสร้างอนุสาวรีย์และงานศิลปกรรมต่างๆ ของรัฐ  ลักษณะความสัมพันธ์อันใกล้ชิดส่งผลให้มหาวิทยาลัยศิลปากรยังคงทำงานอย่างสัมพันธ์กับรัฐอย่างต่อเนื่องแม้จะสิ้นสุดยุคอุดมการณ์แบบคณะราษฎรแล้วก็ตาม

สนามกีฬา เวทีราชดำเนิน

สนามกีฬา

ยุคคณะราษฎรเป็นยุคสมัยที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมนโยบายทางด้านกีฬาแก่พลเมืองเป็นอย่างมาก และหนึ่งในหลักฐานที่ชัดเจนคือ การสร้างสนามกีฬาขนาดใหญ่สำหรับพลเมืองไทยกระจายตัวในหลายแห่ง โดยแห่งที่สำคัญที่สุดคือ “สนามศุภชลาศัย” และ “สนามมวยราชดำเนิน”

สนามศุภชลาศัย เป็นสนามกีฬาแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย โครงการออกแบบก่อสร้างเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 โดยหลวงศุภชลาศัย อธิบดีกรมพลศึกษา ณ ขณะนั้น โดยได้มอบหมายให้ พระสาโรชรัตนนิมมานก์ เป็นผู้ออกแบบบนพื้นที่ที่เคยเป็น “วังประทุมวัน” (วังวินด์เซอร์) ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ตัวอาคารสนามกีฬามีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบ Art Deco ที่กำลังเป็นรูปแบบที่นิยม ณ ขณะนั้น การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2484

ส่วน สนามมวยราชดำเนิน ถือเป็นเวทีมวยระดับมาตรฐานสากลแห่งแรกของไทย ก่อสร้างขึ้นตามดำริของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อาคารมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบ Art Deco เช่นเดียวกัน โดยเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วเสร็จหลังสงครามในราวปี 2488

สวนสัตว์ดุสิต

สวนสัตว์

“สวนสัตววิทยา” (zoological garden) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “สวนสัตว์” (zoo) ในยุโรปและอเมริกา ปรากฏขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภายใต้อิทธิพลของความรู้ธรรมชาติวิทยาสมัยใหม่ที่ก่อตัวและขยายตัวภายใต้ระบอบความรู้และการสะสมแบบอาณานิคม ในทำนองเดียวกันกับการเกิดขึ้นของสวนพฤกษศาสตร์ พิพิธภัณฑ์สถาน หอสมุด และหอศิลป์ ซึ่งเป็นสถาบันทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงสถานะจากคลังสะสมของชนชั้นสูงไปสู่สถาบันสาธารณะ

สำหรับสังคมไทย สวนสัตว์สาธารณะแห่งแรกเปิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2481 ภายใต้รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งได้กราบบังคมทูลขอพระราชทาน “เขาดินวนา” (ซึ่งเป็นสวนพฤกษชาติส่วนพระองค์ที่สร้างขึ้นตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) จากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มาจัดตั้งเป็น “สวนสัตว์ดุสิต” สวนสัตว์และสวนสาธารณะเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของราษฎร หลังจากนั้นได้เปิดสวนสัตว์สาธารณะแห่งที่ 2 ขึ้นที่จังหวัดลพบุรีเมื่อปี 2483  สวนสัตว์สาธารณะจึงมีฐานะเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนที่เกิดขึ้นภายใต้นโยบายสร้างความเป็นพลเมืองของชาติที่ทันสมัย อย่างไรก็ดี ในปี 2561 สวนสัตว์ดุสิตได้ปิดตัวลงเพื่อย้ายไปที่จังหวัดปทุมธานี

 

เมรุเผาศพ 

เมรุเผาศพ

เมรุวัดไตรมิตรสร้างแล้วเสร็จในราวกลางทศวรรษที่ 2480 ถือว่าเป็นเมรุเผาศพแบบสมัยใหม่ของสามัญชนแห่งแรก ซึ่งก่อนหน้านี้หากคนธรรมดาตาย จะต้องทำการเผาศพบน “เชิงตะกอน” ที่มิได้มีอะไรมาบดบังสายตาจากภาพอันน่าสังเวชดังกล่าว แต่ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองบนฐานคิดที่ให้ความสำคัญกับพลเมืองมากขึ้น ตลอดจนความเจริญก้าวหน้าทางด้านสุขอนามัยสมัยใหม่ รัฐบาลจึงมอบหมายให้กรมศิลปากรออกแบบเมรุสำหรับเผาศพสามัญชนขึ้นโดยมีวัดไตรมิตรเป็นต้นแบบ

ตัวอาคารออกแบบโดยพระพรหมพิจิตร ด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยสมัยใหม่ มีแผนผังประกอบด้วยอาคาร 3 ส่วน คือ ส่วนโถงด้านหน้าที่ทำเป็นอาคารทรงเครื่องยอดมณฑป ทางด้านหลังเป็นอาคารเตาเผาสมัยใหม่ และมุขหลังคาที่เชื่อมระหว่างอาคารทั้งสอง รูปแบบแผนผังดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมากและกลายมาเป็นแบบแผนให้แก่การสร้างเมรุเผาศพต่อมาจนถึงปัจจุบัน น่าเสียดายที่ในปี 2550 เมรุหลังนี้ได้ถูกรื้อลงและถูกแทนที่ด้วยพระมหามณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำแทน

ปีใหม่ คณะราษฎร

ปีใหม่

ศักดิชัย บำรุงพงศ์ ในนามปากกา “กรัสนัย โปรชาติ” เคยเขียนถึงเรื่อง “ปีใหม่” ลงในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม (ปีที่ 28 ฉบับที่ 3 มกราคม 2550) ความตอนหนึ่งว่า

“ ปีใหม่เป็นเวลาของอนาคตที่ยังไม่มีใครได้ใช้

แต่คนเราก็สามารถจองการใช้ไว้ล่วงหน้าได้

ปีเก่าทิ้งความใหม่ในโครงสร้างเบื้องบนของสังคมไทย

ยอดเก่าถูกบั่นออกไป มีของใหม่เอี่ยมเข้ามาแทนที่

ปีหนึ่งเป็นเวลาที่ไม่นานนัก

สั้นมากด้วยซ้ำไปในแง่ของประวัติศาสตร์

ที่คนจะต้องใช้ในการเปลี่ยนแปลงสังคม

ในช่วงเวลานั้นอาจมีใครคิดจองเวลาไว้เงียบๆ ก็ได้

สำคัญอยู่ที่ว่า เวลาของประวัติศาสตร์อยู่ข้างใคร ”

ใช่ครับ ในปฏิทินแห่งความหวังอันยาวนาน ปีหนึ่งสั้นมากด้วยซ้ำไปในแง่ของประวัติศาสตร์ที่คนจะต้องใช้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้คน  และสำคัญอยู่ที่ว่า เวลาของประวัติศาสตร์อยู่กับใคร ?

ที่มาของข้อมูล

  • ป๋วย อึ๊งภากรณ์, แนวทางสันติวิธี (2520), http://puey-ungpakorn.org/index.php/writer/article/politics?layout=edit&id=536
  • ชาตรี ประกิตนนทการ (บรรณาธิการวิชาการ), ปฏิทินป๋วย 2563: ไทยใหม่-ฉลองรัฐธรรมนูญ, https://www.snf.or.th/2019/thaimaicalendar2563/
  • ขอขอบคุณข้อมูลจาก ชาตรี ประกิตนนทการ, กิตติมา จารีประสิทธิ์, กษมาพร แสงสุระธรรม, ณภัค เสรีรักษ์, ศรัญญู เทพสงเคราะห์ และ Waiting You Curator Lab

หมายเหตุ

ในโอกาสที่ปีใหม่ 2563 กำลังจะมาถึง มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ร่วมกับโครงการระดมทุนจัดสร้าง “สวนป๋วย” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำปฏิทินป๋วย 2563 ขึ้นในหัวข้อ “ไทยใหม่-ฉลองรัฐธรรมนูญ” ซึ่งบรรจุเรื่องราวและรูปภาพเหล่านี้ไว้อย่างครบถ้วน จำหน่ายในราคาเล่มละ 150 บาท ผู้ที่สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่ คุณพัชรศิริ ยิ้มเมือง โทรศัพท์ 08 6763 6644 อีเมล [email protected] และชำระเงินทางบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 024-2-72623-4 ชื่อบัญชี “มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป เพื่อโครงการอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์” ซึ่งรายได้ส่วนหนึ่งหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว จะนำมาสมทบทุนจัดสร้าง “สวนป๋วย” ต่อไป

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save