fbpx
คุณภาพชีวิตที่มากกว่าเพียงอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ

คุณภาพชีวิตที่มากกว่าเพียงอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ที่กรุงเทพมหานครและหลายจังหวัดในประเทศไทย เผชิญกับมลพิษทางอากาศที่รู้จักกันในนาม PM 2.5  มีหลายคนโพสต์ หลายคนแชร์ ข้อเขียนที่ว่า

“ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ”

และ “เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ …คือตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ”

คงจะไม่แปลก ถ้าคนเขียนข้อความนี้ เป็นคนร่วมสมัยกับพวกเราที่ประสบปัญหาพร้อมๆ กัน  แต่อย่างที่บางท่านอาจทราบแล้วว่า ผู้เขียนข้อความนี้ตายไปแล้วเกือบ 20 ปี และเขียนงานชิ้นนี้เมื่อ 45 ปีก่อน

ในวาระ 103 ปีชาตกาล (9 มีนาคม 2459 – 2562) ของป๋วย อึ๊งภากรณ์ จึงอยากชวนรำลึกถึงเขา ผู้มีวิสัยทัศน์ มาก่อนกาล ในมิติทางด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ซึ่งไม่ได้เป็นเพียง ‘ปฏิทินแห่งความหวัง’ ตั้งแต่ ‘จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน’ ของป๋วยคนเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นความหวังของพวกเราทุกคนอีกด้วย

การแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 73
การแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 73
เป็นภาพของป๋วยที่ Wimbledon Common กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2538
พร้อมด้วยข้อความว่า “ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ”
(ภาพจาก Narutchai Rongkupatawanich)

ข้อคิดเรื่องการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ของป๋วย เป็นบทความชิ้นสั้นๆ แต่ทรงพลัง เป็นบทความที่เมื่อเอ่ยถึงแล้ว ย่อมจะต้องเอ่ยชื่อผู้เขียนออกมาได้ทันที  แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า บทความสั้นๆ นี้ พัฒนามาจากข้อเขียนที่ใช้ชื่อว่า การกินดีอยู่ดีของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ปฏิทินแห่งความหวัง จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน) ที่ป๋วยเขียนเป็นภาคผนวกของบทความขนาดยาวเรื่อง ข้อคิดเรื่องการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับ ค.ศ.1980 ซึ่งป๋วยนำไปเสนอในการประชุมกลุ่มที่ปรึกษาการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEADAG) ที่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2516

ป๋วยได้แสดงทัศนะถึงเรื่องคุณภาพชีวิตไว้หลายประการ ซึ่งไม่ได้คิดถึงเพียงคนไทยเท่านั้น แต่ยังกว้างขวางครอบคลุมไปถึงผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลยทีเดียว  เขาสรุปว่าการวางแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือการกินดีอยู่ดีของผู้คนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัย ดังนี้

(ก) สันติภาพ การปลอดจากความกลัว การพ้นจากสงคราม การปล้น การกดขี่ข่มเหง การเบียดเบียนประทุษร้าย และการบีบบังคับเผด็จการของข้าราชการและนักการเมือง

(ข) สุขภาพอันดีทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ การแพทย์ที่ดีและใช้ได้ง่าย

(ค) การปลอดจากความหิวโหยอดอยาก

(ง) การประกอบอาชีพที่เป็นประโยชน์ น่าสนใจและมั่นคง มีรายได้พอใช้

(จ) ที่อยู่อาศัยสะอาดและสบาย

(ฉ) สิทธิที่จะยึดกรรมสิทธิ์ในผลของการออมทรัพย์

(ช) เสรีภาพในการเชื่อถือและศาสนา เสรีภาพที่จะปฏิบัตินอกแบบ

(ซ) โอกาสในการหย่อนใจด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และอื่นๆ

(ฌ) มีส่วนในชุมชนท้องถิ่น

(ญ) การรักษาและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม

(ฎ) ความสามารถช่วยตนเองและช่วยผู้อื่นซึ่งกันและกัน

ป๋วยที่ Isabella Plantation, Richmond Park ประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2527
ป๋วยที่ Isabella Plantation, Richmond Park ประเทศอังกฤษ พ.ศ. 2527
(ภาพโดย ปีเตอร์ ไมตรี อึ๊งภากรณ์)

ทำไมต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

“ชีวิตของเรากับสิ่งแวดล้อมมันเกี่ยวพันกันมากอย่างเหลือเกิน” ป๋วยกล่าวประโยคนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2512 ในการสนทนาเรื่องต้นไม้ในพระนคร ที่สยามสมาคม  เขาจึงตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี และได้กล่าวไว้ในงานสนทนานี้ต่อไปว่า  “บ้านเมืองของเราขาดความรื่นรมย์ ความร่มรื่น เพราะฉะนั้นผมจึงรู้สึกยินดีที่ในวันนี้ก็ได้ท่านทั้งหลายที่มีความรักในต้นไม้มาร่วมกัน … เพื่อจะให้มีการปลูกต้นไม้มากขึ้นในกรุงเทพฯ”

ป๋วยไม่เพียงแต่เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ คำนึงถึงต้นไม้ เรื่องพื้นที่สีเขียว รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ปัจจุบันของผู้คนร่วมสมัยเท่านั้น แต่ป๋วยยังเห็นไปอีกว่า จะต้องคิดคำนึงถึงคนรุ่นหลังอีกด้วย ดังที่เขากล่าวในปาฐกถาเรื่อง พระพุทธศาสนากับการพัฒนาชาติ  (พ.ศ. 2514) ว่า “การพัฒนาชาติจะต้องคำนึงถึงการทะนุถนอมสิ่งแวดล้อมประชาชนด้วย …เวลาที่เราจะพิจารณาถึงเรื่องการพัฒนา จำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงสิ่งแวดล้อมอันเป็นประโยชน์สำหรับสาธารณะและอันเป็นประโยชน์สำหรับบุคคลภายหลังต่อไปด้วย”

 

ป๋วย (คนกลาง) ในวัยหนุ่ม กับการพักผ่อนที่สวนสาธารณะในต่างประเทศ
ป๋วย (คนกลาง) ในวัยหนุ่ม กับการพักผ่อนที่สวนสาธารณะในต่างประเทศ

สถานศึกษาที่รื่นรมย์

ในทางพุทธศาสนา การศึกษามีขึ้นเพื่อพัฒนามนุษย์ และสถานที่ที่จัดให้มีการศึกษาในด้านนี้ก็คือวัด ศัพท์ที่เราใช้เรียกวัดว่า ‘อาราม’ ที่แท้ก็คือสวน แปลต่อไปได้ว่า ถิ่นสถานอันเป็นที่มายินดี หรือเป็นรมยสถานอันรมณีย์[1]ที่น่ารื่นรมย์[2] เพราะภาวะรมณีย์ที่รื่นรมย์นี้เป็นบรรยากาศที่พุทธศาสนาถือว่าสำคัญต่อการเกื้อหนุนชีวิตแห่งการศึกษาภาวนา มีปรากฏเด่นอยู่ในคำสอนทั่วไป[3]

มหาวิทยาลัยก็มีขึ้นเพื่อพัฒนาศักยภาพของมนุษย์อย่างเต็มที่ เฉกเช่นที่ป๋วยเคยแสดงทัศนะไว้ว่าจุดมุ่งหมายของการศึกษามี 3 ประการ คือสร้างบัณฑิตให้เป็นมนุษย์ที่ดี เป็นพลเมืองที่ดี และเป็นผู้สามารถในการประกอบอาชีพ[4]

ป๋วยเห็นว่าบรรยากาศที่ร่มรื่นน่ารื่นรมย์เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนากายภาพของมหาวิทยาลัย ดังปรากฏในจดหมายส่วนตัวที่เขามีไปถึงนายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยของเขา ในปี 2513 ระหว่างที่ป๋วยทำงานเป็นศาสตราจารย์รับเชิญที่มหาวิทยาลัยปรินสตัน รัฐนิวเจอร์ซี สหรัฐอเมริกา แสดงความประสงค์ที่จะพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ร่มรื่นว่า

“มหาวิทยาลัยและเมืองที่นี่ สวยงามร่มรื่นดี มีต้นไม้สนามหญ้ามากน่าดู ทำให้ผมนึกว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ท่าพระจันทร์คงจะทำอย่างนี้ไม่ได้ แต่ที่ใหม่ที่จะไปสร้างที่รังสิต (โดยยังเก็บท่าพระจันทร์ไว้) คงจะทำได้”

ภาพแสดงแบบการก่อสร้างอาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี และ 'สวนป๋วย' ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ติดถนนพหลโยธิน
ภาพแสดงแบบการก่อสร้างอาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี และ ‘สวนป๋วย’
ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ติดถนนพหลโยธิน (ข้างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ)

การสืบสานปณิธานสู่งานรูปธรรมของ ‘สวนป๋วย’

ในวาระ 100 ปีชาตกาลของป๋วย (9 มีนาคม 2559) องค์การ UNESCO ได้ยกย่องให้เขาเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์[5]  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะที่เป็นสถาบันที่ผูกพันกับป๋วยมาตั้งแต่การเป็นนักศึกษา เป็นอาจารย์พิเศษ เป็นศาสตราจารย์ประจำ และเป็นอธิการบดีนั้น ได้จัดกิจกรรมต่างๆ มากมายเพื่อเฉลิมฉลองในวาระนี้ ได้จัดพิมพ์หนังสือจำนวนหลายเรื่องเพื่อสานต่อความคิดของเขา และได้ก่อสร้างอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ขึ้นที่ศูนย์รังสิต เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานในวาระพิเศษนี้

สำหรับอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มีพื้นที่ประมาณ 100 ไร่ ประกอบด้วยอาคารอุทยานเรียนรู้ และ ‘สวนป๋วย’ สวนสาธารณะเพื่อประชาชน โดยตัวอาคารมีพื้นที่ 4 ชั้น สำหรับเรียนรู้อย่างหลากหลาย เช่น ห้องประชุมขนาดใหญ่ หอจดหมายเหตุ หอสมุดประชาชน ห้องนิทรรศการ พิพิธภัณฑ์ และพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมอเนกประสงค์ ฯลฯ  ซึ่งจะแล้วเสร็จในกลางปีนี้

อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่ออกแบบโดยให้มีลักษณะเป็นพูนดินที่โคนต้นไม้ ตามความหมายของชื่อป๋วย
อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่ออกแบบโดยให้มีลักษณะเป็นพูนดินที่โคนต้นไม้ ตามความหมายของชื่อป๋วย
ภาพถ่ายเมื่อปีที่แล้ว แสดงความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่จะแล้วเสร็จในกลางปีนี้
ภาพถ่ายเมื่อปีที่แล้ว แสดงความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่จะแล้วเสร็จในกลางปีนี้

ส่วน ‘สวนป๋วย’ นั้น อยู่ในระหว่างการระดมทุนจำนวนอย่างน้อย 150 ล้านบาท สำหรับเปลี่ยนแปลงพื้นที่เดิมให้กลายเป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ เป็นปอดของเมืองย่านรังสิต มีพื้นที่พักผ่อน ลานกิจกรรม ลานกีฬา ลานออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆ เส้นทางเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ และประติมากรรมอันเป็นอนุสรณ์สำหรับบุคคลอื่นๆ ที่น่ารู้จัก นอกจากบุคคลผู้ถูกใช้ชื่อมาเป็นสวนสาธารณะแห่งนี้[6]

คงจะไม่เกินไปนักที่จะกล่าวว่า การจัดสร้าง ‘สวนป๋วย’ ในอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นการสานต่องานของป๋วยให้เป็นรูปธรรม  นอกจากการสร้างพื้นที่สีเขียวให้มีต้นไม้จำนวนมาก เพื่อให้มี “อากาศที่บริสุทธิ์สำหรับหายใจ” แล้ว  ยังเป็นการส่งเสริม “สุขภาพอันดีทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ”  เพิ่ม “โอกาสในการหย่อนใจด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และอื่นๆ” โดยเป็น “การรักษาและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม” ตามปัจจัยของคุณภาพชีวิตหรือการกินดีอยู่ดีที่ป๋วยเคยเสนอไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2516 นั่นเอง

ภาพการออกแบบเบื้องต้นของ 'สวนป๋วย' ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ภาพการออกแบบเบื้องต้นของ 'สวนป๋วย' ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ภาพการออกแบบเบื้องต้นของ 'สวนป๋วย' ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ภาพการออกแบบเบื้องต้นของ ‘สวนป๋วย’ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
พื้นที่สีเขียวแห่งใหม่สำหรับนักศึกษาและประชาชนในย่านรังสิต

[1] คุณลักษณะสำคัญของความเป็นรมณีย์

  • ฉายูทกสมบัติ – มีน้ำอุดม ร่มรื่นด้วยพฤกษา
  • ภูมิภาคสมบัติ – ทำเล พื้นที่ บริเวณที่สะอาด ไร้ขยะ ไม่รกรุงรัง ปลอดภัย ควรทอดทัศนา สบายตา น่าชื่นชม
  • คมนาคมสมบัติ – ไม่ใกล้ไม่ไกลเกินไป เดินทางไปถึงโดยสะดวก
  • บุคคลสมบัติ – ปลอดคนร้าย มีคนดี มีคนที่พึ่งอาศัยได้ ที่จะให้ความรู้ความเข้าใจ เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพระสงฆ์ต้องเป็นที่สงบสงัด ไม่แออัด ไม่พลุกพล่านจอแจ ควรแก่การแสวงวิเวก

ดู พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), บทนำสู่พุทธธรรม ชีวิตงาม สังคมดี ธรรมชาติเป็นรมณีย์, พิมพ์ครั้งที่ 2 (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2560), หน้า 3.

[2] สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต), มีวัดเป็นรมณีย์ มีกุฎีเป็นที่สบาย (ม.ป.ท.: ม.ป.พ., 2560), หน้า 13, 15.

[3] เพิ่งอ้าง, หน้า 26 และดูตัวอย่างคำสอนที่กล่าวถึงภาวะรมณีย์ได้ที่ ม.มู.12/319/323; 370/398, วินย.4/1/1, วินย.อ.3/373, ที.ม.10/94/120; 104/136, สํ.สฬ.18/552/355, สํ.ส.15/921/341, ขุ.เถร.26/398/410 (เพิ่งอ้าง, หน้า 54-55).

[4] ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “การศึกษา [2508],” ใน ทัศนะทางการศึกษา (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), น. 3 และ ป๋วย อึ๊งภากรณ์, “มหาวิทยาลัยกับสังคมไทย [2516],” ใน ทัศนะทางการศึกษา (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2559), น. 247.

[5] ดู คำประกาศยกย่องป๋วยได้ที่ https://en.unesco.org/celebrations/anniversaries/2016/all?page=2

[6] ผู้สนใจร่วมสมทบทุนสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/pueypark

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save