fbpx
เมื่อพื้นที่สาธารณะขายวิญญาณให้โลกโฆษณา

เมื่อพื้นที่สาธารณะขายวิญญาณให้โลกโฆษณา

Supreme เป็นหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นไม่กี่แบรนด์ที่ทำให้คนนอกวงการแฟชั่นงงกันเป็นแถว เพราะออก item อะไรมาก็มีคนแย่งกันซื้อ คอลเลกชัน Fall/Winter เมื่อปลายปีที่ผ่านมาทำให้เราอ้าปากค้างกับ ‘ก้อนอิฐ’ ปั๊มโลโก้แบรนด์ ที่ถูกปั่นราคาบนอีเบย์จาก 30 เหรียญไปได้ถึงกว่า 1,000 เหรียญ! (จะเอาก้อนอิฐไปทำไมกัน…)

มาถึง item ชิ้นใหม่ในคอลเลกชัน Spring/Summer 2017 อย่างบัตร MetroLink ลาย Supreme ที่เอาไว้ใช้ขึ้นรถไฟใต้ดินและระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ทั่วนิวยอร์ก ก็สร้างปรากฎการณ์แบบเดียวกัน เพราะเหล่าแฟชั่นนิสต้าสายสตรีททั้งหลายรวมไปถึงนักเก็งกำไรจากการรีเซล ต่างแห่กันไปต่อแถวกดซื้อกันตามสถานีซับเวย์จนแถวยาวเหยียด แถมยังมีเหตุทะเลาะเพราะแย่งกันซื้อบัตรพลาสติกใบนี้อีกต่างหาก…

สิ่งที่น่าสนใจกว่าคำถามว่าทำไม Supreme ถึงมีอิทธิพลกับมนุษย์สายแฟชั่น ถึงขั้นต้องแย่งกันซื้อทุกสิ่งอย่างที่ติดโลโก้สีขาวบนพื้นแดง คือวิธีจัดการกับอิทธิพลของโลกโฆษณา ที่กำลังทำมากกว่าการซื้อพื้นที่เล็กๆ บนระบบขนส่งสาธารณะ หลายเมืองทั่วโลกเผชิญกับการต่อรองสิทธิ์ในพื้นที่ของตัวเอง แต่สิ่งที่ได้กลับคืนมามันคุ้มค่ากับความเป็น ‘สาธารณะ’ ที่เสียไปหรือเปล่า

นั่นคือคำถามที่เราอยากชวนคุณมาหาคำตอบกัน!

มาดริด: Vodafone Sol Station

ในปี 2013 รัฐบาลของเมืองมาดริดเซ็นสัญญากับ Vodafone ผู้ให้บริการโทรศัพท์จากอังกฤษ ในการเปลี่ยนชื่อสถานี Sol สถานีรถไฟใต้ดินใจกลางเมืองหลวงของสเปนให้มีชื่อแบรนด์ติดเข้าไปด้วย นอกจากชื่อสถานีจะถูกเปลี่ยน สัญลักษณ์ทั้งสายรถไฟยังเปลี่ยนให้ถูกเรียกว่า ‘Line 2 Vodafone’ ด้วย ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากผู้คน แต่ดีลนี้ก็สร้างรายได้ให้กับหน่วยงานถึง 3.8 ล้านเหรียญสหรัฐตลอดระยะเวลาสามปี (เพียงแต่ตอนนี้หมดสัญญาไปแล้ว)

นอกจากเปลี่ยนชื่อสถานี (ที่ก่อนหน้านี้เคยนำร่องด้วยการให้ Samsung ซื้อไปด้วยในชื่อ Sol Galaxy Note ในระยะเวลาสั้นๆ) ห้างสรรพสินค้า Carrefour ยังซื้อพื้นที่ในแอปมือถือไว้บอกที่ตั้งของห้างโดยรอบสถานีรถไฟ รวมทั้งดีลกับบริษัทเช่ารถให้แปะที่ตั้งของบริษัทบนแผนที่กระดาษที่แจกให้ผู้โดยสารตามสถานีอีกด้วย ทำให้ตลอดปีนั้น หน่วยงานขนส่งได้เงินจากการโฆษณาทั้งหมดไปถึง 14.4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ถึงจะโดนคัดค้าน แต่ผลประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากการ ‘ขายวิญญาณ’ ครั้งนี้ของขนส่งสาธารณะมาดริดก็คือปริมาณหนี้ที่ลดลง ได้เงินมาพัฒนาคุณภาพบริการ ที่สำคัญที่สุดคือค่าโดยสารที่ไม่ปรับขึ้นตามต้นทุนที่สูงขึ้นจากการบำรุงรักษา ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการหารายได้ด้วยวิธีนี้

ลอนดอน: Sponsored Tube

ในปีเดียวกันกับที่มาดริดขายวิญญาณให้โลกทุนนิยม ที่ลอนดอนก็ถกเถียงกันว่าระบบรถไฟใต้ดินสุดเก่าแก่อย่าง Tube ควรจะเปลี่ยนชื่อสถานีตามข้อเสนอของแบรนด์ดังๆ หรือเปล่า

ข้อเสนอของฝ่ายที่สนับสนุนให้ Transportation for London (TfL) ให้สิทธิ์กับบริษัทเอกชนในการเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนในแต่ละสถานี นอกจากเรื่องของการได้เงินมาพัฒนาและบำรุงรักษาระบบรถไฟ รวมไปถึงเป็นงบประมาณที่จะมา subsidize ราคาค่าโดยสาร (ที่เพิ่มขึ้นกว่า 4.2% ในปีนั้น) คือผลพลอยได้ที่บริษัทผู้สนับสนุนจะเข้ามาพัฒนาให้อุปกรณ์และบริการในสถานีดูดีขึ้น

ไล่ไปตั้งแต่ลิฟต์ ราวบันได ห้องน้ำ ความสะอาดของสถานี ไปจนถึงสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการอย่างสัญญาณ wifi และโทรศัพท์ เพราะขึ้นชื่อว่ามีชื่อแบรนด์ของตัวเองติดอยู่ในสถานี แบรนด์ก็อยากจะทำให้สถานีตัวเองดูดีตามไปด้วย

จนถึงตอนนี้ TfL ที่มีนายกเทศมนตรีลอนดอนเป็นประธานบอร์ดยังไม่ตกลงที่จะให้มี Sponsored Station ในรถไฟใต้ดินอย่างเป็นทางการ (นำร่องเพียงครั้งเดียวด้วยการยอมใช้ชื่อยี่ห้อน้ำดื่มในสถานีเมื่อวันงาน London Marathon 2015) นอกจากเสียงคัดค้านตามปกติที่จะเกิดขึ้น ยังมีเหตุผลที่ว่าค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนชื่อสถานียังสูงมากเกินจะรับไหว แต่ก็ยังเปิดกว้างที่จะเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์ต่างๆ หนึ่งในนั้นคือกระเช้าลอยฟ้าข้ามแม่น้ำเทมส์ ‘Emirates Air Line’ ที่ดำเนินการโดย TfL บริการเดียวที่สนับสนุนสายการบินเอมิเรตส์ ผู้ได้สิทธิ์แปะโลโก้ไว้ข้างสัญลักษ์วงกลมที่เป็นเอกลักษณ์ของ TfL อย่างเป็นทางการ

บนเว็บไซต์ในตอนนี้ของ TfL เองยังบอกด้วยว่าการร่วมมือกับแบรนด์คือแผนในการสร้างรายได้ (ที่ไม่ได้มาจากค่าโดยสาร รายได้หลักของหน่วยงานในตอนนี้) ในอีก10 ปีข้างหน้า เพื่อนำเงินที่ได้กลับเข้าสู่การพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และลดค่าโดยสารให้ถูกลงกว่าเดิมเพื่อลอนดอนเนอร์ทุกคน

กรุงเทพ: เน็กซ์สเตชั่น ซงจุงกิ

ต้นปี 2017 ชาวกรุงเทพมหานครพร้อมใจกันตาลายไปกับสีแดงสดบนโฆษณาข้างรถ ในรถ เพดานรถ เหนือที่ซื้อตั๋ว ประตูทางเข้า บัตรโดยสาร ชื่อสถานี ไปจนถึงเสียงประกาศชื่อแบรนด์ที่แทรกมาในบางสถานีบีทีเอส เสียงวิจารณ์ (ปนตกใจ) ของหลายคนเชื่อกันว่าการปรากฎตัวของพี่ซงจุงกิในครั้งนี้คือการ ‘ขายวิญญาณ’ ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของระบบขนส่งสาธารณะของไทย

อันที่จริงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะบีทีเอสเองเป็นบริษัทเอกชนที่มีเป้าหมายในการสร้างผลกำไรเพื่อบริษัทและผู้ถือหุ้น ในเอกสารรายงานผลการดำเนินงานล่าสุด คีรี กาญจนภาสณ์ ประธานกรรมการบริษัทบอกเอาไว้ว่า

“บีทีเอส กรุ๊ป ได้รับผลประโยชน์จากการขยายตัวของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในประเทศไทย โดยธุรกิจระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ มีลักษณะธุรกิจที่ผู้ประกอบการรายอื่น เข้ามาได้ยากเนื่องจากใช้เงินลงทุนสูงและต้องมีความชํานาญ ส่งผลให้ธุรกิจอีก 3 ส่วนของบริษัทฯ ได้รับอานิสงส์ด้วย

“การขยายตัวของโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางยังส่งผล ประโยชน์ไปถึงธุรกิจสื่อโฆษณาของบริษัทฯ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะสามารถเพิ่มระยะทางเครือข่ายรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ได้อีก 108.8 กิโลเมตรนั้น วีจีไอ [บริษัทลูกผู้จัดการสื่อโฆษณาของบีทีเอส] จะได้รับประโยชน์จากการเพิ่มขึ้นของ จําานวนสถานีและขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอสโดยตรง โดยคาดว่าวีจีไอ จะสามารถเพิ่มจํานวนพื้นที่สื่อโฆษณาได้มากถึง 4 เท่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า”

คำถามคือ เป้าหมายของการเพิ่มพื้นที่โฆษณาให้มากขึ้นของบีทีเอส เมื่อเทียบกับอีกสองเมืองใหญ่ในโลกที่หาหนทางในการอยู่ร่วมกับโลกทุนนิยม ความเหมือนและต่างกันมีมากน้อยแค่ไหน

มาดริดยอมให้ชื่อสินค้าอยู่บนป้ายเพื่อพัฒนาบริการและไม่เพิ่มภาระให้ผู้โดยสาร

ลอนดอนมีแผนทำงานร่วมกับแบรนด์เพื่อหารายได้ทดแทน เพื่อลดค่าโดยสารลง

ส่วนในกรุงเทพ สิ่งที่เราเห็นคือรอยยิ้มของโอปป้ากับตู้ขายตั๋วรอบเสา

คำถามก็คือ-สิ่งเหล่านี้แลกมาด้วยอะไร?

 

อ่านเพิ่มเติม

-บทความ Supreme Metro Cards Cause Fights in New York City Subway ของ Alyssa Hardy จาก Teen Vogue, 

-บทความ Mobile Apps Driving $14M in Transit Sponsorships ของ EfficientGov Staff จาก Efficient Gov, October 14, 2014

-บทความ Madrid’s Public Transit, Brought to You by Megacorporations ของ Feargus O’sullivan จาก Citylab, 

-บทความ London Underground agrees first tube station sponsorship on marathon day ของ Sean Farrell จาก The Guardian,

-ประกาศ Commercial partnerships จาก Transport For London

-ข่าว Sponsoring Tube ‘could improve stations’, say Tories จาก BBC, October 30, 2013

-รายงานเรื่อง LIMITLESS POSSIBILITIES จาก บีทีเอส กรุ๊ป 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save