fbpx

มีอะไรในกฎหมาย : กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ

ในแต่ละปีเรือนจำปล่อยตัวนักโทษประมาณปีละ 200,000 คน ส่วนมากคือนักโทษคดียาเสพติด ในบรรดานักโทษที่ปล่อยตัวจากเรือนจำดังกล่าวมีเพียงประมาณ 6% เท่านั้นที่เป็นการปล่อยตัวแบบพักการลงโทษ (libération conditionnelle[1], parole[2], release on licence[3] ) การปล่อยตัวแบบพักการลงโทษ หมายถึง นักโทษเด็ดขาดเหล่านี้ไม่ได้พ้นโทษแล้วพ้นเลย แต่ได้รับการปล่อยตัวอยู่ภายใต้ความดูแลของเจ้าหน้าที่คุมประพฤติ ในระหว่างระยะเวลาคุมประพฤติ ถ้าเขาไปกระทำความผิดซ้ำหรือทำผิดเงื่อนไขก็อาจถูกจับมารับโทษต่อในเรือนจำได้ ในขณะที่นักโทษเด็ดขาดมากกว่า 93% ได้รับการปล่อยตัวแบบ ‘พ้นแล้วพ้นเลย’ หมายถึง เปิดประตูเรือนจำและเขาได้รับอิสระไปไหนมาไหนก็ได้โดยไม่มีใครไปเฝ้าระวังดูแล ไม่มีหน้าที่ต้องไปรายงานตัวกับใคร

หากเป็นคดีอาญาทั่วไป เช่น ลักทรัพย์ หรือคดียาเสพติดซึ่งเป็นคดีที่มีนักโทษจำนวนมากที่สุดในเรือนจำ การป้องกันการกระทำความผิดซ้ำก็อาจทำได้โดยการใช้มาตรการทั่วไป แบบเดียวกันกับมาตรการทางกฎหมาย มาตรการทางสังคมและมาตรการอื่นๆ ในการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดอาญา แต่หากนักโทษที่เป็นผู้ได้รับการปล่อยตัวแบบ ‘พ้นแล้วพ้นเลย’ เหล่านี้เป็นผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรง เช่น เป็นผู้กระทำความผิดฆาตกรรม ข่มขืนกระทำชำเรา ลักพาตัวเรียกค่าไถ่ การปล่อยตัวแบบ ‘พ้นแล้วพ้นเลย’ ยอมสร้างความเสี่ยงภัยให้กับสังคมที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการที่นักโทษเหล่านี้ไปกระทำความผิดซ้ำ มาตรการทั่วไปคงไม่พอที่จะป้องกันการกระทำความผิดซ้ำบุคคลเหล่านี้  

ในออสเตรเลียเรียกชื่อผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงเหล่านี้ว่าเป็น ‘ผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์’ (serious offenders) ในอังกฤษเรียกว่า ‘ผู้กระทำความผิดอันตราย’ (dangerous offenders) เช่นเดียวกับในฝรั่งเศสที่เรียกว่า ‘dangereux’ กฎหมายในหลายประเทศมีมาตรการพิเศษเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดอุกฉกรรจ์เหล่านี้ไปกระทำความผิดซ้ำภายหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ มาตรการพิเศษดังกล่าวมาอยู่ในกฎหมายไทยฉบับหนึ่งที่ได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 และมีผลใช้บังคับแล้วเมื่อ 23 มกราคม 2566 ที่ผ่านมานี้ คือ พระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565  (ต่อไปนี้ขอเรียกว่า ‘กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ’)

กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำมีหลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ ประการที่หนึ่ง คุ้มครองความปลอดภัยของสังคมไม่ให้ได้รับอันตรายซ้ำจากผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง ประการที่สอง มุ่งฟื้นฟูแก้ไขผู้กระทำความผิดดังกล่าว และประการที่สาม เคารพสิทธิของผู้ต้องคำสั่งต่างๆ อย่างเหมาะสม[4]

ก่อนอื่น กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ใช้กับนักโทษทุกคนที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ (แต่ละปีปล่อยนักโทษประมาณปีละ 200,000 คน) แต่กฎหมายฉบับนี้ใช้เฉพาะกับนักโทษประมาณ 1,700 คนเท่านั้นที่เป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือคดีที่ใช้ความรุนแรง เช่น ฆาตกรรมหรือทำร้ายร่างกายสาหัส

มาตรการในกฎหมาย แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบคือ มาตรการทางการแพทย์ มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ


1. มาตรการทางการแพทย์ (medical treatment)

ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ เช่น ข่มขืนกระทำชำเรา ข่มขืนเด็ก อนาจาร อาจมีสาเหตุการกระทำความผิดแตกต่างกันไป บางรายมีสาเหตุมาจากทางร่างกาย เช่น ฮอร์โมนที่ผิดปกติ วิธีการป้องกันไม่ให้ไปเกิดอันตรายต่อสังคมที่ดีวิธีหนึ่ง คือ การใช้มาตรการทางการแพทย์ในการบำบัด ซึ่งมีหลายรูปแบบ รวมทั้งการใช้ยาหรือสารเคมีในการลดความต้องการทางเพศ (chemical castration) ซึ่งหากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องแล้ว บุคคลเหล่านี้ก็อาจกลับเข้าสู่สังคมได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อคนอื่น

กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มาตรา 19 (1) กำหนดให้ศาลอาจออกคำสั่งให้ใช้ยาหรือสารเคมีเพื่อลดความต้องการทางเพศเพื่อการบำบัดรักษาผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศในบางรายได้ แต่ผู้กระทำความผิดต้องยินยอมให้ใช้ยาดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน

คำถามก็คือ แล้วใครจะยินยอมให้แพทย์ฉีดยาระงับความรู้สึกทางเพศของตัวเอง คำตอบอยู่ในกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มาตรา 21 วรรค 2 ที่กำหนดว่า หากผู้กระทำความผิดย่อมเข้าสู่การบำบัด ก็จะเป็นเหตุให้ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำก่อนกำหนดได้ ตรงกันข้าม ถ้าไม่ยินยอมเข้าสู่การบำบัด ผู้กระทำผิดก็จะต้องติดคุกเต็มจำนวนตามปกติ


2. มาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ (supervision orders)

ในเวลาที่กรมราชทัณฑ์กำลังจะปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดที่เป็นผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มาตรา 23 กำหนดให้กรมราชทัณฑ์จำแนกนักโทษเด็ดขาดเป็นรายบุคคล เพื่อดูว่าผู้กระทำความผิดเหล่านี้มีคนใดเข้าข่ายที่จะมีโอกาสในการเป็นผู้กระทำความผิดซ้ำ กรมราชทัณฑ์จะส่งรายชื่อคนที่เข้าข่ายให้คณะกรรมการร่วมเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง คณะกรรมการร่วมนี้จะเสนอพนักงานอัยการและเสนอต่อศาล  นักโทษสามารถมาต่อสู้กับศาลได้ว่าเขาไม่เป็นอันตรายแล้ว โดยนักโทษจะได้รับความช่วยเหลือจากทนายความ

หากศาลเห็นว่านักโทษเด็ดขาดจะกระทำความผิดซ้ำภายหลังปล่อยตัว ศาลจะกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ซึ่งมีทั้งสิ้น 13 มาตรการ เช่น การให้มารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย ห้ามทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการกระทำความผิด ให้พักอาศัยในสถานที่ที่กำหนด รวมทั้งการติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว ฯลฯ

ศาลสามารถกำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษได้สูงสุด 10 ปี แต่ในทุกรอบ 6 เดือน จะต้องนำมาให้ศาลตรวจสอบดูว่าสมควรที่จะใช้มาตรการดังกล่าวต่อไปหรือไม่

หากนักโทษเด็ดขาดฝ่าฝืนมาตรการเฝ้าระวังดังกล่าว อาจมีการตักเตือนแก้ไขหรือศาลอาจจะกำหนดให้มีการคุมขังภายหลังพ้นโทษได้


3. มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ (detention orders)

มาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษนำมาใช้ 2 กรณี คือ

กรณีที่ 1 ใช้กับผู้ถูกเฝ้าระวังภายใต้คำสั่งเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ หากผู้ถูกเฝ้าระวังคนใดฝ่าฝืนมาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ ศาลอาจจะออกคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษได้ (กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มาตรา 30) เพื่อเป็นมาตรการบังคับให้ผู้ถูกเฝ้าระวังต้องปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวังภายหลังพ้นโทษ

กรณีที่ 2 ศาลสามารถออกคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษได้ทันที ตั้งแต่เวลาที่ปล่อยตัวนักโทษจากเรือนจำ (กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มาตรา 28)  ศาลจะออกคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษได้ไม่เกิน 3 ปี หากศาลเห็นว่านักโทษที่กระทำความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรงจะไปกระทำความผิดซ้ำหลังจากปล่อยตัว และไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะป้องกันไม่ให้ไปกระทำความผิดซ้ำอีกได้ (last resort)

ในระหว่างการคุมขังภายหลังพ้นโทษ ในทุกรอบ 6 เดือน ศาลจะเข้ามาตรวจสอบว่าสมควรที่จะขังนักโทษเด็ดขาดไว้ต่อไปหรือไม่

สองคำถามทางกฎหมายที่น่าคิด สำหรับคำสั่งคุมขังภายหลังพ้นโทษ

1. การให้ศาลมาพิจารณานักโทษเด็ดขาดที่กำลังจะถูกปล่อยตัวอีกครั้งถือว่าสอดคล้องกับหลักห้ามดำเนินคดีสองครั้งสำหรับการกระทำความผิดเพียงครั้งเดียว (ne bis in idem, double jeopardy) หรือไม่

คนเราเมื่อกระทำความผิดเพียงครั้งเดียวจะไม่ถูกนำขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดีสองครั้ง ถือเป็นหลักสิทธิมนุษยชนที่รับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 14.7 การที่นักโทษเด็ดขาดที่เคยถูกศาลพิพากษาและจำคุกมาแล้วจนใกล้จะพ้นโทษแล้วจะต้องถูกนำมาขึ้นศาลอีกครั้งในเวลาใกล้จะปล่อยตัวตามกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ไม่ถือเป็นการขัดกับหลักการดังกล่าว เพราะการพิจารณาครั้งที่สองก่อนปล่อยตัวนี้ไม่ใช่การพิจารณาการกระทำความผิดของเขาในอดีต แต่เป็นการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในอนาคตว่าเขาจะไปกระทำความผิดซ้ำอีกหรือไม่ และควรจะมีมาตรการใดในการป้องกันไม่ให้เขาไปกระทำความผิดซ้ำ

2. การคุมขังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) ให้ความเห็นใน General Comment หมายเลข 35 ย่อหน้าที่ 21[5] ว่า ในบางประเทศจะมีมาตรการที่เรียกว่า การคุมขังเพื่อความปลอดภัยสาธารณะ (public security detention) การคุมขังดังกล่าวสามารถทำได้ถ้าเข้าเงื่อนไข 5 ประการคือ

1) เป็นมาตรการสุดท้าย (last resort)

2) เป็นกรณีที่ผู้กระทำได้ก่ออาชญากรรมรุนแรงและความเป็นไปได้ของผู้กระทำที่จะกระทำความผิดซ้ำอีกในอนาคต    

3) ต้องมีกระบวนการตรวจสอบตามกำหนดระยะเวลาโดยองค์กรอิสระ (independent body)

4) ต้องปฏิบัติกับผู้ถูกคุมขังภายหลังพ้นโทษแตกต่างจากนักโทษเด็ดขาดที่ถูกลงโทษในเรือนจำ และดำเนินการคุมขังเพื่อฟื้นฟูแก้ไขและนำผู้ถูกคุมขังกลับสู่สังคม

5) ไม่มีผลย้อนหลัง

กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำของไทยสอดคล้องกับแนวความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนใน 4 ข้อแรก คือ การคุมขังภายหลังพ้นโทษเป็นมาตรการสุดท้าย (มาตรา 28) มีความเสี่ยงไปกระทำความผิดซ้ำในอนาคต (มาตรา 28) มีการตรวจสอบการคุมขังโดยศาลทุก 6 เดือน (มาตรา 34) ปฏิบัติกับผู้ถูกคุมขังต่างจากนักโทษ (มาตรา 34 การห้ามขังในเรือนจำ)

อย่างไรก็ตาม บทเฉพาะกาลในมาตรา 43 ที่ว่า ให้นำกฎหมายนี้ไปใช้บังคับกับกรณีที่มีการปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดูเหมือนบทเฉพาะกาลดังกล่าวจะให้เอาการคุมขังภายหลังพ้นโทษไปใช้กับการกระทำความผิดก่อนที่กฎหมายใช้บังคับได้ ซึ่งไม่น่าจะสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน

การคุ้มครองความปลอดภัยของสังคมโดยการกำหนดมาตรการป้องกันที่จำเป็นเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดที่กำลังจะถูกปล่อยตัวจากเรือนจำไปกระทำความผิดซ้ำเป็นสิ่งจำเป็นที่ในหลายประเทศได้ดำเนินการ รวมทั้งในประเทศไทยที่ได้ดำเนินการโดยกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ  ความยากของการปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ คือ ‘การคาดการณ์อนาคต’ ว่าผู้ที่กำลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำจะไปกระทำความผิดซ้ำหรือไม่ ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการยุติธรรมทั่วไปที่ดำเนินการพิสูจน์ ‘การกระทำในอดีต’ ที่ผู้กระทำความผิดได้กระทำลงไปแล้ว การคาดการณ์อนาคตที่ใกล้เคียงความจริงมากที่สุดซึ่งจะต้องใช้ความรู้และทักษะต่างๆ ผสมผสานกัน จะช่วยทำให้เราสามารถป้องกันการกระทำความผิดซ้ำไม่ให้เกิดขึ้นอีกจนสร้างความสะเทือนขวัญให้กับสังคม และยังช่วยทำให้เราไม่ต้องเปลืองทรัพยากรทั้งบุคคล งบประมาณและเวลาในการไปใช้มาตรการต่างๆกับบุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดอันตราย (dangerous) อีกด้วย

References
1 ในฝรั่งเศส
2 ในสหรัฐอเมริกา
3 ในอังกฤษ
4 ปรากฏในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. 2565 ; ดู ปกป้อง ศรีสนิท, ‘แนวทางการปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันอันตรายจากผู้กระทําความผิดหรือผู้พ้นโทษที่มีพฤติการณ์เป็นภัยต่อสังคมระยะที่1’ (2564) 4 วารสารนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 504-531.
5 Human Rights Committee, General Comment no.35 para.21

MOST READ

Law

25 Aug 2022

กฎหมายยาเสพติดใหม่: 8 เดือนของการบังคับใช้ในภาวะที่ยังไร้กฎหมายลูก กับ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล

101 คุยกับอัยการ ภูวิชชชญา เหลืองธีรกุล ถึงประโยชน์และช่องว่างที่พบในการบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ตลอด 8 เดือนที่ผ่านมา

วงศ์พันธ์ อมรินทร์เทวา

25 Aug 2022

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save