fbpx

สวนสวยในเมือง(ห)ลวง

พักหลังๆ หากได้เข้ากรุงเทพฯ คราใด ผมมักหาโอกาสไปสวนสาธารณะเสมอ (จากเมื่อ 4-5 ปีก่อนชอบเดินสำรวจห้าง) ตั้งแต่หันมาวิ่งออกกำลังกายและกลายเป็นเทรนเนอร์ในเกมโปเกมอนโก นึกอิจฉาคนกรุงเทพฯ ที่มีสวนใหญ่ๆ ให้วิ่ง อีกทั้งยังเป็นรังของโปเกมอนหายาก และเป็นแหล่งรวมยิม ได้ทั้งออกกำลังกายและจับโปเกมอน (หรือร่วมกลุ่มตีบอส) ไปพร้อมกัน

สวนจตุจักรกับสวนลุมพินีคือสวนที่ผมไปบ่อยๆ เพราะไปง่าย มีรถไฟฟ้าถึง ไม่ว่าแบบบนดิน (BTS) หรือใต้ดิน (MRT) วิ่งรอบหนึ่ง 2-3 กิโลฯ แถมยังไปต่อสวนอื่นได้อีก สวนจตุจักรไปสวนสมเด็จฯ กับสวนรถไฟ (อยู่ติดๆ กัน) สวนลุมฯ ไปสวนเบญจกิติ (ใช้สะพานเขียว)

ขณะที่ทุกสวนที่มีอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่ไม่มีสวนไหนใหญ่เท่านี้ (ไม่นับที่เป็นสนามกีฬา) สวนที่ใหญ่สุดของ กทม. คือ สวนหลวง ร.9 มีขนาด 500 ไร่ รอบหนึ่งคือ 5 กิโลฯ สวนขนาดใหญ่ที่สุดที่เชียงใหม่ก็มีชื่อคล้ายกันคือ สวนล้านนา ร.9 ขนาด 170 ไร่ รอบละ 1 กิโลฯ เศษ ยังไม่พูดถึงความนิยมและการดูแลรักษา ซึ่งสวน ร.9 ที่เชียงใหม่ไม่มีอะไรไปเทียบ

สวนในกรุงเทพฯ ที่อยากไปจริงๆ ตั้งแต่เมื่อครั้งได้ยินข่าวโครงการนี้เมื่อหลายปีก่อนก็ไม่พ้น ‘สวนป่าเบญจกิติ’ ซึ่งเป็นส่วนต่อขยาย (ส่วนที่ 2 แบ่งเป็น 3 ระยะ) จากสวนเบญจกิติเดิมที่มีมาตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเป็นเส้นทางออกกำลังกายรอบบึงยาสูบข้างๆ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (ส่วนที่ 1) ยิ่งในช่วงกันยายน-ตุลาคมปีที่แล้วเห็นหลายเพจลงรูปถี่ๆ ว่าได้เข้าทดลองใช้สวนจริงมาแล้วก็ยิ่งกระตุ้นต่อมความอยากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเส้นทางวิ่งบนทางเดินลอยฟ้า (skywalk) แต่พอผมได้ไปจริงๆ ประมาณเดือนพฤศจิกายน สวนก็ยังไม่เปิด และเท่าที่เห็นไกลๆ จากนอกรั้วก็ยังไม่น่าจะเสร็จในเวลาอันใกล้ (หมายถึงส่วนที่ 2 เฟส 2-3)

แต่จนแล้วจนรอด สวนส่วนนี้ก็เปิดให้ประชาชนเข้าไปใช้งานได้หลังขึ้นปีใหม่ ท่ามกลางสัญญาณบ่งชี้ว่ากำลังจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้งที่กำหนดเปิดอย่างเป็นทางการคือ วันที่ 12 สิงหาคม 2565 โดยบอกว่ามอบให้เป็นของขวัญแก่ชาวกรุงเทพฯ

สวนเบญจกิติมีพื้นที่รวมทั้งหมด 450 ไร่ ตั้งอยู่บนบริเวณที่ดินของโรงงานยาสูบเดิม หลังจากโรงงานถูกย้ายออกไปอยู่ที่อยุธยาแล้ว จึงพัฒนาพื้นที่ตรงนี้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่กลางเมือง ระยะแรกริเริ่มพัฒนาโดยกรมธนารักษ์ ก่อนที่ต่อมากองทัพบกจะเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง (ส่วนที่ 2) และในที่สุดก็ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กรุงเทพมหานครรับไปดูแลรักษาและบริหารจัดการ งบประมาณที่ใช้มาจากการยาสูบแห่งประเทศไทย (เพิ่งเปลี่ยนเป็นชื่อนี้เมื่อปี 2561) ในกรอบวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท

บ่ายแก่ๆ วันหนึ่งปลายเดือนกุมภาพันธ์ ผมมีโอกาสไปลองเดินเล่นวนไปวนมาในสวนแห่งนี้ แต่ไม่ได้รู้สึกร่มรื่นเหมือนชื่อที่บอกว่าเป็นสวนป่าเลย ต้นไม้เหี่ยวเฉาแห้งตายมีให้เห็นตลอดเส้นทางเดินสำรวจธรรมชาติ แถมพูดได้อย่างเต็มปากว่ายังสร้างไม่เสร็จ เนื่องจากแนวคิดการออกแบบตั้งใจให้ปลูกพรรณไม้ใหญ่ที่มีลักษณะต้นสูงโปร่งและใบหนาทึบ ผสมผสานกับต้นไม้ที่เป็นของเดิม และปรับปรุงบางอาคารที่เก็บไว้เป็นพิพิธภัณฑ์และสนามกีฬา แน่นอนว่าคงต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะขยับเข้าใกล้ภาพฝันนั้น

จนเกิดคำถามว่าทำไมหน่วยงานส่วนกลางในกรุงเทพฯ ถึงพยายามตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องเข้ากับเป้าหมายเรื่องพื้นที่สีเขียวของ กทม. อย่างพอเหมาะพอเจาะ ขณะที่หน่วยงานเดียวกัน ทว่าปฏิบัติหน้าที่ในต่างจังหวัดกลับไม่ได้มีวิธีคิดแบบเดียวกันนี้

ย้อนกลับไปช่วงคาบเกี่ยวกับที่เริ่มมีโครงการพัฒนาสวนเบญจกิติส่วนที่ 2 ระยะที่ 1 ราวปี 2559 ที่เชียงใหม่ กรมธนารักษ์พยายามผลักดันให้เกิดโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ (อธิบายง่ายๆ คือคอนโดฯ สำหรับข้าราชการ) ขึ้นในบริเวณที่ทิ้งร้างที่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ปกคลุม อันเคยเป็นที่ตั้งของโรงงานห้องเย็นขององค์การอุตสาหกรรมห้องเย็นมาก่อน แต่ปิดตัวลงไปนานแล้ว (จนกลายเป็นเส้นทางเทรลของชาวต่างชาติที่อยากได้ความรู้สึกเหมือนวิ่งในป่า แต่อันที่จริงอยู่ในเมือง) ติดกับโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย

หลังมีการเปิดให้จองไม่นานก็นำไปสู่ความเคลื่อนไหวของสมาคมผู้ปกครองและครู สมาคมนักเรียนเก่าของโรงเรียน เดินหน้าเข้าร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม และยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเชียงใหม่ (ร่วมกับโรงเรียนอื่นบริเวณใกล้เคียง) เพื่อให้ยุติการดำเนินการ เป็นผลให้ต่อมากรมธนารักษ์ต้องแถลงยกเลิกโครงการ พร้อมหารือผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และภาคประชาชนเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวต่อไป ซึ่งที่สุดก็ได้กลายเป็น ‘สวนสาธารณะเจริญประเทศ’ เสร็จปี 2562 โดยความร่วมมือของ 3 หน่วยงาน กรมธนารักษ์ (มอบพื้นที่ให้) เทศบาลนครเชียงใหม่ (ผู้ขอใช้พื้นที่) และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ (เจ้าภาพด้านงบประมาณที่ใช้ในการปรับปรุง 13 ล้านบาทเศษ) โดยภาคประชาสังคมคือเครือข่ายร่วมสร้างสรรค์มหัศจรรย์กลางเมือง ช่วยสนับสนุนเงินสมทบอีกส่วนหนึ่ง (4-5 แสนบาท)

ในขณะที่คนกรุงเทพฯ ได้สวนเบญจกิติมาอย่างง่ายดาย คนต่างจังหวัดต้องต่อสู้เรียกร้องถึงจะได้มา แน่ละ สวนแห่งนี้ไม่ใช่ตัวอย่างเดียวของพื้นที่สาธารณะที่เป็นผลจากการเรียกร้องผลักดันของคนในต่างจังหวัด ยังมีกรณีอีกมากมายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกับการเคลื่อนไหวให้ย้ายสถานที่ราชการออกไปจากย่านใจกลางเมือง ไม่ว่าศาลากลาง เรือนจำ หรือสนามบินเก่าก็ตาม

ข้างต้นสะท้อนว่าอำนาจจัดการ ‘เหนือ’ พื้นที่ไม่ได้เป็นของท้องถิ่น พื้นที่เมืองโดยส่วนใหญ่ถูกครอบครองโดยส่วนราชการซึ่งกรมธนารักษ์อนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุอยู่ การตัดสินใจว่าจะให้ที่ดินผืนนั้นเป็นอะไรจึงขึ้นอยู่กับนโยบายของกรมธนารักษ์ ซึ่งที่ผ่านมามุ่งเน้นการพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์เป็นหลัก

อีกทั้งสวนสาธารณะจำนวนไม่น้อยของเมืองต่างจังหวัดไม่ได้อยู่ในความดูแลของท้องถิ่น แต่เป็นของหน่วยราชการส่วนกลางต่างๆ ที่บางครั้งก็ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับประชาชนเสมอไป ขอยกตัวอย่างใกล้ตัวที่ผมพบเจอที่เชียงใหม่ เช่น สวนรุกขชาติห้วยแก้วของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ต้องถูกปิดไปนานหลายเดือนตามมาตรการปิดการท่องเที่ยวเขตอุทยานแห่งชาติเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งที่ก็ไม่ได้เกี่ยวกัน บางหน่วยงานขาดแคลนงบประมาณดูแลรักษามักปล่อยปละละเลย เช่น สวนหย่อมหน้าค่ายกาวิละ หรือไม่ก็ยุติการให้บริการไปเลย เช่น สวนสาธารณะบนที่ดินของการรถไฟ (ซึ่งช่วงหนึ่งเคยยกให้ทางเทศบาลดูแล ภายหลังขอเอาพื้นที่คืน แต่กลับดูแลไม่ไหว) ยกเว้นสวนในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งค่อนข้างเอื้อต่อบุคคลภายนอกเข้าใช้ และยังมีหลายสถานที่ที่สามารถพัฒนาเป็นสวนขนาดใหญ่ได้อีกมาก โดยเฉพาะที่อยู่ในความดูแลของเหล่าทัพ เช่น สนามม้าหนองฮ่อ

สวนสาธารณะนอกจากจะทำหน้าที่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจซึ่งเลือกทำกิจกรรมได้หลากหลายแล้ว ยังมีคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม มีส่วนช่วยในการลดอุณหภูมิและดูดซับมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่เป็นผลโดยตรงจากปัญหาหมอกควันได้

ถ้าลองติดตามเพจผู้ว่าฯ อัศวิน จะเห็นชัดเจนว่าเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง และให้น้ำหนักต่อประเด็นนี้มากที่สุด (มากเสียยิ่งกว่าปัญหาการแพร่ระบาดของโควิดและประเด็นอื่นๆ)

สวนเทียนทะเลพัฒนาพฤกษาภิรมย์ สวนรัชวิภา สวนสามวาพนานุรักษ์ สวนบวรประชานันท์ สวนกล้วยมะ คลองสามวา สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) สวนบางแคภิรมย์ สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา สวนทวีกาญจนา สวนเก้าเนินเดินตามรอยพ่อ และที่จะขาดมิได้ สวนเบญจกิติโฉมใหม่ และสวนลุมพินีครบ 100 ปี (ในปี 2568)

ข้างต้นเป็นรายชื่อสวนสาธารณะของ กทม. ที่ถูกเอ่ยถึงโดยเพจผู้ว่าฯ อัศวินในเวลาเพียง 2-3 เดือนมานี้ มีทั้งที่สร้างสวนแห่งใหม่และปรับปรุงสวนเดิม สวนขนาดใหญ่และสวนขนาดย่อม ภายใต้เป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพมหานครให้ได้ถึงเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุให้ค่าเฉลี่ยอัตราพื้นที่สีเขียวต่อจำนวนประชากรควรอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคนหรือมากกว่า แต่ปัจจุบันยังไปไม่ถึง ยังอยู่ที่ 7.30 ตร.ม./คน ทั้งนี้ พื้นที่สีเขียวกินความกว้างกว่าสวนสาธารณะ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของพื้นที่สีเขียวประเภทหนึ่งในบรรดาพื้นที่สีเขียวทุกประเภทเท่านั้น[1]

ถ้าเจาะจงดูพื้นที่สีเขียวประเภทบริการสาธารณะโดยเฉพาะ เช่น สวนสาธารณะ สนามกีฬากลางแจ้ง สนามเด็กเล่น จะพบว่าเรามีพื้นที่สีเขียวที่เป็นสาธารณะน้อยมาก ในเขต กทม. มีอยู่ 1.20 ตร.ม./คน[2] เขตเทศบาลนครเชียงใหม่มี 3.47 ตร.ม./คน[3] ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ 4.0 ตร.ม./คน จากตัวเลขเมื่อประมาณ 1-2 ปีก่อน เหตุที่สถานการณ์พื้นที่สีเขียวโดยรวมยังค่อนข้างดีเพราะมีพื้นที่สีเขียวประเภทอื่นอยู่มาก

นโยบายของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เปิดตัวไปแล้วหลายคนก็ประสานเสียงพูดถึงเรื่องนี้กันอย่างพร้อมเพรียง

นโยบายสวน 15 นาทีของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เพื่อกระจายสวนและพื้นที่สาธารณะที่ประชาชนเข้าถึงได้ ด้วยการเดินภายใน 15 นาที หรือประมาณ 800 เมตร

นโยบาย Join Space และ Pocket Park ของสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เข้าไปขอดูแลปรับปรุงพื้นที่เหลือบริเวณใต้สะพานของกรมทางหลวงชนบท เพื่อให้คนและสัตว์เลี้ยงมาใช้งานร่วมกัน ตลอดจนเปลี่ยนพื้นที่รกร้างของเอกชนเป็นสวนสาธารณะฉบับกระเป๋า แลกกับการลดหย่อนภาษีที่ดินให้

นโยบายสนามหลวงต้องเป็นพื้นที่สาธารณะของทุกคนของวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เสนอเปิดใช้งานสนามหลวงอย่างมีชีวิตชีวาเหมือนที่เคยเป็น โดยเอารั้วกั้นออกให้ทั้งหมด รวมถึงเสนอให้เปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะโดยใช้มาตรการต่างๆ เช่น ใช้กลไกภาษีที่ดินจูงใจ ออกข้อบัญญัติบังคับ

ผู้สมัครท่านอื่นที่ไม่ได้เอ่ยถึง (เพราะยังไม่เห็นรายละเอียดของนโยบาย) มักจะเคยพูดเสนอแนวทางในทำนองนี้เหมือนๆ กัน ไม่แตกต่างกันนัก

ไปให้ไกลกว่านโยบายเหล่านี้คือ ต้องเรียกร้องให้เกิดการกระจายอำนาจ อำนาจบริหารจัดการพื้นที่ต้องเป็นของท้องถิ่น ไม่ใช่แค่ กทม. แต่หมายถึงทุกเมืองทั่วประเทศ เพราะในหลายกรณีชี้ชัดว่าท้องถิ่นทำเรื่องนี้ได้ดีกว่าส่วนกลาง ไม่เช่นนั้นก็อาจจะมีปัญหาการขอทวงคืนพื้นที่อื่นๆ เกิดขึ้นอีกซ้ำๆ ไม่รู้จบ


[1] ประเภทของพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดไม่เหมือนกัน ในต่างจังหวัดแบ่งเป็น 6 ประเภทตามคุณลักษณะและการใช้ประโยชน์ที่กำหนดโดยสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้แก่ 1.พื้นที่สีเขียวเพื่อการบริการสาธารณะ 2.พื้นที่สีเขียวเพื่ออรรถประโยชน์ 3.พื้นที่สีเขียวริ้วยาวตามแนวสาธารณูปการ 4.พื้นที่สีเขียวเพื่อเศรษฐกิจชุมชน 5.พื้นที่สีเขียวธรรมชาติ และ 6.พื้นที่สีเขียวรอการพัฒนา ส่วนกรุงเทพฯ แบ่งละเอียดแยกย่อยกว่ามาก มีพื้นที่สีเขียวถึง 10 ประเภท ได้แก่ 1.สวนสาธารณะ 2.สนามกีฬากลางแจ้ง 3.สนามกอล์ฟ 4.แหล่งน้ำ 5.ที่ลุ่ม 6.ที่ว่าง 7.พื้นที่ไม้ยืนต้น 8.พื้นที่เกษตรกรรม 9.พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 10.พื้นที่อื่นๆ และสวนสาธารณะแยกได้อีก 7 ประเภทคือ 1.สวนหย่อมขนาดเล็ก 2.สวนหมู่บ้าน 3.สวนชุมชน 4.สวนระดับย่าน 5.สวนระดับเมือง 6. สวนถนน 7.สวนเฉพาะทาง ดู สรุปข้อมูลพื้นที่สีเขียวเชิงปริมาณในต่างจังหวัดเป็นรายจังหวัดและจำแนกตามประเภทได้ที่ http://thaigreenurban.onep.go.th/frmTassaban.aspx; ฐานข้อมูลและระบบติดตามประเมินผลการเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพมหานครทาง http://203.155.220.118/green-parks-admin/

[2] อ้างใน ““กรุงเทพฯ” เมืองหลวง “Outdoor Space” สุดย่ำแย่,” กรุงเทพธุรกิจ (30 กันยายน 2564), จาก https://www.bangkokbiznews.com/social/963123

[3] อ้างใน จิราภา สุนันต๊ะ และลักษณา สัมมานิธิ, “การเพิ่มพื้นที่สีเขียวของเมืองในศาสนสถานประเภทวัด กรณีศึกษาเทศบาลนครเชียงใหม่,” วารสารวิชาการสาระศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉบับที่ 1/2564, หน้า 238, จาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/sarasatr/article/download/249609/169982/

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save