fbpx

วันหยุดสร้างชาติ: ศึกชิงเวลาและขัณฑสีมาบนหน้าปฏิทิน

ล่วงสู่เดือนใหม่ราวสองชั่วโมงเศษเมื่อผู้เขียนอ่านรายการสิ่งที่ต้องทำอีกครั้งก่อนนอน และระหว่างที่กวาดตาดูปฏิทินนั่นเองก็หลุดปากว่า “ไม่มีสีแดงเลยนี่นา”

เพราะหน้าปฏิทินนั้นดารดาษด้วยวันสำคัญทางศาสนา วันเฉลิมพระชนมพรรษา และวันสวรรคต  

อดคิดไม่ได้ว่าระหว่างใช้ชีวิตโดย (ทึกทักว่า) มีความรู้สึกตัวเต็มที่นั้น ความคิดที่ดูจะลอยล่องโดยอิสระกลับถูกจำขังในกรอบล่องหน วันนี้เป็นวันเกิดของน้องสาว อีก 10 วันจะเป็นวันเกิดของลูกพี่ลูกน้อง อีก 73 วันจะเป็นวันสวรรคตปิยราชา และอีก 160 วันจะเป็นวันที่กษัตริย์ผู้ผ่านพิภพในอดีตไกลโพ้นฟันอุปราชาเมืองม่านขาดสะพายแล่ง ความรับรู้เกี่ยวกับวันที่ผันผ่านไปในแต่ละปีเป็นเช่นนั้น

วันหนึ่งๆ เกิดอะไรได้มากมาย พระญามังรายประสูติในวันที่ 23 ตุลาคม ส่วนวันที่ 6 เมษายน ก็เป็นวันสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี รัฐธรรมนูญฉบับแรกของสยามถือกำเนิดในวันที่ 27 มิถุนายน ไฉนเลยจึงมีบางเหตุการณ์ที่รัฐจำ และบางเหตุการณ์ที่รัฐลืมเสีย ไม่ว่าจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตาม

ชั่วขณะที่คิดเช่นนั้น หน้าปฏิทินก็เป็นเสมือนผืนดินที่มีทรัพยากรต่างชนิดกัน ใครจะเป็นเจ้าเข้าครอง และจะใช้ทรัพยากรเหล่านั้นอย่างไรก็สุดแท้แต่

1

เราเห็นอะไรในปฏิทินวันหยุดราชการและวันสำคัญแห่งชาติบ้าง

หากวันหยุดราชการในประเทศ  ประกอบด้วยวันปีใหม่ วันจัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเอง วันสตรีสากล วันปีใหม่เปอร์เซีย วันอีดิลอัฎฮา วันอีดิลฟิฏร์ วันประกาศอิสรภาพจากสหภาพโซเวียต วันครู และวันรัฐธรรมนูญ 

เราคงรู้ทันทีว่า เดิมประเทศ ก เป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต และเป็นอู่อารยธรรมเปอร์เซียที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

ในทางเดียวกัน หากแทนประเทศไทยด้วยประเทศ  และพิจารณาปฏิทินวันหยุดราชการ เราจะเห็นวันสำคัญทางศาสนา วันปีใหม่พื้นเมือง วันพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันสถาปนาราชวงศ์ วันเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ วันพระบรมราชสมภพ วันเฉลิมพระชนมพรรษาสามวัน และวันสวรรคตสองวัน จะอนุมานว่าเป็น ‘พุทธราชาชาติ’ ที่โคจรรอบพระสมณโคดมและกษัตริย์ก็ไม่เกินความจริงนัก

การหยุดกิจการทั้งหลายในรัฐโดยพร้อมเพรียงเพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสใดโอกาสหนึ่ง โดยเฉพาะเฉลิมฉลองด้วยความรู้สึกใดรู้สึกหนึ่งย่อมไม่ธรรมดา แต่เป็นการชี้ขาดว่ารัฐนั้นๆ ให้ความสำคัญแก่สิ่งใด เท่ากับที่ชี้ขาดว่าสิ่งใดบ้างที่ไม่ได้รับความสำคัญ 

หน้าที่ของวันหยุดราชการและวันสำคัญแห่งชาติก็เป็นเช่นนั้นเอง ดังที่ชนาวุธ บริรักษ์ บรรยายไว้อย่างเหมาะเจาะในวารสารอินทนิลทักษิณสารว่าวันเหล่านี้ “สร้างสำนึกความทรงจำผ่านหน้าปฏิทินของรัฐ โดยวันหยุดราชการที่เคลื่อนไปในแต่ละปีจะเป็นการเน้นย้ำความทรงจำที่สำคัญ (และควรจะเป็น) ของพลเมืองในรอบปีหนึ่งนั้น… พร้อมทั้งระลึกถึงความทรงจำเหล่านั้นร่วมกัน”[i]

หลายคนที่คุ้นเคยกับแนวคิด ‘ชุมชนจินตกรรม’ (imagined community) ของเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน (Benedict Anderson) คงเฉลียวใจในไม่ช้าว่า ความทรงจำและสำนึกร่วมกันของพลเมืองเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ ‘ชาติ’ หรือชุมชนซึ่งร้อยรัดบุคคลกับกลุ่มชนที่ตนไม่รู้จักและดินแดนที่ไม่เคยย่างกรายไปถึง ด้วยจินตภาพแห่งภาษา ประเพณี รูปลักษณ์ ศรัทธา และความจงรักภักดีต่อกลุ่มบุคคลหรือหลักการหนึ่งๆ

แผนที่แสดงวันชาติทั่วโลก

เห็นได้ชัดว่า ‘ความทรงจำสำคัญเกี่ยวกับความเป็นชาติ’ ของประเทศส่วนใหญ่ (สีฟ้า)
 คือการประกาศอิสรภาพ 

ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวไม่ใช่อารมณ์ที่บ่มเพาะได้ง่าย และหากต้องการให้สำนึกความเป็นชาติมั่นคงไม่แคลนคลอน การขยายสำนึกนั้นสู่ดินแดนแห่งความทรงจำก็จำเป็น โดยเฉพาะเมื่อต่างคนในชาติล้วนต่าง ‘รากเหง้า’ ไม่เคยมีอดีตร่วมกัน

เธอละกอน ฉันปตานี นายของเธอไม่เคยเป็นนายของฉัน นายของฉันไม่เคยเป็นนายของเธอ แนวทางลบเลือนภูมิหลังที่ไม่ลงรอยและสร้างพื้นเพร่วมของพลเมืองไม่ได้มีแต่วิธีอันโจ่งแจ้งชวนประณามว่าเป็นการล้างสมองอย่างโฆษณาชวนเชื่อเท่านั้น แต่รวมถึงอุบายอันแยบยลอย่างการยึดครอง ‘เวลา’ และ ‘เรื่องราว’ ในอดีตด้วย

“ผู้ใดควบคุมอดีต ผู้นั้นควบคุมอนาคต ผู้ใดควบคุมปัจจุบันผู้นั้นควบคุมอดีต” ประโยคอมตะของจอร์จ ออร์เวลใน 1984 ดูจะสอดคล้องกับอุบายดังกล่าว และก็อาจจะมีสักแผนกในกระทรวงความจริงที่แผ้วถางเส้นทางแห่งอำนาจบนปฏิทิน เช่นเดียวกับที่วินสตัน สมิธ แก้ไขเนื้อความในหนังสือพิมพ์อย่างแข็งขัน

2

คำถามคือการยึดครองเวลานี้เริ่มต้นเมื่อใดและลงเอยอย่างไร และคำตอบก็อยู่ในปฏิทินนั่นเอง กล่าวคืออยู่ในห้วงเวลาที่มีปฏิทินสุริยคติแบบเกรกอเรียน (Gregorian calendar) ในสยาม เมื่อโลกทั้งใบถูกถักทอเป็นผืนเดียวด้วยมือมหาอำนาจตะวันตก

ข้อเสนอสำคัญข้อหนึ่งของไชยันต์ รัชชกูลใน อาณานิคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือไทยหรือสยามในปลายศตวรรษที่ 19 นั้นเป็นรัฐทุนนิยมรอบนอก (peripheral capitalism) ในระบบทุนนิยมโลกซึ่งก่อตัวหลังจักรวรรดิตะวันตกแผ่อิทธิพล ไม่ว่า ‘ผู้นำ’ ระบบเช่นมหาอำนาจทั้งหลายต้องการสิ่งใด ราชสำนักสยามก็จะโอนอ่อนผ่อนตาม ปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับความปรารถนานั้นเพื่อประโยชน์ที่พึงได้จากการให้ความร่วมมือ

ทว่าผู้นำกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ผ่านฟ้าแห่งโลกตะวันออกซึ่งขับเคี่ยวกันมาแต่อดีตอย่างอธิราชาแห่งอังวะหรือเว้ แต่เป็นผู้นำจากอาณาจักรโพ้นทะเลที่แตกต่างจากสยามทุกกระเบียด การปรับตนให้สอดคล้องกับความปรารถนาของชนชั้นนำต่างชาติขณะนั้นจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างถึงรากถึงโคน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงในการรับรู้เวลาด้วย 

กระนั้นก่อนจะอธิบายว่าปฏิทินสุริยคติและความทรงจำที่ถูกตัดแต่งนี้เป็นเครื่องมือค้ำจุนศรัทธาในรัฐพุทธราชาได้อย่างไร ก็ต้องวางพัฒนาการดังกล่าวในกรอบความคิดที่ใหญ่กว่า คือธรรมเนียมการตกแต่งตนเองด้วยองค์ความรู้และวัฒนธรรมของ ‘พี่ใหญ่’ เพื่อความชอบธรรมในการปกครองของราชสำนักสยาม ซึ่งดำเนินไปในบริบทที่สยามหันไปพึ่งพามหาอำนาจตะวันตก

ผู้อภิปรายการชุบตัว (refashion) ด้วยวิธีดังกล่าวได้ละเอียดลออโดยรวบรวมข้อเสนอของนักวิชาการไทยศึกษามากหน้าหลายตา คือปีเตอร์ เอ. แจ็กสัน (Peter A. Jackson) ในบทความ Thai Semicolonial Hybridities: Bhabha and García Canclini in Dialogue on Power and Cultural Blending ซึ่งกล่าวถึงแนวทางรับมือการขยายอิทธิพลของมหาอำนาจตะวันตกด้วยกระบวนการ ‘กลายพันธุ์’ ทางวัฒนธรรมของชนชั้นนำสยาม[ii]

ดังระบุในบทความของแจ็กสัน ก่อนทศวรรษ 1830 นั้น ความเป็น ‘ฝรั่ง’ ไม่ได้ถูกเชิดชูหรือนับหน้าถือตาแต่อย่างใด สินค้าและเครื่องใช้จากจีน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเคลือบหรือแพรพรรณ ยังเป็นเครื่องแสดงฐานะของคหบดีและผู้ปกครอง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดังกล่าวถึงคราวพลิกผันเมื่อบริเตนรุกคืบเข้าไปในอินเดีย จีน และพม่า โดยเหนือความคาดหมายของสยาม[iii]

การรุกคืบของบริเตนที่สมรภูมิดนูพยู (Battle of Danubyu) 
สมรภูมิท้ายๆ ในสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่หนึ่ง
ทั้ง ‘ค่ายคูประตูหอรบ’ และช้างศึกที่เคยประกันความสำเร็จทางการทหารในภูมิภาคพ่ายแพ้อย่างราบคาบ

แต่เหตุใดต้องเป็นการรุกคืบเข้าไปในสามดินแดนนี้เล่าที่สยามให้ความสำคัญ เหตุผลไม่ใช่เพียงความใกล้ชิดทางกายภาพ แต่รวมถึงเหตุผลทางวัฒนธรรมที่ค้ำจุนราชสำนักมาเนิ่นนานด้วย

อุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปนั้นเป็นบ่อรวมวัฒนธรรมอินเดียและจีน และวัฒนธรรมที่ได้รับสืบทอดมาจากดินแดนเหล่านี้ก็ล้วนเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้การปกครองทั้งสิ้น ดังจะเห็นจากการประดับประดาตนเองเสมือนพระนารายณ์อวตารหรือผู้บำบัดทุกข์บำรุงสุข ด้วยทั้งสถาปัตยกรรมซึ่งคล้ายชะลอสวรรค์หรือเขาพระสุเมรุลงมา การออกพระนามโดยมี ‘นารายณ์’ ‘อิศวร’ ‘ราม’ หรือ ‘หน่อพุทธางกูร’ สอดแทรก การมีความสัมพันธ์อันดีกับราชสำนักจีนผ่านจิ้มก้องหรือการถวายราชบรรณาการ รวมถึงการแสวงหาการรับรองจากจักรพรรดิจีน ในฐานะ ‘หอง’ หรือ ‘อ๋อง’ แห่งสยาม

ในหมู่รัฐอุษาคเนย์ขณะนั้น มีเพียงราชสำนักอังวะ สยาม และเว้ ที่นับว่าเป็นอธิราชาด้วยเครื่องมือเหล่านี้ โดยเฉพาะพระเจ้าจักกายแมงแห่งอังวะซึ่งปกครองดินแดนกว้างขวางเป็นรองเพียงพระเจ้าชนะสิบทิศ ด้วยเหตุนี้ ความพ่ายแพ้ของอินเดีย จีน และพม่า จึงเป็นทั้งความปราชัยทางกายภาพและการศิโรราบทางวัฒนธรรม หากจะคงสถานะอธิราชาไว้ ก็มีแต่ต้องตบแต่งตนใหม่เพื่อก้าวสู่ความ ‘ศิวิไลซ์’ อันหมายถึงความเจริญและทันสมัยอย่างตะวันตกเท่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงระบบการผลิตสินค้า การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต หรือการสถาปนารัฐสมัยใหม่ที่มีอาณาเขตชัดเจน มีรัฏฐาธิปัตย์ผู้กำหนดกฎเกณฑ์เพียงหนึ่งเช่นรัฐตะวันตกทั้งหลาย ล้วนเป็นการตัดสินใจในฐานะราชสำนักทุนนิยมรอบนอกที่หวังคงความเป็นใหญ่ด้วยเครื่องประดับแห่งความทันสมัยทั้งสิ้น

และปฏิทินสุริยคติเกรกอเรียนก็มีบทบาทในทั้งสองกระบวนการนั้น

3

ชนาวุธเสนอว่าการปฏิรูปการปกครองโดยรวมศูนย์อำนาจ แปรระบบมูลนายเป็นระบบราชการทำให้ปฏิทินสุริยคติซึ่งมีความแม่นยำและแบบแผนชัดเจนทวีความจำเป็นในการติดต่อและบริหารราชการ ทั้งระหว่างหน่วยงานราชการ และระหว่างหน่วยงานราชการกับประชาชน

ยิ่งปฏิทินสุริยคติและการนับเวลาแบบใหม่แพร่หลาย ชาวสยามยิ่งมุ่งสู่อนาคตด้วยอัตราเร็วเท่ากัน กิจวัตรประจำวันและกิจกรรมประจำปีเริ่มกลืนกลาย การรับรู้เวลาเป็นวันหนึ่งๆ ที่มี 24 ชั่วโมง และปีหนึ่งๆ ที่มี 365 วัน ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เริ่มสอดคล้องกันเป็นลำดับ ท่ามกลางกลไกอื่นๆ เพื่อตบแต่งสำนึกพลเมืองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว ทั้งการปฏิรูปการศึกษาและการกำหนดภาษาราชการ

กระนั้น หากเปรียบเวลาเป็นถนน แม้ปัจจุบันและอนาคตของพลเมืองที่ทอดไปเบื้องหน้าจะเรียบเสมอกันแล้ว แต่อดีตที่ทอดไปเบื้องหลังยังมีตำหนิ การรับรู้เวลาพ้องกันแล้ว ทว่าสำนึกต่อเวลายังไม่เป็นเนื้อเดียวกัน กล่าวคือ ‘วัน’ แต่ละวันที่ล่วงเลยมาในอดีตของคนเหล่านี้ยังไม่ใช่ ‘วันเดียวกัน’ อาจเป็นวันอาทิตย์เหมือนกัน แต่ของคนหนึ่งเป็นวันเกิดบุตรชาย ของอีกคนเป็นวันเริ่มต้นกิจการ 

การขยายสำนึกความเป็นชาติไปในอดีตด้วยเครื่องมือจากโลกตะวันตกนั่นเองที่เป็นรากเหง้าเก่าแก่ที่สุดของสีขาวและสีน้ำเงินในปฏิทินปัจจุบัน

วันหยุดราชการในปัจจุบันคือวันที่หน่วยงานราชการจะได้หยุดทำการเพื่อประกอบกิจกรรมอื่น ไม่ว่าจะเป็นการเฉลิมฉลอง ระลึกถึง หรือไว้อาลัย โดยแยกออกจากวันสำคัญแห่งชาติที่ไม่ใช่วันหยุดราชการ และวันหยุดทั่วไปคือวันเสาร์-อาทิตย์โดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ตาม ขณะที่ศึกชิงเวลาเริ่มต้นหมาดๆ นั้น วันหยุดราชการยังไม่มีรูปลักษณ์ดังที่เราคุ้นเคย แต่ปะปนกับวันสำคัญแห่งชาติที่ยังไม่มีการเฉลิมฉลองอย่างเป็นกิจจะลักษณะ และแยกขาดจาก ‘วันหยุดการ’ หรือวันหยุดของหน่วยงานราชการในวันพระ

วันสำคัญแรกของสยามคือวันคล้ายวันพระราชสมภพพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งกำหนดให้มีการสังสรรค์ในกรุงเทพมหานครโดยได้รับแบบอย่างจากจักรวรรดิตะวันตก การเฉลิมฉลองในวันเกิด ‘ประมุขแห่งรัฐ’ ในฐานะวันสำคัญแห่งชาตินั้นนับเป็นหมุดหมายสำคัญแห่งการก้าวสู่สมัยใหม่ เพราะเป็นครั้งแรกที่สยามจะมีอธิราชาเดียว และการเฉลิมฉลองในวันเกิดก็ไม่ใช่ธรรมเนียมสยามด้วย

การสังสรรค์นั้นจึงเป็นทั้งดอกผลของการรับรู้เวลาใหม่ การสถาปนารัฐที่มีรัฏฐาธิปัตย์เพียงหนึ่ง และการยอมรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมของมหาอำนาจยุโรป ทั้งนี้ เมื่อวันเกิดของประมุขแห่งรัฐเป็นที่จดจำแล้ว ก็นับว่าอดีตถูกครอบครองแล้วจุดหนึ่ง นับแต่นี้เมื่อผู้คนดูปฏิทินก็จะรับรู้ว่า ‘วันนี้’ ในอดีตนั้น พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ‘ประมุขแห่งแผ่นดินสยาม’ ทรงมีพระราชสมภพ และตนที่เป็นพสกนิกรก็ควรเฉลิมฉลองอย่างที่พลเมืองศิวิไลซ์ทั้งหลายกระทำกัน 

กระนั้นจนล่วงเลยสู่รัชกาลใหม่ กระบวนการบ่มเพาะพลเมืองผู้ภักดีต่อเอกประมุขแห่งรัฐชาติก็ไม่ได้ราบรื่นนัก ราชสำนักสยามต้องเผชิญการต่อต้านในหัวเมืองทั้งหลายเป็นระยะ ทั้งนี้ การขยายตัวของระบบราชการยังนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาและการจ้างงานสามัญชน ผลคือความก้าวหน้าอันได้มาด้วยชาติกำเนิดหรือความเสน่หาของลูกท่านหลานเธอไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป ดังที่ร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ หนึ่งในผู้ก่อการกบฏ ปี 1912 (ร.ศ. 130) โจมตีในข้อเขียน ว่าด้วยความเสื่อมซามแลความเจริญของประเทศ ว่า

‘คนสอพลอนั้นมีอยู่ 2 จำพวก จำพวกหนึ่งทำการให้กษัตริย์โดยตรง ดังเช่นข้าทาสแลพวกบริวารของกษัตริย์เป็นต้น อีกจำพวกหนึ่งนั้นถึงแม้ว่าจะมีหน้าที่ตั้งแต่งให้ทำงานสำหรับรัฐบาลก็จริง แต่เอาเวลาไปใช้ในทางสอพลอเสียหมด ส่วนการที่ออฟฟิซนั้น ถึงแม้ว่าจะบกพร่องแลเสียหายอย่างไรก็ไม่ต้องคิด ขอแต่ให้ได้ใกล้ชิดกลิ้งเกลือกอยู่กับฝ่าบาทก็แล้วกัน ความดีความชอบจะไปข้างไหนเสีย’

การสมคบกันก่อการในปีเดียวกับปฏิวัติซินไฮ่ และเพียง 5 ปีก่อนราชวงศ์โรมานอฟจะล่มสลาย สะท้อนว่า ‘บุญเก่า’ ของชนชั้นนำทั่วโลกจวนสิ้นมนต์ขลัง กระตุ้นให้ราชสำนักสยามเร่งสั่งสม ‘บุญใหม่’ กล่าวคือผูกตนเองกับ ‘ความเป็นสมัยใหม่’ ให้แน่นหนายิ่งขึ้น

จึงเป็นที่มาของ ‘พระบรมราชโองการ ประกาศกำหนดวันหยุดราชการนักขัตฤกษ์ประจำปี’ ในปีถัดมา ซึ่งระบุว่า “การหยุดนั้นมี 3 อย่าง สำหรับได้ผ่อนพักร่างกายบ้างอย่างหนึ่ง หยุดเพื่อแสดงความเคารพต่อพระบรมราชวงษ์อย่างหนึ่ง เพื่อเคารพต่อพระสาสนาอีกอย่างหนึ่ง” โดยวันหยุดดังกล่าวประกอบด้วยพระราชพิธีตะรุษะสงกรานต์แลนักขัตฤกษ์, วิสาขะบูชา, เข้าปุริมพรรษา, ทำบุญพระบรมอัษฐิพระพุทธเจ้าหลวง, ทำบุญพระบรมอัษฐิแลพระราชพิธีฉัตรมงคล, เฉลิมพระชนมพรรษา และมาฆะบูชา จาตุรงค์สันนิบาต (สะกดอย่างต้นฉบับ)

ภาพถ่ายคณะผู้ก่อการกบฏ ร.ศ. 130 (Palace Revolt of 1912)

ขัณฑสีมาแห่งอดีตพลันแผ่กว้างกว่าเก่า บัดนี้นอกจากวันคล้ายวันพระราชสมภพ ไพร่ฟ้ายังต้องรำลึกถึงวันสวรรคตและวันเถลิงถวัลยราชสมบัติด้วย

นอกจากนี้ ชนาวุธยังชี้ให้เห็นว่า คำว่า ‘พระราชพิธี’ ในพระบรมราชโองการปี 1913 นั่นเองคือร่องรอยสุดท้ายของบุญเก่า หรือของการเปลี่ยนผ่านจากราชสำนักโบราณสู่ราชวงศ์แห่งชาติ เมื่อพิธีกรรมที่ “เคยจรรโลงความสัมพันธ์เชิงอำนาจของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์… ที่เริ่มไม่สัมพันธ์กับผู้คนในสังคมในสภาวะสมัยใหม่” ค่อยๆ “เคลื่อนย้ายตนเองมาอยู่ในวันหยุดราชการ” 

แม้ในระยะแรก วันหยุดเหล่านี้จะไม่ประสบความสำเร็จเช่นเคยในการค้ำจุนอำนาจ แต่ศึกชิงเวลาก็ไม่ได้สิ้นสุดโดยง่าย ภายในรัชกาลถัดมา (ปลายปี 1925) หน้าปฏิทินรกร้างในอดีตก็ถูกจับจองเป็น ‘วันที่ระลึกมหาจักรี’ นำทรัพยากรอันจรรโลงอิทธิพลแห่งราชสำนักมาใช้ และกลบฝังทรัพยากรที่ไม่เป็นประโยชน์อย่างการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเสีย

จะเห็นว่าพระราชพิธีในรัชกาลก่อนก้าวสู่สมัยใหม่อย่างเต็มที่แล้ว คือนับเป็น ‘วัน’ ที่มี ‘พฤติกรรม’ ให้แสดง ไม่ใช่พระราชพิธีที่เป็นกิจกรรมภายในราชสำนัก แต่เป็น ‘วัน’ ที่อยู่ในความรู้สำนึกของพลเมือง เป็นเนื้อหนังแห่งการดำเนินชีวิต นับแต่นี้ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในวันดังกล่าว สำหรับรัฐไทยและพลเมืองไทยแล้ว ความทรงจำสำคัญในวันที่ 6 เมษายน มีเพียงการสถาปนาราชวงศ์จักรีเท่านั้น 

สำนึกต่อวันในอดีตถูกช่วงชิงจากราชสำนักสยามเพียงครั้งเดียวหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 1932 โดยวันที่ได้รับความสำคัญแทนที่คือวัน ‘พระราชทานรัฐธรรมนูญ’ ซึ่งติดตามด้วยเทศกาลฉลองรัฐธรรมนูญที่กินเวลาราวหนึ่งสัปดาห์

งานฉลองรัฐธรรมนูญนั้นครึกครื้นด้วยการออกร้านแสดงสินค้า ตลอดจนการจัดซุ้มอาคารเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ[iv] ทั้งยังตระการตาอย่างที่ป. อินทรปาลิต ผู้เขียน พล นิกร กิมหงวน พรรณนาว่า “… งานรัฐธรรมนูญอันเป็นมิ่งขวัญของชาติ งานนี้แหละผู้หญิงที่มีอายุ 12 ขวบ จนกระทั่ง 40 ขวบ เร่งวันเร่งคืนรอคอยด้วยความปรารถนา ก่อนจะถึงงานร้านตัดเสื้อ (ผู้หญิง) ต้องทำงานหนัก แขกพาหุรัดเกือบหาเวลากินโรตีไม่ได้ ผ้าแพรเสื้อกระโปรงขายราวกับเทน้ำเทท่า …” 

สมุดโรงเรียนสายปัญญา ปี 1934 แสดงหลักหกประการบนปก

งานฉลองรัฐธรรมนูญแผ่ขยายสู่จังหวัดต่างๆ ภายในปี 1935 โดยในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนั้น มีวันหยุดราชการที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญกว่า 3 วัน ได้แก่ วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ (Constitution Petition Day) 24 มิถุนายน, วันรัฐธรรมนูญชั่วคราว (Provisional Constitution Day) 27 มิถุนายน และวันรัฐธรรมนูญ (Constitution Day) ซึ่งหยุดถึงสามวัน ตั้งแต่วันที่ 9-11 ธันวาคม[v]

นับเป็นครั้งแรกที่มีพื้นที่ของ ‘ประชาชน’ ในวันสำคัญอันสะท้อนสำนึกความเป็นชาติ โดยที่บทบาทของประชาชนในวันดังกล่าวไม่ใช่การรำลึกถึงคุณพระศรีรัตนตรัยหรือการถวายความภักดี อย่างไรก็ตาม สำนึกใหม่นี้มีอายุแสนสั้นเช่นเดียวกับอายุของคณะปฏิวัติ โดยค่อยๆ เสื่อมความนิยมในปี 1947 ด้วยความขัดแย้งระหว่างสมาชิกคณะราษฎรและไฟสงคราม เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นสู่อำนาจในปี 1958 งานฉลองรัฐธรรมนูญก็ถูกยกเลิก เหลือเพียงวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ หรือวันที่ 10 ธันวาคม เพียงวันเดียว

เวลาไม่ได้อยู่ข้างเรา

พัฒนาการของวันหยุดราชการและวันสำคัญแห่งชาติเป็นอย่างไรหลังจากนั้นคงเกินขอบเขตของบทความนี้ อย่างไรก็ดี หากพิจารณารายการวันหยุดราชการและวันสำคัญในปัจจุบัน จะเห็นการประดิษฐานของสำนึกพุทธราชาชาติที่ดำเนินมานับแต่ปลายศตวรรษที่ 19 อย่างมั่นคง

นอกจากการกำหนดให้วันพระบรมราชสมภพเป็นวันชาติ และจำนวนวันหยุดราชการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์แล้ว วันสำคัญอื่นๆ ยังผูกพันกับราชสำนักอย่างแน่นแฟ้น ไม่ว่าจะเป็นวันกองทัพไทยซึ่งเป็นวันกระทำยุทธหัตถีของพระนเรศ วันนักประดิษฐ์เพื่อรำลึกถึงการจดทะเบียนสิทธิบัตรกังหันน้ำชัยพัฒนา วันศิลปินแห่งชาติหรือวันพระบรมราชสมภพพระพุทธเลิศหล้านภาลัย วันพยาบาลแห่งชาติอันเป็นวันพระราชสมภพพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือวันป่าชายเลนแห่งชาติเพื่อรำลึกถึงพระราชดำรัสแรกเกี่ยวกับป่าชายเลน

ปฏิทินไทยจึงเป็นเสมือนแผ่นศิลาอันจารึกว่าพระบรมศาสดาและบูรพกษัตริย์กระทำสิ่งใดในวันหนึ่งๆ และด้วยเหตุนั้นทั้งสองสถาบันจึงผูกขาดบทบาทสำคัญในการก่อร่างสร้างประเทศ เป็นร่มโพธิ์ที่จะขาดเสียไม่ได้ เพราะขาดไปก็ดูจะไม่มีชาติไทยได้เลย เราไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์สำคัญอื่นใด และก็ได้แต่เจียมเนื้อเจียมตนขณะเฝ้าดูสามัญชนคนสำคัญในชาติอื่นๆ ได้รับยกย่อง โดยไม่ได้ตั้งคำถามว่าสามัญชนไทยไร้ความสำคัญถึงปานนั้น หรือเพียงไม่ถูกจดจำกันแน่

อนึ่ง ขอให้สังเกตว่าในบทความนี้ ผู้เขียนเจตนาใช้คริสต์ศักราชเพื่อบอกเวลาเป็นหลัก เพื่อแสดงว่าความเป็นไปในสยามผูกพันกับความเป็นไปอื่นๆ ในโลกอย่างไร และการรับรู้เวลาทั้งในอดีตและปัจจุบันเป็นพุทธศักราชหรือรัชสมัยเท่านั้นมีอิทธิพลต่อความรับรู้ของเราอย่างไร อย่างไรเสียสยามก็ไม่ใช่เกาะโดดเดี่ยวในทะเลโลกาภิวัตน์ที่มีเพียง วิถี ‘ไทยๆ’ มีชนชั้นนำผู้ขับเคลื่อนประเทศด้วยคุณธรรม และมีประชาชนผู้ร่วมแรงร่วมใจก็เพียงพอ

ดูท่าคำว่า ‘ย้ายพิธีกรรม’ อันจรรโลงอำนาจกษัตริย์ในระบอบเก่ามาสู่ปฏิทินจะไม่ใช่คำบรรยายที่เกินจริงแม้แต่น้อย เพราะ ‘สมมติเทพ’ยังดำรงอยู่ในปัจจุบันสมัยนี้ เป็นผู้ปกบ้านป้องเมือง บำบัดทุกข์บำรุงสุขในความรู้สำนึกของปวงชน และจะกล่อมเกลาสำนึกสามัญต่อไป หากไม่มีใครเฉลียวใจทัดทาน


[i] Chanawut Boriruk, “From ‘Ritual’ to ‘Public Holiday’ The Origins of the ‘National Commemoration Days’ of Thai State,” in Inthaninthaksin Journal 13, no. 2 (2018): 209-248.

[ii] แจ็กสันอธิบายการกลายพันธุ์ทางวัฒนธรรมของราชสำนักสยามด้วยแนวคิดของของโฮมิ เค. ภภา (Homi K. Bhabha) ที่ชี้ว่าการดัดแปลงหรือกลายพันธุ์ทางวัฒนธรรมในอาณานิคมทั้งหลายดำเนินไปเพื่อต่อต้านเจ้าอาณานิคมเป็นหลัก ร่วมกับแนวคิดของเนสตอร์ การ์เซีย กันกลีนี (Néstor García Canclini) ที่ชี้ว่าการกลายพันธุ์นั้นดำเนินไปเพื่อสถาปนาอำนาจนำของชนชั้นนำกลุ่มหนึ่งๆ ในดินแดนพหุวัฒนธรรม 

[iii] บันทึกของเฮนรี เบอร์นี (The Burney Papers) เล่มหนึ่ง เดือนธันวาคม ปี 1825 หน้า 37-38 เบอร์นีเขียนถึงโรเบิร์ต ฟูลเลอร์ตัน (Sir Robert Fullerton) ข้าหลวงใหญ่แห่งปีนัง ระบุว่าสยามคาดการณ์ว่าพระเจ้าจักกายแมงจะมีชัยในสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่หนึ่ง อย่างไรก็ตาม พม่าซึ่งใช้ยุทธวิธีพื้นเมือง ทั้งระดมพล ตั้งค่าย ขยายคูน้ำ และใช้ช้างศึก พ่ายแพ้ในเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา 

[iv] ที่มา: งานฉลองรัฐธรรมนูญ-มหกรรมที่ใหญ่ที่สุดแห่งยุค

[v] ที่มา: “วันหยุดราชการ” ในอดีตของไทยหยุดวันอะไรกัน?

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save