fbpx
เศรษฐศาสตร์การคลังเบื้องต้นว่าด้วยเรือดำน้ำ

เศรษฐศาสตร์การคลังเบื้องต้นว่าด้วยเรือดำน้ำ

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย เรื่อง

การจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ มูลค่ากว่า 3.6 หมื่นล้านบาท กลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมากและละเอียดอ่อน เพราะเกี่ยวข้องกับเงินงบประมาณผูกพันในอนาคตมูลค่าค่อนข้างสูง และมีรายละเอียดเชิงเทคนิคค่อนข้างซับซ้อน

เมื่อทางเลือกสุดท้าย คือการจัดซื้อเรือดำน้ำใหม่จากประเทศจีนในราคาสูงลิ่ว (แม้จะซื้อสองแถมหนึ่งก็ตาม) แตกต่างจากข้อเสนอของกองทัพเรือในอดีตที่เคยขอจัดซื้อเรือดำน้ำมือสองจากเยอรมันในงบประมาณที่น้อยกว่านี้มาก ก็ยิ่งทำให้หลายคนตั้งคำถามถึงความเหมาะสม และความจำเป็นในการจัดซื้อ

น่าคิดนะครับว่าเราควรมองเรื่องนี้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเราไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ และไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารที่จะตัดสินว่าอาวุธชิ้นไหนจำเป็นหรือไม่อย่างไร

ผมเชื่อว่า ถ้างบประมาณและรายได้ไม่ใช่ข้อจำกัด ไม่ว่าใครก็คงอยากจะขับรถดีที่สุด แรงที่สุด แพงที่สุดเหมือนกันทั้งนั้น แต่ในความเป็นจริง เรามีทรัพยากรจำกัด และสิ่งของทุกอย่างล้วนมีต้นทุน เราจึงต้องเลือกใช้เงินที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่การตัดสินใจว่าอะไรสำคัญกว่าอะไรไม่ใช่เรื่องง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นการเปรียบเทียบสิ่งของสองสิ่งที่ให้ประโยชน์กับคนต่างกลุ่ม ในด้านที่ต่างกัน

โดยทั่วไป ถ้ารัฐมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายในโครงการใหม่ๆ ก็มีทางเลือกสามทางในการ “จ่าย” โครงการนั้น นั่นคือ

หนึ่ง รัฐตัดงบประมาณด้านอื่นมาชดเชย เพื่อไม่ให้รายจ่ายโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนค่าเสียโอกาสของโครงการนั้น หรือการซื้อของชิ้นนั้น ก็คือรายจ่ายที่ถูกตัดไป ตัวอย่างเช่น หากต้องการซื้อเรือดำน้ำอาจต้องตัดโครงการด้านสาธารณสุข โครงการด้านการศึกษา หรือโครงการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

สอง รัฐเลือกขึ้นภาษีบางชนิดเพื่อนำรายได้มาชดเชยกับรายจ่ายที่สูงขึ้น ต้นทุนของโครงการนั้น จึงเป็นภาระภาษีที่สูงขึ้น ตัวอย่างเช่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

สาม ถ้ารัฐไม่อยากตัดลดรายจ่ายในปัจจุบัน หรือไม่อยากขึ้นภาษีในตอนนี้ ก็ต้องกู้เงินในอนาคตมาใช้ก่อน และให้ลูกหลานรุ่นหน้าเป็นผู้รับภาระในอนาคตแทนเราในปัจจุบัน

นี่เป็นทางเลือกที่ทุกประเทศต้องเผชิญเป็นเรื่องปกติธรรมดา เช่น ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการสร้างกำแพงกั้นแนวชายแดนเม็กซิโกและเพิ่มรายจ่ายด้านการทหาร ก็ต้องยอมตัดลดรายจ่ายภายในประเทศด้านอื่น 

แต่สังคมไทยอาจจะไม่ค่อยได้พูดคุยเรื่องพวกนี้กันมาก จนเราหลงคิดว่างบประมาณแผ่นดินเป็นสิ่งที่ลอยมาเฉยๆ อยากใช้อะไรจ่ายอะไรก็เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายๆ ไม่มีต้นทุน ของฟรีใครๆ ก็อยากได้

ถ้าจะคิดเรื่องเรือดำน้ำจากมุมมองของประชาชนผู้เสียภาษี ผมคิดว่ามีคำถามสามข้อที่สังคมไทยควรครุ่นคิด และเราควรตั้งคำถามชุดนี้กับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐทุกโครงการ

คำถามข้อหนึ่ง – เราจำเป็นต้องมีและต้องใช้หรือไม่?

ถ้าทางกองทัพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิเคราะห์แล้วว่าจำเป็นต้องมีจริงๆ เพื่อการป้องกันประเทศ ก็อาจพอเข้าใจได้ แต่ก็ยังต้องพิจารณาคำถามข้อถัดไปต่อ

คำถามข้อสอง – ราคาและทางเลือกนั้น ดีที่สุดแล้วหรือไม่ และ “คุ้มค่า” หรือไม่?

แม้แต่ของที่เราอยากมี หรือจำเป็นต้องมี แต่ถ้าราคาแพงเกินกว่าจะอธิบายเหตุผลได้ หรือแพงจนไม่ “คุ้มค่า” ของสิ่งนั้นก็อาจจะเกินเอื้อมไปจริงๆ การพิจารณาเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ

อย่างเรือดำน้ำราคาขนาดนี้ ได้เทคโนโลยีจีนมา เทียบกับทางเลือกอื่นๆ ที่เราเคยคิด ใช้งบน้อยกว่านี้ มีทางออกอื่นอีกหรือไม่ และราคาขนาดนี้คุ้มค่าต่อความจำเป็นในคำถามข้อหนึ่งหรือไม่?

แม้กองทัพได้พิจารณาคำถามข้อสองกันอย่างถ้วนถี่แล้ว เห็นว่าจำเป็น คุ้มค่า และเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว ก็ยังต้องตอบคำถามข้อสามต่ออีก

คำถามข้อสาม – จะเอาเงินจากไหนมาจ่าย?

เราคงต้องพิจารณาว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้เป็นการตั้งงบประมาณเพิ่มเติมที่จะเป็นภาระผูกพันต่อในอนาคต หรือเป็นการแบ่งสรรปันส่วนมาจากงบประมาณประเภทอื่น

หรือเป็นการจัดลำดับความสำคัญของงบป้องกันประเทศ โดยปรับลดงบประมาณประเภทอื่นจากงบของกองทัพเรือเอง หรืองบป้องกันประเทศของกองทัพ เพื่อซื้อเรือดำน้ำ

แน่นอนว่า คำตอบข้อนี้สำคัญที่สุด แต่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงกัน

ถ้าเป็นการตั้งงบ “ไว้แล้ว” แต่งบผูกพันที่ว่าเป็นการตั้งเพิ่ม ไม่ได้มีการตัดลดงบประมาณด้านอื่นมาชดเชย ก็แปลว่าอาจจะไปเบียดบังเงินงบประมาณประเภทอื่นในอนาคต

เพราะ “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” เรามีทรัพยากรจำกัด และจะจำกัดขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต วันหลังคงต้องมานั่งเถียงกันว่า เราต้องตัดลดงบสาธารณสุข การศึกษา หรืองบลงทุน หรือต้องขึ้นภาษี เพื่อให้มีงบเพียงพอ หรือต้องกู้เพิ่มเติมจนเป็นภาระลูกหลานในอนาคต

ราคาของเรือดำน้ำอาจจะต้องนำไปเปรียบเทียบกับต้นทุนค่าเสียโอกาสของการใช้จ่ายด้านอื่นๆ ซึ่งคงเทียบกันลำบากว่าอะไรสำคัญกว่ากัน

แต่เรื่องเรือดำน้ำจะเกิดข้อถกเถียงน้อยกว่านี้ ถ้างบประมาณจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นงบที่ได้รับการจัดสรรมาจากการปรับลดค่าใช้จ่ายด้านอื่นของกองทัพเอง ภายใต้วงเงินงบประมาณป้องกันประเทศที่คาดว่าจะได้รับจัดสรรในอนาคต

ถ้าเป็นเช่นนี้ ราคาของเรือดำน้ำก็จะถูกคิดในหน่วยของเรือรบ รถถัง เรือเหาะ หรือเครื่องจีที 200 ที่เราซื้อไม่ได้ เพราะตัดสินใจซื้อเรือดำน้ำ

แทนที่จะถูกนับเป็นจำนวนเด็กนักเรียนที่เสียโอกาสในการเรียน จำนวนคนไข้ฉุกเฉินที่ถูกปฏิเสธ หรือราคาข้าวของที่ประชาชนต้องจ่ายแพงขึ้น เพราะงบประมาณไม่เพียงพอ.

 

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economic Focus

19 Apr 2023

นโยบายแจกเงินดิจิทัล: ทำได้ หรือขายฝัน?

วิมุต วานิชเจริญธรรม ชวนมองวิวาทะสองฝั่งของนโยบายแจกเงินดิจิทัลในการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย พร้อมให้ข้อเสนอถึงการปรับนโยบายให้ตรงจุดขึ้น

วิมุต วานิชเจริญธรรม

19 Apr 2023