fbpx
“1 ทศวรรษ ล้อมปราบเสื้อแดง ความตายปลุกความจริง” กับ พวงทอง ภวัครพันธุ์

“1 ทศวรรษ ล้อมปราบเสื้อแดง ความตายปลุกความจริง” กับ พวงทอง ภวัครพันธุ์

กองบรรณาธิการ เรียบเรียง

 

เหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดงเพื่อขับไล่รัฐบาลในเดือน เม.ย. – พ.ค. 2553 กลายเป็นประวัติศาสตร์ระยะใกล้ที่สังคมไทยกล้ำกลืน ลืมไม่ได้ จำไม่ลง

ทำไมการใช้กำลังล้อมปราบกลางเมืองที่รุนแรงที่สุดจึงเกิดขึ้นกลางเมือง สังคมไทยจำคนเสื้อแดงอย่างไร ที่ทางของขบวนการอยู่ตรงไหนของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย ทหารเปลี่ยนไปแค่ไหนในการเมืองมวลชน และอะไรคือบทเรียนใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน สำรวจข้อเท็จจริงของเหตุการณ์และวิเคราะห์พลวัตของหนึ่งในขบวนการการเมืองมวลชนที่ใหญ่ที่สุดของไทย

101 สนทนากับ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในทีมงานศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค. 53 ในรายการ 101 One-on-One ep.141 : ‘1 ทศวรรษ ล้อมปราบเสื้อแดง ความตายปลุกความจริง’

 

 

:: เรื่องของคนเสื้อแดงในเวอร์ชันที่ผู้คนยังอยากเชื่อ ::

 

 

ตั้งแต่ปี 2549 มา สังคมไทยแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน ทำให้คนไม่อยากฟังสิ่งที่ไม่ตรงใจของตัวเอง “คนเสื้อแดงเป็นชายชุดดำ เป็นผู้ก่อการร้าย เป็นพวกเผาบ้านเผาเมือง ใช้ความรุนแรง ไม่ได้ประท้วงอย่างสงบสันติ” ชุดคำพูดเหล่านี้เป็นเวอร์ชันหนึ่งของประวัติศาสตร์ปี 2553 ที่คนยังเชื่อ ต่อให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะมีการดำเนินคดีในชั้นศาล มีการไต่สวนการตาย มีข้อมูลออกมาชัดเจนว่าหลายข้อหาไม่เป็นความจริง

เช่น การเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องว่าคนเสื้อแดงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเผา หรือเรื่องชายชุดดำ เราไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของชายชุดดำ แต่ต้องเน้นย้ำว่า ชายชุดดำปรากฏตัวอย่างมีหลักฐานชัดเจนเฉพาะคืนวันที่ 10 เมษายนเท่านั้น หลังจากนั้นไม่มีหลักฐานชัดเจน

เราได้รับการยืนยันว่าพลเรือนที่เสียชีวิตทั้ง 84 คน ไม่มีอาวุธที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐได้ ศาลยืนยันว่าไม่มีใครเลยที่มีคราบเขม่าปืนอยู่ที่มือและร่างกาย แต่คนก็ยังเชื่อว่าผู้เสียชีวิตเป็นผู้ก่อการร้าย และใช้ความรุนแรง

คนที่ถูกยิง 20% ถูกยิงที่หัว เป็นการยิงเพื่อให้ตาย ไม่ใช่ยิงเพื่อป้องกัน ซึ่งผิดหลักการตามกฎหมายของรัฐ ต่อให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจทางกฎหมาย หรืออำนาจทางการทหารในการปราบปรามประชาน ก็ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตขั้นตอนการปฏิบัติ หรือ rule of engagement ที่ต้องทำจากเบาไปหาหนัก การยิงต้องยิงเพื่อป้องกันตัวเองหรือป้องกันพลเรือนที่อาจได้รับอันตรายจากผู้ชุมนุมเท่านั้น

คนเสื้อแดงเขาก็มีเวอร์ชันปี 2553 อีกแบบหนึ่ง เขาเชื่อว่าเขามาเรียกร้องประเด็นทางการเมืองอย่างสันติ คือเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ พิสูจน์ว่าพรรคการเมืองไหนกันแน่ที่ได้รับเสียงข้างมากของประชาชน เขาไม่ได้ต้องการมาล้มล้างรัฐบาลด้วยการยึดอำนาจ แต่ในที่สุดเขาก็ถูกปราบปราม ถูกจับกุม โดยที่กระบวนการยุติธรรมปล่อยให้คนที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมลอยนวลไป

 

:: เรายังคาดหวังความยุติธรรมต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมได้ไหม? ::

 

 

ดิฉันคิดว่าคนเสื้อแดงก็ยังโกรธอยู่ เพื่อนเขาตาย จำนวนมากยังติดคุกอยู่ในต่างจังหวัด และไม่มีโอกาสได้รับความยุติธรรม คดีความซึ่งทำท่าจะคืบหน้าในช่วงที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี คือการที่อัยการสั่งฟ้องคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ และคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่หลังรัฐประหาร 2557 ศาลอาญากลับบอกว่าไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีนี้ และโยนไปให้กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยบอกว่าเป็นเรื่องของการกระทำผิดต่ออำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ลดความรุนแรงของคดี จากคดีอาชญากรรมให้กลายเป็นแค่การกระทำผิดต่อหน้าที่ คนจำนวนมากก็เดาได้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะเราก็เห็นผลงานของ ป.ป.ช. ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เห็นว่าเขายืนอยู่ตรงไหนของความขัดแย้งทางการเมือง

ภายใต้ระบอบที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เราคงคาดหวังให้เกิดความยุติธรรมไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงหลังรัฐประหาร 2557 กลุ่มผู้มีอำนาจพยายามจะสถาปนาอำนาจของตัวเองผ่านกลไกรัฐ เรียกได้ว่ากลไกมันง่อยเปลี้ยจนไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐได้อีกแล้ว แต่กลายเป็นกลไกสนับสนุนอำนาจรัฐมากกว่า

ดังนั้น จะเห็นว่าคดีความที่เกี่ยวกับปี 2553 ถูกพับเก็บหมด แต่ถ้าจะมีโอกาสรื้อฟื้นคดี หมายความว่ากลุ่มที่มีอำนาจขณะนี้จะต้องสูญเสียอำนาจ กลไกทั้งหมดจะต้องเป็นประชาธิปไตยจริงๆ และมีรัฐบาลพลเรือนที่มีเจตจำนงแน่ชัดว่าจะดำเนินคดี จะรื้อฟื้นคดีเหล่านี้ขึ้นมาอีกครั้ง

 

:: มากไปกว่าทักษิณ คนต้องการการต่อสู้ทางความคิด ::

 

 

คนจำนวนมากยังเรียกตัวเองว่าเป็นคนเสื้อแดงอยู่ ซึ่งอาจจะมีทั้งเสื้อแดงที่รักทักษิณมากๆ และเสื้อแดงที่ไม่ได้สนใจคุณทักษิณแล้ว แต่ยังมุ่งที่จะต่อสู้เพื่อให้ประชาธิปไตยตอบสนองเสียงส่วนใหญ่อย่างแท้จริง

นับตั้งแต่ก่อนปี 2549 คุณทักษิณมีบทบาทสำคัญในการทำให้ประชาชนในต่างจังหวัดตระหนักว่าสิทธิทางการเมืองของตัวเองทำให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้ เขาจึงหวงแหนสิทธิในการเลือกตั้ง ต้องการรัฐบาลและนโยบายที่ตอบสนองชีวิตเขา จึงนำมาสู่กระบวนการเสื้อแดงซึ่งใหญ่โตและมีพลังมาก และจำนวนมากก็เป็นพลังที่ไกลกว่าคุณทักษิณ

แต่ในทางกลับกัน คนเสื้อแดงไม่สามารถทำให้คุณทักษิณก้าวหน้าขึ้นได้ ในขณะที่คุณทักษิณผลักให้คนเสื้อแดงเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2549 คุณทักษิณยังหาทางเจรจากับกลุ่มผู้มีอำนาจตลอดเวลา เพราะหวังว่าตัวเองจะกลับไทยได้ หวังว่าคดีความต่างๆ ที่เขาเจอจะเจรจาได้ รวมถึงกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง ด้านหนึ่งคุณทักษิณทิ้งคนตาย เพราะ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่งเป็นการนิรโทษกรรมให้กับกองทัพ คุณสุเทพ และคุณอภิสิทธิ์ แต่จะเห็นได้ว่าคนเสื้อแดงแทบจะไม่วิจารณ์คุณทักษิณในกรณีนี้เลย ยังพูดถึงในลักษณะที่ปกป้องเห็นใจ แต่ขณะเดียวกันก็เจ็บแค้นกับการที่ไม่ได้รับความยุติธรรม

การไม่วิพากษ์วิจารณ์คุณทักษิณ ทำให้คุณทักษิณหยุดนิ่ง รวมถึงพรรคการเมืองของคุณทักษิณในสิบกว่าปีที่ผ่านมาก็สู้แค่เรื่องหลักการ แต่สู้เรื่องประเด็นทางการเมืองน้อยมาก ท้าทายกลุ่มอำนาจที่มีอยู่น้อยมาก ฝั่งของคุณทักษิณมุ่งผลักแต่เรื่องเศรษฐกิจ เชื่อว่าถ้าตัวเองมีนโยบายเศรษฐกิจดี ซื้อใจประชาชนได้ ก็จะกลับมาเป็นรัฐบาลใหม่ได้ แต่จริงๆ แล้วการเมืองไทยเป็นเรื่องของการต่อสู้ทางความคิดด้วย ปัญหาคือฝั่งของคุณทักษิณไม่เคยพยายามต่อสู้ทางความคิดกับคนส่วนอื่นที่ไม่ใช่คนเสื้อแดง เราไม่ได้ยินเสียงวิพากษ์วิจารณ์เลย ทั้งเรื่องสถาบันทางการเมือง กองทัพ ไม่กล้าพูดแม้กระทั่งเรื่องล้มล้างผลพวงการรัฐประหารด้วยซ้ำไป

คนเสื้อแดงจำนวนมากก็ยังรักทักษิณอยู่ แต่ดิฉันคิดว่ามันมีมากกว่านั้น เขาต้องการเห็นการเมืองที่แฟร์และฟรีมากกว่าที่เป็นอยู่ ต้องการเห็นระบบการเมืองที่สะท้อนความต้องการของคนส่วนใหญ่ และทำให้ชีวิตของเขาดีขึ้นได้

 

:: กลไกควบคุม

ระบอบประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่ ::

 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นภายรัฐบาล คสช. ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ การออกแบบวิธีการเลือกตั้งใหม่ การทำงานของ กกต. หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตั้งขึ้นมาเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองมีนโยบายที่เป็นที่นิยมของประชาชนได้ และเป็นกลไกควบคุมระบอบประชาธิปไตยเสียงส่วนใหญ่

เขาคิดว่าจัดการเอาทักษิณออกไปได้เมื่อรัฐประหาร 2549 แล้วทุกอย่างก็จะจบ เหมือนรัฐประหารของเมืองไทยก่อนหน้านี้ แต่ปรากฏว่ามันเกิดขบวนการเสื้อแดงขึ้นมา ซึ่งเขาไม่รู้หรอกว่ามันมีอยู่ ไม่มีใครรู้ว่ามีคนเยอะมากในประเทศที่จงรักภักดีกับคุณทักษิณเพราะนโยบายที่คนรู้สึกว่าจะทำให้เขามีชีวิตดีขึ้น

หลังปี 2549 จะเลือกตั้งกี่ครั้ง หรือเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ตอนปี 2550 ก็ยังไม่สามารถเอาพรรคการเมืองของคุณทักษิณออกไปได้ ในที่สุดเขาคิดได้ว่าต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้น่าเกลียดอย่างไรก็ได้ ขอเพียงไม่ว่าคนเสื้อแดงจะเลือกพรรคของคุณทักษิณอย่างไร พรรคของคุณทักษิณก็ไม่มีวันจะได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีก

 

:: กลไกการทำงานมวลชน ในวันที่ศัตรูไม่ใช่คอมมิวนิสต์อีกต่อไป ::

 

 

กลไกการทำงานกับมวลชนมีมาตั้งแต่ยุคที่ต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ แม้ว่าคอมมิวนิสต์จะล่มสลายไปแล้ว เขาก็ไม่ได้ละทิ้งกลไกเหล่านี้ กอ.รมน. ยังคงทำงานต่อเนื่องในการจัดตั้งมวลชน ในช่วงที่สังคมไทยไม่ได้มีความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงภายใน กลไกก็ไม่ได้ทำงานอย่างคึกคัก แต่หลังรัฐประหารปี 2549 กอ.รมน. กลับเข้าไปเร่งฟื้นฟูเครือข่ายเหล่านี้ให้ขยายมากยิ่งขึ้น

กลไกการทำงานมวลชนมี 2 ด้าน ด้านแรกคือ การพยายามปลูกฝังความเชื่อและความจงรักภักดีต่อศูนย์กลางอำนาจรัฐ ด้านที่สองคือ กลไกเฝ้าระวัง จับตาดูการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้าม อาจจะมีทั้งการให้คนในพื้นที่จับตา เช่น คนเสื้อแดง หลังปี 2557 หรือในขณะนี้ที่ใช้กลไกไซเบอร์

ในอดีตกลไกทำงานมวลชนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องกระบวนการความคิดในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นอุดมการณ์ที่ทรงพลังมาก ถึงแม้ในอดีตคอมมิวนิสต์จะเป็นคนไทย แต่ก็ถูกทำให้กลายเป็นคนนอก เป็นมนุษย์ต่างดาว เช่น เมื่อก่อนเวลาจับคอมมิวนิสต์ได้ ชาวบ้านจะแห่ไปดูว่าคอมมิวนิสต์หน้าตาเป็นอย่างไร ราวกับเขาไม่ใช่คน

ปัจจุบันเขารู้ว่าศัตรูของอำนาจรัฐเป็นคนไทยด้วยกันเอง แต่วิธีการที่เขาทำไม่ได้ต่างจากอดีต ยังใช้ภาษา วาทกรรม และวิธีการแบบเก่าๆ ในขณะที่ผู้คนเปลี่ยนไปแล้ว คนรู้สึกว่าถ้าจะให้เขารักชาติ รักประเทศนี้ คุณก็ต้องรักเขาด้วย เคารพในสิทธิ เสรีภาพ ความเป็นมนุษย์ของเขาด้วย โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่คำนึงถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ วาทกรรมเก่าๆ ที่ให้คนเชื่อฟัง อยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ เชื่อคนที่มีอำนาจมากกว่า มันล้าสมัยแล้ว

สิ่งที่เขาล้มเหลวในปัจจุบันคือการควบคุมอุดมการณ์ทางความคิดของคน ดังนั้นเราจึงเห็นเขาไปลงทุนกับกลไกปราบปราบมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการสอดส่องทางไซเบอร์ และการฟ้องร้องคดีต่างๆ เช่น มาตรา 116 มาตรา 44 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

 

:: คนเสื้อแดงเป็นคนแปลกหน้าทางประวัติศาสตร์จริงหรือ? ::

 

 

มีคนเปรียบเทียบว่า 14 ตุลา เหมือนกับ พฤษภา 35 เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนชนะ ส่วน 6 ตุลา และพฤษภา 53 คล้ายกันที่ประชาชนแพ้ ถูกปราบปราม และคนที่เกี่ยวข้องก็ลอยนวลพ้นผิด แต่เหตุการณ์ทั้งสองไม่ได้เหมือนกันเสียทีเดียว

หลายๆ เรื่องพฤษภา 53 ดีกว่า 6 ตุลา เสียอีก ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาขึ้น คนเป็นเหยื่อถูกกระทำซ้ำ ครอบครัวถูกกล่าวโทษว่าเลี้ยงลูกยังไงให้เป็นคอมมิวนิสต์ ไม่ต้องพูดถึงความหวังต่อกระบวนการยุติธรรมเลย คนต้องปิดปากเงียบ หลายครอบครัวเอาหนังสือของลูกไปเผา ผ่านมา 20 ปี คนถึงเริ่มพูดเรื่อง 6 ตุลาใหม่ แต่ก็พูดแบบกลัวๆ ครอบครัวยังไม่กล้าให้สัมภาษณ์ เขายังเจ็บช้ำและหมดหวังกับกระบวนการยุติธรรม

แต่อย่าลืมว่าหลังปี 2553 ไม่กี่เดือน มีการชุมนุมขึ้นมาใหม่ คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ ไปจัดชุมนุมที่ราชประสงค์ ประกาศว่าที่นี่มีคนตาย หรือการที่กลุ่มของเรากล้าเขียนประวัติศาสตร์ในหนังสือ ‘ความจริงเพื่อความยุติธรรมฯ’  ขึ้นมา 6 ตุลาทำแบบนี้ไม่ได้ ต้องรอเวลาถึง 20 ปี แสดงให้เห็นว่าสังคมเปลี่ยนไปเร็วมาก รัฐไม่สามารถผูกขาดการรับรู้ของคนได้อย่างเข้มแข็งเหมือนในอดีตแล้ว เรามีเฟซบุ๊ก เรามีพื้นที่ในโลกออนไลน์ ที่จะเขียนบันทึก ประกาศจุดยืนของเรา

ความรู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำและไม่ได้รับความยุติธรรมอาจจะเป็นความรู้สึกเดียวกับนักศึกษาตอน 6 ตุลา ก็ได้ นักศึกษารู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำอย่างโหดเหี้ยม ทารุณ แต่สังคมกลับไม่สนใจ เขากลายเป็นผู้แพ้ แต่ ณ วันนี้ ในกรณี 6 ตุลา ไม่มีใครกล้าบอกว่าตัวเองเป็นวีรบุรุษที่ทำร้ายนักศึกษาในวันนั้นอีกแล้ว เวลาไปสัมภาษณ์ฝ่ายขวา เขาจะบอกว่าเขามีส่วนร่วมในการปราบคอมมิวนิสต์ แต่ไม่มีใครยอมรับว่าตัวเองเกี่ยวข้องกับวันที่ 6 ตุลา ‘ฉันไม่อยู่ในวันนั้น ไม่เกี่ยว แค่ไปยืนดูเฉยๆ ไม่ได้เอาเก้าอี้ฟาดนักศึกษา’

คนที่เป็นเหยื่อวันที่ 6 ตุลา วันนี้เรายอมรับว่าเขาคือผู้เสียสละ และเป็นเหยื่อที่แท้จริง ถึงแม้ว่าเราจะมีเพดานในการพูดถึง 6 ตุลาอยู่ก็ตาม ดิฉันหวังว่าเมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเรามีโอกาสสถาปนาความยุติธรรม เมื่อข้อมูลจำนวนมากที่เรายังเปิดเผยไม่ได้ปรากฏในชั้นศาล คนส่วนใหญ่จะมองขบวนการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงดีกว่าที่เป็นอยู่ และเคารพในศักดิ์ศรีของคนเสื้อแดงที่ถูกเรียกว่าเป็นพวก ‘โง่ จน เจ็บ’

 

:: การตัดสินใจที่ผิดพลาด? ในเส้นทางประชาธิปไตยไทย ::

 

 

ดิฉันผิดหวังกับคุณอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ก่อนปี 2553 แล้ว หลังรัฐประหาร 2549 ถึงแม้คุณจะเชื่อว่ามีคนเสื้อแดงจำนวนมากที่ยังเลือกคุณทักษิณอยู่ แต่ถ้าไม่หมกมุ่นอยู่กับการต่อต้านคุณทักษิณ แล้วยึดหลักในการต่อสู้แบบประชาธิปไตย ไม่ไปฮั้วกับกองทัพ และไม่ตัดสินใจสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ประชาธิปไตยไทยคงมีความหวังกว่านี้

คนอาจจะหันมาสนับสนุนประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะคนชนชั้นกลาง หรือคนรุ่นใหม่ในเมือง อาจจะไม่มีพรรคอนาคตใหม่ก็ได้ ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เป็นอย่างที่เป็นในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save