fbpx

ขังหรือปล่อย ระหว่างดำเนินคดีอาญา

ในระหว่างที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกดำเนินคดีอาญา ไม่ว่าจะอยู่ในชั้นสอบสวน ชั้นสั่งคดีของพนักงานอัยการ หรือชั้นพิจารณาคดีที่ศาล คำถามคือผู้ต้องหาหรือจำเลยควรจะต้องถูกขังหรือควรจะได้รับอิสรภาพระหว่างการดำนินคดีอาญา

คำตอบคือการดำเนินคดีอาญากับการขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ระหว่างดำเนินคดีไม่ได้อยู่บนหลักการเดียวกัน การดำเนินคดีอาญามีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาประโยชน์ของสังคม คือการค้นหาความจริง หากพบการกระทำความผิด ก็จะลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเหมาะสม หากพบว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก็จะปล่อยตัวคืนความบริสุทธิ์ให้เขา ส่วนการจะขังหรือปล่อยตัวผู้ถูกดำเนินคดีอาญาอยู่บนหลักการอีกเรื่องหนึ่ง คือการพิจารณาว่าผู้ถูกดำเนินคดีจะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายให้กับผู้อื่นหรือสังคมหรือไม่ ถ้าใช่ ก็ควรขัง ถ้าไม่ใช่ ก็ควรปล่อย

บทความนี้จะกล่าวถึงสามประเด็นหลักๆ คือ ประเด็นเรื่องเหตุแห่งการขังที่มีได้หลายเหตุ ประเด็นคำถามที่ว่าการขังระหว่างดำเนินคดีอาญาขัดกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์หรือไม่ และประเด็นสุดท้ายคือ การขังระหว่างดำเนินคดีอาญาจะใช้เพียงชั่วคราว (provisoire) และนำมาใช้เป็นมาตรการสุดท้าย (last resort)


1. เหตุแห่งการขัง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29 วรรค 3 “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจําเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” เมื่ออ่านรัฐธรรมนูญมาตรานี้แล้วทำให้เข้าใจว่าการขังระหว่างดำเนินคดีอาญาทำได้ด้วยเหตุเดียวคือเพื่อป้องกันมิให้หลบหนี แต่ความจริงแล้ว เหตุแห่งการขังระหว่างสอบสวนหรือระหว่างพิจารณาคดีอาญามีได้มากมายหลายเหตุเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของสังคม โดยเหตุแห่งการขังเพื่อป้องกันมิให้หลบหนีเป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ เหตุเท่านั้น

เหตุที่ศาลฝรั่งเศสสามารถขังผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นการชั่วคราว (détention provisoire) ระหว่างดำเนินคดีอาญา มีได้ 7 เหตุ[1] คือ

1) รักษาพยานหลักฐาน

2) หลีกเลี่ยงแรงกดดันต่อพยาน ผู้เสียหายและครอบครัว

3) หลีกเลี่ยงการพบปะระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิด

4) คุ้มครองผู้ต้องหา

5) ป้องกันมิให้หลบหนี

6) ยุติการกระทำความผิดหรือป้องกันมิให้ไปกระทำความผิดอีก

7) ยุติความไม่สงบของประชาชน (ordre public) ที่เกิดจากการกระทำความผิดอาญา เฉพาะกรณีจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่ใช่เกิดจากการเสนอข่าวของสื่อมวลชน และเฉพาะกรณีที่คดีมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป    

หากผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำความผิดอาญาอุกฉกรรจ์ เช่น ข่มขืน ฆ่าคน แล้วมีพยานหลักฐานหนักแน่นว่าเป็นผู้กระทำความผิด แม้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ก็สามารถขังระหว่างดำเนินคดีได้ เพื่อยุติความไม่สงบของประชาชน ที่หากปล่อยตัวไปอาจทำให้สังคมวุ่นวาย แต่อย่างไรก็ตาม การขังเพราะเหตุเพื่อยุติความไม่สงบของประชาชนจะใช้กรณีจำเป็นจริงๆ ไม่ใช้กับกรณีความผิดทั่วไปที่มีโทษจำคุกต่ำกว่า 10 ปี และไม่ใช้ในกรณีที่สื่อเสนอข่าวอาชญากรรมนั้นซ้ำๆ จนก่อให้เกิดความไม่สงบของประชาชน

เมื่อเปรียบเทียบเหตุแห่งการขังผู้ต้องหาหรือจำเลยในฝรั่งเศสมีได้หลายประการ แต่รัฐธรรมนูญไทย มาตรา 29 วรรค 3 กลับกำหนดไว้ให้ทำการขังได้เพียงเหตุเดียวคือ “เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” คำถามคือทำไมเราจึงบัญญัติไว้แค่เหตุเดียว

หากดูความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้อธิบายมาตรา 29[2] ว่ามีความมุ่งหมายเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และเป็นบทบัญญัติเดิมที่มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492

ความจริงแล้วบทบัญญัติที่มีมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 มีสองเรื่อง เรื่องแรก คือการรับรองสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ก่อนมีคำพิพากษาของศาลจะปฏิบัติกับผู้ต้องหาหรือจำเลยแบบผู้กระทำความผิดไม่ได้ และเรื่องที่สอง คือการปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวต้องมีเหตุตามที่กฎหมายกำหนด ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไทยไม่เคยบัญญัติไว้เลยว่า “การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจําเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี” เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เป็นฉบับแรกที่เขียนไว้ว่าเหตุแห่งการขังผู้ต้องหาหรือจำเลยเอาไว้ ไม่น่าจะเป็นเพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มุ่งหมายที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนให้ดีที่สุดที่เคยมีมา แต่น่าจะเป็นเพราะผู้ยกร่างเขียนเหตุแห่งการขังไว้ไม่ครบ ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีกับการคุ้มครองสังคม โดยเฉพาะกรณีอาชญากรร้ายแรงที่มีแนวโน้มกระทำความผิดซ้ำอีก


2. การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวกระทบสิทธิที่จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์หรือไม่

หลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์เป็นหลักสำคัญในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เป็นหลักสิทธิมนุษยชนสากล และเป็นหลักพื้นฐานกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย และในประเทศต่างๆ ที่ผมเคยเขียนไว้แล้ว[3] ดังนั้น หากยังไม่มีคำพิพากษาจะปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยอย่างผู้กระทำความผิดไม่ได้

คำถามคือ การขังผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างสอบสวนหรือพิจารณาคดีอาญาหรือการปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวเป็นการกระทบสิทธิที่จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์หรือไม่

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) เป็นองค์กรกำกับดูแลรัฐภาคีต่างๆ 173 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ในการปฏิบัติตามพันธกรณีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) เคยวินิจฉัยว่า “การปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว โดยเหตุผลแล้วไม่ได้กระทบสิทธิที่จะถูกสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์”[4] ดังนั้นหากมีเหตุผลในการขังผู้ต้องหาหรือจำเลย หรือผู้ต้องหาหรือจำเลยขอประกันตัวแล้วศาลปฏิเสธไม่ให้ประกันตัวโดยมีเหตุผล แม้จะมีผลทำให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกขังระหว่างดำเนินคดีอาญา และอยู่ในสภาพสูญเสียเสรีภาพแบบผู้กระทำความผิด โดยทั่วไปแล้วก็ไม่ได้ขัดกับหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์

อย่างไรก็ตาม มีคดีหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นที่ประเทศฟิลิปปินส์ ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม ถูกปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว จึงถูกขังระหว่างสอบสวนยาวนานถึง 4 ปี โดยยังไม่ถูกส่งฟ้องศาล และยังคงถูกขังระหว่างพิจารณาในศาลอีก 5 ปี โดยยังไม่มีคำพิพากษา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) วินิจฉัยว่าการขยายระยะเวลาคุมขังก่อนพิจารณาออกไปยาวนานมากดังกล่าวอาจกระทบหลักสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ และกระทบสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างไม่ล่าช้าเกินสมควร[5]

จากแนวทางการตีความของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (Human Rights Committee) อาจสรุปได้ว่า การขังระหว่างสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณาคดีอาญา ถ้ามีเหตุผลก็ไม่เป็นการขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ แม้จะต้องสูญเสียอิสรภาพเหมือนคนที่ถูกลงโทษจำคุกก็ตาม แต่การขังระหว่างสอบสวนหรือระหว่างพิจารณาคดีต้องไม่ยาวนานเกินสมควร เพราะระยะเวลาการขังที่ยาวนานเกินไปเสมือนกับเป็นการลงโทษผู้กระทำความผิดไปแล้วโดยยังไม่มีคำพิพากษานั่นเอง


3. การขังระหว่างดำเนินคดีอาญาเป็นมาตรการชั่วคราว (provisoire) และเป็นมาตรการสุดท้าย (last resort)

แม้การขังผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างสอบสวนกับระหว่างพิจารณาคดีอาญาสามารถกระทำได้โดยเหตุต่างๆ หลายเหตุซึ่งโดยหลักแล้วก็ไม่ได้ขัดกับหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ แต่การขังระหว่างดำเนินคดีอาญาจะนำมาใช้เพียงชั่วคราว (provisoire) และจะนำมาใช้เป็นมาตรการสุดท้าย (last resort) กล่าวคือ หากมีมาตรการอื่นที่ป้องกันมิให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี ยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายได้แล้ว ศาลควรใช้มาตรการอื่นก่อน        

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศส บัญญัติหลักการดังกล่าวอย่างชัดเจนว่าการขังเป็นเรื่องชั่วคราวและการขังจะนำมาใช้เป็นมาตรการสุดท้าย โดยในมาตรา 144[6] วางหลักว่า “การขังชั่วคราว (détention provisoire) เป็นมาตรการสุดท้ายที่ศาลจะสั่งได้เฉพาะเมื่อมาตรการ ‘การควบคุมโดยศาล’ (contrôle judiciaire) หรือ ‘มาตรการควบคุมที่บ้านโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์’ (assignation à résidence avec surveillance électronique) ใช้ไม่ได้ผล”

เมื่อผู้ต้องหาถูกตำรวจนำตัวมาศาล ศาลฝรั่งเศสจะใช้ ‘มาตรการควบคุมโดยศาล’ เป็นหลัก หมายถึงให้ปล่อยกลับบ้านโดยมีเงื่อนไขให้ปฏิบัติเพื่อป้องกันมิให้หนี เช่นให้มารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ทุกสัปดาห์ มิให้ยุ่งเหยิงกับพยาน ห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย ห้ามขับขี่ยานพาหนะ ยึดใบขับขี่ชั่วคราว ให้ไปบำบัดรักษาทางการแพทย์ ให้จ่ายค่าดูแลบุตรและครอบครัว ห้ามกระทำการที่สร้างอันตรายต่อผู้อื่นและสังคม ฯลฯ[7] หากปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ก็ได้สามารถต่อสู้คดีโดยไม่ต้องถูกขัง หากต่อมาฝ่าฝืนเงื่อนไข ก็จะถูกนำมาขังต่อไป

หากศาลเห็นว่า มาตรการการควบคุมโดยศาลไม่ได้ผล ศาลอาจจะสั่งมาตรการที่สองที่รุนแรงขึ้น คือ ‘มาตรการควบคุมที่บ้านโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์’ หมายถึงให้ผู้ต้องอยู่บ้านแต่ติดระบบควบคุมจำกัดบริเวณเพื่อป้องกันมิให้หนีหรือไปก่อเหตุอันตราย

ท้ายสุด ถ้าศาลเห็นว่ามาตรการใดๆ ก็ไม่ได้ผลในการรักษาประโยชน์สังคมในระหว่างดำเนินคดี ศาลจึงจะมาพิจารณาว่าควรจะขังผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นการชั่วคราว (détention provisoire) หรือไม่ โดยศาลจะรับฟังความจากทุกฝ่าย (débat contradictoire) ฝ่ายหนึ่งคือรับฟังจากอัยการ อีกฝ่ายหนึ่งคือรับฟังผู้ต้องหา โดยผู้ต้องหาต้องมีทนายความเสมอ หากผู้ต้องหาไม่มีทนายความ ศาลจะตั้งทนายความให้[8]

จะเห็นได้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาฝรั่งเศสวางมาตรการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างดำเนินคดีเป็นลำดับอย่างได้สัดส่วน หากพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและทางปฏิบัติของไทย เมื่อพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องฝากขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน หากผู้ต้องหาอยู่เฉยๆ ก็จะถูกขัง ถ้าไม่อยากถูกขังก็ต้องให้ญาติไปยื่นคำร้องขอประกันตัว ที่เราเรียกว่าการขอ ‘ปล่อยชั่วคราว’ (provisional release) ถ้อยคำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเราใช้การขังเป็นหลัก และการปล่อยเป็นการ ‘ชั่วคราว’

กระบวนการออกหมายขังในศาลไทย พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องไปที่ศาลโดยตรง โดยอัยการไม่ทราบเรื่องเลย แม้ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะมีทนายความ แต่ก็สามารถปฏิเสธไม่ขอทนายความก็ได้ ทั้งๆ ที่ในฝรั่งเศส การจะขังผู้ต้องหาสักคนเป็นเรื่องใหญ่ที่พรากเสรีภาพของเขาก่อนมีคำพิพากษา ผู้ต้องหาต้องมีทนายความช่วยเหลือในกระบวนการพิจารณาออกหมายขังเสมอ และจะต้องเปิดการพิจารณารับฟังความสองฝ่ายจากอัยการและจากผู้ต้องหา

นอกจากนี้ การร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวโดยการประกันตัวที่ใดยังใช้เกณฑ์การให้ประกันตัวโดยต้องมีหลักประกันมาวาง เช่น เงินสด ที่ดิน สมุดบัญชีเงินฝาก หรือบุคคลมาเป็นประกัน ยิ่งเป็นการสร้างความไม่เสมอภาคในสิทธิที่จะได้รับอิสรภาพ คนมีเงินหรือมีทรัพย์สินก็จะวางหลักประกันและได้รับอิสรภาพ ส่วนคนไม่มีเงินหรือไม่มีทรัพย์สินก็จะถูกขัง ซึ่งหากยึดหลักเรื่องการขังเป็นมาตรการสุดท้าย ปัญหาเรื่องความไม่เสมอภาคดังกล่าวน่าจะหมดไป

เป็นที่น่ายินดีที่ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2565 ข้อ 44/1 ได้มีการกำหนดหลักการออกหมายขังแบบใหม่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการออกหมายขังไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นหลัก โดยข้อบังคับฯ บัญญัติว่า “แม้เป็นกรณีที่มีเหตุออกหมายขัง แต่ถ้าศาลเห็นว่ายังมีวิธีป้องกันมิให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี หรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นได้ ศาลจะงดออกหมายขังและปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นก็ได้…”  

แม้จะมีข้อบังคับดังกล่าว ทางออกของเรื่องนี้น่าจะอยู่ที่การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อทำให้หลักการเรื่องการขังเป็นเรื่อง ‘ชั่วคราว’ และเป็น ‘มาตรการสุดท้าย’ ปรากฏอยู่ในกฎหมาย เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง เพื่อเป็นที่ทราบของประชาชน และเพื่อให้นักศึกษากฎหมายได้ศึกษาก่อนที่จะไปประกอบวิชาชีพกฎหมายในอนาคต การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาน่าจะทำได้ในประเด็นดังต่อไปนี้

1) เมื่อพนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามาพบศาล ควรมีบทบัญญัติให้ศาลพิจารณาใช้มาตรการเพื่อป้องกันมิให้ผู้ต้องหาหลบหนี ยุ่งเหยิงหลักฐาน ก่อเหตุร้าย แบบ ‘มาตรการการควบคุมโดยศาล’ (contrôle judiciaire) ในฝรั่งเศส เช่น ให้มารายงานตัว การกำหนดห้ามเข้าใกล้ผู้เสียหาย ห้ามมั่วสุมกับผู้ร่วมกระทำความผิด ห้ามดื่มสุรา ฯลฯ รวมทั้งการให้ใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์เพื่อควบคุมตัวที่บ้านเป็นอันดับแรก แม้ผู้ต้องหาไม่ได้ขอประกันตัวเลยก็ตาม เฉพาะในกรณีที่ศาลเห็นว่าไม่สามารถใช้มาตรการอื่นใดได้แล้ว การออกหมายขังชั่วคราวควรเป็นมาตรการสุดท้ายที่ในกรณีจำเป็นเท่านั้น  

2) กำหนดให้ศาลที่จะสั่งขังชั่วคราวได้ต้องมีกระบวนการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหา โดยต้องเปิดรับฟังความเห็นทั้งสองฝ่าย โดยฝ่ายหนึ่งคืออัยการ อีกฝั่งหนึ่งคือผู้ต้องหา และผู้ต้องหาต้องมีทนายความเสมอ จึงจะออกหมายขังได้

3) เปลี่ยนชื่อ ‘ขัง’ เป็น ‘ขังชั่วคราว’ และเปลี่ยนชื่อ ‘ปล่อยชั่วคราว’ เป็น ‘ปล่อย’ เพื่อให้ชื่อมาตรการในกฎหมายไทยสอดคล้องกับหลักการว่าการปล่อยเป็นหลัก และการขังเป็นเพียงมาตรการชั่วคราวที่ใช้ในกรณีจำเป็น

การขังระหว่างดำเนินคดีอาญาเป็น ‘ยาแรงที่จำเป็น’ ในกระบวนการยุติธรรม ยาแรงนั้นไม่ควรนำมาใช้เป็นยาทั่วไป เพราะสร้างต้นทุนเกินสมควรให้กับกระบวนการยุติธรรมและสังคม ยาแรงควรจะใช้เป็นยาชุดสุดท้าย ที่ไม่สามารถใช้ยาอื่นแก้ไขปัญหาได้แล้วเท่านั้น


[1] Code de procédure pénale, Article 144 « La détention provisoire ne peut être ordonnée ou prolongée que s’il est démontré, au regard des éléments précis et circonstanciés résultant de la procédure, qu’elle constitue l’unique moyen de parvenir à l’un ou plusieurs des objectifs suivants et que ceux-ci ne sauraient être atteints en cas de placement sous contrôle judiciaire ou d’assignation à résidence avec surveillance électronique :

1° Conserver les preuves ou les indices matériels qui sont nécessaires à la manifestation de la vérité ;

2° Empêcher une pression sur les témoins ou les victimes ainsi que sur leur famille ;

3° Empêcher une concertation frauduleuse entre la personne mise en examen et ses coauteurs ou complices ;

4° Protéger la personne mise en examen ;

5° Garantir le maintien de la personne mise en examen à la disposition de la justice ;

6° Mettre fin à l’infraction ou prévenir son renouvellement ;

7° Mettre fin au trouble exceptionnel et persistant à l’ordre public provoqué par la gravité de l’infraction, les circonstances de sa commission ou l’importance du préjudice qu’elle a causé. Ce trouble ne peut résulter du seul retentissement médiatique de l’affaire. Toutefois, le présent alinéa n’est pas applicable en matière correctionnelle.

[2] ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

[3] สิทธิของปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ : หลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์

[4] HRC, Communication 788/1997, Cagas v. Philippines, 23 October 2001, CCPR/C/73/D/788/1997, para.7.3 “on account of the denial of bail, the Committee finds that this denial did not a priori affect the right of the authors to be presumed innocent”.  

[5] HRC, Communication 788/1997, Cagas v. Philippines, 23 October 2001, CCPR/C/73/D/788/1997, para.7.4 “Extremely prolonged pre-trial detention may jeopardize the presumption of innocence (Art.14.2) and the right to be tried without undue delay (Art.14.3(c))”

[6] Code de procédure pénale, Article 144 « La détention provisoire ne peut être ordonnée ou prolongée que s’il est démontré, au regard des éléments précis et circonstanciés résultant de la procédure, qu’elle constitue l’unique moyen de parvenir à l’un ou plusieurs des objectifs suivants et que ceux-ci ne sauraient être atteints en cas de placement sous contrôle judiciaire ou d’assignation à résidence avec surveillance électronique : … ».

[7] contrôle judiciaire

[8] Code de procédure pénale, Article 145 alinéa 5 « Si cette personne n’est pas déjà assistée d’un avocat, le juge l’avise qu’elle sera défendue lors du débat par un avocat de son choix ou, si elle ne choisit pas d’avocat, par un avocat commis d’office. L’avocat choisi ou, dans le cas d’une commission d’office, le bâtonnier de l’ordre des avocats en est avisé par tout moyen et sans délai. Si l’avocat choisi ne peut se déplacer, il est remplacé par un avocat commis d’office. Mention de ces formalités est faite au procès-verbal ».

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save