fbpx
ประชาชนลุกฮือระลอกใหม่?: เทียบการประท้วงในไทย เบลารุส และอิสราเอล

ประชาชนลุกฮือระลอกใหม่?: เทียบการประท้วงในไทย เบลารุส และอิสราเอล

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

 ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

 

ปีที่แล้วเพียงปีเดียว เกิดการประท้วงของคลื่นมหาชนทั้งหมดใน 114 ประเทศ ทว่าหลังโควิด-19 ระบาด แน่นอนว่ากระแสดังกล่าวก็แผ่วลง

กระนั้นก็ดี ภายในช่วงแรกของเดือนเมษายนปีนี้ เกิดการประท้วงทั่วโลกแล้วถึง 405 เหตุการณ์ และในเดือนสิงหาคมเพียงเดือนเดียวเกิดการประท้วงใหญ่ในสามประเทศจากสามภูมิภาค ซึ่งได้รับความสนใจระดับโลก ได้แก่ในไทย (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) เบลารุส (ยุโรปตะวันออก) และอิสราเอล (ตะวันออกกลาง)

แม้สามประเทศนี้มีเงื่อนไขทางการเมืองที่ต่างกัน อย่างในแง่ระบอบการเมือง เบลารุสถือว่าเป็นเผด็จการ ส่วนอิสราเอลเป็นประชาธิปไตยแบบตัวแทน และไทยเป็นแบบลูกผสม (hybrid regime) หรือในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ การเมืองภายในเบลารุสและอิสราเอลได้รับอิทธิพลจากมหาอำนาจอย่างรัสเซีย สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ส่วนสถานะทางภูมิยุทธศาสตร์ของไทยอาจไม่เท่าสองประเทศนี้

กระนั้นก็ดี ปัจจัยขับเคลื่อนและรูปแบบการประท้วงในสามประเทศมีความคล้ายคลึงกันอย่างน้อยสามประการ และอาจบ่งชี้แนวโน้มการเมืองของการประท้วงในโลกช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีแห่งโควิดนี้ได้

 

ความคล้าย I: เหตุปัจจัยอันมาจากผู้นำอำนาจนิยมเกาะเก้าอี้ไม่ยอมปล่อย

 

ในสามกรณีนี้ ปรากฏว่าผู้นำประเทศ ณ ปัจจุบันอยู่ในตำแหน่งมานาน บกพร่องในการบริหารการบ้านการเมือง ไม่ใส่ใจเสียงประชาชน จากที่คนเคยรักช่วงครองอำนาจแรกๆ ก็เริ่มเบื่อหน่ายและขาดความเชื่อถือมากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นวิกฤตความชอบธรรม

ในบรรดาผู้นำทั้งสาม ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเช็งโก (Alexander Lukaschenko) แห่งเบลารุสอยู่ในตำแหน่งนานที่สุดถึง 26 ปี

เส้นทางสู่อำนาจของลูกาเช็งโกเริ่มจากชัยชนะการเลือกตั้งในปี 1994 ต่อมาในปี 2004 ก็ได้จังหวะจัดประชามติเพื่อให้ตนอยู่ในอำนาจโดยไม่มีกรอบเวลาจำกัด (term limits) ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง ลูกาเช็งโกโกงการเลือกตั้งจนชนะอยู่ร่ำไป จนสหภาพยุโรปถึงกับขนานนามลูกาเช็งโกว่าเป็น ‘เผด็จการคนสุดท้าย’ ของยุโรป

ช่วงหลายปีที่อยู่ในอำนาจ เบลารุสกลายเป็นรัฐตำรวจ ปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างไม่เลือกหน้า แม้ในสายตาใครหลายคน คะแนนนิยมของลูกาเช็งโกตกต่ำอย่างมากในการเลือกตั้งเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2020 ทว่ากลับกลายเป็นว่าเขาชนะการเลือกตั้ง โดยกวาดคะแนนไปกว่าร้อยละ 80

รองลงมาจากเบลารุสคืออิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netayahu) ซึ่งครองตำแหน่งมา 11 ปี

ตั้งแต่ปี 2009 เนทันยาฮูเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมออกขวาชื่อว่า Likud ซึ่งได้รับเสียงข้างมากในการเลือกตั้งมาหลายสมัย ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2019 พรรคฝ่ายค้านชื่อว่า Blue and White ได้คะแนนเสียงสูสีกับพรรค Likud เหตุหลักมาจากกรณีคอร์รัปชั่นอื้อฉาว ความเหลื่อมล้ำ และการที่ผู้นำรัฐบาลไม่เห็นหัวประชาชน ซึ่งทำให้ฐานเสียงเดิมของพรรค Likud หันไปเลือกพรรคฝ่ายค้าน

หลังจากขับเขี้ยวกันหลายเดือนเพื่อแข่งกันหาพรรคร่วมรัฐบาล สุดท้ายทั้งสองพรรคร่วมตั้งรัฐบาลด้วยกัน โดยในสองปีแรก เนทันยาฮูยังคงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ส่วนผู้นำพรรคฝ่ายค้านจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ในปลายปีหน้า

ส่วนกรณีไทยนั้น ไม่ต้องอธิบายกันยาวมาก รู้กันว่าท่านนายกประยุทธ์ จันทร์โอชาครองตำแหน่งผู้นำประเทศมาตั้งแต่ช่วงรัฐประหารปี 2014 และยังคงครองตำแหน่งต่อแม้จะมีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2019 รวมเวลาอยู่ในอำนาจจนถึงปัจจุบันได้หกปี

ในช่วงหลังรัฐประหารได้ไม่นาน คะแนนนิยมของพล.อ. ประยุทธ์มีอยู่พอควร โดยเฉพาะในกลุ่มอนุรักษ์นิยม ทว่าหลายปีผ่านไป นโยบายหลายประการที่สัญญาไว้ดันไม่สัมฤทธิ์ผล ตรงข้ามกับงบประมาณทหารที่เพิ่มขึ้นทุกปี ในขณะที่ช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยก็ถ่างออกห่างจากกันมากเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ ยังไม่นับข่าวฉาวการฉ้อราษฎร์บังหลวงของคนในรัฐบาล การปราบผู้เห็นต่าง การใช้กฎหมายโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม ฯลฯ ผลสำรวจคะแนนนิยมผู้นำทางการเมืองพบว่าในช่วงวิกฤตโควิด แม้คะแนนนิยมพล.อ.ประยุทธ์จะเพิ่มจากร้อยละ 23 มาเป็นร้อยละ 25 แต่ผู้ถูกสำรวจร้อยละ 44 คิดว่าตอนนี้ยังหาผู้นำที่เหมาะสมไม่ได้

 

ความคล้าย II: เหตุปัจจัยอันมาจากการรับมือวิกฤตโควิด-19

 

ผู้นำและรัฐบาลเบลารุส อิสราเอล และไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์เพราะมาตรการรับมือโควิด และ/หรือปัญหาเศรษฐกิจที่พ่วงมากับวิกฤตดังกล่าว โดยวิกฤตเฉพาะหน้าเหล่านี้ทับถมปัญหาเดิม ซึ่งผู้นำที่อยู่ในอำนาจมายาวนานเหล่านี้ไม่ได้แก้ไขให้คลี่คลาย หรือซ้ำร้ายยิ่งตอกย้ำให้ปัญหาเลวร้ายลงไปอีก

แม้ว่าไทยและอิสราเอลจะรับมือโรคระบาดได้เร็วทันเวลา ทว่าอิสราเอลเจอการระบาดรอบที่สองในเดือนกรกฎาคม นอกจากนี้ การปิดเมืองแบบสุดขั้วทั้งในไทยและอิสราเอลยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง

ในไทย ผลสำรวจของมูลนิธิเอเชียพบว่าว่าร้อยละ 70 ของแรงงานตอนนี้มีรายได้ลดลงราวร้อยละ 47 จากเดิม ธุรกิจขนาดเล็กในภาคการท่องเที่ยวร้อยละ 11 อาจปิดตัวลงอย่างถาวร ส่วนกิจการขนาดย่อมอีกร้อยละ 31 (ที่สำรวจ) อาจปิดตัวลงในอีกหกเดือน นอกจากนี้ ธนาคารโลกชี้ว่าจำนวนผู้ตกงานในเมืองไทยอาจมีมากถึง 8 ล้านคน และอาจแตะ 14 ล้านคนในปลายปีนี้

ส่วนอิสราเอลก็เจอพิษเศรษฐกิจสะบักสะบอมพอๆ กัน โดยตัวเลขคนตกงานเพิ่มจากร้อยละ 3 ในเดือนมีนาคม เป็นร้อยละ 25 ในเดือนกรกฎาคม ขณะที่รัฐบาลซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูไม่สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลข้างเคียงทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง

ส่วนประชาชนในเบลารุสนั้น เจอทั้งมาตรการรับมือโควิด-19 และพิษเศรษฐกิจที่ไร้ประสิทธิภาพ

ในช่วงแรกที่โควิด-19 เริ่มระบาดในเบลารุส ประธานาธิบดีลูกาเช็งโกประกาศว่านี่ไม่ใช่โรคร้ายแรง ให้ประชาชนดื่มเหล้าวอดก้าให้มากๆ ไปซาวน่า และขี่อีแต๋นไปทำไร่ไถนาไปเรื่อยๆ (ไม่ได้ล้อเล่นค่ะ แกพูดเช่นนี้จริงๆ) ร่างกายจะได้แข็งแรง สู้กับไวรัสได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเบลารุสตอนนี้อยู่ที่ราว 70,000 ส่วนผู้เสียชีวิตมีประมาณ 662 คน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจในเบลารุสก็ง่อนแง่น คาดกว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจจะติดลบร้อยละ 4 ในปีนี้ ซึ่งถือว่าต่ำสุดในรอบ 25 ปี คาดการณ์ว่าตัวเลขคนตกงานอาจสูงขึ้นมากถึงร้อยละ 20-30 ขณะที่ผู้กุมอำนาจทางเศรษฐกิจกระจุกอยู่ในระบบราชการแบบรวมศูนย์และคนใกล้ตัวประธานาธิบดีลูกาเช็งโก

ข้าพเจ้าได้อภิปรายไว้ในบทความก่อนหน้านี้ว่า วิกฤตที่มากับโรคระบาดโควิด-19 จะเป็นชนวนให้การประท้วงต้านรัฐบาลในประเทศที่มาตรการรับมือไร้ประสิทธิภาพและไม่ทั่วถึง ภาวะเช่นนี้ยิ่งตอกย้ำวิกฤตความชอบธรรมของผู้ซึ่งเกาะเก้าอี้ไม่ปล่อย และช่วยให้ขบวนการภาคประชาชนที่ประท้วงผู้นำมานานขยายฐานสนับสนุนได้

 

ความคล้าย III: องค์ประกอบและยุทธศาสตร์ของขบวนการภาคประชาชน

 

ในสามประเทศดังกล่าว ขบวนการภาคประชาชนประท้วงต้านผู้นำมาหลายระลอกแล้วก่อนหน้านี้ ในแต่ละรอบเสียงสนับสนุนและผู้เข้าร่วมมีไม่มากนัก เช่นในไทย ขบวนการนักศึกษาในไทยประท้วงรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2014 ส่วนในเบลารุส เครือข่ายภาคประชาชนต้านประธานาธิบดีลูกาเช็งโกมาตั้งแต่ปี 2006, 2011-2012 และครั้งล่าสุดในปี 2017 และในอิสราเอล ผู้คนรวมตัวกันประท้วงนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูครั้งใหญ่ในปี 2011

เหตุที่การประท้วงที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จมากนัก อาจเพราะรัฐบาลในเวลานั้นยังได้รับความนิยมบางส่วนอยู่ อีกทั้งยังปราบปรามผู้ประท้วง ซึ่งทำให้คนทั่วไปไม่กล้าร่วมกิจกรรม

กระนั้นก็ดี ในเดือนสิงหาคมนี้ ขบวนการประท้วงในสามประเทศขยายใหญ่ขึ้น โดยเป็นเป็นผลต่อเนื่องจากการปราบปรามผู้ประท้วง พูดอีกนัยหนึ่งได้ว่า มาตรการปราบปรามมิได้กำราบผู้คนให้จำยอมอีกต่อไป ทว่ากลับให้ผลในทางตรงข้ามคือ ยิ่งปราบ คนยิ่งโกรธ และยิ่งเข้าร่วมประท้วง

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในประเด็นนี้คือเบลารุส ช่วงต้นของการประท้วงช่วงต้นสิงหาคมมีผู้เข้าร่วมหลักพัน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับคำสั่งให้สลายการชุมนุม โดยใช้แก๊สน้ำตาและไม้กระบองตี อีกทั้งยังจับกุมคนจำนวนมาก กระนั้นก็ดี เหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งโหมกระพือความโกรธแก่ประชาชน ปรากฏว่าให้หลังจากการปราบปราม คนลงถนนเรือนหมื่น และเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนับเป็นเรือนแสน โดยมีกลุ่มผู้หญิงร่วมเป็นโล่มนุษย์กันมิให้ตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุม ที่สำคัญที่สุดคือการปราบปรามดังกล่าวทำให้กลุ่มผู้เคยสนับสนุนประธานาธิบดีลูกาเช็งโก ‘ตาสว่าง’ คนงานและข้าราชการซึ่งเป็นฐานเสียงและมือไม้ของระบอบลูเช็งโกต่างประกาศเข้าร่วมกับผู้ชุมนุม และทิ้งประธานาธิบดีไว้อย่างโดดเดี่ยว กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมฝูงชนในเมืองหนึ่ง ถึงกับทิ้งโล่กระบอง และประกาศไม่ปราบปรามการชุมนุมดังที่ผู้มีอำนาจสั่ง

ลักษณะร่วมที่สำคัญคือ การที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่ในทั้งสามประเทศนี้เป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยมีแรงบันดาลใจที่อยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ในอิสราเอลผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งอยู่ในวัยกลางคน ทว่าส่วนที่เป็นคนรุ่นใหม่นั้นตระหนักดีว่านี่เป็นการต่อสู่เพื่ออนาคตที่ดีกว่าความรู้สึกเช่นนี้ไม่ต่างกับผู้ชุมนุมในไทยและเบลารุสเท่าไรนัก ผู้ชุมนุมคนรุ่นใหม่ร่วมประท้วงเพราะอยากเห็นการเมืองใหม่ อยากทำให้ประเทศของพวกเขาและเธอเดินไปข้างหน้า ไม่ใช่ถอยหลัง และอยากสร้างการเมืองบนฐานของความหวัง มิใช่ความกลัว

ปรากฏการณ์ที่มากับคนรุ่นใหม่คือ รูปแบบองค์กรประท้วงแบบกระจายอำนาจ (decentralised) และการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้การประท้วงมีประสิทธิภาพ อันที่จริงแนวโน้มทั้งนี้เริ่มปรากฏในการชุมนุมของกลุ่ม Occupy Wall Street เมื่อปี 2010-2011 แต่ว่าถูกพัฒนายิ่งขึ้นในการประท้วงรัฐบาลในไต้หวันปี 2014 และโดยเฉพาะในฮ่องกงเมื่อปี 2019

การชุมนุมมีองค์กรจัดการ ทว่าอำนาจในการบริหาร ออกแบบกิจกรรม และขับเคลื่อนในมิติอื่นๆ กระจายไปยังกลุ่มต่างๆ ซึ่งอยู่ในเครือข่าย ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อรูปขบวนเมื่อแกนนำถูกจับ นอกจากนี้โซเชียลมีเดียยังมีบทบาทอย่างมากในการสร้างกระแสมหาชน ระดมผู้คนลงถนน รวมถึงต้านและหลีกเลี่ยงการปราบปราม

อย่างเช่นในเบลารุส ผู้ชุมนุมใช้ YouTube เพื่อเผยแพร่ข่าวสารการชุมนุมที่สื่อฝั่งรัฐปิดกั้น รวมถึงใช้ Telegram เพื่อสื่อสารวงกว้าง ช่องที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ NEXTA โดยมีผู้ลงทะเบียบถึงสองล้านคน เมื่อรัฐบาลตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ผู้ชุมนุมหันไปใช้แอปพลิเคชั่นอื่นที่ไม่ต้องพึ่งสัญญาณอินเตอร์เน็ตแทน เช่น Firechat หรือ Bridgefy

ปรากฏการณ์คล้ายกันเกิดในไทย โดยทวิตเตอร์กลายเป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวและระดมผู้ชุมนุมที่มีประสิทธิภาพมาก นอกจากนี้ เฟซบุ๊กไลฟ์ยังกลายเป็นที่ถ่ายทอดการประท้วง ซึ่งปราศจากช่องทางเผยแพร่ในสื่อกระแสหลัก

แนวโน้มทั้งสามประการในสามประเทศ ข้ามสามภูมิภาคในโลกข้างต้น ชี้ว่าโควิด-19 จะไม่ใช่อุปสรรคในการ ‘ลงถนน’ เพื่อแสดงพลังประชาชนอีกต่อไป นอกจากนี้ ผู้นำที่มั่นใจในฐานอำนาจของตนเพราะอยู่มานานอาจต้องคิดใหม่ เพราะยิ่งอยู่นาน กระแสต้านจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ซึ่งจะยิ่งโหมกระพือกระแสต้าน ในบริบทเช่นนี้ พลังคนรุ่นใหม่สำคัญอย่างยิ่งในการสรรค์สร้างการเมืองแบบก้าวหน้าในโลกใบใหม่ยุคหลังโควิด-19

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save