fbpx
ประชาชนลุกฮือทั่วโลก?: สาเหตุ ยุทธวิธี และอนาคตของการประท้วง

ประชาชนลุกฮือทั่วโลก?: สาเหตุ ยุทธวิธี และอนาคตของการประท้วง

จันจิรา สมบัติพูนศิริ เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

กระแสประท้วงบนท้องถนนของประชาชนเริ่มปรากฏถี่ขึ้นเมื่อเดือนกันยายน และพวยพุ่งในแทบทุกทวีปทั่วโลก ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ ไม่ว่าจะเป็นการลุกฮือในอัลจีเรีย โบลิเวีย ชิลี โคลอมเบีย เอกวาดอร์ อียิปต์ ฝรั่งเศส เยอรมนี สาธารณรัฐเชค รัสเซีย กีเนีย เฮติ ฮอนดูรัส ฮ่องกง (ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน) อินเดีย อินโดนีเซีย อิหร่าน อิรัก เลบานอน เนเธอร์แลนด์ สเปน ซูดาน (ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2018) อังกฤษ และซิมบับเว[1]

เหตุประท้วงในแต่ละพื้นที่มีสาเหตุและพลวัตต่างกันอันเป็นผลจากการเมืองภายในประเทศ อย่างไรก็ดีการประท้วงต่างเทศะทว่าเกิดไล่เลี่ยกันในลักษณะ ‘คลื่น’ (wave) เช่นนี้ สะท้อนว่ามีเหตุขับเคลื่อนบางอย่างที่ร่วมกันอยู่บ้าง ในทางประวัติศาสตร์ คลื่นการประท้วงระดับโลกเกิดให้เห็นเป็นประจักษ์ เช่นในช่วงปลายคริสตทศวรรษที่ 80 ถึง 90 เกิดการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในละตินอเมริกา เอเชีย และยุโรปตะวันออก หรือในช่วงปี 2010 ถึง 2012 เกิดกระแสการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในโลกอาหรับ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ขบวนการประท้วงในซีกโลกที่เหลือ หรือประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่นขบวนการ Occupy Wall Street (OWS) ที่เรียกร้องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ เป็นไปได้ว่ากระแสการประท้วงที่กำลังดำเนินอยู่นี้จะเป็นคลื่นของพลังประชาชนระลอกล่าสุด

 

ที่มาที่ไป

 

รายงานขององค์กร Amnesty (ซึ่งถูกสรุปในรายงานของสำนักข่าว BBC อีกครั้ง)[2] แบ่งสาเหตุของคลื่นการประท้วงทั่วโลกล่าสุดเป็นสามกลุ่ม ได้แก่ ความเหลื่อมล้ำ การทุจริตและเพิกเฉยของชนชั้นนำทางการเมือง รวมถึงสิทธิพลเมือง และเรื่องสิ่งแวดล้อม

ประการแรก การประท้วงในเอกวาดอร์ ชิลี เฮติ เลบานอน และอิหร่าน เป็นต้น มีเหตุสุดท้าย (trigger event) มาจากการที่รัฐบาลประกาศขึ้นราคาหรือภาษี รวมถึงตัดงบประมาณสนับสนุนสินค้าขั้นพื้นฐาน เช่น น้ำมันหรือรถโดยสารสาธารณะ นโยบายเหล่านี้ตอกย้ำความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่คนจนรวมถึงชนชั้นกลางล่างส่วนใหญ่เผชิญอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาวะว่างงานและค่าแรงไม่พอใช้ ท่ามกลางค่าเทอม ค่าอาหาร และค่าหยูกยาอันแสนแพง

เมื่อถามว่าอะไรดลใจให้รัฐบาลออกนโยบายเช่นนี้ในช่วงเวลานี้ นักวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจเห็นตรงกันว่านี่เป็นเงื่อนไขซึ่งรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ต้องปฏิบัติตามเมื่อกู้ยืมเงินมาจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund – IMF) ซึ่งบังคับให้ประเทศผู้กู้ต้องตัดงบประมาณสนับสนุนบริการสาธารณะของรัฐลง รวมถึงเปิดเสรีกิจการของรัฐให้เอกชนเข้ามาดำเนินการแทน และยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ขัดขวางการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการคุ้มครองสิทธิแรงงาน เงื่อนไขเช่นนี้ส่งผลให้รัฐบาลผลักภาระค่าใช้จ่ายด้านบริการสาธารณะ เช่น การขนส่ง การศึกษา และสาธารณสุข ให้แก่ประชาชน ขณะเดียวกันก็ไม่ส่งเสริมให้ผู้ใช้แรงงานรวมตัวต่อรองกับนายจ้างเรื่องค่าแรงและสวัสดิการอื่นๆ ได้ เป็นต้น[3]

แน่นอนว่าการผลักภาระทางเศรษฐกิจดังกล่าวส่งผลต่อกลุ่มประชากรไม่เท่ากัน กลุ่มคนซึ่งจัดว่ามีความเปราะบางด้านเศรษฐกิจ (the economic precarious) และเข้าถึงบริการสาธารณะได้ยากอยู่แล้วย่อมประสบปัญหาปากท้องมากกว่าเดิม ส่วนผู้มีฐานะดีสามารถจ่ายค่าบริการอันแสนแพงได้ อีกทั้งรายได้กำไรซึ่งกระจุกอยู่กับคนเหล่านี้ยิ่งทำให้พวกเขาสะสมทุนได้มากกว่าเดิม ฉะนั้นนโยบายผลักภาระทางเศรษฐกิจให้ประชาชนยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนถ่างออกห่างมากกว่าเดิม ชิลีเป็นตัวอย่างที่ดีในกรณีนี้คือ เพราะแม้เป็นประเทศที่ร่ำรวย ทว่าสถานการณ์ ‘รวยกระจุกจนกระจาย’ ติดอันดับต้นๆ ของโลก

ประการถัดมาคือสาเหตุว่าด้วยชนชั้นนำและสิทธิพลเมือง ในชิลี อิรัก อิหร่าน เลบานอน โบลิเวีย อียิปต์ อินโดนีเซีย และฮ่องกง ความไม่พอใจต่อรัฐบาลและชนชั้นนำเป็นเหตุขับเคลื่อนผู้ประท้วง และโดยมากมักควบคู่กับสาเหตุทางเศรษฐกิจ ผู้ประท้วงเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อคดีฉ้อฉล รวมถึงการออกหรือแก้กฎหมายซึ่งให้อำนาจตนและพวกพ้องเพิ่มขึ้น การคอร์รัปชันของชนชั้นนำย้ำเตือนให้ประชาชนเห็นว่าไม่เพียงแต่รัฐบาลจะปล่อยให้ประชาชนเผชิญปัญหาปากท้องโดยไม่จัดการแก้ไขใดๆ แต่ยังเอาเปรียบพวกเขาด้วยการทุจริตเอาเงินหลวงไปเป็นของตนและพวกพ้อง ในโบลิเวีย อินโดนีเซีย และฮ่องกง สัญญาณว่าชนชั้นนำกำลังบั่นทอนประชาธิปไตยขับเคลื่อนให้ประชาชนออกสู่ท้องถนนเพื่อปกป้องสิทธิเสียงของตน

ประการสุดท้ายคือการต่อสู้ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือฝั่งที่เรียกร้องให้รัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศเร่งหามาตรการรับมือกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ กับอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย ‘รักษ์โลก’ กล่าวคือกลุ่มแรกมักเป็นขบวนการภาคประชาชนข้ามชาติ ซึ่งนำโดยคนรุ่นใหม่ เช่นการประท้วง Friday for Future หรือกลุ่ม Extinction Rebellion[4] ส่วนกลุ่มที่ประท้วงรัฐบาลเพราะได้ผลกระทบจากนโยบายให้ลดการใช้นำมันดีเซลหรือสารเคมีในการเกษตร มักเป็นกลุ่มชาวไร่ชาวนา (เช่นการประท้วงล่าสุดในเนเธอร์แลนด์และเยอรมนี) ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อนโยบาย ‘รักษ์โลก’ ที่ส่งผลต่อการทำมาหากินของตน[5] ในแง่นี้ผู้ประท้วงกลุ่มนี้มีจุดร่วมกับประชาชนในชิลีหรือเอกวาดอร์ในข้อแรกที่กล่าวมา คือต้านการผลักภาระทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน

 

ยุทธวิธี

 

น่าสนใจว่าวิธีการจัดตั้งและระดมพลของขบวนการประท้วงขณะนี้มีทั้งลักษณะแบบดั้งเดิมและแบบใหม่ ในชิลี เอกวาดอร์ เฮติ อัลจีเรีย และซูดาน เป็นต้น พรรคฝ่ายค้าน สหภาพแรงงาน และขบวนการนักศึกษา นำการประท้วงเป็นหลัก โดยมีการจัดการแบบ ‘ดั้งเดิม’ คือมีสายบัญชาการและการสั่งการจากส่วนกลางอยู่บ้าง

ทว่ากระแสที่กำลังมาแรงคือรูปแบบขบวนการแบบ ‘ไร้หัว’ (leaderless) โดยมีฮ่องกงเป็นผู้จุดประกายหลักในคลื่นการประท้วงครั้งนี้[6] แต่ก็ปรากฏในกรณีอียิปต์ เลบานอน และอิรัก ผู้ชุมนุมในฮ่องกงเรียนรู้จากความผิดพลาดของ ‘ขบวนการร่ม’ (Umbrella Movement) ในปี 2014 ซึ่งรวมศูนย์การสั่งการไว้ที่ผู้นำไม่กี่คน เมื่อคนเหล่านี้ถูกจับ ขบวนการก็เสียหลัก ลักษณะขบวนการแบบไร้หัวอนุญาตให้ผู้ชุมนุมดำเนินกิจกรรมอะไรก็ได้ ใช้ยุทธวิธีใดก็ได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ เมื่อกลุ่มหนึ่งถูกปราบปราม อีกกลุ่มก็ทำกิจกรรมแทน ในแง่นี้ขบวนการจึงเคลื่อนไหวเหมือน ‘น้ำ’ คือลื่นไหล ไปได้เรื่อยๆ และเปลี่ยนสภาพตาม ‘ภาชนะ’[7]

ความแตกต่างระหว่างคลื่นการชุมนุมครั้งนี้กับการชุมนุมในช่วงคริสตทศวรรษที่ 80 ถึง 90 คือการใช้ทั้งสันติวิธีและการจลาจล โดยทั่วไปแล้วขบวนการเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมขนาดใหญ่ใช้สันติวิธีมากขึ้นในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ทว่าฝ่ายปราบปรามก็เรียนรู้ที่จะจัดการกับขบวนการสันติวิธีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน อันส่งผลให้ความสำเร็จในการใช้สันติวิธีตั้งแต่ช่วงปี 2005 ลดลง[8] เป็นไปได้ว่าผู้ชุมนุมพยายามทดลองยุทธวิธีใหม่เพื่อรับมือกับแนวโน้มนี้ ทว่าจะได้ผลทางการเมืองหรือไม่ คงต้องรอดูกันต่อไป นอกจากนี้ยุทธวิธีจลาจลยังเป็นผลจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐในการปราบปรามอย่างรุนแรง ในฮ่องกง การใช้กำลังตำรวจเกินกว่าเหตุยิ่งผลักให้ผู้ชุมนุม ‘ป้องกันตน’ ด้วยยุทธวิธีจลาจล ส่วนในอิหร่าน การปราบปรามส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 140 คน ขณะที่ในอิรัก มีผู้เสียชีวิตด้วยนำมือทหารตำรวจแล้วกว่า 350 คน[9] ผู้ชุมนุมจึงเริ่มหันหาทางเลือกอื่นเพื่อรับมือกับการปราบปราม

กระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่าการปราบปรามมิได้หยุดยั้งการชุมนุมแต่อย่างใด ในฮ่องกง ยิ่งตำรวจทำร้ายผู้ชุมนุมมากเท่าใด ผู้ชุมนุมยิ่งยืนหยัดสู้มากเท่านั้น ในชีลี แม้จะมีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามแล้วราว 22 คน แต่ผู้ชุมนุมยิ่งไม่ยอมถอย และต้านรัฐบาลมากขึ้น ที่น่าสนใจคือในซูดาน แม้ผู้นำรัฐบาลจะยอมถอย ผู้ชุมนุมยืนกรานว่ากองทัพซึ่งเข้าควบคุมสถานการณ์ในภาวะสุญญากาศต้องกำหนดช่วงเวลาที่จะอยู่ในอำนาจ และให้แกนนำผู้ชุมนุมเข้าร่วมคณะกรรมการปฏิรูป ไม่ใช่มีแต่ทหารเท่านั้น กองทัพยึกยักอยู่นาน เมื่อผู้ชุมนุมปักหลักบนถนนไม่อ่อนข้อ ในที่สุดกองทัพก็ยอมต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม[10]

อนาคต

 

คลื่นการประท้วงระดับโลกระลอกนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น วิกฤตด้านความเหลื่อมล้ำและการไร้ธรรมาภิบาลของชนชั้นนำซึ่งหมักหมมมานานจะผลักให้ผู้คนในประเทศต่างๆ ออกมาชุมนุมมากขึ้น แม้ว่ากระแสความไม่พอใจจะจบในประเทศหนึ่งๆ แต่ประชาชนในประเทศอื่นอาจลุกฮือขึ้น โดยมีเหตุขับเคลื่อนที่ร่วมกัน กระนั้นก็ดีวิกฤตซึ่งฝังรากลึกเช่นนี้ต้องอาศัยเครือข่ายก้าวหน้าที่ไปไกลกว่าผู้ชุมนุมบนท้องถนน จึงจะเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ เครือข่ายดังกล่าวต้องรวมชนชั้นนำซึ่งต้องการเปลี่ยนแปลง และประชาชน ‘ผู้ยืนดู’ (onlooker) สถานการณ์เข้าไว้ด้วย การประท้วงจึงต้องไปไกลกว่าการบอกสังคมว่า ‘ต้าน’ อะไร เป็นอยาก ‘สร้าง’ ระเบียบการเมืองและเศรษฐกิจแบบใหม่อย่างไร การประท้วงซึ่งมุ่งต้านอย่างเดียวอาจส่งผลให้ความขัดแย้งยืดเยื้อและสังคมแบ่งเป็นสองเสี่ยงมากยิ่งขึ้นได้

 


[1] Ben Ehrenreich, “Welcome to the Global Rebellion Against Neoliberalism,” The Nation (November 25, 2019).

[2] Amnesty International, “Protests around the World Explained” (October 25, 2019); “Do Today’s Global Protests Have Anything in Common,” BBC (November 11, 2019).

[3] Ehrenreich, “Welcome to the Global Rebellion Against Neoliberalism;” “Haiti Awakens: Protests Bring the Country to a Standstill,” OpenDemocracy (October 30, 2019); Declan Walsh and Max Fisher, “From Chile to Lebanon, Protests Flare over Wallet Issues,” The New York Times (October 23, 2019); Alexis Cortés, “Chile Doesn’t Need to Rebuild, It Needs to be Reconstructed,” OpenDemocracy (October 28, 2019); and “Social and Political Earthquake in Ecuador,” OpenDemocracy (October 11, 2019).

[4] ดูตัวอย่างเช่น Madeleine Carlisle, “Millions around the World Strike on Black Friday for Action on Climate Change,” Time (November 29, 2019).

[5] “Angry Farmers Cause Dutch Police to Close off Parliament Square,” Reuters (October 16, 2019).

[6] รูปแบบขบวนการแบบไม่มีแกนนำ หรือที่เรียกในสังคมไทยว่า ‘แนวนอน’ ได้รับการพัฒนามาก่อนการประท้วงในฮ่องกง เช่นในเซอร์เบียเมื่อปี 1999 ถึง 2000 หรือก่อนหน้าในขบวนการรากหญ้าที่แม็กซิโก

[7] Antony Dapiran, “Be Water!: Seven Tactics that are Winning Hong Kong’s Democracy Revolution,” News Statesman (August 1, 2019).

[8] Erica Chenoweth, “Trends in Nonviolent Resistance and State Response: Is Violence towards Civilian-based Movements on the Rise?, Global Responsibility to Protect 9(1): 86-100.

[9] “Global Protests in 2019,” VOA News (November 30, 2019).

[10] Hardy Merriman, “Lessons of Uprisings Around the World: The Present Moment and Possible Future,” ICNC Blog (November 21, 2019).

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023