fbpx
มาส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองกันเถอะ (เอ๊ะ! ทำไมแอบกลัว!)

มาส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองกันเถอะ (เอ๊ะ! ทำไมแอบกลัว!)

ไม่นานมานี้ อันว่า ‘คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง’  (โอ๊ย! จะตั้งชื่อให้ยาวไปถึงดาวดึงส์เลยหรือไง) หรือที่เรียกง่ายๆว่า ป.ย.ป. ได้เกิดไอเดียผุดพลุ่ง บอกว่าประเทศไทยอันเป็นที่รักของเรากำลังจะมีกฎหมายใหม่คลอดออกมา โดยกฎหมายนี้จะมีความสำคัญกับพลเมืองไทยทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่จะเข้ามาเล่นการเมือง

 

นั่นคือกฎหมายที่มีชื่อว่า ‘พระราชบัญญัติเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. .…’ ซึ่งในที่นี้จะขอเรียกสั้นๆ ว่า ‘พ.ร.บ.เสริมสร้างวัฒนธรรมการเมืองฯ’ ก็แล้วกัน

ท่านๆ คณะกรรมการฯ ได้ให้เหตุผลถึงความจำเป็นของกฎหมายฉบับนี้ไว้ว่าเก๋ไก๋เชียวว่า

“เพื่อสร้างให้นักการเมืองและประชาชน ได้รู้ว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องที่จะเล่นได้ตามอำเภอใจ ควรมีวัฒนธรรมเพื่อให้การเมืองสร้างสรรค์อยู่บนพื้นฐานธรรมาภิบาล”

พูดง่ายๆ สิ่งที่ท่านบอกเป็นนัยๆ ก็คือ ที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมี ‘วัฒนธรรมประชาธิปไตย’ ที่สมบูรณ์เลย ถึงเวลาแล้วที่วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์จะลงหลักปักฐานเสียที,

ด้วยกฎหมายฉบับนี้!

อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายคำถามที่ยังต้องการคำตอบนั่นคือ กฎหมายฉบับเดียวจะสามารถเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางการเมืองของคนทั้งประเทศได้จริงหรือ แล้วรูปร่างหน้าตาของกฎหมายฉบับนี้จะเป็นอย่างไร สุดท้ายมันจะไปส่งเสริมหรือฉุดรั้งวัฒนธรรมประชาธิปไตยกันแน่

กฎหมาย VS วัฒนธรรม

สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงทุกชั่วขณะ -ใครๆ ก็รู้- แต่คำถามสำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงเริ่มจากอะไรก่อน ระหว่างกฎหมายกับวัฒนธรรม

ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่าวัฒนธรรมต้องเปลี่ยนก่อน แล้วกฎหมายค่อยเปลี่ยนตาม เพราะว่ากฎหมายบังคับหรือควบคุมได้เพียงพฤติกรรม (behavior) เท่านั้น แต่ไม่ได้ไปเปลี่ยนทัศนคติ (attitude) หรือความเข้าใจ (perception) ของมนุษย์ แต่ก็มีข้อโต้แย้งว่า ถ้าบังคับใช้กฎหมายไปนานๆ พฤติกรรมจะเปลี่ยน แล้วพฤติกรรมที่เปลี่ยนจะค่อยๆ ไปปรับการรับรู้จนเกิดวัฒนธรรมไปเอง แต่จะเป็นกรณีไหน ก็ต้องใช้เวลาทั้งนั้น การพยายาม ‘หักดิบ’ เปลี่ยนพฤติกรรมเอาดื้อๆ โดยที่การรับรู้ความเข้าใจของสังคมยังไม่พร้อม ก็อาจมีการขัดขืน ต่อต้าน จนถึงขั้นเกิดความรุนแรงได้

ในอีกด้านหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญบางคนเห็นว่า หากมัวแต่รีรอการเปลี่ยนแปลงเชิงวัฒนธรรม สังคมคงไม่เดินหน้าไปไหน สิ่งดีๆ ที่สังคมควรได้รับคงไม่เกิดขึ้นสักที เป็นต้นว่า ในยุคที่สังคมอเมริกันยังมีการแบ่งสีผิว คนผิวขาวเหยียดคนดำอย่างมาก ถึงขั้นที่แบ่งกันเลยว่าโรงเรียนไหนสามารถรับคนดำเข้าเรียนได้บ้าง จนกระทั่งเกิดขบวนการเรียกร้องให้ยกเลิกการแบ่งแยกสีผิวอย่างจริงจัง ในที่สุดรัฐบาลกลางก็ออกกฎหมายเพื่อปฏิรูปให้โรงเรียนในทุกรัฐต้องรับคนดำการบังคับผ่านกฎหมาย (หลายประเภท ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะด้านการศึกษาเท่านั้น) ทำให้ในระยะต่อมาสังคมเปิดกว้างมากขึ้น และทัศนคติเหยียดผิวก็ลดลง

ในบางเรื่อง จึงมีความเห็นกันว่า การบังคับใช้กฎหมายก่อนที่วัฒนธรรมจะมีความพร้อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น

แต่ในอีกมุม นักวิชาการบางคนกลับบอกว่าการพยายามไปชี้ขาดว่าวัฒนธรรมหรือกฎหมาย อะไรควรมาก่อนนั้นเป็นเรื่องไร้สาระ พวกเขาเสนอว่าจริงๆ แล้ว ‘วัฒนธรรม’ ก็คือ ‘กฎหมาย’ และ ‘กฎหมาย’ ก็คือ ‘วัฒนธรรม’

มันคือ ‘เนื้อนา’ เดียวกัน!

กฎหมายกับวัฒนธรรมจะก่อตัวและเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน มันคือสิ่งที่สะท้อนต่อกัน เนื้อหาในกฎหมายสามารถสะท้อนถึงทัศนคติหรือความเชื่อของสังคมได้ด้วย เช่นหากในกฎหมายกำหนดว่าการฆ่าคนเป็นความผิด ก็แสดงว่าสังคมมีการรับรู้ความเข้าใจว่าการฆ่าคนเป็นสิ่งที่ผิด

ดังนั้น หากต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและกฎหมายไปพร้อมๆ กัน ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมาดูกันว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองฯ วางตัวอยู่บน ‘ฐานคิด’ แบบไหน และจะทำให้กลายเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์หรือเป็นได้แต่เพียงความคิดอยากควบคุมอันเพ้อเจ้อเท่านั้น

วัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ ใครกำหนด

ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มที่บอกว่ากฎหมายก็คือวัฒนธรรม ยังบอกด้วยว่า แม้กฎหมายสามารถสะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติและคุณค่าของสังคมได้ แต่ก็ต้องดูที่มาของกฎหมายนั้นด้วย เพราะที่มาบางแบบก็สะท้อนให้เห็นคุณค่าหรือทัศนคติของคนส่วนใหญ่ได้ แต่บางแบบก็สะท้อนได้เพียงคุณค่าทัศคติของคนกลุ่มเล็กๆ ‘ที่มีอำนาจ’  เท่านั้น ดังนั้น ในบางกรณี กฎหมายบางฉบับก็ไม่ค่อยเข้าหรืออาจถึงขั้น ‘ฝืน’ ความต้องการของคนส่วนใหญ่ก็เป็นได้

นั่นสิ แล้ว พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรรมการเมืองฯ จะเป็นกฎหมายแบบไหนกันแน่ มันคือกฎหมายที่สะท้อนคุณค่าทัศนคติของใคร ระหว่างคุณค่าและทัศนคติของ ‘ประชาชน’ ส่วนใหญ่ในประเทศ (ที่อาจไม่เคยรู้เสียมาก่อนด้วยซ้ำ-ว่ามีใครหน้าไหนกำลังคิดอ่านจะสร้างกฎหมายนี้ขึ้นมา) หรือเป็นคุณค่าและทัศนคติของ ‘ชนชั้นนำ’ ที่อยากหยิบยกขึ้นมาเป็น ‘หลักการใหญ่’ ของสังคมเพื่อให้คนอื่นๆต้องปฏิบัติตาม

ยิ่งย้อนกลับไปพิจารณาคำว่า ‘วัฒนธรรม’ ที่รัฐเป็นผู้กำหนดทีไร ก็ยิ่งเสียววาบๆ เพราะรัฐมักจะเอาวัฒธรรมไปผูกกับศีลธรรม แล้วออกลูกออกหลานมาเป็น ‘วัฒนธรรมอันดีงาม’ (ของชนชั้นนำ) เสียทุกทีไปสิน่า

น่าเสียดาย ที่ตอนนี้เนื้อหาของกฎหมายฉบับดังกล่าวยังไม่ได้มีการเผยแพร่ออกมา ทำให้เราไม่สามารถวิเคราะห์รูปร่างหน้าตาของกฎหมายฉบับนี้ได้ แต่ก็อาจพอเดาทางของเนื้อหากฎหมายฉบับนี้ด้วยการทบทวนไล่เรียงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมการเมืองของไทยที่ผ่านมาได้

ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ชื่อดังของไทย เคยอธิบายเกี่ยวกับ ‘วัฒนธรรมการเมืองไทย’ ไว้ว่า ตั้งแต่ก่อนช่วงที่จะมีการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินครั้งใหญ่ที่เน้นการรวมศูนย์อำนาจในรัชกาลที่ 5 ผู้คนกระจัดกระจายสังกัดตามมูลนายต่างๆ ซึ่งมูลนายเหล่านี้ก็ต่อรองอำนาจกันเอง ไม่มีใครมีอำนาจกว่าใครอย่างเบ็ดเสร็จ มูลนายมักจะพึ่งไพร่ในด้านแรงงาน ส่วนไพร่ก็อาศัยมูลนายเพื่อช่วยเหลือในด้านอื่น ระเบียบการเมืองเช่นนี้ เปิดโอกาสให้มีการต่อรองไปมาค่อนข้างสูง อาจารย์นิธิเคยสรุปไว้ว่า “แท้จริงแล้ว ชาวบ้านไทย (ในบริบทกสิกรรม) นั่นแหละคุ้นชินกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่มีลักษณะประชาธิปไตยมานาน…นั่นคือการทำให้ทุกคน, ทุกกลุ่ม, ทุกฝ่าย สามารถต่อรองทางการเมืองได้อย่างเท่าเทียมกันที่สุด”

จะเห็นได้ว่าแต่เดิม ชาวบ้านธรรมดารู้จักระเบียบความสัมพันธ์ทางการเมืองที่เปิดกว้างยืดหยุ่นแบบประชาธิปไตยมานานแล้ว แต่เป็น ‘การรวมศูนย์อำนาจ’ ต่างหาก ที่มาขัดขวาง ‘วัฒนธรรมทางการเมือง’ แบบที่เคยเป็นมา ด้วยการรวบอำนาจทางการเมืองไปให้ชนชั้นนำเป็นผู้กำหนด

สุดท้าย วัฒนธรรมทางการเมืองก็เลยกลายเป็นเป็นพื้นที่สำหรับชนชั้นนำเท่านั้น และชนชั้นนำก็มักกลัวความเปลี่ยนแปลง เพราะจะทำให้ตนเองเสียประโยชน์

ด้วยเหตุนี้ ลักษณะเด่นของวัฒนธรรมต่างๆ (ไม่เฉพาะวัฒนธรรมการเมือง) ที่ถูกกำหนดโดยกลุ่มชนชนชั้นนำ (ที่ในระยะหลังขยับขยายมาถึง ‘ชนชั้นกลางระดับสูง’ ด้วย) ก็คือการกลัวความไม่สงบ หากมีอะไรเข้ามาก่อกวนระเบียบความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบเก่า จะถือว่าเป็นภัยคุกคามที่ต้องกำจัดหรือกีดกันออกไป

ก้าวต่อไปของ ‘วัฒนธรรมประชาธิปไตยไทย’

ด้วยเหตุนี้ พอมีแนวคิดเรื่อง ‘พ.ร.บ.ส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองฯ’ ขึ้นมา ก็เลยถูกมองด้วยสายตาสงสัย ว่ากฎหมายฉบับที่กำลังจะคลอดออกมานี้ จะเป็นภาพสะท้อนของค่านิยมหรือทัศนคติ – วัฒนธรรมการเมือง – ของใครกันแน่

ส่วนหนึ่งเพราะว่าองค์กรที่เป็นผู้ร่างกฎหมายฉบับนี้ ประกอบไปด้วยข้าราชการพลเรือน ทหาร หรือตำรวจ ซึ่งไม่ได้มีที่มาที่อิงแอบกับประชาชนธรรมดาเท่าไหร่

พ.ร.บ. ส่งเสริมวัฒนธรรมการเมืองฯ ในยุคที่เกิดจากผลพวงของรัฐประหาร จึงน่าจับตามอง ว่าจะมีเนื้อหาที่เปิดกว้างโอบรับความหลากหลายทาง ‘วัฒนธรรมการเมือง’ มาแค่ไหน หรือว่าจะเกิดขึ้นด้วยสำนึก ‘วัฒนธรรมไทยอันดีงาม’ ที่เอาหลักการสูงส่งมาใช้เพื่อครอบและควบคุมผู้คนทั่วไป ให้เป็นไปในทิศทางที่ชนชั้นนำต้องการกันแน่

กฎหมายฉบับนี้จะเกิดขึ้นเพื่อสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยอย่างแท้จริงได้ ก็ต้องไม่เกิดจากสำนึกแบบ ‘สั่งการ’ แต่ต้องรณรงค์ในด้านต่างๆ ที่หลากหลายควบคู่กันไปด้วย

ที่สำคัญ กฎหมายฉบับนี้ ‘ต้อง’ เกิดขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติและคุณค่าในทางวัฒนธรรมการเมืองของ ‘ชนชั้นนำ’ และ ‘ชนชั้นกลาง’ ของไทย ให้สอดคล้องกับ ‘วัฒนธรรมประชาธิปไตยโลก’ ด้วย

มันถึงจะเป็นประโยชน์ได้จริง!

 

อ่านเพิ่มเติม

-รัฐบาล ดัน กม.วัฒนธรรมการเมือง ตีกรอบ เล่นการเมืองสร้างสรรค์-มีธรรมาภิบาล จาก มติชนออนไลน์ 7 มีนาคม 2560 

-วัฒนธรรมทางการเมืองไทย ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใน วารสารสถาบันวัฒนธรรมและศิลปะ มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ 2554

-Law as Culture ของ Naomi Mezey ใน Yale Journal of Law and Humanities 2001

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save