fbpx
‘คิด-เพื่อ-ไทย’ กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

‘คิด-เพื่อ-ไทย’ กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

ท่ามกลางความแหลมคมของการเมืองไทย พรรคเพื่อไทยเดินหน้าปฏิรูปตัวเองอีกครั้ง จนน่าจับตาว่า ‘เพื่อไทยยุคดิสรัปต์’ กำหนดยุทธศาสตร์อย่างไร ทั้งในเชิงหมากการเมืองและเชิงนโยบาย

ในฐานะพรรคการเมืองอันดับ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรที่ครองตลาดการเมืองมากว่า 2 ทศวรรษ การปรับเปลี่ยนของเพื่อไทยจะกระทบภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยอย่างไร

101 ชวน ‘หมอมิ้ง’ – นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช มันสมองเบื้องหลังปฏิบัติการ ‘คิด เพื่อ ไทย’ สนทนาสำรวจเบื้องลึกเรื่องปฏิรูปพรรคเพื่อไทย ปฏิรูปการเมืองไทย และปฏิรูปประเทศไทย

 

 

:: ‘คิด เพื่อ ไทย’ โจทย์ใหม่ดิสรัปต์ตัวเอง ::

 

 

ขณะนี้ ส.ส. ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทยประกาศว่าพรรคต้องดิสรัปต์ตัวเองให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลก เราต้องการรวบรวมคนที่มีความคิดอุดมการณ์ต่างๆ แล้วผลักดันไปตามบทบาทแต่ละด้านให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางวิธีคิดของตนเอง

พรรคมีความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เมื่อตั้งใจว่าจะดิสรัปต์เราก็เอาทรัพยากรที่มีอยู่มาเปลี่ยนวิธีการ เราเปลี่ยนโฉมหน้าดิจิทัลมีเดียที่มีอยู่ เช่นมีการเพิ่มรายการพอดแคสต์ ในสภาก็จะเห็นมิติใหม่ว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจล่าสุด ส.ส. ของเราเปลี่ยนมิติใหม่ เน้นสาระที่เป็นรูปธรรม ส.ส.ทุกท่านมีการเตรียมตัว มีข้อมูลที่เอามาแบ่งปันกัน มีการซ้อมหน้าจอ ส.ส.อาวุโสหลายท่านอาจไม่คุ้นเคย แต่เราก็ปรับได้พอสมควร ทีมงานด้านสื่อสารก็ผลิตเนื้อหาออกมาสู่สาธารณะทันที นี่คือดิสรัปต์สำคัญที่ปรากฏแล้ว

ที่ผ่านมาจากไทยรักไทยจนถึงเพื่อไทย เราครองใจประชาชน เลือกตั้งครั้งไหนก็เป็น ส.ส. มากที่สุด ในภาวะปกติคนได้เสียงมากต้องเป็นฝ่ายบริหาร แต่รัฐธรรมนูญนี้เขียนเพื่อให้ฝ่ายที่มาจากการรัฐประหารได้เป็นนายกฯ ต่อเนื่อง เมื่อเราถูกจำกัดไว้ในบทบาทฝ่ายค้าน ก็ต้องเป็นฝ่ายค้านที่เป็นที่พึ่งที่หวัง และต้องประสานกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างแนบแน่น

การดิสรัปต์ครั้งนี้เราไม่ถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ เราเอาจุดแข็งมานำเสนอภายใต้คำว่า ‘คิด เพื่อ ไทย’ เราต้องระดมคนที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจเข้ามาคิดและนำไปสู่ปฏิบัติ เรามีโปรเจ็กต์แรกคือ ‘The Change Maker’ นำความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นอยากแก้ปัญหาบ้านเมืองมาผนึกกำลังกับ ส.ส. ในพื้นที่ของเรา

โครงการนี้กำลังเปิดรับสมัคร เพียงแค่ถ่ายคลิปแนะนำตัวเองและบอกว่าปัญหาที่สนใจคืออะไรและมีแนวทางแก้อย่างไร เราจะคัดเลือก 100 คนมาเข้าโปรแกรม 4-5 สัปดาห์ เวิร์กช็อปกับนักคิดและคนทำนโยบาย เรื่องวิธีคิดนโยบาย วิธีการสื่อสาร และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีในภาคต่างๆ โดยมีโค้ชคือ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, ดวงฤทธิ์ บุนนาค, กิตติรัตน์ ณ ระนอง และคำ ผกา โดยมีกติกาให้แข่งกัน แบ่งทีมทำนโยบายนำเสนอ ทุกขั้นตอนจะถูกบันทึกไว้ เพื่อนำเสนอต่อสาธารณะ

ในสัปดาห์สุดท้ายเราจะเชิญลงพื้นที่จังหวัดต่างๆ โดยมีโจทย์ให้ เช่น อยุธยามีอุตสาหกรรมมหาศาลแล้วจะพัฒนาอย่างไร เอาความคิดไปแก้ปัญหาให้ประชาชนมีการกินอยู่ที่ดีขึ้น และ 5 โครงการที่ได้รับคัดเลือกจะได้ทุนไปทำจริงด้วยเงินตั้งต้นหนึ่งแสนบาท

การดิสรัปต์ของเราคือการเปิดโอกาสให้กว้างขวางและปรับตัวเพื่อทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในตัวตนที่เป็นจริง รู้จักเจตนาที่เราอยากทำประโยชน์ให้ส่วนรวมมากขึ้น โดยมีหัวใจคือประชาชนและทำมากกว่าพูด

 

:: ทักษิณและ Clubhouse ::

 


 

อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือของประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันในการหาความรู้และการแสดงความเห็น Clubhouse เป็นรูปแบบหนึ่งของการแลกเปลี่ยนความคิดในโลกประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จเกินคาด วันที่คุณทักษิณ ชินวัตรมาร่วม Clubhouse ก็มีคนฟังในหลายห้องรวมเกือบแสนคน

สิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆ เหล่านี้เราต้องติดตามความเคลื่อนไหวแล้วทดลองใช้ให้เป็นประโยชน์ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็มาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

ทั้ง Facebook หรือ Clubhouse เป็นพื้นที่สร้างความเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีอำนาจรัฐ นี่จะเป็นปฏิสัมพันธ์ใหม่ วันที่คุณทักษิณเข้ามาร่วม Clubhouse ก็เป็นปฏิสัมพันธ์ใหม่ ท่านเอาความรู้ทั้งด้านธุรกิจ การจัดการ การเคยเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีความนิยมสูงสุดและแก้ปัญหาทั้งที่ผิดและถูกมาแลกเปลี่ยนกัน

เรื่องตากใบ-กรือเซะ ที่ถูกถามใน Clubhouse คุณทักษิณเคยให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ไว้ชัดเจนเมื่อปี 2554 ในรายการตอบโจทย์ ทางไทยพีบีเอส มีคำขอโทษปรากฏหลายครั้ง ถ้าเราทำอะไรแล้วทำให้เกิดความเสียหาย แม้เราไม่ใช่ผู้ลงมือ แต่เป็นความรับผิดชอบของเรา ความรับผิดชอบทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ทุกครั้งจึงต้องขอโทษ บางครั้งเป็นอุบัติเหตุ แต่หลายเรื่องเป็นความผิดพลาดจริงๆ ในการกระทำของคนที่ถือว่าอยู่ในหน้าที่ของรัฐ

ในสถานการณ์แบบนั้น เรามีอำนาจฝ่ายบริหาร ไม่อาจรับรู้เรื่องที่อยู่ห่างไกลขนาดนั้น แต่ไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถ้ามีความผิดพลาดก็ต้องยอมรับว่าผิดพลาด ท่านทักษิณเคยกล่าวขอโทษไว้ วันนี้ก็ยังขอโทษเหมือนเดิม

คุณอังคณา นีละไพจิตร เขียนเล่าเรียงว่า สามีท่านคือคุณสมชาย นีละไพจิตรเป็นเหยื่อการจัดการของอำนาจรัฐ ท่านเล่าเรื่องให้เห็นว่าหลายรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถหาคนผิดได้ ท่านนายกฯ ทักษิณก็พยายามชดเชยด้วยคำขอโทษ และมีการเยียวยาครอบครัวต่างๆ ในสมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์

กรณีกรือเซะเป็นการจัดการด้านการทหาร ซึ่งเราไม่รู้ว่าในขั้นตอนการปฏิบัติการนั้นเกิดอะไร เราไม่สามารถกำหนดเหตุการณ์ได้ ในสถานการณ์นั้นจะไปตัดสินใจหรือพูดอะไรแทนก็ไม่ค่อยแฟร์ แต่เราต้องรับผิดชอบ และเรามีสิทธิตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น

ในกรณีตากใบมีการล้อมสถานีตำรวจ มีเจ้าหน้าที่อยู่ 5-6 คนในนั้น แต่มีคนเป็นพันล้อมไว้ตั้งแต่บ่าย เขาพยายามควบคุมสถานการณ์ ขอกำลังทหารมา แล้วยุติการชุมนุมได้ช่วงมืด ก่อนหน้านั้นมีการขโมยอาวุธไปสองรอบ ทหารเขาอาจกลัวว่าจะมีการต่อสู้แล้วมีความสูญเสีย ด้วยความกลัวก็คงรีบจัดการแล้วอัดคนเข้าไปในรถ หลังเกิดเหตุ ก็มีการตรวจสอบ มีการย้ายแม่ทัพภาคที่ 4 และตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง

 

:: เริ่มต้นที่แก้รัฐธรรมนูญ ::

 

 

รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นปมที่ทำให้เกิดปัญหา อำนาจไม่ไปสู่ประชาชน มีการสร้างความเข้มแข็งให้รัฐราชการ การแก้ปมนี้อย่างสันติวิธีต้องแก้จากสภา มีการประชุมสภาแล้วลงมติให้ไปศึกษา พอศึกษาเสร็จลงมติวาระหนึ่ง วาระสอง ก็กลับจะส่งไปถามศาลรัฐธรรมนูญอีก

เราต้องคลี่คลายเรื่องนี้ก่อนเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดโอกาสให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ท่ามกลางความจำกัดเหล่านี้เราจะสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนให้ได้ เพื่อแสดงให้เห็นจุดยืนของเราว่าหัวใจคือประชาชนเป็นอย่างไร คิดแล้วทำจริงๆ เป็นอย่างไร

เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ รัฐธรรมนูญกำหนดอยู่แล้วว่าไม่ให้แก้ไขทั้งฉบับ เราจึงต้องไปแก้มาตรา 256 เราปรารถนาว่ารัฐธรรมนูญใหม่ต้องมาจากประชาชน ต้องมีการลงประชามติเพื่อให้มี ส.ส.ร. เพื่อเป็นตัวแทนประชาชน ให้มีการเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจากฝั่งที่ไม่ได้มุ่งรักษาผลประโยชน์ให้รัฐราชการ เพื่อให้เป็นไปตามประสงค์ของประชาชนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับยุคสมัย

การจะปักธงประชาธิปไตยได้ อันดับแรกต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน ถ้ารัฐธรรมนูญยังอยู่ในกรอบนี้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการกลับมาเป็นรัฐบาลหรือเรื่องประชาธิปไตย

 

:: ปรัชญาที่แตกต่าง ::

 

 

พรรคเพื่อไทยถูกคนวิจารณ์ด้วยคำเยอะแยะ อย่างคำว่า ‘ประชานิยม’ คนมาลงเลือกตั้งก็ต้องทำให้คนนิยมเสียก่อน การทำนโยบายที่คนนิยมแล้วผิดตรงไหน แต่มีคนประดิษฐ์ให้เป็นคำด้านลบ นโยบายเราได้ประโยชน์และทำจริง แต่สิ่งที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้เป็นระยะสั้น เอาเงินมาแจกถูกจุดและเพียงพอไหม คุณไม่ได้ดูว่าใครเดือดร้อนจริงๆ

การพูดว่า ‘สู้ไปกราบไป’ ผมคิดว่าเป็นเรื่องข้อกล่าวหา ส่วนเรื่อง 112 ผมตอบแทนพรรคไม่ได้ ผมเป็นแค่สมาชิกพรรค แต่ความคิดส่วนตัวของผมมองว่าถ้าโลกมีการเปลี่ยนแปลง กติกากฎหมายต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย ถ้าเป็นความปรารถนาของประชาชนมีการโหวตกันตามกระบวนการ เราก็ไม่ขัดข้องที่ต้องเปลี่ยนตามนั้น มีหลายท่านที่เห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับเราคือทำอย่างไรให้ประชาชนมีการกินอยู่ที่ดีขึ้น ปรัชญาของเราคนละเรื่อง “Real politic is about economic.” การเมืองที่แท้จริงต้องทำเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้น เราสู้กันในการเลือกตั้งเพื่อเอาความคิดไปสู่ประชาชนเพื่อให้กินดีอยู่ดีขึ้น

ผมคิดว่ากฎหมาย 112 มีมายาวนาน แต่ผู้ใช้อำนาจรัฐเกินหรือใช้เพื่อปกป้องตัวรัฐบาลเองต่างหากที่ทำให้เป็นปัญหาทุกวันนี้ ในรัฐบาลอื่นก็ไม่เห็นมีปัญหาเลย จึงมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ประยุทธ์ในการใช้ประโยชน์จากกฎหมายเหล่านี้เพื่อการดำรงอยู่ของอำนาจตัวเอง

 

:: รัฐบาลต้องรับฟังคนต่อต้าน ::

 

 

โจทย์สำคัญของประเทศในขณะนี้คือวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น ขณะนี้มีวิกฤตสำคัญที่สั่งสมมาจากการดำเนินเศรษฐกิจล้มเหลว ถูกทับถมมาด้วยการระบาดของโรค ปมสำคัญคือการทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดีได้โดยอาศัยอำนาจรัฐปลดเปลื้อง

ส่วนในทางการเมืองขณะนี้ต้องปลดเปลื้องพลังของประชาชนด้วยเสียงที่มาจากประชาชน คือต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่งั้นกติกาบ้านเมืองไปต่อไม่ได้ นี่คือการดำเนินตามสันติวิธี ถ้าเราทำให้พลังของฝ่ายต่างๆ กลายเป็นพลังที่สร้างสรรค์และช่วยกันแก้ปัญหาบ้านเมือง ความสำเร็จก็จะเกิดขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความไม่สมดุลของส่วนประกอบในสังคมไทย โครงสร้างสำคัญคืออำนาจรัฐที่บดบังและกดการเติบโตของประชาชน ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้น แล้วมันชัดเจนขึ้นอีกเมื่อเจอปัญหาโควิด

พลังที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของกลุ่มราษฎร เป็นการแสดงออกที่อยากบอกว่ารัฐบาลเดินผิดแล้วให้แก้ไขเสีย ถ้าคนมีอำนาจรู้จักรับฟังและปรับตัวก่อนเกิดปัญหาขัดแย้งรุนแรงกว่านี้บ้านเมืองจะเดินต่อไปได้ แต่ถ้ามองว่านี่คือสิ่งที่ทำให้อำนาจของตัวเองน้อยลงแล้วไปใช้ความรุนแรงกดไว้จะยิ่งมีแรงต้านและจะยิ่งมีปัญหา

ในเงื่อนไขอำนาจรัฐแบบนี้ ผมมองว่าการชุมนุมไม่สามารถเอาชนะได้ การชุมนุมจึงควรเป็นการระดมการสร้างความเข้าใจ เพื่อสร้างความร่วมไม้ร่วมมือ มีเหตุผล มีประโยชน์ รู้ประมาณ ถ้าทำเกินไปแล้วไม่สำเร็จจะโดดเดี่ยวขบวนการ นี่เป็นหลักทั่วไป

พลังในการต้องการเปลี่ยนแปลง พลังความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ ต้องผสมกับประสบการณ์ หลายครั้งความแตกต่างเรื่องวัยและประสบการณ์ทำให้การตัดสินใจไม่เหมือนกัน การผนึกกำลังกันเพื่อแก้ไขด้วยเจตนาดีจะเป็นประโยชน์

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save