fbpx
พร้อม วัชระคุปต์ นักวิทยาศาสตร์ ผู้ใฝ่ในเสรีภาพของประชาชนชาวไทย

พร้อม วัชระคุปต์ นักวิทยาศาสตร์ ผู้ใฝ่ในเสรีภาพของประชาชนชาวไทย

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

ศาสตราจารย์ ดร.พร้อม วัชระคุปต์ มีชาตกาลครบศตวรรษไปเมื่อปลายปีที่แล้วอย่างเงียบๆ ผิดกับเพื่อนสนิทของเขา ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านการศึกษา สังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์จากองค์การยูเนสโก เมื่อมีชาตกาลครบ 100 ปี เมื่อ พ.ศ. 2559

ทั้งๆ ที่พร้อมเป็นบุคคลผู้หนึ่งซึ่งมีคุณูปการต่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวงการอุตสาหกรรมเหล็กไทย ทั้งยังเป็นคนสำคัญคนหนึ่งในชีวิตของป๋วยด้วย ดังที่ป๋วยเขียนบทความเรื่อง ‘แตกเนื้อหนุ่ม เมื่อ 2475’ และคำไว้อาลัยให้เป็นอนุสรณ์แด่เขาอย่างพิเศษ และแม้ขณะนั้นป๋วยสอนหนังสืออยู่ที่เคมบริดจ์ ก็ยังตั้งใจบินกลับมาร่วมงานเผาศพของพร้อม โดยยกย่องว่าพร้อมซึ่งเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ เป็นคนแรกที่ให้สติทางการเมืองแก่ป๋วยซึ่งเรียนในทางสังคมศาสตร์

น่าเสียดายที่สังคมไทยลืมง่าย โดยเฉพาะคนสามัญธรรมดาอย่างพร้อม

เพื่อเป็นการรำลึกถึง พร้อม วัชระคุปต์ ผู้ถูกลืม จึงขอเสนอบทความชิ้นนี้ให้ผู้อ่านได้รู้จักเขา ก่อนที่เขาจะเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไทย

พร้อม วัชระคุปต์
พร้อม วัชระคุปต์
(1 กันยายน 2460 – 10 เมษายน 2515)

กำเนิดและการศึกษา

พร้อม วัชระคุปต์ เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2460 ที่จังหวัดนครราชสีมา เขาเป็นบุตรของขุนบริรักษ์หิรัญราช (บุญมา) กับนางทองอยู่ มีพี่น้องรวม 6 คน บิดาเป็นผู้ให้ชื่อว่า ‘พร้อม’ เพราะพอเขาเกิดมา บุญมาก็ได้รับพระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ โดยได้ราชทินนามตามงานที่ทำเป็นพนักงานรักษาเงิน อยู่ที่คลังจังหวัดนครราชสีมา ต่อมาจึงลาออกมาประกอบอาชีพส่วนตัวเป็นพ่อค้าซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาไปขายโรงสี

พร้อมสำเร็จชั้นมัธยม 6 จากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย ในปี 2475 จากนั้นจบชั้นมัธยม 8 ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ (เลขประจำตัว 720) ในปี 2477 เป็นที่ 1 ของโรงเรียน และเป็นที่ 2 ของประเทศ (ต่ำกว่าที่ 1 เพียง 0.1%) โดยในช่วงที่อยู่ในกรุงเทพฯ เขาอาศัยอยู่กับขุนศาสตร์สุนทร ผู้เป็นญาติ ที่เป็นอาจารย์โรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

พร้อมสอบชิงทุนไปเรียนที่ประเทศอังกฤษได้ในปีถัดมา แต่ไม่ผ่านการตรวจร่างกาย เพราะเหตุความดันโลหิตไม่ปกติ จึงเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปพลางก่อน ปีต่อมาแม้สอบข้อเขียนผ่าน แต่ก็ตกตรวจสุขภาพเช่นเดิม จนในปี 2480 จึงสอบและตรวจร่างกายผ่านด้วยการช่วยเหลือของหลวงพรตพิทยพยัต และได้รับทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

น้องๆ ของพร้อมเล่าว่า เขาพูดถึงการไปเรียนต่อต่างประเทศตั้งแต่ยังเด็กๆ เมื่อแรกผู้ใหญ่ได้ยินก็พากันหัวเราะ แต่พร้อมเป็นคนตั้งใจแน่วแน่และพยายาม ตระหนักดีว่าตนไม่ใช่คนฉลาดพิเศษอะไร จึงขยันอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอ ที่ชอบเป็นพิเศษคือวิทยาศาสตร์กับภาษาอังกฤษ เขาฝึกภาษาด้วยการอ่านหนังสือพิมพ์ Siam Chronicle เป็นประจำ

พร้อมเรียนในสาขาวิศวกรรมเหมืองแร่ (Metallurgy) จนสำเร็จ B. Sc. Hon. จากมหาวิทยาลัยลอนดอน และ A.R.S.M. จากโรงเรียนแร่หลวง มหาวิทยาลัยเดียวกันในปี 2484 และปีถัดมา พร้อมกับเกษม ผลาชีวะ ทำวิจัยที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศอังกฤษ เพื่อศึกษาการกำจัดธาตุฟอสฟอรัสในอุตสาหกรรมเหล็กกล้า เพราะธาตุนี้เป็นอุปสรรคสำคัญต่อคุณสมบัติของเหล็กกล้า จนสำเร็จ หลังจากนั้นพร้อมเรียนปริญญาเอกต่อทางโลหกรรม และจบจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ในปี 2489

พร้อมเป็นที่ภาคภูมิใจของโรงเรียนเก่าเป็นอย่างมาก พา ไชยเดช อาจารย์ใหญ่โรงเรียนอำนวยศิลป์บอกว่าพร้อม “เป็นนักเรียนอำนวยศิลป์คนแรกที่ได้สำเร็จปริญญาขั้นดุษฎีบัณฑิตจากต่างประเทศ อันเป็นเกียรติยศแก่โรงเรียน” และมักยกตัวอย่างพร้อมให้เป็นแรงบันดาลใจแก่รุ่นน้องของเขาอยู่เสมอ ในทำนองเดียวกับที่หลวงพรตพิทยพยัต คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ยกย่องพร้อมให้นิสิตฟังอยู่เสมอ

อนึ่ง บิดาของพร้อมเคร่งครัดในทางพุทธศาสนามาก อยากให้เขาอุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนา แต่พร้อมปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าเขามีความรู้ความเข้าใจในเรื่องพุทธศาสนาดีพอสมควรแล้ว ถ้าได้ปฏิบัติตามศีลตามธรรมพอสมควร ก็ไม่จำเป็นต้องบวชเรียน เพราะประสงค์จะรีบทำงานให้เป็นหลักเป็นฐานเสียก่อน สุดท้ายจึงได้เขียนเรียงความเรื่องอริยสัจ 4 เป็นภาษาอังกฤษ และสนทนาธรรมกับบิดาจนเป็นที่พอใจ

พร้อม วัชระคุปต์ อังกฤษ เพื่อน
พร้อมกับเพื่อนสนิทที่อังกฤษ

เสรีไทย เพื่อน ‘นายเข้ม’

ก่อนไปอังกฤษ พร้อมไม่สูบบุหรี่ไม่กินเหล้า แต่ชีวิต 9 ปีในอังกฤษ ทำให้เขาสูบบุหรี่เป็น และดื่มเบียร์-เหล้าเก่ง แบบเดียวกับ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ซึ่งก่อนไปเมืองนอกไม่เป็นเลย แต่กลับมาพร้อมคุณสมบัติเหล่านี้

ป๋วยเล่าว่าแม้ไม่ได้เรียนในวิชาเดียวกัน สำนักเดียวกัน แต่ได้ใช้ชีวิตในอังกฤษด้วยกัน อยู่-กิน-นอนด้วยกัน ดื่มด้วยกัน เก้กังหัดเต้นรำด้วยกัน ท่องเที่ยวด้วยกัน อ่านปรัชญาด้วยกัน ถกการบ้านการเมืองด้วยกันอย่างสนิทใจ ป๋วยถึงกับเขียนว่า “สนิทสนมกันจนไม่ต้องบอกอะไรกันก็รู้ใจเสียแล้ว” เมื่อต่างมีครอบครัว เมียลูกก็สนิทกัน มาร์เกร็ท ภรรยาป๋วย ซึ่งไม่สนิทกับใครง่ายๆ ก็นิยมพร้อมเป็นพิเศษเพราะ “พูดซื่อๆ และมีความคิดเห็นเรื่องความมีความจนตรงกัน”

ป๋วยประทับใจพร้อมมาก ตั้งแต่ปีแรกที่ไปเรียนอังกฤษ ปลายปี 2481 เมื่อโรงเรียนปิด พวกเขาไปตากอากาศที่เมืองทอร์กี วันหนึ่งพร้อมละล่ำละลักมาบอกว่า “ตายแล้วโว้ย” ป๋วยสงสัยจึงว่า “จะตายเรื่องอะไร?” พร้อมด่าให้แล้วอธิบายว่า “เมืองไทยต่อไปนี้จะแย่แล้ว เพราะหลวงพิบูลสงครามได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนเจ้าคุณพหลฯ คงจะเป็นระบบเผด็จการแบบเยอรมนีและอิตาลี” ป๋วยบอกว่าเขาไม่เคยคิดเรื่องนี้มาก่อน จึงนับถือพร้อมในฐานะที่ “พร้อมเป็นคนแรกที่ให้สติเรื่องเผด็จการและประชาธิปไตย” แก่เขา และนับแต่นั้นมา ทั้งคู่ก็ถกกันเสมอถึงเรื่องเสรีภาพ ประชาธิปไตย และลัทธิการเมือง

ป๋วยจึงสรุปว่าพร้อม “เป็นเจ้าตำราทางปรัชญา สังคมวิทยาและรัฐศาสตร์ เป็นผู้มีสติเห็นแจ้งในอุปสรรคของประชาธิปไตยในเมืองไทย เป็นผู้ที่ใฝ่ในเสรีธรรมจริงๆ” แม้เขาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ปริญญาเอกทางโลหกรรม แต่ก็เป็นผู้มีสติทางการเมือง และเป็นผู้ให้สตินั้นแก่ป๋วยซึ่งเรียนทางสังคมศาสตร์

สอดคล้องกับที่ ทศ พันธุมเสน เสรีไทยสายอังกฤษ เห็นว่า พร้อม “เป็นคนที่มีความรู้กว้างขวาง เพราะสนใจในปัญหาสังคมทั่วไป เป็นนักคิดและเป็นนักศึกษา ที่เชื่อว่าคนเราไม่มีวันเรียนจบ ควรศึกษาหาความรู้อยู่ตลอดเวลา”

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมกับป๋วยก็สมัครเข้าเป็นเสรีไทยด้วยกัน แต่พร้อมเป็นทหารไม่ได้เนื่องจากมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง จึงช่วยงานทางด้านพลเรือน ส่วนป๋วยเป็น ‘ทหารชั่วคราว’ ในนาม ‘เข้ม’ ดังมีความพิสดารแจ้งแล้วใน ‘อัตชีวประวัติ: ทหารชั่วคราว’ (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดพิมพ์ในปี 2559 เมื่อคราวศตวรรษชาตกาลของป๋วย)

พร้อม วัชระคุปต์ ผู้แทนประเทศไทย ประชุมคณะอนุกรรมการเหล็กและเหล็กกล้า สหประชาชาติ อินเดีย
พร้อมเป็นผู้แทนประเทศไทย เข้าประชุมคณะอนุกรรมการเหล็กและเหล็กกล้า ครั้งที่ 2 ขององค์การ ECAFE สหประชาชาติ ณ เมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย พ.ศ. 2492

วิทยาศาสตร์กับสังคม

พร้อมเขียนหนังสือไว้น้อย จึงมีบทความที่เหลืออยู่ไม่มากพอที่จะให้ตามอ่านความคิดของเขาได้ แต่ยังมีงานชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจคือ ‘หลักแห่งกรรมในทัศนะของข้าพเจ้า’ ซึ่งเขียนเป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ ขุนบริรักษ์หิรัญราช ผู้เป็นบิดา ในปี 2493 นอกจากกล่าวถึงเรื่องกฎแห่งกรรมและการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว ยังได้กล่าวถึงความเป็นไปของสังคม และวิทยาศาสตร์เอาไว้ด้วย กล่าวคือ

เราจะมีความสุขแท้จริงมิได้โดยการคิดเอาตัวรอดแต่ถ่ายเดียว ความสุขส่วนตัวย่อมขึ้นอยู่กับสวัสดิภาพของสังคมส่วนรวม

และอุปมาอย่างนักวิทยาศาสตร์ว่า “ความล่าช้าของล้อเลื่อน เช่น จักรยาน และสามล้อ ทำให้การจราจรของรถยนต์บนท้องถนนต้องพลอยช้าลงด้วยฉันใด ความล้าหลังของมนุษย์ส่วนหนึ่งก็ย่อมจะถ่วงความเจริญของมนุษย์อีกส่วนหนึ่งฉันนั้น

เขาจึงเน้นว่า “ทางที่ถูก เราควรช่วยตัวเราเองและผู้อื่นไปด้วย เยี่ยงเช่นพระโพธิสัตว์ เมื่อตรัสรู้แล้ว มิได้ลืมที่จะชี้ทางให้สัตว์โลกพ้นทุกข์ตามไปด้วย

และจบท้ายบทความได้อย่างแหลมคม โดยโยงใยวิทยาศาสตร์กับความเป็นไปของสังคมไว้อย่างน่าสนใจ ดังขอคัดมาทั้งย่อหน้า (โดยจัดย่อหน้าใหม่ให้อ่านง่าย) ดังนี้

จากด้านสังคมส่วนรวมอันมีรัฐเป็นหน่วยสำคัญนั้น รัฐบาลก็อาจสามารถดัดแปลงกรรมรวมของสังคมที่ตนรับผิดชอบให้ดีขึ้นหรือเลวลงได้ตามลักษณะของงานการกระทำนโยบายและระบบการปกครองของรัฐนั้นๆ

แม้มนุษย์ทุกคนจะมีส่วนในการสร้างอนาคตของตนเองและสังคมส่วนรวมดังที่กล่าวมาแล้ว แต่เราจะเห็นได้ว่ารัฐยังมีบทบาทอันสำคัญยิ่งไปกว่า ทั้งนี้ก็โดยอาศัยอำนาจนิติบัญญัติ ตุลาการ และบริหารของรัฐ โดยการปรับปรุงโครงสร้างของสังคมในแนวทางที่เหมาะสม รัฐก็จะสามารถอำนวยความเจริญก้าวหน้าให้แก่สังคมและเพิ่มระดับความเป็นอยู่ของประชาราษฎรทั่วไปได้

ฉะนั้น กรรมของสังคมจึงมิได้ขึ้นอยู่กับกรรมย่อยของบุคคลถ่ายเดียว แต่ยังอยู่ภายในอำนาจของรัฐที่จะขัดเกลาต่อเติมหรือดัดแปลงอีกได้

เรารู้แล้วว่ามนุษย์เกิดมาไม่เสมอกันโดยกำเนิดเพราะบุพกรรมที่ได้สร้างไว้ต่างๆ กัน แต่รัฐก็อาจอำนวย ความยุติธรรมทางวัตถุ ให้แก่ทุกคนได้ กล่าวคือมีที่อยู่อาศัย ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย และมีโอกาสเท่ากันในการศึกษาเต็มตามสติปัญญาความสามารถ ในการประกอบอาชีพ และในการดำเนินชีวิต เป็นต้น

เมื่อทุกคนถึงพร้อมด้วยวัตถุปัจจัยในการดำรงชีวิตแล้ว ความไม่เสมอโดยกำเนิดของมนุษย์ก็จะยังคงเหลือแต่ในเรื่องสติปัญญาความสามารถ

และในเรื่องของสุขภาพของร่างกายจิตใจ ซึ่งจะยังคงเป็นไปตามบุพกรรมที่ได้สร้างไว้ เมื่อหมดภาระกังวลในปัญหาเบื้องต้นของชีวิต ทุกคนก็จะมีจิตใจผ่องใส สามารถใช้กำลังกาย กำลังใจ และกำลังความคิดทั้งหมดไปในทางที่เกิดประโยชน์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ท้ายที่สุด เราควรจะไม่ลืมว่า ประโยชน์ทางวัตถุที่เกิดจากวิทยาศาสตร์นั้นไม่เป็นสิ่งน่าเหยียดหยาม เพราะรูปและนาม ร่างกายและจิตใจเป็นสิ่งซึ่งอาศัยกันและกัน ถ้าร่างกายซึ่งเป็นวัตถุธาตุ ขาดการบำรุงรักษา จิตใจก็จะอับเฉาตามไปด้วย มนุษย์ธรรมดาสามัญจะถือศีลอยู่มิได้เลยในเมื่อปากท้องยังหิว และร่างกายถูกเบียดเบียนด้วยโรคาพยาธิ

วิทยาศาสตร์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในอันที่จะช่วยก่อสร้างสภาพความเป็นอยู่ทางวัตถุให้เหมาะสมที่ความเจริญทางวัฒนธรรมและศีลธรรมจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

ทั้งหลายทั้งแหล่ที่กล่าวมานี้เป็นสิ่งที่อยู่ในวิสัยของมนุษย์ที่จะทำได้ ถ้าเราต่างตระหนักในภาระและหน้าที่ความเป็นมนุษย์ของเรา และพื้นพิภพนี้ ศรีอารยะสมัยก็คงจะค่อยใกล้เข้ามา

พร้อม วัชระคุปต์ สหรัฐอเมริกา
พร้อมกับเพื่อนชาวต่างประเทศ ที่โคโรราโด สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2501 ซึ่งเขาได้รับทุนจากองค์การ I.C.A. ของรัฐบาลอเมริกัน ให้มาศึกษาดูงานทางด้านพลังงานนิวเคลียร์ เป็นเวลา 8 เดือน

อุปนิสัย

สุกิจ นิมมานเหมินท์ อาจารย์ผู้สอนพร้อมในโรงเรียนอำนวยศิลป์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงลูกศิษย์ของเขาไว้ว่า “เป็นศิษย์ที่ดีมีกิริยามารยาทเรียบร้อย ขยันหมั่นเพียร และเปี่ยมไปด้วยความกตัญญูกตเวทีอยู่เสมอ เมื่อสอบชิงทุนรัฐบาลได้ก็พาบิดามาพบข้าพเจ้าและขอบคุณใหญ่โต” เมื่อกลับมารับราชการก็ “มิได้แสดงความเย่อหยิ่งยะโสสามหาวเขาระฟ้าแต่ประการใดเลย รู้จักกับใครมาอย่างใดก็ยังคงเป็นดังเดิมอยู่นั่นเอง”

ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ก็เห็นว่าพร้อมมักถ่อมตัว ไม่เห็นแก่ตัว มีดีอยู่ข้างใน แต่ไม่ปล่อยออกมาโอ้อวดใครๆ นอกจากนี้ยังเคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์แต่ละคน ไม่ว่าฐานะต่ำเพียงใด และเป็นผู้ที่ปากตรงกับใจเสมอ ไม่เคยคิดคดคิดโกง แม้จะไม่ร่ำรวย แต่เขาก็ไม่ยอมเบียดเบียนใคร

ขณะที่ พา ไชยเดช อาจารย์ใหญ่แห่งอำนวยศิลป์ เสริมว่า พร้อมเป็นคนเข้ากับเพื่อนฝูงได้ ไม่ใช่คนเก็บตัว แต่ก็ไม่ปล่อยตัวสำมะเล เป็นผู้บังคับตนเองได้ เป็นคนจริงจังกับปัญหาวิชาการ และเป็นคนมีแนวคิดในทางเสรี ที่จะคิดวิธีต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างเดียวกัน เขาเป็นคนพูดตรงๆ ค่อนไปจะเสียงแข็ง บุคลิกจึงเหมาะแก่การเป็นนักวิชาการ นักวิจัย มากกว่านักการทูตหรือนักการเมือง

ส่วนเพื่อนสนิทอย่าง เจริญ จิตะสมบัติ เห็นว่า “พร้อมเป็นคนที่เปี่ยมด้วยวิชาและยอดด้วยปัญญา จะทำอะไรก็ ‘มุ’ และ ‘ตั้งใจจริง’ เป็นคนที่รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบ ประกอบด้วยความซื่อสัตย์สุจริต”

นอกจากนี้ สำราญ วรรณพฤกษ์ เพื่อนเสรีไทยในอังกฤษ ยังให้ภาพของพร้อมจากมุมมิตรว่า “มีใจโอบอ้อมอารี เผื่อแผ่ต่อมิตรและเป็นผู้ที่รักความจริง พูดความจริงต่อมิตรเสมอ บางคราวที่เรามีทุกข์ มีปัญหา คุณพร้อมก็จะช่วยปลอบใจและชี้ทางให้มองไปในทางทัศนะที่ดีอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้คุณพร้อมจึงเป็นผู้ที่มีเพื่อนรักใคร่มาก”

ทศ พันธุมเสน เสริมว่า “เขาเป็นคนสนุก เป็นเพื่อนเดินทางที่ดี มีเรื่องคุยสนุก ถึงคราวทำงานก็ทำจริง ถึงเวลาพักผ่อนหย่อนใจก็สนุกสนานเฮฮา เขาจึงเป็นที่รักใคร่ของเพื่อนๆ ทั่วหน้ากัน”

ในชีวิตส่วนตัว พร้อมรักความเป็นระเบียบเรียบร้อย และชอบปลูกต้นไม้มาแต่ยังเยาว์ ตอนเด็กปลูกกุหลาบและโกศลใส่กระถางพร้อมเขียนชื่อติดด้วยตัวบรรจงเป็นระเบียบสวยงาม เมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ทำสนาม ตกแต่งต้นไม้อย่างสวยงามด้วยตนเอง

พร้อม วัชระคุปต์ และภรรยา
พร้อมกับภรรยา ถ่ายที่ประเทศญี่ปุ่น พ.ศ. 2506

การรับราชการ

พร้อมกลับมารับราชการในปี 2491 ในตำแหน่งหัวหน้าแผนกควบคุมโลหกรรม กองวิชาการเหมืองแร่ กรมแร่โลหกิจ จากนั้นในปี 2495 ย้ายไปเป็นหัวหน้ากองโรงงานถลุงเหล็ก กรมโรงงานโลหกรรม ต่อมาระหว่างปี 2501-2502 กรมนั้นถูกยุบ พร้อมจึงย้ายมาเป็นหัวหน้ากองโลหกรรม กรมแร่โลหกิจ

ในระยะแรกที่กลับมาเมืองไทย พร้อมเป็นอาจารย์พิเศษสอนในโรงเรียนอำนวยศิลป์ โรงเรียนเก่าของเขาด้วย นอกจากนี้เขายังเป็นผู้แทนประเทศไทยในงานด้านเหล็กและเหล็กกล้าอยู่เป็นระยะ เช่น ปี 2492 ไปประชุมคณะอนุกรรมการขององค์การ ECAFE ที่ประเทศอินเดีย หลังจากนั้น 3 ปี ได้ไปดูงานที่จัดโดยองค์การเดียวกัน ณ ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ต่อมาในปี 2500 องค์การเดิมก็เชิญไปดูงานที่ยุโรปเป็นเวลา 2 เดือน และในปี 2505 เป็นหัวหน้าคณะผู้เชี่ยวชาญของรัฐบาลไปดูงานด้านนี้ที่อินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น เป็นเวลา 1 เดือนด้วย

เมื่อเห็นว่าการรับราชการในกระทรวงอุตสาหกรรมไม่เหมาะกับความต้องการในชีวิตของเขาแล้ว พร้อมจึงโอนย้ายมารับราชการเป็นอาจารย์เอกแผนกวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นศาสตราจารย์ในปี 2504 ดำรงตำแหน่งชั้นพิเศษ และเลื่อนขึ้นตามลำดับ จนได้อันดับ 3 ในปี 2510

พา ไชยเดช ตั้งข้อสังเกตว่า ที่พร้อมโอนย้ายมาเป็นอาจารย์นั้น เพราะ “คงจะเป็นงานประจำ ไม่ได้มีโอกาสค้นคว้า หรือมีเสรีภาพทางทางจิตใจที่จะแสวงหาสัจธรรมตามความคิดเห็นหรือสมมติฐานของตนได้โดยสะดวก จึงเมื่อได้โอนมารับราชการในตำแหน่งอาจารย์ … ต้องกับนิสัยที่จะค้นคว้าวิจัยทางวิชาการ เผยแพร่สั่งสอนศิษย์ตามความเชื่อของตน”

ขณะที่ แถบ นีละนิธิ เล่าว่า วันหนึ่ง พร้อมมาหาเขาซึ่งขณะนั้นเป็นคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ เล่าเรื่องการทำงานที่กรมโลหกิจให้ฟังแล้วว่าอยากย้ายมาเป็นอาจารย์ คณบดีจึงตอบรับเพราะความรู้ของพร้อมเป็นประโยชน์ต่อแผนกวิชาเคมี เคมีเทคนิค และธรณีวิทยา ทั้งยังมีความรู้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดี สอนวิชา Technical English ได้

ทศ พันธุมเสน ขยายความว่า สมัยที่รับราชการในกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมได้รับมอบหมายให้ทำโครงการโรงงานถลุงเหล็ก และรัฐบาลเห็นชอบโครงการของพร้อม แต่เมื่อเปลี่ยนนโยบาย จึงขาดการสนับสนุนทางการเงิน ในที่สุดทำให้กรมโรงงานโลหกรรมถูกยุบ พร้อมผิดหวังและเห็นว่าทางราชการยังไม่พร้อมที่จะดำเนินการด้านการถลุงเหล็ก จึงได้ขอย้ายไปเป็นอาจารย์

งานสุดท้ายของพร้อม คือการดำเนินการก่อตั้งแผนกวิชาวัสดุศาสตร์ในคณะวิทยาศาสตร์ จนเกือบสำเร็จ แต่เขาถึงแก่กรรมด้วยอาการเส้นเลือดในสมองแตกเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2515 ก่อนเขาเดินทางไปดูงานที่อังกฤษและนอร์เวย์ตามกำหนดเพียง 12 วันเท่านั้น

พร้อม วัชระคุปต์ พร้อมลูกศิษย์ จุฬา
พร้อมกับลูกศิษย์ในวันรับปริญญา ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

งานพิเศษอื่นๆ

พร้อมเป็นนักประดิษฐ์ได้สร้างสรรค์วิธีโลหกรรมวิธีใหม่ขึ้น หอทะเบียนอังกฤษยอมรับนับถือ และได้จดทะเบียนสิทธิบัตรไว้ในฐานะสิ่งประดิษฐ์ใหม่อันมีค่า

นอกจากนี้ พร้อมยังเป็นที่ปรึกษาให้บริษัท จี.เอส.สตีล จำกัด และบริษัท แผ่นเหล็กวิลาสไทย จำกัด ซึ่งให้คำปรึกษาทางวิชาการอย่างแข็งข้น จนใครๆ ก็ติดปากเรียก ‘อาจารย์’ และนับถือเขาเนื่องจากเป็นผู้มักน้อย ไม่เห่อเหิมด้วยลาภยศหรือขวนขวายแสวงหาทรัพย์สิน

สมนึก แจ่มรังษี แห่ง จี.เอส.สตีล ยกย่องพร้อมว่า “อาจารย์เป็นนักวิชาการที่แท้จริง ทำงานมาก และยึดมั่นในอุดมคติของตัวเองมาก” ขณะที่ทางแผ่นเหล็กวิลาสไทยให้ภาพว่า “คุณพร้อมนั้นเกิดมาเพื่อที่จะเป็นอาจารย์โดยแท้ ปัญหาที่เราถามนั้นจะได้รับคำตอบอย่างแจ่มแจ้งเสมอ แม้บางครั้งคุณพร้อมจะใช้เวลาในการค้นหาคำตอบให้เรานั้นเป็นวันเป็นเดือนก็ตาม คำตอบที่เราได้รับนั้นจะมีโน้ตแถมมาให้เพื่อกันเราลืม พร้อมทั้งหลักฐานอ้างอิงเสร็จ”

พร้อม วัชระคุปต์ พร้อมคณาจารย์ จุฬา
พร้อมกับบรรดาคณาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พบรักแล้วจากพราก

เมื่อกลับมารับราชการ พร้อมพักอยู่ที่บ้านซอยเอกมัย และขับรถยนต์มอรีสไปทำงาน ไม่นานกามเทพก็แผลงศรปักทรวงเขา เพราะทุกเช้า ณ ป้ายรถเมล์ปากซอยทองหล่อ พร้อมเห็นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งต้องใจเขา จึงได้พยายามสืบว่าเป็นใคร และหาทางเข้าถึงตัว จนได้คุ้นเคยอัธยาศัยใจคอซึ่งกันและกัน แล้วแต่งงานกันในที่สุด

เธอผู้นั้นคือ กฤษณา เอกฉันท์ บุตรีของหลวงและนางศรีธนราช

ทั้งคู่แต่งงานกัน เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2493 และมีบุตรธิดารวม 3 คน

พร้อมรักภรรยาและลูกมาก คราวหนึ่งเขาเล่าให้ ทศ พันธุมเสน ฟังว่า ภรรยาได้เลื่อนตำแหน่งทำให้ภาระการงานหนัก ออกจะมากไปสำหรับเธอที่มีภาระในครอบครัวด้วย จึงขอให้ทศช่วยหาตำแหน่งงานต่ำลง เพื่อให้ภรรยาของเขาทำงานไม่หนักเกินไป แต่ตัวเขาเองกลับทำงานหนักมากเพื่อให้ครอบครัวสามารถมีความเป็นอยู่อย่างสะดวกสบาย ดังเขาปรารภกับน้องๆ ว่า “เหน็ดเหนื่อยมาก ไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน แต่ก็ภูมิใจที่ได้ดิบได้ดีมาด้วยลำแข้งของตัวเอง”

เขาเป็นคนตรงและจริงจังทำให้บางครั้งกลายเป็นคนอารมณ์ร้อน แต่กฤษณาเป็นคนอารมณ์เย็น คอยปรับอุณหภูมิอารมณ์ให้เขา ชีวิตคู่จึงราบรื่น

เมื่อพร้อมจากไปอย่างกะทันหัน กฤษณา เขียนความในใจถึงสามีของเธออย่างจับใจว่า

สุดที่รัก”

ความรัก คือ ความทุกข์

เมื่อดิฉันได้พบกับคุณพร้อมเป็นครั้งแรก และในที่สุดต่อมาก็ได้แต่งงานกับดิฉัน มีความรัก ความห่วงใยคุณพร้อมตลอดมา ดิฉันได้ประจักษ์ความจริงว่า เพราะความรักจึงทำให้มีแต่ความวิตก กังวล ห่วงใย ทำให้เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นทุกข์

คุณพร้อม เป็นสุดที่รักของดิฉัน แม้ว่าจะเกิดทุกข์เพราะความรัก แต่ก็ยังมีความสุขเจือปนอยู่ ดิฉันซาบซึ้งในน้ำใจคุณพร้อมดีว่า มีความรักลูก รักเมีย เพียงใด เธอเป็นคนมีความสุจริตใจเป็นอย่างยิ่ง ดิฉันเคยหวังว่า เราจะได้อยู่เป็นเพื่อนกันจนแก่จนเฒ่า แม้จะทราบดีว่า การจากกันจะต้องเกิดขึ้นในวันใดวันหนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ความสุขในปัจจุบันจะต้องกลายเป็นอดีต แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ โดยรวดเร็วไม่คาดฝัน ดิฉันก็ไม่สามารถทำจิตใจให้สงบลงได้

แม้ว่าจะได้ประสพความทุกข์เหล่านี้แล้ว ในฐานะที่เป็นมนุษย์ปุถุชนยังมีกิเลสอยู่ ดิฉันก็ยังอดไม่ได้ที่จะอธิษฐานว่า หากชาติหน้ามีจริง ขอให้เราได้พบปะเป็นคู่ครองกันทุกชาติไปจนกว่าจะสิ้นกิเลส

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จงคุ้มครองรักษา และดลบรรดาลให้วิญญาณของคุณพร้อม สุดที่รักของดิฉัน จงมีความสงบสุขในสัมปรายภพด้วยเถิด

กฤษณา วัชระคุปต์

พร้อม วัชระคุปต์
พร้อมกับลูกและเมีย ขณะพักผ่อนอยู่ที่บ้าน

ส่งท้าย

เมื่อพร้อมผู้มีรูปร่างล่ำสันแข็งแรง กระฉับกระเฉงอ่อนกว่าวัย และอยู่ในระยะเวลาที่เรียกว่า ‘in the prime of his life’ ด่วนจากไปในวัยเพียง 54 ปี  ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพื่อนสนิทของเขารำพันว่า “พร้อมเอ๋ย ไม่น่าเลย อายุสั้น” ก่อนจะให้นิยาม พร้อม ผู้ตาย ว่า “ผู้ใฝ่ในเสรีภาพของประชาชนชาวไทย”

สังคมไทยของเรามีนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อย และมีนักสังคมศาสตร์ก็อีกมาก แต่บุคคลซึ่งสนใจในความเป็นไปของสังคม นำความรู้ความสามารถมา “ช่วยตัวเราเอง และผู้อื่นไปด้วย เยี่ยงเช่นพระโพธิสัตว์ เมื่อตรัสรู้แล้ว มิได้ลืมที่จะชี้ทางให้สัตว์โลกพ้นทุกข์ตามไปด้วย”  ทั้งยัง “ใฝ่ในเสรีภาพของประชาชนชาวไทย” จะมีอีกมากน้อยเพียงใดนั้น พร้อม วัชระคุปต์ พ้นวิสัยที่จะวินิจฉัยได้แล้ว

พวกเราที่ยังอยู่ต่างหาก จะต้องตอบว่า เราจะเลือกหนทางชีวิตของเราให้ใฝ่ไปในทางใด

พร้อม วัชระคุปต์ ภาพหน้าศพ
ภาพหน้าศพของพร้อม ในวันสวดพระอภิธรรม วัดธาตุทอง พระโขนง

บรรณานุกรม

ประวัติภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อนุสรณ์ พร้อม วัชระคุปต์ (พิมพ์เป็นบรรณาการเนื่องในวันพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์ ดร.พร้อม วัชระคุปต์ ณ เมรุวัดธาตุทอง พระโขนง นครหลวงฯ วันเสาร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2515)

หมายเหตุ สำหรับภาพในหนังสือเล่มนี้ ได้ถ่ายออกมาจากหนังสืออนุสรณ์ข้างต้น ซึ่งเก็บอยู่ในห้องศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงขอขอบคุณมา ณ ที่นี้

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save