fbpx
เปิดห้องทดลอง: แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยนวัตกรรมทางการเงิน

เปิดห้องทดลอง: แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ด้วยนวัตกรรมทางการเงิน

กานต์ธีรา ภูริวิกรัย เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

Thailand Institute of Justice (TIJ) ภาพ

 

ทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป ถ้าเราจะเห็นร้านค้าหรือแม้แต่ในวัด ตั้งป้ายให้สแกนจ่ายเงินหรือทำบุญ เราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินอย่างง่ายดาย โดยใช้เพียงโทรศัพท์มือถือ สำหรับคนที่ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ การทำธุรกรรมออนไลน์เป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายให้กับชีวิต

สำหรับคนกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน (Unbanked) ธุรกรรมออนไลน์ไม่ใช่แค่บริการเพื่อความสะดวกสบาย แต่คือหน้าต่างแห่งโอกาสที่ทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยเป็นเครื่องมือเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ ที่ช่วยให้พวกเขาได้เข้าถึงบริการทางการเงินที่ทั่วถึง (Financial Inclusion) อันจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้

อย่างไรก็ตาม การให้บริการทางการเงินดังกล่าว ยังมีความท้าทายหลายประการให้เราต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในการใช้เทคโนโลยี หรือการที่ผู้ใช้บางคนอาจขาดความรู้ทางด้านการเงิน (Financial literacy) ดังนั้น การให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการลดความเสี่ยงที่เกิดจากเทคโนโลยี จึงเป็นโจทย์ที่สังคมต้องเผชิญและร่วมหาทางออกไปพร้อมกัน

ประเด็นข้างต้นไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะกับประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาร่วมที่ประเทศพัฒนาแล้วต้องเจอด้วยเช่นกัน สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ The Institute for Global Law and Policy แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จัดหลักสูตรนานาชาติด้านหลักนิติธรรมและนโยบาย ‘TIJ-IGLP Workshop for Scholars and Emerging Leaders on the Rule of Law and Policy’ ประจำปี 2562 ซึ่งเป็นการนำเอานักวิชาการและกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบาย มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับหลักนิติธรรมและประเด็นปัญหาในบริบทร่วมสมัย สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและจุดประกายการมองหาทางออกร่วมกัน

หนึ่งกิจกรรมของหลักสูตรที่น่าสนใจคือ ‘Problem lab’ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ออกแบบให้เสมือนเป็นห้องทดลองเพื่อแก้ปัญหาเชิงนโยบาย โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งกลุ่มผู้นำและนักวิชาการรุ่นใหม่จากหลากหลายสาขา มาระดมสมองกันผ่านโจทย์ทางสังคมที่เกิดขึ้นจริง และมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและนโยบายเป็นผู้นำการอภิปราย

หัวข้อหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาใน Problem lab คือ เรื่องการให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึงและความเหลื่อมล้ำ (Financial inclusion and inequality) โดยมีผู้เชี่ยวชาญคือ คุณปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Ascend Money และมี Professor Kerry Rittich จาก Faculty of Law, University of Toronto เป็นผู้นำการอภิปราย

 

 

โจทย์ปัญหา: ประเทศไทยกับช่องว่างของความมั่งคั่งที่กว้างขึ้น

 

จากการศึกษาของ Credit Suisse ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีช่องว่างทางความมั่งคั่ง (Wealth gap) สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยคนรวย 1% ครองความมั่งคั่งและทรัพยากรของประเทศถึง 67% คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่มากกว่าอินเดีย (51.5%) ในขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ญี่ปุ่นมีความเหลื่อมล้ำทางความมั่งคั่งน้อยที่สุด (18.6%)

ขณะที่ในระดับโลก เรื่องช่องว่างทางความมั่งคั่ง (Wealth gap) ยังมีแนวโน้มเลวร้ายลง สาเหตุมาจากการสร้างคุณค่าทางธุรกิจ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เช่น การเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะเริ่มเข้ามาแทนที่แรงงาน กระแสโลกาภิวัตน์ (Globalisation) ที่ทำให้นักธุรกิจมีอิทธิพลต่อโลกอย่างมาก และสาเหตุข้อสุดท้าย ปุณณมาศ กล่าวว่า เกิดจากทุนนิยมที่ปราศจากความรับผิดชอบของสังคม คือการมุ่งทำกำไรสูงสุด แต่ละเลยเรื่องการเติบโตของทรัพยากรมนุษย์

“เราจะมีช่องว่างทางความมั่งคั่งมากไม่ได้ ประเทศจะเติบโตได้อย่างไร หากประชาชนยังยากจนอยู่” ปุณณมาศ กล่าว และเสริมว่า ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด ช่องว่างทางความมั่งคั่งสามารถนำไปสู่การปฏิวัติได้ เช่น การปฏิวัติฝรั่งเศส หรือการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน ล้วนมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งทางชนชั้นทั้งสิ้น

 

วิเคราะห์สาเหตุ: ถอดรากความเหลื่อมล้ำ

 

สาเหตุแรก ซึ่งเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุด คือรัฐบาลที่ล้มเหลว โดยปุณณมาศอธิบายว่า หน้าที่หลักของรัฐบาล คือ การดูแลความปลอดภัยและสร้างความกลมเกลียวกันของสังคม แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถทำหน้าที่หลักตรงนี้ได้ ประเทศนั้นก็อาจกลายเป็นรัฐที่ล้มเหลว (Failed state) ในที่สุด โดยตัวอย่างของรัฐที่ล้มเหลวในปัจจุบันนี้คือ เวเนซุเอลา

สาเหตุข้อที่สอง ปุณณมาศอธิบายว่า เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระแสการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือ ทุกวันนี้ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด และเป็นระบอบที่เปิดให้ประชาชนได้มีสิทธิ เสียง และมีความเสมอภาคกัน โดยมีกฎหมายเป็นบรรทัดฐานในการปกครอง อย่างไรก็ตาม ระบอบประชาธิปไตยก็ยังมีความท้าทายอยู่หลายประการ โดยเฉพาะเรื่องความต่อเนื่องของนโยบาย เนื่องจากประชาชนจะต้องเลือกนักการเมืองมาทำหน้าที่ ซึ่งนักการเมืองเหล่านี้จะมีวาระการดำรงตำแหน่งที่จำกัด

สาเหตุข้อสุดท้าย คือเรื่องทุนนิยมที่ปราศจากความรับผิดชอบของสังคมดังที่กล่าวไปแล้ว ปุณณมาศอธิบายปิดท้ายส่วนนี้ว่า หากเราทำให้คนเข้าถึงระบบการเงินได้ง่ายขึ้น จะช่วยลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นได้

“ถ้าเราทำให้เกิดการเข้าถึงทุนได้ ผู้คนก็จะมีความมั่งคั่งมากขึ้น และหากคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำก็จะลดลง สังเกตได้จากประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่คำถามคือ แล้วประเทศจะพัฒนาได้ไวเท่าไหร่ เมื่อไหร่จะพัฒนา แล้วจะพัฒนาไปอย่างไร”

 

กรณีศึกษา: จีนกับการให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึง

 

นอกจากการบรรยายแล้ว ปุณณมาศยังได้พูดถึงกรณีศึกษาในประเทศจีน ซึ่งมีบริการที่เรียกว่า ‘อาลีเพย์ (Alipay)’ และบริษัท Ant Financial ซึ่งทั้งคู่เป็นบริการทางการเงินภายใต้กลุ่มอาลีบาบา (Alibaba)

ปุณณมาศอธิบายว่า อาลีเพย์ทำให้คนจีนมากกว่า 800 ล้านคนเข้าถึงบริการทางการเงิน และยังครอบคลุมมากกว่า 60% ของประชากรในการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยเริ่มจากการจ่ายเงิน (การซื้อของออนไลน์ในเว็บไซต์ที่เรียกว่า Taobao) และพัฒนาไปสู่การทำธุรการทางการเงินอื่นๆ เช่น ประกันภัย การบริหารความมั่งคั่ง หรือการให้คะแนนเครดิตสกอร์ (Credit score) เมื่อผู้ใช้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางนี้ พวกเขาก็จะสะสมเครดิตและสามารถเลื่อนลำดับขึ้นไปได้ ยิ่งลำดับสูงขึ้นก็จะยิ่งได้สิทธิประโยชน์มากขึ้น

ขณะที่ Ant Financial เป็นบริการอำนวยความสะดวกในการลงทุนให้ผู้ใช้ และเป็นการลงทุนที่แทบจะปราศจากความเสี่ยง อีกทั้งยังให้ผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนในธนาคารแบบดั้งเดิม 3-6 เท่า โดยเงินที่ฝากไว้จะได้ดอกเบี้ยคล้ายหรือเหมือนกับการลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน (Money market fund)

นอกจากนี้ Ant Financial ยังเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทจัดการสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ผู้คนเข้าถึงการจัดการทรัพย์สินได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน และยังมีคนจีนมากกว่า 180 ล้านคนลงทุนใน Ant Fortune ซึ่งเป็นบริการจับคู่บริษัทจัดการสินทรัพย์ให้เข้ากับลูกค้า ปุณณมาศสรุปว่า บริการทางการเงินเช่นนี้ จะอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้ และยังสนับสนุนให้ผู้ที่มีเงินน้อยสามารถลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน และมองเห็นเงินของพวกเขาเติบโตได้

อย่างไรก็ดี มีคำถามที่น่าสนใจเกิดขึ้นในวงเสวนาว่า ดูเหมือนจะมีแต่ชนชั้นกลางที่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ว่ามาได้ แล้วบริการนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร อีกทั้งแอพพลิเคชันและบริการทั้งหลายจะช่วยปรับปรุงชีวิตประจำวัน หรือความเป็นอยู่ของผู้คนได้อย่างไร

สำหรับคำถามแรก ปุณณมาศตอบว่า ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการอาลีเพย์ได้ แต่คำถามคือ ผู้ใช้มีเงินเหลือมากพอที่จะลงทุนหรือไม่ เพราะอาลีเพย์เป็นตัวดึงผู้ใช้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน ให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ในเรื่องของการแก้ปัญหายากจน

ส่วนคำถามที่สอง ปุณณมาศอธิบายว่า ในหลายประเทศ มีคนที่ไม่มีบัญชีธนาคารและไม่สามารถโอนเงินได้ หากพวกเขาต้องการจะทำธุรกรรมทางการเงิน ก็ต้องอาศัยผู้อื่น หรืออาศัยระบบใต้ดินที่มีความเสี่ยงและใช้เวลาค่อนข้างนาน แต่อาลีเพย์จะช่วยในการส่งต่อเงินโดยตรงแบบไม่มีต้นทุน ทำให้ผู้ใช้ทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างปลอดภัยและมีต้นทุนต่ำ

 

 

เปิดห้องทดลอง แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ (1) : อะไรคือบทบาทที่ควรเป็นของรัฐ

หลังจากที่ฟังการบรรยายและมีการอภิปรายในวันแรกแล้ว กิจกรรมในวันที่สองเป็นเสมือนการ ‘ทดลอง’ โดยหยิบยกคำถามจากแต่ละกลุ่มขึ้นมาร่วมถกเถียง และอภิปรายกัน โดยหวังว่าผลลัพธ์ของการทดลองที่ได้ออกมา จะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ดีขึ้นในอนาคต

ก่อนที่จะนำไปสู่คำถามและการอภิปรายเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงิน ปุณณมาศเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการปัญหาความยากจนว่า รัฐบาลจะต้องเข้ามามีบทบาทหลักในการจัดการเรื่องนี้ เพราะถ้าปล่อยให้ตลาดที่เป็นแบบทุนนิยมทำงาน ก็มีแนวโน้มที่ตลาดจะเอาเปรียบและขูดรีดประโยชน์จากประชาชน แต่คำถามสำคัญคือ บทบาทของรัฐบาลจะมากน้อยแค่ไหน

ปุณณมาศยังได้วิเคราะห์เกี่ยวกับความลำบากในการจัดการความยากจน ซึ่งเป็นผลจากการขาดความต่อเนื่องของรัฐบาล โดยเสนอว่ารูปแบบที่ดีคือ การที่รัฐบาลวางแผนเพื่อจัดการประเด็นขั้นพื้นฐาน เช่น การศึกษา หรือสุขภาพ ทำการตั้งขอบข่ายงาน (Framework) ที่ต้องทำตาม และดึงเอาภาคเอกชนเข้ามาร่วมด้วย แต่ทั้งนี้ ต้องไม่อนุญาตให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งครอบงำตลาดได้มากเกินไป และสังคมต้องร่วมกันสร้าง ‘คุณค่าความรับผิดชอบทางสังคม (Social responsibility value)’ ขึ้น เพราะกฎหมายหรือการบังคับอาจไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง

 

เปิดห้องทดลอง แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ (2): FinTech กับการ ‘ป่วน’ (Disrupt) บริการการเงินในท้องถิ่น

ด้าน Professor Kerry Rittich จาก Faculty of Law, University of Toronto ผู้นำการอภิปรายได้รวบรวมคำถามจากแต่ละกลุ่มผู้เข้าร่วม และเริ่มเปิดให้วงเสวนาทำการ ‘ทดลอง’ โดยหยิบยกบางคำถามที่น่าสนใจขึ้นมาอภิปราย หนึ่งในคำถามที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ การที่ผู้ให้บริการทางการเงินแบบดั้งเดิมถูกป่วน (Disrupt) โดย FinTech กล่าวคือ ตัว FinTech จะสร้างความอ่อนไหวในท้องถิ่นได้หรือไม่ เช่น ในกรณีของรัฐอิสลาม หรือผลกระทบที่มีต่อธนาคารดั้งเดิมและบุคลากรในระบบ

ปุณณมาศตอบคำถามดังกล่าวว่า การที่ FinTech จะเข้าไปแทนที่ธนาคารในท้องถิ่นได้ ต้องมาจากการแนะนำของชุมชนหรือผู้ที่มีอำนาจควบคุม (Regulator) อีกทั้ง FinTech ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกับธนาคารหรือผู้ใช้บริการแบบดั้งเดิมแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ดีกว่าคือ FinTech จะนำนวัตกรรมเข้ามาจัดการเรื่องการเงินได้ด้วย

 

 

เปิดห้องทดลอง แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ (3): FinTech กับการให้บริการทางการเงินที่ทั่วถึง

สำหรับข้อสงสัยเกี่ยวกับการนำ FinTech มาช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน ปุณณมาศได้ยกตัวอย่างว่า ในอดีต เวลารัฐบาลให้เงินช่วยเหลือ (Subsidy) กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือกลุ่มเกษตรกรแล้ว พวกเขามักไม่ได้รับเงินช่วยเหลืออย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะคนเหล่านี้มักไม่มีบัญชีธนาคาร พวกเขาจึงต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น หรือเพื่อนบ้านในการรับเงินช่วยเหลือ ซึ่งเงินก็มักจะหายไปบ้างเพราะการคอร์รัปชัน แต่เมื่อ FinTech เข้ามามีบทบาทแล้ว เราจะสามารถสร้าง E-Wallet ที่ใช้ในมือถือได้ เงินก็จะเข้าสู่บัญชีผู้รับได้โดยตรง พวกเขาจะได้รับเงินช่วยเหลือแบบเต็มจำนวน

 

เปิดห้องทดลอง แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ (4): FinTech กับ (การเพิ่ม) ความรู้ทางการเงิน

เรื่องการขาดความรู้ทางการเงิน (Financial literacy) เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ท้าทาย โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีรายได้น้อย หรือไม่ได้รับการศึกษา กล่าวคือผู้ที่มีรายได้น้อยอาจไม่ได้มีทางเลือกมากในชีวิต ถ้าพวกเขามีความจำเป็นต้องกู้เงิน และต้องเลือกระหว่างมาเฟียท้องถิ่นกับการทำธุรกรรมทางการเงินในแอปพลิเคชัน คนจำนวนมากย่อมต้องเลือกทางแรกอย่างแน่นอน ประเด็นนี้มีผู้ร่วมอภิปรายเสนอทางออกว่า ภาคการเงินและบริษัทที่ทำ FinTech จะต้องทำให้คนมีความรู้ทางด้านการเงิน และทำให้เห็นความสำคัญในการมีความรู้ทางการเงิน รวมถึงทำให้แอปพลิเคชันใช้งานได้ง่าย และพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืนในระยะยาว

ปุณณมาศได้ร่วมเสนอทางแก้ปัญหาดังกล่าวไว้ 3 ข้อ ข้อแรก คือการสร้างตัวเลือกให้ผู้ใช้ ซึ่งหมายถึงการนำเอาแอปพลิเคชันเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการเงิน

ข้อที่สอง คือการให้การศึกษาทางด้านการเงิน เพราะยุคนี้เป็นยุคบริโภคนิยม การจะสร้างวินัยทางการเงินให้แก่ผู้คนในสังคมเป็นเรื่องยากมาก ดังนั้น วิธีแก้จึงควรเป็นการให้การศึกษา และให้เครื่องมือที่เกิดจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้จัดการเรื่องเงินได้ง่ายดายยิ่งขึ้น เช่น แอพพลิเคชันที่ช่วยบันทึกรายรับ-รายจ่าย

ข้อสุดท้าย คือการให้ตลาดเข้ามามีบทบาท สร้างทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค โดยปุณณมาศได้ยกตัวอย่างการย้ายค่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งในอดีต การย้ายค่ายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างลำบาก เพราะเราจำเป็นจะต้องเปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ด้วย แต่ปัจจุบันมีบริการย้ายค่ายแต่ใช้เบอร์เดิม ทำให้คนเปลี่ยนค่ายมือถือได้ง่ายขึ้น

ก่อนจะเข้าสู่ช่วงสรุปตอนท้าย ปุณณมาศได้กล่าวว่า ในประเทศไทย คนมีแนวโน้มกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัว เช่น กลัวว่าเทคโนโลยีจะมาขโมยข้อมูลส่วนตัวเราไป ดังนั้น FinTech รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ จะต้องถูกควบคุมดูแลอย่างจริงจัง ซึ่งปัจจุบันมีรัฐบาลหลายประเทศที่นำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น รัฐบาลเอสโตเนีย ที่เก็บข้อมูลต่างๆ ไว้ใน Blockchain

 

 

สรุปผลการทดลอง: ลงมือทำ รับผิดชอบ และมีความหวัง

 

หลังจากที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ทำการ ‘ทดลอง’ ด้วยการตั้งคำถาม และร่วมกันอภิปรายเพื่อหาคำตอบแล้ว ในช่วงท้าย ปุณณมาศได้ทำการตกผลึกความคิดทั้งหมด จนเกิดเป็น 3 แนวทางหลักเพื่อร่วมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้แก่

ลงมือทำ: การร่วมมือกันทำอะไรบางอย่างเพื่อที่จะนำไปสู่สังคมที่ดีกว่าเดิม อย่าปล่อยปัญหาทิ้งไว้ และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ แม้อาจจะทำผิดพลาดบ้าง แต่จะมีความก้าวหน้าเกิดขึ้นในความผิดพลาดอย่างแน่นอน

มีความรับผิดชอบ: ปุณณมาศมองว่า ทางออกของปัญหาคือการสร้างสังคมที่มีความรับผิดชอบ โดยได้ยกตัวอย่างที่เริ่มจากระดับปัจเจกบุคคล เช่น ถ้าเรารู้ว่าคนใกล้ตัวของเรากู้เงินนอกระบบ และเรามีกำลังทรัพย์พอที่จะช่วยเหลือเขาได้ เราก็อาจช่วยเหลือเขาตามสมควร เพื่อเขาจะได้ไม่ต้องออกไปกู้เงินนอกระบบ และแบกรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

อยู่กับความเป็นจริง และมีความหวัง: การอยู่กับความเป็นจริง หมายถึงการมองปัญหาตามความเป็นจริง อย่าใช้จินตนาการในการมองปัญหา แต่ให้ลงไปเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เมื่อเรายอมรับแล้วว่ามีปัญหาเกิดขึ้น เราก็ต้องมีความหวังในการแก้ปัญหาด้วยเช่นกัน

 

ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save